บริหารเงินให้ดี! 10 รายจ่าย (ไม่ทันตั้งตัว) ที่ได้จ่ายแน่เมื่อเรียนมหา'ลัย

          สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D ที่น่ารักทุกคนค่ะ เรื่องค่าใช้จ่ายกับการศึกษาเป็นของคู่กันเนอะ บางคนถึงขนาดเตรียมการไว้ล่วงหน้าเลยว่า เรียนมหา'ลัยมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง? จะได้เตรียมบริหารจำนวนเม็ดเงินในมือได้ถูก


 
          นอกจากค่าเทอม-ค่าหอที่เป็นภาระของผู้ปกครองแล้ว เราก็จะได้เงินจำนวนหนึ่งเป็นรายจ่ายประจำวัน แต่เชื่อเถอะว่าร้อยทั้งร้อย อาจจะมีบางสัปดาห์หรือบางเดือนที่ขัดสน ใช้แทบจะไม่พอ เพราะมีรายจ่ายจรมากระเทือนกระเป๋าเงินอยู่เรื่อยๆ วันนี้เรามาดูให้ชัดๆ ไปเลยว่า รายจ่ายแบบเด็กมหา'ลัยนั้นมีอะไรบ้าง จะเหนือความคาดหมายหรือเปล่า! แถมพี่เมก้าก็ได้แถมเคล็ดลับประหยัดเงินแบบไม่ทรมานตัวเองมาฝากน้องๆ แล้วค่ะ  

1. รายจ่ายเรื่องเรียน
 

          นี่คือค่าใช้จ่ายที่เราต้องลงทุน พวกอุปกรณ์การเรียนอย่างสมุด หนังสือ ดินสอ ปากกา ยางลบ ไม้บรรทัด อันนี้ยังธรรมดา ที่ไม่ธรรมดาคือค่าชีทเรียนนี่แหละ! เป็นรายจ่ายจรที่แทบจะเป็นรายจ่ายหลัก วันๆ ขลุกอยู่แต่กับร้านซีร็อกในมหาวิทยาลัย นี่ยังไม่นับค่าทำรายงาน ค่าทำโปรเจคที่สูบเงินเป็นเดือนๆ ทำไปพะวงไปกลัวว่าล้วงกระเป๋าแล้วจะเจอแต่เหรียญ ฮึกๆ

2. รายจ่ายกิจกรรม

          จุกและชินไปเอง! เฟรชชี่ควรรู้ว่าเข้ามหา'ลัยกิจกรรมเยอะมากกก ไหนจะรับน้องคณะ รับน้องมหา'ลัย ไหนจะออกค่ายอาสา ออกทัศนศึกษานอกสถานที่ แล้วยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่พี่เมก้าไม่ได้เอ่ยถึงอีกมากมาย คือเข้าร่วมงานแต่ละครั้งก็ต้องมีค่าใช้จ่ายตามมาทุกครั้ง เช่น อาจจะเป็นค่าเสื้อ ค่าเดินทาง ค่าอาหารแต่ละมื้อ หรือขนมกรุบกรอบยามว่าง เรียกได้ว่าหมดกิจกรรมนู้นจ่ายกิจกรรมนี้ แทบไม่เคยมีช่วงที่เงินอยู่ติดกระเป๋าเราได้นานเกิน 3 วันเลย

3. รายจ่ายเรื่องกิน


          เรื่องนี้พี่เมก้าคุ้นเคยเป็นอย่างดี ก็แหม...อยู่มหา'ลัยเรียนหนัก ต้องใช้สมองหนัก พอหิวท้องก็ร้องบอกให้ซัดของอร่อยเข้าไปเยอะๆ บางทีเราก็กินเพลินค่ะ ยิ่งเดี๋ยวนี้รอบๆมหา'ลัยมีร้านอาหารร้านสะดวกซื้อต่างๆ พร้อมรออยู่ครบครันเลย บางทีเดินลงจากหอจากตึกเรียนนี่ของกินล่อตาล่อใจ เพิ่งต้นเดือนเงินในกระเป๋าแทบหมด ปลายเดือนต้องฝากท้องไว้ที่มาม่าแล้วแหละ!

4. รายจ่ายเรื่องหอ

          ความจริงเรื่องหอไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะบางมหาวิทยาลัยจะมีกฎให้อยู่หอใน มีแบ่งจ่ายค่าหอเรียบร้อยไปเป็นเทอมๆ แล้ว แต่ที่มีปัญหาคือเรื่อง "ค่าน้ำค่าไฟ" ที่แพงลิบลิ่วค่ะ บางทีถึงขั้นมานั่งจับเข่าคุยกับรูมเมทเลยว่า เราใช้น้ำใช้ไฟเปลืองอะไรขนาดนั้น? เพราะหาต้นตอไม่เจอ สุดท้ายคือนั่งน้ำตาตก สูญเสียเงินไปเท่าไหร่แล้วกับเจ้าสิ่งนี้

5. รายจ่ายสิ่งของ


          ข้าวของเครื่องใช้บางอย่างก็จำเป็นต้องมีติดหอไว้บ้างค่ะ พวกอุปกรณ์ทำความสะอาดอย่างน้ำยาถูพื้น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน ฯลฯ อันนี้คือใช้บ่อยๆ พอหมดก็ต้องซื้อมาเติมเป็นธรรมดา (แอบใช้ของเพื่อนไม่ดีนะ) แต่กรณีที่ของหมดเร็วเหมือนมีคนแอบใช้หรือน้องๆ เป็นนัก Shopaholic ชอบซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า งานนี้พี่เมก้าช่วยไม่ได้จริงๆ ต้องรีบหาทางแก้นะ

6. รายจ่ายค่าเดินทาง

          สำหรับน้องๆ ที่บ้านใกล้พอเดินทางไปกลับเองได้ ตรงนี้คงไม่มีปัญหาเรื่องค่าเดินทางเท่าไหร่ อย่างน้อยก็อาจมีหงุดหงิดกับการขึ้นรถหลายต่อ หรือถ้าขับรถเองก็อาจมีเหวี่ยงกับค่าน้ำมัน เจอรถติดบ้างเป็นบางเวลา แต่กับคนบ้านไกล ต้องเดินทางมาเรียนต่างจังหวัด ตอนอยู่หอก็ไม่เปลืองหรอกค่ะ แต่พอกลับบ้านทีคือแทบจะกลั่นน้ำตาออกมาแทนเงิน หมดไปเยอะมาก ทั้งค่ารถไฟ รถทัวร์ หรือ ค่าเครื่องบิน ถ้าไม่มีโปรโมชั่นมาช่วย น้ำตาต้องไหลเยอะกว่านี้แน่ๆ

7. รายจ่ายด้านความสวยความงาม


          เข้าสู่มหา'ลัยหลายๆ คนก็เริ่มรู้ตัวว่า มันถึงเวลาแล้วแหละที่เราต้องหันมาดูแลรูปลักษณ์ตัวเอง จากเด็กมัธยมฯ มอมแมมก็ต้องกลายเป็นเฟรชชี่หน้าใส จากเด็กหน้าสดก็เปลี่ยนมาเป็นหน้าเต็มตลอด พวกผลิตภัณฑ์อะไรที่เพื่อนๆ มาแชร์กันแล้วบอกว่าดี บางคนนี่รีบตามไปหาซื้อมาใช้ หมดเงินไปเยอะ ถึงขั้นตัดพ้อว่า แทบกินเครื่องสำอางแทนข้าวแล้วเนี่ย!

8. รายจ่ายด้านการสื่อสาร

          สมัยนี้ใครเดินๆ อยู่ไม่มีโทรศัพท์ติดตัวนี่ชีวิตแทบลำบากเลยนะคะ บางทีเวลามาเรียนเราก็ต้องมีโทรศัพท์ไปพูดคุยมุ้งมิ้งกับคนสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ เพื่อนในแกงค์ก็เลยจัดแพ็คเกจโทรศัพท์มาใช้ แต่จะเลือกโปรถูกๆ มาใช้ก็ได้ฟังก์ชันไม่ครบ โทรถูกแต่เน็ตแพ้งแพง หรือมีเน็ตเล่นแต่โทรสิบนาทีหมด เป็นต้น ดังนั้นกว่าจะได้โปรโมชั่นถูกใจ ก็เสียไปหลายร้อย ยิ่งถ้าใช้แบบไม่ระวัง เผลอใช้เน็ตเพลินแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว สติกลับมาก็ตอนที่ค่าโทรศัพท์พุ่งไปหลักพันแล้วนั่นแหละ OMG!!!

9. รายจ่ายเรื่องเที่ยว


          พี่เมก้าก็เข้าใจว่าอยู่มหา'ลัยปี 1 เวลาว่างยังมากอยู่ บางทีน้องๆ ก็อยากพักผ่อน ออกไปสำรวจโลกกว้างหาประสบการณ์หรือออกไปเที่ยวบ้าง การหาความสุขใส่ตัวมันไม่ใช่เรื่องผิดหรอกค่ะ แต่บางทีเราก็ต้องแคร์จำนวนเม็ดเงินในกระเป๋าสตางค์ด้วย บางคนเที่ยวหนัก กว่าจะรู้ตัวก็ตอนที่ไม่มีเงินกินข้าวนั่นล่ะ

10. รายจ่ายเรื่องเสื้อผ้า

          ไม่นับชุดนักศึกษาที่น้องๆ ต้องจ่ายเป็นหลักอยู่แล้วนะคะ แต่เป็นค่าบริการซัก อบ แห้งใต้หอพักกับค่าช้อปปิ้งเสื้อผ้าตามตลาดนัดมหา'ลัย บรรยากาศแบบนี้พี่เมก้าเห็นจนชินตาจากกลุ่มเพื่อนๆ เกิร์ลแกงค์นั่นเอง ชอบเดินดูเสื้อผ้าเครื่องประดับมากกก ทุกครั้งก็จะบอกว่าดูอย่างเดียว แต่พอเดินไปเจอของถูกเข้าหน่อยก็ตาวาว รีบเข้าไปซื้อจนเงินเกลี้ยงกระเป๋าเลยค่ะ 

          หลังจากดู 10 รายจ่ายในมหา'ลัยไปแล้ว น้องๆ อาจจะเกิดความกลัว ไม่อยากใช้เงินแบบขาดสติมากมาย พี่เมก้าก็มี "3 วิธีประหยัดเงินแบบไม่ทรมานตัวเอง" มาฝากด้วยค่ะ รับรองว่าง่ายและได้ผลชะงัด

1. วางแผนการใช้เงิน


 
          เริ่มต้นจากการหาสมุดเล่มเล็กน่ารักๆ มาลิสต์ของใช้ที่เราจำเป็นต้องซื้อ ระหว่างใช้เงินก็ลองสำรวจตัวเองไปด้วย โดยการเขียนบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่ผ่านมาของเราในแต่ละวัน น้องจะเห็นความสุรุ่ยสุร่ายของตัวเอง ของบางอย่างเป็นอะไรที่ไม่จำเป็นเลย พยายามขีดฆ่ามันออกไป แล้ววางแผนการใช้เงินใหม่ให้รอบคอบมากกว่าเดิม น้องจะใช้จ่ายได้เป็นระเบียบมากขึ้น เป็นการฝึกประหยัดแบบค่อยเป็นค่อยไปค่ะ

2. ตั้งเป้าหยอดกระปุก

          เริ่มต้นจากการสะกดจิตตัวเองว่า เราตั้งใจจะออมเงินไว้หยอดกระปุก ถ้าเก็บเงินครบเราจะให้รางวัลตัวเองด้วยการซื้อของที่อยากได้ 3 อย่าง คิดแบบนี้น้องจะมีความรู้สึกว่าต้องรีบเก็บเงินให้ได้มากที่สุด หลังจากนี้วิธีประหยัดมันจะตามมาเองค่ะ อย่างเพื่อนพี่เมก้าตั้งใจว่าจะหยอดวันละ 100 เงินที่ใช้จ่ายซื้อของในแต่ละวันก็จะถูกควบคุม ซื้อของลดราคาบ้าง ของ 1 แถม 1 บ้าง (ถูกและดี) เราจะเห็นคุณค่าของเงินมากขึ้นค่ะ

3. ลดความอยาก ลดความสบาย


 
          น้องๆ เคยถามตัวเองมั้ยที่เราใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือยเป็นเพราะอะไร ส่วนใหญ่มันมาจากกิเลสในใจเราล้วนๆ ต้องเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากตัวเองนี่แหละ แค่ค่อยๆ ลดความอยากลงไปให้เหลือแต่ความพอดีค่ะ สมมติอยากกินของอร่อยราคาแพงก็ลองเปลี่ยนเป็นของอร่อยราคาย่อมเยา นั่งมอไซด์ระหว่างตึกเรียนทุกวัน ก็เปลี่ยนมาเดินบ้าง เป็นการออกกำลังกายไปในตัว หรือ จ้างร้านซักผ้าทุกครั้ง ก็ลองเปลี่ยนมาลองซักเองดูบ้างค่ะ ฝึกงานบ้านไว้ก็เป็นประโยชน์กับตัวเองค่ะ 

          เป็นไงบ้างคะน้องๆ นี่ก็เป็น 10 ค่าใช้จ่ายแบบเด็กมหา'ลัย ที่พี่เมก้ารวบรวมมาไว้ให้ดูกันเนอะ บางเรื่องเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บางเรื่องก็ขึ้นอยู่ที่ตัวเราล้วนๆ ว่าจะคุมตัวเองให้ใช้จ่ายเงินที่อยู่ในมือไว้ได้มากแค่ไหน ลองวางแผนค่าใช้จ่ายดีๆ ก็ช่วยได้ค่ะ ใครมีเทคนิคประหยัดเงินแบบเก๋ไก๋ลองมาแชร์กันนะ!

 

 
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

8 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
พัท 24 มี.ค. 59 23:27 น. 7
คณะเราให้จ่ายเดือนละ 500 บาท ยังไม่รวม ค่าแต๊งพี่ ค่าบายเนีย ค่ากิจกรรม ค้านู้น ค่านี่ ค่านั่น ดูแค่ค่าเทอมไม่พอจริงๆอยากเตือนให้เก็บเงินกันเยอะๆนะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด