หมอฟันออกโรงเตือน ฟันน้ำนมผุ ไม่ใช่เรื่องเล็ก กระทบลูกทั้งวันนี้และวันข้างหน้า

หมอฟันออกโรงเตือน ฟันน้ำนมผุ ไม่ใช่เรื่องเล็ก กระทบลูกทั้งวันนี้และวันข้างหน้า
 

 
           “เสียเงินเสียทองเท่าไหร่ไม่ว่า ขอให้หลานหายปวดฟันก็พอแล้ว เห็นเค้าร้องไห้เราก็ทรมานไปด้วย ต่อไปนี้จะแปรงฟันให้เค้าแน่นอน”
 
           นี่คือคำพูดของคุณย่าท่านหนึ่งที่เป็นทุกข์ใจแทบขาด เมื่อตอนพาน้องจิ๊บ (ชื่อสมมุติ) หลานรักที่หน้าบวมเป่งจนตาปิดมาหาหมอฟัน 
 

 
เมื่อหมอลงมือตรวจจึงพบว่า ฟันน้ำนมของน้องจิ๊บผุทุกซี่ 
 
  
 
           ใครจะคิดว่าฟันน้ำนมผุจะทำให้หน้าบวมจนตาปิดได้ขนาดนี้ เพราะหากฟันผุจนเป็นหนอง จะมีโอกาสที่เชื้อโรคจะลุกลามผ่านไปตามตามเนื้อเยื่อ เลือด ไปสู่จุดอื่นๆของร่างกายได้ เช่น ไปที่รอบตา การผุบางตำแหน่งอาจลามไปถึงบริเวณหัวใจได้ด้วย
 
           ทพญ.รัศมิ์ศิวรรณ์ นวนศรี หรือหมอแอล ทันตแพทย์ชำนาญการ รพ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ได้อธิบายเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า
 
           “เด็กที่ฟันผุมากๆบริเวณที่เห็นได้ชัดและมักจะผุก่อนตำแหน่งอื่นๆ ได้แก่ บริเวณฟันหน้า มักเกิดจากการหลับคาขวดนม แล้วคราบนมจะสะสมอยู่บริเวณฟันหน้าซึ่งเป็นชุดที่งอกมาในช่องปากก่อนชื่อื่นๆ ยิ่งไม่ได้รับการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ตั้งแต่ฟันแรกขึ้น ก็ยิ่งจะพบปัญหาฟันผุได้รวดเร็วมาก”
 
           “ยังดีที่กรณีน้องจิ๊บคุณย่าพามาพบหมอได้ทันท่วงที เพราะหากปล่อยไว้นานกว่านี้ ฟันชื่นี้ก็อาจจะผุมากจนต้องถอนออก โดยในซี่นี้ใช้การรักษาคลองรากฟันน้ำนม ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลารักษา 1-2 ครั้งต่อซี่ และยังมีอีกหลายซี่ของน้องจิ้บ ที่ต้องรักษาคลองรากฟันด้วย ทำให้ต้องใช้เวลารักษาหลายครั้งกว่าจะมีสภาพช่องปากที่ดีขึ้น”
 
           หลายคนอาจคิดว่า ถ้าต้องรักษาคลองรากฟัน เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลาขนาดนี้ สู้ถอนฟันไปเลยไม่ดีกว่าหรือ เพราะเดี๋ยวก็มีฟันแท้ขึ้นมาแทนอยู่ดี บอกเลยว่า เป็นความเข้าใจผิด เพราะฟันน้ำนมเป็นอวัยวะสำคัญที่ส่งผลต่ออนาคตของลูกได้อย่างมาก
 
           หน้าที่สำคัญอีกอย่างของฟันน้ำนม คือ การจองพื้นที่ให้ฟันแท้ที่จะขึ้นตามมา  หลังจากฟันน้ำนมที่หลุดเองตามธรรมชาติ แต่ถ้าฟันน้ำนมผุหลุด หรือถูกถอนก่อนเวลา ฟันที่อยู่ข้างๆ ฟันที่ถูกถอนจะล้มเข้ามา เบียดหรือปิดช่องว่าง จนทำให้ไม่มีพื้นเพียงพอสำหรับฟันแท้ที่จะขึ้น ก่อให้เกิดฟันซ้อนเกที่จะกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหายุ่งยากของพ่อแม่ในภายหลัง
 
           คุณพ่อคุณแม่จึงควรใส่ใจดูแลฟันของลูกตั้งแต่ยังเป็นฟันน้ำนม ยิ่งจากผลการสำรวจพบว่า เด็กไทยเริ่มมีฟันผุตั้งแต่อายุเพียง 9 เดือน ซึ่งนับว่าเร็วมาก และคุณหมอแอลได้ยืนยันถึงปัญหานี้ด้วยอีกหนึ่งกรณีของผู้ป่วยเด็กเล็ก
 
           น้องโต้ง (ชื่อสมมุติ) อายุ 3 ขวบ มีน้ำหนักเกินกว่าปกติ เพราะชอบกินขนมมาก และยังติดนิสัยดูดขวดนมนอน แต่ปัญหาร้ายแรงเฉพาะหน้าตอนนี้อยู่ในช่องปากของน้อง
 

 
           “ตอนตรวจหมอตกใจเลย เพราะฟันทุกซี่ของน้องผุขนิดที่เรียกได้ว่าเหลือแต่ชากจนไม่สามารถบูรณะได้ซ้ำยังมีตุ่มหนองปูดหลายตำแหน่ง ขี้ฟันเขรอะกรัง เพราะยิ่งฟันผุปวดฟันเด็กยิ่งไม่ยอมให้ผู้ปกครองแปรง เหงือกยิ่งอักเสบ ทำให้มีกลิ่นปากผสมกลิ่นหนองรุนแรง
 
           เนื่องจากนิสัยการรับประทานที่ผิดปกติ โดยน้องจะรับประทานแต่อาหารจำพวกแป้งเท่านั้น และยังติดนิสัยดูดขวดนมนอน
 

 
           สาเหตุที่สำคัญไม่ต่างกับกรณีน้องจิ๊บ นั่นคือ ผู้ปกครองไม่ได้แปรงฟันให้ โดยเฉพาะตอนก่อนนอน แต่ปัญหาที่ตามมานั้นรุนแรงกว่ามาก เพราะฟันน้ำนมของน้องโต้งผุจนยากต่อการรักษา ซึ่งคุณหมอเล่าวิธีรักษาที่ฟังแล้วสะเทือนใจไม่น้อย
 
           “ต้องถอนทิ้งแทบทั้งปาก เพราะเนื้อฟันเหลือแค่เหมือนเปลือกหอยบาง ๆ แถมมีหนองอักเสบ ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ ” 
 
           ลองคิดดูว่าฟันแท้ที่จะขึ้นแทนฟันกรามน้ำนมที่ถอนไปจะขึ้นตอนอายุประมาณ 11-12 ขวบ อีก 8-9 ปี หลังจากนี้เด็กจะเอาอะไรเคี้ยวอาหาร ในเมื่อฟันน้ำนมถูกถอนไปเสียตั้งแต่ตอน 3 ขวบ โอกาสจะได้ทานอาหารที่นอกเหนือจากแป้ง เช่น โปรตีน สารอาหารต่างๆในการเติบโตให้เหมาะสม ก็น้อยลงไปมาก
 
           ถึงแม้วันนี้น้องโต้งจะได้รับการรักษาจากคุณหมอแล้ว แต่ในอนาคตน้องโต้งอาจเสี่ยงมีฟันซ้อนเกตามที่อธิบายไปข้างต้น และไม่เพียงแค่นั้น ฟันน้ำนมผุยังอาจทำให้ฟันแท้ผุง่ายอีกด้วย เพราะฟันน้ำนมที่ผุรุนแรงทำให้ฟันแท้ที่ขึ้นมาภายหลัง ไม่แข็งแรงเนื้อฟันสร้างไม่สมบูรณ์ ผุง่าย เพราะสารพิษจากฟันน้ำนมที่ผุถูกส่งไปที่หน่อฟันแท้
 
           ถึงแม้เรื่องของน้องจิ๊บและน้องโต้งฟังดูน่ากลัว แต่คุณพ่อคุณแม่ก็มีวิธีป้องกันลูกจากปัญหาฟันผุได้ไม่ยาก ซึ่งคุณหมอแอลได้แนะนำวิธีไว้ว่า
 
           “แปรงฟันให้ลูกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้แปรงที่เหมาะสมกับอายุ และใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ 1,000 ppm โดยปริมาณยาสีฟันจะแบ่งตามช่วงอายุคือ ฟันซี่แรก – 3 ขวบ แตะขนแปรงพอเปียก  อายุ 3-6 ขวบ ตามความกว้างของแปรง และ 6 ขวบขึ้นไป ตามความยาวของแปรง
 

 
           ส่วนแปรงควรเปลี่ยนทุก 3 เดือน หรือเมื่อขนแปรงเริ่มบาน ซึ่งในเด็กอาจต้องเปลี่ยนเร็วกว่านั้น เพราะเด็กชอบกัดแปรง”
 
           ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้วันข้างหน้าลูกต้องเจอปัญหาสารพัด สามารถเริ่มป้องกันได้ตั้งแต่วันนี้ ด้วยการแปรงฟันอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธีตั้งแต่ลูกมีฟันน้ำนม เพราะแปรงฟันช่วยป้องกันอนาคตลูกผุได้อย่างแน่นอน 
 
           สนใจฟังคำแนะนำดี ๆ จากคุณหมอฟันท่านอื่นพร้อมคำแนะนำการดูแลฟันลูก เรามีคลิปแนะนำ ดูได้ที่นี่เลย 
 

Clip

ฟันน้ำนมผุ อันตรายที่พ่อแม่มักมองข้าม


 
           และขอทิ้งท้ายกับวิธีแปรงฟันให้ลูกด้วย 8 ขั้นตอน  
 
ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวประชาสัมพันธ์ - Columnist ข่าวประชาสัมพันธ์ภายในเว็บไซต์ Dek-D.com

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น