9 เรื่องจริงของชมรม C.U.Band ชมรมดนตรีแห่งจุฬาฯ ที่ไม่เคยเผยที่ไหน!

     ถ้าจะพูดถึงชมรมดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ C.U.Band ชาว Dek-D.com หลายคนอาจจะนึกถึงภาพในเบื้องหน้าของวงดนตรีมากฝีมือที่ทำโชว์ได้อลังการตระการตาและร้องบรรเลงเพลงได้อย่างไพเราะใช่มั้ยคะ แต่จะมีซักกี่คนนะ ที่จะได้รู้ว่าเบื้องหลังของผลงานสุดประทับใจ ว่ากว่าจะได้โชว์เจ๋งๆ แบบนี้ ต้องมีอุปสรรคอะไรบ้าง และพวกเขาต้องเจอความเหนื่อยหนักมากแค่ไหน? แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้ ถ้าไม่ใช่คนในวงเองก็อยากที่จะหยั่งรู้ได้ค่ะ
   
เครดิต : CU PHOTO CLUB
    
     แต่ว่านั่นไม่ใช่ปัญหา! เพราะพี่ส้มและพี่ทีได้อาสาไปเก็บข้อมูลมาเรียบร้อยแล้ว แหล่งข้อมูลของเราก็ไม่ใช่ใครที่ไหนค่ะ คือคนในชมรมนั่นเอง นำทีมโดย
 
น้องบอย-สิทธิเกียรติ ชาวไทย ประธานชมรม
น้องเพื่อน-ปีทิพย์ เหล่างาม รองประธานชมรมฝ่ายกิจการนิสิต
น้องเจิ้น-รองประธานชมรมฝ่ายหัวหน้าวง
น้องโฟน-ปรางมาศ หัวหน้านักร้อง
น้องเพลง-เรียวรุ้ง ภักดี เลขานุการ อนันต์ศิลป์
น้องปอม-ปวริต ยอดคำ ห้วหน้าพิธีกร
น้องดรีม-ปิยธิดา อินทิยศ หัวหน้าประชาสัมพันธ์
น้องเฟิส-ภานุพงษ์ จิรวัฒน์วณิชย์ หัวหน้าแสงเสียง
น้องคริส-กฤต กาลวันตวานิช หัวหน้าพัสดุ
น้องเบส-ธนัง วนิชยากรชัย สวัสดิการ
และน้องจีน่า-จีธณัฐ อู่ศิลา เหรัญญิก 
   
     งานนี้บอกได้เลยว่างานเบื้องหน้าว่าอลังการแล้ว งานเบื้องหลังนี่ต้องใช้พลังกายและพลังใจที่มากกว่าอีกหลายเท่า ซึ่งแตกต่างจากที่คนภายนอกมองไปอย่างสิ้นเชิง พูดแล้วก็คันปากอยากเล่า เอาเป็นว่าเราไปทำความรู้จักกับเขา ผ่าน 9 เรื่องราวนี้กันเลยจ้า!
   
จากซ้าย : น้องเบส-สวัสดิการ, น้องปอม-หัวหน้าพิธีกร, น้องจีน่า-เหรัญญิก, น้องเจิ้น-รองประธานชมรมฝ่ายหัวหน้าวง,
น้องบอย-ประธานชมรม, น้องเพื่อน-รองประธานชมรมฝ่ายกิจการนิสิต, น้องดรีม-หัวหน้าประชาสัมพันธ์,
น้องเพลง-เลขานุการ, น้องโฟน-หัวหน้านักร้อง, น้องกฤต-หัวหน้าพัสดุ
     
1. ใครๆ ก็เห็นว่า C.U.Band มีแต่น้องๆ คนรุ่นใหม่ แต่ที่จริงแล้วเป็นชมรมใหญ่และเก่าแก่ของจุฬาฯ
  
