"พี่เอ็คโค่" หนุ่มหน้าใสจากแพทย์จุฬาฯ เผยเทคนิคสอบ GAT PAT แบบจัดเต็ม ไม่มีกั๊ก!



          สวัสดีค่ะ สำหรับวันนี้ต้องทักทายน้องๆ และเตรียมสวัสดีปีใหม่น้องๆ ไปพร้อมกันเลยค่ะ เรียกได้ว่าเดินทางมาเกือบถึงวันสุดท้ายของปีแล้ว ถ้าเป็นน้องๆ ม.6 พี่อีฟคิดว่าต้องแอบใจหายบ้างล่ะ เพราะปีหน้าจะถือว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของเราแล้ว คงเป็นปีใหม่ที่รู้สึกแตกต่างจากปีอื่นแน่นอน
          ถึงจะเป็นปีใหม่หรือเป็นเทศกาลวันหยุด แต่น้องๆ หลายคนก็ไม่หยุดอ่านหนังสือกัน เพราะก็ยังเหลือการสอบใหญ่ๆ อย่าง GAT/PAT รอบ 2 และ O-NET รออยู่ ดังนั้น แอดมิชชั่นไอดอลของเราในวันนี้ พี่อีฟเลยพารุ่นพี่คนเก่งของเรามาแชร์เทคนิคเคล็ดลับเพื่อเป็นกำลังใจในวันปีใหม่สำหรับน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคน ถ้าพร้อมแล้ว เราไปรู้จักพี่เขากันเลยค่ะ :)
 

 แนะนำตัวกันหน่อยค่ะ
          สวัสดีครับ ชื่อเอ็คโค่ พิวัฒน์ จิรบวรวิสุทธิ์ ครับ ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 1 ครับ ส่วนชั้นมัธยม ผมเรียน ม.1-6 ที่โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร เอกวิทยาศาสตร์ (โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร จะแยกเป็นเอกครับ มีถึง 15 เอกเลย) จบด้วย GPAX 3.44 ครับ

 รู้มาว่ามี 2 คณะในใจ ทำไมตัดสินใจเลือกเรียนหมอ
          เหตุผลในการเลือกเรียนหมอของผมอาจจะต่างจากคนอื่นๆ ครับ ก็คือ ผมอยากเรียนครับ ความหมายคืออยากเรียนจริงๆ อยากมีความรู้ เหมือนเป็นนิสัยของผมตั้งแต่เด็กแล้วครับ ที่เป็นคนขี้สงสัย แม่บอกว่าตอนเด็กๆ ผมถามคำถามจนแม่เหนื่อย 55555 พอถึงเวลาที่ต้องเลือกคณะที่จะเข้า ก็มีลังเลระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ กับ คณะแพทยศาสตร์ครับ แต่คุณแม่จบจากคณะวิทยาศาสตร์มา ก็แนะนำว่าการทำงานหลังจากเรียนจบ เป็นงานที่ต้องใช้ความอดทน เพราะต้องอยู่ในห้องแลป ทำการทดลองซ้ำๆ ซึ่งผมเป็นคนไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ ก็เลยตัดคณะวิทยาศาสตร์ไปครับ นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยอื่นอีก คือผมมองถึงอนาคตและความมั่นคงในการทำงาน ก็เลยรู้สึกว่าอาชีพหมอ เป็นอาชีพที่ตอบโจทย์เราครับ

