ม.มหิดล พร้อมรับเปิดเทอม! ปรับรูปแบบการเรียนแบบวิถีใหม่ (New Normal) มั่นใจ คุณภาพไม่ลดลง

ม.มหิดล
พร้อมรับเปิดเทอม!

ปรับรูปแบบการเรียนแบบวิถีใหม่
มั่นใจ คุณภาพไม่ลดลง

ผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 กระทบไปไม่เว้นแม้กระทั่งแวดวงการศึกษา ต้องปรับตัวจากหน้ามือเป็นหลังมือ สิ่งที่ไม่เคยทำก็ต้องถูกนำมาปรับใช้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 สถานการณ์ตอนนี้ถึงจะดูมีแนวโน้มที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เพื่อความปลอดภัย มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ผุดไอเดียและปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เข้ากับสภาวะการใช้ชีวิตแบบวิถีปกติใหม่ หรือ New Normal กันอย่างเต็มที่ และน้องๆ นักศึกษาเองก็ต้องปรับตัวกันค่อนข้างมากเช่นกัน

มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นมหาวิทยาลัยแรกๆ ที่ประกาศให้น้องๆ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2563 เรียนออนไลน์ 100% แม้ว่าก่อนหน้านี้ ม.มหิดล จะมีนโยบายส่งเสริมเรื่องการเรียนออนไลน์ แต่สถานการณ์ Covid-19 ทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วขึ้นและต้องใช้อย่างจริงจัง วันนี้ทีมงานเด็กดี ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร.ท.ทพ.ชัชชัย คุณาวิศรุต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับรูปแบบการเรียนการสอนสำหรับปี 2563 ซึ่งมีความน่าสนใจอย่างมาก

รูปแบบการเรียนการสอน
new normal

ลดปริมาณคนในมหาวิทยาลัย ปี 1
เรียนออนไลน์ 100%

แนวคิดอันดับแรกของการปรับรูปแบบการเรียนการสอน คือ ความปลอดภัยของนักศึกษาต้องมาก่อน ดังนั้นเพื่อจำกัดจำนวนนักศึกษาที่จะเข้ามาที่พื้นที่ศาลายา นักศึกษาปี 1 ทุกคนจะต้องเรียนออนไลน์ 100% ในภาคการศึกษาแรกของปี 2563 สำหรับปี 2-6 จะเรียนแบบผสมผสาน เนื่องจากวิชาเรียนของนักศึกษาปี 1 ส่วนใหญ่เป็นภาคทฤษฎี และถึงแม้จะมีรายวิชาที่เป็นภาคปฎิบัติอยู่บ้างก็สามารถมาฝึกปฏิบัติในเทอมสองได้ สำหรับนักศึกษาชั้นปีอื่น ๆ ในพื้นที่ศาลายา เนื่องจากต้องเรียนออนไลน์ในภาคการศึกษาที่แล้วแบบกะทันหัน ทำให้ต้องมาเรียนภาคปฏิบัติในเทอมนี้เป็นการทดแทน สำหรับพื้นที่และวิทยาเขตอื่นๆ ก็จะขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของหัวหน้าส่วนงานในพื้นที่ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข Physical Distancing เป็นหลัก โดยใช้หลักที่ว่า นักศึกษา 1 ควรจะมีพื้นที่อย่างน้อย 4 ตร.ม. หลักการจัดการนี้จะรวมถึงพื้นที่การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น โรงอาหาร หอพัก และพื้นที่ส่วนกลางอื่นๆ ด้วย

มั่นใจว่าคุณภาพการเรียนการสอน
จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

เหตุผลหลักของการปรับมาเรียนในรูปแบบออนไลน์ คือ มหาวิทยาลัยคำนึงเรื่องสวัสดิภาพของนักศึกษาและบุคลากร แม้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ แต่มหาวิทยาลัยตั้งใจที่จะให้คุณภาพการเรียนไม่ด้อยลงไปกว่าการเรียนในชั้นเรียนในช่วงแรกของการเรียนมีความขลุกขลักอยู่บ้าง เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นกะทันหัน ทั้งนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากร แต่ทุกคนก็พยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด เพื่อรักษาคุณภาพของการศึกษา ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยมหิดลได้เริ่มมีการวางแผนปรับปรุงระบบการเรียนการสอนมาตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด หลายๆ อย่างด้วยกัน โครงการที่สำคัญโครงการหนึ่งก็คือการที่ ม.มหิดลมีความร่วมมือกับ Macquarie University ประเทศออสเตรเลีย ที่มีความชำนาญในเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ โดยทาง Macquarie University ได้ให้การอบรมกับอาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยบางส่วนมาตั้งแต่ก่อนสถานการณ์ Covid -19 และเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวขึ้น ม มหิดล ก็ยิ่งเร่งเพิ่มจำนวนของอาจารย์และบุคลากรเพื่อเข้ารับการอบรมให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการสอนออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนออนไลน์ที่ นักศึกษามีส่วนร่วมในชั้นเรียน ถึงแม้จะเป็นการเรียนออนไลน์เพื่อให้การเรียนการสอน ไม่น่าเบื่อและเกิดความเข้าใจในเนื้อหาวิชาอย่างแท้จริง

ดังนั้นน้องๆ สามารถมั่นใจได้ว่าไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างไร อาจารย์และบุคลากรมีการพัฒนาความรู้และวิธีการต่างๆ ให้การสอนมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ

หลากหลายเทคโนโลยี
เข้ามาใช้ในการเรียนการสอน

มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เตรียมความพร้อมด้าน IT Infrastructure ไว้หมดแล้ว โดยเริ่มทยอยนำมาใช้เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรปรับตัว แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ Covid-19 ซึ่งนับว่าเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉิน ทำให้มหาวิทยาลัยต้องหันมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งประกอบไปด้วยหลายส่วน คือ

1 Virtual Classroom

คือห้องเรียนที่มีการติดตั้งกล้อง ระบบเสียง xละโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถถ่ายทอดสดจากห้องเรียนไปยังพื้นที่และวิทยาเขตอื่นๆ ได้ แต่เดิมใช้สำหรับบุคลากรหรืออาจารย์ที่ต้องประชุมข้ามพื้นที่หรือวิทยาเขต เพื่อลดการเดินทางและใช้สำหรับการเรียนการสอนข้ามพื้นที่หรือวิทยาเขต โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 16 ห้อง และมีนโยบายเพิ่มเป็น 22 ห้องในปี 2564 ในทุกพื้นที่และวิทยาเขต โดยลักษณะของห้อง Virtual Classroom จะเอื้ออำนวยให้ อาจารย์สามารถสอนนักศึกษาในห้องเรียนจริงไปพร้อมๆ กับสอนออนไลน์เสมือนอยู่ในห้องเรียนเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2 WebEx

เป็น Web Conference ใช้สำหรับการประชุมออนไลน์ ก็ได้นำมาปรับใช้ในการสอนออนไลน์เช่นกัน เพื่อให้อาจารย์และนักศึกษาสามารถเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์กันได้ โดยอาจารย์สามารถเปิดห้องเรียนออนไลน์ และสอนผ่านโปรแกรม WebEx ในคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือ แทบเล็ตก็ได้ จากสถิติการเรียนออนไลน์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีการเปิดห้องเรียนออนไลน์รวมกันถึง 65,000 ห้อง โดยเมื่อคิดเวลาที่ใช้ห้อง WebEx ในการเรียนออนไลน์ รวมกันทั้งสิ้น เป็นเวลากว่า 3 ล้านนาที

3 WeMahidol application

จุดประสงค์แรกของแอปพลิเคชันนี้คือ ให้นักศึกษาสามารถมาเช็กตารางเรียน รับข่าวสารจากมหาวิทยาลัย ไปจนถึงการนำไปใช้ร่วมกับสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ภายในมหาวิทยาลัยได้อย่างสะดวกสบาย แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ Covid-19 ทางมหาวิทยาลัย ได้นำ WeMahidol application มาใช้แจ้งข่าวสารส่งตรงถึงนักศึกษามากขึ้น เช่น การแจ้งข่าวหยุดเรียน ข่าวประกาศเกี่ยวกับสถานการณ์ Covid-19 เพื่อให้นักศึกษาสามารถเข้ามาติดตามข่าวและเฝ้าระวังได้ด้วยตนเอง อย่างทันท่วงที

เร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเพิ่ม 2 ฟังก์ชันเพื่อเสริมการใช้งานในวิถี New Normal ฟังก์ชั่นแรกคือ การทำระบบสแกนเพื่อเช็กอินตามสถานที่ต่างๆ โดยข้อมูลการเช็กอินที่มหาวิทยาลัยเก็บไว้จะถูกนำมาใช้ในกรณีที่พบผู้ป่วยติดเชื้อ เพื่อแจ้งเตือนให้นักศึกษาที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ เข้ารับการตรวจรักษาอย่างทันท่วงที และฟังก์ชั่นที่สอง คือ การใช้ระบบ Class Schedule เป็นช่องทางให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาสามารถสื่อสารกับนักศึกษาได้โดยตรง เช่น การแจ้งข่าวการสอบ การเปลี่ยนแปลงห้องเรียน หรือการแจ้งห้องเรียนออนไลน์ โดยข้อมูลจะถูกส่งไปยังนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชานั้นๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับห้องเรียนที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้นแอปพลิเคชันนี้ จึงเป็นประโยชน์สำหรับทั้งนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรด้วย

การปรับตัวของนักศึกษาและสวัสดิการการช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัย

อย่างแรกที่จะต้องปรับตัวกัน คือการปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยมีการสอนออนไลน์ใน 2 ลักษณะคือ การเรียนแบบสอนเรียลไทม์ผ่านทาง application WebEx และการบันทึกการสอนเพื่อให้นักศึกษาเข้ามาเรียนในเวลาที่ตนเองสะดวกผ่านระบบ MUx โดยในบางวิชาอาจจะผสมทั้ง 2 วิธีเข้าด้วยกัน ตามความจำเป็นของรายวิชานั้นๆ

สำหรับนักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยจะส่งคู่มือการเรียนออนไลน์ ตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าระบบ การดาวน์โหลดโปรแกรมเพื่อใช้งาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาเข้ามาใช้ระบบออนไลน์

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังสนับสนุนเรื่อง แพ็คเกจอินเตอร์เน็ตให้กับนักศึกษา โดยให้นักศึกษาทุกระดับชั้นลงทะเบียน พร้อมระบุค่ายโทรศัพท์มือถือที่นักศึกษาใช้หรือต้องการใช้ เพียงเท่านี้ทางมหาวิทยาลัยจะจัดส่งโค้ดสำหรับการใช้งานอินเตอร์เน็ตฟรีไปให้เพื่อใช้เรียนออนไลน์จนจบภาคการศึกษาที่ 1/2563

สำหรับหอพัก มีการปรับระบบการจองโดยมหาวิทยาลัยมีหอพักประมาณ 1,000 ห้อง จากเดิมสามารถรับนักศึกษาได้ประมาณ 4,000 คน โดยอยู่ห้องละ 3-4 คน แต่เนื่องจากปัจจุบันไม่สามารถให้นักศึกษาอยู่ตามจำนวนเดิมได้ตามหลักการของ Physical Distancing จึงจัดระบบการจองหอพักใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นของนักศึกษาในการเข้ามาเรียนในพื้นที่ศาลายา โดยเปิดเป็นการจองรายสัปดาห์หรือรายเดือน ซึ่งให้แต่ละคณะแจ้งจำนวนนักศึกษาที่ต้องการห้องพักและช่วงเวลาที่ต้องการใช้ห้องพัก เพื่อบริหารจัดการให้มีห้องพักเพียงพอต่อความต้องการ และสำรองห้องพักบางส่วนให้นักศึกษาปี 1 ที่มีภูมิลำเนาอยู่ไกล และมีปัญหาไม่สามารถเรียนออนไลน์ที่บ้านได้ เช่น ปัญหาระบบอินเทอร์เน็ต เป็นต้น โดยเพิ่มมาตรการการตรวจคัดกรองคนที่เข้าพื้นทีหอพัก และเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดห้องน้ำและพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ

การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยหลังสถานการณ์ COVID-19

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร.ท. ทพ.ชัชชัย คุณาวิศรุต มองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่มหาวิทยาลัยได้ปรับตัวนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการเรียนการสอน เนื่องจากได้พยายามผลักดันหลักสูตรออนไลน์มาก่อนหน้านี้แล้ว หากสถานการณ์ Covid-19 ดีขึ้น ก็ยังมองว่าการเรียนออนไลน์มีความจำเป็น แต่จะต้องมีการดึงจุดเด่นทั้งการเรียนแบบเก่าและใหม่มาผสมผสานกัน คือ จะไม่ทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่งไป

ข้อดีของการเรียนออนไลน์คือ ไม่ต้องเดินทาง เรียนที่ไหนก็ได้ ส่วนการเรียนในมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษามีปฏิสัมพันธ์ ได้เรียนรู้ผ่านการเรียนปฏิบัติ ดังนั้นจะนำเอาจุดเด่นของทั้ง 2 มารวมกันเพื่อพัฒนา การศึกษารูปแบบใหม่ของมหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวประชาสัมพันธ์ - Columnist ข่าวประชาสัมพันธ์ภายในเว็บไซต์ Dek-D.com

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น