เป้าหมายมีไว้พุ่งชน! "พี่หนุน" กับเทคนิคอ่าน+สอบ จนติดรอบรับตรง


          สวัสดีค่ะ ช่วงนี้ถือเป็นช่วงสำคัญในการอ่านหนังสือของน้องๆ หลายคนเลยนะคะ ทั้งการอ่านเตรียมตัวสำหรับ 9 วิชาสามัญที่กำลังจะมาถึง หรืออ่านเพื่อเตรียมตัวสำหรับ GAT PAT รอบต่อไป เพราะถ้าคะแนนน้อยในรอบแรก ก็จะได้เตรียมตัวกันได้ทันค่ะ

          เชื่อว่าน้องๆ หลายคน คงมีเป้าหมายกันตั้งแต่รอบรับตรงแล้ว จากสถิติมีน้องๆ เกินครึ่งเลยที่เลือกคณะในฝันกันตั้งแต่รับตรง แอดมิชชั่นไอดอลที่พี่อีฟเอามาฝากน้องๆ กันวันนี้ ก็มีเป้าหมายและความมุ่งมั่นกับรับตรงเหมือนกัน แถมเป็นรับตรงที่บอกเลยว่ามีการแข่งขันกันสูงมาก นั่นก็คือ รับตรง (รอบปกติ) จุฬาฯ นั่นเองค่ะ แต่ไอดอลของเราในวันนี้ ก็สามารถทำตามความฝันได้สำเร็จ ใครที่ติดตามพี่คนนี้ตั้งแต่บนเวที Dek-D's Admission On Stage รอบกรุงเทพฯ แล้วยังไม่จุใจ วันนี้มาติดตามเรื่องราวของ "พี่หนุน" 
ปรีดา ศรีประทุมรักษ์ กันเลยค่ะ
 


 แนะนำตัวกับน้องๆ กันหน่อยค่ะ
          สวัสดีครับ ชื่อ นายปรีดา ศรีประทุมรักษ์ ชื่อเล่น หนุน ครับ กำลังศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาด้วยโครงการรับตรง (แบบปกติ) ครับ ส่วนการเรียนชั้นมัธยม ผมจบชั้น ม.ปลาย จากโรงเรียนสตรีวิทยา ๒ แผนการเรียนวิทย์-คณิต

 แรงบันดาลใจ กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่สนใจ
          ตอนนั้นที่ตัดสินใจเลือกคณะวิศวกรรมศาสตร์ ถ้ามาจากตัวเราเอง ก็เป็นเพราะรู้ว่าคณะนี้เน้นการคำนวณ ต้องใช้เกี่ยวกับวิชาฟิสิกส์ ผมก็เลยเหมือนชอบวิชาที่ใช้เรียนในคณะ เพราะชอบพวกวิชาที่เน้นคำนวณอยู่แล้ว รู้สึกว่าถนัดมากกว่า ก็เลยเลือกคณะนี้ ส่วนแรงบันดาลใจ ถ้ามาจากคนรอบตัว ก็อาจจะเป็นเพราะพี่ๆ ที่เรารู้จัก และชื่นชอบส่วนใหญ่ ก็เลือกเรียนคณะนี้ ทำให้เหมือนเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้ตัดสินใจเข้าคณะนี้ครับ

 ถ้าน้องๆ ไม่มีแรงบันดาลใจ ควรทำไงดี
          ก่อนอื่นเลย ผมอยากให้ลองค้นหาตัวเองจากวิชาที่ถนัด หรือไม่ถนัดครับ ยกตัวอย่าง ตัวผมเองวิชาที่ถนัดก็จะเป็นพวกวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ คือที่รู้ว่าถนัดก็เพราะเรารู้สึกว่าทำมันได้ดี และเข้าใจ เลยทำให้ชอบไปด้วย พอเรารู้ว่าเราชอบเรียนอะไร เจอวิชาไหนแล้วจะมีความสุข ก็เริ่มไปหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะและสายอาชีพที่ใช้วิชาพวกนี้เป็นหลัก นอกจากนั้นก็อยากให้ดูรูปแบบสายการทำงานของอาชีพนั้นด้วย อยากให้มองกว้างไปกว่าคณะที่เราเรียน มองไปถึงสายการทำงานหรืออาชีพตอนเรียนจบออกมาด้วย ซึ่งผมก็เลือกคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคิดว่าเป็นคณะที่เหมาะกับตัวเราที่สุดครับ น้องๆ คนไหนที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ก็อาจจะลองใช้วิธีของผมได้

 ตอนขึ้น ม.6 สมัครสอบรับตรง ที่ไหนบ้าง
          ตอนขึ้น ม.6 ก็เริ่มเห็นเพื่อนๆ ไปสอบตรงกันหลายที่เลย ตอนนั้นเราเห็น เราก็ตื่นเต้นนะครับ แต่ส่วนใหญ่รับตรงเพื่อนไปสอบกัน ไม่ได้เป็นมหาลัยที่เราใฝ่ฝันหรือไม่ใช่คณะที่เราอยากเข้า ก็เลยไม่ได้ไปสอบโครงการอะไรเลย ตอนนั้นเรารู้ตัวเองว่า เราอยากเข้าจุฬาฯ ก็เลยตั้งใจว่าจะมุ่งทำคะแนน GAT PAT ให้ดี ให้เต็มที่ที่สุด แต่โครงการรับตรง (รูปแบบปกติ) ของจุฬาฯ เป็นโครงการที่เปิดรับช้า และเวลาประกาศผล ก็ยิ่งช้าออกไปอีก เราก็เลยยื่น ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ไว้กันเหนียว ซึ่งก็ติดครับ แต่พอจะต้องยืนยันสิทธิ์ เราก็ไม่ได้ไปยืนยันสิทธิ์ เลือกรอผลรับตรงของจุฬาฯ ซึ่งพอได้ตามที่หวังไว้ ก็ดีใจมากๆ ครับ
 

 1 เดือนก่อนสอบในแบบของหนุน
          1 เดือนก่อนสอบ นี่ถือว่าเป็นโค้งสุดท้ายแล้ว ตอนนั้นจำได้ว่าเราก็เรียนใกล้จบหมดแล้ว เพราะเรียนพิเศษแล้วก็อ่านเพิ่มเติม ก็จะมีเทคนิคที่ฟิตในช่วงนี้ คือ
          - บทไหนที่ยังไม่แม่น ก็ไปเรียนทบทวนเพิ่มเติม เรียนจนกว่าจะเข้าใจ
          - ฝึกโจทย์สำคัญๆ ของแต่ละบท
          - ดูแนวข้อสอบหรือข้อสอบเก่าๆ ว่าบทไหนเฉลี่ยออกเยอะๆ เราก็โฟกัสที่บทนั้น
          - อ่านทวนทุกวันให้จำได้

          จำได้ว่าช่วงนั้นเตรียมตัวหนักและเต็มที่มาก แบบ 1 เดือนก่อนสอบ เราก็อ่านทุกวันจนถึงวันสอบเลยครับ


 คะแนน GAT PAT เป็นไงบ้าง
          อย่างรับตรง (รูปแบบปกติ) ของจุฬาฯ จะให้คะแนน GAT PAT รอบแรก ทำให้ตอนนั้นผมก็เต็มที่กับสอบรอบแรกมากครับ GAT ได้ 240 คะแนน PAT1 ได้ 160 คะแนน PAT3 ได้ 194 คะแนน ครับ

 เคล็ดลับการทำ GAT PAT ให้ได้คะแนนที่ต้องการ
          ผมก็ไม่มีเคล็ดลับมากนะครับ แต่ถ้าจะต้องเน้นแบบทำคะแนนจริงๆ ผมก็จะอ่านและฝึกทำโจทย์เน้นตรงเรื่องที่เราดูอ้างอิงจากปีก่อนๆ แล้วว่า เรื่องนี้ออกเยอะ และเน้นเรื่องที่เราชอบและถนัดด้วยครับ ก็จะเป็นอะไรที่เรามั่นใจว่าได้คะแนนแน่ๆ
          สำหรับ PAT 3 ผมจะทำพาร์ทง่ายก่อน อย่างเช่นคณิตศาสตร์ เคมีและเขียนแบบ ซึ่งคณิตศาสตร์ใน PAT 3 จะไม่ยากมากเท่ากับใน PAT 1 ครับ ส่วนฟิสิกส์บางข้อยากๆ เราก็ข้ามไปก่อน เลือกใช้เวลามาทำข้อที่ทำได้ชัวร์ๆ ดีกว่า
          ส่วน PAT 1 ผมก็มองว่า บางบทที่ยากไปเลยก็มี แต่บางบทที่ทำได้ชัวร์ๆ ก็มีเหมือนกัน เราก็จะทำบทที่ทำได้ก่อน ตอนทำก็พยายามมีสติและใจเย็นๆ เพราะบางทีรอบแรกที่เราเห็นข้อสอบ เราอาจจะทำไม่ได้ แต่พอกลับมาทำอีกรอบ อาจจะทำได้ก็ได้
          และทั้งสองวิชานี้ เทคนิคส่วนตัวของผม คือ ทำข้อเขียนก่อน เพราะคิดว่าข้อตัวเลือก ถ้าสุดท้ายแล้ว ไม่ทันจริงๆ ก็พอจะเดาได้
          ส่วน GAT ผมไม่ได้เตรียมตัวเยอะเท่าไหร่ ก็จะไปเน้นที่ GAT พาร์ทเชื่อมโยง เพราะถ้าเราฝึกฝนดีๆ เข้าใจคอนเซป และตั้งใจทำ มันสามารถทำคะแนนเต็ม 150 คะแนน ได้แน่นอน และช่วงเวลาที่เราอยู่ในห้องสอบ ถ้าทำเสร็จแล้ว ยังมีเวลาเหลือ อย่างเพิ่งวางใจที่จะพักหรือนอนหลับเด็ดขาด ให้ลองทำทบทวนอีกรอบ หรืออ่านเพื่อเช็กอีกครั้ง อยากให้รอบคอบมากๆ ครับ จะได้ไม่พลาด ส่วน GAT พาร์ Eng ก็จะท่องศัพท์และไวยากรณ์ พยายามจำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะจำได้ ซึ่งพาร์ทอื่นๆ ก็จะเน้นความรู้ ความจำ ความเข้าใจ แบบที่ถ้าเราจำศัพท์กับไวยากรณ์ได้ ก็ทำได้เลย ยกเว้นพาร์ท Reading เราก็จะใช้วิธีไปอ่านคำถามให้เข้าใจก่อน แล้วมาสแกนหาคำตอบจากเนื้อเรื่องครับ


 สนามสอบ O-NET โหดไหม
          สำหรับผม สนาม O-NET ถือเป็นสนามที่เครียดน้อยที่สุด ถ้าเทียบกับสนามอื่นๆ ครับ อาจจะเพราะเป็นสนามที่สอบหลังสุด และเราติดรับตรงแล้ว เราก็เลยแอบปล่อยๆ ไม่อ่านหนักมาก และไม่ค่อยได้เตรียมตัวตอนไปสอบเท่าไหร่ครับ จะใช้ความรู้ที่เคยเรียนในโรงเรียนและการเตรียมตัวสอบก่อนหน้านี้ ไปสอบมากกว่า ส่วนตัวคิดว่า วิชาสังคมฯ ยากที่สุด เพราะเนื้อหากว้างและเยอะมาก คะแนนที่ได้แต่ละวิชาก็ตามเท่าที่เตรียมตัวมา วิชาภาษาไทยได้ 78 คะแนน วิชาคณิตศาสตร์ ได้ 77.5 คะแนน วิชาวิทยาศาสตร์ ได้ 71 คะแนน วิชาสังคมศึกษาฯ ได้ 53 คะแนน และวิชาภาษาอังกฤษ ได้ 71 คะแนน ครับ
 

 วินาทีที่รู้ผลรับตรงฯ เป็นไงบ้าง 
          ต้องเล่าไปตั้งแต่ก่อนจะรู้ผลเลยครับ ว่าบรรยากาศช่วงนั้นจะตื่นเต้นแล้วก็กังวลมาก เพราะเราสละสิทธิ์ที่ ม.เกษตรฯ ไปแล้ว ก็เท่ากับว่า ตอนนั้นที่เรารอผลของ รับตรง จุฬาฯ เราก็ยังไม่ติดที่ไหนเลย iรวมไปถึงคะแนนรวมที่เราได้ในปีนี้ ก็บวกจากคะแนนต่ำสุดปีล่าสุดมาไม่กี่ร้อย แต่ตอนนั้นเราก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว ทำได้แค่รอฟังผลครับ พอประกาศผล แล้วรู้ว่าตัวเองติดคณะ และสาขาที่หวังไว้เลย ก็ดีใจมากๆ ครับ ครอบครัวก็ดีใจกับเราไปด้วย ยิ่งเห็นพ่อกับแม่ดีใจ เราก็รู้สึกว่าที่เราสู้มาตลอดทั้งปี วันนี้เราหายเหนื่อยเลย :)

 ถ้าอยากติดรอบรับตรง จุฬาฯ เราในฐานะที่เคยผ่านมา จะบอกน้องๆ ยังไงบ้าง
          อยากจะให้น้องๆ ขยันมากๆ ครับ ศึกษาว่ารับตรงที่เราสนใจ ใช้คะแนนอะไร แล้วก็วางแผนการอ่านหนังสือให้ทัน กับการสอบทำคะแนนนั้น ควรรู้ตัวเองว่าจะต้องเริ่มอ่านตั้งแต่ชั้น ม. ไหน เราถึงจะอ่านทัน เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกันครับ ไม่มีใครรู้จักเราดีเท่าตัวเอง เนื้อหาที่ใช้สอบค่อนข้างเยอะ ต้องหมั่นทบทวนบ่อยๆ ผมมองว่า ถ้าเราขยันมากพอ ก็สามารถติดรับตรง จุฬาฯ ได้ครับ

 ชีวิตเฟรชชี่เป็นไงบ้าง เข้ามาเรียนแล้วตรงกับความชอบของเราไหม
          พอได้เข้ามาเรียนจริงๆ ก็สนุกดีครับ แล้วก็โชคดีที่เราได้กลุ่มเพื่อนที่ดีด้วย มีกิจกรรมและมีอะไรให้ทำที่แตกต่างจากมัธยมเยอะมากเลย ถ้าถามว่าพอเข้ามาเรียนแล้วตอบโจทย์หรือตรงกับความชอบเราไหม สำหรับผม ผมว่าตอบโจทย์สำหรับตัวผมเองนะครับ เพราะวิชาเรียนก็เป็นวิชาที่เราชอบ และคิดว่าเข้ากับตัวเองได้ แต่ก็จะมีความยากขึ้นเยอะมากจากชั้นมัธยม ก็จะต้องเพิ่มความพยายามกับความขยันอีกหน่อย ถ้าพยายามแล้วก็ขยันอยู่เรื่อยๆ ก็น่าจะไปรอดและมีความสุขดีครับ

 สุดท้าย ฝากกำลังใจถึงน้องๆ #dek60 กันหน่อยค่ะ
          ถ้าให้ฝากกำลังใจถึงน้องๆ ก็คงจะบอกว่า ตอนนี้ใกล้สอบแล้ว คิดว่าทุกคนน่าจะมีเป้าหมายของตัวเองแล้ว หรือถ้ายังไม่มี ผมว่าตอนนี้ควรมีเป้าหมายของตัวเองที่ชัดเจนได้แล้ว จะได้มีความมุ่งมั่นและขยันเพื่อเป้าหมาย อยากให้น้องๆ สู้ๆ ตั้งใจทำให้เต็มที่ ถ้าอยากติดคณะและมหาวิทยาลัยที่ตัวเองหวัง ไม่อยากเสียเวลาซิ่ว ก็ให้ตั้งใจเดี๋ยวนี้เลย !  ปีเดียวเดี๋ยวก็จบแล้ว เวลามันผ่านไปเร็วมาก อย่าเพิ่งติดเล่น ติดสนุก อะไรที่ทำแล้วมันเสียเวลาเปล่า ก็ลดหรือทิ้งไปก่อน คิดถึงอนาคตของตัวเองไว้ อดทนหน่อย อย่างน้อยก็เพื่อคุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงเรามาจนโต และรอดูความสำเร็จของเราอยู่ สู้ๆ นะครับน้องๆ ทุกคน พี่เป็นกำลังใจให้ :D
 

          เป็นยังไงบ้างคะกับเรื่องราวของพี่หนุน ความตั้งใจและเคล็ดลับการทำข้อสอบของพี่หนุน เราสามารถเอามาปรับใช้กันได้เลยนะ ไม่ยาก แถมยังได้ผลอีกด้วย ใครที่กำลังรอรับตรง จุฬาฯ ก็อดใจไว้อีกนิดค่ะ รอลุ้นผลคะแนน แล้วเตรียมตัวยื่นกันปีหน้าได้เลย และครั้งหน้าแอดมิชชั่นไอดอลของเราจะเป็นใคร อย่าลืมติดตามกันด้วยนะคะ :)
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด