สวยงามมากๆ! 5 นางในวรรณคดีที่ชีวิตผูกพันกับดอกไม้!


พาไปรู้จัก
5 นางในวรรณคดีที่ผูกพันกับดอกไม้

 


สวัสดีค่ะน้องๆ ชาวเด็กดีไรท์เตอร์ กลับมาพบกับพี่หวานในคอลัมน์ "สาระวรรณกรรม" อีกแล้ววว(เบื่อกันรึยังเอ่ย > <) อย่าเพิ่งเบื่อกันนะคะเพราะวันนี้พี่หวานก็ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับสาระวรรณกรรมน่ารู้มาเล่าให้ฟังเหมือนเคย

น้องๆ เคยสังเกตมั้ยคะว่า ถ้าพูดถึงผู้หญิง… เราก็มักจะนำไปเปรียบกับดอกไม้ งามเหมือนดอกไม้ มีเสน่ห์หอมหวนยวนใจก็เหมือนดอกไม้ แถมยังเปรียบบรรดาหนุ่มๆ ที่เข้ามาว่าเหมือนผึ้งมาบินรอบดอกไม้อีกต่างหาก เรียกว่า ผู้หญิงกับดอกไม้เป็นของคู่กัน เลยจริงๆ  ในวรรณคดีก็มีเรื่องราวของนางในวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้อยู่มากเหมือนกันนะคะ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของชาติกำเนิด หรือว่าโดนคำสาป ตลอดจนการยกดอกไม้นั้นๆ ขึ้นมาเปรียบ ทำให้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวที่ถ้าหากพูดถึงดอกไม้ชนิดนี้ ก็จะคิดถึงนางในวรรณคดีคนนี้ขึ้นมาแน่นอน และวันนี้พี่หวานก็ได้เลือก นางในวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้ มาทั้งหมด 5 คนด้วยกัน น้องๆ คนไหนนึกชื่อใครออกบ้าง ลองทายกันดูก่อนเลื่อนลงมาได้นะคะ ^^


 


 


คนที่ 1 นางมัทนา จากเรื่อง มัทนะพาธา 
“มัทนา” จากศัพท์ “มทน” ซึ่งแปลว่าความลุ่มหลงหรือความรัก 



นางในวรรณคดีคนแรกที่พี่หวานอยากนำเสนอก็คือ นางมัทนา ผู้ต้องคำสาปให้ลงมาเกิดเป็นดอกกุหลาบ เรื่องราวของนางมัทนานั้นน่าสงสารมากเลยค่ะ แต่เดิมก็เป็นนางฟ้าอยู่บนสวรรค์จนกระทั่งเทพบุตรนามว่า สุเทษณ์ มาหลงรักและต้องการจะครอบครองนางทั้งตัวและหัวใจแต่ว่านางไม่เล่นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นคือไม่อาจเห็นนางไปรักกับเทพองค์อื่นได้ จึงถามว่านางอยากลงไปเกิดในโลกมนุษย์ด้วยรูปแบบใด นางมัทนาก็เอ่ยว่าขอไปเกิดเป็นดอกไม้ สุเทษณ์จึงถามมายาวินว่ามีดอกไม้ใดหรือไม่ ที่มีทั้งกลิ่นหอมและสีสวยให้สมกับความงามของนางมัทนา มายาวินก็ตอบไปว่ามีดอกไม้ชนิดหนึ่งชื่อ กุพชะกะ(เป็นชื่อเรียกดอกกุหลาบในภาษาสันสกฤตค่ะ) เป็นดอกไม้ที่มีสีสันสดสวยเหมือนกับแก้มที่แดงระเรื่อ เหมือนกับแสงอาทิตย์ สุเทษณ์ก็เลยตัดสินใจสาปให้นางมัทนาลงไปเกิดเป็นดอกกุหลาบ ความพิเศษอยู่ที่ในคืนวันเพ็ญ หรือถ้านางมีความรักกับบุรุษผู้ใดถึงจะคงรูปอยู่เป็นมนุษย์ได้  แต่ถ้าต้องทุกข์ใจเพราะรักให้นึกถึงพระองค์

เรื่องราวของมัทนานี่น่าสงสารมากเลยนะคะ เพราะความงดงามของนางทำให้เกิดภัยแก่ตน ทั้งๆ ที่นางยังไม่ได้ทำอะไรเลยด้วยซ้ำ แต่ความไม่รู้จักห้ามใจของสุเทษณ์ก็ทำให้เรื่องราวยุ่งยากไปหมด หลังจากที่นางมัทนาไปเกิดเป็นดอกกุหลาบก็มีโอกาสได้ครองรักกับท้าวชัยเสนอยู่นานจนวันหนึ่งถูกใส่ร้ายจากความริษยาของนางจัณฑี ซึ่งเป็นมเหสีเอกในตอนนั้น จนท้าวชัยเสนสั่งประหารนางมัทนา  ก่อนจะมารู้ภายหลังว่านางที่ตนรักถูกใส่ร้าย พอตัดสินใจจะตามกลับไปรับตัวนางก็ไม่ทัน เพราะนางมัทนาได้กลายเป็นดอกกุหลาบไปตลอดกาลแล้วค่ะT^T ซึ่งสาเหตุที่มัทนากลายเป็นกุหลาบก็มาจากนางทุกข์ใจเพราะรักจึงวิงวอนต่อสุเทษณ์ให้ช่วยเหลือ สุเทษณ์ยินดีรับนางกลับมายังสวรรค์ แต่ตัวนางปฏิเสธกลัวจะถูกมองไม่ดีถ้ามีรักกับบุรุษสองคน สุเทษณ์ก็ถามต่อว่าแล้วต้องการให้ช่วยอะไร นางขอให้สุเทษณ์ดลใจท้าวชัยเสนให้กลับมารับนางที แต่สุเทษณ์โมโหว่าทำไมนางมัทนาถึงไม่สนใจตนบ้าง ในขณะที่ท้าวชัยเสนเป็นคนทิ้งไปแท้ๆ จึงสาปให้นางกลายเป็นดอกกุหลาบตลอดไปอย่าได้มีใครสามารถชมเชยความงามของนางได้อีกเลย…

ถึงดอกกุหลาบจะเป็นดอกไม้ที่ถูกเลือกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก แต่เรื่องมัทนะพาธาก็เป็นอีกตำนานเกี่ยวกับดอกกุหลาบที่น่าเศร้ามากเลยนะคะเนี่ย 

 




(รูปภาพจาก : http://www.reurnthai.com/rtimages/RW1060x24.jpg)
 
คนที่ 2 พระลักษมี
“นางผู้ถือกำเนิดจากการกวนเกษียรสมุทร  ชายาของพระนารายณ์”


 
นางในวรรณคดีคนถัดมาที่มีความเกี่ยวข้องกับดอกไม้คนที่สองก็คือ พระลักษมี เท่าที่เคยศึกษามากำเนิดพระลักษมีก็มีหลายแบบตามแต่ละตำราว่ากันไป ซึ่งกำเนิดที่จะกล่าวถึงมากที่สุดคงต้องเป็นการกำเนิดจากดอกบัวที่ผุดขึ้นมากลางการกวนทะเลน้ำนมนั่นเองค่ะ น้องๆ หลายคนน่าจะรู้จักการกวนเกษียรสมุทรมาจากเรื่องรามเกียรติ์แล้วใช่มั้ยคะ เหตุการณ์นั้นทำให้เกิดสิ่งของหลายอย่างก่อนจะได้น้ำอมฤตมาในตอนท้าย รวมไปถึงการปรากฏดอกบัวลอยขึ้นมาพร้อมพระลักษมีที่อยู่ในนั้นด้วย พระนารายณ์จึงรับเอาไว้เป็นชายาและดอกบัวก็ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวพระลักษมีไปโดยปริยาย

แม้ว่าดอกบัวจะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรักเหมือนดอกกุหลาบ แต่ดอกบัวก็เป็นดอกไม้ที่ถูกใช้แทนความสงบและบริสุทธิ์ ซึ่งในวรรณคดีจะพบได้บ่อยๆ ว่ามีนางในวรรณคดีที่ชื่อมีความหมายเกี่ยวกับดอกบัวอยู่หลายเรื่องเลยค่ะ เรื่องราวของพระลักษมีนั้นน้องๆ สามารถพบร่างอวตารของพระนางได้ในวรรณคดีหลายเรื่อง เพราะจะมีเหตุให้ต้องตามไปอวตารเพื่อเป็นคู่ครองกับพระนารายณ์ปรากฏในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ อยู่เสมอ เช่น เรื่องรามเกียรติ์ ที่พระนารายณ์อวตารเป็นพระราม และพระลักษมีอวตารเป็นนางสีดา เป็นต้น


 


(รูปภาพจาก : http://chicksbymail.com/indian-lotus-flower-art)
 
คนที่ 3 นางทิพเกสร จากเรื่อง ลักษณวงศ์ 
“เพราะความงามราวกับดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมของนางเป็นต้นเหตุ…”

 
นอกจากพระลักษมีจะมีกำเนิดจากดอกบัวแล้ว ก็ยังมีนางในวรรณคดีที่มีจุดกำเนิดคล้ายๆ กันนี้อีกหลายคนทีเดียวค่ะ และคนที่สามที่พี่หวานจะพูดถึงก็คือ นางทิพเกสร นางเป็นอีกคนที่เกิดในดอกบัว โดยมีกลิ่นกายที่หอมมากราวกับกลิ่นเกสรดอกไม้ ฤาษีตนหนึ่งนามว่าพระฤาษีมหาเมฆได้ผ่านไปพบและนำมาเลี้ยงดูไว้ที่อาศรม และได้ให้ชื่อว่า ทิพเกสร เรื่องลักษณวงศ์อาจจะไม่เป็นที่คุ้นเคยของน้องๆ มากเท่าไหร่ แต่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานสำคัญของท่านสุนทรภู่กวีเอก ที่มีการสะท้อนชีวิตของผู้หญิงซึ่งมีตอนจบไม่ได้สวยงามเท่าไหร่ นางทิพเกสรได้อาศัยอยู่กับพระฤาษีจนกระทั่งได้พบกับพระลักษณวงศ์ที่พลัดหลงจากมารดา พระฤาษีจึงรับเลี้ยงดูสั่งสอนเพราะรู้ว่าในอนาคตไม่นานพระลักษณวงศ์ต้องได้พบมารดาอีกครั้งแน่นอน ในระหว่างที่ใช้เวลาอยู่ด้วยกันนั้นนางทิพเกสรกับพระลักษณวงศ์ก็เกิดความสนิทสนมขึ้นมา จนวันที่ทั้งสองต้องแยกจากกันก็เต็มไปด้วยความเศร้า เมื่อคู่กันแล้วก็ไม่แคล้วกัน นางทิพเกสรก็ยังรอคอยพระลักษณวงศ์จนได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง แต่ก็ยังมีเหตุให้ต้องพลัดพรากกันอีกรอบจนได้(พี่หวานก็ช่วยลุ้นจนเหนื่อยเลยค่ะ ;  A;) ส่วนสาเหตุนั้นเกิดจากความงามของนางทิพเกสรเป็นชนวนทำให้เรื่องวุ่นวายทั้งหมดเกิดขึ้น จนเทวดาที่อยู่ในป่าได้ออกมาให้ความช่วยเหลือและได้พูดกับนางว่า 'ความงามของนางก็เหมือนกับดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม ถ้าเดินทางคนเดียวอย่างนี้เกรงว่าจะเกิดอันตราย...'  จึงช่วยแปลงให้นางเป็นพราหมณ์ชื่อ เกสร ถ้าถอดแหวนก็จะกลับเป็นผู้หญิงดังเดิม

แต่ถึงจะอยู่ในร่างพราหมณ์เกสร นางทิพเกสรก็ยังไม่เลิกตามหาพระลักษณวงศ์นะคะ ถึงจะได้ข่าวมาว่าพระองค์มีชายาใหม่ไปแล้วก็ยังไม่ถอดใจ ทั้งที่ในตอนนั้นนางกำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ อยู่ด้วย ถือว่าเป็นหญิงแกร่งที่มีความเชื่อมั่นในคนรักของตนอย่างที่สุด เรื่องราวตอนสุดท้ายยิ่งน่าหดหู่ใจเลยค่ะ เพราะคนที่มอบความตายให้นางทิพเกสรก็คือพระลักษณวงศ์คนที่นางเฝ้ารักและรอคอยมาทั้งชีวิตนั่นเอง และในวาระสุดท้ายหลังจากถูกประหารร่างกายก็กลับกลายมาเป็นหญิงอีกครั้ง พระลักษณวงศ์มาเห็นศพก็จดจำได้ทันที เพราะความงามและกลิ่นหอมของนางยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของพระลักษณวงศ์ไม่เสื่อมคลายนั่นเอง


 


(รูปภาพจาก : http://www.rimkhobfabooks.com/978-974-417-957-9)

คนที่ 4 พิกุลทอง
“งามราวกับดอกไม้ เส้นผมมีกลิ่นหอมชื่นใจ เอื้อนเอ่ยคำยามใดก็ปรากฏดอกพิกุลทองร่วงมา”
 

นางในวรรณคดีคนที่สี่ ที่พี่หวานจะเล่าต่อไปก็คือ นางพิกุลทอง เชื่อว่าคงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักแน่นอนด้วยเนื้อเรื่องที่มีความสนุกสนานทำให้เรื่องพิกุลทองมีการนำไปแสดงเป็นละครและการ์ตูนอยู่บ่อยครั้ง

โดยที่มาของนางพิกุลทองนั้นมีอยู่ว่า นางเป็นธิดาของท้าวสันนุราชและนางพิกุลจันทราค่ะ ซึ่งตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโตมานางพิกุลทองเป็นพระธิดาที่มีผมสลวยเต็มไปด้วยกลิ่นหอมจากดอกพิกุล หน้าตาก็งดงาม และจะมีดอกพิกุลทองร่วงจากปากทุกครั้งไป แต่ชีวิตของนางก็ไม่ได้สงบสุขหรอกนะคะ วันหนึ่งนางพิกุลทองไปเล่นน้ำได้เจอพญาแร้งและได้เอ่ยปากด่าทอออกไป ทำให้พญาแร้งเคียดแค้น หาทางกลับมาเอาคืนด้วยวิธีต่างๆ นานา จนได้อภิเษกสมรสกับนางพิกุลทอง แต่แล้วความจริงก็ปรากฏว่าชายหนุ่มที่นางอภิเษกสมรสด้วยคนนั้นคือพญาแร้งก็เมื่อตอนที่นางพิกุลทองนั่งเรือไปยังเมืองของพญาแร้ง แต่โชคดีที่แม่ย่านางมาช่วยเอาไว้ได้ นางพิกุลทองได้ลอยผอบที่มีจดหมายขอความช่วยเหลือไปในทะเล และต่อมาพระพิไชยมงกุฏเก็บผอบซึ่งมีเส้นผมหอมและจดหมายของนางพิกุลทองได้ จึงออกตามหาและพบนาง ก่อนจะครองคู่กันจนมีลูกด้วยกันสองคน แต่เรื่องราวของนางพิกุลทองก็ไม่ได้จบแค่นั้นนะคะ! ยังไงผู้หญิงเเทบทุกคนก็ต้องหลงใหลไปกับความสวยๆ งามๆ ของดอกไม้อยู่แล้วใช่มั้ยล่ะคะ วันหนึ่งพระพิไชยมงกุฎพานางพิกุลทองไปเดินเล่นชมดอกไม้ นางเห็นดอกบัวใหญ่โตสวยงามในสระน้ำก็หวังจะเอื้อมไปหยิบแต่กลับโดนนางยักษ์กาขาวลากลงไปใต้น้ำ และสาปให้พิกุลทองกลายเป็นชะนี แล้วนางยักษ์ก็แปลงกายเป็นนางพิกุลทองแทน

เรื่องราววุ่นวายก็ตามมาอีกเยอะเลยล่ะค่ะ ทั้งการพลัดพรากจากกัน และการต้องระหกระเหินของรักและยมลูกของนางพิกุลทองกับพระพิไชยมงกุฎ แต่น้องๆ ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะสิ่งที่จะทำให้เรื่องราวจบลงอย่างงดงาม ก็คือดอกพิกุลทองนี่เอง แม้นางจะกลายเป็นชะนีแต่เวลาที่พูดก็ยังมีดอกพิกุลทองร่วงลงมาเสมอ ทำให้ลูกๆ ที่ถูกพระพิไชยมงกุฏเนรเทศเก็บดอกพิกุลทองที่หล่นตามทางไปเเลกข้าวกินประทังชีวิต ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะสามารถแก้คำสาปได้ และทุกคนก็กลับมามีความสุขด้วยกันอีกครั้ง

น้องๆ อ่านเล้วคิดเหมือนพี่หวานมั้ยคะว่าลักษณะสำนวนที่คนชอบพูดกันว่า 'กลัวดอกพิกุลจะร่วง' ซึ่งเอาไว้ใช้เปรียบกับคนที่พูดน้อย ถามคำตอบคำ ราวกับว่าถ้าอ้าปากจะมีดอกพิกุลทองร่วงลงมาเนี่ย อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องพิกุลทองก็เป็นได้นะคะ ^^?

 



(รูปภาพจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/ไชยเชษฐ์)

คนที่ 5 นางจำปาทอง จากเรื่อง ไชยเชษฐ์
“นางผู้ที่ไม่ว่าร้องไห้เมื่อใด ก็จะปรากฏดอกจำปาทองเมื่อนั้น…”


 
มาถึงนางในวรรณคดีคนสุดท้าย ที่มีความเกี่ยวข้องกับดอกไม้กันแล้วนะคะ พี่หวานจะเล่าถึง นางจำปาทอง จากเรื่องไชยเชษฐ์ก็แล้วกันค่ะ ถ้าใครที่เคยอ่านเรื่องนี้จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกับนางพิกุลทองอยู่บ้างนะคะ แต่คงจะต่างกันตรงที่นางจำปาทองนี้จะมีดอกจำปาทองร่วงลงมาเฉพาะเวลาที่ร้องไห้เท่านั้นค่ะ เรื่องราวของนางจำปาทองนี่ก็น่าสงสารเหมือนกันนะคะ นางเป็นธิดาของท้าวอภัยนุราชเจ้าเมืองเวสาลี ซึ่งตั้งแต่เกิดมาหากนางร้องไห้ น้ำตาของนางจะกลายเป็นดอกจำปาทอง มีกลิ่นหอมยวนใจ จึงได้ชื่อว่านางจำปาทองนั่นเอง แต่เมื่อโตขึ้นนางก็ได้เก็บไข่จระเข้มาเลี้ยงไว้ในวัง แล้วพอจระเข้โตขึ้นก็ไล่กัดชาวเมืองตายไปหมด ท้าวอภัยนุราชก็เลยต้องขับไล่นางออกจากเมือง ชีวิตของนางจำปาทองร่อนเร่ไปในป่าอยู่นาน เจอทั้งยักษ์จะเข้ามาเกี้ยวพาราสีเพราะได้กลิ่นหอมจากตัวของนางจำปาทอง  นางและบริวารที่เป็นนางแมวผู้ติดตามมาด้วยจึงไปขอให้พระฤาษีช่วยคุ้มครอง จนวันหนึ่งท้าวสิงหลเจ้าเมืองสิงหลฝันว่าจะมียักษ์นำดอกจำปาสีทองอร่ามมาถวาย โหรทำนายฝันว่าจะได้พระราชธิดามาเลี้ยงดู จึงออกตามหาเมื่อได้พบกับนางจำปาทองที่อาศรมของฤาษีก็รู้ว่าเป็นธิดาตกยาก จึงรับมาเลี้ยงและได้ให้ชื่อใหม่คือ นางสุวิญชา นั่นเองค่ะ 

และนางจำปาทองก็ถือว่าเป็นนางในวรรณคดีอีกคนที่มีความเกี่ยวข้องกับดอกไม้ ซึ่งดอกจำปานั้นเป็นดอกไม้ที่มีสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอมมาก เมื่อก่อนคุณครูที่โรงเรียนพี่หวานชอบเอาดอกจำปามาปักไว้ในผมเพื่อให้เกิดกลิ่นหอม เด็กนักเรียนเลยชอบไปอยู่ใกล้ๆ เพราะว่ากลิ่นของดอกจำปาจะหอมชื่นใจมากๆ เลยค่ะ *O*

 


สำหรับวันนี้ก็ครบทั้ง 5 นางในวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้ที่พี่หวานเลือกมาเเล้วนะคะ น้องๆ เคยรู้จักตัวนางคนไหนบ้างเอ่ย พูดคุยกันได้นะคะ เเน่นอนว่าวรรณคดีนั้นมีมากมายหลายเรื่องเหลือเกิน ไม่ใช่เเค่วรรณคดีไทยเท่านั้น เเต่ในวรรณกรรม หรือนวนิยายทั่วไปก็ยังมีการใช้ลักษณะของดอกไม้มาคู่กับผู้หญิงให้เห็นบ่อยๆ หรือเเม้แต่ในปัจจุบันดอกไม้ก็ถือเป็นของขวัญอันดับต้นๆ ที่ผู้ชายนิยมนำไปมอบให้ตามโอกาสสำคัญต่างๆ (ถึงพี่หวานจะไม่ใช่ผู้หญิงหวานๆ เเต่ถ้ามีใครซื้อดอกไม้มาให้ ไม่ต้องเป็นช่อเเต่เเค่ดอกเดียวนี่ก็แอบไปยิ้มหน้าบานเเล้วล่ะค่ะ อิอิ) 

เห็นมั้ยคะ คำกล่าวที่ว่า ผู้หญิงกับดอกไม้เป็นของคู่กัน เนี่ย ยังใช้ได้จริงอยู่ในทุกยุคทุกสมัยจริงๆ หวังว่าน้องๆ จะเพลิดเพลินไปกับการอ่านบทความนี้นะคะ เเล้วคราวหน้าจะเป็นเรื่องอะไร ต้องคอยติดตามให้ดีล่ะ ^____^
 


พี่หวาน
 

 
พี่หวาน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

5 ความคิดเห็น

มัณทนา Member 13 ก.ย. 59 15:39 น. 1

ตัวละครหญิงในวรณคดีไทย นิทานพื้นบ้านไทย และนวนิยายไทยมีชื่อที่หมายถึง ดอกบัว

พิษสวาท - บัว อุบล สโรชินี

อมฤตาลัย - สโรชินี (นางเอกที่ชาติก่อน คือ พระนางยโสธริยา) ปทุม แม่ของสโรชินี

จำปาสี่ต้น (สี่ยอดกุมาร) - นางปทุมมา

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
เจ้าหนูปรมาณู Member 15 ก.ย. 59 06:47 น. 4
นางสีดาในเรื่องรามเกียรติ์ ตั้งแต่ทารกจนสาวก็โตมาในดอกบัว(ที่ฝังในดิน)เช่นกัน ใช่ไหมคะ จำได้ว่าอย่างนั้น55
1
กำลังโหลด
ธนัฐรฐา 28 มี.ค. 67 18:09 น. 5

ขอบคุณพี่หวานนะคะ อ่านแล้วชอบมากๆ ได้ความรู้เพิ่มเติมจากพี่หวานเยอะเลย ขอบคุณมากๆเลยค่ะ????????????

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด