เอ้า! ปี๊ดๆ สู้ๆ!! ปี๊ดๆ สู้ตาย!!! ปี๊ดๆ ไว้ลาย!!!! ปี๊ดๆ สู้ๆ!!!!! ขณะที่กำลังเชียร์น้องๆ มัธยมฯ เดินทางเข้าสู่สนามสอบปลายภาคอย่างเต็มรูปแบบ พี่ๆ มหา'ลัยก็กำลังสนุกกับการเรียนกันอย่างเข้มข้นเลยนะคะ


 
         ถ้าอยากรู้ว่าพี่ๆ เรียนอะไร เรียนหนักขนาดไหน ตามไป แอบส่อง 8 รูปแบบการเรียนมันส์ๆ สไตล์เด็กมหา'ลัย กันเลยค่ะ รับรองว่างานนี้น้องๆ มัธยมฯ จะเหมือนได้เปิดโลกใหม่แห่งการเรียนรู้เลยแหละ

รูปแบบที่ 1 : ฟังบรรยาย
         วิชาเรียนของปี 1 ส่วนใหญ่อาจารย์จะปูพื้นความรู้ให้แน่นก่อนค่ะ เวลาเรียนชั้นปีสูงขึ้นไป จะได้มีความพร้อมสำหรับเรียนเนื้อหาหลักตามศาสตร์ของวิชานั้นๆ คล้ายกับเวลาที่น้องๆ นั่งฟังคุณครูพูดตอนเรียนมัธยมฯ เลยนะคะ เรียนเนื้อหา ม.4 จบ ก็ต่อด้วย ม.5 ไปเรื่อยๆ แต่จุดพีคมันอยู่ตรงที่ เราต้องมานั่งฟังเนื้อหาบรรยายแบบอัพเลเวลขึ้นมาก จนบางทีก็นึกสงสัยว่านี่เรียนอะไรกันอยู่! เคมี ม.ปลาย กับ เคมี มหา'ลัย ทำไมมันต่างกันราวฟ้ากับเหว! ความมันส์ก็อยู่ที่วิธีรับมือกับการเรียนแบบบรรยายในแต่ละวิชานี่แหละค่ะ บางวิชาต้องขยันจดเลคเชอร์ให้เร็วหน่อย ตามอง หูฟัง มือปั่นยิกๆ แต่บางวิชาก็สนุกกับการบังคับหนังตาตัวเองไม่ให้ปิด สักครั้งในชีวิต ต้องลองให้ได้นะ!   

รูปแบบที่ 2 : อภิปรายกลุ่มย่อย
         เป็นการเรียนอีกรูปแบบหนึ่งที่น้องๆ เฟรชชี่น่าจะชอบ เพราะสนุกจนเหมือนไม่ได้เรียนเลยค่ะ อาจารย์จะสอนเนื้อหาที่เป็นทฤษฎีล้วนๆ ให้จบก่อน พอเห็นนักศึกษาเริ่มปรือตาเลื้อยตัวไปตามโต๊ะ ก็จะปรบมือ "มาๆๆ จัดโต๊ะเป็นวงกลม นั่งวงละ 8-10 คน" แล้วให้เรากับเพื่อนนั่งจ้อกันในเรื่องที่เรียนมา คาบนี้เรียนอะไรกันบ้าง? เราได้อะไรจากการเรียน? ได้ความสนุก ได้ความรู้ใหม่ๆ บลาๆๆ หรือบางทีอาจารย์ก็ให้เล่าเรื่องของตัวเอง แชร์ประสบการณ์กันเลย ได้มานั่งฟังเรื่องเล่า ฟังความคิดเห็นของเพื่อนเพลินๆ เผลอแป๊บเดียวหมดคาบ ^^ แต่การเรียนแบบนี้มีอยู่คนหนึ่งที่จะไม่ชอบ คนที่ต้องสรุปประเด็นส่งอาจารย์นี่แหละค่ะ คือคุยกันเละเทะจนไม่รู้จะจดอะไรลง A4 เลย (- -'')

รูปแบบที่ 3 : อภิปรายปัญหา


 
         คล้ายกับอภิปรายกลุ่มย่อย แต่อภิปรายปัญหาจะเป็นอะไรที่เราลงไปมันส์กับเรื่องที่เรียนได้เต็มที่มากขึ้นค่ะ การเรียนรูปแบบนี้จะปักธง "ปัญหา" เป็นแรงขับเคลื่อน แล้วอาจารย์ก็จะให้เราแบ่งกลุ่มเหมือนเดิม (บางครั้งอาจเจอสุ่ม) พอจับแต่ละกลุ่มครบเรียบร้อย ก็เดินมารับโจทย์ปัญหาไปเป็นเคสๆ เช่น กลุ่มพี่เมก้าได้โจทย์ "เมก้าติด F ทุกเทอม" (- -') เรากับเพื่อนก็ต้องมานั่งคิดแล้วว่า ทำไมเมก้าถึงติด F ? มีสาเหตุมาจากอะไร? เราจะช่วยเมก้ายังไง? จะเปลี่ยนจาก F ทุกเทอม เป็น A ทุกเทอมได้ไหม? ซึ่งกว่าจะไปถึงขั้นตอนที่แก้ปัญหาได้เสร็จสรรพ ก็ต้องผ่านกระบวนการคิดตามที่อาจารย์ชี้แนะไว้ แล้วพอท้ายคาบ เราก็ค่อยแยกย้ายไปหาข้อมูล เตรียมทำสไลด์มาแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนกลุ่มอื่นๆ ค่ะ มันสนุกตรงที่บางครั้งเราได้แก้ปัญหาแปลกๆ นี่แหละ

รูปแบบที่ 4 : เรียนแบบทีม     
         "คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย สิบคนสบาย!" เอ๊ะ! ยังไง เพื่อนและทีมเวิร์กที่ดี เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเรียนมหา'ลัยเลยนะคะ การเรียนแบบทีมนี้ เริ่มแรกอาจารย์ก็จะให้นักศึกษาต่างคนต่างเก็บเนื้อหาที่เรียนให้เข้าใจก่อนค่ะ จากนั้นก็จะให้เราแยกย้ายกลับไปอ่านหนังสือ เพื่อนำความรู้มาสอบว่า "เข้าใจจริง ไม่มั่วนิ่มนะ" ซึ่งผลก็จะออกมาอย่างที่เห็น สอบเดี่ยวคะแนนเน่ามาก คราวนี้อาจารย์ก็จะให้โอกาสเรา กลับไปรวมกลุ่มกับคุณเพื่อนซี้ทั้งหลาย แล้วมาทำข้อสอบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสอบคราวนี้ สังเกตได้ว่า เราจะมีความมั่นใจขึ้นกว่าเดิม! เพราะเพื่อนเราเทพ!! ไม่ใช่!!! เป็นความสบายใจมากกว่าว่ามีเพื่อน เราต้องผ่านไปได้ค่ะ แม้ว่ามันอาจจะเป็น "ข้อสอบสุดโหดชุดเดิม" หรือ "ข้อสอบชุดใหม่ไฉไลกว่าเดิม" ก็ตาม =_=


รูปแบบที่ 5 : เรียนปฏิบัติ
         เรียนทฤษฎีกันมาหลายวิชาแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาที่น้องๆ จะได้ลงไปฝึกปฏิบัติกันอย่างเต็มตัวค่ะ อย่างถ้าน้องๆ เรียนหมอก็จะได้ฝึกปฏิบัติงานที่เหมือนแพทย์จริงๆ มีการไปดูงานตามโรงพยาบาล เรียนรู้วิธีดูแลรักษาคนไข้ ฯลฯ เรียนวิศวะฯ ก็จะได้ไปจับเครื่องมือจริงๆ ในห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ ได้ฝึกเขียนแบบวิศวกรรม ฯลฯ เรียนสถาปัตย์ฯ อื้อหือ! แทบจะออกแบบสถาปัตยกรรมเกือบทุกวัน แถมต้องทำให้เสร็จภายในเวลาจำกัดด้วย TOT เรียนบริหาร ก็ได้ลองแชร์ไอเดีย ได้สร้างสรรค์ผลงานธุรกิจขนาดย่อมของตัวเอง หรือ เรียนธุรกิจการบินก็มีเครื่องบินจำลองจริงๆ ให้ได้ฝึกปฏิบัติกัน เรียกว่าฝึกไปฝึกมาจนน้องบางคนนี่เชี่ยวชาญ พร้อมทำงานตั้งแต่ปี 1 เลยนะคะ ^^

รูปแบบที่ 6 : ลงภาคสนาม


 
         บางครั้งการกำหนดกรอบให้นักศึกษานั่งเรียนอยู่แค่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ก็ดูจะเป็นอะไรที่น่าเบื่อเกินไป อาจารย์เลยเปิดโอกาสให้เราได้ออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในโลกภายนอกมหาวิทยาลัย ลองออกไปสำรวจแล้วเก็บข้อมูลมาซิว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนรอบมหา'ลัยเป็นอย่างไร? มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่น่าสนใจอะไรบ้าง? มีปัญหาอะไรที่เราพอช่วยเหลือได้ไหม? ส่วนใหญ่ภารกิจที่อาจารย์มอบหมาย ก็จะเป็นการออกไปทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ต่างๆ นี่แหละค่ะ ความสนุกก็อยู่ตรงที่ เราได้นำความรู้ในห้องเรียนมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในชีวิตจริงได้อย่างแท้จริง ทั้งได้สนุกกับเพื่อน ได้ลองอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ เป็นการเรียนที่คุ้มค่ามากๆ

รูปแบบที่ 7 : เรียนด้วยโครงงาน
         ต้องบอกก่อนว่ามีวิชาแบบนี้อยู่จริงๆ ในโลกมหาวิทยาลัย เรียนทั้งเทอมเพื่อตั้งใจให้นักศึกษา สร้างสรรค์โครงงานแบบเป็นชิ้นเป็นอันด้วยตัวเอง โดยการเรียนแบบโครงงานนี้ อาจารย์ก็จะเริ่มต้นจากการสอนทฤษฎีความรู้ต่างๆ ให้เราก่อนค่ะ เมื่อความรู้แม่นเป๊ะแล้ว ก็จะมาถึงขั้นตอนการจับกลุ่ม และวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบระเบียบว่า นักศึกษาจะพร้อมสำหรับลงมือทำโครงงานเมื่อไหร่ ซึ่งกำหนดส่งงานมาแล้ว แต่นาทีนีหัวข้อยังไม่ผ่านเลยจ้าาา สรุปเลยว่ากว่าจะไปถึงขั้นที่น้องๆ ต้องเจอกับความโหดความมันส์ของการทำโครงงานชิ้นแรก น้องและเพื่อนต้องวางคอนเซปต์งานให้ชัด เตรียมข้อมูลมาเสนอหัวข้อกับอาจารย์ให้พร้อมก่อน เพราะความเหนื่อยมันอยู่แค่ช่วงแรกนี่แหละค่ะ ไฟต์ยังไงอาจารย์ก็ไม่ปล่อยผ่านสักที =_= แต่พอผ่านไปได้ ได้มีผลงานเจ๋งๆ ที่สร้างขึ้นจากแรงของเราเอง มันชื่นใจมาก :D 

รูปแบบที่ 8 : ศึกษาค้นคว้าอิสระ
         นี่อาจเป็นวิชาที่น้องๆ เฟรชชี่คุ้นเคยกันมาเป็นอย่างดี เพราะเจอกันมาตั้งแต่มัธยมฯ เลยนะคะ สำหรับการเรียนแบบศึกษาค้นคว้าอิสระ หรือเจ้า IS แอบได้ยินน้องๆ กระซิบว่า ทำรายงานมาหนักหน่วงมาก แต่เจอมาหนักแค่ไหนก็เป็นแค่น้องๆ ของการเรียนระดับมหาวิทยาลัย เพราะ IS นี้ เป็นวิชาที่เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ศึกษาค้นคว้าความรู้ตามสิ่งที่เราสนใจได้แบบอิสระเลย แต่รูปเล่มรายงานหนักมาก TOT เริ่มแรกอาจารย์อาจจะปูพื้นทฤษฎีสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเรียนก่อนค่ะ แต่หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของน้องๆ ที่ต้องตามไปสืบค้นข้อมูลในประเด็นต่างๆ ตามโครงร่างที่เคยขอคำปรึกษาหรือได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ประจำวิชาไว้  กว่าจะได้ออกมาเป็นรูปเล่มผลงานที่สวยงามสมบูรณ์ ต้องเสียน้ำตา+เสียเหงื่อไปหลายหยดเลย

          ทั้งหมดนี้ก็เป็น 8 สไตล์การเรียนฉบับเด็กมหา'ลัย ที่พี่เมก้านำมาแชร์ให้กับน้องๆ นะคะ น้องคนไหนกล้าการันตีว่า รูปแบบการเรียนของคณะตัวเอง สุดยอดแห่งความล้ำไม่ซ้ำใคร แวะเข้ามาพูดคุยกันได้เลยค่ะ

 
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

รัตนปาตี 11 ต.ค. 59 17:18 น. 2
เราเรียนวิชาภาษาฝรั่งเศสที่มหาลัย เทอมนี้ลง1ตัว ภาษาฝรั่งเศส1 3หน่วยกิต 3(2-2-5) นักศึกษา26ชีวิต เป็นเรียนไวยากรณ์ 2คาบ อาจารย์เดินตรวจการบ้านในหนังสือตัวต่อตัวทุกคาบ คือเป็นการบังคับว่าต้องทำการบ้าน และหาคำศัพท์ และเรียนฟังพูด2คาบ เป็นฟัง1คาบ โดยคาบฟังเรียนที่ห้องแล็บภาษา จะได้ฟังทั้งเพลง บทสนทนา และเวลาสอบเขียนตามคำบอก หรือที่คนเรียนฝรั่งเศสเรียกว่าDictée ก็สอบคาบนี้ โดยอาจารย์จะเปิดเทป1เรื่องให้ฟัง และฟังอีกรอบแล้วเขียน จากนั้นจะซ้ำอีก3รอบ ออกจากห้องมาโอดครวญถ้วนหน้า 555 ส่วนคาบพูดแบ่งเป็น2กลุ่มเพื่อคุณภาพ โดยลงกลุ่มไหนก็ได้ แล้วแต่นักศึกษาว่ามีเรียนคาบต่อไปกี่โมง โดยคาบนี้ทุกคนต้องพูดฝรั่งเศส ไม่พูดไม่ได้คะแนน และจะมีงาน เช่น จับกลุ่มแต่งบทสนทนา หารูปภาพมาแล้วช่วยกันอธิบายในห้องเป็นภาษาฝรั่งเศส เป็นความท้าทายของชีวิต แม้ว่าบางอย่างจะเคยเจอตอนเรียนภาษาฝรั่งเศสตอนม.ปลาย 5555
0
กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

Melody warty Member 24 ก.ย. 59 16:38 น. 1

ยังไม่เด็ดเท่าการบ้านหรอก555 การบ้านที่มหาวิทยาลัยเราโดยเฉพาะวิชาในสาขา อาจารย์สั่งโดยที่เป็นการบ้านที่เป็นงานจริง คือเป็นการบ้านที่สามารถเจอได้ในสถานการณ์จริงในชีวิตการทำงาน บางทีเป็นการบ้านตอบคำถามแบบปลายเปิดที่ต้องโชว์ศักยภาพในการตัดสินใจ เหตุผลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ แถมงานตอนจบเทอมที่เรียกกันติดปากว่าโปรเจ็กต์นี่เป็นอะไรที่อภิมหายาก ต้องรวมความรู้ที่ได้เรียนมาทั้งเทอมมาทำในเวลาที่จำกัด 

#ทีมพระนครเหนือ

0
กำลังโหลด
รัตนปาตี 11 ต.ค. 59 17:18 น. 2
เราเรียนวิชาภาษาฝรั่งเศสที่มหาลัย เทอมนี้ลง1ตัว ภาษาฝรั่งเศส1 3หน่วยกิต 3(2-2-5) นักศึกษา26ชีวิต เป็นเรียนไวยากรณ์ 2คาบ อาจารย์เดินตรวจการบ้านในหนังสือตัวต่อตัวทุกคาบ คือเป็นการบังคับว่าต้องทำการบ้าน และหาคำศัพท์ และเรียนฟังพูด2คาบ เป็นฟัง1คาบ โดยคาบฟังเรียนที่ห้องแล็บภาษา จะได้ฟังทั้งเพลง บทสนทนา และเวลาสอบเขียนตามคำบอก หรือที่คนเรียนฝรั่งเศสเรียกว่าDictée ก็สอบคาบนี้ โดยอาจารย์จะเปิดเทป1เรื่องให้ฟัง และฟังอีกรอบแล้วเขียน จากนั้นจะซ้ำอีก3รอบ ออกจากห้องมาโอดครวญถ้วนหน้า 555 ส่วนคาบพูดแบ่งเป็น2กลุ่มเพื่อคุณภาพ โดยลงกลุ่มไหนก็ได้ แล้วแต่นักศึกษาว่ามีเรียนคาบต่อไปกี่โมง โดยคาบนี้ทุกคนต้องพูดฝรั่งเศส ไม่พูดไม่ได้คะแนน และจะมีงาน เช่น จับกลุ่มแต่งบทสนทนา หารูปภาพมาแล้วช่วยกันอธิบายในห้องเป็นภาษาฝรั่งเศส เป็นความท้าทายของชีวิต แม้ว่าบางอย่างจะเคยเจอตอนเรียนภาษาฝรั่งเศสตอนม.ปลาย 5555
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด