เปิดใจ 2 รุ่นพี่ "คณะเภสัชศาสตร์" เล่าประสบการณ์ตั้งแต่เรียนมหา'ลัย จนจบและทำงานจริง!


             สวัสดีค่ะ ตามที่ได้สัญญากับไว้ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ว่าในสัปดาห์นี้พี่แป้งจะพาไปพบกับ 2 รุ่นพี่จากรั้วคณะเภสัชศาสตร์ คนแรกจะเป็นรุ่นพี่ที่กำลังเรียนอยู่ตอนนี้ และคนที่ 2 จะเป็นรุ่นพี่ที่จบและทำงานเรียบร้อยแล้ว ทั้ง 2 คนจะมาเล่าถึงประสบการณ์ในรั้วคณะเภสัชศาสตรื ตั้งแต่ตอนสอบเข้า ตอนเรียน และเรียนจบทำงานเรียบร้อย เราไปพบกับรุ่นพี่ทั้ง 2 คนกันเลยค่ะ
 


พี่ป่าน ธันย์ชนก  พันธุ์เดช
ปี 3 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

พี่แป้ง : ก่อนอื่นแนะนำตัวเองกับน้องๆ ชาว Dek-D หน่อยค่ะ
พี่ป่าน : สวัสดีค่ะ พี่ชื่อ ธันย์ชนก  พันธุ์เดช ชื่อเล่น ป่าน ตอนนี้เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ค่ะ

พี่แป้ง : ทำไมน้องป่านถึงเลือกเรียนคณะเภสัชศาสตร์คะ?

พี่ป่าน : จริงๆ แล้วถึงป่านจะเรียนสายวิทย์มา แต่ในใจบางทีก็แอบอยากเรียนด้านอักษรศาสตร์และนิเทศศาสตร์นะคะ เพราะป่านไม่ถนัดคณิตศาสตร์และคิดว่าเราเองชอบทำให้คนอื่นมีความสุข เวลาเห็นคนอื่นมีความสุขทำให้เราพลอยสุขไปด้วย ถ้าได้ไปเรียนแนวนั้นอาจจะได้ทำอะไรจรรโลงใจให้ผู้คน พอสอบติดที่คณะเภสัชฯ ก็คิดได้ว่า การที่เราจะสร้างความสุขให้คนอื่นได้ก็ไม่ได้มีแต่ด้านความบันเทิงเท่านั้น แต่เพียงแค่การหายจากโรคแล้วกลับมาเป็นปกติ นั่นก็สร้างความสุขได้เหมือนกันค่ะ ป่านเลยตัดสินใจเรียนคณะนี้ค่ะ

พี่แป้ง : ตอนสอบเข้าคณะเภสัชศาสตร์ น้องป่านสอบเขาด้วยวิธีไหน และใช้คะแนนอะไรบ้าง?

พี่ป่าน : ป่านสอบเข้าโดยยื่นโควตาภาคอีสานค่ะ ตอนนั้นใช้คะแนน GAT PAT จำได้ว่า ได้ GAT 249 คะแนน PAT 1 36 คะแนนเอง T_T ส่วน PAT 2 ได้ 132 คะแนน มีสอบ PAT 5 ด้วยค่ะ ได้ 215 คะแนน

พี่แป้ง : ชีวิตที่เรียนคณะเภสัชศาสตร์ ต่างจากที่เราคิดไว้ตอนอยู่ ม.6 มั้ย?  

พี่ป่าน : ต่างจากที่คิดไว้มากๆ นอกจากจะไม่เคยได้ศึกษาว่าคณะเภสัชฯเรียนอะไรกัน เห็นแต่พี่ๆ ตามร้านขายยา เราคิดเอาเองว่าคงเรียนรู้กลไกของยาจำชื่อยา และเรียนรู้พร้อมวิเคราะห์โรคต่างๆ ก็น่าจะครอบคลุมแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่เลยค่ะ เรียนครอบจักรวาล เยอะกว่าที่คิดไว้มากเลยค่ะ ฮ่าๆ

             การจะเป็นเภสัชกรหนึ่งคน นอกจากเนื้อหาเรื่องยาที่ต้องรู้แล้ว เราจะต้องรู้ระบบในร่างกายมนุษย์ (เพิ่งรู้ตอนมาเรียนว่าต้องศึกษาอาจารย์ใหญ่ด้วย) ต้องสามารถปรุงยาขึ้นมาได้เองจากสารเคมีต่างๆ รู้จักวัตถุดิบ เครื่องจักรและกลไกการทำงาน วิเคราะห์คุณภาพของยาแต่ละเม็ดได้ เรียนรู้ตัวยาที่ได้จากพืช และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในธรรมชาติ ทำวัคซีนเป็น  วิเคราะห์ความเหมาะสมของยากับผู้ป่วยที่มีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละราย และยังมีอีกมากมายเลยค่ะ เอาเป็นว่าเภสัชกรคือผู้ที่ต้องรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับยาที่ใช้รักษาโรคนั่นเอง

 

พี่แป้ง : เรียนเภสัชฯ ช่วงปี 1 ต้องเรียนอะไรบ้าง?
พี่ป่าน : คณะเภสัชศาตร์แต่ละมหาวิทยาลัยอาจจะมีความแตกต่างในการจัดวิชาเรียนในแต่ละชั้นปี ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ช่วงปี 1 ยังเรียนไม่หนักมากค่ะ อาจสบายกว่า ม.ปลาย ด้วยซ้ำ เหมือนเป็นการปูพื้นฐานให้นักศึกษามีความรู้เบื้องต้นในทุกวิชาโดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ และในส่วนของเคมีที่เป็นหัวใจของเภสัชกร เรียกได้ว่าต้องเป๊ะมากๆ

             เมื่อขึ้นชั้นปีต่อๆ ไปการเรียนในห้องปฏิบัตินอกจากต้องอาศัยความแม่นยำของเทคนิคแล้ว ยังต้องใช้ความรู้ด้านเคมีต่อยอดวิชาต่างๆ ด้วย แต่น้องๆ ที่คิดว่าตัวไม่เก่งเคมีก็ไม่ต้องกลัวนะคะ ไม่มีอะไรที่น่ากลัวขนาดนั้น แค่เรามีความพยายามและตั้งใจ เพราะความรู้พื้นฐานทุกคนไม่ต่างกันมากค่ะ ส่วนวิชาอื่นจะเรียนคล้ายๆ ม.ปลาย อาจจะรวมเนื้อหา ม.ปลาย 1 เทอมไว้ในการเรียน 1 ชั่วโมงในมหาวิทยาลัย

พี่แป้ง : ว่ากันว่าเรียนเภสัชฯต้องเก่งภาษาอังกฤษ จริงหรือเปล่า?

พี่ป่าน : พูดว่าเก่งภาษาอังกฤษจะมีความได้เปรียบและสบายกว่าเพื่อนนิดหน่อยดีกว่าค่ะ เพราะเมื่อเข้าตัววิชาด้านเภสัชแล้ว เอกสารการเรียนจะมีแต่ภาษาอังกฤษ คำศัพท์เทคนิคต่างๆ ตำราเรียนเสริม ข้อมูลอ้างอิงที่ใช้ทำรายงานเป็นภาษาอังกฤษหมดค่ะ สำหรับคนที่คิดว่าไม่เก่งภาษาอังกฤษก็ไม่น่าจะเป็นปัญหามากนะคะ เพราะศัพท์เทคนิคส่วนใหญ่ก็เพิ่งมาเจอกันตอนเรียนนี่แหละค่ะ (ถ้าไม่มีใครท่องชื่อทาง Anatomy มาตั้งแต่ ม.6 อะนะ 5555+) ทักษะภาษาอังกฤษส่วนของด้านไวยากรณ์แทบจะไม่ได้ใช้เลยค่ะ ถ้าใครมีพื้นฐานภาษาอังกฤษมาดีจะช่วยท่องศัพท์ง่ายเพราะใช้รากศัพท์ช่วยจำเอาค่ะ

พี่แป้ง : ตั้งแต่เรียนมาคิดว่าวิชาไหนยากและปราบเซียนที่สุด?

พี่ป่าน : สำหรับป่านคิดว่าเป็นวิชา "เภสัชพฤกษศาสตร์" (Pharmaceutical Botany) วิชานี้เรียนเกี่ยวกับต้นไม้ค่ะ คือยาส่วนใหญ่จะได้สารที่เป็นยามาจากต้นไม้ เราเลยต้องเรียนรู้ว่าต้นไม้อะไรบ้างที่ใช้เป็นยาได้ ตั้งแต่แก้ร้อนใน ไปจนรักษามะเร็งเลย แต่ความยากมันอยู่ตรงที่เราต้องท่องจำชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชแต่ละชนิดที่อยู่ในวงศ์นั้น พร้อมสรรพคุณและสารที่ออกฤทธิ์สำคัญๆ ลักษณะเด่นของพืชในวงศ์นั้นๆ รูปร่างเส้นใบ ลักษณะเมล็ด รูปแบบรังไข่ การติดดอก การเรียงของใบบนกิ่ง ฯลฯ
          
จากที่เคยคิดว่าเภสัชฯคงต้องจำเก่งไม่เน้นคำนวณนี่ร้องหาข้อสอบคำนวณเลยค่ะ เพราะต้นไม้ที่ใช้ทำยาได้มีเยอะ มากมาก!! แถมเวลาสอบแล็บกริ๊งของวิชานี้ อาจารย์จะเอาเปลือกไม้ หรือใบไม้มาวาง แล้วถามชื่อวิทย์ ชื่อวงศ์ สรรพคุณ โหยยยยย วงการวิทยาศาสตร์ต้องสั่นสะเทือนเพราะนักศึกษาตั้งชื่อให้ใหม่นี่แหละค่ะ แต่ก็สนุกนะ เพราะต้นไม้บางวงศ์มีรุ่นพี่เอาข้อมูลมาแต่งเป็นเพลง ร้องกันสนุกๆ จำง่ายๆ ได้เลยค่ะ
 

พี่แป้ง : อยากให้เล่าความละเอียดของวิชาเคมีที่ต้องเรียน ต่างจากเคมี ม.ปลายอย่างไรบ้างคะ?
พี่ป่าน : ก่อนอื่นอยากบอกน้องๆ ว่า พื้นฐานทางเคมีตั้งแต่ ม.ปลาย มีความสำคัญมาก ทุกอย่างจะต้องใช้ต่อยอดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจบปี 6 แทบทุกวิชาจะมีเคมีแทรกอยู่ เคมีในมหาวิทยาลัยจะอธิบายปฏิกิริยาต่างๆ ที่เราเคยเรียนตอน ม.ปลาย อย่างละเอียดเลยค่ะ เช่น การทดสอบน้ำตาล ตอน ม.ปลาย เราจะรู้ว่าผลการทดลองจะได้สารละลายที่เปลี่ยนเป็นสีอะไร แต่ในมหาวิทยาลัยจะต้องอธิบายได้ว่า ธาตุอะไรจากที่ไหนทำอะไรกับน้ำตาลจึงเห็นสีนั้นขึ้นมา ถ้าลึกหน่อยก็จะต้องรู้ว่าทำไมจึงเห็นเป็นสีนั้น นอกจากนี้การเรียนมหาวิทยาลัยก็จะเอาปฏิกิริยาที่เคยเรียนตอน ม.ปลาย มาเป็นอธิบายกลไกต่างๆ ในร่างกายด้วยค่ะ

พี่แป้ง : น้องป่านมีวิธีการอ่านหนังสือในการเรียนมหาวิทยาลัยอย่างไร?

พี่ป่าน : การเรียนในมหาวิทยาลัยใช้เวลาเรียนไม่ต่างจาก ม.ปลาย มากนัก จะเรียนเต็มวันตั้งแต่ 9.00 - 16.00น. เหมือนกัน ทำให้มีเวลาว่างน้อยหน่อย ป่านจะใช้วิธีค่อยๆ อ่านไปเรื่อยๆ วันละนิดค่ะ เพราะเนื้อหาเยอะถ้าอ่านใกล้สอบจำไม่หมดแน่ๆ (แต่ใครเทพหน่อยก็ทำได้นะ) อีกอย่างคือการเรียนจะมี Quiz อยู่เรื่อยๆ ก็ใช้ตรงนี้มาทำให้ตัวเองอ่านเนื้อหาคร่าวๆ ก่อนไปเรียน แต่ป่านจะเป็นคนที่ถ้าอ่านเฉยๆ ก็จำไม่ได้ ต้องทำโน้ตย่อ พยายามทำให้สวยๆ สีสันสดใส ให้รู้สึกสนุกไปกับมันเหมือนการวาดรูป จะได้มีกำลังใจในการอ่านไปเรื่อยๆ ค่ะ

พี่แป้ง : สุดท้ายนี้อยากให้น้องป่านฝากอะไรถึงน้องๆ ที่อยากเรียนเภสัชฯ หน่อยค่ะ

พี่ป่าน : ไม่อยากให้น้องๆ มองว่าการเข้าเรียนคณะเภสัชฯเป็นเรื่องยากนะคะ พี่ได้คะแนนน้อยมากเมื่อเทียบกับคนอื่น ก็ยังสอบติดและเรียนมาได้ สิ่งที่ยากกว่าการสอบเข้า คือการทนอยู่กับสิ่งที่เราไม่ชอบค่ะ อย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร ถ้าเรามุ่งมั่นที่จะไขว่คว้าสิ่งใดมันไม่ยากเกินไปแน่นอน และที่สำคัญอย่าดูถูกตัวเอง ต้องตั้งใจให้มากขึ้น มากขึ้นไปอีก ให้จริงจังในสิ่งที่ทำ ป่านเชื่อว่าโลกนี้มีรางวัลสำหรับทุกความพยายามค่ะ ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จแล้วมาเป็นลูกเขียวมะกอกด้วยกันนะคะ :)

 


พี่ปลาบ อรรถเดช อุณหเลขกะ
จบการศึกษาจาก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พี่แป้ง : ก่อนอื่นแนะนำตัวเองกับน้องๆ ชาว Dek-D หน่อยค่ะ
พี่ปลาบ : สวัสดีครับ พี่ปลาบ นะครับ อรรถเดช อุณหเลขกะ จบการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ ตอนนี้ทำงานเป็นเภสัชกรสายการตลาด ตำแหน่งผู้แทนยาครับ

พี่แป้ง : ทำไมน้องปลาบถึงเลือกเรียนคณะเภสัชศาสตร์คะ?

พี่ปลาบ : ถ้าถามว่าทำไมถึงเลือกเรียน เหตุผลแรกที่ผุดขึ้นมาเลยเพราะ "ชอบ" ครับ ชอบคล้ายๆ กับคนชอบหนังสือ ได้อยู่ท่ามกลางหนังสือแล้วมีความสุขประมาณนั้นเลย 555 แต่พี่ชอบอยู่กับยาครับ ดูแปลกๆ มะ? แต่จริงๆ นะ คือเราอยากรักษาคนให้หายจากโรค แต่ก็ไม่ได้อยากเป็นหมอ เภสัชกรนี่แหละตอบโจทย์สุด แค่คำว่า "ยา" สั้นๆ แต่แบบ โอ้โหหหหหหห มันมีอะไรซ่อนเร้นอยู่อีกล้านอย่างงงงงง รอให้ผู้ที่ถูกคัดเลือกมาค้นหา แค่คิดก็สนุกแล้ว ทีนี้ลองกลับมาดูฝั่งวิชาการบ้าง บรรดาวิชาสายวิทยาศาสตร์ "เคมี" นี่แหละที่เราพอจะมีอะไรไปสู้คนอื่นเขาได้บ้าง ซึ่งมันก็มาทางเดียวกันกับคณะนี้อยู่น้า ถ้างั้นจะรออะไร เลือกอันดับ 1 เลยซิครับ!

พี่แป้ง : ตอนสอบเข้าคณะเภสัชศาสตร์ น้องปลาบสอบเขาด้วยวิธีใดคะ?

พี่ปลาบ : ต้องออกตัวแรงก่อนเลยครับว่า ปลาบเป็นรุ่นแรกครับที่สอบเข้าด้วยระบบ Admission โดยใช้คะแนน GAT-PAT ซึ่งตอนนั้นนนนน GAT PAT คืออาร๊ายยยยยย งงกันอยู่พักใหญ่ครับ ฐานคะแนนของแต่ละคณะก็ไม่มี อยู่ดีๆ คะแนนกลายมาเต็ม 30,000!! อ่ะ งานเข้า คะแนนที่ใช้เข้าคณะเภสัชฯ ตอนนั้นจะพิจารณาจาก GPAX O-NET GAT และ PAT 2 ครับ ตื่นเต้นกันทั้งประเทศแหละงานนั้น แต่ก็ผ่านมาจนได้ จำได้ไม่ลืมแน่นอนครับ 5555

พี่แป้ง : ตอนช่วงสอบเข้า น้องปลาบมีวิธีการเตรียมสอบอย่างไรบ้างคะ?

พี่ปลาบ : แน่นอนว่าการสอบก็ต้องอ่านหนังสือและทำโจทย์เยอะๆ แต่การอ่านให้มันเข้าหัวนี่ซิเรื่องใหญ่ จริงๆ มันมีส่วนของแต้มบุญที่สะสมกันมาตั้งแต่ตอนเรียนด้วยนะ ถ้าเราตั้งใจเก็บเกี่ยวมาตลอด ตอนสอบจริงก็ไม่ต้องหนักมาก แต่ถ้าใครติดเล่นเยอะหน่อยแล้วกะจะมาฝากน้ำไว้บ่อหน้า ก็ต้องใช้แรงเยอะนิดนึง คาดว่าน้องๆ ก็คงอยากได้เทคนิคการอ่านหนังสือใช่มั้ยครับ ขออนุญาตแชร์ความคิดพี่นะ พี่ว่าเรื่องนี้ "ของใครของมัน"

             ด้วยความที่ไลฟ์สไตล์คนเราต่างกัน ทำให้การอ่านหนังสือของเราต่างกัน บางคนต้องอ่านในที่เงียบๆ เท่านั้น บางคนต้องมีเพลงคลอเบาๆ บางคนอ่านเองไม่ได้ต้องให้เพื่อนติว พูดทีเดียวจำแม่นเชียว แล้วแต่เลยครับ เราถนัดแบบไหนก็อ่านแบบนั้น แต่!!!! อย่าหลอกตัวเอง อย่าหลอกตัวเองว่าฉันเข้าใจแล้ว ฉันจำได้น่าาาา มันไม่โอเคเลยครับ ได้คือได้ ไม่ได้ก็คือไม่ได้ คนเรามันไม่เท่ากันหรอกครับ อย่ากดดันตัวเอง เราทำของเราให้ดีที่สุดก็สุดยอดแล้ว

             สำหรับพี่ ตอนมัธยมพี่เป็นคนขี้เกียจอ่านหนังสือมาก จนมาถึงช่วงไฟลนตอน ม.6 แล้วนี่แหละที่ต้องอ่าน พอจะเริ่มก็แบบบบบบ โอ้โหหหหหหห มันเยอะไปหมด เอาไงล่ะทีนี้
เริ่มที่ "อ่านเลข" ครับ ทั้งที่ตอนนั้นก็ไม่ต้องใช้คะแนน PAT 1 นะ แต่จะทำเพราะ "ชอบ" ล้วนๆ ก็นั่งทำนั่งอ่านไป ทำข้อสอบเก่าย้อนหลังจนครบทุกปีที่มี แล้วทำทำไม? มันคือการสร้างนิสัยให้ตัวเองอ่านหนังสือครับ อ่านทุกวัน ทำทุกวัน จนเป็นสิ่งที่ต้องทำทุกวัน จากนั้นพี่ก็ค่อยเริ่มมาอ่านเคมีทวนจนหมด เพราะชอบอีกนั่นแหละ อ่านจบหมดก็เหลือเวลาไม่ถึงเดือนก่อนสอบแล้ว

             ส่วนชีวะฯ พี่ไม่อ่านแล้ว ทำข้อสอบเลย 55555 เพราะหนังสือข้อสอบจะมีอธิบายเพิ่มเติมในประเด็นนั้นในเฉลย พี่ก็เอาแค่ตรงนั้นแหละ ขอเนื้อๆ เน้นๆ สุดท้ายคือฟิสิกส์นั้นนนนนนนน เทจ้าาาาา ไม่อ่านเลยแม้แต่น้อย เพราะไม่ใช่ทางของเราจริงๆ คือพี่เข้าไม่ถึงฟิสิกส์ เลยตกลงใจกับฟิสิกส์ว่า เราต่างคนต่างอยู่เนอะ ก็ได้แต่แผ่เมตตาให้ฟิสิกส์ไป เพราะมันทำได้แค่นั้นจริงๆ (วิธีนี้ไม่แนะนำสำหรับน้องๆ ทุกคนนะ คือมันสุดๆ จริงๆ พี่เลยเลือกจับเคมีวิชาเดียว ชีวะฯเอาพอถูๆ ไถๆ ส่วนฟิสิกส์ก็เทล้วน)

 

พี่แป้ง : ชีวิตที่เรียนคณะเภสัชศาสตร์ ต่างจากที่เราคิดไว้ตอนอยู่ ม.6 มั้ย?
พี่ปลาบ : ต่างมากเลยครับ คือตอนก่อนเรียนนี่จินตนาการไว้สวยหรูมาก ท่องชื่อยาน่ารักๆ ยานี้ใช้รักษาโรคนี้ ยานั้นใช้รักษาโรคนั้น ซึ่งมันเป็นเรื่องจริงครับ แต่...ยามีล้านตัวววววว 555555 ซึ่งไม่ใช่แค่นั้นที่เภสัชกรต้องรู้ เราต้องรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับยาครับ ตั้งแต่คิดค้น วิจัย พัฒนา ผลิต ไปจนถึงการส่งมอบยาให้ผู้ป่วย ซึ่งทุกอย่างสำคัญหมดครับ เพราะเราต้องมั่นใจว่า สิ่งที่ผู้ป่วยกำลังจะได้รับ คือยาที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับผู้ป่วยเฉพาะราย ทำให้เภสัชกรต้องเรียนรู้อะไรมากมาย แต่ละวิชาก็จะมีจุดเด่นเป็นของตัวเอง ขอไม่พูดมากดีกว่า รอให้น้องๆมาสัมผัสความน่ารักของ"ยา"เองแล้วกันเนอะ

             ส่วนเนื้อหาขอเล่าคร่าวๆนะครับ กว่าจะเป็นเภสัชกร เราเจออะไรตอนเรียนมาบ้าง เริ่มต้นเราก็ต้องเรียนพื้นฐานวิทยาศาสต์อีกครั้ง ส่วนใหญ่คล้ายกับเนื้อหาม.ปลายเลย แต่บางเรื่องก็ลึกลงอีกนิด เสร็จแล้วเราก็เข้ามาเรียนวิชาคณะ เป็นพื้นฐานทางเภสัชฯกันบ้าง หลักๆที่ต้องเจอก็เช่น กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา ชีวเคมี จุลชีววิทยา ที่เหลือตั้งแต่ช่วงปี3เป็นต้นไปก็พีคทุกวิชา (จริงๆก็พีคมาตั้งแต่ปี2แล้ว) เนื้อหาจะเป็นเภสัชฯมาก กลไกการออกฤทธิ์ของยา โครงสร้างเคมีของยา การวิเคราะห์ การผลิต การควบคุมคุณภาพ สมุนไพร การใช้ยา ตลอดจนระบบยา และอื่นๆอีกมากมายยยย ขอยกตัวอย่างแค่นี้ก่อนแล้วกันนะครับ เดี๋ยวน้องกลัว 55555

พี่แป้ง : น้องปลายคิดว่า อะไรคือสิ่งสำคัญที่น้องๆ ที่อยากเรียนเภสัชฯควรมีไว้

พี่ปลาบ : จริงๆสำหรับทุกสาขาเลยนะครับ สิ่งที่ต้องมีคือ "ใจ"
มันไม่มีอะไรยากง่ายไปกว่ากันหรอกครับ ทุกคณะทุกสาขา ยากทั้งหมด และมีไว้สำหรับผู้ที่มีใจเข้ามาเรียน เอาจริงๆคือถ้าใจเราไม่มาด้วย มันก็พอเรียนไปได้ครับ แต่เราจะไม่มีความสุขเลย ถ้าเราฝืนตัวเองจนจบมาได้ เราก็คงไปทำงานในสายนั้นแบบไม่มีความสุข พอเราไม่มีใจ ทำอะไรมันก็ออกมาไม่ดีหรอกครับ เพราะฉะนั้นสำคัญเลยที่สุดคือ ใจ

             น้องๆ ก็อย่าพึ่งมัวแต่อ่านหนังสือจนลืมมองตัวเองไปนะครับว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั่นเราคิดดีแล้วใช่ไหม ต้องมั่นใจก่อนว่าเราจะเลือกเดินทางไหน หากเลือกได้แล้วก็ลุยเลย ขออย่างเดียวคือ "อย่ากลัวที่จะทำตามความฝันของตัวเอง" ไม่ว่าสังคมจะบอกให้เราทำอะไร ใครจะมาชี้ว่าเราต้องเป็นอะไร แต่สุดท้าย ตัวเรานี่แหละที่เป็นคนเลือกทางเดินให้ตัวเอง ถ้าใจบอกว่าใช่ ก็ลงมือเลยครับ

พี่แป้ง : เรียนเภสัชฯ ต้องมีการใช้ทุนอะไรเหมือนหมอมั้ย?

พี่ปลาบ : มีครับ แต่ก็มีที่นั่งจำกัด คือในหนึ่งปี ตำแหน่งใช้ทุนตามหน่วยงานต่างๆ (ส่วนใหญ่คือโรงพยาบาลเกือบทั้งหมด) จะเปิดรับเภสัชกรใช้ทุน ซึ่งที่ผ่านมาจำนวนที่เปิดรับมักจะน้อยกว่าจำนวนเภสัชกรจบใหม่ครับ ทำให้ผู้ที่ประสงค์จะใช้ทุนต้องจับฉลากกันครับว่าใครจะได้ไปใช้ทุน ในกรณีแบบนี้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะใช้ทุนก็ไม่ต้องใช้ทุนครับ

พี่แป้ง : เนื้อหาที่น้องปลาบทำอยู่ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง เล่าให้ฟังหน่อยค่ะ?  

พี่ปลาบ : ตอนนี้ปลาบเป็นผู้แทนยาครับ น้องๆ อาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับบทบาทนี้มากนัก ผู้แทนยาก็เปรียบเสมือนตัวแทนของบริษัทยา ที่จะนำข้อมูลของยาไปเสนอให้กับแพทย์ เพื่อให้แพทย์พิจารณาเลือกใช้ยาตามความเหมาะสม การทำงานก็จะค่อนข้างแตกต่างจากเภสัชกรโรงพยาบาลหรือร้านยาที่มักจะมีตารางการทำงานค่อนข้างแน่นอน อาจมีรับเวรบ้างแล้วแต่วัน แต่ของพี่จะออกแนวยืดหยุ่นได้ครับ ไม่มีสถานที่ชัดเจนในทุกวัน ขึ้นกับว่าเราจะวางแผนไปพบแพทย์ท่านไหน ที่โรงพยาบาลอะไร ทำให้ต้องจัดตารางเวลาตัวเองครับ

พี่แป้ง : ตั้งแต่ทำงานมา เคสไหนที่เจอแล้วรู้สึกประทับใจมากที่สุด และเคสไหนที่ปวดหัวมากที่สุด

พี่ปลาบ : ที่ประทับใจก็คงเป็นบทบาทของเภสัชกรชุมชน (ร้านยา) ที่ได้เคยเจอมาตอนฝึกงาน จริงๆ แล้วเราจะประทับใจอะไรมันก็ต้องขึ้นกับเราด้วย คือเราต้องใช้ใจทำงานจริงๆ  ไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นใคร มากจากไหน หรือเจออะไรมาก่อนหน้านี้ เมื่อผู้ป่วยมาเจอเรา สิ่งที่เขาต้องการคือยาที่ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยของเขา เราในฐานะเภสัชกรจึงต้องซักประวัติ พูดคุย และพิจารณายาหรือการรักษาที่เหมาะสมที่สุดให้ผู้ป่วย ความประทับที่จะได้รับคือคำขอบคุณจากเขาเมื่อเราใส่ใจในทุกรายละเอียดครับ (ถ้าไปร้านยาแล้วเภสัชกรถามเยอะก็อย่าพึ่งรำคาญน้า เราห่วงคุณจริงๆ ไม่งั้นไม่ถามเยอะหรอก เพื่อความปลอดภัยที่สุดนะ) ส่วนเคสที่น่าปวดหัวคือ เคสที่ผู้ป่วยรู้ดีกว่าเภสัชกร แบบนี้ก็เจอเยอะเลย มาถึงจะเอายานู้นยานี้ บางทีก็เชื่อข้อมูลจากโลกโซเชียลมากกว่า ทำเอาเภสัชกรปวดหัวไปตามๆ กันเลยครับ
 

พี่แป้ง : สุดท้ายนี้อยากให้น้องปลาบฝากอะไรถึงน้องๆ ที่อยากเรียนเภสัชฯหน่อยค่ะ
พี่ปลาบ : สำหรับน้องๆ ที่อยากเรียนเภสัชฯนะครับ คำถามแรกที่พี่ต้องถามก่อนเลยคือ แน่ใจแล้วหรือยัง ไม่ว่าจะคณะไหนก็ตามเราต้องถามตัวเองว่า เราแน่ใจแล้วนะ เพราะอย่างที่บอกไปครับ ทุกคณะ ทุกสาขา สิ่งสำคัญที่สุดที่ใช้ในการเรียนก็คือ "ใจ" ถ้าใจเรามา เราจะทำอะไรมันก็ราบรื่น ต้องค้นหาตัวเองให้เจอก่อน แล้วตอบตัวเองให้ได้ว่าทางที่เราจะเลือกเดินไปต่อ มันใช่ทางของเราจริงไหม

             แน่นอนครับว่าหนทางข้างหน้าที่เราเลือกมันคงไม่ได้โปรยด้วยกลีบกุหลาบ อุปสรรคยังคงรอเราอยู่อีกมากมาย เพราะฉะนั้นเราต้องใช้ใจของเรา เป็นอาวุธในการฝ่าฝันทุกอย่างไปให้ได้ ถ้าน้องไม่มีใจ ก็เหมือนกับน้องไม่มีอาวุธต่อสู้อุปสรรคนั้นครับ พี่ขอเป็นกำลังใจให้กับน้องๆ ทั้งที่มั่นใจในทางเดินของตัวเองแล้ว และที่ยังค้นหาหนทางข้างหน้าอยู่ สมัยนี้ข้อมูลมันเยอะไปหมดครับ เราสามารถค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายๆ บทบาทของเภสัชกรยังมีอีกมากมาย ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง น้องๆ ควรจะศึกษาหาข้อมูลดูให้รอบด้านก่อน เมื่อถึงวันที่เรามั่นใจกับทางเดินข้างหน้าของเราแล้วก็อย่ารอช้าครับ ลุยให้เต็มที่!!! สู้ๆ นะครับ


             เก่งไม่สำคัญเท่าความพยายามนะคะ ชอบคำพูดพี่ป่านที่บอกว่า "โลกนี้มีรางวัลสำหรับทุกความพยายาม" ถ้าเราพยายามในการทำอะไรเชื่อว่าต้องได้รางวัลกลับมาแน่นอนไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ตาม เป็นอันว่าจบการเจาะลึกคณะในฝัน คณะเภสัชศาสตร์เป็นที่เรียบร้อย ในสัปดาห์หน้าอย่าลืมติดตามกันนะคะว่าพี่แป้งจะพาน้องๆ ไปบุกคณะในฝันคณะไหน แล้วพบกันนะคะ สวัสดีค่ะ

 
พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

Mamiar Member 25 ก.พ. 60 13:22 น. 2

ชอบคำพูดพี่ปลาบมากเลยค่ะ "อย่ากลัวที่จะทำตามความฝันของตัวเอง ไม่ว่าสังคมจะบอกให้เราทำอะไร ใครจะมาชี้ว่าเราต้องเป็นอะไร แต่สุดท้าย ตัวเรานี่แหละที่เป็นคนเลือกทางเดินให้ตัวเอง ถ้าใจบอกว่าใช่ ก็ลงมือเลยครับ" ชอบมากกก เราเชื่อนะค่ะว่าทุกคนมีเส้นทางสู่ความสำเร็จในแบบฉบับของตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องทำในสิ่งที่เป็นค่านิยมของคนส่วนใหญ่ ถ้าคิดว่าสิ่งที่เราทำใช่และชอบมันจริงๆ ก็ลงมือทำเลยค่ะ ทุกคนก็สามารถประสบความสำเร็จได้ในแบบของตัวเองกันทั้งนั้นถ้ามีความพยายามจริง :)

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Mamiar Member 25 ก.พ. 60 13:22 น. 2

ชอบคำพูดพี่ปลาบมากเลยค่ะ "อย่ากลัวที่จะทำตามความฝันของตัวเอง ไม่ว่าสังคมจะบอกให้เราทำอะไร ใครจะมาชี้ว่าเราต้องเป็นอะไร แต่สุดท้าย ตัวเรานี่แหละที่เป็นคนเลือกทางเดินให้ตัวเอง ถ้าใจบอกว่าใช่ ก็ลงมือเลยครับ" ชอบมากกก เราเชื่อนะค่ะว่าทุกคนมีเส้นทางสู่ความสำเร็จในแบบฉบับของตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องทำในสิ่งที่เป็นค่านิยมของคนส่วนใหญ่ ถ้าคิดว่าสิ่งที่เราทำใช่และชอบมันจริงๆ ก็ลงมือทำเลยค่ะ ทุกคนก็สามารถประสบความสำเร็จได้ในแบบของตัวเองกันทั้งนั้นถ้ามีความพยายามจริง :)

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
??? 17 เม.ย. 66 15:19 น. 4

อยากถามว่าถ้าไม่ได้เรียนกิฟเต้ด แต่เรียนepที่เป็นแบบวิทย์ คณิต อังกฤษ สามารถสอบเภสัชได้ไหมคะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด