วัสดีค่ะน้อง ๆ น่ารักทุกคน อีกเพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้นที่น้อง ๆ ม.6 และเทียบเท่าทั้งประเทศจะต้องขึ้นสังเวียนในการต่อสู้กับข้อสอบ O-NET ในวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ .... เตรียมตัวตั้งชื่อรุ่นกันได้เลย!!!!

          ความสำคัญของข้อสอบ O-NET นอกจากจะเป็นตัวชี้วัดระดับความสามารถของนักเรียนระดับชั้น ม.6 ทั้งประเทศแล้ว คะแนน O-NET ยังเป็นส่วนหนึ่งในการใช้เพื่อแอดมิชชั่นอีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงเห็นน้อง ๆ เทียบเท่าม.6 มาสอบด้วย เพราะต้องใช้คะแนนเพื่อแอดมิชชั่นนั่นเองค่ะ ... พี่แป้งจึงมีแนวข้อสอบ O-NET โดยวิเคราะห์จากปีที่ผ่าน ๆ มามาฝากค่ะ จะเป็นอย่างไรบ้างตามมาดูเลยค่ะ ^__^





ภาษาไทย
           ข้อสอบภาษาไทยจากที่ผ่าน ๆ มา ข่าวดีก็คือจะไม่ค่อยทิ้งกันมากกับปีก่อน ๆ ค่ะ คือว่าออกแนวไหนก็จะแนวประมาณนั้น ไม่ค่อยมีผิดพลาดเหมือนวิชาอื่น ทำข้อสอบวิชานี้จะว่ายากก็ยากจะว่าง่ายก็ง่ายค่ะ ที่บอกว่าง่ายคืออย่างน้อยก็เป็นภาษาของเรา (ฮึ????) แต่ว่าถ้าใครแม่นเรื่องไวยกรณ์นี่สบาย ๆ เลยค่ะ เพราะว่าข้อสอบโอเน็ตวิชาภาษาไทยจะเน้นออกการวิเคราะห์ การนำภาษาไปใช้ให้ถูกต้องมากกว่าการท่องจำค่ะ โดยเฉพาะเรื่องการวิเคราะห์ที่สำคัญมากมายคือ อย่านำความคิดเห็นหรือความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาวิเคราะห์ด้วยเด็ดขาด โจทย์ให้แค่ไหนใช้ข้อมูลแค่นั้นพอค่ะ ไม่งั้นการตีความจะผิดได้ และก็จะโดนช้อยส์หลอกจนเปื่อยกันไปเลย

          ในเรื่องของ
การใช้หลักภาษานั้น เรื่องที่จะต้องแป๊ะเลยก็พวก คำซ้อน คำซ้ำ คำสมาส คำสนธิ คำประสม แม้กระทั่งภาษาต่างประเทศพวกภาษาบาลี-สันสกฤต หรือคำทับศัพท์ อารมณ์ประมาณว่า คำนี้คือคำอะไร หรือ คำใดเป็นคำประสมบ้าง? มากกว่าเรื่องคำต่าง ๆ ที่ว่ามาก็มีเรื่องคำราชาศัพท์ คำสุภาพ ความหมายของคำ ๆ นั้น และ คำใดเขียนถูกหรือผิด เรียกได้ว่าต้องแม่นและแม่นเลยจ้าาาา

          นอกจากนี้ในเรื่องของหลักการใช้ภาษายังจะออก
พวกประโยคทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นประโยคความเดียว ความรวม ความซ้อน ก็ต้องมานั่งแยกกันล่ะว่าประโยคที่โจทย์ให้มาเป็นแบบไหน อ้อ!!! .... มีอีกนะ น้อง ๆ อาจเคยเห็นเวลาที่รุ่นพี่นั่งทำข้อสอบแล้วนับนิ้วกันใช่ป่ะ? นั่นเขานับเสียงวรรณยุกต์กันค่ะ คือโจทย์จะให้มาประมาณว่าประโยคนี้มีเสียงวรรณยุกต์กี่เสียง หรือ ช้อยส์ข้อใดมีเสียงวรรณยุกต์ตรงกับโจทย์ จงอย่าอายที่จะใช้นิ้วตัวเองในการผันเสียงวรรณยุกต์ ไม่มีใครหาว่าบ้า รับรอง เชื่อพี่!!!

           ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญก็คือเรื่อง
การอ่าน การสื่อสาร อาจจะมีจดหมายราชการมาให้ หรือ มีบทความมาให้แล้วถามว่าเป็นภาษาระดับใด จะเป็นกึ่งทางการ ภาษาทางการอะไรก็ว่าไป แต่ที่สำคัญคือส่วนของการอ่านจะมีการวิเคราะห์ซึ่งน้อง ๆ ต้องตีความหมายให้ได้โดยอย่าเอาความรู้สึกตัวเองใส่เข้าไปนะคะ ให้ลองจินตนาการตัวเองเป็นคนเขียนบทความนั้น แล้วคะแนนจะลอยมาเองค่ะ

           ส่วนสุดท้ายเรื่อ
งวรรณกรรมและวรรณคดีก็ให้เน้นบทคำประพันธ์ที่เด่น ๆ และควรรู้เรื่องพวกสัมผัสในการแต่งคำประพันธ์ด้วยนะคะ นอกจากโจทย์จะมาแนวว่าคำประพันธ์นี้สื่อถึงอะไรซึ่งต้องมานั่งวิเคราะห์กันแล้ว โจทย์ยังจะมาประมาณว่า บทประพันธ์นี้เป็นลักษณะคำประพันธ์แบบไหน จะเป็น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน สัมผัสแบบไหน สัมผัสสระหรืออักษร ประมาณนี้ ค่ะ

           สำหรับในปีนี้พาร์ทที่มีคะแนนมากที่สุดคือส่วนของการอ่าน ที่มีทั้งหมด 20 ข้อ 40 คะแนน (O_O) ส่วนอีก 4 สาระที่เหลือจะมีค่าคะแนนข้อละ 1 คะแนนค่ะ เพราะฉะนั้นข้อสอบจะมีทั้งหมด 80 ข้อ 100 คะแนนนะคะ ข้อสอบมี 6 ชุด จะลอกคนข้าง ๆ ไม่ได้เน้อออออ......



สังคมศึกษา
          ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่า วิชาสังคมศึกษาเป็นวิชาที่ว่าด้วยการ "รู้" หรือ "ไม่รู้" เลยล่ะ คือเนื้อหาจะออกแบบคลอบคลุมทั้งจักรวาล เป็นวิชาที่บอกเลยว่ายากถ้าเกิดไม่อ่านเก็บไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยคะแนนวิชานี้จะต่างจากวิชาภาษาไทย เพราะทุกข้อคะแนนเท่ากันคือข้อละ 1.25 คะแนน เพราะฉะนั้นจะมีทั้งหมด 80 ข้อเหมือนกันค่ะ

          เรื่องแรกเลย
ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม เรื่องนี้จะมีบางส่วนที่เราอาจจะใช้เซ้นท์ตอบได้(น้อยนะ) แต่เรื่องของศสานานี่บอกได้เลยว่ามาแบบจัดเต็ม ทั้งหลักคำสอนของแต่ละศาสนา และ พิธีกรรมต่าง ๆ โจทย์จะไม่ถามมาตรง ๆ ว่า พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนอย่างไร แต่จะถามประมาณว่า ศาสนาใดมีคำสอนต่างจากศาสนาอื่น นั่นแหละ ..... ต้องรู้ทั้งหมดแล้ว

         เรื่องต่อมาคือ
ประวัติศาสตร์โดยจะออกทั้งชาติไทยและต่างชาติ มาตั้งกะสมัยสุโขทัยโน้นค่ะ แล้วก็อาณาจักรไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรล้านนา อาณาจักรพิษณุโลก อาณาจักรเชียงใหม่ เรื่องราวต่าง ๆ สงครามโลกแบบคร่าว ๆ โดยเฉพาะช่วงการเปลี่ยนแปลงทั้งสงครามต่าง ๆ และการปกครองของไทย ในเรื่องของการปกครองจะออกแอดวานซ์ขึ้นมานิดนึงคือนอกจากเรื่องการเมืองท้องถิ่นแล้ว อาจจะมีการวิเคราะห์เข้ามาด้วย เช่น กฎหมายเยาวชนเป็นแบบไหน ให้สถานการณ์มาแล้วถามว่าสิ่งที่ถูกต้องคือข้อใด  
         
ภูมิศาสตร์จะเน้นเรื่องของภาวะโลกร้อน และ สภาวะอากาศแบบนี้คือลักษณะใด ความกดอากาศต่ำ ความกดอากาศสูง แอบมีเรื่องพายุด้วยนะคะ เรื่องสุดท้ายคือเศรษฐศาสตร์อันนี้นอกจากจะอาศัยความจำแล้ว ต้องอาศัยความเข้าใจด้วยค่ะ เรื่องที่จะออกคือพวก ดุลการค้า ลักษณะตลาด อุปสงค์ อุปทาน แล้วก็พวกองค์กรค่ะ WTO WHO ทำหน้าที่อย่างไรบ้าง โดยรวม ๆ แล้วถ้าจะยากก็ตรงที่จะจำไม่หมดนี่แหละค่ะ รับประกันความครอบคลุมจริง ๆ




ภาษาอังกฤษ
           มาถึงวิชาโปรดของน้อง ๆ สายศิลป์(หรือเปล่า?) เอาเป็นว่าใครจะว่าเป็นวิชาโปรดแต่ไม่ใช่พี่แป้งแหละ พี่แป้งจะได้ว่าตอนพี่แป้งสอบวิชานี้ได้ 49 คะแนน เต็ม 100 ซึ่งถ้าพี่แป้งได้ 50 คะแนนจะสามารถยื่นเรื่องกับทางมหาวิทยาลัยได้ว่าขอผ่าน (P) วิชาภาษาอังกฤษตอนปี 1 หนึ่งได้ .... แน่นอนว่าคะแนนไม่ถึง ไม่ผ่าน!! ก้มหน้าก้มตาเรียนต่อไป แต่ว่าไม่ได้ใช้ทุกทีนะคะอย่าเป็นกังวลไป เอามาเล่าให้ฟังเฉย ๆ

            สทศ.แจ้งว่า ภาษาเพื่อการสื่อสารจะเป็นส่วนที่ออกมากที่สุด 33 ข้อแหน่ะ แต่บอกอย่างนี้น้อง ๆ อาจจะไม่เห็นภาพ แยกเป็นเรื่อง ๆ ให้ดีกว่า ลักษณะข้อสอบภาษาอังกฤษแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ส่วนแรกเป็นเรื่องของ
บทสนทนา ให้บทสนทนามา แล้วถามว่าใครต้องการอะไร ที่ไหน อย่างไร วัด Skill ว่าเราเข้าใจหรือไม่ เมื่อมีบทสนทนาก็ต้องมีบทความ เป็นบทความยาวมาให้เราอ่าน มีทั้งถามว่าบทความนี้สื่อถึงอะไร คำศัพท์ที่ขีดเส้นใต้มีความหมายว่าอย่างไรหรือแสดงถึงอะไร เช่น "it" อาจจะถามว่า it ในพารากราฟที่ 3 หมายถึงอะไร เป็นต้น นอกจากนี้ก็จะมีป้ายโฆษณา จดหมาย การ์ตูน เป็นเนื้อหาสั้น ๆ แต่ต้องเข้าใจและจับประเด็นให้ได้ค่ะ

           มาที่เรื่องที่น่ากลัวสำหรับเด็กไทยอย่างเรา ๆ กันดีกว่า ว่าด้วยเรื่อง
หลักภาษาและคำศัพท์ ต้องรู้แต่ละเท้นส์เลยว่ามีความแต่ต่างกันอย่างไร โจทย์บางข้อไม่จำเป็นว่าต้องรู้ว่าแปลว่าอะไร แต่ถ้าน้อง ๆ รู้คำที่บ่งบอกเท้นส์นั้น ๆ จะรู้ว่าประโยคที่ตามมาทีหลังหรือก่อนหน้าต้องเป็นอะไร แล้วก็ If-Cause ทั้ง 3 แบบ แอบบออกมาบ่อย ๆ ส่วนของคำศัพท์คือแล้วแต่บุญแต่กรรมจริง ๆ เพราะคำศัพท์เป็นประสบการณ์ที่ต้องเก็บมาเรื่อย ๆ ศัพท์ภาษาอังกฤษเยอะมากจริง ๆ

           เรื่องที่ปราบเซียน คือ
Error จะเป็นพาร์ทที่มึนตึ๊บกันไปข้างหนึ่งเลย โจทย์จะให้ประโยคมาแล้วขีดเส้น 4 ที่ แล้วถามว่าที่ใดผิด นั่นล่ะ สิ่งที่ยากคือเราไม่แม่นไวยกรณ์ว่าที่ถูกคืออะไร เมื่อไม่รู้ที่ถูกก็ไม่รู้ที่ผิด พี่แป้งเลยอยากแนะนำว่าให้ทำพาร์ทอื่นไปก่อนเลยค่ะ แล้วค่อยกลับมาที่ Error เป็นพาร์ทสุดท้าย จะได้มีเวลาไม่ต้องไปห่วงว่าพาร์ทอื่นยังไม่ได้ทำเลย ถ้ามันสุดความสามารถแล้วจริง ๆ ก็นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าไว้ แล้วเดาไปเลยจ้า

คณิตศาสตร์
           วิชาโปรดของน้อง ๆ เลย(หรอ???)ก็ว่าได้ อิอิ .... วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาเดียวค่ะที่มีส่วนของอัตนัย โดยปีนี้ถือว่าใจดีกว่าปีที่แล้วนะคะ โดยจะมีอัตนัยทั้งหมด 8 ข้อ คิดเป็น 20 คะแนน และส่วนปรนัย 32 ข้อ คิดเป็น 80 คะแนนค่ะ จำนวนข้อน้อยก็จริง แต่ดู ๆ แล้วกว่าจะได้แต่ละคะแนนไม่ง่ายเลยนะเนี่ย!!!!

           หมวดที่ออกเยอะที่สุดในปีนี้คือ
"พีชคณิต" น้อง ๆ อาจจะ งง ว่าพีชคณิตคืออะไร มันคือเรื่องของการแก้สมการในรูปของตัวแปรนั่นเองค่ะ โดยเป็นการเรียกรวม ๆ ของการแก้สมการรูปแบบต่าง ๆ เช่น ฟังก์ชั่น การแก้สแคว์รูท การแก้สมการ 2 ตัวแปร กราฟ พาราโบลา ตรีโกณมิติ ดังนั้นสิ่งที่น้อง ๆ จะทำได้ตอนนี้คือการทำโจทย์กับทำโจทย์เลยจ้า จะให้ไปอ่านเนื้อหาตอนนี้ พี่แป้ง ว่ายังไงก็ไม่ทันแล้ว เรื่องพีชคณิตจะออกทั้งหมด 19 ข้อ คิดเป็น 47.50 คะแนนเลยค่ะ

           อีกเรื่องที่ออกเยอะไม่แพ้กันเลยก็คือเรื่อง
ความน่าจะเป็น เป็นเรื่องที่โจทย์ยาวมาก และพออ่านโจทย์จบก็ต้องมานั่งคิดกันละว่าจะใช้สูตรอะไรบ้าง บางปีถึงกับต้องใช้ skill ในการมองไพ่ทั้ง 4 ดอกกันเลยทีเดียว (เอ๊ะ!! เด็กสมัยนี้เล่นไพ่ไม่เป็นนะเออ .... #ไม่เชื่อ) หรือไม่ก็การทอยลูกเต๋า จะมีโอกาสออกหน้านั้นหน้านี้กี่แต้มก็ว่าไป ส่วนเรื่องโปรดของพี่แป้งเลยก็หนีไม่พ้นส่วนของ สถิติ โอ๊ยยย!! บอกเลยว่าจะตัวแปรกันมันส์เลย น้อง ๆ ต้องรู้นะคะว่าสูตรไหนใช้กับโจทย์ประเภทไหน ค่าเฉลี่ยน ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ฐานนิยม ฯลฯ คืออะไร ไม่รู้ตัวแปรนี่จบเลยนะ .....

           ส่วนเรื่องอื่นไม่มีอะไรมากค่ะ เน้นอีกรอบให้ฝึกทำโจทย์จะได้มีทักษะและความเคยชินค่ะ รูปแบบข้อสอบจะออกแนวไม่ต่างกับที่ผ่านมา แต่จะเปลี่ยนโจทย์ไม่ออกตรง ๆ ซะมากกว่า ยังไงพี่แป้งก็เป็นกำลังใจให้นะคะ


วิทยาศาสตร์
           สวัสดีวิทยาศาสตร์ ใคร ๆ ที่ได้ยินวิชาวิทยาศาสตร์ก็คงสยองพอ ๆ กับคณิตศาสตร์ พี่แป้งเดาเลยว่าน้อง ๆ สายศิลป์ต้องจินตนาการกว้างไกลไปแล้วว่าต้องมีวิชาจำพวกฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาอย่างแน่นอน ... ไม่ใช่นะคะ!! วิทยาศาสตร์ที่มาสอบ O-NET เป็นวิทยาศาสตร์ทั่วไปที่น้อง ๆ สายศิลป์เรียนนนั่นแหละค่ะ จะบอกว่าวิชานี้สายวิทย์บางโรงเรียนเสียเปรียบด้วยซ้ำเพราะยังไม่ได้เรียนเรื่อง ดาราศาสตร์ (พี่แป้งคนนึงล่ะ ตอนสอบทำหน้าหมีมึน สตั๊นไป 3 วิ) สายวิทย์จะเรียนลึกลงไปจนอาจจะลืมวิทย์พื้นฐานตรงนี้ไปก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่มีสายไหนเสียเปรียบไปกว่ากันค่ะ

          ปีนี้ สทศ.แจ้งมาว่าเรื่องที่ออกมากที่สุดคือ
สารและสมบัติของสาร มีทั้งหมด 20 ข้อ คิดเป็น 22 คะแนน ก็เกือบ 1 ใน 4 ของคะแนนทั้งหมดเลยค่ะ สารและสมบัติของสารจะออกแนวเก็บประสบการณ์จากการทดลองมากกว่า เอาเป็นว่าอาศัยหลักการจำนิดหน่อย + เข้าใจในห้องเรียนก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว

           เรื่องง่าย ๆ ที่พี่แป้งรู้สึกว่าออกเยอะทุกปีและเป็นเรื่องที่น้อง ๆ ส่วนใหญ่ทำได้ก็คือเรื่องของ
สิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ก็ตาม เรื่องเซลล์นี่มาอันดับ 1 น้อง ๆ อย่าลืมจำพวกองค์ประกอบที่สำคัญ ๆ ของเซลล์ไว้ให้ดีนะคะ เช่น นิวเคลียส ไมโทรคอนเดรีย เซลล์วอล  ไซโตรพลาสซึม เป็นต้น โจทย์อาจจะถามมาว่าคนเราสร้างพลังงาน ATP จากที่ใด หรือ เซลล์ของสิ่งมีชีวิตประเภทใดมีเซลล์วอล นอกจากเรื่องเซลล์ก็เรื่องอวัยวะและความสมดุลของร่างกายเรา การหมุนเวียนของเลือด DNA หมู่เลือด ความผิดปกติของพันธุกรรม แม่ลักษณะเด่นแท้ พ่อลักษณะด้อย ลูกออกมาจะมีโอกาสเกิดลักษณะเด่นลักษณะด้อยอย่างไรบ้าง

           นอกจากนี้เรื่องของ
กระบวนการต่าง ๆ ก็ออกพอสมควรนะคะ การแพร่ การออสโมซิส นี่ควรจะแม่นไว้ ที่เหลือก็เป็นเรื่องการเก็บสะสมอาหาร พลังงาน เรื่องต่อมาก็คือเรื่องห่วงโซ่อาหาร จะแอดวานซ์กว่าสมัยม.ต้นขึ้นมาในระดับนึง แยกให้ออกระหว่างห่วงโซ่อาหารกับสายใยอาการด้วยนะ

           การคำนวณก็จะออกเป็นหลักง่าย ๆ คลื่น แสง สี เสียง ความถี่ เป็นสูตรพื้นฐานไม่มีก้าวกระโดดไปส่วนลึก ๆ ของฟิสิกส์ค่ะ เรื่องที่ออกบ่อย ๆ ก็คือ โปรเจคไทล์ กี่องศาถึงจะไปได้เท่านั้นเท่านี้ เรื่องการแกว่งลูกตุ้มโดยเฉพาะนาฬิกา ก็น่าสนใจนะคะ แล้วปิดท้ายด้วย
ดาราศาสตร์ นอกจากจะต้องจำตำแหน่งดาวในระบบสุริยะจักรวาลแล้ว อย่าลืมพวกดาวหาง ตำแหน่งดาว ดาวเหนือ ดาวศุกร์ กลุ่มดาวต่าง ๆ ส่วนเรื่องดวงจันทร์ก็ให้จำประมาณว่าดาวดวงไหนมีดวงจันทร์เป็นบริวารบ้าง และ บนดวงจันทร์มีลักษณะอย่างไร มีผลต่อน้ำขึ้นน้ำลงอย่างไรค่ะ




สุขศึกษาฯ ศิลปะ และการงานอาชีพฯ
          ต้องบอกว่าเป็น 3 วิชาชิว และเป็นข้อสอบฉบับที่เป็นชื่อรุ่น O-NET ตั้งแต่รุ่นผ้าปูโต๊ะมาถึงรุ่นหนีน้ำไปเตะบอล เรียกว่าเป็นข้อสอบที่มีคนพูดถึงเยอะมาก กลบวิชาเด่น ๆ อย่างคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษไปเลยทีเดียว เป็นข้อสอบฉบับสุดท้ายด้วย สอบเสร็จก็หาลูกชิ้นทอดหน้าโรงเรียนกินแล้ว (สอบไม่เสร็จก็กิน - -") พี่แป้งขอแบ่งเป็น 3 วิชาดีกว่าเนาะ

          วิชาแรก
สุขศึกษาฯ จะออกเรื่องใกล้ตัวเรานี่แหละพฤติกรรมของมนุษย์ สังคม การอยู่ร่วมกัน บางข้อใช้เซ้นส์ตอบได้นะคะ คำถามอารมณ์ประมาณว่า ครอบครัวเป็นอย่างไร เพื่อน หรือแม้กระทั่งเรื่องเพศ การป้องกัน เรื่องใกล้ ๆ ตัวนี่แหละค่ะ นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องการปฐมพยาบาล การป้องกันโรค ที่ต้องจำเยอะมากนิดนึงคือส่วนของพละ กฎกติการกีฬาต่าง ๆ วิธีเล่น ผิดกติกาเมื่อใด

           ต่อมาเป็น
ศิลปะ พี่แป้งขอสารภาพตามตรงเลยว่า ตอนที่พี่แป้งไม่สอบเดาล้วน ๆ เลย ข้อสอบศิลปะออกแนวจำซะเยอะค่ะ ทัศนศิลป์ ศิลปะแบบต่าง ๆ สมัยต่าง ๆ ต้องจำลักษณะเด่นแล้วแยกให้ออก นาฏศิลป์ก็ออกเรื่องร่ายรำ ท่ารำต่าง ๆ เพลงที่ใช้ในการแสดงในโอกาสต่าง ๆ ความเหมาะสมของการแสดง ส่วนเรื่องดนตรีจะออกแนวตีโจทย์มากกว่าว่าต้องการสื่อถึงอารมณ์แบบไหน เพลงไทยนะคะ ไม่ต้องหวังเลยว่าจะมีเพลงเกาหลี ญี่ปุ่น เลดี้ กาก้าออกมา เน้นเพลงไทยไปเลยค่ะ

           ส่วนสุดท้ายคือ
การงานอาชีพฯ วิชาใกล้ตัวอีกเช่นกัน เนื้อหาที่ออกจะประมาณ การจัดบ้าน จัดสวน จัดห้อง มีเรื่องการเกษตรนิดหน่อย เอาเป็นว่าเป็นเรื่องรอบ ๆ ตัวนี่แหละ ไม่ต้องเป็นกังวลเท่าไหร่ ลองเอาโจทย์เก่า ๆ มานั่งทำดูจะเร็วกว่าค่ะ


เรื่องต้องระวัง
  • สอบวิชาละ 2 ชั่วโมงนะคะ ไม่ใช่ 3 ชั่วโมงเหมือน GAT PAT
  • ต้องสอบครบทุกวิชา จะมาเช้าสอบเสร็จ บ่ายปวดหัวไม่สอบไม่ได้นะคะ
  • อย่าลืมนำอุปกรณ์ไปให้ครบ ได้แค่ ดินสอ 2B ยางลบ ปากกา เท่านั้น เครื่องคิดเลข กระดาษจดสูตร กระเป๋าดินสอ มือถือ นาฬิกาดิจิตอล ฯ นำเข้าไม่ได้นะคะ

           เหลือเวลาฟิตเตรียมสอบ O-NET เพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น ขอให้น้อง ๆ จำไว้ให้ดีว่าสนามสอบจะไม่ตื่นเต้นเท่าการสอบ GAT PAT นะคะ เพราะว่ารอบ ๆ ข้างน้อง ๆ จะเป็นเพื่อนที่มาจากโรงเรียนเดียวกัน จะสนิทหรือไม่สนิทอย่างน้อยก็เป็นคนถิ่นเดียวกันแหละเนาะ >< ก่อนจะไปพี่แป้งก็มี "คลิป" มาฝากค่ะ รับประกันความฮา รับรองว่าดูจบแล้วไม่พลาดเรื่องการไปสอบ O-NET แน่นอน คลิปเขาดีจริงเพราะมาจากใจของ 4 กัปตัน BAR4 ดูจบแล้วก็รีบไปอ่านหนังสือกันนะจ๊ะหนู ๆ




พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

35 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
#ดับเบิ้ลยูเอวีเอ'ลั๊นล๊า บ้าบอ~[WAVA] Member 26 ม.ค. 56 10:55 น. 3
อันนี้เกี่ยวกับของป.6มั๊ยอ่ะคะ เนื้อหาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันมั๊ย พอดีหนูสอบ O-net ป.6 อ่ะคะ??>< 
0
กำลังโหลด
กระต่ายป่าคิตตี้ Member 26 ม.ค. 56 12:10 น. 4
สัปดาห์หน้าแล้ว!!!~
เป็นสิ่งที่ท้าทาย
เป็นสิ่งที่(มั่วได้)ง่ายนิดเดียว
เป็นสิ่งที่ผ่านไปเร็วมาก
และเป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตเราไปตลอดเลยก็ได้
นี่แหละคือ O-NET ของประเทศไทย


แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 26 มกราคม 2556 / 12:10
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
onetettetet 26 ม.ค. 56 13:51 น. 8
เลข นี่ถึงจะพื้นฐานแต่บางข้อก็ออกยากเหมือนกันนะ ... แต่ยังไงสถิติก็ยังคือมิตรแท้ 5555555

ปล.นาฬิกาก็น่าจะเอาเข้าได้นะ แต่คงต้องเป็นนาฬิกาที่ไม่ใช่ ดิจิตอล =0=
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Praery 26 ม.ค. 56 21:46 น. 13
ขอบคุณค่า!! ><
ตั้งใจอ่าน
ถึงจะเข้าเอกชนก็เถอะ! จะพยามไห้ดีที่สุดเลย
เนื้อหาเยอะมากกก
อ่านไห้ตรงจุดๆ
แต่เราเรียนสายวิทย์ ทำไมถึง มีเรียนดาราศาสตร์ ><
จะทำไห้ดีที่สุด!!
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด