ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องโภชนาการ เรียนรู้ที่จะป้องกันก่อนเจ็บป่วย โดยเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งอาหารที่นำมาแนะนำต่อไปนี้ เป็นสมุนไพรชั้นดีของแพทย์แผนจีน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับน้อง ๆ ที่อยากดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ

“ลูกเดือย ธัญพืชที่ควรมีติดบ้าน”

ช่วงฝนตก อากาศชื้นแบบนี้ เหมาะกับการรับประทานลูกเดือยเป็นอย่างมาก ธัญพืชเม็ดเล็ก ๆ ตัวนี้ในทางการแพทย์แผนจีนมีสรรพคุณและประโยชน์มากมาย 

 

• ช่วยขับความชื้นและปัสสาวะตกค้างออกจากร่างกาย

• เสริมสร้างการทำงานของม้ามให้แข็งแรง

• ลดอาการปวดตามข้อต่าง ๆ ของร่างกาย

• ขจัดพิษร้อน และรักษาฝีหนอง

 

อีกทั้งยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินต่าง ๆ จึงช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง และช่วยบำรุงสายตา 

 

นอกจากนี้ลูกเดือยยังมีกรดอะมิโนจำเป็นที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเมลาโทนิน ช่วยทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น

 

**ข้อควรระวังสตรีมีครรภ์ที่มีความเสี่ยงไม่ควรรับประทานปริมาณมากเกินไป

 

ข้อมูลจาก อ.พจ.ธนภัทร สิทธิอัฐกร อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

“มิ้นท์ป่า สมุนไพรใบจิ๋วแต่แจ๋ว”

ใบมิ้นท์ป่า ฤทธิ์เย็น รสชาติเผ็ด สามารถนำมาดื่มเป็นชาสมุนไพร ช่วยขับระบายลมร้อน บรรเทาอาการหวัดที่เกิดจากลมร้อน ที่มีอาการมีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูกเหลืองข้น ตาแดง เป็นต้น

 

• บรรเทาอาการไอ เจ็บคอ

• ช่วยขับเหงื่อ กระทุ้งผื่น ในผู้ป่วยที่เป็นไข้ออกผื่น

• ปรับการไหลเวียน ระบายชี่ของตับ ช่วยผ่อนคลายความเครียด

 

โดยปริมาณที่แนะนำสำหรับการบริโภคคือ 3-6 กรัม/วัน และไม่ควรแช่น้ำร้อนหรือต้มนานเกินไป เพราะจะทำให้น้ำมันหอมระเหยถูกทำลาย

 

นอกจากนี้ยังสามารถนำใบมิ้นท์มาสกัดน้ำมันหอมระเหย ที่เรียกว่า เมนทอล (Menthol) นำมาทาบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อบรรเทาอาการปวดได้อีกด้วย

 

ข้อมูลจาก อ.พจ.ณัฐณิชา บริสุทธิ์ อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

“เก๊กฮวย ดอกไม้แสนสวย สมุนไพรคลายร้อน”

ดอกเก๊กฮวย เป็นหนึ่งในยาจีนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นยามีฤทธิ์ดี นอกจากนำดอกเก๊กฮวยมาชงเป็นชาดื่มแล้ว ในทางการแพทย์แผนจีนยังนำมาเข้าตำรับยาจีนอีกด้วย ดอกเก๊กฮวยเป็นยาที่มีรสหวานขม มีฤทธิ์เย็นเล็กน้อย มีสรรพคุณได้แก่ ลดร้อนขับพิษ ปรับสมดุลตับ ช่วยบำรุงปกป้องตับ บำรุงสายตา

 

วิธีการทำชาเก๊กฮวย นำดอกเก๊กฮวย 5-10 ดอก ล้างให้สะอาด ชงน้ำร้อน 500 มิลลิลิตร ปิดฝาทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วตักดอกเก๊กฮวยออก จะช่วยให้ชาไม่ขม สามารถเติมสมุนไพรอื่นได้ เช่น เก๋ากี้ประมาณ 10-20 เม็ด ลงในชาเพื่อเพิ่มสรรพคุณด้านการบำรุงสายตา ลดอาการเหนื่อยล้า เป็นต้น

 

**ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้ในผู้ที่แพ้หรือผู้ที่มีร่างกายขี้หนาว เนื่องจากเก๊กฮวยมีฤทธิ์เย็น หากใช้ควรใช้ควบคู่กับสมุนไพรที่มีฤทธิ์อุ่น

 

ข้อมูลจาก อ.ดร.พจ.จารุพรรณ โพธิ์สัตย์ อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

“ห่วยซัว อาหารบำรุงร่างกายชั้นยอด”

ห่วยซัว มีรสหวาน ฤทธิ์ปานกลาง (ไม่ร้อน ไม่เย็น)

 

สรรพคุณสมุนไพรจีน

• บำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร ช่วยการดูดซึมสารอาหาร เหมาะสำหรับผู้ที่ร่างกายอ่อนเพลียพักผ่อนน้อย หรือผู้ที่ทำงานหนัก เหนื่อยง่าย ง่วงนอนบ่อย ระบบย่อยอาหารไม่ดี เบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องเสียถ่ายเหลวเป็นประจำ หรือบุคคลทั่วไปที่อยากบำรุงร่างกาย

• บำรุงพลัง(ชี่)และหยินของปอด เหมาะสำหรับคนที่ปอดอ่อนแอ ไอแห้ง ไอเรื้อรัง หอบเหนื่อยง่าย ปากแห้งคอแห้ง ร้อนใน หอบหืดหรือภูมิแพ้

• บำรุงไต บำรุงอินและสารจำเป็น(จิง)ของไต เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดเอว ปวดเข่าเรื้อรัง หูอื้อ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเยอะ ปัสสาวะสีจาง ๆ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หลั่งเร็ว ตกขาวเป็นสีขาวเยอะ ๆ

• บำรุงสายตา

 

*ดูสูตรอาหารเพิ่มเติม https://www.facebook.com/photo/?fbid=865592462280538&set=a.851934183646366

 

ข้อมูลโดย อ.พจ.สุวิมล ผลชารี อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

“เก๋ากี้ เบอร์รี่สุดเก๋า”

เก๋ากี้หรือโกจิเบอร์รี่ มีรสหวาน ฤทธิ์ปานกลาง (ไม่ร้อน ไม่เย็น)

 

สรรพคุณทางการแพทย์แผนจีน : บำรุงตับ บำรุงไต และบำรุงสายตา

หากต้องการบำรุงร่างกาย เสริมภูมิคุ้มกัน ควรรับประทานเก๋ากี้สีแดง และหากต้องการบำรุงผิวพรรณ ต้านอนุมูลอิสระ ควรรับประทานเก๋ากี้สีดำ

 

การรับประทาน : เก๋ากี้สีแดงจะนำมาต้มซุปรับประทานหรือนำมาชงเป็นชาดื่มระหว่างวันก็ได้ ส่วนเก๋ากี้สีดำ ไม่ควรนำมาต้มซุป นำมาชงเป็นชาดื่มก็เพียงพอ เพราะการต้มจะทำให้สารสำคัญในเก๋ากี้สีดำสูญเสียไป

 

**ปริมาณแนะนำในการบริโภค 10-15 กรัมต่อวัน ไม่ควรกินปริมาณเยอะจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ร้อนในได้

 

ข้อมูลโดย อ.ดร.พจ.ศรันยกรณ์ แถมวัฒนะ อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

“เห็ดหูหนูดำ ยาสลายเลือดคั่งจากธรรมชาติ”

เห็ดหูหนูดำ มีฤทธิ์กลาง(ออกเย็นเล็กน้อย) เข้าสู่เส้นลมปราณกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ตับ และไต

 

สรรพคุณทางการแพทย์แผนจีน: บำรุงเลือด บำรุงชี่ สลายเลือดคั่ง และห้ามเลือด

 

ใครที่ควรรับประทานเป็นประจำ: ผู้หญิงที่ประจำเดือนมามากกว่าปกติ ผู้ที่เป็นริดสีดวง และผู้ป่วย stroke ระยะฟื้นฟู

 

การรับประทาน: นำเห็ดหูหนูสดมาประกอบอาหารรับประทาน หรือนำเห็ดหูหนูแห้งบดผงรับประทานวันละ 3 กรัมก็ได้

 

**ข้อควรระวัง: สตรีมีครรภ์ คนที่มีภาวะหยางพร่อง(ขี้หนาว มือเท้าเย็น) และผู้ที่มีภาวะท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายเหลวเป็นประจำ ไม่ควรรับประทานบ่อยและไม่ควรรับประทานปริมาณมาก ๆ

 

ข้อมูลโดย อ.ดร.พจ.เสาวลักษณ์ มีศิลป์ อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

“ขมิ้นชัน เครื่องเทศมากประโยชน์”

ขมิ้นชัน มีรสเผ็ด ขม ฤทธิ์กลางอุ่น ออกฤทธิ์เข้าสู่เส้นลมปราณม้ามและตับ

 

สรรพคุณทางการแพทย์แผนจีน: กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและชี่ (ลมปราณ) แก้ปวดบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย

 

นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่าสาร curcumin ในขมิ้นยังมีคุณประโยชน์อีกมากมาย ได้แก่ ลดไขมันในเลือด

 

ลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันหลอดเลือดหัวใจอุดตัน กระตุ้นการหลั่งน้ำดี เพิ่มความอยากอาหาร

รักษาโรคทางระบบทางเดินอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน เป็นต้น

ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง

 

หากต้องการรับประมานขมิ้นชันเป็นประจำทุกวัน ปริมาณที่เหมาะสมคือ 2 กรัมต่อวัน

 

**ข้อควรระวัง:

• ผู้มีภาวะโลหิตจาง ที่มักมีอาการเวียนศีรษะ ใบหน้าซีด ลิ้นซีด เล็บซีด ผู้หญิงก่อนมีประจำเดือนมักมีอาการปวดศีรษะ ไม่ควรรับประทาน เพราะจะทำให้มีอาการหนักขึ้นได้

• สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน เพราะขมิ้นชันสามารถกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก ทำให้แท้งบุตรได้

 

ข้อมูลโดย อ.พจ.วีรชัย สุทธิธารธวัช อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

“หม่อน สมุนไพรมากคุณค่า”

ต้นหม่อนสามารถนำมาเป็นยาได้เกือบทุกส่วน ได้แก่

 

• ลูกหม่อน สรรพคุณ บำรุงเลือด เสริมสารน้ำ แก้ท้องผูก

วิธีการใช้: รับประทานผลแห้งประมาณ 10 กรัมต่อวัน หรือรับประทานผลสดต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน

**ข้อควรระวัง: ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป เพราะลูกหม่อนมีน้ำตาลสูง อาจทำให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้

 

• ใบหม่อน สรรพคุณ ขับความร้อนออกจากร่างกาย รักษาอาการหวัดและอาการไอที่เกิดจากลมร้อน แก้เจ็บคอ นอกจากนี้ยังสามารถลดน้ำตาลและไขมันในเลือดได้อีกด้วย

วิธีการใช้: นำมาทำเป็นชา รับประทานวันละ 10 ใบ

 

• กิ่งหม่อน สรรพคุณ ต้านการอักเสบ แก้ปวดข้อ

วิธีการใช้: นำกิ่งแห้งประมาณ 15-30 กรัม หั่นเป็นท่อนแล้วต้มน้ำดื่ม

 

• รากหม่อน (ส่วนเนื้อในสีขาว)

สรรพคุณ ขับร้อน ลดบวมน้ำ ขับปัสสาวะ ลดความดัน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร

 

ข้อมูลโดย อ.พจ.ธรรมธัช เชี่ยวพรหมคุณ รองคณบดีคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

“ขิง เรื่องของขิงที่ควรรู้”

ขิง มีรสเผ็ด และฤทธิ์อุ่น สรรพคุณในทางการแพทย์แผนจีน

 

1. ขับเหงื่อ ช่วยลดไข้ บรรเทาอาการหวัด

2. ขจัดความเย็นออกจากร่างกาย เหมาะกับผู้ที่ได้รับปัจจัยก่อโรคประเภทความเย็น เช่น โดนลมเย็นหรืออยู่ในห้องแอร์เย็นๆเป็นเวลานาน ใช้ป้องกันและบรรเทาอาการหวัด

3. อบอุ่นทางเดินอาหาร ช่วยแก้อาการขี้หนาว ลดอาการท้องอืด ถ่ายเหลว

4. อบอุ่นปอด ช่วยบรรเทาอาการไอเรื้อรัง

 

**ข้อควรระวัง: ผู้ที่ร่างกายมีความร้อนสูง ซึ่งมีอาการดังนี้ ขี้ร้อน ท้องผูก นอนไม่หลับ ไม่ควรรับประทานขิงบ่อยๆ เพราะจะทำให้ร้อนในได้

 

ข้อมูลโดย อ.พจ.อรภา ศิลมัฐ คณบดีคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

สำหรับใครที่สนใจเกี่ยวกับศาสตร์การแพทย์แผนจีน สามารถเข้ามารับคำปรึกษาเรื่องสุขภาพได้ที่คลินิกแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ สามารถโทรนัดหมายเพื่อใช้บริการได้ที่ 02-713-8100 ต่อ 1633, 1490 ,1491

ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวประชาสัมพันธ์ - Columnist ข่าวประชาสัมพันธ์ภายในเว็บไซต์ Dek-D.com

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น