พาทัวร์แซ่บแบบเพลินๆ ที่มิวเซียมสยาม กับ "นิทรรศการ ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน"!

     สวัสดีจ้าชาว Dek-D.com ช่วงที่โรงเรียนเพิ่งเปิดเทอมหมาดๆ แบบนี้ ช่างพอเหมาะพอดีกับฤดูฝนเสียจริงๆ นะคะ และก็เป็นอันรู้กันว่าบรรยากาศฝนตกรถติดช่วงเช้านี่เป็นอะไรที่บั่นทอนกำลังใจน้องๆ วัยเรียนเอามากๆ เพราะไหนจะต้องลุ้นว่าจะไปทันเข้าแถวหน้าเสาธงมั้ย ไหนจะต้องระวังไม่ให้กระเป๋าหนังสือหรือรองเท้าเปียกอีก จนทำให้หลายคนเริ่มภาวนาขอให้วันเสาร์-อาทิตย์ของสัปดาห์ผ่านมาถึงเร็วๆ เพื่อจะได้นอนพักอยู่บ้านหรือออกไปเที่ยวให้หายเซ็งกันบ้าง ซึ่งถ้าใครเป็นสายชิลล์ชอบเดินเพลินๆ ล่ะก็ วันนี้พี่ส้มมีนิทรรศการเรียนรู้สุดแซ่บแบบไม่ต้องเปียกฝนมานำเสนอจ้า! นั่นแน่... งงล่ะสิว่างานวิชาการจ๋าแบบนี้ จะมีความแซ่บซ่อนอยู่ในซอกมุมใด? ว่าแล้วก็อย่าเพิ่งจิ้นกันไปไกล มาค้นหาคำตอบที่ "นิทรรศการ ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน!" กันก่อนนะจ๊ะทุกคน ^^
    
เครดิต : มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้
   
     พี่ส้มเชื่อว่าสำหรับเด็กรุ่นใหม่ ถ้าเพียงได้ยินชื่อ "นิทรรศการ ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน!" ก็อาจพากันจินตนาการถึงเมนูรสแซ่บขึ้นชื่อของเมืองไทย ที่ไม่ว่าแขกบ้านแขกเมืองประเทศไทยแวะเวียนมาก็ต้องสั่งมาลองชิมกันแน่ๆ แต่ถ้าเป็นคนที่เกิดในรุ่นเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ คงจะตีความถึงต้มยำกุ้งได้แตกต่างออกไป ซึ่งคงจะเป็นบรรยากาศของความแซ่บจนแสบใจเพราะวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2540 ที่ประเทศไทยประสบปัญหาค่าเงินบาทลอยตัว และมีภาระหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลที่กู้ยืมมาจากกองทุนระหว่างประเทศ(IMF) เพื่อพยุงสภาพเศรษฐกิจไทยที่กำลังจะพังครืนเพราะบริษัทเงินทุนและธนาคารส่วนใหญ่กำลังทรุดหนัก จนเรียกได้ว่าได้พลิกชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้กลายจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากนักธุรกิจใหญ่ต้องมาเปิดท้ายขายของ จากพนักงานประจำต้องถูกเลิกจ้าง ผู้คนต้องใช้ชีวิตกันแบบรัดเข็มขัด เพราะไม่ได้อยู่ในสภาวะที่มีเงินจับจ่ายใช้สอยได้คล่องมืออีกต่อไป...
    
     
     เกริ่นกันไปคร่าวๆ ถ้าใครเริ่มคับคล้ายคับคลา แล้วมีภาพของโฆษณารณรงค์ให้ประหยัดพร้อมวลีติดปาก "ป.ปลา นั้นหายาก ต้องลำบากออกเรือไป..." ผุดขึ้นมาในใจแล้ว แสดงว่าน้องมาถูกทางแล้วค่ะ!!! ซึ่งถ้าใครยังนึกไม่ออก หรือมีเพียงภาพความทรงจำลางๆ ในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่สู้ดีเท่าไหร่ในตอนนั้น เรามาปักหมุดที่มิวเซียมสยาม แล้วรื้อฟื้นเรื่องราวในวันวานขึ้นมาเป็นบทเรียนชีวิตให้ไม่ต้องก้าวพลาดอีกครั้งกันเถอะ!
    
    
     สำหรับนิทรรศการที่ไม่ได้แซ่บแต่ชื่อนี้ ได้แบ่งออกเป็น 8 โซนด้วย ตามคอนเซ็ปต์ "Bact to school" ที่ต้องการสื่อให้เห็นว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้เปรียบเสมือน "บทเรียน" ที่ไม่ควร "เลียน" หรือทำตาม เพื่อไม่ให้ประเทศไทยกลับไปสู่ปัญหาแบบเดิม และในขณะเดียวกันก็ได้สอดแทรกแนวคิดของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปในทางที่เจริญก้าวหน้าขึ้นนั่นเองค่ะ
   
     
     โซนแรกที่ผู้เข้าเยี่ยมชมทุกคนจะได้พบก็คือ "สวนสรุป" ที่ตกแต่งคล้ายสนามเด็กเล่นภายในโรงเรียน ซึ่งกิมมิคของจุดนี้ คือการจับเอาเครื่องเล่นที่เราคุ้นเคยในวัยเด็ก มาจับคู่เปรียบเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทย เช่น สไลเดอร์ที่สื่อความหมายถึงการล้มคะมำหัวทิ่มหัวตำของเศรษฐกิจไทย หรือจะเป็นม้ากระดกที่ชี้ชวนให้นึกถึงค่าเงินบาทไทยก่อนและหลังลอยตัว ถือเป็นการปูพื้นฐานความรู้ทางเศรษฐศาสตร์คร่าวๆ ก่อนเข้าสู่นิทรรศการด้านในต่อไปจ้า
   
     
     ถัดจากสวนสรุปก็คือโซนสองที่มีชื่อว่า "กำแพงข่าวหน้าห้องเรียน" ที่จะพาผู้ชมทุกท่านกลับไปสัมผัสบรรยากาศของการอ่านกำแพงข่าวของโรงเรียน ที่เต็มไปด้วยการ์ตูนแกะเกาการเมืองอ่านเข้าใจง่าย แบบที่เคยได้เห็นคนรุ่นลุงป้านั่งอ่านไปขำไปบนหน้าหนังสือพิมพ์ขาวดำ ซึ่งได้บอกเล่าเรื่องราวของเศรษฐกิจไทยช่วงใกล้ร่อแร่ไว้ได้อย่างชัดเจนเชียวล่ะ
   
    
     เดินอ่านกันจนเหงื่อเริ่มผุดขึ้นหน้าผาก ก็ผ่านประตูเข้าไปตากแอร์ด้านในกันสักหน่อย ซึ่งก่อนจะเข้าไปทัวร์แซ่บกับนิทรรศการสุดเก๋ ก็ต้องมีการลงทะเบียนกันก่อนค่ะ งานนี้มีความชิคตรงที่มีบัตรบันทึกเวลาเข้าเรียนของเราไว้ด้วย ว่าแต่จะต้องละเอียดขนาดนี้เลยเหรอ? เก็บความสงสัยไว้ก่อนนะเด็กๆ พี่ส้มมีเฉลยตอนท้าย ><
     
    
     เมื่อเหยียบย่างเข้ามาสู่โซนสามเป็นที่มีชื่อว่า "ห้องภาระศึกษา" ตั้งมาล้อเลียนกับวิชาพลศึกษา ก็จะพบกับเวทยกน้ำหนักขนาดใหญ่ ที่นำเอาจำนวนหนี้ต้มยำกุ้งที่คนไทยต้องแบกรับต่อหัว มาคำนวณด้วยการแปลงคิดจำนวนเงินเป็นจำนวนเหรียญ 25 สตางค์ แล้วนับรวมเป็นน้ำหนักเหรียญได้ 107.56 กิโลกรัมค่ะ ลองนึกตามเล่นๆ ว่าถ้าเราต้องแบกไว้บนบ่าจริงๆ จะไหวมั้ยนะ?
         
   
    
     เดินเลี้ยวต่อไปทางขวา ลัดเลาะเข้าสู่โซนสี่ "ห้องสันทนาการ" ห้องสีน้ำเงินอมม่วงที่มีฟองสบู่ลอยมุ้งมิ้งไปมาจนน่าถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกนี้ มีภาพยนตร์และวัตถุจัดแสดงเก๋ๆ ที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยเคยเฟื่องฟูและพุ่งทะยานถึงจุดสูงสุดในชั่วขณะหนึ่ง แล้วดิ่งลงไม่เป็นท่าจนคนที่เคยรวยล้นฟ้าต้องสิ้นเนื้อประดาตัวภายในห้วงเวลาไม่กี่อึดใจ จนทำให้ใครที่ประสบชะตากรรมแบบนี้ตั้งตัวไม่ทัน จะว่าไปแล้วก็เหมือนขึ้นโรลเลอร์โคสเตอร์เลยนะคะ ขึ้นซะสูงปรี๊ด พอตอนลงล่ะหัวทิ่มหัวต่ำกันเลย ><
    
        
เห็นฟองสบู่แบบนี้ ก็สะกิดใจให้นึกให้นึกถึงภาวะ "เศรษฐกิจฟองสบู่" ที่ได้หลายคนคงเคยได้ยินจนติดหูแต่อาจไม่รู้ความหมายที่แท้จริง ซึ่งในนิทรรศการต้มยำกุ้งวิทยาฯ ก็ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้โดยละเอียดด้วยเช่นกันค่ะ ซึ่งพี่ส้มจะสรุปให้พอเข้าใจเบื้องต้นก่อนแล้วกันว่า ภาวะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากการเน้นสร้างความเติบโตให้ระบบเศรษฐกิจ ที่ราคาของสินทรัพย์มีการเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าราคาตามความเป็นจริง จนกระตุ้นให้มีอุปสงค์หรือความต้องการซื้อสินทรัพย์นั้นมากขึ้นเพราะหวังเก็งกำไรจากสินทรัพย์นั้นๆ ต่อไป โครงสร้างราคาจึงขยายตัวมากขึ้นไปอีกเหมือนฟองสบู่ที่พองตัวขึ้น แต่กลับต้องชะงักลง ซึ่งเศรษฐกิจไทยก็ได้เข้าสู่ภาวะ "ฟองสบู่แตก" ในที่สุด เพราะรากฐานโดยรวมของระบบเศรษฐกิจ ณ ช่วงเวลานั้นยังไม่มั่นคงเพียงพอนั่นเอง
    
    
     ปูพื้นฐานความเข้าใจกันจนแน่นแล้ว ก็มาสัมผัสชีวิตจริงกันในโซนห้า "ประสบการณ์ชีวิต" ที่มีการนำเสนอหลักเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งได้เริ่มมีการรณรงค์ให้นำมาใช้แก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนรวบรวมเอาเรื่องราวชีวิตผู้คนที่ได้รับผลกระทบในขณะนั้น มานำเสนอให้เห็นเป็นรูปธรรมทั้งด้านลบและด้านบวกที่ทำเอาคนดูรู้สึกสะเทือนใจตามไปด้วยเลยค่ะ จากที่พี่ส้มไล่อ่านมาทั้งหมดก็ขอยกตัวอย่างพีคๆ มาให้ชมกันสักหน่อย...
    
   
มองไกลๆ อาจเห็นว่าโทรศัพท์เครื่องนี้ก็คือเครื่องมือสื่อสารรุ่นเก่าที่ดูธรรมดา แต่รับรองว่าถ้าคนอ่อนไหวง่ายได้อ่านข้อความประกอบข้างๆ แล้วล่ะก็อาจน้ำตาซึมได้ เพราะนี่คือการบอกเล่าเรื่องราวการสั่งลาตายของเจ้านาย ที่ฝากฝังให้ลูกน้องดูแลงานต่อไป ก่อนจะตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะความเครียดที่ธุรกิจต้องมาล้มเพราะวิกฤตต้มยำกุ้ง...
       
   
    
เดินเพลินๆ ไปก็ไปสะดุดตากับท้ายรถหรูที่มีผู้ชมมุงจำนวนมาก พี่ส้มเลยเข้าไปดูให้ใกล้สักหน่อยว่าเขาดูอะไรกัน พอได้เห็นป้ายทะเบียนเท่านั้นก็ต้องร้อง "อ๋อ" อยู่ในใจ เพราะนี่คือการเปิดท้ายขายของ อาชีพไม้ตายที่เกิดขึ้นมาในยุคฟองสบู่แตก ที่ผู้คนต่างแห่เอาของเก่าเก็บ สมบัติที่มี ของเหลือใช้ ออกมาขายกินประทังชีวิต
    
   
นอกจากสกิลปากกัดตีนถีบที่ทุกคนงัดออกมาใช้เพื่อเอาตัวรอดแล้ว เครื่องรางของขลังก็ถือเป็นทีเด็ดที่คนไทยใช้ยึดเหนี่ยวเป็นขวัญกำลังใจตามความเชื่อส่วนบุคคล ว่าในวันข้างหน้าพวกเขาอาจจะกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้งเพราะบารมีของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ งานนี้ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแล้วล่ะแหละค่ะว่าในยุคนั้นมีคนไทยที่บูชาเห็ดเพื่อขอโชคลาภจริงๆ...
    
    
     ถัดมาเยื้องกันหน่อยก็ถึงโซนหกที่มีชื่อว่า "วิชาความน่าจะเป็น" ก็ได้จัดแสดงลิ้นชักสุดเก๋ไก๋ไว้ให้เปิดอ่านทำความเข้าใจข้อความสั้นๆ เกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจในมุมของศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญแห่งประเทศไทย ที่ว่าด้วยความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย, คอรัปชั่นและทุนนิยมพวกพ้อง, ภาวะย่ามใจทางศีลธรรม, การแข่งการลดค่าเงิน และความตื่นตระหนกทางการเงินค่ะ
     
    
    
     เจอเรื่องหนักสมองมาเยอะแล้ว ก็มาเติมเต็มแรงบันดาลใจกันที่โซนเจ็ด "การงานพื้นฐานอาชีพ" กันสักหน่อย โดยพื้นที่บริเวณนี้ได้นำเสนอบทเรียนชีวิตที่สามารถเป็นแนวทางการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ และสร้างภูมคุ้มกันให้กับคนรุ่นหลังได้ศึกษากันค่ะ ซึ่งก็มีทั้งตัวอย่างของคนที่ตัดสินใจละทิ้งอาชีพที่ใช้เลี้ยงชีวิตมาโดยตลอด แล้วตัดสินใจเริ่มงานใหม่ที่ตัวเองก็แทบจะไม่มีทักษะเพราะพอเห็นว่าเป็นช่องทางที่พอทำกินได้ และคนที่ตั้งใจเริ่มธุรกิจใหม่ท่ามกลางวิกฤตต้มยำกุ้งแล้วไปไม่ถึงฝั่งฝัน 
     
    
     
     ปิดท้ายด้วยโซนแปดที่มีชื่อว่า "วิชาประวัติศาสตร์เพื่ออนาคต" ที่นำพาผู้ชมเข้าสู่บทสรุปของหลักสูตรต้มยำกุ้งวิทยา ที่มีกระจกสะท้อนให้คนไทยได้เห็นตัวเองในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ในบทบาทของประเทศที่กำลังพัฒนาและมีการแข่งขันกันในระดับนานาประเทศนั่นเองค่ะ โดยด้านหนึ่งของผนังได้มีบริการกระดาษโพสต์อิทให้ผู้ชมได้ถ่ายทอดทัศนคติเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอุดมคติ และขความคิดเห็นอื่นๆ ออกมาด้วยการแปะมันลงไป ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดดึงดูดความสนใจที่ใครๆ ต้องมาเขียนข้อความโดนๆ ฝากไว้ก่อนกลับบ้านเลยล่ะ
    
    
     ซึมซับบรรยากาศของวันวานและแรงบันดาลใจจนเต็มที่ ก็ถึงเวลาที่ต้องร่ำลานิทรรศการต้มยำกุ้งวิทยาฯ กันแล้ว ทว่างานดีๆ แบบนี้ จะแค่เดินออกจากประตูไปก็คงเก๋ไก๋ไม่พอ... ว่าน้องๆ ยังจำบัตรบันทึกเวลาเข้าเรียนที่พี่ส้มบอกไปตอนเดินเข้าโซนสามได้มั้ยเอ่ย? ใช่แล้วค่ะ! บัตรใบนี้มีความสำคัญในการใช้ผ่านออกจากนิทรรศการ โดยผู้เข้าชมจะต้องทำการยื่นให้เจ้าหน้าที่นำไปคำนวณเวลาทั้งหมดที่ได้เข้าชมไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เทียบได้กับจำนวนดอกเบี้ยที่รัฐบาลได้จ่ายคืนกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นหนี้อีกส่วนที่คนไทยอาจไม่รู้ตัวว่าเรายังต้องชดใช้อยู่อีกประมาณเก้าแสนล้านบาท แม้จะจ่ายหนี้ให้ IMF ไปหมดแล้วก็ตาม...
   
    
    
     ตามมารยาทของผู้รับชมที่ดี และเพื่อสนับสนุนนิทรรศการที่มีคุณค่าแบบนี้ แน่นอนว่าเรามีความยินดีที่จะตอบแบบประเมินเพื่อให้ทางผู้จัดได้นำคำติชมไปพัฒนางานเจ๋งๆ ออกมาให้เราได้เรียนรู้กันต่อไปค่ะ ในระหว่างที่พี่ส้มได้นำแบบประเมินกลับไปส่งคืนให้กับเจ้าหน้าที่ เขาก็มีของที่ระลึกเป็นเข็มกลัดน่ารักมอบให้ผู้เข้าชมทุกท่านด้วย น่ารักมากเลย!!!
   
       
     พาทัวร์จนทั่ว "นิทรรศการต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน!" กันไปแล้ว หวังว่าความแซ่บนัวของวิกฤตการณ์ที่เมืองไทยได้ผ่านพ้นมานี้ จะสามารถเป็นบทเรียนที่ช่วยให้เราทุกคนได้ช่วยกันผลักดันเศรษฐกิจและสังคมไทย ให้ก้าวไปอย่างมั่นคงในวิถีทางที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ต้องกลับมาสะดุดล้มเหมือน 20 ปีที่แล้วนะคะ ซึ่งถ้าใครสนใจอยากไปสัมผัสความแซ่บด้วยตัวเอง ก็สามารถแวะเวียนไปเยี่ยมชมกันได้ที่มิวเซียมสยาม ทุกวันอังคาร - อาทิตย์ ตั้งแต่ 10.00 - 18.00 น. โดยนิทรรศการนี้จะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 ค่ะ จะไปกับครอบครัว จะลากเพื่อนไป จะควงคนรู้ใจ หรือจะไปแบบตัวเปล่าไม่มีเงินซักบาทก็ย่อมได้ เพราะงานนี้ไม่มีคิดค่าใช้จ่าย มีแต่ให้ความรู้และความเพลิดเพลินกันแบบฟรีๆ จ้า!!!
     
   
ก่อนจากไป ฝากกดไลก์เพจ "เด็กมีของ" ใครมีของเข้าไปโชว์กันได้!!
          
พี่ส้ม
พี่ส้ม - Columnist คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่เชื่อว่าใครก็เป็นเด็กดีได้ในสไตล์ของตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น