สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนครับ หากพูดถึงคณะอักษรฯ จุฬา ภาพในความคิดของหลายๆ คนก็คือต้องเป็นเด็กเนิร์ดๆ เรียนหนัก เป็นศูนย์รวมเด็กเทพสายภาษาและวรรณดคี แต่ว่าในมุมเล็กๆ ของคณะแห่งนี้ก็มีชมรมหนึ่งที่เป็นเหมือนคอมมูนิตี้สำหรับเด็กที่ชื่นชอบดนตรีมารวมตัวกัน และเรียกตัวเองว่า Artsband อย่างไรก็ตาม ชมรมนี้มีอะไรที่มากกว่าแค่ชมรมธรรมดา และในวันนี้พี่วิน(ในฐานะสมาชิกชมรม) ก็ขออาสาพาเพื่อนๆ ตัวแทนสมาชิกและศิษย์เก่าของชมรมมาแชร์เรื่องราวและประสบการณ์ดีๆ ให้น้องๆ ทุกคนได้อ่านกัน ว่าแล้วก็ขอแนะนำพวกเขาเลยแล้วกันครับ
ไกด์ - อธิษฐ์ อู๋ (ประธานชมรมดนตรีสากล)
กุ๊ก - วิชยุตม์ จันทร์แทน (สมาชิกชมรม / หัวหน้าฝ่าย PR)
ก้อง - อนวัต อรรถจินดา (ศิษย์เก่า Arts 85)
กิ๊ฟ - กุลวัตร อินทวัฒน์ (ศิษย์เก่า Arts 84)
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปเจาะลึกกันว่า Artsband เป็นชมรมแบบไหน มีอะไรเจ๋งๆ ให้เรารู้สึกประทับใจ และถ้าอยากเป็นสมาชิกชมรมนี้ จะต้องทำอย่างไรบ้าง
รู้จัก Artsband ได้อย่างไร ทำไมถึงตัดสินใจเข้าชมรมนี้
หลายๆ คนรู้จักจากกิจกรรมวันแรกพบอักษร หรือ Arts First Meet ซึ่งเป็นวันที่เฟรชชี่คณะอักษรฯ จะได้เจอเพื่อนๆ และรุ่นพี่เป็นครั้งแรก (ถ้าไม่นับ CU First Date ซึ่งเป็นงานของมหาวิทยาลัย) จุดประสงค์ของงานคือการสานสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง แนะนำสิ่งต่างๆ ในคณะ รวมไปถึงชมรมด้วย และในวันนั้นเอง Artsband จะมาบรรเลงดนตรีให้ฟัง สร้างความประทับใจให้เหล่าเฟรชชี่จนบางคนตัดสินใจจะสมัครเข้าชมรมตั้งแต่แรกพบเลยครับ!
‘ไกด์’ ประธานชมรมเริ่มเล่าให้ฟังว่า “ผมเริ่มรู้จักและประทับใจตั้งแต่ตอนไปงาน Open House (2019) ของคณะอักษรฯ แล้ว เห็นรุ่นพี่เล่นเพลง Kimi wa Melody และ หมดสิทธิ์สอบ พีคมากครับ ยิ่งพอเห็นพี่เขาเล่นเพลง Yaranaika และ Plastic Love ตอนรับน้องอีกเท่านั้นแหละ มันใช่เลย ที่นี่ belong to me มากๆ ยังไงก็ต้องเข้า Artsband ให้ได้"
Artsband ทำอะไรกันบ้าง
ปกติในชมรมจะแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน
1. งานในคณะ (มีประจำทุกปี) หลักๆ คือ งานรับน้อง คอนเสิร์ต Artsband ประจำปี งาน Byenior รวมไปถึง audition ด้วย
2. งานนอกคณะ (แล้วแต่โอกาส) อย่างที่ผ่านมาก็จะมีไปเล่นที่ห้างฯ Emquartier กับรับจ้างไปเล่นที่บริษัทรุ่นพี่ที่เคยเป็นสมาชิกแบนด์ด้วย
เรียนดีดนตรีเด่น นี่แหละอักษรฯ
“จริงๆ ทุกงานในแบนด์เป็น optional หมดเลย ไม่ได้บังคับว่าทุกคนต้องเล่นทุกงาน ดังนั้นเราอาจจะต้องประเมินตัวเองว่าเทอมนี้เรียนกี่ตัว มีกิจกรรมอื่นมั้ย สะดวกรับงานช่วงนั้นมั้ย เพราะอย่าลืมว่าแต่ละงานไม่ใช่ขึ้นไปร้องแล้วจบ แต่ต้องมีนัดซ้อมกันด้วย ถ้าคำนวณแล้วไม่ไหวก็รอเล่นงานอื่นๆ ได้ครับ”
“อีกอย่างคือทางชมรมมีนโยบายให้ความสำคัญกับการเรียนก่อนเสมอ สมมติถ้าวันนี้มีซ้อมแต่พรุ่งนี้มีสอบ เราก็อาจขอไม่เข้าซ้อมเพื่อไปเตรียมอ่านหนังสือให้เต็มที่ได้ แต่ถ้าอยากเล่นทางแบนด์ก็ไม่ได้ห้าม เราแค่ต้องรับผิดชอบสิ่งที่เราตัดสินใจเองครับ”
ตอนนี้เป็นช่วงโควิด ชมรมปรับตัวกันยังไงบ้าง
ไกด์อธิบายว่า “เมื่อปีที่แล้วทางชมรมเคยทำเพลงแชร์บนช่องทางออนไลน์ออกมาแล้ว แต่เนื่องจากสมาชิกหลายคนไม่มีอุปกรณ์สำหรับอัดเพลงหรือการถ่ายวิดีโอ การทำงานเลยค่อนข้างลำบากครับ ปีนี้ก็เลยไม่ได้ทำ พวกเราหันมาใช้วิธีจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์คนในชมรมแทน อย่างเช่นทุกครั้งที่มีประชุมก็จะมีกิจกรรมหรือเกมให้ทุกคนได้เล่น และมีรางวัลให้สำหรับผู้ชนะครับ”
ได้ข่าวว่าช่วงนี้เป็นช่วงเกิดรับสมัครออดิชันนักร้องและนักดนตรีด้วย?
“ใช่ครับ แต่ในชมรมได้ประชุมและตัดสินใจว่าจะรอให้สามารถ on-site ได้ก่อนแล้วถึงจะเปิดออดิชั่น เพราะปกติคนสมัครจะต้องเล่นพร้อมกับวงดนตรีของแบนด์เพื่อดูความเข้ากัน ซึ่งถ้าเป็นออนไลน์อาจจะ lag จังหวะหน่วงๆ หรือถ้าสมมติให้คนส่งคลิปมาทาง VDO ก็มีโอกาสที่ผู้สมัครบางคนจะ autotone หรือปรับแต่งคุณภาพวิดีโอมาส่ง พูดง่ายๆ คือใช้วิธีการที่ไม่โปร่งใสนั่นแหละครับ”
Artsband: วงดนตรีที่ไม่เหมือนใคร
“เราคิดว่าเสน่ห์อย่างนึงของ Artsband คือ เรามักเปลี่ยนคนร้องหรือเล่นแทบทุกครั้งเมื่อขึ้นเพลงใหม่ จริงอยู่ว่าตอนซ้อม transition นั้นยากลำบากเลยทีเดียวครับ แต่ผลที่ออกมาคือคนดูตื่นตาตื่นใจ ทั้งลุ้นว่าต่อไปจะเป็นเพลงอะไร แล้วยังลุ้นอีกว่าใครจะเป็นคนขึ้นมาเล่น แล้วจะมี costume แบบไหนที่ทำให้เราว้าวไปกับมันในแต่ละเพลง สรุปคือเราเหมือนได้สร้างเซอร์ไพรซ์ตลอด มีหลายอย่างที่ผู้ชมจะรู้ต่อเมื่อถึงเวลาเท่านั้น”
“นอกจากนี้คือคณะอักษรฯ เรียนภาษาและวัฒนธรรม ทำให้เรากล้าร้องเพลงภาษาต่างประเทศและทำได้ถูกต้องด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เราไม่เคยมองข้ามการออกเสียงและความหมายของเพลงนั้นๆ ซึ่งช่วยให้เราสามารถ perform ออกมาได้ดีขึ้น และนอกเหนือจากภาษาที่หลากหลาย เรายังเล่นเพลงได้ทุกแนวตามโอกาสด้วย คิดว่า Artsband น่าจะเป็นวงที่เห็นความหลากหลายได้ชัดเจนวงนึงเลย”
“เวลาทำคอนเสิร์ต เราพยายามคำนึงถึงคนทุกกลุ่ม เช่นเราหยิบเพลง I Will Survive มาเล่นเพื่อเอาใจคนดูกลุ่ม LGBTQ+ หรืออย่างเพลง Young Dumb เวอร์ชันรถแห่ เราก็เล่นเพื่อคนที่ชอบฟังเพลงสากลและลูกทุ่งแดนซ์แล้วเรายังจัดให้สำหรับกลุ่มสาวกเพลงเกาหลีและญี่ปุ่นโดยเฉพาะ (จัดให้บ่อยด้วยครับ) อย่างเช่นเพลง Plastic Love, Heavy Rotation, เมดเล่ย์เพลงอนิเมะ หรือเมดเล่ย์เพลงวง BTS”
“พวกเราพร้อมที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เมื่อก่อนชมรมเราเวลาเล่นเพลงๆ นึงก็จะมีแค่เครื่องดนตรีทั่วๆ ไปอย่าง กีตาร์ กลอง เบส คีย์บอร์ด แต่เดี๋ยวนี้เรามีเครื่องสาย (Strings) และเครื่องทองเหลือง (Brass) หรือนักร้องก็มีไลน์ประสานด้วย บางครั้งเรายังไปทำเพลงร่วมกับดนตรีไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพลงดนตรีไทยอย่าง กินรีร่อน ลาวเจริญศรี และเพลงสากลอย่าง Medley La La Land”
จากที่ได้ฟังแล้ว พี่วินคิดว่า 3 สิ่งที่ถือเป็นจุดแข็งของ Artsband ก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง ภาษา ความหลากหลาย และการพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้งของสมาชิกชมรมนั่นเองครับ!
สังเกตว่าแต่ละเพลงที่เลือกมาเล่นค่อนข้าง niche เลยทีเดียว
"เราคำนึงเสมอว่าจะ represent แบนด์และ entertain คนดูออกมาในรูปแบบไหน หรือบางครั้งถ้าเป็นงานนอกคณะ เราจะไปเช็ก request ของผู้ชม อย่างเช่นมีครั้งนึงที่ไปเล่นในงานเลี้ยงบริษัทแล้วขอเพลง ‘รักติดไซเรน’ มา เราก็จัดให้ครับ (เอาจริงๆ เป็นเพลงที่ท้าทายเหมือนกันนะ 55555) แต่ถ้าเป็นงานในคณะ จะให้สมาชิกโหวตกันว่าใครอยากเล่นเพลงอะไรในตอนนั้น"
และถ้าถามว่า Artsband เล่นเพลงอะไรบ้าง ก็ขอเอาคลิปนี้ให้ดูกันเลยจ้า
Artsband ให้อะไรมากกว่าที่คิด
“สิ่งที่มีค่ามากคือมิตรภาพและการเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันในสังคม เวลามีปัญหาเล็กหรือใหญ่เราจะรู้ว่าสามารถพึ่งพากันในแบนด์ได้ครับ นอกจากนี้เรายังได้พัฒนาตัวเองทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและสมาชิกชมรม เรียนรู้กระบวนการทำงานเฉพาะหน้า ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ปรับใช้ได้จริงในชีวิตการทำงาน ทำให้เราเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้”
พี่กิ๊ฟยังเสริมอีกว่า “เราได้รับพลังบวกจากน้องๆ ในแบนด์จนเหมือนเป็นเซฟโซนเลยค่ะ บางคนดูไม่น่าจะเข้ากันได้ก็กลายเป็นสนิทกันเฉยเลย แล้วยังได้เจอคนที่มีจุดร่วมเหมือนกับเรา เช่น ชอบอะไรคล้ายกัน ลงเรียนวิชาเลือกเหมือนกับเรา กลับบ้านทางเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นโมเมนต์ที่ดีในชีวิตมหาวิทยาลัยเลยค่ะ”
เรื่องที่ไม่คิดว่าจะได้เจอใน Artsband
“ทุกคนในชมรมมีความเป็นตัวเองสูงมากๆ แต่ทุกคนยอมรับและพร้อมที่จะ embrace (โอบรับ) ความแตกต่างนี้ มันเลยทำให้เราสนิทกันง่ายขึ้น”
“Artsband เป็นที่ที่บางคนรู้สึกเป็น safe zone ของตัวเอง ทำให้เราได้เห็น personality ของแต่ละคนจริงๆ"
“เราได้พัฒนาตัวเองตลอดเวลา ช่วงปีแรกๆ ไม่คิดเลยว่าจะได้มีโอกาสได้เรียนรู้จากมืออาชีพหลายคนแบบนี้”
“ผมชอบการที่ทุกคนในแบนด์ใช้คำว่า ‘ตา’ แทนคำว่า 'พี่' หรือ 'น้อง' มากๆ (อย่างเช่นเรียกว่า 'ตาวิน' แทน 'พี่วิน') คือบางคนอาจจะเป็นรุ่นน้องเรา แต่เอาจริงๆ แล้วอายุเยอะกว่าเราก็มี คำว่า ‘ตา’ เหมือนเป็นการทำลายระบบ seniority ที่เป็นปัญหาของสังคมไทยด้วย ทุกคนเท่ากันหมดครับ ผมเชื่ออย่างนั้น”
What is Artsband after all?
“ผมรู้สึกว่าทุกวันที่เดินเข้าไปในแบนด์มันเหมือนไปอยู่ใน sit-com ซักเรื่อง มีจุดเริ่มต้น มีเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง แต่ sit-com ก็ไม่ได้มีแค่ฉากฮาเท่านั้น มันก็ดราม่าที่ทำให้ต้องเสียน้ำตาเหมือนกัน ระหว่างทางเราต้องเจอปัญหาอยู่ตลอดเวลา แต่ท้ายที่สุดพวกเราก็สามารถฝ่าฟันมันไปได้ กอดคอกันเฮ และเติบโตไปพร้อมๆ กัน”
“สำหรับพี่แล้วที่นี่เหมือนห้องนั่งเล่นของคณะอักษรฯ เวลาเข้าไปแล้วเห็นคนในชมรมนั่งเล่นเกมส์ ซ้อมดนตรี นอน อ่านหนังสือ ฯลฯ เหมือนที่เราทำในห้องนั่งเล่นจริงๆ รู้สึกมีความสุขที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในห้องนั้น"
"อาจจะฟังดู cringe หน่อย แต่ผมคิดว่า Artsband ไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นผู้คน ที่เข้ามาในชีวิตเข้ามาเต็มเติมซึ่งกันและกัน เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ช่วยเติมเต็มชีวิตทุกคนตลอด 4 ปีในมหาวิทยาลัยและตลอดไปเลยครับ"
ทิ้งท้ายสักนิดถึงน้องๆ เกี่ยวกับคณะอักษร จุฬาฯ
พี่กิ๊ฟในฐานะที่เรียนจบและมีประสบการณ์ทำงานแล้วได้มาแชร์ให้เราฟังว่า “อยากให้ลองศึกษาคณะที่เราอยากเข้าก่อนว่าเราอยากเข้าที่นี่จริงๆ หรือเปล่า อย่างคณะอักษรฯ มันไม่ได้สอนภาษาอย่างเดียว แต่ยังมีด้านประวัติศาสตร์ ปรัชญา วรรณกรรม มีบางคนที่ศึกษามาไม่ดีแล้วพอเข้ามาจริงๆ ก็เกิดคำถามว่าทำไมสิ่งที่เรียนไม่ practical เลย ถ้าพูดในแง่ของการเตรียมตัว ทุกวันนี้เราสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ถ้ารู้สึกมีความรู้ตรงไหนที่ยังไม่แม่นพอก็อุดรอยรั่วตรงนั้นซะ สุดท้ายแล้วถึงจบออกมาทำงานไม่ตรงสาย แต่หลายบริษัทก็ให้โอกาสเราในการทำงาน แต่ก็ต้องใฝ่รู้ใฝ่เรียนด้วย อย่าปิดกั้นตัวเอง”
“สำหรับ คณะอักษรศาสตร์อินเตอร์ หรือ BALAC แล้ว เราต้องไม่กลัวที่จะเขียน essay เพราะเขียนทีงานนึงเป็นหมื่นๆ คำ ถ้าใครมีเป้าหมายว่าอยากเข้ามาปูพื้นฐานภาษาอังกฤษ อาจต้องเจอความท้าทายหน่อย เพราะเข้ามาปีแรกก็เจอเนื้อหาจุกๆ แล้ว เช่น ปรัชญา โลกาภิวัฒน์ สตรีนิยม ฯลฯ สรุปแล้วคืออยากให้เช็กหลักสูตรดีๆ ว่าจะได้เรียนอะไรบ้าง” กุ๊กช่วยอธิบายในส่วนของการเรียน BALAC ให้ฟัง
......
ต้องบอกเลยนะครับว่า Artsband เป็นวงดนตรีที่ไม่ธรรมดาและไม่เหมือนใครจริงๆ แถมยังให้ข้อคิดอะไรมากมายกันเราอีกด้วย สุดท้ายนี้ถ้าใครรู้สึกสนใจชมรมดนตรีสากลแห่งคณะอักษรฯ จุฬาแล้ว สามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก Artsband และไอจี @artsbandofficial ครับ
ขอขอบคุณภาพจาก Dpi Arts และวิดีโอจาก Artsband ครับ
4 ความคิดเห็น