 มีวิธีค้นหาตัวเองยังไง ถึงรู้ว่าอยากเรียนคณะไหน หรือตัวเองเหมาะกับอะไร
          ผมว่านี่เป็นปัญหาโลกแตกของเด็กทุกคนเลยครับ เราโดนถามมาตลอดว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร โดนถามมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ เลย ซึ่งตอนเด็กเราก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เยอะมาก จนแม้กระทั่งตอนที่ต้องเลือกจริงๆ อย่างช่วงที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็คิดว่าช่วงเวลาทั้งหมดที่ผ่านมา ประสบการณ์เราก็ยังน้อยเกินกว่าที่เราจะมั่นใจว่าเราชอบอะไร หรืออยากทำอาชีพอะไรไปทั้งชีวิต แต่เราก็ต้องเลือกเพื่อให้มีเป้าหมายในการสอบแล้ว
          ตอนอยู่ ม.4 ผมก็เลยเริ่มค้นหาตัวเอง โดยเริ่มดูจากวิชาที่ชอบและไม่ชอบ พบว่าผมชอบวิชาภาษาอังกฤษและชีวะฯ เห็นได้จากผมจะตั้งใจทำสรุปวิชานี้เป็นพิเศษ และมันก็สะท้อนออกมาจากคะแนนสอบที่ก็ได้ท็อปห้องเป็นครั้งคราว ส่วนวิชาอื่นๆ พวก เคมี ฟิสิกส์ เลข ก็เรียนได้ครับ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกชอบ หรืออยากอ่าน อันนี้ก็เห็นได้จากช่วงสอบกลางภาคหรือปลายภาค ผมจะอ่านวิชาพวกนี้ทีหลัง อ่อและอีกอย่างหนึ่งที่ผมชอบและเห็นได้ชัดคือผมชอบการสอนครับ ช่วงใกล้ๆ สอบก็จะติวให้เพื่อนเสมอ จนบางทีเพื่อนที่มาติวได้คะแนนเยอะกว่าผมก็มี 55555
          หลังจากนั้น ก็เริ่มมาดูคณะที่สนใจ ตอนนั้นก็จะมีคณะแพทยศาสตร์, ทันตแพทยศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, วิทยาศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, และ ครุศาสตร์ ก็เริ่มคิดหาเหตุผล ดูความสนใจ แล้วก็ตัดออกไปทีละคณะครับ จนมาถึงคณะแพทยศาสตร์ ความสนใจอย่างหนึ่งของผมที่ชัดมากเลย คือการเคยดูซีรีส์ฝรั่งเรื่อง ER กับ House ครับ เป็นซีรีส์เกี่ยวกับหมอที่ผมชอบมาก ได้ดูการทำงานแล้วผมก็รู้สึกอยากเป็นหมอเก่งๆ ที่สามารถวินิจฉัยโรคประหลาดๆ ได้ และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมชอบช่วยคนอื่นครับ ตอนเรียนมัธยมผมมักจะยื่นมือเข้าไปช่วยเพื่อนเสมอ ทั้งๆ ที่บางทีก็ลืมว่างานตัวเองแน่นอยู่แล้ว แต่ก็ยังช่วยเพื่อนให้เสร็จแล้วค่อยมาทำงานของตัวเองครับ 55555 ซึ่งผมก็คิดว่าความคิดตรงนี้ก็น่าจะคล้ายกับการทำงานตอนเป็นหมอ ตอนนั้นก็เลยเหมือนค้นหาตัวเองเจอแล้วว่าอยากเรียนแล้วก็เหมาะกับคณะนี้ครับ

 

 สนามรับตรงสอบอะไรไปบ้าง
       - รับตรง โครงการ MDX คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น
       - รับตรง คณะแพทยศาสตร์ ม.บูรพา
       - รับตรง คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี (โครงการพิเศษอังกฤษฯ)
       - รับตรง โครงการผลิตแพทย์ร่วมกับกรมแพทย์ทหารอากาศ จุฬาฯ (แพทย์ ทอ.)

       สอบติด MDX, แพทยศาสตร์ ม.บูรพา และ แพทยศาสตร์ ทอ. จุฬาฯ ครับ

  สอบ GAT PAT วิชาอะไรบ้าง แล้วได้คะแนนเท่าไหร่บ้างคะ
       - คะแนน GAT      ได้   277.5   คะแนน
       - คะแนน PAT 1    ได้   164     คะแนน
       - คะแนน PAT 2    ได้   147     คะแนน
       - คะแนน PAT 3    ได้   188     คะแนน

 มีวิธีเตรียมตัวก่อนสอบ GAT ยังไงบ้าง
          อย่างแรกเราต้องศึกษาคณะที่เราสนใจก่อนครับว่าใช้ PAT อะไรบ้าง และ ถ่วงน้ำหนักแต่ละวิชาเท่าไหร่ เพื่อจะได้แบ่งเวลาในการอ่านให้เหมาะสม สำหรับผม GAT PAT ยื่นทอ. มีเกณฑ์คือ PAT2 40%, GAT 30%, PAT1 20%, และจริยธรรมแพทย์ 10% ดังนั้นผมจึงทุ่มเวลากับ PAT2 และ GAT ที่ถ่วงน้ำหนักเยอะมากหน่อย รองลงมาก็ค่อยเป็น PAT1
          GAT พาร์ทไทย ต้องฝึกทำโจทย์มากๆ ครับ ตอนทำแต่ละครั้งต้องมีคุณภาพ คือตั้งใจทำต่อเนื่อง และจับเวลา (ส่วนใหญ่ทำไม่เกินเวลาหรอกครับ แต่จับเวลาเพื่อบอกตัวเองว่าเราทำข้อสอบอยู่นะ จะหยุดครึ่งๆ กลางๆ ไม่ได้) และฝึกให้เหมือนจริงทุกอย่างคือ ฝึกทดให้สะอาดอ่านง่าย และคัดลอกคำตอบมากรอกใส่ช่องคำตอบด้วยครับ การทำอย่างนี้ช่วยให้เรามีสติและสมาธิจนจบการทำข้อสอบ ไม่อย่างนั้นตอนทำข้อสอบจริง เมื่อเราเชื่อมโยงเสร็จแล้ว อาจไม่มีสมาธิในการกรอกและฝนคำตอบ จนทำให้เราพลาดคะแนนไปได้ง่ายๆ ครับ
          GAT พาร์ทอังกฤษ ธรรมชาติของวิชาที่เป็นภาษานั้น มันจะเป็นความเข้าใจก็ไม่ใช่ ความจำก็ไม่เชิงครับ การฝึกภาษาอังกฤษของผม จึงเป็นการเน้นการทำโจทย์มากๆ ทุกแนว เพื่อให้สมองเราซึบซับภาษาอังกฤษเข้าไปครับ เหมือนกับที่เราสามารถพูดภาษาไทยได้โดยไม่ต้องเรียน คือเมื่อเราเจออะไรบ่อยๆ สมองก็จะเรียนรู้ได้เองครับ ผมจึงเตรียมตัวโดยการฝึกโจทย์แต่ละพาร์ท (ไม่ต้องเป็นแนวข้อสอบ GAT ก็ได้) และเรียนรู้จากจุดที่ผิดพลาด แล้วเมื่อแต่ละพาร์ทแน่นแล้ว จึงมาฝึกข้อสอบเก่าพร้อมกับจับเวลาครับ
 

 แล้ววิชา PAT เตรียมตัวยังไงบ้างคะ
          PAT1 ตัวผมเองเป็นคนไม่เก่งเลขมากครับ ผมจึงตั้งเป้าหมาย PAT1 ตัวเองประมาณ 150 ก็คือครึ่งนึง เพราะ จริงๆ แล้ว PAT1 ก็มีข้อที่ไม่ยากมาก ไม่ประยุกต์ เยอะอยู่ครับ ผมเลยเลือกที่จะเก็บพื้นฐานและหัวใจของแต่ละบทให้แน่น โดยฝึกควบคู่กับคณิต 9 วิชาสามัญซึ่งจะง่ายกว่า ส่วนข้อประยุกต์ยากๆ ผมจะไม่สนใจเลยครับ เพราะผมคิดว่าถ้าเราไม่เข้าใจจริงๆ การจำวิธีหรือท่องไปสอบ ถ้าข้อสอบพลิกแพลงเพียงเล็กน้อยเราก็ไปไม่ถูกแล้วครับ
          PAT2 ฟิสิกส์ เคมี ชีวะฯ เป็นวิชาที่เราต้องรู้ลึกรู้จริงถึงจะทำได้ครับ ซึ่งการเตรียม PAT2 ของผมก็ได้บุญเก่าจากการตั้งใจอ่านหนังสือทุกการสอบของโรงเรียน ทำให้มีความเข้าใจของแต่ละบทดีในระดับหนึ่ง พอมาเตรียมสอบ ผมเลยเน้นการทำโจทย์เหมือนเดิมครับ โดยผมฝึกจากข้อสอบ 15 พ.ศ. ทุกวิชาเพราะจะง่ายกว่าเล็กน้อย แต่ก็ทำให้เราแม่นพื้นฐาน แล้วจึงมาฝึกข้อสอบจริง และเรียนรู้จากจุดผิดเหมือนเดิมครับ ส่วนพาร์ทดาราศาสตร์  ส่วนตัว ผมทิ้งเลยครับ เพราะข้อสอบออกยากมาก และที่โรงเรียนก็ไม่ได้เรียนลึกเหมือนที่ออกใน PAT2 ทำให้มันเหมือนเป็นวิชาใหม่ที่ต้องมาอ่าน ซึ่งไม่มีเวลาแล้ว และจริงๆ เป้าหมายหลักของผมตอนนั้นก็คือ 9 วิชาสามัญ ซึ่งไม่มีดาราศาสตร์ การแบ่งเวลามาเตรียมส่วนนี้ผมเลยคิดว่าไม่คุ้ม
          PAT3 วิชานี้ผมสอบเผื่อไว้ เลยไม่ได้เตรียมตัวโดยเฉพาะ แต่โชคดีที่ PAT3 ปีหลังๆ ไม่มีความถนัดวิศวะยากๆ ที่ต้องอ่านเพิ่มเติม จะเน้นแค่ฟิสิกส์ เคมี เลข เท่านั้น ซึ่งก็เป็นวิชาที่ผมต้องใช้และอ่านอยู่แล้ว ช่วงใกล้สอบผมจึงทำข้อสอบปีหลังๆ และอ่านส่วนที่ต้องท่องจำ เช่น วัสดุ, ปิโตรเลียม, โพลีเมอร์ เพิ่มเติมครับ

 1 เดือนก่อนสอบ คิดว่าจำเป็นต้องทำอะไรบ้าง หรือตอนนั้นเรากำลังทำอะไร
          เดือนสุดท้ายก่อนสอบคือช่วงเก็บตกและเสริมความแกร่งแล้วครับ ควรเน้นการตะลุยโจทย์รวมทุกวิชา และเก็บจุดบกพร่องครับ เพราะช่วงสอบเราจะสอบหลายวิชาพร้อมกัน แต่บางวิชาเราทิ้งไว้นานแล้ว ดังนั้นเดือนสุดท้ายนี้ เป็นเดือนที่จะดึงความรู้ที่เราเคยอ่านไปแล้ว กลับมาทบทวนให้แน่นครับ ในเดือนสุดท้ายสำหรับผม ผมจะทำโจทย์ทุกวัน วันละ 3 วิชา โดยจับเวลาจริง และมาเช็ก ถ้าเจอข้อที่ผิด ก็ทำความเข้าใจ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้เราได้รู้จุดที่เราไม่แม่น และปิดจุดนั้นได้ทันท่วงที ทริคอีกอย่างหนึ่งคือ ข้อไหนมั่วไป หรือตอบแบบไม่มั่นใจให้วงกลมข้อนั้นไว้ด้วย เพราะถ้ามั่วไปแล้วถูก อาจจะลืมว่าเป็นข้อไหน พอดูเฉลยจะได้ทบทวนเรื่องที่ไม่แม่นนี้ด้วย

 1 วันในการอ่านหนังสือของเรา แบ่งเวลายังไงบ้าง
          ในหนึ่งวันผมจะอ่าน 3 วิชาครับ โดยเป็นวิชาที่เน้นทำโจทย์หนักๆ (อังกฤษ เคมี ฟิสิกส์ เลข) 2 วิชา กับวิชาท่องจำ (ชีวะฯ สังคม ศัพท์อังกฤษ) 1 วิชา ที่ทำอย่างนี้ เพราะนอกจากผมจะสามารถเก็บได้วันละ 3 วิชาแล้ว ยังไม่เหนื่อยและรวนมากเท่าการทำโจทย์ 3 วิชาไปเลย หรือท่องทั้งวัน ด้วยครับ โดยผมจะอ่าน 3 ช่วง คือ สายๆ (เกือบเที่ยง) เย็น แล้วก็ดึกครับ โดยแต่ละช่วงผมจะใช้เวลาประมาณ 3 ชม.ครับ และพักประมาณ 1-1.5 ชม. ส่วนที่เป็นช่วงเวลานี้เพราะผมชอบอ่านหนังสือตอนกลางคืนครับ ส่วนช่วงเช้าก็นอน 55555 และผมก็จะเอาวิชาท่องจำมาอยู่ช่วงดึกครับ จะได้ค่อยๆ อ่านแบบสบายๆ ส่วนสองช่วงแรก คือช่วงที่เราเพิ่งตื่นมา สมองก็จะปลอดโปร่ง เหมาะสำหรับการทำโจทย์จับเวลาครับ
 

 เคล็ดลับการทำข้อสอบ GAT PAT ในห้องสอบ
          GAT พาร์ทไทย คือ GAT พาร์ทไทยมีเวลาทำเยอะมากครับ ต้องอ่านอย่างมีสติ อย่ารีบ และลากผังเชื่อมโยงให้สะอาดอ่านง่าย เพราะนอกจาก GAT พาร์ทไทย จะวัดความเข้าใจในการอ่านของเราแล้ว ยังวัดความประมาทหรือความสะเพร่าของเราด้วย
          GAT พาร์ทอังกฤษ ในทางกลับกัน GAT พาร์ทอังกฤษ เราจะต้องควบคุมเรื่องเวลาให้ดีครับ เทคนิคที่ผมใช้ก็จะทำข้อสอบจากพาร์ทง่ายไปยาก (สำหรับตัวผมเอง) ก็คือ conversation > vocabulary > cloze test > error > writing > reading โดยพาร์ทง่ายก็ควรใช้เวลาให้น้อยเพื่อเอาเวลาที่เหลือไปเพิ่มให้พาร์ทที่ยากอย่าง reading ครับ
          PAT1 เริ่มจากการทำข้อเติมตัวเลขก่อนครับ เพราะมีคะแนนมากกว่าและมักจะง่ายกว่าด้วย แล้วค่อยมาทำข้อตัวเลือก โดยเลือกทำข้อที่เรามั่นใจก่อน แล้วค่อยไปทำข้อที่พอทำได้ครับ ที่สำคัญคือ ถ้าเราไม่ถนัดวิชานี้ ไม่ต้องคิดว่าจะทำทุกข้อครับ อย่ากดดันตัวเอง ทำข้อที่เราทำได้ แล้วทำให้รอบคอบไม่คิดเลขผิดดีกว่า
          PAT2 ข้อสอบ PAT2 ค่อนข้างยากครับ ดังนั้นก็ไม่แปลกถ้าเราจะลังเล ไม่มั่นใจว่าข้อไหนถูก วิธีที่ผมทำก็คือ ใช้ความรู้ที่มีตัดตัวเลือกให้ได้มากที่สุดก่อนครับ แล้วลองพยายามหาข้อมูลที่โจทย์ให้มา เพราะบางที PAT2 ออกความรู้เกินกว่าที่เราเรียนบ้างก็จริง แต่เขาก็จะอธิบายมาในโจทย์ครับ ให้พยายามตีความสิ่งที่โจทย์บอกไปทีละบรรทัดเลยครับ
          PAT3 ฟิสิกส์ PAT3 จะโหดตรงที่สามารถหลอกเราได้แนบเนียนมาก บางทีเราคิดคำตอบออกมาตรงกับตัวเลือก ก็แฮปปี้แล้ว แต่ออกมาเช็กกับเพื่อนแล้วจริงๆ ผิดก็มีครับ ดังนั้นเราต้องอ่านโจทย์ให้รอบคอบว่าโจทย์จะหลอกอะไรได้ตรงไหนบ้าง

 สนามสอบ O-NET เป็นยังไงบ้าง วิชาไหนยากที่สุด วิชาไหนง่ายที่สุด
          ตอนสอบ O-NET คือ ช่วงเวลาหลังจากที่เรารายงานตัวแพทย์ทอ.แล้ว ก็เลยไม่เครียดมากครับ เพราะแพทย์ทอ. ไม่มีเกณฑ์โอเน็ตขั้นต่ำ 60% เหมือนกสพท. แต่ก็ไม่ได้ทิ้งนะครับ เพราะผมก็ถือว่าเป็นสนามสุดท้าย และเป็นการสอบระดับชาติที่ทุกคนสอบด้วย เราจะได้รู้ว่าเราอยู่จุดไหนของประเทศ
          วิชาที่ยากที่สุดสำหรับเด็กวิทย์ก็คงหนีไม่พ้น วิชาสังคมฯ ครับ เพราะมีเนื้อหาเยอะ แต่มันก็เป็นวิชาที่ตายตัว ไม่ต้องประยุกต์ รู้ก็ตอบได้ และข้อสอบก็จะเน้นจุดเดิมๆ ผมจึงเน้นการตะลุยโจทย์แล้วก็ท่องจำไปจากโจทย์เลยครับ สุดท้ายก็เก็บมาได้ 70 คะแนนครับ
          ส่วนวิชาที่ง่ายที่สุดก็คือ ภาษาไทยครับ ซึ่งโชคดีที่ปีใหม่ๆ ภาษาไทยจะไม่มีพวกวรรณคดีหรือร้อยกรองซึ่งเป็นส่วนที่ยาก โดยหลักๆ ก็จะเป็นการอ่าน และก็มีไวยากรณ์ซึ่งจะมากกว่าที่ออกใน 9 วิชาสามัญ ก็ต้องอ่านตรงนี้เพิ่ม ก็ได้ภาษาไทย 90 ครับ ส่วนวิชาวิทย์, คณิตฯ, อังกฤษ ก็จะง่ายกว่าวิชาสามัญ ผมก็จะอ่านเพิ่มเติมเนื้อหาที่ไม่มีในวิชาสามัญ คือ ดาราศาสตร์ เท่านั้นครับ คะแนนก็ได้ 72, 82.5, 84 ตามลำดับครับ

 

 เคล็ดลับการทำเกรดเฉลี่ยในห้องเรียน
          อย่างแรกก็คือเปิดเทอมปุ๊ป ผมจะขอ course syllabus จากอาจารย์ให้ครบทุกวิชาครับ เพราะมันจะบอกสัดส่วนของคะแนนที่นำมาคิดเกรด ซึ่งจะทำให้เราวางแผนการทำงานและการอ่านหนังสือได้ถูก อะไรสำคัญกว่าก็ให้เวลามากกว่าหน่อย
          ต่อมาคือการแบ่งเวลาครับ ทุกคนก็คงจะได้ยินมาบ่อยอยู่แล้วว่าต้องแบ่งเวลา ซึ่งมันก็ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวครับว่าต้องแบ่งยังไง แต่สำหรับผม ผมจะประเมินงานหรือการอ่านหนังสือทุกครั้งก่อนเริ่มทำว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ แล้วก็หาเวลาทำตามที่วางไว้
          ช่วงไหนที่ไม่ใช่ช่วงสอบผมก็จะเล่นเต็มที่ไม่อ่านหนังสือเลยครับ เพราะผมคิดไว้แล้วว่า ผมใช้เวลา 1 อาทิตย์ก็เพียงพอสำหรับการอ่านสอบกลางภาค เมื่อถึง 1 อาทิตย์ก่อนสอบ ผมก็หยุดทุกอย่าง กลับบ้านเร็วอ่านหนังสือ จนสอบเสร็จ ก็ค่อยกลับมาเล่น การทำอย่างนี้ก็ทำให้เราได้เล่นเต็มที่ไม่ต้องสนใจอะไร แล้วพอมาตั้งใจอ่านหนังสือทีเดียว เนื้อหามันก็จะเชื่อมกันทำให้เข้าใจได้เป็นระบบ


 ขอเคล็ดลับวิชามารที่อยากบอกหรืออยากส่งต่อให้น้องๆ 
          เคล็ดลับของผม คือ การรู้ตัวเองครับ เราต้องรู้ตัวเองว่าเราเก่งอะไร และเราอ่อนอะไร รวมไปถึงน้ำหนักของแต่ละวิชาที่ใช้ เราต้องกล้าตั้งเป้าหมายว่าเราอยากได้คะแนนเท่าไหร่ และจะทำยังไงให้ได้คะแนนนั้นมา ผมจะเริ่มตั้งเป้าหมายตั้งแต่แรกเลยครับ แล้วก็จะค่อยๆ ปรับให้สมจริงมากขึ้น ถ้าวิชาไหนเราเพิ่มคะแนนไม่ได้แล้ว และคะแนนในการทำโจทย์คงที่แล้ว เราต้องเลิกทำ แล้วไปอัด หรือไปดึงคะแนนวิชาอื่นขึ้นมาช่วยครับ นี่คือการอยู่กับความเป็นจริง ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถไปถึงคณะที่หวังได้
 

 ตารางเรียนของหมอเป็นยังไงบ้าง ลองเล่าให้ฟังหน่อย
          ในปี 1 ยังเป็นการเรียนวิทย์พื้นฐานของคณะครับ อย่างพวกฟิสิกส์ เคมี ชีวะฯ ซึ่งจะเรียนพร้อมกันทั้ง 300 กว่าคน กับ วิชาเลือกของทางจุฬาฯ ซึ่งจะไปเรียนรวมกับคณะอื่นๆ ตัววิชาเลือกก็จะไม่หนักมากครับ แต่ตัววิชาคณะจะตัดเกรดอิงกลุ่ม ซึ่งก็จะมีการแข่งขันสูงมาก ล่าสุดคะแนนฟิสิกส์ก็เพิ่งออกมา ได้ A 5 คนจาก 307 คนครับ และคะแนนต่ำสุดของคนที่ได้ A คือ 88 ส่วนผมก็เอาแมวบวกมากินครับ 55555

 สุดท้ายแล้ว อยากฝากอะไรถึงน้องๆ บ้าง
          มีคำพูดหนึ่งที่พี่จำขึ้นใจเลย คือ "A goal without a plan is just a wish." เป้าหมายที่ไม่มีแผนก็เป็นแค่ความปรารถนา(ที่ไม่มีทางเป็นจริง) อยากให้น้องๆ ที่กำลังเริ่มเตรียมตัวสอบ ให้เวลากับการวางแผนสักหน่อย เมื่อมีแผนก็เหมือนเรามีเส้นทางเดินไปสู่เป้าหมายของเรา ระหว่างทางเราอาจจะหลุดออกนอกทางไปบ้าง แต่ให้พยายามดึงตัวเองกลับมาให้ได้ ขอให้น้องๆทุกคนทำได้อย่างที่วางแผนไว้ครับ
 

          เป็นยังไงกันบ้างคะกับเรื่องราวของพี่เอ็คโค่ บอกเลยว่าถ้าพี่อีฟเป็นน้องๆ ม.6 ต้องดีใจมากๆ เลยที่ได้รับของขวัญปีใหม่เป็นเคล็ดลับที่จัดเต็มและอัดแน่นขนาดนี้ อย่าลืมว่าเคล็ดลับต่างๆ ที่พี่ๆ อยากถ่ายทอดจะไม่มีความหมายอะไรเลยค่ะ ถ้าน้องๆ ไม่เอาไปลองปฏิบัติตาม อย่าลืมว่าเหลือเวลาอีกไม่มากแล้วนะคะ มาเปลี่ยนปีใหม่ให้เรากลายเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมกันนะคะ สวัสดีปีใหม่ค่ะ :)
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด