จัดกิจกรรมดีทั้งทีต้องมีป๋าดัน! แจกสูตร '7 ไม้ตายขอสปอนเซอร์แล้วได้ชัวร์'

     สวัสดีจ้าชาว Dek-D จากที่ได้คลุกคลีอยู่ในวงการกิจกรรมนักเรียน นักศึกษา มาจนถึงทุกวันนี้ พี่ส้มก็กล้าพูดได้เต็มปากเลยว่ารู้สึกแก่ เอ้ยไม่ใช่! รู้สึกปลื้มมากค่ะ ที่มีผู้ใหญ่ใจดีหลายท่านคอยให้การสนับสนุนให้เด็กไทยทำกิจกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในรูปแบบของโครงการต่างๆ ที่จัดให้น้องๆ ได้เข้าร่วม หรือคอยเป็น "สปอนเซอร์" ที่ให้งบประมาณหรือสิ่งของจำเป็น มาให้เด็กรุ่นใหม่ได้ลองจัดกิจกรรมตามความสนใจเพิ่มขึ้นอยู่ตลอด ^^
   
     สำหรับเด็กกิจกรรมที่เคยต้องจับโปรเจกต์ใหญ่เป็นครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นกีฬาสี ค่าย งานเปิดบ้าน หรือเป็นตัวแทนไปแข่งขันที่ต่างประเทศ ก็มักจะได้พบกับปัญหาหลักๆ ในการขอสปอนเซอร์อยู่ 2 อย่าง คือ ไม่รู้ขั้นตอนว่าต้องทำยังไง หรือบางครั้งก็ไม่ได้รับการสนับสนุนตามที่คาดหวัง ซึ่งถ้าปล่อยให้พังก็น่าเสียดายแย่ T_T แต่ไม่ต้องกังวลค่ะ! เพราะปัญหาที่ว่าจะหมดไป ถ้าเราได้ใช้ "7 ไม้ตายขอสปอนเซอร์แล้วได้ชัวร์"!!!! 
      
           

1. Say "hello" to the project!

สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งผันตัวจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมมาเป็นเฮ้ดจัดกิจกรรมซะเอง ด่านแรกที่ทุกคนต้องผ่านไปให้ได้ คือปลุกปั้นโปรเจกต์ หรือโครงการที่วางกำหนดการดำเนินงานอย่างครอบคลุม ซึ่งเริ่มจากการระดมสมอง ประชุมสรุปให้เข้าใจกันในทีม แล้วจัดทำเป็นเอกสารที่ระบุถึงเหตุผลในการจัดกิจกรรม ผู้รับผิดชอบ แผนงาน งบประมาณ ตลอดจนวิธีวัดความสำเร็จของโครงการ เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่าเราได้จัดกิจกรรมขึ้นจริงๆ นั่นเองค่ะ
    
เครดิต : https://pixabay.com
     
ที่อธิบายเรื่องการทำเอกสารโครงการซะขนาดนี้ ก็เพราะทุกครั้งที่ขอสปอนเซอร์ ทางผู้สนับสนุนจะขอดูรายละเอียดของโปรเจกต์ในเบื้องต้นก่อน ซึ่งน้องๆ จะต้องส่งเอกสารดังกล่าวไปให้เพื่อการพิจารณาอนุมัติด้วยค่ะ รู้อย่างนี้แล้วก็ตั้งใจเขียนโครงการออกมาให้เป๊ะเลยนะจ๊ะเด็กๆ ^^
   
   

2. ยิ่งดำเนินการไว = ยิ่งอุ่นใจ

น้องๆ สามารถเริ่มมองหาและติดต่อไปยังผู้สนับสนุนตั้งแต่เวลาที่กำลังจัดทำเอกสารโครงการได้เลยค่ะ เพราะถ้าเราไม่ได้รับการตอบรับตั้งแต่เนิ่นๆ ก็ยังพอมีเวลาหาสปอนเซอร์รายใหม่ หรือถ้าสปอนเซอร์รายไหนใช้เวลาพิจารณาอนุมัติโครงการของเรานาน จะได้จัดการบริหารงานส่วนอื่นๆ ให้พอดีกันแบบไม่ต้องรอลุ้นว่าจะไม่ทัน
    
เครดิต : https://www.pexels.com
   
ส่วนการติดต่อนั้น ควรมีการโทรศัพท์หรืออีเมลเข้าไปพูดคุยในเบื้องต้นกับทางผู้สนับสนุนก่อน โดยแสดงตัวว่าเราเป็นใคร ต้องการให้เขาสนับสนุนโปรเจกต์อะไร แบบไหน เมื่อไหร่ เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าเขายินดีรับพิจารณาข้อมูลของเราต่อมั้ย ถ้าหากฝ่ายสปอนเซอร์ไม่ขัดข้อง เราจึงขอคำแนะนำว่าต้องดำเนินการขั้นต่อไปอย่างไรบ้าง ซึ่งผู้สนับสนุนส่วนใหญ่มักขอเอกสารที่เราเขียนขอความอนุเคราะห์ พร้อมกับรายละเอียดโครงการตามข้อ 1 ค่ะ
   
   

3. สวมบทบาทเป็นผู้เลือกเสมอ!

ถ้าจะบอกว่าการมีคนคุยไว้เผื่อเลือกนั้นช่วยให้ไม่หว่าเว้ฉันใด การมีรายชื่อผู้สนับสนุนติดมือไว้ก็ช่วยไม่ให้กิจกรรมของเราเคว้งคว้างได้ฉันนั้นเลยค่ะ เพราะการขอสปอนเซอร์ให้ได้ผลนั้น จำเป็นต้องใช้ยุทธวิธีปูพรมขอสปอนเซอร์หลายๆ ราย เพราะถึงแม้จะมีผู้ใหญ่ใจดีมากมาย แต่หาจังหวะพอเหมาะพอดีกันไม่ได้ก็อาจต้องชวดไปก่อนนั่นเองค่ะ 
   
เครดิต : https://stocksnap.io
   
งานนี้ถ้าน้องๆ เป็นนักกิจกรรมหน้าใหม่ที่เพิ่งขอสปอนเซอร์ ก็อาจจะรวบรวมรายชื่อและช่องทางการติดต่อผู้สนับสนุนมาด้วยวิธีสอบถามคนใกล้ตัวอย่างอาจารย์ ครอบครัว รุ่นพี่ ค้นหาทางอินเทอร์เน็ต หรือจะสืบไปจากกิจกรรมที่มีแนวทางจัดคล้ายกับเราว่าได้รับการสนับสนุนจากใคร แล้วขอคำแนะนำในการประสานงานไปยังผู้สนับสนุนมาจากคนที่จัดกิจกรรมนั้นก็ได้ค่ะ
    
     

4. จับคู่ให้ "คลิก"

การเลือกขอให้องค์กรหรือห้างร้านที่มีกิจการหรือนโยบายสอดคล้องกับกิจกรรมที่เราจัดเป็นสปอนเซอร์นั้น ถือเป็นไอเดียที่ดึงดูดความสนใจและโน้มน้าวให้ผู้สนับสนุนตอบรับเราได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเราขอในสิ่งที่เขามีอยู่แล้ว หรือกิจกรรมของเราสามารถช่วยให้เขาบรรลุตามเป้าหมายได้นั่นเองจ้า
   
เครดิต : https://www.pexels.com
   
นอกจากนี้ กลยุทธ์การจับคู่สปอนเซอร์กับกิจกรรมให้แมตช์กัน ยังเป็นการประชาสัมพันธ์แบรนด์ของผู้สนับสนุนไปสู่กลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายผ่านกิจกรรมของเราอีกด้วย เช่น การขอความอนุเคราะห์จากบริษัทผลิตรองเท้ากีฬาให้สนับสนุนการแข่งขันฟุตบอล การขอข้าวสารจากโรงสีที่มีนโยบายพัฒนาชนบทเพื่อนำไปปรุงอาหารสำหรับค่ายอาสาช่วยเหลือน้องๆ ในถิ่นทุรกันดาร ฯลฯ พอมองออกแล้วใช่มั้ยคะว่าถ้าเราจับคู่ได้ WIN WIN แบบนี้ มีเหรอที่เขาจะปฏิเสธ ><
   
     

5. เอาใจเขามาใส่ใจเรา <3

ถ้าต้องตีราคารูปแบบการสนับสนุนที่มีให้การจัดกิจกรรม ก็คงจะพบว่าสปอนเซอร์เป็นฝ่ายที่เสียเงินให้เราด้วยความยินดี และสิ่งตอบแทนที่นักเรียนนักศึกษาอย่างเราจะทำได้ ก็มักจะเป็นรายงานสรุปกิจกรรม หนังสือขอบคุณ หรือการขึ้นโลโก้องค์กรของสปอนเซอร์ไว้บนป้ายประชาสัมพันธ์กิจกรรม ซึ่งถ้ามองในมุมของมูลค่าเงินตราแล้วก็ต้องยอมรับว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่คุ้มกันเท่าไหร่
   
เครดิต : https://pixabay.com
   
ดังนั้น น้องๆ จึงต้องคิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ว่าถ้ามองมุมกลับที่เราเป็นฝ่ายสปอนเซอร์บ้าง แล้วเจอนักเรียนนักศึกษามาขอการสนับสนุนแบบไหน ถึงจะน่าสนใจและอนุมัติให้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ ยึดหลักว่าไม่ขอมากเกินไป และตอบแทนให้ด้วยความจริงใจก็พอจ้ะ
   
   

6. รู้จักบริหาร จัดการงานไหนก็ง่าย...

   
ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าเงินคือสิ่งที่จำเป็นต่อการจัดกิจกรรม เพราะเราสามารถนำไปซื้อหรือเช่าสิ่งที่ต้องการได้ง่ายที่สุด แต่ในทางกลับกัน การขอเงินจากสปอนเซอร์นั้นย่อมมีข้อจำกัดที่อาจทำให้เราไม่ได้เงินในจำนวนที่ต้องการ หรือได้สิ่งของอื่นๆ มาแทนค่ะ
   
เครดิต : https://pixabay.com
   
เพราะฉะนั้นน้องๆ ต้องไม่ลืมที่จะวางแผนบริหารการสนับสนุนต่างๆ จากสปอนเซอร์ให้ลงตัวกับกิจกรรมของเราไว้ล่วงหน้าด้วยนะคะ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราตั้งใจจะขอเงินสนับสนุนจากโรงงานเครื่องดื่มมาเพื่อจัดค่ายแต่ได้ผลิตภัณฑ์นมสดมาแทน ก็จัดการเอานมสดที่ได้มาเป็นอาหารว่างแจกชาวค่าย จะได้เป็นการประหยัดงบประมาณที่ใช้ซื้ออาหารลงไปนั่นเองจ้า
  
    

7. คุณค่าของงาน อยู่ที่การลงมือทำให้เต็มที่ :)

ส่วนข้อสุดท้ายนี้ เป็นวิธีการขอสปอนเซอร์ให้ได้ผลดีและยั่งยืนค่ะ อาจจะดูเหมือนว่าการลงมือทำกิจกรรมให้เต็มที่นั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็ต้องทำอยู่แล้ว แต่นอกเหนือจากความสำเร็จของโปรเจกต์แล้ว วิธีนี้ยังช่วยให้เรามีภาพลักษณ์ในสายตาคนนอกว่าเป็นทีมเวิร์กที่มีความรับผิดชอบ น่าเชื่อถือ และควรค่าแก่การสนับสนุนจากสปอนเซอร์เจ้าเดิมและเจ้าใหม่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสานต่อโครงการในรุ่นต่อๆ ไปเช่นกันค่ะ
  
เครดิต : https://www.pexels.com
   
โดยความตั้งใจที่พี่ส้มบอกนี้ สามารถสะท้อนให้เห็นได้ตั้งแต่นาทีที่น้องๆ คิดโปรเจกต์ขึ้นมาแล้วนำไปเสนอต่อสปอนเซอร์เพื่อขอการสนับสนุน การใช้ภาษาที่ถูกต้องเหมาะสมในการติดต่อประสานงาน และการดำเนินการอย่างแข็งขัน ที่ควรเก็บรายละเอียดให้ครบเลยนะคะ
   
    
     เห็นแล้วใช่มั้ยคะว่าเทคนิคการขอสปอนเซอร์ให้ได้ผลนั้นไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงสักเท่าไหร่ เพียงแต่น้องๆ ต้องคิดรอบคอบและลงมือทำอย่างเร็วไว เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนตรงความต้องการและทันเวลานั่นเองค่ะ ว่าแล้วก็ลุกไปนัดเพื่อนปั่นงานกันเถอะเด็กกิจกรรมทั้งหลาย มัวช้าจนตลาดวาย เดี๋ยวจะขอสปอนเซอร์ไม่ทันนะจ๊ะ!
พี่ส้ม
พี่ส้ม - Columnist คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่เชื่อว่าใครก็เป็นเด็กดีได้ในสไตล์ของตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด