ไม่ต้องกลัวเหงา! 6 วิธีโปรยความเฟรนด์ลี่ใส่เพื่อนใหม่ในโรงเรียนและมหา’ลัย

        สวัสดีค่ะชาว Dek-D ช่วงเปลี่ยนสังคมจากโรงเรียนเก่าไปโรงเรียนใหม่ หรือช่วงเข้าสู่ชีวิตเฟรชชี่ อาจเป็นเรื่องที่หลายคนกังวล เพราะบางคนก็ไม่มั่นใจเรื่องการผูกมิตรกับใครสักเท่าไหร่ วันนี้พี่เลยไปสำรวจและสอบถามมาค่ะว่ามีวิธีไหนที่ลองแล้วเวิร์กบ้าง (แถมใช้ได้ตั้งแต่วัยเรียนยันวัยทำงาน) ถ้าพร้อมแล้ว...ไปค่ะ!!



 

1. ทักทายทาง Social Media และเว็บบอร์ด
 

        ถ้าย้อนไปสมัยโบราณ กว่าจะได้เจอหน้าเพื่อนใหม่ก็เปิดเทอมโน่นน ลุ้นกันหน้างานเลย แต่สมัยนี้เราสามารถตามหาคนติดโรงเรียนเดียวกันหรือคณะเดียวกันได้ง่ายๆ เช่น แฮ็ชแท็ก #บัญชีมธ #วิศวะจุฬา #ครุจุฬา #คณะเกษตร #ku78 ฯลฯ หรือแม้แต่การ search แบบธรรมดาๆ ตามทวิตเตอร์ พอเพื่อนหรือรุ่นพี่ที่เดียวกับเราผ่านมาเห็น ก็จะได้ทักทาย พากันลากเข้ากรุ๊ปไลน์กรุ๊ปเฟซบุ๊กต่อไป รุ่นพี่บางคนก็ใช้พื้นที่นี้ในการแชร์ปฏิทินกิจกรรมที่กำลังจะมีขึ้นด้วยค่ะ



 
        และอีกแหล่งนึงที่คนหาฮิตหาเพื่อนกันมากๆ คือ "เว็บบอร์ด Dek-D" เพราะมีกระทู้มีคนมาตามหาเพื่อนและรุ่นน้องกันเพียบ ถ้าใครเปิดบอร์ดรวมแล้วตาลาย แนะนำคีย์ลัด Ctrl + F แล้วพิมพ์ชื่อคณะหรือมหา’ลัยลงไปจะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น แล้วก็จบที่ให้คนลากเข้ากรุ๊ปเช่นเคย
 
       Note: ถ้าใครกำลังมองหาเมทแชร์ค่าห้อง วิธีนี้โอเคมาก แต่อย่าลืมเช็กประวัติดีๆ แล้วค่อยดีลนะคะ



 

2. Small Talk กับเพื่อนข้างๆ
 

        “Small talk” ในที่นี้ไม่ใช่หูฟังนะคะ แต่หมายถึง การพูดคุยสั้นๆ คุยสัพเพเหระในเรื่องทั่วไป เห็นหลายคนกลัวมากว่าการที่อยู่ดีๆ เดินไปคุยกับคนไม่รู้จัก จะทำให้เค้ามองเราแปลกๆ แต่ในความเป็นจริง ช่วงแรกๆ คือโอกาสทองในการผูกมิตรโดยไม่ต้องเขินอาย เพราะทุกคนตรงนั้นส่วนใหญ่ก็คนแปลกหน้ากันที่อยากทำความรู้จักเพื่อนใหม่กันทั้งนั้น แล้วถึงเวลาจะผ่านไปยันใกล้จบการศึกษา ประโยคสั้นๆ พวกนี้ก็ยังช่วยให้เราดูน่ารักเฟรนด์ลี่ขึ้นได้
 
        ตัวอย่างประโยค เช่น
        
        “มาจากโรงเรียนอะไรหรอ?”
        “อ๋อ เรามีเพื่อนอยู่โรงเรียนนี้เหมือนกัน”
        “เธอชื่ออะไรหรอ? เอกไหน?”
        “อยู่หอปะเนี่ย เป็นเมทใครหรอ?”
        “ฟ้ามืดจัง เดี๋ยวฝนตกแน่เลยอะ”
        “เค้านัดตรวจสุขภาพกี่โมงหรอ?”
        “แถวนี้มีร้านไหนน่ากินมั่ง? 5555”
        “กระเป๋าเธอน่ารักจัง!”
         ฯลฯ
 
        ข้อควรระวังคืออย่าชวนคุยเรื่องการเมือง ศาสนา หรือวิจารณ์รูปร่างหน้าตาฝ่ายตรงข้ามแบบไร้มารยาท เพราะมีโอกาสผิดใจกันสูงมากค่ะ ถึงเวลานั้นจะมาโทษไม่ได้นะว่าทำไมเพื่อนถึงเกลียดยันเรียนจบ555

       Note: การจำข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ของเพื่อน ช่วยสร้างความประทับใจได้ดีนะคะ ^^
 


 

3. สังเกตแล้วชวนคุยให้ถูกจุด
 

        ถึงแม้ธรรมชาติเราจะไม่ใช่คนละเอียดอ่อน แต่ถ้าอยากหาเพื่อนสไตล์เดียวกันก็ต้องยอมสักครั้งแหละเนอะ วิธีการก็ยืดหยุ่นตามสถานการณ์เลยค่ะ เช่น แอดเฟซบุ๊กแล้วสังเกตภาพโปรไฟล์ ภาพปก รวมถึงหน้าวอลล์ว่าเพื่อนแชร์เพลง หนัง หรือคอนเทนต์เกี่ยวกับอะไร มีงานอดิเรกอะไรบ้าง ฯลฯ ถ้าเป็นตัวจริงก็สังเกตได้เหมือนกันจากข้าวของเครื่องใช้ เช่น เคสมือถือ หน้าจอมือถือ หนังสือที่อ่าน กระเป๋าที่ถือ ฯลฯ ถ้ารู้แนวเพื่อนแล้วเราก็จะชวนคุยได้ถูกเรื่อง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากค่ะ
 
        ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่แน่ใจความชอบของเพื่อน อย่าเพิ่งไปชวนคุยเรื่องเฉพาะทาง เพราะเค้าจะอึดอัดมากกกก อยากจะตัดบทก็เกรงใจเรา แล้วครั้งหน้าเค้าก็จะไม่กล้าคุยกับเราอีก เช่น อยู่ๆ พูดถึงศิลปินเกาหลีที่ตัวเองชอบแบบออกรส หรือเล่าวีรกรรมของเหล่าอเวนเจอร์สเป็นฉากๆ ทั้งที่เพื่อนก็ไม่ใช่สายนี้เลย ฯลฯ เราจึงแนะนำให้ถามหว่านตรงๆ เลยก็ได้ เช่น “เธอเป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลีมั้ย?” “เธอดู Avengers รึเปล่า?”  ถ้าคำตอบคือไม่ใช่ก็พับเรื่องพวกนี้ไปก่อน ไม่ก็พูดแค่คร่าวๆ ไม่ต้องลงลึก เอาไว้รอสนิทกันก่อนก็ได้ T_T



 

4. อย่าเพิ่งรีบหมั่นไส้
 

        น้องๆ เคยเห็นหรือเคยได้ยินมั้ยคะกับคำพูดที่ว่า “ตอนแรกเห็นหน้า A แล้วไม่ถูกชะตาอะ แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นเพื่อนสนิทเฉย” “ตอนแรกเห็น A ดูหยิ่งๆ เพิ่งรู้ว่าจริงๆ คุยเก่งมาก” “ตอนแรกเรากลัว A มากอะ หน้าดุมาก พอคุยไปถึงรู้ว่านี่ตัวฮา” ฯลฯ บอกเลยว่าแทบทุกคนจะต้องเคยเจอโมเมนต์นี้ เลยขอแนะนำว่า พยายามอย่าเพิ่งรีบตัดโอกาสทำความรู้จักเพื่อนคนนั้นเพียงเพราะคาดเดานิสัยไปก่อนนะคะ ไว้รอมีหลักฐานว่าเค้ามีนิสัยที่เราไม่ชอบจริงๆ ค่อยว่ากัน 



 

5. แสดงทีท่าเป็นมิตร
 

        ข้อนี้คือการเดินมาเจอครึ่งทางกับข้อ 4. ค่ะ ถึงพี่จะบอกในข้อก่อนหน้านี้ว่า "อย่าเพิ่งหมั่นไส้ไปก่อน" แต่ในชีวิตจริงต้องมีคนที่กลัวคนหน้าดุ ยิ้มยาก พูดจาห้วนๆ อยู่แล้ว ถ้าเราไม่อยากให้คนเข้าใจผิดว่าเราไม่เป็นมิตรตั้งแต่แรกเจอ อย่างน้อยก็ควรสร้าง first-impression ด้วยการไม่บึ้งตึงใส่เค้า ไม่แสดงทีท่าเกลียดคนนั้นคนนี้ พูดคุยเรื่องดีๆ อย่าจับกลุ่มนินทา ถึงแม้จะเป็นคนนิ่งๆ พูดน้อย แต่เพื่อนๆ จะสัมผัสพลังบวกของเราได้ในสักวันค่ะ ^^  

        เสริมอีกนิดนึง บางคนจะมีปัญหาเรื่องหน้านิ่ง หน้าดุ เสียงดูเหวี่ยง แต่ใจจริงเฟรนด์ลี่มาก และต้องการปรับปรุงเรื่องนี้ เราอาจลองฝึกพูดหน้ากระจกให้น้ำเสียงอ่อนลง มีเสียงสูงเสียงต่ำ ถ้าเป็นเวลาแชท อาจลองอ่านออกเสียงประโยคที่ตัวเองพิมพ์ก่อนส่งว่าห้วนไปรึเปล่า? ลองเรียบเรียงคำพูดไม่ให้เหมือนประโยคคำสั่ง อาจช่วยพัฒนาได้และเป็นผลดีถึงตอนทำงานเลยค่ะ



 

6. อย่าเพิ่งเก็บตัว ทำกิจกรรมด้วยกันก่อน!
 

        กิจกรรมเป็นสิ่งที่ช่วยกระชับมิตรและละลายพฤติกรรมได้ดีมากกกกค่ะ หลายคนเล่าว่าตัวเองเคยเป็นคนขี้อายจัด ชนิดไม่กล้าคุยกับใครเลย ชวนคนอื่นคุยไม่เป็น แต่เพราะ "กิจกรรม" ทำให้คนจำเป็นต้องสื่อสารกันและร่วมมือกันทำงานให้สำเร็จ หลายครั้งก็ต้องไปกินข้าวหรือกลับบ้านพร้อมกับเพื่อน ถึงไม่กล้าคุยก็ต้องคุยแล้วแหละงานนี้ สุดท้ายมันก็หล่อหลอมให้เรากลายเข้าสังคมเก่งขึ้น ดังนั้นช่วงที่เพิ่งเข้าโรงเรียนใหม่หรือเป็นเฟรชชี่มหา'ลัย ถ้าไม่ใช่กิจกรรมที่เกินกำลังเรา อยากให้เข้าร่วมไว้มากๆ นะคะ เก็บคอนเนกชั่นได้เพียบเลย


 
        นอกจากนี้ สิ่งที่จะช่วยให้เราสนิทกับเพื่อนได้เร็วขึ้น เช่น พยายามหาโอกาสไปกินข้าวหรือเดินเที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ บ้าง แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วยนะคะ พี่หวังว่าชาว Dek-D จะได้นำวิธีเหล่านี้ไปใช้ แล้วหลังจากนั้นชีวิตวัยเรียนของเราก็จะไม่เหงาอีกต่อไป (แต่ถ้าใครรู้ว่าเจอเพื่อนที่พาไปในทางไม่ดี รีบพาตัวออกมานะคะ) หากใครมีวิธีดีๆ อย่าลืมมาแชร์ให้เพื่อนๆ น้องๆ ฟังนะคะ ^^
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากมีข้อความหยาบคาย ใช้ภาษาไม่เหมาะสม

กำลังโหลด
กำลังโหลด