6 เรื่องน่ารู้ของสาวน้อยมหัศจรรย์ 'อลิซแห่งวันเดอร์แลนด์'


6 เรื่องน่ารู้ของสาวน้อยมหัศจรรย์ 
"อลิซ แห่งวันเดอร์แลนด์"

 

สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ชาวเด็กดี พี่วิวกับคอลัมน์ "สาระวรรณกรรม" กลับมาแล้วค่ะ คราวนี้พี่วิวควงแขนสาวขี้สงสัย หน้าตาน่ารัก ผมสีทองในชุดเดรสสีฟ้าสดใส มาเป็นตัวเอกในบทความของพี่วิวครั้งนี้ด้วย เอ... พูดแบบนี้นึกออกกันรึยังนะว่าพี่วิวหมายถึงใคร  
 
คำตอบก็คือ อลิซจากดินแดนมหัศจรรย์ ค่ะ สาวน้อย อลิซ คนนี้ เป็นตัวละครจากวรรณกรรมอมตะเรื่อง อลิซผจญภัยในแดนมหัศจรรย์ (Alice’s Adventures in Wonderland) ผลงานฮิตติดปากของ นักเขียนคนดัง ลูอิส แครอลล์ นั่นเองค่ะ เชื่อว่าเด็กๆ รวมถึงผู้ใหญ่หลายคน (รวมพี่วิวด้วย) ต่างก็ประทับใจและมีความสุขที่ได้ติดตามเธอลงไปในโพรงกระต่าย ได้ผจญภัยไปพร้อมๆ กับเธอในดินแดนมหัศจรรย์ที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์และเรื่องราวน่าสนใจมากมาย 

วรรณกรรมเรื่องนี้วางแผงในปี ค.ศ. 1865 แต่ว่าเนื้อหานั้นทันสมัยและมีความเป็นเอกลักษณ์สูงมาก จนกลายเป็นวรรณกรรมต้นแบบ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนนักอ่านหลายๆ คน รวมไปถึงถูกนำไปต่อยอดสร้างเป็นภาพยนตร์ การตูน ละครเวที และสินค้าต่างๆ ที่ผู้คนทั่วโลกหลงใหล นับรวมจากวันแรกที่ตีพิมพ์จนถึงวันนี้ ก็ 151 ปีเข้าไปแล้ว (ถ้าอลิซเป็นคนจริงๆ สงสัยจะกลายเป็นคุณทวดไปแล้วแน่ๆ เลย)  
 
ถ้าใครเคยได้ยินมาบ้าง... เมื่อปลายปีที่แล้ว ได้มีการเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปีของวรรณกรรมเรื่องนี้ไปค่ะ มีจัดงานขึ้นทั่วโลกอย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะงานนิทรรศการออนไลน์ Alice : 150 Years of Wonderland หรือ อลิซ : 150 ปีแห่งความมหัศจรรย์ ที่จัดขึ้นโดยเว็บไซต์ www.themorgan.org ห้องสมุดประจำมหาวิทยาลัยมอร์แกน รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกานั่นเอง 
 
นิทรรศการนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงผลงานอันทรงคุณค่าของ ชาร์ลส์ ลุทวิดจ์ ดอดจ์สัน (Charles Lutwidge Dodgson)  นักคณิตศาสตร์และนักประพันธ์ชื่อดังที่รู้จักกันดีในนามปากกา ลูอิส แครอลล์ (Lewis Carroll) ผู้แต่งวรรณกรรมเยี่ยมยอดเรื่องนี้ ภายในนิทรรศการจัดแสดงผลงานต้นฉบับที่เป็นลายมือของแครอลล์เอง ภาพวาดประกอบดั้งเดิมที่หาดูได้ยาก พร้อมทั้งเปิดเผยแรงบันดาลใจและเรื่องราวสุดพิเศษที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมเรื่องนี้

และวันนี้พี่วิวก็ขออาสาพาชาวนักเขียนเด็กดีทุกคนไปทัวร์นิทรรศการออนไลน์นี้ด้วยกัน ด้วยการเก็บตก 6 หัวข้อน่าสนใจมาฝาก หวังว่าอ่านแล้วทุกคนจะได้ประโยชน์ติดไม้ติดมือกลับไปบ้าง ไม่มากก็น้อยนะคะ 
 
ภาพซ้ายคือ อลิซ ลิดเดลล์  เด็กสาวเจ้าของชื่อที่กลายเป็นตัวละครโปรดของคนทั่วโลก
ภาพขวาคือ ชาร์ล ลุทวิดจ์ ดอดจ์สัน ผู้ประพันธ์
เครดิตภาพ : http://www.nytimes.com/

 

อลิซ มีตัวตนจริงๆ
และเป็นยังลูกสาวของเพื่อนแครอลล์ด้วย

 

ในช่วงเวลาที่แครอลล์ ทำงานเป็นนักคณิตศาสตร์บรรยายความรู้ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษนั้น เขาสนิทสนมกับ เฮนรี ลิดเดลล์ (Henry Liddell) คณบดีของมหาวิทยาลัย เฮนรีมีลูกสาวทั้งหมด 3 คน หนึ่งในนั้นคือ อลิซ ลิดเดลล์ (Alice Liddell) เด็กหญิงตัวน้อยวัยสิบขวบที่มีความเฉลียวฉลาดเกินวัย แครอลล์ได้มีโอกาสใกล้ชิดและได้สัมผัสความน่ารักของเด็กหญิง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของตัวละครเอก ที่กลายเป็นตัวละครในดวงใจของคนทั่วโลกในเวลาต่อมา 

 
=
เครดิตภาพ : http://mentalfloss.com/
 

ช่างทำหมวก THE MAD HATTER 
เกิดขึ้นได้เพราะเด็กๆ บ้านลิดเดลล์

 

ในช่วงบ่ายวันหนึ่งของปี ค.ศ. 1862 แครอลล์พา ลอรีน่า, อลิซ และอีดิธ สามพี่น้องสาวตระกูลลิดเดลล์ไปพายเรือเล่นในแม่น้ำเทมส์ ระหว่างนั้นเอง พวกเธอขอร้องให้เขาเล่านิทานให้ฟัง และนั่นคือจุดเริ่มต้นการผจญภัยของสาวน้อยในโพรงกระต่าย แน่นอนว่าเด็กหญิงอลิซประทับใจมากที่ได้เป็นนางเอกของเรื่อง เธอขอร้องให้แครอลล์เขียนนิทานเรื่องนี้ลงสมุดเพื่อเป็นของที่ระลึกระหว่างกัน คำขอนี้เอง ทำให้แครอลล์เริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงาน "อลิซในแดนมหัศจรรย์" ขึ้น ต้นฉบับร่างแรกเขียนด้วยลายมือของเขาเอง พร้อมด้วยภาพประกอบสวยๆ ฝีมือของเขาเช่นกัน หลังจากทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ แครอลล์ได้มอบมันให้เป็นของขวัญวันคริสต์มาสแก่อลิซน้อย  
 
โดยผลงานที่แครอลล์นำมาเรียบเรียงใหม่นั้น มีความยาวถึง 27,000 คำ (ของเดิมมีเพียง 15,000 คำ) มีการเพิ่มเรื่องราวและฉากใหม่ที่อลิซและพี่น้องไม่เคยได้ยิน รวมไปถึงเพิ่มตัวละครใหม่ๆ เข้ามาด้วยเพื่อให้เด็กๆ สนุกสนานไปกับตัวละครที่หลากหลายขึ้น

ถ้าไม่ได้เด็กๆ บ้านลิดเดลล์ล่ะก็ เราอาจจะไม่ได้เห็นช่างทำหมวกจัดปาร์ตี้น้ำชา หรือแมวเชสเชียร์จอมก่อกวน ตัวละครสำคัญในเรื่องเลยก็ได้ 

 
ไดอารี่ของแครอลล์ ที่เขียนถึงเหตุการณ์วันพายเรือเล่นกับเด็กสาวบ้านลิดเดลล์
เครดิตภาพ : http://www.themorgan.org/exhibitions/online/alice/7

 
ด้านซ้ายคือหนังสือเวอร์ชั่นแรก 
ด้านขวาคือต้นฉบับแบบสมบูรณ์จากลายมือของแคร์รอลล์ 
เครดิตภาพ : http://www.nytimes.com/

 
ภาพสเก็ตช์ กระต่ายขาว ฝีมือของแคร์รอลล์
เครดิตภาพ : http://www.themorgan.org/exhibitions/online/alice/31
 
แมวเชสเชียร์จอมกวน แต่เป็นตัวละครโปรดของพี่วิวเลยนะ 
เครดิตภาพ : fineartamerica.com
 
จดหมายจากแครอลล์ส่งหาเพื่อนเพื่อปรึกษาเรื่องการตั้งชื่อเรื่อง
ลายมือสวยนะคะว่ามั้ย
เครดิตภาพ : http://www.themorgan.org/exhibitions/online/alice/9
 

แรกเริ่มเดิมที แครอลล์คิดจะตั้งชื่อหนังสือเรื่องนี้ว่า
อลิซในดินแดนเอลฟ์ “Alice’s Hour in Elfland”

 

อลิซเรียกนิทานที่แครอลล์เล่าให้ฟังว่า... "การผจญภัยของอลิซในแดนใต้ดิน (Alice's Adventures Under Ground) แต่แครอลล์มองว่า...ชื่อเรื่องมันเหมือนหนังสือวิชาการเกี่ยวกับ ‘คำแนะนำการลงสู่เหมืองใต้ดิน’  ฟังแล้วดูไม่ใช่วรรณกรรมเยาวชนน่าอ่าน ชื่อต่อมาที่เขาคิดได้คือ... อลิซในดินแดนเอลฟ์ (Alice’s Hour in Elfland) และ "อลิซท่ามกลางพวกเอลฟ์และก๊อบลิน" (Alice Among the Elves Goblins) ทว่าเจ้าตัวก็สองจิตสองใจ ตัดสินใจไม่ได้ เลยเขียนจดหมายไปปรึกษาเพื่อนที่เป็นบรรณาธิการแมกกาซีนชื่อว่า ทอม เทย์เลอร์ (Tom Taylor) และหลังจากตกลงร่วมกัน วรรณกรรมเรื่องนี้ก็มาลงตัวที่ชื่อว่า... "Alice’s Adventures in Wonderland อลิซผจญภัยในแดนมหัศจรรย์" และชื่อนี้ได้กลายเป็นวรรณกรรมที่คนพูดถึงกันทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้


 
มุมซ้ายบน จอห์น เทนเนียล ผู้วาดภาพประกอบ

เครดิตภาพ : www.chicagonow.com
 

ผู้วาดภาพประกอบ
ไม่ปลื้มกับหนังสือฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก

 

ผู้วาดภาพประกอบหนังสืออลิซในแดนมหัศจรรย์ฉบับพิมพ์ครั้งแรกคือ เซอร์ จอห์น เทนเนียล (Sir John Tenniel) ในยุคนั้น เขาคนนี้ได้ชื่อว่าเป็นนักวาดภาพการ์ตูนการเมืองชื่อดังของประเทศอังกฤษ ว่าแต่ ทำไมเขาถึงเกลียดผลงานที่เขาสร้างขึ้นเองล่ะ...?
 
เฉลยค่ะ สาเหตุมาจากคุณภาพกระดาษนั่นเอง จอห์น เทนเนียลฝังใจเอามากๆ ว่า ภาพวาดสวยๆ ของเขา ต้องไปปรากฎบนกระดาษคุณภาพไม่ดี ทำให้สูญเสียความสวยงามไป แต่ว่า... แครอลล์ผู้เป็นนักเขียนไม่ได้นิ่งนอนใจเลย เมื่อทราบปัญหานี้ เขาตัดสินใจเรียกคืนต้นฉบับเหล่านั้นกลับคืนมาทั้งหมด จากนั้นก็ทุ่มเงินมหาศาล เกือบครึ่งของเงินทั้งหมดที่หามาได้ในปีนั้น ตีพิมพ์หนังสือขึ้นใหม่ ด้วยกระดาษที่คุณภาพดีมากกว่าเดิม เพื่อวางขายในปีต่อมา... อย่างไรก็ตาม ต้นฉบับหนังสือที่นักวาดคนดังบ่นว่า ไม่ได้มาตรฐานตามที่เขาต้องการ กลับขายได้มากกว่า 2,000 เล่ม ทุกวันนี้ ก็ยังมีบางส่วนเก็บอยู่ในห้องสมุดด้วยค่ะ 

 
ภาพร่างเส้นดินสอจากแคร์รอลล์ โดยเทนเนียลนำมาลงเส้นหนักและเติมสีสัน
เครดิตภาพ : http://www.themorgan.org/exhibitions/online/alice/25

 

อลิซผจญภัยในแดนมหัศจรรย์ 
ปรากฎตัวบนจอภาพยนตร์ครั้งแรก
ในฐานะ "ภาพยนตร์สั้น"

 

ในปี ค.ศ. 1903 ห้าปีหลังจากแครอลล์เสียชีวิต ผู้กำกับภาพยนตร์นามว่า เซซีล เฮปเวิร์ธ (Cecil Hepworth) และ เพอร์ซี่ สโตว์ (Percy Stowe) ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเรื่อง การผจญภัยของอลิซในแดนมหัศจรรย์ ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ขนาดสั้นเป็นเวลา 12 นาที (ในยุคนั้นถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีความยาวมากที่สุดในเกาะอังกฤษเลยทีเดียว) ซึ่งตัวเฮปเวิร์ธเองได้ร่วมแสดงด้วย โดยเจ้าตัวสวมบทบาทเป็น กบ (the Frog Footman) ส่วนภรรยาของเขารับผิดชอบสองบทบาทที่แตกต่างและท้าทายมากๆ นั่นคือ บทของ เจ้ากระต่ายขาวและราชินีโพธิ์แดง แหม ธุรกิจในครอบครัวก็ไม่บอก อิอิ 

ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ จัดว่าเป็นการปรากฎตัวของสาวน้อยอลิซบนจอเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะในเวลาต่อมา จะมีคนซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเรื่องนี้ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ขนาดยาว 2 ชม. อย่างที่เราได้ดูกันภายหลัง
 
พี่วิวแอบไปดูเวอร์ชั่นขาวดำนี้มาแล้วค่ะ สารภาพว่าชอบมากๆ ยอมใจในฝีมือของนักแสดงและการลงทุนของผู้กำกับจริงๆ เมื่อ 100 ปีก่อน การสร้างหนังน่าจะเป็นเรื่องแปลกใหม่และต้องใช้เวลามากพอสมควรทีเดียว ถ้าหากเพื่อนๆ หรือน้องๆ คนไหนอยากเห็นหรืออยากดูบ้าง พี่วิวแปะมาให้แล้วค่ะ ไปดูด้านล่างได้เลย ^ ^  
 

Clip




 

เหล่าฝูงนกในเรื่องมีที่มาจากคนจริงๆ
 

ใครเคยอ่านหนังสือ น่าจะจำฝูงสัตว์และฝูงนกที่ลอยมาตามทะเลน้ำตาของอลิซได้แน่ๆ หลังจากอาบน้ำเค็ม (ทะเลน้ำตา) กันจนเปียก พวกมันก็มาชวนอลิซเล่นเกม เพื่อให้ตัวแห้งกัน โดยมีเจ้า นกโดโด้ (the Dodo) เป็นผู้นำเกม และแครอลล์ได้สารภาพว่า เจ้านกโดโด้ตัวนี้มีที่มาจากตัวเขานั่นเอง!  เพราะตัวเขาเป็นคนติดอ่าง... เวลาออกเสียงแนะนำชื่อตัวเอง จากดอดจ์สัน ก็จะกลายเป็น โด..โด..ดอดจ์สัน (Do-do-dogson)  และนั่นแหละ ที่มาของการที่เขากลายเป็น "นกโดโด" ค่ะ 
 
นอกจากนี้ ตัวละครนกอื่นๆ ก็เกิดจาก ชื่อ ของพี่สาวน้องสาวของอลิซด้วยเหมือนกัน ลอรีน่า (Lorina) พี่สาวคนโตกลายเป็น ลอรี่ (Lory) นกแก้ว และ อีดิธ (Edith) น้องสาวคนเล็ก ก็กลายมาเป็น อิกเล็ท (Eaglet) ลูกนกอินทรีย์ ครบทีมเลยนะคะเนี่ย 
 
พี่วิวแอบคิดเล่นๆ ว่าเหตุผลที่แครอลล์ดึงสมาชิกทุกคนมาเป็นตัวละครในเรื่อง ก็เพื่อที่อลิซน้อย นางเอกของเรื่องจะได้ไม่รู้สึกเหงาหงอยเกินไป อีกอย่าง ตอนเล่านิทาน แครอลล์เล่าให้เด็กหญิงทั้งสามคนฟัง จะให้อลิซอยู่ในเรื่องคนเดียว เด็กหญิงอีกสองคนอาจจะน้อยใจเอาก็ได้ เพราะงั้น แบ่งๆ บทให้ทุกคนได้เล่นด้วยกัน ก็น่ารักและสร้างอารมณ์ร่วมได้ดีค่ะ  

เครดิตภาพ : prints.bl.uk
 
หลังจากอ่านมาครบทั้ง 6 ข้อแล้ว พี่วิวบอกได้เลยว่า... เชื่อแล้วว่า แรงบันดาลใจในการเขียนนิยายนั้น มาจากรอบๆ ตัวเรานี่เองค่ะ นักเขียนนี่เป็นอาชีพที่น่าทึ่งจริงๆ อย่างตัวลูอิส แครอลล์เอง พี่วิวมองว่า... เขามีความคิดสร้างสรรค์และช่างคิดมากๆ แค่ไปนั่งเรือเล่น ก็เอามาเป็นแรงบันดาลใจ แต่งเป็นหนังสือได้ยาวขนาดนั้น ที่สำคัญ ความเก่งกาจของแครอลล์คือ... เขาได้นำปัญหารอบๆ ตัว ทั้งเรื่องทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยที่เด็กหญิงอย่างอลิซต้องพบเจอ มาถ่ายทอดเป็นภาพวาดได้อย่างน่าสนใจ เด็กๆ อ่านแล้วสนุก ผู้ใหญ่อ่านแล้วได้คิด นี่แหละค่ะ ตัวอย่างของนักเขียนในตำนานตัวจริง  
 
ยังไงพี่วิวหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้เห็นนิยายของเพื่อนๆ น้องๆ ชาวเด็กดีของเรากลายเป็นวรรณกรรมในตำนานให้พี่วิวเขียนถึงบ้างนะคะ ^ ^
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.themorgan.org/exhibitions/online
http://www.nytimes.com/2015/06/26/arts/design/looking-at-the-birth-of-lewis-carrolls-alice-150-years-old.html?_r=0
http://mentalfloss.com/article/65763/12-absurd-facts-about-alice-wonderland
https://en.wikipedia.org/wiki/Alice%27s_Adventures_in_Wonderland
ภาพหัวเรื่องจาก
www.theguardian.com
พี่วิว

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด