ตามรอยฝุ่น PM2.5 เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทำร้ายอะไรเราบ้าง และป้องกันได้อย่างไร

ตามรอยฝุ่น PM2.5 เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทำร้ายอะไรเราบ้าง 
และป้องกันได้อย่างไร

ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่สร้างความเสียหายทางสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล คือฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผม และถ้าฝุ่นนี้มีปริมาณสูงมากในอากาศร่วมกับความชื้นในอากาศ จะทำให้มองดูคล้ายกับมีม่านหมอกควันปกคลุมไปทั่ว 

ขนาดที่เล็กมากทำให้สามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูกเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนบน ลงไปยังหลอดลม ถุงลมปอด และซึมผ่านผนังเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสเลือดแพร่กระจายไปทั่วร่างกายก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมายหลายระบบอวัยวะ ซึ่งทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ พันธุกรรม อายุ ความแข็งแรง การมีโรคเรื้อรังร่วมด้วย สภาพแวดล้อม และระดับความเข้มข้นของ PM2.5 กับระยะเวลาที่สูดเข้าไปในร่างกาย โดยผลกระทบต่อสุขภาพสามารถแบ่งเป็นระยะดังต่อไปนี้

  1. ระยะเฉียบพลัน (ไม่กี่ชั่วโมงถึงสัปดาห์)
  2. ระยะกึ่งเฉียบพลัน (เป็นเดือนถึงหลายเดือน)
  3. ระยะเรื้อรัง (เป็นปีถึงหลายปีหรือชั่วอายุขัย)

ในระยะเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลันระบบที่มีผลกระทบได้เร็วและบ่อยสุด คือระบบทางเดินหายใจ เมื่อหายใจเอาฝุ่น PM2.5 เข้าไป จะรู้สึกแสบจมูก ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ ทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่างอักเสบ เช่น โพรงจมูก โพรงไซนัส คอ กล่องเสียง หลอดลม และปอดมีการอักเสบ อาจมีการติดเชื้อซ้ำเติมจากเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย เพราะฝุ่น PM2.5 ทำให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอลง ทั้งภูมิต้านทานด่านหน้า (ภูมิต้านทานของเยื่อบุระบบการหายใจ) และภูมิต้านทานด่านหลัง(ภูมิต้านทานผ่านระบบภูมิคุ้มกันในน้ำเหลืองและภูมิต้านทานระบบเซลล์)

สำหรับผลระยะยาว มลพิษฝุ่น PM2.5 ทำให้อัตราการป่วยและความรุนแรงของโรคเรื้อรังต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน (stroke) โรคมะเร็งปอด โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบแคบ  โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ของระบบการหายใจ เช่น ภูมิแพ้โพรงจมูก หอบหืด ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้อายุขัยของประชากรสั้นลงอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยในหลายประเทศค้นพบความเชื่อมโยงระหว่าง ฝุ่น PM 2.5 กับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พบว่า แม้คนสุขภาพดี เมื่อหายใจสูด PM 2.5 ระดับเข้มข้นเข้าไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ภูมิต้านทานด่านหน้าคือทางเดินหายใจและถุงลมในปอดอ่อนแอลง และภูมิต้านทานด่านหลังคือระบบน้ำเหลืองและระบบเซลล์อ่อนแอลง ทำให้สามารถติดเชื้อไวรัสง่ายขึ้น

  การป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 สามารถทำได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นติดตามค่าดัชนีคุณภาพอากาศในบริเวณที่ตัวเองอยู่อาศัย หากพบว่าวันใดค่า PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน ควรเลี่ยงหรือลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องอยู่นอกอาคาร ควรสวมหน้ากาก N95 ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 และฝุ่นจิ๋ว PM 2.5

สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง หรือโรคระบบหายใจเรื้อรัง เช่น หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ควรหมั่นสังเกตอาการของตนเอง และกินยาหรือสูดยาตามแพทย์แนะนำและสอบถามแพทย์ถึงแผนการดูแลตนเองเบื้องต้นหากมีอาการทรุดลง  หากพบว่าตนเองและผู้ใกล้ชิด มีปัญหาด้านสุขภาพในช่วงที่มีฝุ่นพิษสูง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและวางแผนทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

(ข้อมูลโดย ศ.นพ. ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
 

กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดีๆ จาก สสส  เพิ่มเติมได้ที่ :

Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.

Line : @thaihealththailand

Tiktok: @thaihealth

Youtube: SocialMarketingTH

Website : Social Marketing การตลาดเพื่อสังคม

ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวประชาสัมพันธ์ - Columnist ข่าวประชาสัมพันธ์ภายในเว็บไซต์ Dek-D.com

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น