ภารกิจ "ซ่อมฝายให้หายขาด" สานสัมพันธ์ชาวบ้าน & พี่น้องวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว




 
        สวัสดีค่ะ พบกับคอลัมน์ "เด็กพลังบวก" ที่จะพาทุกคนไปรู้จักกับวัยรุ่นที่จะมาสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ ลุกขึ้นมาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และทำกิจกรรมดีๆ เพื่อตนเองและคนรอบข้างค่ะ^^

        นับเป็นข่าวดีสำหรับเฟรชชี่ยุคหลังมากๆ ที่รุ่นพี่หลายมหา'ลัยเริ่มปรับรูปแบบการรับน้องให้ดูน่ารักและสร้างสรรค์ขึ้น อีกทั้งหลายกิจกรรมยังเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาที่ค้างเติ่งมานานในชุมชน ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องรอร๊อรออีกต่อไปว่าเมื่อไหร่คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นสักที สำหรับเรื่องดีๆ ที่เราหยิบยกมาเล่าในวันนี้ เกิดขึ้นเมื่อ 1 สิงหาคมที่ผ่านมานี่เองค่ะ รุ่นพี่วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พาน้องเฟรชชี่ไปช่วยชาวบ้านซ่อมฝายที่ขาดให้กลับมาเหมือนเดิม ฟังดูเหมือนเหนื่อยเนอะ...แต่รุ่นพี่รุ่นน้องบอกตรงกันว่าแฮปปี้มากกว่าเหนื่อยอีก (จริงดิ!?!) จะเป็นยังไง ตามไปอ่านกันเลยค่า


Photo Credit: วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว สระแก้ว 


"รักน้อง รักชุมชน รับน้อง รับใช้ชุมชน"
 
        เปิดตัวสโลแกนเก๋ๆ แบบนี้ "สตางค์" รุ่นพี่ปี 4 ได้เล่าที่มาที่ไปให้ฟังว่า "วิทยาลัยเราได้จัดค่ายรับน้องใหม่โดยภายใต้แนวคิด 'รักน้อง รักชุมชน รับน้อง รับใช้ชุมชน' ครับ โดยเราได้ร่วมมือกับชาวบ้านชุมชนบ้านหนองเรือกับบ้านเนินเหล่า ช่วยกันซ่อมฝายชะลอน้ำที่ตอนแรกยาว 13 เมตร แต่ถูกน้ำเซาะจนขาดไป 5 เมตร คนที่เข้าร่วมทั้งหมดจะมีทั้งอาจารย์ นิสิต และศิษย์เก่ากว่า 90 คน รวมทั้งชาวบ้านที่มาช่วยอีกไม่ต่ำกว่า 150 คน คือพวกเขามากันเป็นหมู่บ้านเลย"

        ทำไมต้องที่นี่? "ก่อนหน้านี้มีชาวบ้านมาเล่าปัญหาแหล่งน้ำให้ฟังครับ มหา'ลัยเราที่เป็นสายจิตอาสาอยู่แล้วจึงเข้าไปช่วย ส่วนเหตุผลที่เลือกตรงนี้เพราะอาการหนักสุด ฝายขาดช่วงไปเยอะมาก"


Photo Credit: วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว สระแก้ว 

เหนื่อย...แต่เฮฮา
 
        พี่สตางค์เล่าบรรยากาศในวันนั้นให้ฟังว่า "เราใช้เวลาซ่อมฝายกันหนึ่งวันเต็มๆ ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงบ่ายสอง แบ่งคนเป็น 2 ทีม ทีมแรกจะช่วยกันขนหินมาจากอีกแหล่ง ส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ส่วนอีกทีมจะไปช่วยสร้างฝายกับชาวบ้าน ถึงเวลาจริงเฮฮากันมากครับ ทำไปเล่นกับชาวบ้านด้วย บางจังหวะเต้นเพลงสันทนาการจนน้ำกระเด็นใส่หน้าเลยก็มี"

        "ขอเล่านิดนึงว่าทั้งอาจารย์กับชาวบ้านช่วยเหลือกันดีมาก คือชาวบ้านเนี่ยเขาจะรู้เรื่องสภาพพื้นที่ตรงนั้นเลยให้ความรู้และสอนขั้นตอนต่างๆ กับเราได้ เอารถแทรกเตอร์มาช่วย คอยดูแลอาจารย์ บ้านไหนมีกับข้าวอะไรก็เอามาแชร์กัน"

        พี่ออมสิน ปี 2 เสริมว่า "ทุกคนทำงานเป็นระบบมากครับ ช่วยกันลำเลียงหิน พอทำหลายๆ คนแล้วงานเสร็จไวขึ้น"
 
        แล้วงานนี้ไม่หนักเกินไปสำหรับน้องๆ ใช่ไหม? น้องหญิงเทน่า ปี 1 ตอบว่า "มีเหนื่อยบ้าง แต่ไม่หนักเกินไปสำหรับเราแน่นอนค่ะ" ทางด้านน้องภู ปี 1 ฝ่ายชายเองก็ตอบว่า "สนุกมากกว่าครับ ไม่ลำบากต่อตัวผมเลย เพราะผมตั้งใจและยินดีที่ได้ช่วยชาวบ้านครับ"

Photo Credit: วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว สระแก้ว 


อุปสรรคก่อให้รักบังเกิด
 
        แต่อย่างว่า ทำงานใหญ่ทั้งทีถ้าจะให้ราบรื่นไปทั้งหมดคงยาก สตางค์เล่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นตอนทำกิจกรรมว่า "ตอนทำอาจมีน้องบางคนที่ไม่ไหวบ้าง เพราะโดนหินหรือไม้ตำ เราก็จะมีคนช่วยกันปฐมพยาบาลน้องครับ ส่วนใครเหนื่อยเราจะให้พักก่อน สลับกันทำงานเป็นกลุ่มๆ"

        "จริงสิ เรือขนหินล่มไปทีนึงด้วย แต่ทุกคนก็ช่วยกันจนเรือไปต่อได้ครับ"



Photo Credit: วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว สระแก้ว  

สิ่งที่ได้ ไม่ใช่แค่ฝายกลับมาสมบูรณ์
 
        นอกจากการซ่อมฝายให้หายขาด จะทำให้ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน รวมแล้วกว่า 460 ครัวเรือนไม่ขาดแคลนน้ำในหน้าแล้งปีหน้าแล้ว กิจกรรมนี้ยังให้อะไรมากกว่านั้น!

        น้องภูบอกว่า "การที่เราได้มาช่วยกันตรงนี้ ทำให้เราสามัคคีกันมากขึ้น มุ่งมั่นอดทน มีวินัย และช่วยเหลือสังคมได้ด้วย คือมีอะไรหลายๆ อย่างเลยที่ทำให้ผมเห็นว่าพวกเราพร้อมจะเข้าไปต่อสู้กับชีวิตมหา'ลัยแล้ว"

        ส่วนน้องเทน่าบอกว่า "ทั้งรุ่นพี่และเพื่อนๆ ที่มาจากต่างที่ และไม่เคยรู้จักกันมาก่อน พอได้ร่วมกิจกรรมแล้ว รู้สึกเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันเลยค่ะ"


Photo Credit: วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว สระแก้ว 

ประทับใจทั้งพี่และน้อง
 
        ตอนนี้เราอยากรู้มากว่ารุ่นน้องคิดยังไงกับกิจกรรมนี้บ้าง? น้องเทน่าบอกว่า "ตอนแรกหนูคิดว่าการรับน้องต้องโหดเหมือนมหา'ลัยอื่น แต่พอได้มาเจอจริงๆ มีความสุขมากค่ะ ยิ่งตอนได้เห็นรอยยิ้มและคำขอบคุณที่จริงใจของชาวบ้าน เรารู้เลยว่าสองมือของเราทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ไม่ยากเลย"  
 
        น้องภูเสริมว่า "การซ่อมฝายเป็นงานที่เราทำคนเดียวไม่ได้ครับ เราต้องช่วยกัน ผมเห็นแต่ละคนตั้งใจทำงานกันมากๆ มีน้ำใจช่วยเหลือกันตลอดงานเลยครับ"
 
        พี่ออมสินล่ะ? "ผมประทับใจมากครับที่ได้เห็นรอยยิ้มของน้องๆ และชาวบ้าน เท่าที่เห็นทุกคนชอบกิจกรรมนี้นะ"
 
        และปิดท้ายด้วยสตางค์ พี่ใหญ่สุด "พวกเขามีจิตอาสากันจริงๆ ครับ เพราะนี่ไม่ใช่กิจกรรมบังคับ ทุกคนตั้งใจมาช่วยกันจริงๆ"
 


Photo Credit: วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว สระแก้ว 

 
        สุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับจริงๆ ค่ะสำหรับการสร้างฝายให้หายขาดครั้งนี้ เพราะน้องๆ เองก็ได้ประโยชน์ และชาวบ้านยังได้จัดการปัญหาในชุมชนให้หมดไปอีกเปราะด้วย ถ้ารุ่นพี่และอาจารย์มหา'ลัยไหนเห็นดีเห็นงามด้วย อย่าลืมลงไปพูดคุยกับชาวบ้าน แล้วจัดทีมรับน้องไปช่วยลงแรงกันเหมือนพวกเขานะคะ :)  


อย่าลืมย้อนอ่านเด็กพลังบวกคนก่อนหน้านะคะ ><

“เต้ย” เด็กปี 4 เจ้าของกิจการเพาะปลาคาร์ป
เลี้ยงเล่นๆ จนหาเงินส่งตัวเองเรียนได้!
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น