ใครที่เคยได้เห็นโชว์ของ C.U.Band มาบ้าง ก็คงจะเห็นสมาชิกชมรมที่เป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดูแล้วอายุอานามก็สัก 20 ต้นๆ ก็อาจจะคิดว่านี่คือวงดนตรีของคนรุ่นใหม่ แต่อันที่จริงแล้วประวัติการก่อตั้งของชมรมนี้มีมาตั้งแต่รุ่นพ่อคุณแม่เรายังเป็นเด็กอยู่เลยจ้า ยืนยันได้จากปากประธานชมรมเลยนะ
   
"CU Band เป็นชมรมดนตรีสากลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งมานานกว่า 61 ปีแล้วครับ เรา มีทั้งหมดด้วยกัน 5 ฝ่าย คือ นักร้อง นักดนตรี พิธีกร ประชาสัมพันธ์ และแสงเสียง พวกเราเป็นวง  Big Band ซึ่งหมายถึงในวงก็จะมีทั้ง ทั้งพาร์ทริทึ่ม (rhythm) ที่มีเปียโน กีต้าร์ กลอง เบส และเครื่องเป่าอย่างแซ็กโซโฟน ทรัมเป็ต ทรอมโบน ชมรมของเราเป็นชมรมใหญ่มีสมาชิกต่อปีถึงประมาณ 60 คน" น้องบอยกล่าว
   
      
     
2. ชมรมที่ดูเหมือนเป็นศูนย์รวมคนชิลล์ๆ แต่กลับมีคิวงานแน่นตลอดทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย!
   
จากการพูดคุยกับน้องๆ C.U.Band สัมผัสได้เลยค่ะว่าชมรมนี้มีแต่คนชิลล์ๆ และเฮฮามาก เหมือนชีวิตนี้ไม่มีงานหนักให้ต้องเครียดกันซักเท่าไหร่ แต่พอยิงคำถามเรื่องคิวงานเข้าไป ประธานชมรมของเรากลับเล่าหน้าที่ของชมที่ดูเหมือนว่าจะเป็นสรุปแล้ว แต่กลับดูคิวงานยาวเหยียดแน่นเอี้ยดไปซะงั้น! เพราะน้องบอยของเราได้เล่าว่า
  
"หน้าที่ของพวกเราหลักๆก็คือ ทำงานให้กับมหาวิทยาลัยครับ เราจะไปเล่นงานต่างๆ ทั้งงานเลี้ยงและงานพิธีการของจุฬาฯ  เช่น วันปฐมนิเทศ งานกาชาด (ซุ้มจุฬา) งานกีฬามหาวิทยาลัย หรือน้องๆปีหนึ่งส่วนใหญ่ก็จะรู้จักเราในงาน Freshy Night ครับ"
   
  
ยังค่ะ ยัง ยัง! เท่านี้ยังไม่พอ เพราะว่านี่แค่งานธรรมดาๆ ยังมีงานใหญ่และงานนอกอีกนะ...  
  
"ส่วนงานใหญ่ๆ ของพวกเราก็จะมี คอนเสิร์ตที่พวกเราจัดกันขึ้นเอง เช่น  Voice of Angels Concert เป็นคอนเสิร์ตเปิดตัวน้องใหม่ โดยปกติก็จะจัดที่หอประชุมจุฬาฯ และคอนเสิร์ตประจำปีซึ่งล่าสุดคือคอนเสิร์ต Love Since 1955 ที่เราได้ไปจัดที่ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศครับส่วนงานนอกมหาลัยก็มีบ้างครับ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่เหล่าพี่เก่า ซึ่งก็คือสมาชิกรุ่นพี่ของพวกเราที่จบไปแล้ว ว่าจ้างให้เราไปเล่นในงานสำคัญๆ เช่น งานแต่งงาน ของพี่ๆ ครับ" 
   
    
   
3. คนภายนอกคิดว่าชมรมนี้คงมีแกนนำจำนวนไม่มากมายเหมือนทั่วไป แต่จะบอกให้ว่า C.U.Band ต้องมีคณะกรรมการถึง 11 ตำแหน่ง!
  
โดยส่วนใหญ่ของชมรมกิจกรรมนักศึกษามักมีแกนนำหลักจำนวนไม่มาก ซึ่งหลายๆ คนก็อาจคิดว่า C.U.Band จะเป็นเช่นนั้นด้วย แต่งานนี้พลิกล็อคค่ะน้องๆ เพราะว่าทุกๆ ปีพวกเขาจะต้องมีการเลือกตั้งคณะกรรมการทั้งหมดถึง 11 ตำแหน่ง ซึ่งน้องเพื่อน รองประธานชมรมฝ่ายนิสิต ก็ได้ช่วยอธิบายเรื่องนี้ไว้ละเอียดยิบเลยล่ะค่ะ
  
  
"เราจะทำการเลือกตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยกันบริหารชมรม โดยประธานชมรมจะเป็นคนที่ดูแลตั้งแต่การรับงานจนไปถึงการวางแผนงานต่างๆ มีรองประธานชมรมฝ่ายกิจการนิสิต ที่คอยช่วยเหลืองงานจากประธานอีกต่อนึงและคอยดูแลภาพลักษณ์ของวง ส่วนรองประธานชมรมฝ่ายหัวหน้าวง ซึ่งจะดูแลและควบคุมวง ดูแลเรื่องดนตรีและนักดนตรีโดยตรง และทำงานร่วมกับหัวหน้านักร้องค่ะ" 
    
"การประสานงานระหว่างหน่วยต่างๆ ในชมรมก็เป็นหน้าที่ของเลขา เหรัญญิกก็คอยดูแลงบประมาณไป มีหัวหน้าพัสดุ ที่คอยจัดการซื้อและซ่อมแซม พวกเครื่องดนตรีกับอุปกรณ์แสงสีเสียงของแบนด์ แล้วก็มีสวัสดิการคอยดูแลเรื่องอาหาร และก็ความเรียบร้อยทั้งหมดของแบนด์ด้วยค่ะ และเนื่องจากชมรมของเราเป็นชมรมใหญ่ เราจีงต้องมีหัวหน้าพาร์ทอีกทั้ง 4 พาร์ท หัวหน้านักร้อง หัวหน้าพิธีกร หัวหน้าประชาสัมพันธ์และหัวหน้าแสงเสียง เพื่อที่จะได้คอยดูแลสมาชิกได้อย่างทั่วถึง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ"
   
   
   
4. ใครๆ ก็รู้ว่าการคัดเลือกคนเข้าชมรมนี้กระแสตอบรับดีทุกปี แต่รู้หรือไม่ว่าทุกๆ 1 คนที่ไปออดิชั่น จะต้องมีคู่แข่งถึง 6 คน!
  
C.U.Band จะมีการเปิดรับสมัครในช่วงเปิดภาคการศึกษาใหม่ของทุกปีค่ะ ซึ่งมีน้องๆ นิสิตจำนวนมากที่ให้ความสนใจมาออดิชั่น ซึ่งในแต่ละปีนี่สมัครเข้ามา 300-400 คนเลยนะคะ แต่จำนวนที่รับนี่สิบีบคั้นหัวใจสุดๆ เพราะทางชมรมจะคัดเลือกน้องที่เจ๋งจริงๆ มาเป็นสมาชิกเพียงปีละประมาณ 60 คนเท่านั้น ถ้าลองคิดแบบเฉลี่ยๆ ดู ก็เท่ากับว่าน้องที่สมัครเข้ามาภายในทุก 7 คน จะมีเพียงคนเดียวที่ผ่านค่ะ โอ้โห! อย่างกับสอบเข้ามหาวิทยาลัยเลยนะเนี่ย อย่างปีนี้กระแสตอบรับดีมากขึ้นไปอีกค่ะ เพราะจากที่เมื่อก่อนแค่ตั้งโต๊ะที่ศาลาพระเกี้ยวเฉยๆ ปีนี้มีการเปิดรับสมัครแบบออนไลน์ด้วย คนที่อยู่คณะไกลๆ ที่เดินมาไม่สะดวก เค้าก็สมัครทางเน็ตมาแทนได้
   
     
   
5. มีบางคนคิดว่าชมรมที่ทำโชว์อลังการจัดเต็มแบบนี้ ต้องมีคัดความสวยหล่อด้วยแน่ๆ... ผิดถนัด!!! ต่อให้งามปานล่มเมืองก็ไม่มีผลเลยค่ะ
   
สำหรับคนที่ติดตามผลงานของทาง C.U.Band มาบ้าง ก็คงเคยเจอนักร้องหน้าดี นักดนตรีหน้าหล่อของวงนี้ จนบ่อยๆ เข้าอาจจะสงสัยว่าหน้าตาอาจมีผลต่อการคัดเลือกคนเข้าชมรมรึเปล่านะ? ซึ่งพี่ส้มก็ได้ถามลักษณะคนที่ "ใช่" สำหรับชมรมนี้มาแล้ว ปรากฎว่าหน้าตาดี ไม่มีผลใดๆ ต่อการคัดเลือกทั้งนั้น ว่าแต่ที่นี่มีการคัดเลือกกันยังไง และคุณสมบัติที่ผ่านคืออะไรบ้าง ต้องมาฟังจากหัวหน้าแต่ละฝ่ายเลยค่ะ!
  
  
เริ่มที่น้องเจิ้น รองประธานชมรมฝ่ายหัวหน้าวง ก็ได้บรรยายถึงคาแร็กเตอร์นักดนตรีที่ใช่ไว้ว่า...
  
"การออดิชั่นเราแบ่งเป็น 2 ส่วนครับ ในส่วนแรกก็จะดูเรื่องความสามารถ แต่อีกส่วนหนึ่ง คือ ต้องมีเวลาที่จะมาให้กับทางชมรม มีเวลาว่างพอที่จะมาซ้อม มาเล่นงานต่างๆได้ ทำให้บางคนที่มีความสามารถพิเศษสูง แต่ไม่สามารถจัดการเวลาให้กับทางชมรมได้ ก็มีโอกาสที่จะไม่ผ่านในการออดิชั่น ส่วนคนที่เพิ่งเริ่มศึกษาหรืออยากเรียนรู้ และมีความสามารถปานกลาง ก็มีโอกาสที่จะผ่านการออดิชั่นได้ วัดจากความใจ ความเสียสละ ที่จะให้กับทางชมรมล้วนๆ ส่วนเรื่องหน้าตาสวยหล่อไม่ได้อยู่ในการเลือกคนที่ใช่ของนักดนตรีเลยครับผม"  

ชัดเจนนะคะสำหรับนักดนตรี มาว่ากันต่อที่หัวหน้านักร้องกันค่ะ!
   
"นักร้องจะมีการออดิชั่น 3 รอบนะคะ คือมีรอบฟังเดโม่ คัดเสียงเน้นๆ ต่อมาอีกสองรอบจะร้องสดกับวงดนตรีนะคะ ซึ่งจะมีการดูภาพรวม ทั้งร้อง ลีลาท่าทาง พลังสู้กับเสียงเครื่องเป่านับสิบ (หัวเราะ)"
   
   
"คนที่จะเข้ามาได้ส่วนใหญ่ต้องมีพื้นฐานการร้องเพลงที่ดีมาระดับหนึ่งเลยนะคะ และเป็นคนที่จะสามารถพัฒนาต่อได้ จริงๆ มีแค่ความเก่งไม่พอนะคะ ต้องมีใจ มีเวลาให้แบนด์ด้วย เพราะแบนด์ซ้อมหนักมาก ก.ไก่ ล้านตัว (ห้วเราะ)  แล้วก็ต้องเปิดตัวเอง เปิดใจได้มากๆ เพราะต้องร้องเพลงที่ตัวชอบบ้างไม่ชอบบ้าง ทำงานร่วมกับคนอื่นๆนับ 60 คน จริงๆ แบนด์ไม่ได้หานักร้องที่เก่งเลิศเลอหรอกค่ะ แต่มันแค่หาในสิ่งที่เหมาะกับตัวมันเอง" น้องโฟนกล่าว
   
   
ผ่านไปสำหรับการร้องรำทำเพลง C.U.Band ยังมีฝ่ายพิธีกรที่ดูเป็นงานโชว์ตัว จนแล้วจนรอดก็ยังคงคอนเซ็ปท์ไม่คัดหน้าตาค่ะ โดยน้องปอม หัวหน้าพิธีกรของเราก็ได้เล่าว่า...
  
"พิธีกรจะมีออดิชั่น 2 รอบด้วยกันครับ ก็จะมีการดูทักษะในการพูด การออกเสียงที่ชัดเจนและบุคลิกภาพในรอบแรก และในรอบที่สอง ก็จะดูไหวพริบ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆในการเป็นพิธีกร และมีการสัมภาษณ์ในรอบสองนี้ด้วยเพื่อเป็นการทำความรู้จักกับน้องๆ เบื้องต้นและเพื่อค้นหาน้องๆ ที่มีทัศนคติในการทำงานที่ตรงกับทัศนคติการทำงานของ C.U.Band ครับ"

ส่วนน้องดรีม หัวหน้าประชาสัมพันธ์ก็เล่าถึงการคัดเลือกทีมประชาสัมพันธ์ที่ต้องโชว์กึ๋น...
  
"การคัดเลือกของเรารอบแรกเลย จะต้องมีการส่งผลงานทำโปสเตอร์ ภาพถ่าย เว็บไซต์ หรือผลงานการทำประชาสัมพันธ์ต่างๆ ที่เคยทำมา ให้พี่ประชาสัมพันธ์รุ่นปัจจุบันพิจารณา แล้วค่อยนัดสัมภาษณ์อีกรอบค่ะ"
   
   
   
6. วงที่ทำโชว์ออกมาได้เป๊ะปังขนาดนี้ ใครๆ ก็คิดว่าไม่มีปัญหาเรื่องการขาดซ้อม... แต่นี่คือปัญหาของนักดนตรีที่มีมาโดยตลอด!
  
เรื่องนี้ถ้าพี่ส้มและพี่ทีไม่ได้เอ่ยปากถาม ก็คิดไม่ถึงจริงๆ เลยนะคะว่าปัญหานี้จะเกิดกับวงดนตรีที่มีคิวการแสดงที่เยอะและสามารถทำโชว์ออกมาประทับใจคนดูได้ทุกครั้งไป ซึ่งสาเหตุหลักๆ ของการขาดซ้อมก็ไม่ใช่เพราะสมาชิกในวงขาดวินัยหรอกค่ะ แต่เพราะหลายคนมาจากต่างคณะ ทำให้เวลาว่างไม่ตรงกันนั่นเอง แต่รองประธานชมรมฝ่ายหัวหน้าวงของเรา ก็มีวิธีการแก้ปัญหารองรับอยู่แล้ว...

"เราแก้ปัญหาด้วยการกำหนดเวลาซ้อมแบบตายตัวเลยครับ คือ จันทร์ พุธ ศุกร์ และพอถึงช่วงใกล้ๆ งานจะซ้อมทุกวัน ซึ่งพอกำหนดวันแบบตายตัวแล้ว จะทำให้สมาชิกในชมรมจัดตารางเวลาของตัวเองให้ไม่ชนกับวันซ้อมมากที่สุด" น้องเจิ้นกล่าว
   
   
   
7. ผ่านมาเยอะทั้งงานเล็กงานใหญ่ คงไม่มีอะไรที่ยากสำหรับวงนี้แล้วละมั้ง? ตอบให้แบบชัดๆ เลยว่า Love Since 1955 คืองานปราบเซียน!
  
หลายคนอาจมองว่าวงดนตรีที่ทำโชว์มานักต่อนักจนจะมีประสบการณ์เยอะแล้ว ก็น่าจะทำให้พวกเขาจัดการแสดงได้แบบไม่ยากเย็น แต่อันที่จริงแล้วก็ยังมีงานที่ยากและสร้างความกดดันให้ชาว C.U.Band อยู่นะคะ
  
เครดิต : CU PHOTO CLUB
  
"คอนเสิร์ต Love Since 1955 ถือว่าเป็นงานหินมากๆ เพราะมันไม่ใช่คอนเสิร์ตปกติ ที่นำเพลงมาเล่นและร้องต่อๆกัน แต่พวกเราตั้งใจทำให้มันเป็น Story Concert ค่ะ มีการนำเพลงมาร้อยเรียงต่อกันผ่านเนื้อเรื่องเกี่ยวกับความรัก 3 เรื่อง ซึ่งถือว่ายากมากๆสำหรับพวกเรา ชมรมดนตรีที่ไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องการแสดงและละคร ที่จะทำให้ดี ยกตัวอย่างเช่น นักร้องก็จะต้องมีการแสดงละครให้ได้ด้วย ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้นักดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่องด้วยระหว่างเล่น หรือการจัดไฟคอนเสิร์ต ซึ่งต้องเปลี่ยนมาเป็นการจัดไฟรูปแบบของละครเวทีมากกว่าคอนเสิร์ตทั่วไป"  น้องเพื่อนกล่าวอย่างจริงจัง
   
เครดิต : CU PHOTO CLUB
   
แต่ถ้าใครได้ติดตามชมคอนเสิร์ตนี้ ก็คงจะทราบกันดีว่าเป็นโชว์ที่มีคุณค่าแก่การรับชมมากๆ เลยล่ะค่ะ ซึ่งพอพี่ส้มถามถึงการจัดการงานปราบเซียนครั้งนี้
   
น้องเพื่อนก็เล่าให้ฟังว่า "วิธีรับมือของพวกเราคือ การพยายามวางแผนล่วงหน้า และ แบ่งทีมงานเพิ่มเพื่อกระจายหน้าที่กันเพิ่มเติม เช่น นักร้องบางคนก็จะได้เป็นฝ่ายคอสตูมด้วย  หรือ แม้แต่น้องนักดนตรียังกลายมาเป็นฝ่ายการเงิน ช่วยกันหาสปอนเซอร์สนับสนุนคอนเสิร์ตค่ะ"
   
เครดิต : CU PHOTO CLUB
   
   
8. มีดีกรีเป็นวงดนตรีดังจากจุฬาฯ ซะขนาดนี้ ถ้าจะจัดงานใหญ่ทั้งที สปอนเซอร์คงมีมาไม่ขาดสาย... แต่คนในชมรมต้องไปช่วยกันหาเองจ้า!
    
มาว่ากันต่อเรื่องงบประมาณที่ใช้ใน C.U.Band กันดีกว่าค่ะ เพราะว่าสังคมภายนอกอาจมองเห็นชมรมนี้เป็นวงดนตรีใหญ่ของ ม.ดัง แล้วคิดว่าคงจะมีเงินสนับสนุนแบบไม่ขาดมือโดยตลอด แต่ความเป็นจริงแล้ว น้องๆ ในชมรมมีงบประมาณที่ใช้ในชมรมจาก 3 ส่วนหลักๆ คือเงินสนับสนุนจากทางมหาวิทยาลัย จากสปอนเซอร์ที่น้องๆ ต้องตั้งทีมไปขอเอง และค่าจ้างจากการโชว์แต่ละครั้ง ซึ่งเริ่มที่ 30,000 ขึ้นไปต่อการโชว์เต็มวงแต่ละครั้ง 
  
      
โดยน้องจีน่า เหรัญญิกของชมรม ก็ได้เล่าให้ฟังว่า "งบประมาณที่ใช้ในแต่ละงานแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสเกลของงานค่ะ อย่างคอนเสิร์ตเปิดตัวสมาชิกใหม่หรือสัมมนาประจำปีของชมรม ที่พวกเราจะไปประชุมกันว่าปีที่ผ่านมามีปัญหาอะไรบ้าง แล้วแก้ปัญหากันยังไงดี ส่วนนี้เรามีงบประมาณสนับสนุนจากทางมหาวิทยาลัยค่ะ ซึ่งค่อนข้างจะครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่อย่างคอนเสิร์ตประจำปีซึ่งจะเป็นคอนเสิร์ตสเกลใหญ่ พวกเราก็ต้องหาเงินสนับสนุนจากภายนอกเพิ่มเติมค่ะ ทั้งตั้งทีมไปขอสปอนเซอร์ แล้วก็หาเงินจากการโชว์ตามงานข้างนอก เพื่อให้ได้ความใหญ่ ความอลังการที่เราต้องการ (หัวเราะ)"
  
   
   
9. การเรียนควบคู่กับการทำวงดนตรีแบบนี้ สำหรับเด็กเก่งอย่างนิสิตจุฬาฯ คงไม่มีอะไรยาก... ไม่ยากหรอก (เสียงสูง) แค่ซ้อมหนักมากจนมีเวลาอ่านหนังสือน้อยกว่าคนอื่นเองจ้า!
   
ยังมีอีกหลายคนทีมองว่านิสิตจุฬาฯ เรียนเก่งในชนิดที่ว่า "หัวดีอยู่แล้ว" แต่พี่ส้มขอบอกเลยค่ะว่า ทุกความเก่งที่สังคมมองเห็นนั้นมาจากกความตั้งใจและพยายามล้วนๆ เพราะน้องๆ C.U.Band ต้องการพัฒนาชมรมให้ดีขึ้นอยู่เสมอ จึงทุ่มเทและให้เวลากับชมรมมากพอสมควร เพราะฉะนั้นการแบ่งเวลาระหว่างการเรียนและการทำกิจกรรม คือสิ่งที่พวกเขาทุกคนต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งเลย...

"ยอมรับว่าแบนด์ซ้อมหนักมากๆเลยครับ โดยเฉพาะช่วงใกล้วันแสดง ช่วงนี้สมาชิกก็จะไม่ค่อยมีเวลาได้กลับไปอ่านหนังสือแน่นอน สิ่งที่สมาชิกแบนด์ทำได้ก็คือวางแผนการอ่านหนังสือล่วงหน้าครับ และบริหารเวลาตัวเองให้ดีๆ เพราะเรามีเวลาน้อยกว่าเพื่อน"  

   
"และการทำให้วงเรามีคุณภาพ มันไม่สามารถสร้างได้ด้วยเพียงแค่ปีเดียวแน่ๆ ครับ เราต้องค่อยๆ เรียนรู้ ปรับเปลี่ยนวิธีซ้อม ค้นหาเพลงใหม่ แลกเปลี่ยนความรู้ จากพี่สู่น้อง ในจุดนี้แหละครับที่เราต้องทุ่มเทและให้เวลากับชมรมมากๆ เลย เราค่อยๆ ทำให้ชมรมของเรามีทักษะความสามารถและระบบการจัดการของชมรมดีขึ้นๆ ในทุกๆปี เราเป็นครอบครัว ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันแบบนี้หลายสิบปี (ยิ้ม)" น้องบอยกล่าวปิดท้ายได้อย่างประทับใจ
  
  
   
เรื่องวงก็พูดไปเยอะแล้ว มาชมบรรยากาศการออดิชั่นนักร้องกันหน่อยดีกว่า!
  
ต้องถือเป็นโชคดีของพี่ส้มและพี่ทีจริงๆ ค่ะ เพราะมีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์น้องๆ C.U.Band ในวันที่มีออดิชั่นนักร้องด้วย ซึ่งพี่ส้มก็ไม่พลาดที่จะเข้าไปพูดคุยกับน้องๆ ที่มาออดิชั่น แน่นอนว่าน้องทุกคนตื่นเต้นค่ะ แต่ก็พยายามเตรียมตัวมาเพื่อวันนี้ เพราะพวกเขาก็อยากก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ C.U.Band ซึ่งน้องๆ มาจากหลากหลายคณะเลยค่ะ
   
เริ่มที่ น้องพลอย-ณภัทร กิตติกุลยุทธ์ สาวน้อยจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่แท็กทีมมากับน้องบีม - สรัลรัชช์ วิรัลสิริภักดิ์ เพื่อนร่วมคณะ
  
น้องพลอย-ณภัทร กิตติกุลยุทธ์
   
"หนูมาสมัครเพราะเห็นมีคนบอกว่า ชมรมนี้เป็นชมรมของคนอารมณ์ดีค่ะ หนูชอบร้องเพลงอยู่แล้ว เลยอยากเข้ามาพัฒนาการร้องเพลงในนี้ เพราะน่าจะมีพี่ๆ เก่งๆ ที่สอนเราได้" น้องพลอยกล่าว
   
น้องบีม-สรัลรัชช์ วิรัจสิริภักดิ์
   
ส่วนน้องบีมก็มาสมัครเพราะความประทับใจในโชว์ของวงเลยหละ "มาสมัครเพราะเคยดูคอนเสิร์ตซียูแบนด์แล้วชอบ โชว์พี่ๆ เค้าดีมากเลยค่ะ เลยอยากมาจอยกับเขาด้วย"
  
ตามมาที่ว่าที่หมอ น้องแอ๋ม-วริษา โอฬารกิจวานิช เฟรชชี่หน้าใสจากคณะแพทยศาสตร์ ที่ตามมาสมัครเพราะเป็นแฟนคลับ C.U.Band
   
น้องแอ๋ม-วริษา โอฬารกิจวานิช
  
"หนูได้ไปดูคอนเสิร์ตตามงานต่างๆ ในมหา'ลัยค่ะ เห็นพี่ๆ เขามาร้อง หนูก็ชอบร้องเพลงเลยอยากมาร้องกับพี่ๆ เขาบ้าง" น้องแอ๋มกล่าว
   
มาต่อกันที่น้องจีน-ภวิศ กาญจนดุษฎี หนุ่มคนนี้มาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ค่ะ "วันนี้เตรียมตัวมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะใกล้สอบมิดเทอมแล้วครับ แต่ก็จะทำให้เต็มที่ เพราะผมประทับใจในความเป็น Professional ของชมรมนี้ เลยอยากเข้ามาหาประสบการณ์ทางด้านดนตรีมากขึ้น อยากเปิดโลกด้านนี้ให้มากขึ้น เพราะผมชอบร้องเพลงอยู่แล้วครับ" น้องจีนเล่าอย่างจริงจัง
   
น้องจีน-ภวิศ กาญจนดุษฏี  
   
  
"ชีวิตในรั้วมหา'ลัยของพวกเรา 4 ปีจะผ่านไปไวมากๆ อยากลองทำอะไร ให้ทำเลย ช่วงชีวิตในมหาลัยเป็นช่วงเวลาแห่งการค้นหาตัวเองให้เจอก่อนจะออกไปสู่โลกของการทำงานด้วย เพราะฉะนั้น การที่เราได้ทำกิจกรรมไปด้วยระหว่างเรียน
จะช่วยให้เราได้ทำอะไรใหม่ๆ เจอคนใหม่ๆ ได้มุมมองแง่คิดใหม่ๆ แน่นอน"
      
     หลังจากการสัมภาษณ์ถึงเบื้องหลังของการเป็นวงดนตรีเจ้าของผลงานโชว์สุดประทับใจมากมายไปแล้ว น้องๆ คงได้เห็นทัศนคติของกลุ่มคนที่มีใจรักในดนตรีและให้ความสำคัญกับสิ่งที่รักด้วยการทุ่มเทแรงกายแรงใจ ซึ่งในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ยังคงมีวินัยในการแบ่งเวลาให้กับเรื่องเรียนได้อย่างดีเยี่ยม น้องๆ ทั้งเก่งและเจ๋งแบบนี้ พี่ส้มและพี่ทีก็ต้องขอมอบรางวัล Idol กิจกรรมให้กับ C.U.Band ไปครองเลยจ้า!!!
  
     
     ส่วนใครที่อยากเป็น Idol กิจกรรมแห่ง Dek-D.com พร้อมรับถ้วยเด็กกิจกรรมเท่ๆ แบบนี้ไปครอง สามารถส่งเรื่องราวเด็กกิจกรรมที่น่าสนใจของตัวเอง บรรยายความยาว 1 หน้ากระดาษมาได้ที่ Methawee@dek-d.com คนไหนเจ๋งจริง เดี๋ยวพี่ทีมงานจะรีบติดต่อกลับไปหาเลยจ้า
   
   
พี่ส้ม
พี่ส้ม - Columnist คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่เชื่อว่าใครก็เป็นเด็กดีได้ในสไตล์ของตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด