เย่ๆ ใกล้เปิดเทอมแล้ว ว่าที่เฟรชชี่คงตื่นเต้นกันมากเลยใช่มั้ยคะ ช่วงแรกเราอาจรู้สึกว่าไม่อยากเจอใครเลย แค่เพื่อนร่วมคณะร่วมสาขากันก็จำแทบไม่หวาดไม่ไหวแล้ว แต่พอเวลาผ่านไปอาจจะเริ่มเอะใจว่า เอ๊ะ! ทำไมเราไม่มีเพื่อนต่างคณะเลย อยากรู้จังคณะอื่นเค้าเรียนอะไรกันบ้าง    


 
        การมีเพื่อนต่างคณะดีตรงที่เราได้แลกเปลี่ยนมุมมองการเรียนกับเพื่อนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรากับเพื่อนเรียนคณะข้ามสายกัน เพื่อนไปทางวิทย์ เราไปทางศิลป์ เวลาเม้าท์มอยกันจะมันส์มากเลย วันนี้พี่เมก้าเลยจัด 8 วิธีหาเพื่อนต่างคณะ มาให้ได้ลองทำกัน รับประกันว่าเพื่อนเพียบ!
    

1. แจมทุกงานตามกิจกรรมเฟรชชี่
        กิจกรรมเฟรชชี่มีอะไรบ้าง? เริ่มตั้งแต่วันแรกพบ รับน้องมหา'ลัย เฟรชชี่เดย์-ไนท์ เฟรชชี่เกม ฯลฯ กิจกรรมสำหรับน้องๆ ปี 1 มีเยอะมากเลยค่ะ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกทำกิจกรรมอะไร น้องบางคนอุทิศตัวเองเพื่อคณะเลย เลือกเข้าเฉพาะบางงานที่คณะจัดขึ้นเท่านั้น Don't Care เพื่อนคณะอื่นเลย แต่ก็มีอีกหลายคนที่อยากมีเพื่อนต่างคณะบ้าง เพื่อจะได้มีเครือข่ายเพื่อนๆ ไว้คอยช่วยเหลือกันเวลาทำงานในอนาคต ก็เลยต้องอาศัยแจมไปตามงานนู้นงานนี้นี่แหละค่ะ

        ขอบอกว่าไม่มีผิดหวัง เพราะกิจกรรมเฟรชชี่หลายงานได้รวมพลเด็กทุกคณะไว้ในที่เดียวกันแล้ว เวลาเข้ากิจกรรมส่วนใหญ่รูปแบบงานจะเน้นกลุ่มสัมพันธ์จัดให้เฟรชชี่อยู่คละคณะกัน เราเลยได้เพื่อนใหม่กลับมาเยอะมากกก บางคนคบกันตั้งแต่รับน้องยันจบมหา'ลัยไปจนทำงานเลย ^^ 


2. ยื่นใบสมัครขอเป็นสมาชิกชมรม
        ถ้าอยากมีเพื่อนต่างคณะ การเข้าชมรมในที่นี้ต้องเป็นชมรมกลางของมหาวิทยาลัยด้วยค่ะ ไม่ใช่ชมรมของคณะเพียงอย่างเดียว เพราะชมรมกลางของมหา'ลัย จะที่สมาชิกที่มาจากต่างคณะเข้าไว้ด้วยกัน แต่ถ้าเป็นชมรมที่ก่อตั้งโดยคณะ สมาชิกส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นคนในคณะนั่นแหละ โอกาสน้อยมากเลยที่เพื่อนๆ จากคณะอื่นจะมาแจมกับชมรมเรา 
 


 
        ชมรมกลางของมหา'ลัย โดยส่วนมากก็จะแบ่งเป็นชมรมกีฬา ศิลปวัฒนธรรม และบำเพ็ญประโยชน์ สมาชิกในชมรมจะต้องผ่านการทำงานร่วมกัน เจอทั้งงานหนักงานยากมาด้วยกัน พี่เมก้าแอบเห็นเพื่อนที่เข้าชมรมมหา'ลัย เพื่อนเยอะจริงไรจริง ไปไหนมีแต่คนทักอะค่ะน้องๆ และที่สำคัญเพื่อนต่างคณะจากชมรม เราจะได้เพื่อนที่ไลฟ์สไตล์และความชอบแบบเดียวกัน ยิ่งคุยกันง่ายขึ้นด้วยนะ

3. แสดงพลังนักศึกษาในมหา'ลัย
        แสดงพลังนักศึกษาในทีนี้ น้องๆ อย่าเพิ่งนึกถึงการตั้งม็อบประท้วงนะคะ แต่สนับสนุนให้น้องๆ แสดงพลังของตัวเองออกมาในทางที่สร้างสรรค์ เช่น การเข้าร่วมเป็นสมาชิกหนึ่งในองค์กรนักศึกษา (สภานักศึกษา สโมสรนักศึกษา) ทำหน้าที่ดูแลและสร้างสรรค์การจัดกิจกรรมต่างๆ ให้กับเพื่อนนักศึกษาทั้งมหา'ลัย งานนี้ถ้าไม่ได้เจอเพื่อนต่างคณะเลยก็เกินไปแล้วค่ะ เพราะเราทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้อื่นเยอะมาก

        สำหรับน้องปี1 ที่รักการทำกิจกรรมมาก มีผลงานโดดเด่นเข้าตาพี่ๆ สภานักศึกษาหรือสโมสรนักศึกษาประจำมหา'ลัย พี่เมก้าขอเดาไว้เลยว่าน้องๆ ต้องได้รับการทาบทามเข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการแน่นอน! รับประกันว่าเพื่อนต่างคณะห้อมล้อม เพราะทีมงานชุดหนึ่งมีนักศึกษาร่วมคณะเดียวกันได้เพียง 1-2 คนเท่านั้นค่ะ


4. ออกค่ายมหา'ลัยช่วงปิดเทอม
        ช่วงปิดเทอมใหญ่ระหว่างปี 1 ขึ้นปี 2 เป็นช่วงเวลาที่เหล่าเฟรชชี่ยังว่างอยู่ เพราะหยุดยาวตั้ง 3 เดือน! หลายคนเลยถือโอกาสวางแพลนว่าปิดเทอมนี้จะทำอะไรดี ลงเรียนซัมเมอร์ดีมั้ย? (อ๊ะๆ แอบเห็นว่าส่ายหัวกันใหญ่เลย) ส่วนใหญ่มักจะคิดตรงกันว่าเวลานี้เหมาะกับการออกค่ายมากที่สุด เพราะความรับผิดชอบยังน้อยอยู่ เรียนไม่หนักมาก ถ้าปีสูงกว่านี้ปิดเทอมเราอาจจะต้องมานั่งหลังขดหลังแข็งทำงาน ไม่ก็ลงเรียนภาคฤดูร้อนเตรียมสอบแก้ตัว T__T


 
        การออกค่ายมหา'ลัยในช่วงปิดเทอม ไม่ว่าจะเป็นค่ายอาสา ค่ายฝึกจิต ค่ายต่างประเทศ ฯลฯ จึงเปรียบเสมือนจุดนัดพบของเฟรชชี่ เราไปร่วมค่ายแบบสบายๆ ถือโอกาสเฮฮาปาร์ตี้ไปพร้อมกัน พี่เมก้าเชื่อว่าค่ายนี้จะทำให้น้องๆ ได้พบปะเพื่อนๆ และรุ่นพี่ใจดี๊ใจดีที่คอยซัพพอร์ตเราจากหลากหลายคณะเลยค่ะ

5. เดินสายประกวดทุกเวทีมหา'ลัย
        ข้อนี้ขอท้า! ถ้าอยากมีเพื่อนต่างคณะ เราก็ต้องวางตัวให้เป็นที่รู้จัก ไม่ต้องสวยหล่อเหมือนดารา แต่ความสามารถก็ทำให้เรา ปัง! ได้ อย่างน้อยการเดินสายประกวดตามเวทีต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ก็ทำให้เราได้รู้จักกับเพื่อนผู้เข้าประกวดจากต่างคณะ ได้ลองเก็บตัวและร่วมทำกิจกรรมสนุกๆ ด้วยกัน ที่มากไปกว่านั้นหลังจากประกวดเสร็จเรียบร้อย ความสามารถของเราอาจจะไปถูกตาต้องใจใครหลายคน จนมีเพื่อนจากต่างคณะเข้ามาทักทายทำความรู้จักก็ได้ งานนี้ได้เพื่อนกลับมาเป็นโขยง

        น้องคนไหนที่กล้าแสดงออกก็แสดงศักยภาพของเราออกมาเลยค่ะ มีงานประกวดที่ไหน ไม่ว่าจะดาวเดือน-ดาวเทียม ทูตวัฒนธรรม ทูตกิจกรรม รวมถึงการแข่งขันร้องเพลง-วงดนตรีต่างๆ ก็รีบยื่นใบสมัครเข้าไปมีส่วนร่วมเลย โอกาสดีๆ ไม่ได้เดินทางมาหาเราง่ายๆ เราอาจได้เพื่อนที่ดีสักคนมาเป็นรางวัลก็ได้นะคะ


6. ใช้กีฬาและสุขภาพเรียกเพื่อน
        เดี๋ยวนี้เทรนด์รักษาสุขภาพกำลังมาแรง หันไปทางไหนก็เห็นทุกคนอวยพรกันขอให้ Happy, Healthy and Lucky วิธีหาเพื่อนต่างคณะที่พี่เมก้าคิดว่าได้ผลดีที่สุดวิธีหนึ่งสำหรับน้องเฟรชชี่ก็คือการใช้กีฬาและสุขภาพเป็นสื่อกลางนั่นเอง จำได้ว่าตอนที่เรียนปี 1 หลังเลิกเรียนช่วงเย็นนี่ ศูนย์กีฬาทั้งในร่มและสนามกีฬากลางแจ้งคนแน่นมากกก เพื่อนทั้งหญิงชายทั้งในคณะนอกคณะ จะพร้อมใจกันชวนไปเล่นบาส ตีแบด เตะบอล โยนเปตอง แม้กระทั่งโยคะเบาๆ ก็มี เรารวมแก๊งกันจากกีฬานี่แหละค่ะ


 
        พี่เมก้าเชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงแอบคิดกันแน่ๆ ว่าศูนย์กีฬาต้องตกเป็นของคณะวิทย์กีฬาเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้วกว่าครึ่งสนามบอลนี่ถูกยึดครองโดยว่าที่คุณหมอและว่าที่นายช่างใหญ่ค่ะ เลี้ยงบอลได้เฟี้ยวฟ้าวมากๆ ไม่รู้ว่าไปฝึกมาจากสำนักไหน ^W^ ใครอยากมีเพื่อนต่างคณะเยอะๆ ก็มาขอแจมเลย เล่นกีฬาด้วยคนสิ  
 

7. วิชาเรียนรวม&นอกคณะช่วยได้
        สำหรับมหา'ลัยที่มีวิชาเรียนรวม คือเปิดให้นักศึกษาทุกคณะได้มาเรียนวิชาพื้นฐานร่วมกันตอนปี 1 เป็นโชคดีของน้องแล้วค่ะ เพราะหาเพื่อนต่างคณะได้ง่ายมากกก พี่เมก้าก็ได้รู้จักเพื่อนนอกคณะน่ารักๆ จากวิชาเรียนรวมนี่แหละ แต่ถ้ามหา'ลัยไหนไม่มีวิชาเรียนรวมก็ไม่ต้องเสียใจไป ยังมีอีกทางเลือกคือลงวิชาเลือกเสรีนอกคณะ พูดง่ายๆ ก็คือ คณะอื่นเปิดวิชาสอน แล้วเราไปลงเรียนนั่นเอง นอกจากตอบโจทย์ด้านความรู้ที่ต้องการแล้ว ยังได้เพื่อนต่างคณะกลับมามากมายด้วย

        ความจริงแล้วพอได้ยินคำว่า เลือกเสรีข้ามคณะ น้องหลายคนมักจะกลัวไปก่อน กลัวโดนรุม ต้องหาพวกไปเรียนด้วย ถ้าตารางลงล็อกก็โชคดีไปค่ะ แต่ถ้าวิชานั้นเป็นวิชาที่เราอยากเรียนจริงๆ แล้วปรากฎว่าเพื่อนตารางชน เราต้องไปเรียนคนเดียว ถึงจุดนี้ก็ต้องสตรองนะคะ เราไปหาเพื่อนใหม่เอาข้างหน้าก็ได้ค่ะ 


8. เพื่อนช่วยเพื่อน! ต้องมีแม่สื่อ
        นี่เป็นวิธีหาเพื่อนต่างคณะที่ง่ายที่สุดเลยค่ะน้องๆ ให้เพื่อนเป็นแม่สื่อนั่นเอง เดี๋ยวก่อน! แม่สื่อในที่นี้ไม่ใช่บริการหาคู่นะ เป็นเหมือนการแนะนำเพื่อนให้มารู้จักกันมากกว่าค่ะ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะได้เพื่อนต่างคณะมาแบบไม่รู้ตัว เช่น เพื่อนซี้แนะนำให้รู้จักเพื่อนต่างคณะร่วมเซคหรือเพื่อนเก่าตั้งแต่มัธยมฯ เราก็อาจจะมีเพื่อนใหม่เพิ่มมาอีกหนึ่งคน เป็นเพื่อนของเพื่อนนั่นเอง พอรู้จ้กกันแล้ว ถ้าอยากเพิ่มความสนิทให้มากขึ้นก็อาจมีมีตติ้ง นัดไปดินเนอร์บ้าง ติวหนังสือด้วยกันบ้าง


 
        พี่เมก้าขอยืนยันว่าการได้ใช้เวลาร่วมกัน ทำให้มิตรภาพระหว่างเพื่อนแน่นแฟ้นมากขึ้นนะคะ เพื่อนต่างคณะบางคนของพี่เมก้าก็มาจากการที่เพื่อนซี้แนะนำให้รู้จักอยู่เหมือนกัน ขอบอกว่าการมีเพื่อนเยอะไม่ใช่การเพิ่มเติมบารมี แต่เป็นการเพิ่มเติมความสุขในชีวิตเราค่ะ

        ส่วนใหญ่พี่เมก้าพบเพื่อนต่างคณะจากการทำกิจกรรมทั้งนั้นเลย เจอกันตอนรับน้องบ้าง ออกค่ายบ้าง ลงวิชาเรียนบ้าง ยิ่งได้คุยกับเพื่อนที่เรียนคนละสาย ยิ่งได้รู้เลยว่าแต่ละคณะผ่านความสาหัสสากรรจ์มาไม่แพ้กันเลยจริงๆ

        พอเรียนจบพี่เมก้าก็มีเพื่อนจากหลากหลายอาชีพเลยค่ะ ทั้งเป็นครู หมอ พยาบาล เภสัชกร นักเขียน ล่ามภาษามือ แอร์โฮสเตส ทุกคนสุดยอดมากเป็นทั้งเพื่อนที่ดีและเพื่อนที่เก่ง พี่เมก้าก็อยากให้น้องๆ สร้างความทรงจำที่สวยงามกับเพื่อนทั้งในและนอกคณะไว้แบบนี้เช่นกัน ^^

 
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
ไม่มีตัวตน 22 ม.ค. 60 21:48 น. 2
แค่เป็นมนุษย์สัมพันธ์ดีเดียวก็ได้เพื่อนเองแค่นี้ล่ะไม่ต้องทำไรมากข้อเดียวจบทั้งสูตรเยี่ยม
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด