รับน้อง ต้องระวัง! 7 โรคร้ายที่อาจติดต่อได้ทางน้ำลาย หากดูดน้ำจากหลอดเดียวกัน

      สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek-D.com ใกล้จะเปิดเทอมของมหาวิทยาลัยแล้ว น้องๆ เฟรชชี่ทุกคนเตรียมใจกับกิจกรรมต่างๆ กันแล้วยัง กิจกรรมสำหรับน้องเฟรชชี่มีเยอะเลยล่ะ บางครั้งก็ต้องร้องต้องเต้นจนคอแห้งหิวน้ำกัน จะออกไปซื้อน้ำเองก็ไม่ได้ ต้องรอให้พี่สวัสดิการมาแจกน้ำให้ แก้วน้ำที่พี่ๆ เตรียมให้กับน้องๆ ก็ไม่พอกับจำนวนของคนในคณะ ทำให้เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะใช้แก้วน้ำร่วมกับคนอื่น ตอนนั้นน้องๆ อาจจะไม่ได้คิดอะไร แต่รู้มั้ยคะว่า "การใช้แก้วน้ำหรือการดื่มน้ำร่วมกับผู้อื่นมันเสี่ยงต่อการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เราไม่สบายได้ค่ะ"


Photo Credit : pixabay.com

      วันนี้พี่ดังกิ้นเอาข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดต่อทางน้ำลายมาฝากน้องๆ ค่ะ น้องๆ จะได้ป้องกันและระวังตัวกันได้มากขึ้น และรวมไปถึงพี่ๆ ที่จัดกิจกรรมจะได้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ค่ะ เพราะว่ามันอันตรายมากๆ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเพื่อนคนไหนกำลังป่วยอยู่ ถ้าไม่ป้องกันตัวเองเราก็อาจจะเสี่ยงติดโรคพวกนี้ได้ค่ะ


 

1. ไวรัสตับอักเสบ 




Photo Credit : 
www.webmd.com/hepatitis

      ไวรัสตับอักเสบมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีวิธีการติดเชื้อต่างกันออกไปค่ะ ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำลาย ทางเลือด การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับคนอื่น แต่ชนิดที่สามารถติดต่อกันทางน้ำลาย การดื่มน้ำและทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ก็คือชนิดเอ และ อีค่ะ

      ระยะฟักตัวของไวรัสตับอักเสบ A จะอยู่ที่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ อาการของไวรัสตับอักเสบชนิดนี้ไม่หนักมาก คนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการ เบื่ออาหาร ไข้ ปวดเมื่อย คลื่นไส้ ต่อมามีปัสสาวะสีเข้ม ตาเหลือง ตัวเหลือง  บางคนอาจจะมีอาการตับวายเฉียบพลันแทรกซ้อน ถึงจะเกิดขึ้นได้น้อยแต่ก็เป็นอันตรายต่อชีวิตมากๆ ค่ะ ส่วนไวรัสตับอักเสบชนิดอีจะมีอาการคล้ายกับชนิดเอ แต่รุนแรงกว่าค่ะ

 

2. ไข้หวัดใหญ่




Photo Credit : 
pixabay.com
 

      การใช้หลอดหรือแก้วดื่มน้ำด้วยกันอาจจะทำให้เราติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ค่ะ หลายๆ คนอาจจะคิดว่าก็แค่เป็นหวัดไม่เห็นเป็นอะไรเลย แต่ว่าอาการของโรคนี้แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาตรงที่นอกจากไอจามคัดจมูกน้ำมูกไหล จะมีอาการปวดเมื่อย เป็นไข้และพบอาการอื่นแทรกซ้อนได้บ่อยกว่าค่ะ ระยะเวลาที่เป็นก็ยาวนานกว่าไข้หวัดธรรมดา และสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่สมัยนี้ก็รุนแรงด้วยค่ะ ถ้าต้องใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยด้วยอาการปวดหัวและเป็นไข้ด้วยเนี่ย ลำบากมากๆ เลยนะคะ โดยเฉพาะน้องๆ เฟรชชี่บางคนที่มาจากต่างจังหวัดและอยู่คนเดียวด้วย



 

3. โรคเริม แผลเปื่อยที่ปาก (HSV-1) 




Photo Credit : 
forskning.no/aldring-alzheimer
 

      โรคนี้ติดเชื้อกันได้ง่ายมากๆ แค่สัมผัสโดนก็สามารถติดเชื้อได้แล้ว ดังนั้นการสัมผัสหลอดเดียวกัน การใช้แก้วร่วมกันคนที่มีภูมิต้านทานต่ำยังไงก็ต้องติดแน่นอน แค่คิดก็กลัวแล้ว อาการของโรคก็เห็นได้ชัดจากตุ่มน้ำใสๆ ขึ้นอยู่บริเวณรอบๆ ปากค่ะ อาจจะมีอาการตึงๆ ร้อนๆ ร่วมด้วย ถ้าเป็นโรคนี้แล้วถึงแม้ว่าแผลจะหายไปแต่เชื้อไวรัสจะหลบซ่อนภายในปมประสาทเมื่อมีอาการเครียด ร่างกายอ่อนแอก็อาจจะกลับมาเป็นอีกได้ค่ะ สำหรับคนที่เป็นต้องหลีกเลี่ยงการจับแผล เพราะว่าการทำแบบนั้นเป็นการแพร่เชื้อโรคไปสู่ส่วนอื่นของร่างกาย และแพร่เชื้อให้คนรอบข้างด้วยค่ะ


 

4. ติดเชื้อโมโนนิวคลีโอสิส 




Photo Credit : unsplash.com

      โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอสิส มีสาเหตุมาจากเชื้อเอฟสไตน์บาร์ไวรัส หรือเชื้อEBV ติดต่อโดยการสัมผัสน้ำลายของผู้ที่มีเชื้อ คนที่ได้รับเชื้อEBVส่วนมากจะไม่แสดงอาการ ดังนั้นเลยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นแหล่งแพร่เชื้อ แต่อาการจะค่อยๆ แสดงตามลำดับเริ่มจากมีไข้อ่อนๆ อ่อนเพลียอย่างมาก บางคนอาจจะมีผื่นจางๆ ตามตัว ต่อมาก็จะเริ่มเจ็บคอ ทอนซิลโต คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองและม้ามโต ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีภาวะแทรกซ้อนของระบบต่างๆ ด้วย เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ ม้ามแตก ไตอักเสบ ค่ะ การรักษาทำได้เพียงประคับประคองอาการเพราะว่ายังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสตัวนี้ และไม่มีไวรัสป้องกันด้วยค่ะ


 

5. โรคมือเท้าปาก




Photo Credit : www.caribflame.com

      เคยได้ยินกันตามสื่อบ่อยๆ ว่าพบในเด็กเล็กแต่ว่าในเด็กโตและวัยผู้ใหญ่เองก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน โดยโรคนี้เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ทำให้มีตุ่ม ผื่น หรือเกิดแผลอักเสบมีหนองที่บริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และภายในปาก สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย และมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เบื่ออาหารร่วมด้วยค่ะ น้องๆ คนไหนที่เป็นโรคนี้ไม่ควรออกจากบ้าน เพราะจะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรค ควรรักษาตัวอยู่ที่บ้านให้หายดีก่อนค่ะ เพราะว่าโรคนี้สามารถหายได้เอง แต่ถ้ามีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจจะอันตรายถึงชีวิต ปัจจุบันโรคมือเท้าปากไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่น้องๆ สามารถป้องกันตัวเองได้โดยไม่ไปสัมผัสกับผู้ป่วย ไม่ใช้ของร่วมกับผู้ป่วย และล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ ค่ะ


 

6. โรคคางทูม





Photo Credit : pixabay.com

      ใครที่เคยเป็นแล้วตอนเด็กๆ อาจจะวางใจได้สักนิดนะคะ เพราะว่าโรคนี้คนที่เคยเป็นมาแล้วมีโอกาสน้อยมากที่จะเป็นซ้ำ แต่ถ้าใครยังไม่เคยเป็นให้ระวังเอาไว้เลยนะคะ เพราะว่าถ้าเป็นตอนวัยรุ่นหรือตอนผู้ใหญ่ ความรุนแรงของโรคจะสูงกว่าในเด็ก และโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนก็มีสูงด้วย โรคคางทูมเกิดจากการติดเชื้อ Mumps virus ทำให้ต่อมน้ำลายเกิดการอักเสบ โรคคางทูมเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจและน้ำลายค่ะ ระยะที่ติดต่อได้ง่ายคือ 1-7 วันก่อนเกิดอาการบวมของต่อมน้ำลาย พูดง่ายๆ ก็คือตอนที่เรารับเชื้อ (เช่นการดื่มน้ำแก้วเดียวกัน การสัมผัสน้ำลาย) เราจะไม่เห็นว่าคนๆ นั้นแสดงอาการอะไร แต่ถ้าวันต่อมาเพื่อนคนนั้นเป็นคางทูม มีอาการบวมที่ต่อมน้ำลาย น้องๆ ก็เตรียมใจเอาไว้ได้เลยค่ะ T_T



 

7. การติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Streptococcus 




Photo Credit : pixabay.com

      โรคคออักเสบ หรือ ทอนซิลอักเสบก็มีสาเหตุมากจากการติดเชื้อแบคที่เรีย Streptococcus ชนิด A เราอาจจะติดเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ได้ถ้าเราใช้หลอดดูดน้ำหรือแก้วน้ำร่วมกัน หรือหายใจเอาละอองของเหลวจากการไอจามของผู้ป่วยที่เป็นโรคคออักเสบเข้าไป  ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคนที่อยู่รอบตัวเราใครเป็นโรคคออักเสบบ้าง โอกาสเสี่ยงที่จะติดโรคนี้จึงมีอยู่ไม่น้อยเลยค่ะ เมื่อเราเป็นโรคคออักเสบแล้วจะทำให้เรามีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ เบื่ออาหารและทอนซิลมีจุดหนอง เจ็บคอ  ถึงแม้ว่าความรุนแรงของโรคจะมีไม่มาก สามารถรักษาให้หายได้เสมอ แต่ในบางรายก็มีอาการแทรกซ้อนได้เหมือนกันค่ะ การติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus ยังเป็นสาเหตุในการเป็นโรคไข้รูมาติกด้วย โรคนี้อาจจะเกิดตามมาหลังจากเป็นโรคคออักเสบและทอนซิลอักเสบโดยไม่ได้รักษา  อาการหลักของโรคก็คือ ข้ออักเสบ หัวใจอักเสบ และผื่นผิวหนังค่ะ



      เห็นมั้ยคะน้องๆ แค่ดื่มน้ำแก้วเดียวกันยังเสี่ยงติดโรคได้มากขนาดนี้ และการรับน้องแบบแปลกๆ ที่ไม่ถูกสุขอนามัยก็มีความเสี่ยงติดโรคเหมือนกันค่ะ ดังนั้นเราต้องรู้จักป้องกันตัวเองค่ะ อาจจะใช้ขวดน้ำหรือแก้วน้ำส่วนตัวแทน น้องๆ เฟรชชี่คงไม่อยากให้ช่วงกิจกรรมและช่วงเวลาที่จะได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่เสียไปกับการรักษาตัวเองอยู่ที่บ้านใช่มั้ยค่ะ พี่เองก็เคยไม่สบายเพราะกิจกรรมตอนรับน้องค่ะ หยุดไปเป็นอาทิตย์ พอเปิดเทอมมาก็ไม่ได้ทำความรู้จักพวกพี่ในคณะเลย TwT น้องๆ เฟรชชี่เองก็อย่าลืมดูแลตัวเองด้วยนะคะ พี่ๆ ที่จัดกิจกรรมเองก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วยนะคะ






ที่มา
พี่ดังกิ้น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น