พาชมเบื้องหลัง "งิ้วล้อการเมืองธรรมศาสตร์" เพราะวัยรุ่นกับการเมือง เราไปด้วยกันได้!

     การเติบโตตามวิถีชีวิตของสังคมไทยได้หล่อหลอมเราทุกคนด้วยคำสอนที่ว่า "การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว" เพื่อให้ทุกคนได้ใช้อำนาจตามบทบาท สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของตนเอง แต่กลับมีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่า "ชีวิตของฉันก็ยังคงห่างไกลกับการเมืองอยู่ดี" ซึ่งอาจเป็นเพราะมุมมองที่เห็นว่าเรื่องนี้ซับซ้อนและเข้าใจยากจนเบื่อที่จะรับรู้ หรือในอีกทางหนึ่งก็คือความรู้สึกว่าการแสดงความคิดเห็นต่อการเมืองเป็นสิ่งที่ถูกตีกรอบ กลัวถ้าวิพากษ์วิจารณ์ออกมาตรงๆ ก็อาจถูกตัดสินว่าเราเอียงข้างหรือเป็นภัยต่อตัวเองได้ 
    
           
     แม้ว่าการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นคือมารยาทอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นประเด็นการเมืองอย่างที่กล่าวมานี้ ถ้าพูดจาขวานผ่าซากออกไปก็คงทำให้ใครหลายคนมีน้ำโหได้เหมือนกัน วันนี้พี่ส้มเลยมีตัวอย่างของศิลปะการแสดงแกะเกาการเมืองที่มีเนื้อหาร้อนแรงให้ออกมาเป็นเรื่องสนุกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้แบบไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจมาฝาก ว่าแต่จะมันส์แค่ไหนก็ต้องมาหาคำตอบกันที่ชมรมงิ้วสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กันเลยจ้า นำทีมโดย...
       
น้องน้ำ-ณัฐชัย ยอดเดชภูมิ ทีมเขียนบท, มือกลองและฉาบ
น้องแชมป์-ลัทธวัฒน์ ภูมิบริรักษ์ ทีมพากย์ฝ่ายชาย
น้องเอ๋ย-สุธารีย์ สุธรรม ทีมพากย์ฝ่ายหญิง
น้องเพลง-สุทธิกานต์ แต่งตั้ง ทีมพากย์ฝ่ายหญิง
น้องออม-อภิษฐา พละศึก ทีมคอสตูม สไตล์ลิสต์
          
น้องแชมป์-ลัทธวัฒน์ ภูมิบริรักษ์, น้องออม-อภิษฐา พละศึก, น้องน้ำ-ณัฐชัย ยอดเดชภูมิ,
น้องเอ๋ย-สุธารีย์ สุธรรม และน้องเพลง-สุทธิกานต์ แต่งตั้ง
     
        
จุดเริ่มต้นด้วยต่างเหตุผล แต่ทุกคนคือชมรมงิ้วสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
    
ชมรมงิ้วสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือที่ทุกคนคุ้นหูในชื่อ "งิ้วล้อการเมืองธรรมศาสตร์" ก่อตั้งมานานกว่า 30 ปีแล้วค่ะ โดยจุดประกายจากนักศึกษาในคณะต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง แล้วเกิดไอเดียหยิบยกงิ้วมาเป็นกิจกรรมหลัก ซึ่งเดิมทีเป็นของชมรม TU Drama จึงได้ไปขอความรู้เบื้องต้น แล้วเรียนรู้เพิ่มเติมแล้วฝึกซ้อมกันเอง โดยชมรมนี้รับเฉพาะนักศึกษาในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์เท่านั้น เพื่อให้สามารถจัดสรรเวลาว่างมาซ้อมงิ้วกันได้สะดวก จึงเป็นที่มาให้น้องทั้งห้าคนนี้ตัดสินใจมาสมัครเข้าชมรมกันค่ะ
     
      
น้องน้ำเล่าว่า "เดิมผมเป็นคนที่ชอบเล่นดนตรี เพื่อนเห็นว่าเล่นได้เลยชวนมาเข้าชมรม เพราะต้องการคนตีกลองตีฉาบ ซึ่งผมก็ชอบเรื่องการเมืองอยู่แล้วครับ พอเห็นงิ้วก็รู้สึกว่ากิจกรรมนี้น่าสนใจดี เลยเข้ามา"
    
ส่วนน้องแชมป์ที่ตามกันมาติดๆ "สำหรับผมนี่ตามน้ำเข้ามาครับ มาอยู่ในทีมพากย์เพราะว่าเขินที่จะแสดง ตอนแรกก็ไม่สนใจการเมืองเท่าไหร่ พอได้อยู่ชมรมนี้ก็ได้เห็นว่ามันเป็นเรื่องสำคัญกับชีวิตเราจริงๆ"
   
    
"ตอนมาเรียนที่นี่ก็อยู่หอแล้วรู้สึกว่าไม่มีอะไรทำค่ะ พอเห็นว่าชมรมนี้รับแต่คนในคณะเราเลยสนใจเข้ามา เพราะอยากได้เพื่อน อยากมาทำกิจกรรมด้วย " น้องเอ๋ยกล่าว
           
สำหรับน้องเพลง "ตอนแรกเคยได้ยินมาว่าที่นี่มีงิ้วล้อการเมือง พอสอบได้ที่นี่ก็รู้สึกสนใจ เขามีการประชาสัมพันธ์จากคณะ เลยเข้ามาอยู่ทีมพากย์ดูค่ะ"
     
    
ปิดท้ายที่ตัวแทนทีมคอสตูมและสไตล์ลิสต์ "พี่รหัสของออมป็นนักแสดงหญิงเลยชวนมาเป็นด้วยค่ะ แต่รู้สึกไม่ถนัดกับเบื้องหน้า เลยลองมาอยู่เบื้องหลังดู พอได้แต่งหน้าทำผมแล้วก็รู้สึกชอบมากกว่า"
        
     
การบริหารชมรม ผ่านสายสัมพันธ์พี่น้อง และผองเพื่อน
      
ได้รู้ความเป็นมาของชมรมกันไปแล้ว ประเด็นต่อไปที่จะพลาดไม่ได้เลยคือการบริหารชมรม เพราะน้องๆ ไม่ได้เพียงมารวมตัวกันเพื่อทำในสิ่งที่ชอบเท่านั้น แต่ทุกคนยังต้องช่วยกันสร้างสรรค์การแสดงงิ้วล้อการเมือง ที่ใครๆ ก็รู้ดีว่าเข้มข้นประทับใจคนดู ซึ่งแน่นอนว่าน้องทั้งห้าคนนี้ต้องช่วยกันจัดการงานหลายๆ อย่าง ว่าแต่ต้องทำอะไรบ้างก็ต้องไปถามเจ้าตัวดูค่ะ...
    
    
น้องทั้งห้าคนเริ่มเล่าถึงการทำงานในชมรมว่า "ชมรมเราแบ่งฝ่ายทำงานหลักๆ ออกเป็น 5 ฝ่าย ประกอบด้วยทีมเขียนบท ทีมแสดงที่มีทั้งชายและหญิง ทีมพากย์ ทีมกลองฉาบที่รับผิดชอบดนตรีประกอบ และทีมเบื้องหลังที่ดูแลเสื้อผ้าหน้าผม และจะมีคนประสานงานหนึ่งคน ทำหน้าที่รับงานที่คนติดต่อเข้ามา โดยเราจะมีเบอร์โทร. ไว้ที่เฟซบุ๊ก พอรับเรื่องมาแล้วก็จะมาประชุมเพื่อแจ้งให้ทุกคนทราบว่า งานนี้ใครจ้างมา ต้องการธีมประมาณไหน ใครเป็นตัวแสดง ถ้าคอนเฟิร์มแล้วเราก็จะเริ่มเตรียมฝึกซ้อมกัน"
   
    
น้องๆ ให้ข้อมูลต่อว่างานที่รับมีทั้งงานฟรีและมีค่าจ้าง ที่มีแสดงทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งช่วงที่งานชุกมากที่สุดก็คือเทศกาลตรุษจีนและกินเจ โดยชมรมจะหยุดพักรับงานในช่วงสอบเพื่อให้สมาชิกได้อ่านหนังสือกัน ส่วนรายได้ที่เข้ามาจะใช้จ่ายเพื่อทำนุบำรุงชมรม ในการตัดชุด ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มเติมค่ะ 
    
    
ร้อยเรื่องเบื้องหลัง สู่ความอลังการหน้าฉาก!
    
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงอยากทราบใช่มั้ยคะว่า "กว่าจะได้งิ้วหนึ่งเรื่องต้องเตรียมการยังไงบ้าง?"
         
งานนี้น้องน้ำผู้ทำหน้าที่เขียนบท ก็อธิบายในส่วนของการแสดงว่า "สำหรับการแสดงของเรา เริ่มแรกในการฝึกซ้อมเราก็จะมานั่งคุยกันว่าเรื่องที่จะเล่น มีทิศทางประมาณไหน ต้องใช้ตัวแสดงกี่ตัว จึงเริ่มเขียนบทคร่าวๆ แล้วมาช่วยกันดูว่าเหมาะสมรึยัง ซึ่งก็ปรึกษากันในกลุ่มเพื่อน บางครั้งก็ส่งให้รุ่นพี่ที่มีประสบการณ์มากกว่าช่วยตรวจทานด้วยว่าเนื้อหาเราเป็นกลางรึยัง มีจุดไหนที่ต้องแก้ไขบ้าง เพราะด้วยความที่เราเป็นงิ้วล้อการเมือง ต่อให้ธีมงานไม่ได้บรีฟมาว่าต้องเป็นเรื่องการเมือง แต่เราก็ต้องการที่จะสอดแทรกบางมุกที่เกี่ยวกับการเมืองไปบ้างเพื่อเป็นสีสันครับ จุดนี้เลยต้องระดมสมองหน่อย (หัวเราะ)"
   
     
"พอได้ตัวแสดงเรียบร้อยแล้ว ก็จะแบ่งออกไปซ้อมตามฝ่าย โดยทีมพากย์จะต้องทำความเข้าใจในบทบาทของตัวละคร แล้วฝึกวอร์มเสียง ใส่ตัวตนของเราลงไปในบทที่จะต้องพากย์ให้ตัวละคร ในขั้นตอนนี้ก็จะมีแก้คำพูดบ้างให้เหมาะกับตัวเราด้วยค่ะ จะได้กลมกลืนไปด้วยกัน บางทีอยากใส่มุกตลกเราก็คุยกับทีมบทว่าอยากเพิ่ม ลด หรือแก้ไขตรงไหน" น้องเพลงกล่าวเสริม
   
    
ส่วนน้องแชมป์ก็ลงรายละเอียดในการพากย์ว่า "สำหรับการพากย์เราจะมีกระบวนการเข้าฝ่าย เข้าคู่ คือต้องให้ทีมแสดงกับทีมพากย์เป็นคนคนเดียวกัน เราจึงต้องฝึกซ้อมด้วยกันอย่างหนักเลยครับ"
    
น้องเอ๋ยเล่าต่อว่า "ในการเข้าคู่นี้ คนแสดงก็ต้องงับปากตามใหัทันคำที่เราพูด ส่วนเรามีหน้าที่พากย์ก็ต้องพูดออกมาให้กลมกลืนกับการแสดงของเขา ให้คนดูรู้สึกว่านี่คือคำพูดที่ตัวแสดงพูดออกมาจริงๆ"
   
    
ปิดท้ายที่น้องออม "ในระหว่างที่เพื่อนฝึกซ้อม ฝ่ายเบื้องหลังก็ต้องมาดูเพื่อนซ้อมค่ะ เพราะจะได้รู้ว่าตัวละครไหนมีคาแร็กเตอร์ยังไง เหมาะกับชุดแบบไหนจะได้เตรียมไว้ให้ ซึ่งก็มีทั้งชุดที่ได้ตกทอดมาตั้งแต่รุ่นพี่ และชุดที่ตัดใหม่ด้วย ราคาตัดใหม่เดี๋ยวนี้ก็อยู่ที่ราวๆ สองหมื่นบาท"
     
     
ในการแสดงงิ้วแต่ละเรื่อง น้องๆ จะต้องใช้เวลาในการฝึกซ้อมตั้งแต่สี่โมงเย็นถึงสี่ทุ่มที่ลานหน้าคณะ ยาวนานประมาณสองสัปดาห์ถึงหนึ่งเดือน เพื่อให้ทุกคนมีความพร้อมในหน้าที่ของตัวเอง และเพื่อให้ได้การแสดงที่อ่อนช้อยกลมกล่อมนั่นเอง
    
     
    
เติบโตอย่าง "โหด มันส์ ฮา" ท่ามกลางคำด่าและคำชม...
    
ใครที่มีโอกาสได้ผ่านตากับผลงานของงิ้วล้อการเมืองธรรมศาสตร์ คงรู้กันดีว่าศิลปะแห่งความกล้าที่จับปมการเมืองมาเขย่าผ่านบทแสดงของพวกเขา ช่างแกะเกาใจคนดูให้ฉุกคิดถึงสถานการณ์บ้านเมืองและปลุกเร้าให้เราได้ลองนำปัญหาต่างๆ ที่บทงิ้วได้สะท้อนให้เห็นมาทบทวนดูถึงสาเหตุและแนวทางแก้ไข ซึ่งบางครั้งก็จี้ใจผู้ชมอยู่ไม่น้อย จนเป็นที่มาของกระแสตอบรับทั้งด้านบวกและด้านลบ จนกลายเป็นบทเรียนและกำลังใจให้น้องๆ ได้นำไปพัฒนาชมรมต่อไปค่ะ
    
    
"ในช่วงที่การเมืองมีการแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน ชมรมเราก็มีฟีดแบ็คทั้งดีและไม่ดีปนกันไปส่วนที่พีคๆ ก็มีที่ไปเล่นงานรับเพื่อนใหม่ปีนึง แล้วโดนคนมาปิดล้อมคณะ เอาลำโพงมาตั้งแล้วพูดไมค์ด่าพวกเราเลยก็มี ปัญหานี้ชมรมก็ได้แก้ไขด้วยการออกไปชี้แจงถึงเหตุผลกับคนที่ไม่พอใจไป มันเลยกลายเป็นบทเรียนว่าเราต้องกรองบทของเราให้ดี แม้เราจะวางเรื่องเป็นกลางแล้ว แต่บางคำพูด บางการแสดงก็ชวนให้คนคิดไปในทางอื่นได้" น้องทั้งห้าคนกล่าวอย่างจริงจัง
      
   
น้องๆ ยังเล่าต่ออีกว่า "สำหรับการพัฒนาของชมรม ในส่วนของแต่ละคนต้องมีการพัฒนาแน่ๆ อยู่แล้ว เพราะทุกคนเข้ามาแบบเริ่มจากศูนย์ แล้วเรามาเรียนรู้กันเองจากอินเทอร์เน็ต สอนกันระหว่างเพื่อนระหว่างพี่น้อง แต่ในส่วนของชมรมก็คือจะมีการเพิ่มความหลากหลายในศิลปะการแสดงเข้าไป เพิ่มอุปกรณ์การแสดงใหม่ๆ เช่น อาวุธตอนนี้มีแค่ดาบ เราก็จะเพิ่มทวนเข้าไป แล้วก็เพิ่มความเป็นสมัยใหม่มากขึ้น เช่น เอาเพลงอะไรที่อินเทรนด์เพิ่มเข้าไป เพื่อให้เรื่องราวมันสนุกขึ้น"
    
    
       
อ่านการเมืองผ่านศิลปะ มุมมองใหม่ที่ไม่ไกลตัววัยรุ่น!
    
แม้ชีวิตนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของพวกเขาจะเป็นช่วงเวลาที่ควรตักตวงความรู้จากทฤษฎีในห้องเรียนเพื่อนำไปประกอบอาชีพหลังจากจบการศึกษาในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่การทำกิจกรรมงิ้วล้อการเมืองธรรมศาสตร์ ก็ได้ให้มุมมองใหม่ในการวิเคราะห์การเมืองได้อย่างชัดเจนขึ้น ซึ่งน้องทั้งห้าคนนี้ได้ยืนยันว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และเป็นสิ่งที่เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเสรี...
   
   
เริ่มกันที่น้องน้ำ "ด้วยความที่ผมชอบการเมืองอยู่แล้ว พอมาเข้าชมรมนี้ก็ทำให้ได้มุมมองในการใช้ศิลปะในการสื่อสาร ทำให้ผมรู้ว่าถ้าเราจะพูดถึงเรื่องการเมือง ไม่จำเป็นต้องพูดออกไปตรงๆ ก็ได้ ใช้การแสดงที่มันให้ทั้งความบันเทิงและข้อคิดของคนไปก็ได้ ซึ่งหลายคนชอบมองเป็นภาพใหญ่ๆ ถึงระดับรัฐบาลเลยคิดว่ามันไกลตัว แต่จริงๆ มันอยู่ในชีวิตของเราครับ มันคือการใช้อำนาจในชีวิตประจำวัน"
   
    
"การที่อยู่ชมรมนี้ จากคนไม่สนใจการเมืองเลยอย่างผม เพราะเคยคิดว่ามันเป็นเรื่องของคนระดับสูง พอได้มาเล่นงิ้วก็ต้องศึกษาการเมือง ดูข่าวสารเพื่อนำมาปรับใช้กับงิ้วของเรา เลยรู้สึกว่าจริงๆ มันไม่ได้ซับซ้อนอะไร มันเป็นเรื่องที่มีผลโดยตรงที่เราไม่ควรเพิกเฉย ซึ่งประสบการณ์ต่างๆ ก็ได้สอนให้เราทำโชว์ออกมาด้วยความเป็นกลาง เป็นการตีแผ่ความจริงผ่านการแสดงสนุกๆ แต่ให้คนดูไปตัดสินกันเอาเองว่าพวกเขาควรมีบทบาทยังไงกับการเมืองครับ" น้องแชมป์กล่าว
    
   
ส่วนน้องเพลงบอกว่า "อย่างที่รู้กันว่าโชว์ของชมรมเราเป็นการกระตุ้นให้คนดู ฉุกคิดกับสถานการณ์ต่างๆ ที่มีการเมืองมาเกี่ยวข้อง ก็ทำให้เราต้องทำการบ้านด้วยการเสพข่าวการเมืองมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนเจอในหน้าฟีดเฟซบุ๊กก็เลื่อนผ่านไป อินแค่บางเรื่อง แต่ตอนนี้ต้องกดเข้าไปอ่านอย่างตั้งใจเพื่อนำมาพัฒนาบทงิ้ว ก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของเราทุกคน ที่ควรรู้สึกอะไรกับมันบ้างก็ยังดีค่ะ"
     
       
"ด้วยหน้าที่ทีมพากย์ที่ต้องอัพเดตข่าวการเมืองเพื่อให้บทงิ้วของเราเป็นปัจจุบัน เพื่อให้คนดูอินกับโชว์ของเราค่ะ ก็ทำให้จากคนที่เคยคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องหน้าเบื่อ เราก็สนใจมากขึ้น รู้สึกเลยว่าการเมืองไม่ใช่สิ่งเราทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน เราจึงมีสิทธิ์ที่จะแสดงออกเพื่อให้เกิดการพัฒนา ซึ่งก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและใช้ศิลปะในการสื่อออกไป เพื่อให้ไม่เกิดความรุนแรง" น้องเอ๋ยกล่าว
   
    
ปิดท้ายที่น้องออม "เมื่อก่อนเรียกว่าไม่สนใจ ไม่รู้เรื่องการเมืองเลยก็ได้ แต่พอมาอยู่ที่นี่เพื่อนคุยกันเรื่องการเมือง พอเราลองทำความเข้าใจดูบ้างก็สนุกดี เม้าท์กันมันส์ (หัวเราะ) ซึ่งมันเป็นเรื่องที่กำหนดรูปแบบการใช้ชีวิตของเรา ไปจนถึงการพัฒนาประเทศเลยจริงๆ เหตุผลนี้เลยชัดเจนว่าทำไมเราจึงนำเรื่องราวการเมืองมาแสดง เพื่อสะท้อนให้คนดูได้ตระหนักถึงความสำคัญของมัน เหมือนกับที่เราได้เห็นมาค่ะ"
        
        
     ทุกคนคงได้เห็นแล้วนะคะว่าเรื่องราวของชมรมงิ้วสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวอย่างของศิลปะการสื่อสารเรื่องราวทางการเมืองได้อย่างคมคายและน่าสนุก แถมยังตอกย้ำให้เราได้เห็นว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวจริงๆ ซึ่งพี่ส้มก็ไม่พลาดที่จะมอบรางวัล Idol ให้กับน้องๆ ที่เก่งและมีความคิดสร้างสรรค์ทั้งห้าคนนี้ ยินดีด้วยจ้า!!!
      
                    
       
     ส่วนใครที่อยากเป็น Idol กิจกรรมแห่ง Dek-D.com พร้อมรับถ้วยเด็กกิจกรรมเท่ๆ แบบนี้ไปครอง สามารถส่งเรื่องราวเด็กกิจกรรมที่น่าสนใจของตัวเอง บรรยายความยาว 1 หน้ากระดาษมาได้ที่ Methawee@dek-d.com คนไหนเจ๋งจริง เดี๋ยวพี่ทีมงานจะรีบติดต่อกลับไปหาเลยจ้า
          
          
 
พี่ส้ม
พี่ส้ม - Columnist คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่เชื่อว่าใครก็เป็นเด็กดีได้ในสไตล์ของตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด