ฟังดูดีแต่ไม่ง่าย! 5 ข้อที่ต้องเช็กตัวเองก่อนรับงาน “ฟรีแลนซ์” มาทำระหว่างเรียน

         สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถ้าใครคิดอยากหารายได้พิเศษ พี่จะพาไปรู้จักประเภทงานที่เรียกว่า ฟรีแลนซ์ (Freelance) หรือ "งานอิสระ" ถ้าเป็นวัยเรียนก็คือการรับจ็อบมาทำไปด้วยเรียนไปด้วย เหมาะกับคนที่พอจะมีเวลาว่าง อยากหารายได้เสริมป้องกันภาวะเงินขาดกระเป๋า หรืออยากฝึกสกิลด้านที่ตัวเองถนัดให้ดียิ่งขึ้น แถมเวลาทำงานก็ยืดหยุ่น ตื่นมาทำตอนไหนก็ได้ เพียงแต่ต้องเสร็จทันเดดไลน์ และข้อดีอีกอย่างนึงคือ คนที่รับงานฟรีแลนซ์จะมีคอนเนกชั่นที่เบ่งบาน เป็นผลดีกับหน้าที่การงานในอนาคต 
 
        แต่ช้าก่อน!! ย่อหน้าเมื่อกี้ฟังดูสวยงามใช่มั้ยคะ หลายคนเลือกจะมาบอกต่อแค่นี้ แต่จริงๆ มันมีอีกด้านนึงที่ทำให้ฟรีแลนเซอร์บางคนต้องวางมือไป ดังนั้นพี่เลยขอพาน้องๆ ไปเช็กก่อนว่า เราควรมีคุณสมบัติอะไรถึงจะอยู่รอดยาวๆ ในเส้นทางนี้! 


Photo Credit: GTHchannel

 
1. ต้องมีความสามารถในการทำงานนั้นจริงๆ
 
         ต้องเช็กก่อนนะคะว่าเราถนัดด้านนั้นจริงๆ มั้ย จับทางตัวเองให้ได้ เพราะแน่นอนว่าคนที่จะทำงานฟรีแลนซ์ได้ในยาวๆ ฝีมือก็ต้องเป็นที่น่าพอใจ คุณภาพงานต้องคุ้มกับเม็ดเงินที่เค้าจ่ายให้เรา ถ้าเกิดผลลัพธ์แย่หรือไม่ได้มาตรฐาน เขาก็จะโบกมือลาแล้วไปจ้างคนอื่นทำแทน
 
         แล้วความสามารถด้านไหน สามารถทำงานอะไรได้บ้าง? เรามาดูตัวอย่างกันค่ะ
 
         ถนัดเขียน : เขียนบทความ เขียนบทละคร เขียนบทวิทยุโทรทัศน์ พิสูจน์อักษร รีไรต์งานเขียน ฯลฯ
         ถนัดออกแบบ/วาดภาพ : ทำกราฟิก วาดภาพเหมือน วาดภาพการ์ตูน วาดภาพปกหนังสือ ฯลฯ
         ถนัดภาษาอังกฤษหรือภาษาที่สาม : แปล ล่าม ทำซับไตเติ้ล สอนพิเศษ ฯลฯ
         ถนัดเล่นโซเชียล : เป็นแอดมินดูแลเพจ ฯลฯ
 
         ข้างบนนี้เป็นแค่ตัวอย่างนะคะ จริงๆ งานฟรีแลนซ์มีหลากหลายมาก ถ้าใครยังนึกไม่ออกอาจลองนึกถึงความชอบก่อนก็ได้ อย่างเช่น ชอบดูหนังดูซีรี่ส์ต่างประเทศ และรู้ว่าตนสามารถแปลภาษาในต้นฉบับได้ แปลว่าเรามีโอกาสทำงานแปลหรือทำซับไตเติ้ลได้เหมือนกัน เพียงแต่เราอาจต้องศึกษาลงลึกเกี่ยวกับงานให้มากขึ้น (***แต่ขอเตือนให้ทำใจก่อนว่า ถ้าขาดคอนเนกชั่นและประสบการณ์ ช่วงเริ่มต้นจะหาลูกค้ายากมากๆ) 
 

 
         Tips: บางครั้งเราอาจประเมินฝีมือของเราต่ำหรือสูงกว่าที่คนส่วนใหญ่มองเห็นก็ได้นะคะ ดังนั้นอาจปรึกษาเพื่อน อาจารย์ หรือผู้รู้ด้านนั้นๆ ว่าผลงานของเราเข้าขั้นมั้ย ต้องพัฒนาหรือปรับปรุงยังไงบ้าง (ในบางกรณี ผู้จ้างอาจมีแบบทดสอบให้เราลองเทสต์ฝีมือก่อนทำงานจริงด้วยค่ะ)

 
2. ต้องเป็นคนสตรอง
 
         ถ้าใครเป็นคนขี้เกียจ ไม่ชอบความกดดัน และเกลียดความเรื่องมาก รับรองว่ามียกธงขาว เพราะเวลาพักผ่อนช่วงที่ไม่มีเรียน ก็ต้องเอามาปั่นงานพิเศษให้เสร็จทันเดดไลน์ แถมลูกค้าก็มักไม่ได้พอใจงานในครั้งเดียวด้วย อย่างสมมติงานกราฟิก อาจเจอทั้งลูกค้าที่อยากให้ปรับปรุงเพราะมันยังดูไม่ลงตัวจริงๆ หรืออีกกรณีคือเจอลูกค้าติสต์แตก ทำยังไงก็ไม่ถูกใจ แก้ไปสิบแปดรอบ...สุดท้ายเอาอันแรกนั่นแหละ (เย่ย!) แบบนี้ก็ต้องกล้ำกลืนฝืนรับค่ะ ถ้าเผลอแสดงอารมณ์ไม่ดีใส่ จะกลายเป็นเสียภาพลักษณ์และลูกค้าไป
 
         นอกจากต้องอดทนกับการโดนแก้รัวๆ แล้ว ยังต้องอดทนกับลูกค้าบางคนที่คุยยาก อธิบายไม่ชัดเจน หรือบางคนก็ขยันเร่งกดดันบ่อยๆ ด้วยค่ะ เรียกว่าเทรนตัวเองพร้อมเจอชีวิตการทำงานจริงๆ ได้เลยแหละ



 
3. ต้องบริหารจัดการตารางเวลาเป็น
 
         ปกติแล้วเวลาใน 1 วันของน้องๆ จะถูกแบ่งไปใช้เรียน ทำการบ้าน อยู่กับครอบครัว ทำงานอดิเรก ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอใช่มั้ยคะ แต่พอตัดสินใจรับงานฟรีแลนซ์เข้ามาเมื่อไหร่ ย่อมกระทบกับตารางเวลาปกติของเราด้วย คราวนี้ในเมื่อเวลาแต่ละวันจะยังคงมี 24 ชั่วโมงเหมือนเดิม เราก็ต้องจำยอมที่จะบาลานซ์เวลาใหม่ โดยลดกิจกรรมบางอย่างลงไปบ้าง เช่น เวลาเล่นเกม เวลาดูทีวี ฯลฯ แต่สิ่งที่ไม่ควรลดคือเวลาเรียนและเวลาพักผ่อน ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรละเลยครอบครัวด้วย

         ดังนั้นถ้าใครอยากรับงานฟรีแลนซ์ สิ่งที่แนะนำให้ทำคือ 
 
         1. ประเมินพลังตัวเองให้ดี แล้วรับงานเท่าที่ไหว เช็กตารางตัวเองให้ดีว่าช่วงนั้นมีสอบหรือมีงานต้องส่งเยอะหรือไม่ หรือถ้างานไหนค่าจ้างไม่แฟร์ ไม่จำเป็นต้องรับก็ได้ค่ะ เพราะถ้ารับสุ่มสี่สุ่มห้า กลายเป็นว่าเราต้องหยุดเรียนหรือนอนดึกเพื่อนั่งปั่นงานฟรีแลนซ์ ปัญหาที่ตามมาไม่คุ้มเลยนะ

         2. ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เพื่อลดเวลาที่ใช้ในการทำงานแต่ละครั้ง โดยที่คุณภาพคงเดิมหรือดีขึ้น แต่ข้อนี้ต้องอาศัยทักษะเฉพาะตัว ซึ่งบางครั้งอาจเกิดจากการรับงานฟรีแลนซ์เยอะๆ แล้วทำจนชำนาญขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้


Photo Credit: GTHchannel

 
4. ต้องพร้อมรับปัญหาสุขภาพที่อาจแวะมาหลอกหลอน
 
         ถ้าวันนึงปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตแวะมาเยี่ยม เราจะรับมือได้มั้ย? บางครั้งอาจเกิดจากการที่เราขาดคุณสมบัติในข้อ 1. เช่น ยังไม่ชำนาญพอ ผลงานจึงออกมาไม่ดี หรือต้องใช้เวลาทำงานนานกว่าปกติ ฯลฯ หรือขาดคุณสมบัติในข้อ 3. เช่น รับงานเยอะจนนอนดึก ไม่มีเวลากินข้าว ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ฯลฯ นอกจากนี้ เราอาจไปเจอปัญหาจากปัจจัยนอกเหนือการควบคุมด้วย  เคสที่เห็นบ่อยๆ เลยคือลูกค้าไม่มีเหตุผล - เล่นตุกติก - กดค่าจ้าง ฯลฯ จึงไม่แปลกเลยที่เราจะจิตตก



 
5. ต้องสื่อสารได้และรู้เท่าทันคนบ้างนะ
 
         เคยได้ยินมั้ยคะกับประโยคที่ว่า “ฟรีแลนซ์ = ทำงานฟรี(อีก)แลนซ์” ...แปลง่ายๆ คือ โดนเบี้ยวค่าจ้าง! ซึ่งเกิดจากความไว้ใจล้วนๆ บางคนโดนเล่นตุกติกใช้งานเยอะกว่าที่ตกลงกันไว้ บางคนทำไม่ถูกใจแล้วโดนผู้จ้างเทไปหรือขอลดค่าจ้าง (แต่ก็มีฟรีแลนซ์บางคนที่ไปเทผู้จ้างจนงานเขาเสียหายด้วยเหมือนกัน อย่าทำนะคะ) อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นชีวิตฟรีแลนซ์ของหลายๆ คน คือการรับงานจากคนใกล้ตัวที่รู้หน้ารู้ใจกันอยู่แล้วนั่นแหละ พอมีประวัติการทำงานแล้วถึงจะมีผลงานไปการันตีกับคนนอกได้

         ส่วนบางคนที่ไม่เคยติดต่อประสานงานกับใครมาก่อนเลย ก็อาจต้องเทรนตัวเองหน่อยค่ะ เพราะเราต้องพูดคุย บอกรายละเอียดงาน และทำข้อตกลงกับลูกค้าของเรา ขืนไปพูดจาห้วนๆ พูดใจความสำคัญไม่ครบ หรือไปตีหน้าเหวี่ยงใส่ อาจทำให้เค้าไม่อยากจ้างเราก็ได้นะ 


 
         Tips: ฟรีแลนเซอร์คนนึงแนะนำให้ใช้วิธีตั้ง “มัดจำ” แล้วส่งงานโดยแปะลายน้ำหรือเครดิตเราเอาไว้เพื่อป้องกันการนำไปใช้ จากนั้นให้เรียกเก็บเงินเต็มจำนวนก่อนแล้วค่อยส่งงานไฟนอลไปให้ แต่วิธีอาจยากในกรณีที่เรายังเป็นโนเนม เพราะบางคนเค้าก็ยังไม่เชื่อใจเราเหมือนกัน 
 
         ถ้าใครยังนึกภาพไม่ออก พี่ขอแนะนำให้ดูหนังไทยเรื่อง “ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” (2015) ค่ะ เรื่องนี้แสดงให้เห็นชีวิตฟรีแลนเซอร์ได้ดีมากๆ (บางคนอาจไม่เจอหนักเท่าในหนังนะคะ มันมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง) ถ้าเช็กแล้วเห็นว่าตัวเองสตรองพอจะรับมือกับด้านมืดได้ พี่ก็แนะนำให้ลุยเลย เพราะงานแบบนี้จะทำให้เราได้ทักษะ ประสบการณ์ และคอนเนกชั่น ซึ่งสามสิ่งนี้เราจะได้ใช้ในอนาคตแน่นอนค่ะ ^^
 
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด