โค้งสุดท้าย! "พี่โฟล์ค" เผยเทคนิคพิชิต GAT 295 คะแนน พร้อมทริคค้นหาตัวเอง


          สวัสดีค่ะ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ แล้วนะคะ สำหรับการสอบ GAT PAT 1/2560 ที่กำลังจะสอบในสัปดาห์หน้า นอกจากเคล็ดลับและเทคนิคการสอบที่พี่ๆ เตรียมมาฝากน้องๆ ในทุกสัปดาห์แล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งเคล็ดลับจากรุ่นพี่ที่เคยผ่านสนามสอบ GAT PAT เตรียมมาเล่าเทคนิคและประสบการณ์ให้น้องๆ ฟังค่ะ
 

          Admission Idol วันนี้พี่อีฟขอพาน้องๆ ไปรู้จักกับ พี่โฟล์ค กฤตณัฐ จิรฐาวงศ์ รุ่นพี่จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ขอบอกเลยว่าเป็นคนที่มีความสามารถทั้งด้านการเรียน และด้านกิจกรรมค่ะ มาฟังเคล็ดลับเทคนิคของพี่โฟล์ค ที่เคยคว้าคะแนน GAT ได้มากถึง 295 คะแนน และคะแนน PAT3 ได้ 264 คะแนน ใครที่อยากเรียนวิศวะฯ ต้องตั้งใจฟังเป็นพิเศษเลยนะคะ ส่วนน้องๆ ที่สนใจคณะอื่น ก็เตรียมจดเทคนิคการอ่านดีๆ ที่พี่โฟล์คพร้อมมาแชร์ให้ฟัง ไปด้วยกันเลยค่ะ

 แนะนำตัวกันหน่อยค่ะ
       สวัสดีครับ พี่ชื่อโฟล์ค กฤตณัฐ จิรฐาวงศ์ นะครับ ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบชั้น ม.ปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ครับ

 จุดเริ่มต้นความสนใจกับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
       เหตุผลที่อยากเรียนคณะนี้ จริงๆ ต้องเล่าไปถึงตอนยังเป็นเด็กเลยครับ ผมเป็นคนชอบประกอบของ หยิบนู่นนี่นั่นมาทำเป็นของเล่นไว้เล่นเอง แล้วก็สนใจอยากรู้ไปหมด ว่าเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ รอบตัวเราทำงานยังไงบ้าง พอโตมาหน่อยก็ได้ลองเล่นคอมพิวเตอร์สมัยที่มันเพิ่งออกมาช่วงแรกๆ ถ้าจำไม่ผิดเหมือนจะเป็นช่วง Windows 98 ตอนเด็กๆ ก็ไม่ได้คิดอะไรมากครับ เล่นเกมคอมพิวเตอร์สนุกดี แต่พอใช้เวลาอยู่กับเครื่องนี้มากๆ ก็เริ่มสงสัยเหมือนที่เคยสงสัยกับสิ่งอื่นๆ รอบตัว ว่าทำไมมันถึงตอบสนองตามคำสั่งของเราได้ เอ …  แล้วเกมคอมพิวเตอร์นี่เขาทำกันอย่างไร อยากลองทำบ้าง เลยเป็นเหมือนทั้งคำถามที่อยากได้คำตอบ และเป็นแรงบันดาลใจให้เข้าศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ แล้วก็ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ด้วยครับ

 ยากไหมกับการค้นหาตัวเอง
       ส่วนตัวผมมองว่าจริงๆ แล้วการหาว่าตัวเองเหมาะกับอะไร หรือควรเรียนในคณะไหน ไม่จำเป็นต้องออกไปค้นหาคำตอบที่ไหนไกลเลยครับ ส่วนใหญ่คำตอบมันอยู่ในตัวเราตั้งนานแล้ว ซ่อนอยู่ในความชอบ ความสนใจ หรือนิสัยเล็กๆ น้อยๆ ที่บางทีเราก็รู้สึกว่าคนอื่นเขาก็ชอบ ก็เป็นกัน แต่ที่ยากคือการหยิบเอาเรื่องราวเล็กๆ เหล่านี้มารวมกันให้กลายเป็นภาพ ภาพเดียวนี่แหละครับ ซึ่งเมื่อเราได้ภาพดังกล่าวแล้ว มันจะบอกเราเองครับว่าอะไรที่เหมาะกับเรา
       ยกตัวอย่างตัวผมเอง ได้มีโอกาสมาลองนั่งพิจารณาความชอบ ความสนใจอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนช่วง ม.6 เพราะตอนนั้นมีอาจารย์หรือผู้ใหญ่หลายๆ คนติดภาพผมทำงานด้านการพูด การโต้วาที ถามผมว่าไม่สนใจคณะอย่างนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือคณะที่เกี่ยวข้องกับทักษะทางด้านนี้หรอ เพราะดูแล้วน่าจะทำออกมาได้ดี ตอนนั้นยอมรับว่ามีความลังเลเข้ามาพอสมควรครับ แต่พอลองถามตัวเองจริงๆ แล้ว ผมชอบการแสดงออกทางความคิดมากกว่า ซึ่งไม่ว่าจะผ่านการพูด ผ่านการเขียน หรือผ่านสื่ออื่นๆ ก็ได้ทั้งนั้น พอเข้าใจตัวเองแบบนี้แล้ว ก็พบว่าถ้าหากชอบที่จะใช้ความคิด ไม่ว่าจะเรียนในคณะไหน ที่ใด ก็สามารถใส่ใจในรายละเอียดของกระบวนการคิด ใส่ใจในการวิเคราะห์เนื้อหาวิชาที่เรียนได้ทั้งนั้น หลังจากนั้นก็ถามตัวเองต่อครับ ว่าแล้วมีความชอบไหนไหม ที่คิดว่าจะหาไม่ได้จากการเข้าเรียนในคณะอื่น ผมนั่งนึกย้อนไปถึงนิสัยต่างๆ ในวัยเด็ก ประกอบกับความชอบความสนใจในปัจจุบัน ทำให้ได้ข้อสรุปออกมาเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่เรียนอยู่ในปัจจุบันครับ

 รู้ตัวแล้วว่าอยากเข้าคณะไหน ขั้นต่อไปเตรียมตัวยังไงบ้าง
       สำหรับผมคิดว่าค่อนข้างคล้ายกับนักเรียนมัธยมปลายทั่วไปครับ คือเมื่อรู้แล้วว่าต้องการเข้าคณะอะไร ก็เลือกเรียนพิเศษในวิชาที่จำเป็นต้องใช้สอบ พร้อมกับการฝึกทำโจทย์ควบคู่กันไปด้วย ผมพยายามเรียนพวกวิชาอย่างฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ให้จบภายในปิดเทอมใหญ่ก่อนขึ้น ม.6 ครับ เพราะว่าสำหรับรับตรงวิศวะฯ คะแนนของสองวิชานี้มีน้ำหนักถึง 80% จึงคิดว่าควรใช้เวลาอยู่กับมันให้นานที่สุด และให้มั่นใจที่สุดว่าจะสามารถทำข้อสอบในสองวิชานี้ได้ดี
      พูดถึงข้อสอบ การหาข้อสอบเก่าๆ ของวิชาที่สอบจากหนังสือรวมข้อสอบเก่า หรือจากแหล่งต่างๆ (อย่างของผมคือรุ่นพี่ที่โรงเรียน) มาฝึกทำ ช่วยได้เยอะครับ เพราะนอกจากมันจะเป็นการทำให้เรารู้จุดที่เรายังอ่านไม่ละเอียดหรือมองข้ามไปแล้ว การทำข้อสอบเก่ายังช่วยให้เราประมาณคะแนนของตัวเอง เทียบกับสถิติของปีนั้นดูได้ด้วย ว่าเพียงพอหรืออยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่พอจะได้ตั้งใจฝึกฝนให้มากขึ้น แต่ถ้าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแล้วจะได้เพิ่มความมั่นใจก่อนเข้าห้องสอบครับ แต่แนะนำว่าให้เริ่มทำข้อสอบเก่าเมื่ออ่านวิชานั้นจบแล้วเท่านั้นนะ ไม่แนะนำให้ทำในขณะที่ยังไม่พร้อม เพราะข้อสอบเก่าไม่ได้มีให้เราทำเยอะ ส่วนตัวผมมองว่า การทำตอนที่ยังอ่านไม่จบ นอกจากจะบอกถึงความพร้อมของเราไม่ได้แล้ว ยังเป็นการเสียข้อสอบที่จะได้ลองตั้งใจทำจริงๆ ไปอีกหนึ่งฉบับด้วย


 สนามสอบ GAT PAT เป็นยังไง ได้คะแนนเท่าไหร่ ยื่นไหนบ้างคะ
       ผมสอบ GAT, PAT1, PAT3 คะแนน 295, 150, 264 ตามลำดับเลยครับ แล้วก็สมัครรับตรงของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เดียวเลยครับ และก็ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาศึกษาที่นี่
 

 เทคนิคการทำคะแนน GAT 295 คะแนน ในแบบของโฟล์ค
        อย่างที่เรารู้กันดีว่า GAT จะแบ่งเป็น 2 พาร์ทหลัก คือ GAT เชื่อมโยง กับ GAT ภาษาอังกฤษ
        สำหรับ GAT พาร์ทเชื่อมโยง พี่แนะนำให้เริ่มจากทำความเข้าใจสัญลักษณ์พื้นฐานที่ต้องใช้ในการฝนข้อสอบของปีก่อนๆ ดูก่อนครับ หลังจากนั้นถ้าเป็นไปได้ อยากให้ลองหาตัวอย่างการตอบข้อสอบจริงจากแหล่งเฉลยที่เชื่อถือได้มาลองนั่งดูแนวทางในการตอบครับ พอเราจับแนวทางได้แล้วว่าคำพูดประมาณไหน ต้องโยงอย่างไร จึงเริ่มลองเอาข้อสอบเก่าๆ มาทำ แนะนำว่าให้ทำให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้นะครับ เพราะพาร์ทนี้สำคัญมาก และถ้าเป็นไปได้ควรจะได้เต็ม 150 คะแนน ตอนอยู่ในห้องสอบอย่าลืมตั้งสติดีๆ ก่อนตอบด้วยนะครับ ส่วนใหญ่พี่มองว่าข้อสอบวิชานี้จะไม่ออกซับซ้อนหรือกำกวมมากนัก เพราะทางผู้ออกข้อสอบเองน่าจะต้องการหลีกเลี่ยงการโต้แย้งเฉลยอยู่พอสมควร ถ้าตีความคำตอบได้หลายแบบ โอกาสที่จะมีใครมาแย้งน่าจะสูงกว่ามาก

       ส่วน GAT พาร์ทภาษาอังกฤษ สิ่งที่ควรทำคือการหาข้อสอบเก่าหลายๆ ปีมาลองเทียบดูครับ ส่วนใหญ่รูปแบบของข้อสอบจะคล้ายเดิม เช่น ถ้ามีพาร์ท comic ก็จะมีเหมือนเดิม ต่อๆ กันมาทุกปี ศัพท์พี่มองว่าอยู่ระดับปานกลาง ถ้าตั้งใจเรียนในห้องอยู่แล้วเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรครับ จริงๆ วิชาภาษาอังกฤษ ไม่ใช่วิชาที่เตรียมตัวกันได้ในเดือนสองเดือนอยู่แล้วครับ ถ้าใครรู้ตัวว่าต้องใช้คะแนนในส่วนนี้ พี่แนะนำว่าให้ฝึกอ่านบทความ เรื่องเล่า หรือนิยายภาษาอังกฤษไว้แต่เนิ่นๆ อาจจะใช้แทนการพักจากการอ่านวิชาอื่นก็ได้นะครับ

 เทคนิคการทำคะแนน PAT 264 คะแนน ในแบบของโฟล์ค
       สำหรับ PAT3 ฟิสิกส์ที่ออก เป็นฟิสิกส์เน้นความเข้าใจเป็นหลักครับ จะไม่ค่อยมีตัวเลขโผล่มาให้คำนวณมากนัก แนะนำให้เน้น concept ของแต่ละเรื่องเวลาอ่านครับ ลองตั้งคำถามแปลกๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทนั้นแล้วหาคำตอบดูครับ ไม่แน่ คำถามนั้นอาจจะมาอยู่ในข้อสอบปีของน้องก็ได้นะ เคมีในข้อสอบวิชานี้จะเป็นพวกเคมีที่เกี่ยวกับพอลิเมอร์ ปิโตรเลียม และอื่นๆ ครับ ถามไม่ลึกมาก แต่ปัญหาคือ จากที่พี่สังเกตตอนที่พี่สอบ หัวข้อเรื่องที่ออกไม่ตรงแนวกันในแต่ละปีสักเท่าไหร่ ค่อนข้างจำเป็นต้องอ่านไปให้ครอบคลุมทุกบทครับ ส่วนคณิตศาสตร์ ถ้าน้องเตรียมตัว PAT1 อยู่แล้ว พี่เชื่อว่าน้องจะทำคณิตศาสตร์ในวิชานี้ได้ไม่ยากครับ

 1 วันในการอ่านหนังสือของเรา แบ่งเวลายังไงบ้าง
       ผมพยายามทำให้ในหนึ่งวันของการอ่านหนังสือของผม มีครบทุกวิชาที่ใช้สอบครับ โดยแต่ละวิชาแบ่งเวลาเท่าๆ กัน ซึ่งสำหรับผมทำได้ไม่ยากมาก เพราะว่ามีแค่ 3 วิชา แต่สำหรับใครที่สอบหลายๆ วิชา อาจจะแบ่งเป็นสองวัน มีครบทุกวิชา ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ครับ เหตุผลก็เพราะว่าจากประสบการณ์ที่เคยผ่านมา ประกอบกับได้ฟังจากคนอื่นๆ ที่มีปัญหาในการอ่านหนังสือสอบ พบว่าส่วนใหญ่ปัญหาคือการอ่านจบแล้วลืมที่อ่านมาก่อนหน้า เช่น พออ่านวิทย์จบ อังกฤษที่อ่านก่อนหน้าไปก็ลืมไปเยอะแล้ว ทำให้ต้องเสียเวลาย้อนอ่านทวนขึ้นมาใหม่ แต่ถ้าเราอ่านสลับกันไปในหนึ่งวัน จะทำให้ทุกวิชามีความต่อเนื่อง และไม่มีช่วงที่วิชาไหนไม่ถูกนำมาอ่านเลย เป็นเหมือนกับการกระตุ้นตัวเองอยู่เรื่อยๆ ในทุกวิชาที่ต้องใช้สอบ ตลอดการอ่านหนังสือของเราครับ
 

 เคล็ดลับการอ่านหนังสือฉบับโฟล์ค
      เคล็ดลับที่สำคัญที่สุดสำหรับผมคือ การรู้จักตัวเองครับ รู้ว่าเรามีนิสัยการอ่านหนังสือแบบไหน สามารถอ่านติดกันนานๆ ได้หรือไม่ หรือชอบอ่านไป พักไป ชอบทำความเข้าใจบทเรียนจากโจทย์หรือเปล่า หรือชอบที่จะค่อยๆ อ่านอย่างละเอียดให้จบก่อน จึงค่อยเริ่มทำแบบฝึกหัด ความชอบและนิสัยในการอ่านหนังสือพวกนี้ต่างกันในแต่ละคนครับ และควรเริ่มจากเข้าใจตัวเองตรงนี้ก่อน เมื่อเรารู้สไตล์การอ่านหนังสือของตัวเองแล้ว ค่อยปรับให้ตารางการอ่านของเราเหมาะกับตัวเรามากที่สุด
      อย่างตัวพี่ ยอมรับเลยว่าเป็นคนค่อนข้างไม่ขยัน (เรียกว่าขี้เกียจเลยก็ได้) และไม่สามารถจดจ่อกับอะไรนานๆ ได้ เพราะจะเบื่อและอ่านอะไรไปก็ไม่เข้าหัว วิธีแก้ของพี่คือการเปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนวิชา เปลี่ยนเวลาในการอ่านบ่อยๆ ครับ วันหนึ่งอาจจะอ่านอยู่ที่หอคนเดียว บางวันอาจจะออกไปนั่งอ่านที่ร้านกาแฟ และเตรียมหนังสือไปหลายๆ วิชาเอาไว้สลับไปสลับมาครับ อย่าลืมให้รางวัลกับตัวเองด้วย พี่มองว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลจริง การหยุดพักจากการอ่านหนังสือเพื่อทำกิจกรรมที่ชอบบ้าง หลายคนอาจจะรู้สึกว่ามันเสียเวลา แต่พี่มองว่าบางทีการฝืนอ่านต่อเนื่องนานๆ โดยที่สมองเราไม่พร้อมรับข้อมูลอะไรแล้ว มักจะนำไปสู่การอ่านใหม่อีกรอบ ซึ่งสุดท้ายแล้วเสียเวลามากกว่าการพักสมองและให้เวลากับตัวเองอีกครั้ง


 สุดท้าย อยากให้ฝากกำลังใจและการเตรียมตัวถึงน้องๆ หน่อยค่ะ
      สุดท้ายนี้อยากจะฝากถึงน้องๆ ทุกคนที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ให้ทำให้เต็มที่และดีที่สุดในแบบของเราเองครับ พี่ขอย้ำคำว่าดีที่สุดในแบบของเราเองนะครับ เพราะมีน้องๆ หลายคนชอบเอาตัวเองไปเทียบกับเพื่อนที่เก่งกว่า อ่านเยอะกว่าบ้าง แล้วก็เก็บมาคิดมาก ซึ่งจริงๆ แล้วพี่อยากให้น้องๆ ที่คิดแบบนั้น ลองเปลี่ยนความคิดดูใหม่นะครับ เพราะการพยายามเอาชนะคนอื่นด้วยการเทียบและพยายามที่จะทำให้ดีกว่าเขาไปเรื่อยๆ สุดท้ายพอน้องชนะคนนั้นได้ น้องก็จะไปเจออีกคนที่เก่งกว่า เป็นคนถัดไปอีก แล้วก็จะกลับเข้าสู่ความกังวลและคิดมากแบบเดิมๆ ครับ ว่ายังมีคนเก่งกว่าเรานะ ไม่ได้แล้ว ต้องมากกว่านี้อีก พี่ไม่ปฏิเสธเลยครับว่าการทำแบบนี้ แรกๆ ฟังดูแล้วเป็นอะไรที่ท้าทายและน่าจะทำให้เราไม่หยุดพัฒนา แต่พี่มองว่าในระยะยาว ถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ น้องจะเริ่มท้อครับ เหมือนกำลังพยายามจะโผล่ให้พ้นผิวน้ำ แต่น้ำก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกที
       วิธีที่พี่เชื่อว่าดีกว่า คือการทำให้ดีกว่าตัวเองที่เคยเป็นก็พอครับ ไม่ต้องไปพยายามแข่งกับใคร เต็มที่เท่าที่ตัวเองสามารถทำได้ เพราะพี่เชื่อครับว่าขอแค่เราตั้งเป้าหมายว่าวันนี้ อย่างน้อยฉันต้องรู้อะไรมากกว่าเมื่อวาน ต้องเข้าใจบทเรียนสักเรื่องหนึ่งมากกว่าเมื่อวาน และทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อวันสอบมาถึง น้องจะไม่มามัวกังวลว่ายังมีใครเก่งกว่าเราหรือเปล่า เพราะวันนั้น คนที่เก่งที่สุดสำหรับน้อง คือคนที่น้องเห็นเมื่อส่องกระจกตอนเช้า คือตัวน้องเองที่กำลังจะทำอย่างเต็มที่เพื่อความฝันของตัวเอง และวันนั้น จะเป็นวันที่น้องเก่งที่สุดตั้งแต่น้องเริ่มอ่านหนังสือมาครับ :D

 

      เป็นยังไงกันบ้างคะ เรียกได้ว่าพี่โฟล์คไม่ได้มาแชร์แค่เคล็ดลับหรือเทคนิคในการอ่านเท่านั้นนะคะ แต่ยังมาแชร์เคล็ดลับและการเสริมสร้างพลังใจให้น้องๆ ทุกคนด้วย พี่อีฟเชื่อว่าถ้าเรามีความมุ่งมั่น มีเป้าหมายมาจากข้างใน น้องๆ จะสามารถพยายามไปให้ถึงจุดหมายได้แน่นอน ทั้งพี่อีฟแล้วก็พี่โฟล์ค ก็ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนในสนามสอบ GAT PAT นี้ด้วยนะคะ
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

6 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
koko15047 Member 25 ต.ค. 59 20:11 น. 3

เห็นพี่มาตั้งแต่แข่งรายการทางThai pbsครับชอบการพูดของพี่มากเลย ขอบคุณสำหรับคำแนะนำมากครับพี่

1
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ggingnsp Member 3 ธ.ค. 61 11:09 น. 6

เป็นคำแนะนำที่ดีมากๆเลยนะคะ ในการที่ค้นหาว่าตัวเองนั้นชอบอะไร เพราะทุกคนล้วนมีสิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว แต่แค่เราต้องนำมาติดต่อกันตามที่พี่โฟล์คบอกเลยค่ะ ส่วนวิธีการอ่านหนังสือ ก็เป็นการแนะนำที่ดีที่แนะให้เราเลือกสไตล์ในการอ่านที่เหมาะกับเรา และทำให้เราได้ในสิ่งที่เราอ่านจริงๆค่ะ ขอบคุณสำหรับคำแนะนำมากๆนะคะะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด