อย่าชะล่าใจ! 7 โรค/อาการอันตรายที่พบได้ตอนรับน้อง (ถ้าเกิดขึ้นควรทำยังไง?)

       สวัสดีค่ะชาว Dek-D ช่วงนี้คงเป็นฤดูรับน้องของชาวมหา'ลัยหลายๆ แห่งใช่มั้ยคะ ^^ สิ่งที่รุ่นพี่และอาจารย์ควรให้ความสำคัญมากที่สุดคือสุขภาพและความปลอดภัยของรุ่นน้อง เพราะไม่ว่าจะเป็นค่ายแบบเฮฮา ค่ายแบบดุๆ หรือประชุมเชียร์ในห้องเครียดๆ ฯลฯ ก็มีโอกาสที่รุ่นน้องจะป่วยไข้ขึ้นมาได้ทั้งนั้น สิ่งที่ป้องกันได้เบื้องต้นคือ ผู้จัดกิจกรรมต้องคำนึงความเหมาะสมโดยละเอียด อาจารย์ต้องเช็กก่อนอนุมัติ และรุ่นพี่เองก็ห้ามมองข้ามอาการต่างๆ ของรุ่นน้องด้วย วันนี้พี่ได้รวมตัวอย่างโรค/อาการมาเพื่อให้ทั้งรุ่นน้องและรุ่นพี่เฝ้าระวังกันอย่างเต็มที่ค่ะ
 

(ขออนุญาตแปะก่อนเริ่มเรื่อง)


 

1. ลมแดด


       มหา'ลัยไหนชอบรับน้องโดยการพาน้องไปตากแดดนานๆ ระวังโรคนี้ไว้เลยค่ะ เพราะมันเกิดจากการได้รับความร้อนมากเกินไปจนร่างกายควบคุมไม่ได้ แม้แต่คนแข็งแรงมากๆ ก็มีสิทธิ์เป็นไปได้เหมือนกัน

       งานการพยาบาลผู้ป่วยพิเศษทั่วไป ได้อธิบายอาการทั่วไปที่พบ คือ "ผิวหนังร้อนจัด เพ้อ หมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดลดลง ช็อก ผิวหนังแห้งและร้อน ระดับความรู้สึกตัวลดลง การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว กระสับกระส่าย เอะอะ ก้าวร้าว หมดสติ เกร็ง ชัก"


Photo Credit: Howcast.com
 

หากพบอาการเหล่านี้...

       - ถ้าอาการยังไม่หนัก ให้ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ
       - พาผู้ป่วยเข้าที่ร่มด่วนๆ ปรับท่าให้นอนราบ ยกเท้าสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที 
       - ปกติร่างกายจะมีอุณหภูมิ 36.5 - 37 องศาเซลเซียส แต่ถ้าสูงผิดปกติ หรือดีดขึ้นถึง 40 ต้องรักษาด่วนจ้า มีโอกาสเสียชีวิตได้นะคะ


2. เลือดกำเดาไหล
 

       อาการคือเลือดไหลออกจากจมูกข้างใดข้างหนึ่งหรืออาจทั้งสองข้าง เนื่องจากเส้นเลือดในโพรงจมูกแตก (เส้นเลือดส่วนนี้จะเปราะของมันอยู่แล้ว) ส่วนสาเหตุอื่นๆ ก็อาจมาจากการล้วงแคะแกะเกาในจมูกบ่อยๆ, ประสบอุบัติเหตุ, อากาศหนาวหรือแดดแรงเกินไป หรือยาบางชนิดที่ส่งผลให้เลือดกำเดาไหลง่ายขึ้น

หากพบอาการเหล่านี้...

       - นั่งนิ่งๆ เอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย บีบจมูกแล้วหายใจทางปากสัก 10 นาที ถ้าเกินกว่านั้นให้เลิกบีบแล้วทำใหม่ซ้ำ 
       - ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น/ห่อน้ำแข็งแล้ววางไว้ตรงสันจมูก  
       - การเงยหน้าที่บางตำราแนะนำไว้ ถือเป็นวิธีที่ผิด เพราะเลือดจะไหลจนระคายทั้งคอและกระเพาะ (ในกรณีที่เลือดไหลลงคอให้คายออก) 
       - ในขณะเดียวกันก็อย่าก้มประชดเลือดหรือหวังว่าเลือดจะรีบๆ ไหลเร็วๆ แล้วจบ เพราะในความเป็นจริง มันจะไหลหนักขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าจะจบสิ้น


Photo Credit: Newsnetwork.com

 

3. มือเท้าชา 


       คนเคยประชุมเชียร์น่าจะเข้าใจดีที่สุดแล้ว การที่ต้องนั่งท่าเดิม ตัวตรงเด่ นิ่งกริบ ขยับอะไรไม่ได้นอกจากปากกับกะบังลม ในระยะเวลานานแสนนานมันทรมานแค่ไหน เพราะโรคเหน็บชามาเยือนถี่มาก เวลาพี่เรียกยืนขึ้นตอบคำถามกะทันหันก็ทรุดจนต้องเกาะคนข้างๆ   

       สาเหตุของอาการมือเท้าชามีหลายอย่างค่ะ แต่ในกรณีนี้จะพูดถึงในกรณีนั่งนานๆ ทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่ทั่วถึง และเกี่ยวข้องกับการขาดวิตามิน B ด้วย 


Photo by Imani Clovis on Unsplash

หากพบอาการเหล่านี้...
 
       - ถ้าไม่ไหวจริงๆ ยกมือขอนุญาตเปลี่ยนท่า ยืดขา หรือออกไปพัก (ถ้าคณะไหนยังมีว้าก พี่น่าจะอนุญาตด้วยเสียงโหดๆ)
       - ถ้ายังไหวก็อาจใช้เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ อย่างการทิ้งน้ำหนักตัวไปข้างใดข้างหนึ่งสลับกัน
       - ควรหาเวลาว่างไปพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุค่ะ เพราะบางรายเกิดจากโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท งูสวัด ไมเกรน ลมชัก ฯลฯ (ข้อมูลจากคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
       - หนึ่งในสาเหตุของอาการชา = ขาดวิตามิน B1 แหล่งอาหารที่มีวิตามินชนิดนี้ เช่น ถั่ว ข้าวโอ๊ต เนื้อวัว เนื้อหมู ส้ม ไข่ ยีสต์ ฯลฯ  

คำแนะนำอื่นๆ เพิ่มเติม
 
       จริงๆ แล้วไม่จำเป็นเลยที่จะต้องให้น้องนั่งเกร็งท่าเดิมนานๆ ถ้ายังไม่ได้เข้าสู่ช่วงรันเพลงในห้องเชียร์ ควรอนุญาตให้น้องนั่งรีแลกซ์สบายๆ เป็นหลัก (เวลาชาขึ้นมาแล้วจะให้นิ่งคงไม่ไหวอะ)
 

Photo by Autumn Goodman on Unsplash


4. โรคกระเพาะอาหารอักเสบ
 

       โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในกิจกรรมรับน้อง อาจจะเพราะตารางกินข้าวในกิจกรรมไม่ตรงกับเวลากินข้าวปกติของน้อง อาหารน้อยเกินไป อาหารไม่ถูกปากจนกินไม่ลง หรือแม้แต่ความเครียดที่ส่งผลต่อกรดในกระเพาะ อาการคร่าวๆ เช่น ปวดใต้ลิ้นปี่ ปวดๆ หายๆ คลื่นไส้ เรอบ่อย อาเจียน เบื่ออาหาร หากอาการหนักอาจอาเจียนเป็นเลือดด้วยค่ะ   

หากพบอาการเหล่านี้...
 
       ฝ่ายพยาบาลสามารถประคับประคองอาหารได้โดยการให้ยาลดกรด ยาเคลือบกระเพาะอาหาร ยาช่วยย่อย ยาแก้ปวดท้อง ฯลฯ หากสังเกตว่าอาการรุนแรง ควรรีบพาไปพบแพทย์นะคะ


Photo Credit: Pixabay


5. ซึมเศร้า


       การรับน้องที่ “รุนแรงเกินกว่าเหตุ” สามารถทำลายชีวิตของคนคนนึงได้เลยค่ะ บางคนเผชิญความกดดันจนกลายเป็นผู้ป่วยซึมเศร้า ส่วนบางคนที่มีอาการอยู่แล้วก็มีโอกาสสูงมากที่จะทวีความรุนแรงขึ้นถ้าเกิดยังต้องจมอยู่กับบรรยากาศแบบนั้นไปเรื่อยๆ
 

 
       สิ่งที่เราเห็นกันบ่อยๆ คือคนกลุ่มนี้มักถูกรุ่นพี่มองว่าสำออย ทั้งที่จริงๆ เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองชื่อ “เซโรโทนิน” (Serotonin) ที่ลดลง และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกทางลบ เช่น เบื่อ ท้อ เหงา เศร้า นอนไม่หลับ สะดุ้งกลางดึก ฝันร้าย ฯลฯ ประสิทธิภาพในการเรียนหรือทำงานก็ย่อมลดลงตามมาค่ะ คนที่เป็นโรคนี้อาจเจอเรื่องร้ายๆ ในชีวิตหรือไม่ก็ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และสภาวะทางจิตใจที่เลวร้ายแบบนี้สามารถถูกปลุกขึ้นมาได้ทุกเมื่อถ้าเจอบรรยากาศกดดันในกิจกรรมรับน้อง 
 
       หมายเหตุ* กรมสุขภาพจิตกล่าวว่า คนที่ฆ่าตัวตาย ร้อยละ 60 มีอาการซึมเศร้า 


Photo Credit: Pixabay
 
หากพบอาการเหล่านี้...
 
       - พูดคุยแบบเปิดใจ ปลอบใจน้อง ทำให้น้องไว้ใจที่สุดเพื่อให้เค้าได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นออกมา แล้วเค้าจะสบายใจขึ้น
       - ผู้ป่วยควรหาเวลาพบจิตแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อประเมินอาการและรับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง (แล้วอย่าลืมพูดคุยกับผู้ปกครองเกี่ยวกับอาการซึมเศร้าของเราด้วยนะคะ)
 
คำแนะนำอื่นๆ เพิ่มเติม
 
       - สำหรับน้องๆ ที่กำลังอ่านบทความนี้ พี่แนะนำให้แวะเข้าไปทำ แบบประเมินโรคซึมเศร้า 9 คำถามของกรมสุขภาพจิต เพื่อเช็กอาการเบื้องต้นค่ะ ถ้าเข้าข่ายให้รีบไปพบจิตแพทย์เพื่อหาวิธีป้องกันและรักษาด่วนๆ 
       - ปกติแล้วในกิจกรรมรับน้อง รุ่นพี่จะสอบถามก่อนว่าใครมีโรคประจำตัวหรือไม่ หากเรารู้ตัวว่ามีอาการนี้ให้รีบแจ้งค่ะ ถ้าเค้าไม่เชื่อ ยื่นใบรับรองแพทย์ให้เค้าเลย
       - รุ่นพี่ต้องเปิดใจนะคะ ไม่ว่ารุ่นน้องจะไม่เข้ารับน้องด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ควรบอยคอร์ตด้วยการทิ้งให้โดดเดี่ยว ไม่สนใจไยดี ไม่ช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น


Photo by Nik MacMillan on Unsplash

 

6. โรคหอบจากอารมณ์
 

       ส่วนมากโรคนี้จะเป็นในวัยเรียนจนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น เพศชายโอกาสเกิดมากกว่าเพศหญิง และไม่จำเป็นต้องมีประวัติเป็นโรคหอบมาก่อนก็เป็นได้ สาเหตุหลักๆ คือการต้องมาเจอสภาวะกดดันจนเกิด “ความเครียด” ที่ทำให้ผู้ป่วยหายใจเร็วและลึกนานปกติเพื่อให้ได้ออกซิเจนมากขึ้น  > ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดต่ำลง > ค่า pH ในกระแสเลือดสูงขึ้น > หลอดเลือดหดตัว > การทำงานของระบบประสาทผิดปกติ
 
       อาการที่แสดงออกมามีหลากหลาย เช่น มือเกร็ง มือจีบ ใจสั่น หน้ามืด โวยวายเหมือนเสียสติ พูดจาติดขัด แน่นิ่ง หรือถึงขั้นหมดสติไปเลยก็มีค่ะ (สิ่งสำคัญมากคือต้องสังเกตตัวเองและคนรอบข้างให้ดี อย่าคิดว่าอาการแบบนี้เบๆ เดี๋ยวก็ผ่านไป หรืออย่าคิดว่าน้องสำออยเด็ดขาด)


Photo Credit: Pixabay
 
หากพบอาการเหล่านี้...
 
       - พาออกจากบรรยากาศเครียดๆ มาอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวกและผ่อนคลาย ปรับผู้ป่วยให้อยู่ในอิริยาบถที่หายใจคล่อง ปลดกระดุมเสื้อ ถ้านอนได้ให้นอนราบกับพื้นโดยไม่ต้องหนุนหมอน เพื่อให้หลอดลมไม่ถูกกดทับจากการงอตัว ถ้ามือกำอยู่ให้พยายามคลายออก
       - อย่าให้คนมุง!!
       - ผู้ป่วยต้องตั้งสติ แล้วกำหนดลมหายใจเข้าออกให้ช้าลง อาจใช้กรวยกระดาษ ถุงกระดาษเจาะรูเล็กๆ หรือถุงพลาสติกเจาะรูเล็กๆ ครอบบริเวณปากและจมูก แล้วหายใจเพื่อให้สูดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปปรับสมดุลในร่างกายได้ง่ายขึ้น
      - พูดคุยกับน้องว่านี่ไม่ใช่โรคร้ายแรง อย่าให้น้องเครียด
      - ถ้าผู้ป่วยอาการหนักขึ้น เช่น หอบขึ้น ชักเกร็ง ฯลฯ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล
      - หลังเกิดเหตุการณ์ ควรหาเวลาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการดูแลด้านจิตใจและเตรียมพร้อมรับมือกับความเครียดในอนาคต

คำแนะนำอื่นๆ เพิ่มเติม

       - การที่เค้าหายใจเร็วๆ อาจมาจากสาเหตุอื่นได้นะคะ ถ้าไม่ชัวร์ควรรีบปรึกษาแพทย์ (สามารถอ่านแบบละเอียดยิบได้ที่นี่)


Photo by Carol Oliver on Unsplash

 

7. โรคติดต่อทางน้ำลาย


       หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนออกมาเตือนเรื่องการกินอาหารส่งต่อกันนั่นเองค่ะ รุ่นพี่บางคนชอบคิดกิจกรรมแผลงๆ ให้อมลูกอมบ้างล่ะ เงาะบ้างล่ะ น้ำบ้างล่ะ แล้วบอกว่ามันคือการเสริมสร้างความสามัคคี แต่จริงๆ คือเสริมสร้างโรคสารพัด ทั้งโรคไวรัสตับอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ โรคเริม (แผลเปื่อยที่ปาก) ติดเชื้อโมโนนิวคลีโอสิส (เช่น เจ็บคอ ผื่น อ่อนเพลีย) โรคมือเท้าปาก โรคคางทูม หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Streptococcus (เช่น ทอนซิลอักเสบ) ถ้าใครอยากทราบอาการแบบละเอียด สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ

คำแนะนำอื่นๆ เพิ่มเติม

       ห้ามสั่งให้รุ่นน้องกินอาหาร/น้ำส่งต่อกัน!


Photo Credit: Pixabay
 

(แถมๆ)

"แมลงก้นกระดก" ภัยร้ายที่แฝงมากับการรับน้อง!

       จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายโรคหลายอาการเลยค่ะที่มีสิทธิ์เจอได้ทุกเมื่อในกิจกรรมรับน้อง ดังนั้น ทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องควรเตรียมรับมือให้ดี ถ้าเทรนเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนจัดงานได้จะยิ่งดีไปกันใหญ่เลยค่ะ สุดท้ายนี้อย่าลืมว่า ผู้จัดควรไตร่ตรองทุกกิจกรรมอย่างรอบคอบ เพราะถ้าเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นมา รุ่นน้องเองจะเดือดร้อน ส่วนชื่อเสียงของคณะหรือมหา'ลัยก็จะดิ่งไปทางลบ คำว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ไม่สามารถเยียวยาอะไรได้นะคะ :)
 
Sources:
http://em.kku.ac.th
http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic
https://www.livescience.com
http://haamor.com
http://www.med.cmu.ac.th

 
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด