เรียน Food Science ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด! Nestlé ปลุกกระแสวิทยาศาสตร์อาหาร ผ่านการแข่งขัน FoSTAT-Nestlé Quiz Bowl

เรียน Food Science ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด! Nestlé ปลุกกระแสวิทยาศาสตร์อาหาร ผ่านการแข่งขัน FoSTAT-Nestlé Quiz Bowl

“เรียนจบสาขานี้ไปทำอาชีพอะไรได้บ้าง”  

“เรียนจบคณะนี้ หางานยากไหม?”

คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่น้อง ๆ วัยเรียนหลายคนกังวลใจเมื่อต้องตัดสินใจเลือกคณะเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพราะต้องการความมั่นใจว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะทำให้พวกเขามีโอกาสอีกมากมายหลังเรียนจบ และเพื่อให้มีเป้าหมายในการเรียนและการทำงานชัดเจนมากขึ้นนั่นเอง

เรียน Food Science ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด

หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่าการเรียนใน สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร หรือ Food Science จบไปจะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์อาหารที่อยู่ในโรงงานหรือห้องทดลองอย่างเดียว ความจริงแล้วมีสายอาชีพอีกหลายด้านที่เด็ก Food Science สามารถทำได้ 

รศ. ดร.สาวิตรี รัตนสุมาวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ. ดร.สาวิตรี รัตนสุมาวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

“วิทยาศาสตร์การอาหารและเทคโนโลยีการอาหารอยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมอาหาร และแทรกอยู่ในทุกจุด ตั้งแต่คัดเลือกวัตถุดิบ การเก็บเกี่ยว วิธีการแปรรูปอาหาร กระบวนการผลิต และกระบวนการต่าง ๆ จนไปถึงมือผู้บริโภค” รศ. ดร.สาวิตรี รัตนสุมาวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความสำคัญของวิทยาการในด้านนี้ 

โดยเมื่อเด็กในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารเรียนจบแล้ว สามารถทำงานได้ในหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น นักวิจัยและพัฒนา นักวิชาการ นักการตลาดด้านอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ตรวจสอบคุณภาพอาหาร นักโภชนาการ หรือหากสนใจเรื่องของกฎหมายอาหารเป็นพิเศษก็สามารถศึกษาต่อและประกอบอาชีพเป็นนักกฎหมายด้านอาหารและเครื่องดื่มได้ จะเห็นได้ว่าเด็กในสายนี้สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายและเปรียบเสมือนฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารให้พัฒนาต่อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เตรียมความพร้อม เปิดประตูสู่โลกการทำงาน

รศ. ดร.สาวิตรี กล่าวว่า “คนรุ่นใหม่จะต้องออกไปพบกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทางภาควิชาจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ต่อโลกปัจจุบัน นิสิตต้องมีความสามารถและเท่าทันกับเทคโนโลยี สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่เรียนมาได้ รวมทั้งความพร้อมในทักษะซอฟต์สกิล ด้วยการฝึกการทำงานเป็นทีม การทำกิจกรรมร่วมกัน อย่างการแข่งขัน FoSTAT-Nestlé Quiz Bowl ก็ถือเป็นการฝึกฝนองค์ความรู้ที่มีอยู่ของนิสิตให้นำมาตอบคำถามที่ครอบคลุมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารครบทุกมิติ และยังฝึกการทำงานเป็นทีมอีกด้วย”

FoSTAT-Nestlé Quiz Bowl โอกาสครั้งสำคัญของเด็ก Food Science

การแข่งขัน FoSTAT-Nestlé Quiz Bowl เป็นการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร เป็นพื้นที่ให้นักศึกษาได้แสดงศักยภาพและประยุกต์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อาหารอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ชนะได้รับประสบการณ์การฝึกงานกับบริษัทเนสท์เล่ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำของโลก และยังได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาของเนสท์เล่ที่ประเทศสิงคโปร์อีกด้วย โดยตลอดระยะเวลา 20 ปี มีนักศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารเข้าร่วมในเวทีการแข่งขันนี้มาแล้วกว่า 6,240 คน ตอบรับกระแสความตื่นตัวในวงการวิทยาศาสตร์อาหาร  

โดยในปีนี้ทีม FST KU จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร FoSTAT - Nestlé Quiz Bowl 2024 

มุมมองของ ทีม FST KU ต่อเวทีการแข่งขัน และสายอาชีพ Food Science

นายณภัทร ดุษฎีวิจัย นิสิตภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้คว้าชัยชนะจากการแข่งขันในปีนี้ และสนใจปฏิกริยาเคมีและการเปลี่ยนแปลงของอาหารเมื่อผ่านขั้นตอนต่าง ๆ มีมุมมองที่น่าสนใจถึงสายอาชีพ Food Science ว่า “เราอาจพิจารณาการหาวัตถุดิบทดแทนที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง เช่นวัตถุดิบทดแทนเนื้อสัตว์ อาจจะเป็นแมลงที่โตเร็วกว่า ใช้ทรัพยากรน้อยกว่า หรือในด้านการแปรรูปที่ปัจจุบันใช้ไอน้ำเป็นหลัก ก็อาจต้องใช้ทรัพยากรอย่างอื่นแทน เช่น ไฟฟ้า พลังงานสะอาด หรือทรัพยากรที่หมุนเวียนได้ เช่น ลม แสงแดด เป็นต้น”

นายณภัทร ดุษฎีวิจัย นิสิตภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นายณภัทร ดุษฎีวิจัย นิสิตภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

นางสาวณัฐิดา ทรงเดชาไกรวุฒิ นิสิตภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกหนึ่งสมาชิกทีม FST KU กล่าวว่า  “การได้ไปดูงานเยี่ยมชมโรงงานผลิตไอศกรีมเนสท์เล่ที่บางชันเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ จากที่ได้เคยทำโครงการไอศกรีมตอนที่เรียนอยู่ปี 3 มีการใช้เครื่องมือพาสเจอร์ไรซ์ และทำไอศกรีมกันเอง แต่เมื่อไปเห็นการใช้เครื่องจักรและขั้นตอนการผลิตในโรงงานจริง ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ และเห็นภาพที่ชัดเจนมากกว่าการเรียนในห้องเรียน” 

ณภัทรกล่าวว่า “ดีใจที่ได้มาแข่งขันตอบปัญหาครั้งนี้ รวมทั้งการที่ได้โอกาสฝึกงานและดูกระบวนการทำงานของบริษัทระดับสากล จึงอยากเชิญชวนน้อง ๆ ให้เข้ามาร่วมแข่งขัน เพราะเป็นการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์อาหารที่ใหญ่ที่สุดระดับประเทศ เป็นการทดสอบความรู้ทุกอย่างที่ได้เรียนมา ทั้งฝึกฝนตัวเอง ทำงานร่วมกับเพื่อนเป็นทีม” 

ทีมชนะเลิศในการแข่งขัน FoSTAT-Nestlé Quiz Bowl ปีที่ 20 นิสิตจากภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายณภัทร ดุษฎีวิจัย (ซ้าย) นายจุฬวิทย์ ริยาพันธ์ (ที่ 2 จากซ้าย) นางสาวชวิศา พิมพ์น้อย (ที่ 3 จากซ้าย) และ นางสาวณัฐิดา ทรงเดชาไกรวุฒิ (ขวา)
ทีมชนะเลิศในการแข่งขัน FoSTAT-Nestlé Quiz Bowl ปีที่ 20 นิสิตจากภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายณภัทร ดุษฎีวิจัย (ซ้าย) นายจุฬวิทย์ ริยาพันธ์ (ที่ 2 จากซ้าย) นางสาวชวิศา พิมพ์น้อย (ที่ 3 จากซ้าย) และ นางสาวณัฐิดา ทรงเดชาไกรวุฒิ (ขวา)
ผศ.พวงเพ็ชร์ นิธยานนท์ (ที่ 2 จากซ้าย) นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (โฟสแตท) พร้อมด้วย ดร.ขวัญทวี พ่อค้าทอง (กลาง) ผู้จัดการองค์กรฝ่ายกฎหมายอาหารและวิทยาศาสตร์สัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และ นายสรรชัย นุ่มบุญนำ (ที่ 2 จากขวา) ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย 
ผศ.พวงเพ็ชร์ นิธยานนท์ (ที่ 2 จากซ้าย) นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (โฟสแตท) พร้อมด้วย ดร.ขวัญทวี พ่อค้าทอง (กลาง) ผู้จัดการองค์กรฝ่ายกฎหมายอาหารและวิทยาศาสตร์สัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และ นายสรรชัย นุ่มบุญนำ (ที่ 2 จากขวา) ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย 
ร่วมแสดงความยินดีและมอบรางรางวัลให้กับทีมจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่คว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน FoSTAT-Nestlé Quiz Bowl ปีที่ 20 จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมไบเทคบางนา 

เส้นทางของเยาวชนไทยเหล่านี้ยังอีกยาวไกล โจทย์ด้านวิทยาศาสตร์อาหารที่ท้าทายรออยู่เสมอในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การสนับสนุนวงการวิทยาศาสตร์อาหาร เยาวชน และอนาคตของอุตสาหกรรมอาหารของประเทศจึงต้องดำเนินต่อไปเพื่อทุกคนในวันนี้และในอนาคต สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณเนสท์เล่สำหรับกิจกรรมการแข่งขันและการสนับสนุนด้านการศึกษาเป็นอย่างดีเสมอมา และขอแสดงความยินดีกับน้อง ๆ ทีม FST KU ผู้ชนะการแข่งขัน FoSTAT-Nestlé Quiz Bowl ปีที่ 20 อีกครั้งค่ะ 

 

 

ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวประชาสัมพันธ์ - Columnist ข่าวประชาสัมพันธ์ภายในเว็บไซต์ Dek-D.com

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น