จากใจเด็กศิลปากร! 3 วัน 3 คืนสู่ภาพเขียน "พระอัจฉริยภาพของในหลวง ร.9"

     แม้ว่าเราทุกคนจะอยู่ท่ามกลางความโศกเศร้าและธรรมเนียมการไว้ทุกข์ ที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เห็นประเทศไทยถูกฉาบไปด้วยสีดำแทบทุกแห่งหนจนทำให้หลายคนยิ่งรู้สึกหดหู่มากขึ้นไปอีก แต่ถ้าเราลองมองให้ลึกลงไปแล้วจะพบว่าบ้านเมืองของเราไม่ได้ขาดสีสันอย่างที่คิดเพราะในช่วงเวลานี้มีหลายสิ่งที่น่าประทับใจเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งทุกสิ่งล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากใจคนไทยที่ต้องการ "ทำดีเพื่อพ่อหลวง"
    
   
     และในวันนี้ พี่ส้มก็มีอีกหนึ่งผู้ที่สร้างความประทับใจให้แก่ชาวไทย ด้วยการสร้างสรรค์งานศิลปะที่ควรค่าแก่การจดจำและเป็นการรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาแนะนำให้น้องๆ รู้จักกันด้วยค่ะ มาพบกับกลุ่มตัวแทนนักศึกษาจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ เจ้าของผลงานภาพเขียนในหลวง ร.9 หน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร 
   
น้องปอง-ปองพล ปรีชานนท์, น้องโบว์-ปัณฑิตา มีบุญสบาย, 
น้องเกม-ผดุงทรัพย์ ประชานันทร์ และน้องก้อง-ก้องภพ เบ็ญจนิรัตน์
  
     นำทีมโดย น้องปอง-ปองพล ปรีชานนท์, น้องโบว์-ปัณฑิตา มีบุญสบาย, น้องเกม-ผดุงทรัพย์ ประชานันทร์ และน้องก้อง-ก้องภพ เบ็ญจนิรัตน์ ผู้ที่มาจะถ่ายทอดเบื้องหลังเรื่องราวของงานชิ้นนี้ผ่านแนวคิดที่น่าสนใจ ว่าแล้วก็มาพูดคุยกับพวกเขากันเลย...
   
   
เริ่มจากเหตุที่ไม่คาดคิด สู่การสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอก
  
เป็นที่ทราบกันดีว่าผลงานพระบรมสาทิสลักษณ์องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ของน้องๆ กลุ่มนี้ ถูกพูดถึงและแชร์ต่อกันอย่างล้นหลามในสังคมออนไลน์ ซึ่งจุดเริ่มต้นของการเขียนภาพชุดนี้ขึ้นมา ก็เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักของปวงชนชาวไทย ที่ถึงแม้พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคตไปแล้ว แต่ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของพวกเราทุกคน โดยได้ถ่ายทอดเป็นภาพสีพลาสติกทั้ง 9 อิริยาบถที่่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะ ดนตรี กีฬา ที่น้องๆ ได้ช่วยกันคิดวางแผนและลงมือทำจนแล้วเสร็จภายในเวลา 3 วัน 3 คืน
   
   
"พอทราบข่าวก็เริ่มคิดเลยครับว่าจะทำ ตอนแรกจะให้เป็นโปรเจคต์ของชั้นปี 2 อย่างเดียว นั่งคุยกันที่คณะนี่แหละ ว่าจะทำคัทเดียว (ภาพเดียว) แล้วทีนี้เพื่อนในรุ่นก็อยากทำกันเยอะ เลยขยายเป็น 9 คัท แล้วก็มีรุ่นพี่ปี 3 อยากมาทำด้วย ก็เลยเพิ่มไปอีก" น้องปองเล่าอย่างจริงจัง
    
ส่วนน้องโบว์ก็กล่าวเสริมว่า "ช่วงค่ำของวันพฤหัสฯ ที่ทราบข่าว (13 ต.ค. 2559) ตอนนั้นอุปกรณ์ก็ยังไม่พร้อม คนก็ยังไม่ครบ ก็เลยบอกเพื่อนทางไลน์กลุ่มว่าวันศุกร์มาช่วยกันนะ แล้ววันศุกร์ก็ช่วยกันวางแผนถึงการจัดภาพ ให้อาจารย์ช่วยตรวจดูความเหมาะสม แล้วก็เริ่มร่างตอนคืนวันศุกร์กันค่ะ"
    
    
ความร่วมมือ ร่วมใจ ทำให้ชิ้นงานออกมาประทับใจคนไทยทั้งชาติ
   
เมื่อได้พูดคุยถึงการสร้างศิลปะชิ้นนี้ขึ้นมา สิ่งที่น้องๆ ได้เล่าให้ฟังสามารถแสดงถึงการร่วมมือร่วมใจของชาวคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ได้อย่างชัดเจนเลยล่ะค่ะ 
    
น้องเกมเล่าว่า "จากที่เราคุยกันในเบื้องต้นว่าจะเอาภาพไปตั้งหน้ามหาวิทยาลัยครับ แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่วนกลาง เราเลยต้องขออนุญาตทางมหา'ลัยก่อน ช่วยกันร่างแบบ ซึ่งก็มีการปรึกษา อาจารย์พงษ์พันธ์ จันทนมัฎฐะ กับอาจารย์อดิเรก โลหะกุล เพราะอาจารย์ต้องส่งแบบไปให้พระราชวังตรวจก่อน ที่ส่งไปตอนแรกคือขาวดำครับ แต่พอทำกันจริงๆ แล้วเลยครีเอทให้ดูพิเศษขึ้น"
     
เครดิต : Chanin Rattanachatree
   
แต่ยังไม่พอแค่นั้นนะคะ เพราะว่าเมื่อบุคคลภายนอกได้รู้ข่าวว่าพวกเขากำลังช่วยกันเขียนภาพชุดนี้ ก็ติดต่อมาเพื่อให้การสนับสนุนด้วยอีกเช่นกัน เรียกได้ว่าน้ำใจคนไทยนี่ยิ่งใหญ่เสมอจริงๆ ค่ะ
     
"ตอนแรกใช้เงินรุ่นของพวกเราปี 2 ไปซื้ออุปกรณ์มาช่วยกันวาดค่ะ เริ่มวาดกันในคืนวันศุกร์ พอทำถึงวันเสาร์ก็เริ่มมีเงินจากประชาชนที่เค้าเดินเข้ามา บริจาคมาให้ และก็มีเงินจากรุ่นพี่ปีเก่ามาให้ด้วย คณะเรามีคนเป็นร้อย ก็มีคนมาทำเกือบทั้งรุ่น" น้องโบว์กล่าว
            
เครดิต : Aorsan Jitruetai
     
ส่วนน้องก้องก็เล่าบรรยากาศในการทำงานด้วยกันว่า "ในแต่ละคัทจะมีหัวหน้าประจำคัท แล้วก็มีลูกมือที่เวียนๆ กันมาช่วย ตอนตีไม้ขึ้นเฟรมก็ช่วยกันหน้าคณะนี่แหละครับ อยู่กันทั้งรุ่น คนที่ไม่ได้วาดก็มาช่วยส่งข้าวส่งน้ำก็มี"
    
เครดิต : Aorsan Jitruetai
   
และเมื่อภาพชุดนี้สวยงามจนสร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็น แน่นอนว่าเจ้าของผลงาน ก็ย่อมประทับใจและมีความสุขตามไปด้วยอยู่แล้วล่ะค่ะ 
   
"ทั้งประทับใจตกใจเลย ที่มีคนแชร์ไปเยอะขนาดนี้ เพราะนี่คืองานที่พวกเราทำกันเอง และถือเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตเราเลยก็ว่าได้ จริงๆ ที่งานนี้ได้รับโอกาสจากสังคม ส่วนหนึ่งก็เพราะชื่อเสียงของมหา'ลัยเราด้วย พวกเราคิดว่าแม้จะไม่มีความสามารถอะไรที่โดดเด่น แต่ถ้าเราปฏิบัติตามที่พ่อหลวงสอน สืบสานพระราชกรณียกิจของท่าน ก็น่าภูมิใจเพียงพอแล้วเหมือกันนะ" ทั้งสี่คนกล่าว   
       
      
งานศิลปะที่ละเอียดลออทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง
   
เมื่อมีโอกาสได้สัมภาษณ์เจ้าของผลงานทั้งที เรื่องที่จะลืมพูดคุยไปไม่ได้ก็คือวิธีการทำให้ภาพวาดชุดนี้ออกมาสวยงามนั่นเองค่ะ โดยน้องๆ ได้เล่าให้พี่ส้มฟังว่า
   
"ก่อนจะวาดก็มีการตีไม้ขึ้นเฟรมภาพเพื่อเสริมความแข็งแรง และแต่ละภาพ จะมีคนรับผิดชอบหน้าที่ 2-3 คน โดยจะแบ่งกันทำตามจุดต่างๆ ในภาพ ซึ่งลายเส้นต่างๆ ก็จะออกมาตามสไตล์ของแต่ละคน แต่จะมีสีกลางคือดำผสมน้ำตาล ทำให้ภาคออกมาเป็นโทนสีซีเปียแบบที่เห็น และขั้นตอนท้ายสุดคือการเก็บงาน คือทีมพวกเราจะเก็บรายละเอียดของทุกภาพ เป็นขั้นตอนสุดท้าย เพื่อให้ทุกภาพมีความสมู้ท กลมกลืนกันเป็นชุดเดียว" ทั้ง 4 คนกล่าว
   
เครดิต : Aorsan Jitruetai
   
ความรักในศิลปะ และทางเดินสู่ศิลปินที่ไม่จำเป็นต้องดัง แต่ดังก็ดีนะ!

พูดคุยกันมาถึงตอนนี้แล้ว คงรู้กันแล้วนะคะว่าน้องๆ ทั้ง 4 คนนี้รักในศิลปะมากแค่ไหน และเมื่อถามถึงอนาคตอันใกล้นี้ พวกเขาตอบเป็นเสียงเดียวกันเลยล่ะค่ะว่า "เราทั้งหมดจะเลือกเอกเพ้นท์ เพราะอนาคตอยากเป็นศิลปิน" แต่เห็นตอบเหมือนกันแบบนี้ ขอบอกเลยนะคะว่าจุดเริ่มต้นในการเข้ามาเรียนในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ของแต่ละคนต่างกันอย่างไม่น่าเชื่อ... 
    
    
เริ่มที่น้องปอง "ผมชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็กครับ ตั้งใจจะเข้าจิตรกรรมตั้งแต่เด็ก ประถมฯ ม.ต้น เลยก็ว่าได้ เลยเรียนพิเศษศิลปะเพิ่มเติมตั้งแต่ตอนนั้นมา จนได้มาเรียนที่นี่"
    
   
"ผมก็เหมือนเด็กทั่วไปที่ชอบวาดรูป ปั้นดินน้ำมัน ชอบดูทีวีที่เกี่ยวกับศิลปะ ชอบอะไรที่เป็นศิลปะตั้งแต่เด็ก แต่เป็นเด็กที่เรียนไม่เก่ง วิชาศิลปะจะช่วยดึงคะแนนเราขึ้นมา ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด ที่ย้ายมาเรียน ปวช.ในกรุงเทพฯ  เปิดโลกผมมากเลยจนได้มาเรียนที่นี่ก็ได้รู้อะไรมากมาย" น้องเกมกล่าว
     
   
ส่วนน้องก้อง "ผมก็เรียนมัธยมมาจาก รร. สวนกุหลาบนนทบุรี เป็นโรงเรียนที่เน้นวิชาการ ผมก็พยายามหาช่องทางที่จะได้ทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นไปขออยู่ชมรมศิลปะบ้าง ฝึกฝนตัวเอง เข้าประกวดในที่ต่างๆ จนสอบติดที่นี่ครับ"
   
   
ปิดท้ายด้วยคนที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนใจมาเยอะ "หนูก็เป็นเด็กที่แข่งขันประกวดวาดภาพแต่เด็ก คือตอนนั้นหนูชอบวิทย์คณิตมาก เริ่มแรกไม่ได้อยากเข้าคณะนี้ อยากเป็นวิศวะแล้วก็ตั้งใจเรียน  เกรดดีมาก แต่เริ่มรู้สึกไม่ใช่ตัวเราแล้ว ด้วยความที่ชอบคำนวณอยู่ เลยไปติวสถาปัตย์มาสองปี รู้สึกไม่ใช่อีก เลยเปลี่ยนใจไปสอบมัณฑนศิลป์ หนูไปสอบแล้วก็ติด สอบหลายที่มาก แต่จนมาถึงครั้งสุดท้ายหนูก็ไปลงสอบจิตรกรรมไว้เล่นๆ พอติดก็รู้สึกมีอะไรดลใจให้เรียนที่นี่ คือตอนแรกพ่อแม่ก็มีปัญหาอยู่ว่าจบไปทำอะไร หนูก็บอกไปก่อนว่าอยากเป็นอาจารย์ ไม่กล้าบอกเต็มปากว่าอยากเป็นศิลปิน เพราะมันคือความฝันอะค่ะ ไม่แน่ใจว่าจะเป็นจริงได้รึเปล่า แต่เราก็อยากทำให้ได้จริงๆ" น้องโบว์กล่าว
     
     
นอกจากนี้ ทั้งสี่คนยังกล่าวทิ้งท้ายว่า "พวกเราคิดว่าเป็นศิลปินไม่จำเป็นต้องดังก็ได้นะ เหมือนความดังมันเป็นผลพลอยได้ที่ช่วยอัพราคาของงานเรามากกว่า และในสังคมนี้ยังมีศิลปินอิสระ คนที่ทำงานด้วยใจรักโดยไม่ได้หวังเงินทองอะไร แต่ถ้าดังได้ก็ดีนะ จะได้ขายงานง่าย (หัวเราะ)"
   
  
ร่วมส่งเสริมคุณค่าของผลงาน ด้วยมารยาทของผู้รับชมที่ดี
  
ภาพชุดดังกล่าวมีการจัดแสดงในบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร ฝั่งถนนหน้าพระลาน ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถไปชมและถ่ายภาพได้ ซึ่งพี่ส้มก็มีโอกาสได้ไปเห็นกับตามาแล้ว กล้าพูดได้เต็มปากเลยล่ะค่ะว่าสวยงามจริงๆ โดยน้องๆ มีแผนจะตั้งภาพไปเป็นเวลาประมาณ 1 ปี จนกว่าจะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ
   
เครดิต : Chanin Rattanachatree
      
ส่วนสิ่งที่ต้องระวังคือ ห้ามสัมผัสภาพเพราะจะทำให้เกิดความเสียหาย สีหลุดลอก และระมัดระวังการชิงทรัพย์สินและของมีค่า เพราะว่ามีผู้ที่สนใจภาพนี้จำนวนมาก เบียดเสียดกันในบริเวณดังกล่าวนะคะ
     
    
     สุดท้ายนี้ พี่ส้มคิดว่าเราทุกคนคงได้เห็นถึงฝีมือในงานศิลปะและทัศนคติเชิงบวกที่น่ารักของน้องๆ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรกันอย่างชัดเจนแล้วนะคะ และแน่นอนว่าคนเก่งและดีแบบนี้ต้องมีรางวัล Idol กิจกรรมให้อย่างแน่นอน ขอแสดงความยินดีด้วยจ้า!!!
   

    
     ส่วนใครที่อยากเป็น Idol กิจกรรมแห่ง Dek-D.com พร้อมรับถ้วยเด็กกิจกรรมเท่ๆ แบบนี้ไปครอง สามารถส่งเรื่องราวเด็กกิจกรรมที่น่าสนใจของตัวเอง บรรยายความยาว 1 หน้ากระดาษมาได้ที่ Methawee@dek-d.com คนไหนเจ๋งจริง เดี๋ยวพี่ทีมงานจะรีบติดต่อกลับไปหาเลยจ้า
   
พี่ส้ม
พี่ส้ม - Columnist คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่เชื่อว่าใครก็เป็นเด็กดีได้ในสไตล์ของตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด