คณะรัฐศาสตร์
ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ตอนที่ 2/3 : ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
   
 

         สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ..... มาแล้ววววค่ะ เจอกันเช่นเคยกับ พี่เป้ และคณะในฝัน ^^ และสำหรับเดือนมกราคม เรายังอยู่กันที่คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือที่เรียกกันติดปากว่า IR ที่ย่อมาจาก International Relations

         หลังจากสัปดาห์ก่อน พี่เป้ ได้พาน้องๆ ตะลุยถ้ำสิงห์ดำแห่งรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้ว วันนี้ พี่เป้ ก็ไม่ได้มาคนเดียวอีกเช่นเคย แต่มาพร้อมกับรุ่นพี่จากรั้วสิงห์เขียวที่จะมาเปิดใจถึงชีวิตการเรียนแบบละเอียดยิบ เอาล่ะ ใครอยากเรียน IR ห้ามพลาดเด็ดขาด

 

 


ช่วยแนะนำตัวแก่น้องๆ ชาว Dek-D.com ที่กำลังอ่านอยู่หน่อยค่ะ
สวัสดีครับบ .... พี่วุทธ – วุทธ   ทองมั่น ตอนนี้กำลังเรียนชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือเรียกว่า ”สิงห์เขียว” กำลังจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในปีการศึกษานี้ด้วยแล้วล่ะครับ

น้องๆ หลายๆ คนอาจจะยังไม่ค่อยรู้จักสิงห์เขียวมากนัก สิงห์นั้นเป็นสัญลักษณ์บุคลิกที่มีพลัง และอำนาจของเจ้าป่า เหมือนที่น้องๆ อาจเคยได้ยินบ่อยๆ จากนิทานและสารคดี สิงห์จึงถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำซึ่งก็คือนักปกครองนั่นเอง แล้วที่เป็นสิงห์เขียวก็เพราะว่า เป็นสิงห์ที่เป็นหนึ่งในตำนาน “ติณสิงห์ หรือติณสีหะ” ซึ่งเป็นสัตว์เทียมรถศึกของทศกัณฐ์ นอกจากนี้สิงห์ในตำนานยังประกอบด้วย ปัณฑุสีหะ (สีเหลืองใบไม้/หรือสีโค) กาฬสีหะ (สีดำ) เกสรสีหะหรือไกรสรสีหะ (สีขาวบ้างแดงบ้าง) เป็นต้น


ลองย้อนเวลากลับไป ทำไมถึงเลือกเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือ IR ล่ะคะ
นึกย้อนไปถึงตอนนั้นต้องขอบอกตรงๆ ว่าแอบลืมคะแนนไปแล้ว (ขำ) จำได้ว่าช่วงนั้นรู้สึกตื่นเต้นและกังวลมาก เป็นช่วงของความสับสน แต่ในคณะเดียวกันก็เกิดการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่า ยังไงก็ตามขอไปทางสายศิลป์แล้วกัน เนื่องจากว่าตอนมัธยมศึกษานั้น พี่เรียนมาทางสายวิทย์ เกรดก็พอไปได้ 3.62 แต่ก็รู้ตัวว่าไม่ใช่ทางของเรา (ฮา .. ขำอีกแล้ว) จึงตัดสินใจเลือกยื่นคะแนนเพียงสองสาขาเท่านั้น คือนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนสุดท้ายได้เข้ามาเรียนในสถานศึกษาปัจจุบัน สรุปแล้วก็คือ เราเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น หลายๆ คนอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นอยู่ใกล้ตัวมากกก! แต่หลายๆคนยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว จึงเห็นว่ามีความสำคัญ และเลือกที่จะเรียนดูครับ


เห็นว่าภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือ IR ของที่เกษตรฯ อยู่ในคณะสังคมศาสตร์ แล้วที่คณะนี้เค้าเรียนกันยังไงบ้างคะ
การเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น ส่วนใหญ่จะเหมือนกัน คือในปี 1 เราจะเรียนรวมกันกับเพื่อนๆ ทั้งในคณะเดียวกันและต่างคณะ เช่นพวกวิชาพื้นฐานหรือที่เรียกว่าวิชาบูรณาการก่อน เพื่อให้เราได้ศึกษาวิชาที่มหาวิทยาลัยมองว่ามีความสำคัญและจำเป็น เป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อในนิสิตได้รับการเรียนรู้รอบด้าน ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะเพียงเฉพาะในสาขาที่ตนสนใจเท่านั้น เดี๋ยวพี่จะลองยกตัวอย่างให้ฟัง เช่น ในวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร, วิชามนุษย์กับสังคม, และ วิชาภาษาอังกฤษ เป็นต้น จากจุดนี้ ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ได้พบเพื่อนใหม่ๆ จึงทำความรู้จักกัน จนตอนนี้ก็ยังเป็นเพื่อนสนิท ศึกษาดูใจกันอยู่ถึงทุกวันนี้ (.. แหมมม น้องๆ แอบวาดฝันอะไรกันอยู่ รู้น้าๆ )


อยากให้ลองเล่าถึงวิชาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือ IR ที่น่าสนใจหน่อยได้มั้ยคะ
ครับผม..สำหรับวิชาเรียนในสาขาวิชาเอกของพี่ที่น่าสนใจ เริ่มจากวิชาแรกคือ ภูมิรัฐศาสตร์ วิชานี้แค่ชื่อวิชาเรียนก็แสดงถึงความเหนือ (กว่าความคาดหมายแล้ว) เพราะเป็นสหวิทยาการ รวมเอาหลักวิชา ภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ และการทหาร เข้ามาผนวกไว้ในวิชาเดียว แถมยังหาผู้ที่สามารถถ่ายทอดวิชานี้ยากมากก แต่ที่ม.เกษตรฯ มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญคือ รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ซึ่งมีวิธีการเรียนการสอนที่น่าตื่นตาตื่นใจ ไม่มีใครกล้าขาด กล้าเข้าห้องน้ำ จนถ้าใครเรียนรัฐศาสตร์แล้วไม่รู้จักอาจารย์ท่านนี้ ก็อาจเรียกได้ว่ายังไม่ได้พบ “ตัวจริง”

และอีกหนึ่งวิชาที่พี่ได้เรียนนั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับอารยธรรมโลก ในวิชานี้พี่ได้เรียนจนเข้าใจความหมายและที่มาของหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อำนาจ อารยธรรม และโลกาภิวัฒน์/โลกานุวัตร โดย รศ.ดร.สมเกียรติ วันทะนะ อีกหนึ่งปรมาจารย์ในแวดวงรัฐศาสตร์ไทย 

จริงๆ แล้วเนี่ย พี่ยังชอบวิชาอื่นๆด้วยนะ เพราะทำให้พี่ได้รับความรู้เพิ่มขึ้น (เชื่อว่าน้องๆ ก็อยากฉลาดขึ้น..เราก็ต้องเรียนรู้เพิ่มจริงไหมละครับ??) เช่น นโยบายต่างประเทศสหภาพยุโรป โดย อ.ดร.ณัฐวีณ์ บุนนาค (เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของพี่ด้วย) วิชานโยบายต่างประเทศของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย รองศาสตราจารย์จุฑาทิพ  คล้ายทับทิม  วิชาตะวันออกกลางในสมัยใหม่ โดย อ.ไพลิน กิตติเสรีชัย รวมไปถึงวิชาอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงแต่น่าสนใจและสนุกมาก


แล้วพอเริ่มเข้ามาเรียนในตัวภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือ IR จริงๆ เนี่ย แตกต่างจากที่คิดไว้ตอนแรกมั้ยคะ
มีทั้งส่วนที่ตรงและส่วนที่ต่างครับ หลายๆ คนคิดว่าไออาร์ หรือคุณสมบัติของนักรัฐศาสตร์จะต้องสามารถคาดการณ์ หรือทำนายอนาคตได้ แต่ลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นมีผู้กล่าวว่า ยุ่งยาก ซับซ้อน และคาดการณ์ไม่ได้ ซึ่งจากจุดนี้เอง ทำให้การเรียนเพื่อคาดการณ์เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เราจึงทำได้เพียงเข้าใจว่าเมื่อมีปัจจัยนี้เกิดขึ้นแล้วจะมีเหตุการณ์หรือผลอย่างไรได้บ้าง เป็นการมองเห็นภาพจากเหตุการณ์ซึ่งเคยเกิดขึ้นลักษณะเดียวกันในอดีต จึงนำไปสู่การเรียนที่จะต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง ปรัชญาการเมือง นโยบายต่างประเทศ รวมไปถึงภาษา

สิ่งหนึ่งที่พี่ได้เรียนรู้จากการเรียนในสถาบันแห่งนี้ คือ การเรียนการสอนที่นี่ ไม่เน้นให้ท่องจำ แต่ทุกวิชาใช้พื้นฐานของความเข้าใจ นำไปสู่การวิเคราะห์ และต่อยอดความคิด ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่บนความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่การให้เหตุผลแบบหลักลอย คือจะต้องมีเหตุผล ทฤษฏี หลักการ ยกขึ้นมาประกอบจึงเป็นการเพิ่มน้ำหนักความคิดเห็นของเราให้มีมากยิ่งขึ้น


ความประทับใจที่มีต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รวมถึงคณะที่เรียนอยู่ มีอะไรบ้างคะ
ถ้าให้พูดถึงสาขาวิชา คณะ และสถาบันนี่ ..พี่รู้สึกประทับใจ จนอาจต้องขอให้สัมภาษณ์ใหม่ โดยเฉพาะเรื่องนี้อีกครั้งนึงเลยทีเดียว (เวอร์ไปไหม?? ฮา) เพราะประทับใจทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงปัจจุบันที่กำลังจะก้าวไปสู่โลกของการทำงานในอีกไม่นานนี้แล้ว ทั้งเพื่อน พี่ น้อง คณาจารย์ ห้องเรียน ห้องสมุด ร้านถ่ายเอกสาร ร้านขนม-อาหาร รถตระลัย(ตระเวนรอบมหาวิทยาลัย) รถจักรยาน พี่วิน (มอเตอร์ไซค์) ฯลฯ บอกได้ไม่หมด เพราะที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ที่มีความร่มรื่น มีสถานที่ และบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ มีศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ทั้งคอมพิวเตอร์ ชมรม กีฬา ดนตรี อาสาสมัคร ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ทุกสิ่งทุกอย่างรวมอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้แทบจะทั้งหมด

นอกจากนี้ที่นี่ยังมีกิจกรรมนอกห้องเรียนให้เราได้ทำมากมายตามความสนใจของเรา แม้ว่าคณะของพี่จะมีนิสิตมากเป็นอันดับ 2 ของมหาวิทยาลัย แต่พวกเรากลับรู้สึกใกล้ชิดกันมาก มีการดูแลเอาใจใส่กัน ทั้งเพื่อน พี่น้อง และจากครู อาจารย์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ คือ การช่วยกันติวอย่างสม่ำเสมอ เป็นการเรียนไปด้วยกัน ไม่ใช่เป็นสังคมของการแก่งแย่งแข่งขันกันเพื่อความเป็นเลิศแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องสามารถอยู่ในกฏระเบียบซึ่งได้กำหนดวิถีของการอยู่ร่วมกันเพื่อความดีงามได้เช่นเดียวกัน เราได้เรียนรู้สังคมของเพื่อน ของความเป็นนิสิต ของความเป็นพลเมืองที่ดีไปพร้อมๆ กัน จนนำมาสู่หนึ่งในคติที่คอยสอน คอยย้ำเตือนพี่อยู่เสมอ ที่กล่าวว่า “จะมีสักกี่ครุย ที่ลุยโคลน” และแน่นอน นิสิตเกษตรฯ ย่อมไม่ลืมพื้นดินและพื้นโคลนที่คอยเป็นหลักให้เรายืนบนแผ่นดินนี้


แล้วบรรดาคณาจารย์ล่ะคะ เป็นยังไงบ้าง
สำหรับอาจารย์ประจำสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น เป็น..หญิงล้วนนนนน สวยๆ และเก่งๆ กันทุกท่านเลยด้วย จบการศึกษาจากทั้งญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมัน ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ทำให้น้องๆ จะได้รับความรู้และประสบการณ์ในมุมมองที่หลากหลาย เพราะทุกท่านนั้นจะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญที่ต่างกันออกไป แต่การเรียนของพวกเรานั้นไม่ได้จำกัดเพียงแค่อาจารย์ประจำสาขาฯ ยังได้มีโอกาสศึกษากับอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งต่างสาขาวิชา เช่น การปกครอง บริหารรัฐกิจ และบริหารงานยุติธรรมและความปลอดภัย ยังรวมไปถึงได้เรียนรู้กับคณาจารย์ต่างภาควิชา ต่างคณะ ตามความสนใจของเราอีกด้วย


แอบได้ยินมาว่าเป็นนักกิจกรรมตัวยงของคณะเลย ทำอะไรมาแล้วบ้างคะเนี่ย
พี่เป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่รักการทำกิจกรรมตั้งแต่เด็กๆ จนทำให้ค่อนข้างมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น สิ่งสำคัญของการทำกิจกรรมเหล่านี้ คือการทำงานด้วยใจ เพื่อนๆ พี่ๆน้องๆ ที่เข้ามาช่วยงานล้วนเข้ามาด้วยใจ เพราะการทำงานเหล่านี้ไม่มีผลตอบแทน สิ่งที่ได้คือได้ร่วมกันชื่นชมผลงานแห่งความสำเร็จ และที่สำคัญกว่านั้น คือการมีทีมงานที่ดี ซึ่งได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกันตลอดมา นับตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาสู่มหาวิทยาลัย พี่ก็ยังคงเริ่มทำกิจกรรม ตั้งแต่ในฐานะนิสิตใหม่ ทั้งในฐานะผู้เข้าร่วมงาน จนนำมาสู่การเป็นประธานโครงการ จัดกิจกรรมทั้งภายในมหาวิทยาลัยและภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น

-โครงการเปิดถ้ำสิงห์ เป็นการทำความรู้จักน้องใหม่
-โครงการสัปดาห์วิชาการ ประชาธิปไตยคู่ชาติ เกษตรศาสตร์คู่แผ่นดิน เป็นโครงการรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของประชาธิปไตยในโอกาสสัปดาห์วันรัฐธรรมนูญ
-โครงการตามรอยประชาธิปไตย พานิสิตไปยังองค์กรแห่งอำนาจอธิปไตย 3 ฝ่ายหลัก อันได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ
-โครงการสิงห์สัมพันธ์ ระหว่าง 6 มหาวิทยาลัย
-โครงการรัฐศาสตร์เพื่อเยาวชนและชุมชน
-ค่ายปลูกต้นคิด(ส์) เพื่อสร้างห้องสมุดและอบรมให้ความรู้ด้านประชาธิปไตยแก่เยาวชนและชุมชนในท้องถิ่นที่ห่างไกล
-โครงการ Isuzu Young Leader โดยบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลส์ (จำกัด)
-โครงการยุวโฆษก โดยสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

จากกิจกรรมที่ได้ทำตลอดมา ทำให้พี่มีโอกาสได้รับรางวัล เช่น ได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นกรุงเทพมหานคร (ประกายเพชร) รวมไปถึงเป็นวิทยากรรายการเปิดโลกการศึกษา ออกอากาศทางเคเบิลทีวี ช่องสุวรรณภูมิ เป็นต้น แม้ว่าบางครั้งพี่จะรู้สึกท้อและเหนื่อย แต่เมื่อก้าวเดินทางมาสู่เส้นทางนักกิจกรรมแล้ว ความสุขทุกครั้งที่ได้ทำก็จะเป็นแรงนำให้ก้าวเดินต่อ..ลองเดินบนเส้นทางนี้กันดูบ้างสิครับ น้องๆ อาจสัมผัสกับความสุขที่อาจไม่เคยได้พบมาก่อน..แล้วจะติดใจ ^^


มาถึงคำถามยอดฮิตของการเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือ IR ไม่เก่งภาษาจะเรียนได้มั้ย
ถ้าจะบอกว่าพี่เองก็ไม่ใช่คนที่เก่งภาษาอังกฤษ (จริงๆ นะครับ) แต่อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะสำเร็จการศึกษา รับพระราชทานปริญญาบัตรแล้วล่ะ .. น้องๆ คิดว่าทำได้ไหม?? (พี่เชื่อว่าทุกคนทำได้เช่นเดียวกันครับ) แม้ว่าการเรียนการสอน IR ที่นี้ จะไม่ได้มีหลักสูตรนานาชาติ เรียนเป็นภาษาอังกฤษ แต่แทบจะทุกวิชา เราจำเป็นต้องหาความรู้จากแหล่งข้อมูลภาษาอังกฤษ หนังสือ เว็บไซต์ หรือแม้แต่การติดต่อขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ในองค์กรต่างชาติ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร รวมไปถึงบางรายวิชาเราทั้งต้องหาข้อมูล นำเสนอปากเปล่า นำเสนอรูปเล่ม รวมไปถึงฟังบรรยาย พูดคุยและซักถามในห้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษ (น้องๆ ก็ทำได้!!) ดังนั้นอยากให้น้องๆ มองภาษาว่าเป็นเครื่องมือของการสื่อสาร ไม่ใช่มองแค่ว่าเป็นเพียงวิชาที่ต้องเรียนเท่านั้นครับ


แล้วอนาคตวางแผนว่าอยากทำอะไรต่อไปคะ
ความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก อยากที่จะทำงานราชการ รับใช้ชาติ รับใช้แผ่นดิน ตอบสนองบุญคุณแผ่นดินที่ได้ให้ประโยชน์ ให้ที่ยืน ที่นอนจนถึงทุกวันนี้ ด้วยการทำงานเพื่อส่วนรวม ..ตอนเด็กๆ พี่เคยมีความคิดเล่นๆ หลายอย่างมาก ทั้งเป็นเอกอัครราชทูต เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้พิพากษา เป็นสจ๊วต เป็นนักธุรกิจ เป็นครู เป็นโน่น เป็นนี่ มากมาย.. แต่คำตอบที่ ถ้าใครถามในตอนนี้ พี่จะตอบเค้าสุดท้ายจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ขอได้ทำงานเพื่อส่วนรวมบ้างสักนิดก็ยังดี


สุดท้าย อยากให้ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจอยากเรียนรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือ IR หน่อยค่ะ
สำหรับน้องๆ ที่อยากเรียน IR นะครับ ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เท่านั้นที่เปิดการเรียนการสอน ยังมีที่จุฬาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอื่นๆ และสถาบันการศึกษาอื่นๆ อีกมากมายที่ทำการเปิดสอน  ไม่ว่าน้องจะเรียนที่ไหน ขอเพียงมีความอดทน ความมุ่งมั่น ความตั้งใจ ..ความสำเร็จก็อยู่ในมือน้องๆ ได้แล้วล่ะครับ  สุดท้ายแล้ว ถ้ำของเรา..ยังรอสิงห์เขียวตัวน้อยๆ มาร่วมเป็นพี่น้องที่จะสร้างความรัก ความก้าวหน้าให้กัน..รอน้องๆอยู่ที่นี่..รัฐศาสตร์ เกษตรฯ  สวัสดีครับ


          โอ้โห อ่านจบแล้วต้องขอซูฮกเลยว่าเก่งจริงอะไรจริง ขั้นเทพมากๆ เลยอะ เรียนก็เก่ง กิจกรรมก็ทำ สุดยอดมากๆๆๆๆๆ นี่แหละค่ะ รุ่นพี่ที่น่าเอาเป็นตัวอย่างของแท้เลย ! สำหรับสัปดาห์หน้า คณะในฝันจะกลับมาปิดท้ายเรื่องราวจากคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้วยการเปิดใจชีวิตนักการทูตหน้าใหม่ไฟแรงตัวจริงเสียงจริง !! แค่เกริ่นก็น่าสนใจแล้วใช่มั้ยล่ะ เพราะฉะนั้นห้ามพลาดนะจะบอกให้

เด็กดีดอทคอม :: 3 ประเทศที่มีสงกรานต์เหมือนเมืองไทย; tags: holi, tomatina, สี, อินเดีย, โปแลนด์, สเปน, เทศกาล, ประเพณี, สงกรานต์

 
พี่เป้
พี่เป้ - Columnist มนุษย์บ้างานและบ้านวด ผู้ตกหลุมรักปลาแซลมอน การนอน และและออฟฟิศ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

27 ความคิดเห็น

doraemon 19 ม.ค. 54 10:01 น. 1
ถ้า รอเเอด ของเกษตร นี่ จำกัดรอบในการใช้gat patเเค่รอบ ตุลา มั้ย ??


หรือ ว่า จะไม่รับ รอบ เเอด,, หว่า ??

อยากเรียน นน รัฐศาสตร์ มก.
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
เคยู 20 ม.ค. 54 10:51 น. 3
อยากจะบอกว่าวิชา บูรณาการ ที่เรียนตอนปี 1 ที่ต้องเรียนกับเพื่อนต่างคณะ ทำให้เด็กรัฐศาสตร์ เกษตร เจอเนื้อคู่ มานักต่อนักแล้ว 555

รักรัฐศาสตร์ เกษตร
0
กำลังโหลด
ณด้วน 20 ม.ค. 54 11:11 น. 4
จบ รัฐศาสตร์ เกษตร ได้วุฒิ
"ศิลปศาสตร์บันฑิต" ป้ะะ ถ้าจำไม่ผิด
ไม่ใช่รัฐศาสตร์บัณฑิตนะ
กูรู ถ้ารู้ช่วยบอกที
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
พงษืพัฒน์ โคตรบรรเทา 21 ม.ค. 54 11:47 น. 8
เยี่ยมดีนะครับ...............กำลังเรียนอยู่เหมือนกัน.............ก็ยากพอตัว++++++ยากมากเลยแหละ[b-004]
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
KU68.5 15 ก.พ. 54 23:46 น. 11
เหตุผลที่เกษตรยังคงความเป็นศิลปศาสตร์บัณฑิต ไม่ใช้คำว่ารัฐศาสตร์บัณฑิตจากที่ได้ฟังอาจารย์พูดมาท่านบอกว่าเพื่อความเป็นสากล ส่วนการเป็นรัฐศาสตร์บัณฑิตผมยังไม่ทราบว่าได้อนุมัติหรือยัง แต่ชื่อปริญญามันก็ไม่ได้บ่งบอกถึงความสามารถของผู้เรียนไปมากกว่าเท่าไหร่หรอกครับ อยู่ที่ผู้เรียนมากกว่า

ใครอยากเป็นสิงห์เขียวเทอมหน้าเจอกัน
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
sherb townski Member 11 ม.ค. 56 22:41 น. 18
จบ ม.ปลาย เจอกันเบย การฑูต ฝันมานาน นามสกุลไม่ดังไม่เป็นไร แค่มีใจรักก็มีชัยไปกว่าครึ่งล่ะวะ!!!!
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด