กองทุน FTA ผนึกความร่วมมือ 14 ภาคี พัฒนาเครือข่ายโครงการเกษตรพันธมิตร สู่โอกาสตลาดการค้าเสรี
วันนี้ (27 กันยายน 2567) นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Project Matching Connecting Opportunities การพัฒนาเครือข่ายโครงการเกษตรพันธมิตร สู่โอกาสตลาดการค้าเสรี” ณ โรงแรมดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหน่วยงานภาคีเครือข่าย 14 หน่วยงาน ที่กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ลงนาม MOU ร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าให้มีศักยภาพในการแข่งขัน ประกอบด้วย 1) กรมปศุสัตว์ 2) กรมส่งเสริมสหกรณ์ 3) องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย 4) สภาเกษตรกรแห่งชาติ 5) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 6) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 7) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 8) สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน และ 9) บริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด และที่เพิ่งลงนามความร่วมมือเพิ่มเติมล่าสุดอีก 5 หน่วยงาน 10) กรมการข้าว 11) กรมวิชาการเกษตร 12) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 13) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และ 14) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มาร่วมจัดกิจกรรม โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยเกษตรกร ข้าราชการ หน่วยงานภาคเอกชน วิทยากร และเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 200 คน
โอกาสนี้ เลขาธิการ สศก. ได้ร่วมบรรยายพิเศษ CEO Talk “The Next Chapter Project Matching Connecting Opportunities มุมมองการสร้างความร่วมมือ พัฒนาเครือข่ายโครงการเกษตรพันธมิตร สู่โอกาสตลาดการค้าเสรี” นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายเรื่อง “เจาะลึกสถานการณ์ภาคเกษตรยุคดิจิทัล ในตลาดการค้าเสรี: การเปลี่ยนแปลง ผลกระทบ ความท้าทาย และการปรับตัว” โดย รศ.ดร. เริงชัย ตันสุชาติ ผู้อำนวยศูนย์ความเป็นเลิศเศรษฐมิติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำหรับช่วงบ่าย เป็นเสวนาเรื่อง “Success Stories from Local to Global: ไขเคล็ดลับโครงการต้นแบบของกองทุน FTA” โดยผู้แทนเกษตรกรและผู้รับผิดชอบจากโครงการที่ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อสุรินทร์วากิวครบวงจรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เกษตรกร (กรมปศุสัตว์) 2) โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตกาแฟของกลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาทะลุ (กรมส่งเสริมสหกรณ์) 3) โครงการนำร่องต้นแบบการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล EU/NOP ด้วยวิธีการบริหารจัดการน้ำเพื่อการทำเกษตรอินทรีย์ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และ 4) โครงการจัดตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง (อ.ส.ค.) พร้อมด้วยกิจกรรมพิเศษ Fast Track Project Matching กิจกรรมจับคู่โครงการที่มีศักยภาพระหว่างหน่วยงานเครือข่าย MOU กองทุนFTA และเกษตรกร เพื่อสร้างโอกาสการเสนอโครงการที่มีความเป็นได้ในการขอรับการสนับสนุนจากกองทุน FTA ตลอดจนนิทรรศการผลดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมือ MOU และโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน FTA ทั้งหมด 18 บูธร่วมกิจกรรม
ที่ผ่านมา เกษตรกรบางส่วนยังมีศักยภาพการผลิตอยู่ในระดับต่ำ สินค้าเกษตรมีคุณภาพไม่ตรงตามความต้องการของตลาด ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง รวมทั้งการขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในการประกอบอาชีพ การไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ขาดแคลนเงินทุนในการทำการเกษตร ขาดความรู้และเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ทันสมัยในการผลิต รวมทั้ง ข้อกีดกันทางการค้าต่างๆ จากประเทศคู่ค้า นำไปสู่การเจรจาการเปิดเสรีทางการค้าทั้งในรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งการพัฒนาภาคการเกษตรให้ประสบผลสำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ทั้งกลุ่มเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร มาร่วมกันดำเนินงานในกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรของไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
“วันนี้กองทุน FTA เรามีภาคีเครือข่าย MOU ร่วมกัน 14 หน่วยงาน การสัมมนาในวันนี้ จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะร่วมกันสร้างความร่วมมือในการพัฒนาโครงการที่มาขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุน FTA และเพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ กับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรดังกล่าว และตัวแทนจากมหาวิทยาลัยที่ต้องการขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุน FTA มานำเสนอโครงการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรดังกล่าวเข้ามาด้วยเชื่อมั่นว่า การสัมมนาครั้งนี้ จะทำให้มีโครงการที่เสนอขอรับเงินสนับสนุนมายังกองทุน FTA เพิ่มขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม ภาคเกษตรของไทยมีความเข้มแข็งและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ สศก. กล่าว
0 ความคิดเห็น