ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน "กองบรรณาธิการ" ผู้สร้างความสุขให้กับคนรักหนังสือ

A day in life of Editorial Staff A day in life of Editorial Staff

สวัสดีจ้า ชาว Dek-D.com ... เรามาพบกันใน A day in life สกู๊ปพิเศษที่ตามติดชีวิตการทำงานของอาชีพในฝัน สำหรับอาชีพที่เราจะพาไปติดตามวันนี้ บอกเลยค่ะว่าถูกใจน้องๆ ที่เป็นหนอนหนังสือมากๆ เพราะเราจะไปเรียนรู้กระบวนการทำหนังสือกัน โดยวันนี้พี่ส้มขอรับหน้าที่พาน้องๆ ไปเกาะติดความสนุกและความสตรองของอาชีพ "กองบรรณาธิการ" ว่าแล้วก็มาชมกันเถอะว่าใน 1 วันนั้น เขาต้องทำอะไรกันบ้าง?

สุธาทิพย์ สัตย์เจริญ (พี่นิ้ม)
ปริญญาตรี : คณะอักษรศาตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร
ปัจจุบัน : กองบรรณาธิการ บริษัท แจ่มใส พับลิชชิ่ง จำกัด

การเริ่มต้นของอาชีพกองบรรณาธิการ จุดประกายขึ้นจากการถูกปลูกฝังจากคุณพ่อที่สอนให้พี่นิ้มเป็นคนรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก จึงรู้สึกว่าถ้าสักวันนึงได้ทำงานเกี่ยวกับการอ่าน ก็น่าจะสนุกดี และคิดว่ากองบรรณาการเป็นอาชีพที่ตอบโจทย์ที่สุด พี่นิ้มจึงมีความมุ่งมั่นเรื่อยมาจนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมปลายในแผนการเรียนศิลป์ภาษาฝรั่งเศส-อังกฤษ (intensive) และได้เข้าศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาไทย โทภาษาฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยศิลปากร

เมื่อชีวิตดำเนินมาถึงจุดที่พี่นิ้มกลายเป็นบัณฑิตหน้าใหม่ ประตูของโลกแห่งการทำงาน ก็ได้เปิดให้ได้ออกไปประกอบอาชีพของตัวเอง แน่นอนว่าพี่นิ้มก็เลือกที่จะ สมัครงานตำแหน่งกองบรรณาธิการ ที่บริษัท แจ่มใส พับลิชชิ่ง จำกัด ซึ่งหลังจากที่ส่งเรซูเม่มาให้ทางบริษัทพิจารณา พี่นิ้มก็ถูกเรียกตัวมาทำข้อสอบซึ่งเจ้าตัวบอกว่ายากมาก!!! เพราะมีเนื้อหาที่หลากหลายและใช้เวลาทำราว 3 ชั่วโมง ทั้งตรวจต้นฉบับว่าจะให้เรื่องไหนผ่านบ้าง เช็กคำผิด ลองเขียนคำนำ คำโปรย ปิดท้ายด้วยการวางแผนตามโจทย์ที่ว่าถ้าต้องทำนิยายเรื่องที่กำหนด ควรจะเลือกของพรีเมี่ยมเป็นอะไรดี จนในที่สุดก็ได้เข้ามาทำงานที่นี่ค่ะ หน้าที่คือดูแลนิยายแนวแจ่มใสเลิฟซีรีส์ที่เป็นแนวรักหวานแหววนั่นเอง

งานของกองบรรณาธิการ คือ การทำหนังสือ ที่ต้องดูแลทุกกระบวนการตั้งแต่คัดเลือก เรื่องเด็ดโดนใจมาทำการเรียบเรียงเป็นต้นฉบับ ไปจนถึงขั้นตอนการส่งเข้าโรงพิมพ์ เพื่อให้ได้หนังสือที่สมบูรณ์พร้อมส่งถึงมือผู้อ่าน ฟังดูแล้วรายละเอียดเยอะจริงๆ และเพื่อให้เห็นภาพการทำงานที่ชัดเจนขึ้น เรามาติดตามชีวิตของพี่นิ้มกันดีกว่าว่าใน 1 วันเช้าจรดเย็นของอาชีพกองบรรณาธิการนั้น ต้องทำหน้าที่อะไรกันบ้าง?

9.00-11.00

พี่นิ้มจะต้องเข้างานในเวลา 9 โมงเช้า หน้าที่แรกคือ การเช็กอีเมล เพื่อดูว่ามีนักเขียนส่งผลงานมาให้พิจารณารึเปล่า? โดยต้องอ่านเรื่องราวต่างๆ และเป็นคนตัดสินใจว่าจะให้งานชิ้นไหนผ่านเข้าสู่การตีพิมพ์เป็นหนังสือได้บ้าง ซึ่งแต่ละเรื่องมีความยาว 100 - 150 หน้ากระดาษ A4 ที่ต้องใช้ความสตรองอ่านภายในรวดเดียวจนจบ

แต่ด้วยประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่กับหนังสือมานาน ทำให้สามารถจับทางได้ว่าเรื่องไหนควรให้ผ่านตั้งแต่เริ่มอ่านไปประมาณ 15 หน้าแรกเท่านั้นค่ะ เห็นพูดแบบนี้ก็ไม่หมูอย่างที่คิดหรอกนะคะ เพราะว่าขั้นตอนนี้ต้องใช้ความคิดไตร่ตรองเยอะมาก มากจนถึงขึ้นที่พี่นิ้มคอนเฟิร์มว่านี่คือขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำ หนังสือเลยล่ะค่ะ บางทีก็มีบ้างที่จะต้องขอคำปรึกษาจากเพื่อนร่วมงานค่ะ

11.00-12.00

หน้าที่ต่อมา คือการเตรียมข้อมูลในการเข้าประชุมกับฝ่ายแบรนด์และฝ่ายขาย เพื่อร่วมวางแผนการนำหนังสือออกจำหน่าย ว่าเดือนนี้จะมีเล่มไหนออกบ้าง มีจุดเด่นอะไร มีจุดขายไหนที่ควรเน้น และเลือกใช้ของพรีเมียมแบบไหนดี ถ้ามีงานอีเวนต์ที่ต้องการนักเขียนไปมีตติ้งกับแฟนๆ พี่นิ้มก็จะรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลนักเขียนตั้งแต่ติดต่อให้มาร่วมงาน และคอยเทคแคร์ จัดการความเรียบร้อยจนจบงานอีกด้วย เห็นมั้ยคะว่าอาชีพนี้ต้องใช้ความคิดทั้งวัน เพราะฉะนั้นห้ามเบลอเด็ดขาด! 

อย่างการประชุมในวันนี้ ก็เป็นเรื่องการกำหนดแนวทางหนังสือที่จะต้องเปิดตัวในเดือนหน้า ซึ่งได้เลือกว่าจะเน้นจุดขายของแต่ละเล่มไปในทิศทางไหนให้เหมาะกับบทบาทของตัวละครในเรื่อง ซึ่งทุกคนที่เข้าประชุมมีไอเดียกระฉูดมาก ช่วยกันเสนอความคิดเห็นที่น่าสนใจหลากหลายมาก ว่าแต่จะมีหนังสือเล่มไหนบ้าง คงต้องให้แฟนๆ รอติดตามชมกันเอาเองนะจ๊ะ

13.00-15.00

พักทานข้าวกันแล้ว มารอบบ่ายบ้าง พาเข้าไปลุยงานต่อในส่วนของการตรวจงานจัดหน้าหนังสือของฝ่ายกราฟิก ซึ่งจะมีแพทเทิร์นของการวางเนื้อหาในส่วนต่างๆ ของเล่ม และตรวจพรูฟหรือตัวอย่างการพิมพ์ เพื่อหาจุดที่ผิดพลาดก่อนตีพิมพ์หนังสือจริงๆ งานนี้ไม่ใช่แค่หาคำผิดแล้วจบกันนะคะ....

เพราะพี่นิ้มบอกว่าต้องเทียบแม้กระทั่งความอ่อนเข้มของสีหมึกพิมพ์ หรือตำแหน่งขององค์ประกอบต่างๆ โดยถ้าเจอข้อผิดพลาดอะไร ก็ต้องรีบแจ้งกลับไปทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องและโรงพิมพ์เพื่อให้แก้ไข เพื่อให้หนังสือออกมาเนี้ยบไร้ที่ติ

15.00-18.00

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ใครที่คิดว่าชีวิตของกองบรรณาธิการจะต้องหมกตัวอยู่กับหนังสือทั้งวัน อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะคะ เพราะว่าอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของพี่นิ้มคือการเป็นแอดมินใน JLS Line@ (ไลน์แอด) ของบริษัท ที่ต้องคอยนำเสนอข่าวสารและข้อมูลที่น่าสนใจให้กับแฟนๆ ที่เพิ่มไอดี "@jlsstory" เข้าไว้เป็นเพื่อนในบัญชี Line

ซึ่งงานนี้พี่นิ้มบอกเลยว่า ต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่ค้นคว้าหาข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ ถ้าเจออะไรเด็ดๆ ต้องนำมาเรียบเรียงและ Update ให้กับน้องๆ โดยด่วนเลยล่ะค่ะ

เห็นแบบนี้แล้ว น้องๆ คงนึกภาพออกนะคะว่า คนที่จะทำงานนี้ต้องเป็นคนที่ค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งแหล่งข้อมูลที่สำคัญก็หนีไม่พ้น "ห้องสมุด" ที่พี่นิ้มใช้เวลาทำงานช่วงท้ายของวันในการศึกษาสิ่งที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหนังสือของบริษัท และนำเสนอสาระต่างๆ ให้กับแฟนๆ แจ่มใสทุกคนนั่นเอง

ไปบุกกองบรรณาธิการชื่อดังทั้งที พี่ส้มเชื่อว่าสิ่งที่หลายคนอยากรู้ก็คือ "กว่าจะได้ หนังสือหนึ่งเล่มต้องทำอะไรบ้าง?" งานนี้ขอบอกว่าไม่เสียเที่ยว เพราะพี่นิ้มได้เล่าสรุป ทุกขั้นตอนมาให้แล้วจ้า!!!

  • พิจารณาต้นฉบับของนักเขียน ว่าเหมาะสมในการตีพิมพ์เป็นหนังสือหรือไม่?

  • สำหรับเรื่องที่ผ่านการพิจารณา จะต้องนำมาอ่านดูจุดแข็ง-จุดอ่อน ความต่อเนื่อง ความสมจริงในต้นฉบับของนักเขียน หากมีจุดที่ต้องแก้ไขจะต้องทำการติดต่อไปยังเจ้าของผลงานให้ดำเนินการให้เรียบร้อยก่อน

  • หลังจากมีการแก้ไขต้นฉบับเรียบร้อยแล้ว ทางบริษัทจะทำการแจ้งไปยังนักเขียน เพื่อขอซื้อผลงานภายใต้เงื่อนไขที่ได้แจ้งไปตามรายละเอียด

  • ต้นฉบับที่ถูกซื้อมา จะมีการนำมาพิจารณาเพื่อเลือกภาพแทรก เป็นภาพสีที่เป็น เหตุการณ์ในเรื่องราวจำนวน 2 ภาพที่ถูกวางไว้หลังปกหนังสือ และภาพแทรกขาวดำอีก 2 ภาพ ที่จะวางไว้ในส่วนเนื้อเรื่อง ซึ่งนักวาดจะเป็นผู้รับหน้าที่วาดให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์

  • นำต้นฉบับมาจัดหน้า วางตำแหน่งเนื้อหาในส่วนต่างๆ ของเล่ม โดยจะต้องมีคำนำ สำนักพิมพ์ รู้จักนักวาด รู้จักนักเขียน ในการทำงานหนึ่งวันของขั้นตอนนี้จะทำได้ประมาณ 80 หน้า

  • เมื่อจัดหน้าต้นฉบับเรียบร้อย จะมีคนทำหน้าที่ในการตรวจแก้ไขคำผิดและไทม์ไลน์ของเรื่องให้ถูกต้องและสอดคล้องกัน สำหรับขั้นตอนนี้ยากไม่แพ้ช่วงพิจารณา แถมยังกินเวลาประมาณ 1 สัปดาห์อีกต่างหาก

  • หลังจากรีไรท์ต้นฉบับแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเขียนคำนำ คำโปรย คำโปรย ปกหลัง มยองนัง (หน้าเม้าท์มอยก่อนเข้าเรื่อง)

  • นำเนื้อหาของการเขียนในข้อ 7 มาให้ทีมกราฟิคจัดหน้าครั้งสุดท้ายเพื่อเตรียมเข้าโรงพิมพ์ ซึ่งจะต้องมีการตรวจพรูฟโดยละเอียด

  • นำหนังสือที่พิมพ์เสร็จเรียบร้อยมาตรวจดูความเรียบร้อยอีกครั้ง ถ้ามีจุดผิดพลาดให้ สั่งพิมพ์แก้ไข เพื่อเข้าสู่กระบวนการขายต่อไป

ตามติดกองบรรณาธิการจนเห็นภาพการทำงานทะลุปรุโปร่งขนาดนี้แล้ว ใครที่รู้สึกว่า "นี่แหละคืออาชีพในฝันของฉัน!" ลองมาสำรวจตัวเองกันดีกว่าว่าเรามีคุณสมบัติของอาชีพนี้ครบถ้วนกันรึยัง?

  • รักการอ่าน : อ่านหนังสือเยอะๆ เพื่อหาไอเดียใหม่ๆ ในการทำหนังสือ

  • รักหนังสือ : กองบรรณาธิการคือ "คนทำหนังสือ" เราต้องตั้งใจทำหนังสือที่ดีที่สุดสู่ผู้อ่าน

  • รอบคอบ : การทำหนังสือมีรายละเอียดเยอะมาก ต้องจัดการตรวจสอบเพื่อไม่ให้ เกิดความผิดพลาด

  • รอบรู้ : Update ข้อมูลข่าวสารอยู่ตลอด เพื่อนำเสนอเรื่องราวให้หนังสือให้อยู่บนหลักความถูกต้อง ความเป็นจริง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้อ่าน

  • มีศิลปะในการสื่อสาร : การทำงานในกองบรรณาธิการคืองานที่ทำงานอยู่บนอีโก้ และความรู้สึกของคน เพราะนักเขียนส่วนมากก็มีความมั่นใจในผลงานตัวเอง เวลาพูดคุยกับเขา เราต้องรู้จักวิธีพูดอย่างประนีประนอม นอกจากนี้ เรายังต้องทำงานเป็นทีมเวิร์ค ต้องสื่อสารกันให้เข้าใจอย่างชัดเจน และใช้คำพูดที่ไม่ทำลายความรู้สึกของเพื่อนร่วมงาน

น้องๆ คงเห็นแล้วนะคะว่าพี่นิ้มคือคนตั้งใจทำงานและรักในอาชีพจริงๆ แต่อะไรล่ะที่ ทำให้เธอยอมทุ่มเทแรงกายแรงใจให้อาชีพ "กองบรรณาธิการ" ได้ขนาดนี้? ถ้าไม่ใช่เสน่ห์ของการทำงาน...

"เหมือนเราได้อยู่สองโลกในเวลา เดียวกัน ตอนที่เราอ่าน เราได้หลุดไปในโลกของจินตนาการที่นักเขียนสร้างขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเราต้องพยายามกำหนดกรอบนักเขียนให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงด้วย เพื่อให้คนอ่านรู้สึกเชื่อถือในเหตุการณ์และเรื่องราวที่นักเขียนสร้างขึ้นมา"

ก่อนจะลากันไป พี่นิ้มได้ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจอาชีพกองบรรณาธิการไว้ด้วยว่า ถ้าใครอยากทำงานทางด้านนี้ ควรเลือกคณะที่เรียนให้ถูกก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องจบอักษรศาสตร์เท่านั้นถึงจะทำงานนี้ได้ จบคณะอะไรก็ได้ค่ะ เพียงแต่ต้องมีความรู้พื้นฐาน ที่สำคัญคือต้องรักการอ่าน พี่นิ้มแนะนำให้ไปฝึกงาน เพราะจะช่วยให้เรามองภาพการทำงานได้ชัดเจนขึ้น ถ้ารู้สึกว่า ไม่ใช่ก็ให้เปลี่ยนไปหาแนวทางที่ลงตัว แต่ถ้ารู้สึกว่ามันใช่ก็ลุยเลย.. อย่าหยุด!"

พี่นิ้ม และ พี่เอม บรรณาธิการแนว Jamsai Love Series

เป็นยังไงกันบ้างคะ สนุกและสตรองจนทำให้น้องๆ ได้เห็นภาพการทำงานของกองบรรณาธิการชัดเจนขึ้นแล้วใช่มั้ยเอ่ย? สุดท้ายนี้เว็บไซต์ Dek-D.com ต้องขอขอบคุณ
พี่นิ้มและบริษัท แจ่มใส พับลิชชิ่ง จำกัด ที่อนุญาตให้ทีมงานได้เข้าไปเก็บภาพบรรยากาศการทำงานของกองบรรณาธิการได้อย่างใกล้ชิด และขอขอบคุณพี่นิ้มที่ให้เกียรติในการสัมภาษณ์และตามติดชีวิต 1 วันเต็มๆ ส่วนใครที่อยากรู้ว่าอาชีพต่อไปที่ A day in life จะพาไปตามติดจะเป็นอะไรนั้น ก็อย่าลืมติดตามชมกันให้ดี รับรองว่าเด็ด โดนใจแน่นอนจ้า!

พี่ส้ม
พี่ส้ม - Columnist คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่เชื่อว่าใครก็เป็นเด็กดีได้ในสไตล์ของตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

7 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด