‘ทีม วช.ตราด’ แชมป์แกะสลักหิมะนานาชาติ กับจุดเริ่มต้นที่ต่อยอดจากวิชาแกะสลักผลไม้!

“แก๊งนางฟ้าบ้านนา” ผู้ปลุกเสน่ห์แดนชนบทด้วยแฟชั่นสไตล์ท้องถิ่น (คลิป 5 ล้านวิวการันตีความแซ่บ!)

        สวัสดีค่ะชาว Dek-D พบกับคอลัมน์ “เด็กพลังบวก” ที่จะพาน้องๆ ไปค้นหาแรงบันดาลใจจากวัยรุ่นเจ๋งๆ ที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และทำกิจกรรมเพื่อตัวเองและสังคมกันค่ะ
 
        หนึ่งในข่าวที่ฮือฮาและน่ายกย่องตั้งแต่ช่วงปีใหม่ หนีไม่พ้นข่าวที่คณะครูและนักเรียนคว้ารางวัลใหญ่กลับมาฝากคนไทย หลังจากเดินทางไปแข่งในการแข่งขันแกะสลักน้ำแข็งจากหิมะนานาชาติ ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 4 - 7 ม.ค. 2562 ณ เมืองฮาร์บิน ประเทศจีน (ปีนี้มีแข่ง 55 ทีม และมีทีมไทย 3 ทีม) และในวันนี้เราได้รับเกียรติจากโค้ชและตัวแทนนักเรียนจาก “วิทยาลัยสารพัดช่างตราด” มานั่งพูดคุยกับเราถึงคอนเซ็ปต์ผลงาน และหาคำตอบว่าเขาฝึกฝนการแกะสลักหิมะจากไหน ในเมื่อเมืองไทยไม่มีหิมะ?



 
คัดเลือกจากการวาดภาพ และต่อยอดวิชาแกะสลักผลไม้ตอนปี 2
 
        ทีมนักศึกษาจาก วช. ตราดที่เดินทางไปแข่งขัน ได้แก่ น.ส.พรรณนิภา นามวิชัย (น้ำ) นายชโยทิต สุขสวัสดิ์ (เพียว) นายธวัชชัย สนธิพิณ (โจ๊ก) และ น.ส.น้ำฝน จันทร์จรูญ (ฝน) โดยนักศึกษาทั้งหมดนี้เรียนอยู่แผนกวิชาการโรงแรมทั้งหมด แต่ต่างระดับชั้น ส่วนครูฝึกสอน (โค้ช) 2 ท่าน ได้แก่ ครูเกริกไกร นนทลักษณ์ และครูรุ่งนภา ชลปราการ
        ฝนเล่าการรวมตัวเป็นทีมแกะสลักในครั้งนี้ให้ฟังว่า “เริ่มแรกคือวิทยาลัยคัดเลือกจากการวาดภาพค่ะ คัดทั้งวิทยาลัยเหลือ 10 คน แล้วก็ลดลงมาเหลือ 4 คน พวกเราก็พอรู้จักกันมาบ้างเพราะเรียนแผนกเดียวกันค่ะ วิชาที่เราได้เอามาใช้คือการแกะสลักผลไม้ที่เรียนตั้งแต่ปี 2”
 
        ผลงานของทีมนี้ที่ชื่อว่า “Rescue Missions Rivets Thamluang caves in Chiangrai Thailand.” ได้รางวัลคะแนนรวมสูงสุด (Top grade Awards) รางวัลสุดยอดความคิดสร้างสรรค์ (Best Creative Award) และสานต่อตำแหน่งแชมป์สมัยที่ 10 ของคนไทยไว้ได้อย่างสวยงาม โดยโจ๊กเล่าให้ฟังว่า “ทาง ผอ. คิดริเริ่มไอเดียแกะสลักเป็นถ้ำหลวงครับ เพราะข่าวนี้เป็นข่าวที่ทั่วโลกให้ความสนใจ พวกเราก็เอามาทำเป็นช็อตหยุดเวลาที่นักประดาน้ำมาเจอเด็กๆ 13 คน มีการแกะโฟมขึ้นเป็นลายกนกตรงยอดของถ้ำ”
เขาฝึกกันแบบนี้นี่เอง!
 
        อย่างที่ทราบกันดีว่าสภาพเมืองไทย แค่มีลมหนาวพัดมาก็ถือว่าบุญ เรื่องหิมะไม่ต้องพูดถึง หลายคนจึงสงสัยว่าทีมที่ไปชนะการแกะสลักหิมะต้องฝึกกันด้วยวิธีไหน “เราฝึกกัน 3 เดือนเต็มครับ เริ่มจากแกะผลไม้ > แกะโฟม > แกะน้ำแข็งก้อนใหญ่ ซึ่งทำให้เราได้ฝึกใช้เครื่องมือจริงจัง ข้อแตกต่างตอนซ้อมกับแข่งจริงคือ น้ำแข็งที่แกะตอนซ้อมจะแข็งและมีความหนาแน่นมาก เลยต้องใช้แรงเยอะครับ แต่พอเราไปเจอหิมะ จะใช้แรงลดลงมาหน่อยนึงเพื่อไม่ให้มันถล่ม”
 
        อ.รุ่งนภา (อ.แก้ว) เล่าว่า “เรื่องฝีมือการแกะ เรามั่นใจในคอนดักเตอร์ เพราะเขาสอนงานขั้นแอดวานซ์จริงๆ ค่ะ ตรงนี้เราได้โอกาสจากที่ทางสำนักงานอาชีวศึกษา จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นฐานสมรรถนะ (E2E) ให้สามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญพิเศษมาสอนเด็กได้ โดยเขาจะสอนเป็นสเกล ขีดเส้นเป็นตาราง เช่น ต้องลากจากจุด 1 > จุด 2 > จุด 3 . . . ทำให้เด็กทุกคนรู้สเกลงานว่างานชิ้นนี้มีกี่ช่องตาราง เลยไม่กังวลว่าเด็กจะวาดภาพไม่ได้ คอนดักเตอร์เองก็สอนจากยากให้ง่าย แม้กระทั่งเรื่องสัดส่วนของอากัปกิริยาคนด้วยค่ะ ^^”
        “ส่วนการแกะ เราจะแบ่งสัดส่วนก้อนหิมะโดยใช้สีสเปรย์ เวลาจะลงงานแต่ละครั้งเราจะประชุมกันก่อน และตกลงกันว่าถ้าอะไรที่ยังไม่มั่นใจ อย่าเพิ่งตัดสินใจลงมือทำ ถามโค้ชถามคอนดักเตอร์ก่อนว่าเราจะทำแบบนี้ดีมั้ย ทุกอย่างต้องระมัดระวังตลอดเวลาค่ะ แล้วเราใช้ตลับเมตรเพื่อวัดขนาดให้แน่นอนตามอัตราส่วนด้วย ไม่ใช่การคาดคะเน” 

 
ความเสี่ยงทุกขั้นตอน กับอากาศที่ติดลบเกิน 20 องศา!
 
        หันมาถามหนุ่มโจ๊กบ้างดีกว่า อยากรู้ว่าจะเป็นงานคอนเซ็ปต์ถ้ำหลวงที่สมบูรณ์แบบนี้ เราวางแผนเวลาการทำงานกันยังไงบ้าง? “กำหนดการแข่งคือ 3 วันเต็มครับ แกะหิมะกว้าง 3 เมตร สูง 3 เมตร (ต่อยอดกนกขึ้นไปอีก 2 เมตร) ความลึกข้างในเราเจาะเป็นโพรง ข้างในกว้างประมาณ 170 ซม. ครับ”
 
        “งานของเรามีความเสี่ยงความกดดันทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มยันจบ เริ่มวันแรกเราทำต่อยอดกนกเพิ่มขึ้นไป 2 เมตร ซึ่งมันเสี่ยงมาก วันที่ 2 เราเริ่มเจาะโพรงถ้ำเข้าไป ตั้งเป้าไว้ว่าเราต้องขึ้นโครงเด็กข้างในให้เสร็จทั้ง 13 คน เด็กแต่ละคนจะแกะเป็นท่านั่ง สูงประมาณ 50 ซม. แล้วแต่ท่านั่งของแต่ละคน ส่วนวันสุดท้ายเราก็มาเก็บรายละเอียด และเสร็จพอดีกับเวลาครับ”
        และแน่นอนว่าสภาพอากาศที่จีนกับที่ไทยต่างกันมากกก เขาเล่าหนึ่งในอุปสรรคสำคัญให้ฟังว่า อากาศติด -20 องศาขึ้นครับ T__T วันสุดท้ายนี่ทรมานสุดเพราะออกแรงน้อย ร่างกายเลยไม่อุ่น ไม่เหมือนกับ 2 วันแรกที่เราใช้แรงเยอะ แต่ก่อนไปเรามีวิธีเตรียมตัวคือ ช่วงที่ซ้อม 3 เดือนจะมีวิ่งออกกำลังกายครับ ตอนไปเราไม่มีใครป่วยเลย ทุกคน enjoy กับสิ่งตรงหน้าจนไม่มีอุปสรรคด้านร่างกาย แต่ดันป่วยตอนกลับ 55555 ตอนนี้อาการก็ดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วครับ”
“ครูเชื่อว่าเราทำได้” หลักจิตวิทยาเรียกความมั่นใจที่ใช้ได้ผล!
 
        อ.แก้ว เปิดใจเล่าเบื้องหลังของงานที่เธอรับหน้าที่เป็นโค้ชให้น้องๆ ทั้ง 4 คนว่า “เรายอมรับว่าเด็กการโรงแรม พื้นฐานศิลปะอาจสู้เด็กศิลป์โดยตรงไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำให้เขามีพัฒนาการเป็นลำดับต่อเนื่องคือความพยายาม ความมุ่งมั่น พอเราปักธงไปแล้วว่าจะทำชิ้นงานที่เป็นถ้ำหลวง เราก็ซ้อมเฉพาะรายละเอียดที่เราทำ ไม่วอกแวก ใช้วิธีการทำซ้ำเรื่อยๆ เพื่อฝึกความชำนาญ ทำให้เขามั่นใจว่าเขาทำได้ และเราเองก็ให้ความสำคัญกับขวัญและกำลังใจของเด็กมากๆ”
 
        “ตอนแรกทุกคนไม่มั่นใจ บอกเราว่าพวกหนูคงไม่ไหว แต่ครูเองยังมีความเชื่อว่า ถ้าคนเราถ้าอยากทำอะไรจริงๆ ก็ทำได้หมด เราจะคอยพูดซ้ำๆ สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กตลอดว่า ‘ครูเชื่อว่าพวกเราทำได้’ แล้วในที่สุดพวกเขาก็เชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้จริงๆ โดยปกติเราเองไม่ใช่ครูโดยวิชาชีพ เราเป็นพนักงานบริการที่เคยเทรนจากโรงแรมมา เขาเองก็พูดกรอกหูเหมือนกันว่า คุณทำได้ๆๆ เราก็ใช้หลักจิตวิทยานี้มาใช้กับเด็กบ้างค่ะ” 
เมื่อรับโอกาสมาแล้วก็จะทำให้ดีที่สุด
 
        “การไปครั้งนี้เป็นครั้งแรกของพวกเราครับ ไปแบบไม่รู้อะไรเลย พอไปถึงเราได้รู้ว่าหิมะเป็นแบบนี้นะ มันสวยแบบที่เราคิดไว้มั้ย เรื่องงานก็ไปหยิบจับจุดเด่นที่คิดว่าอนาคตจะมาปรับใช้ได้เพื่อพัฒนางานของเราครับ” เราประทับใจอะไรบ้าง? “เราได้ไปอยู่ 10 วัน (ไปตั้งแต่ 30 ธ.ค. 61 แล้วกลับเช้าวันที่ 9 ม.ค.) เรารู้สึกศิลปะที่นั่นสวยดีนะ แล้วผู้คนก็เป็นมิตรด้วย”
 
        “เรารู้สึกยินดีและสนุกกับการไปหาประสบการณ์ครั้งนี้ เราอาจไม่ใช่ทีมที่เก่ง ไม่ใช่ทีมที่เก่งศิลปะโดยตรง เราเป็นเด็กการโรงแรม แต่เราจะทำให้ดีที่สุดเพื่อไม่ให้ผู้ใหญ่ที่มอบโอกาสให้เราเขาผิดหวัง”
 
        สุดท้ายนี้เนื่องจากทั้ง 4 คนเป็นเด็กการโรงแรมทั้งหมด อยากให้พูดถึงสาขาที่เราเรียนหน่อย “วิทยาลัยของเราเด่นเรื่องโรงแรมครับ รุ่นพี่ที่เคยเรียนที่นี่จบไปแล้วไม่มีใครตกงาน สถานประกอบการรองรับหมด หากใครสนใจงานโรงแรมหรืองานบริการ อยากชวนมาเรียนที่สถาบันนี้กันครับ ^^”
        และนอกจากทีมวิทยาลัยสารพัดช่างตราดแล้ว อีก 2 ทีมที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนไทยคือ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ที่สร้างผลงานชื่อ “มิตรภาพเหนือกาลเวลา” และทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ที่สร้างผลงานชื่อ “ความรัก ความผูกพัน” ทางเราขอชื่นชมจากใจ และขอขอบคุณที่ทำให้ชาวไทยยิ้มได้ตั้งแต่ต้นปีนะคะ ^^
อ่านเรื่องราวของแชมป์ปีก่อน ผู้สร้างผลงานสุดอลังการ!
"ทีมอาชีวะอุบลฯ" แชมป์แกะสลักหิมะนานาชาติปี 2018
กับวิธีฝึกฝนสไตล์ประเทศไร้หิมะ!
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด