สวัสดีค่ะ เข้าสู่เดือนกันยายนแล้ว ส่วนใหญ่น้องๆ ก็มักจะสอบปลายภาคกันในเดือนนี้เนอะ เหมือนหายใจเฮือกเดียว เทอม 1 ก็ผ่านไปไวปานฟ้าแลบ เตรียมอ่านหนังสือกันแทบไม่ทัน
        วันนี้พี่เมก้าเลยขอเอาใจน้องๆ ที่ต้องสอบ "วิทย์" กันสักหน่อยค่ะ มีทริกการอ่านแบบง่ายๆ มาฝาก ใช้ได้จริงทุกสนามสอบทั้งใน รร. ไปจนถึง GAT PAT O-NET 9 วิชาฯ เลยล่ะ

1. ตีซี้กับรากศัพท์
        น้องๆ อาจจะหงุดหงิดบ่อยๆ กับการอ่านวิทย์ ยิ่งเวลาเจอชื่อเฉพาะในวิชาชีววิทยา อื้อหือ! ยั้วเยี้ยไปหมด ท่องจำกันไม่หวาดไม่ไหว แนะนำให้ทำสมุดจดศัพท์ขึ้นมา แล้วจับชื่อเฉพาะมามัดรวมกันเป็นกลุ่มตามรากศัพท์ไว้เลยดีกว่าค่ะ วิธีนี้จะช่วยให้เราเดาศัพท์จากรากศัพท์ได้ และเข้าใจเนื้อหาง่ายขึ้น

        เช่น
กลุ่ม Meta = การเปลี่ยนแปลง Metamorphosis การเปลี่ยนแปลงรูปร่าง Metabolism การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี กลุ่ม Rhizo = ราก Rhizoid ราที่มีลักษณะคล้ายราก Rhizobium แบคทีเรียอาศัยอยู่ที่ราก กลุ่ม Derm = ผิวหนัง Dermis ชั้นหนังแท้ Dermatologist แพทย์ผิวหนัง

2. เจาะที่มาของสูตร+สรุปสูตร
        ปัญหาใหญ่ของการเรียนวิทย์คือมีพาร์ทคำนวณที่สูตรเยอะมาก แถมพอจำสูตรได้ก็เอามาใช้ไม่เป็นอีก พัง! วิธีแก้คือน้องต้องมาศึกษาที่มาของสูตรเพื่อให้เข้าใจหลักการก่อน บางคนแกะออกมารู้เลยว่าหลายสูตรสามารถนำมาพิสูจน์ได้จากอีกสูตรหนึ่ง พอเข้าใจแล้วก็ลองหยิบสูตรมาแก้โจทย์ดู
   
        เรื่องหน่วยและสัญลักษณ์ก็สำคัญมากเหมือนกันนะคะ ถ้าจำหน่วยไม่ได้ เวลามีการเปลี่ยนหน่วยอะไร น้องจะยิ่งวุ่นกับหลักการไปอีก ดังนั้น พวกหน่วย สัญลักษณ์ และสูตรสำคัญต่างๆ ที่เราจับคอนเซปต์ออกมาได้แล้ว ถ้าทำตารางสรุปเก็บไว้อ่านและท่องจำก่อนสอบได้ มันจะช่วยชีวิตเราได้มากเลย


3. อ่านแล้ววาดออกมาเป็นภาพ
        เคยมีคนบอกว่าเรียนวิทย์ให้เข้าใจง่าย จำเนื้อหาได้นานแทบไม่ต้องท่องจำ การวาดภาพช่วยได้ บางคนฝึกจากการวาดกราฟ ทำความเข้าใจกราฟรูปเดียว ก็นำไปประยุกต์กับเรื่องอื่นได้ บางคนอ่านแล้วนึกภาพตามจากที่เคยสังเกตการทดลองมาก่อน บางคนก็คิดกิมมิคช่วยจำมาใหม่เลยค่ะ
        เช่น อ่านเรื่องหัวใจ มี 3 สิ่งสำคัญคือ หัวใจ หลอดเลือด เส้นเลือด ถ้ามองเป็นภาพเทียบหัวใจกับระบบก๊อกน้ำ หัวใจ เหมือน ปั๊มน้ำ ทำหน้าที่สูบฉีดเลือด หลอดเลือด เหมือน ท่อน้ำ นำทางให้ เส้นเลือด ไหลผ่านไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายเหมือน น้ำประปา ที่ไหลอยู่ในท่อน้ำ โอ้โห! รู้เรื่อง
         

4. สรุปเนื้อหาตามชอบ  
        ข้อเสียของวิชาวิทยาศาสตร์คือเนื้อหาค่อนข้างเยอะไปถึงเยอะมากกก แต่ข้อดีคือมีเนื้อหาเชื่อมโยงกันอยู่ในหลายๆ บท ดังนั้น ถ้าน้องๆ อ่านให้พอเห็นภาพรวมของเนื้อหา แล้วทำสรุปเป็นภาษาของตัวเองเก็บไว้ รับรองคะแนนมาเต็ม! จะสรุปเป็น Mind map แยกบท หรือย่อเป็นโน้ตสั้นๆ ก็ว้าวทั้งคู่   

5. รู้ธรรมชาติข้อสอบ
        ถ้าอ่านหนังสือเพื่อสอบ น้องๆ ก็จำเป็นต้องรู้ค่ะว่าธรรมชาติของข้อสอบแต่ละสนามเป็นยังไง เราจะได้เตรียมตัวถูก จากที่รุ่นพี่เคยแชร์ประสบการณ์ พี่จะยกตัวอย่างให้ดูทีละสนามเลยละกันนะคะ

สนามเคมี
        9 วิชาสามัญ : เน้นความรู้พื้นฐานครบทุกบท ทั้งทฤษฎีและคำนวณ แต่ไม่เกินหลักสูตรที่เรียน  
        PAT2 : ออกเฉพาะบทเจ้าประจำ (เจอทุกปี) แต่เป็นเชิงวิเคราะห์ยากๆ ต้องประยุกต์ความรู้
        O-NET : เน้นเคมีพื้นฐานเหมือน 9 วิชาฯ แต่เป็นระดับง่าย ไม่ค่อยมีคำนวณ ถ้ามีก็ไม่ซับซ้อน


สนามฟิสิกส์
        9 วิชาสามัญ : แทบวัดทักษะคำนวณล้วนๆ ออกเพื่อวัดสเต็ปและตรรกะในการแก้ปัญหา
        PAT2 : ข้อสอบแนววิเคราะห์ คำนวณไม่เยอะ ถ้ารู้เฉพาะสูตร แต่ไม่รู้หลักการ มักจะทำไม่ได้
        O-NET : วัดความคิดแต่ง่ายกว่า PAT2 เยอะมาก อ่าน PAT2 หนักๆ ก็ครอบคลุม O-NET แล้ว


สนามชีววิทยา
        9 วิชาสามัญ : ออกทุกบท แต่บางบทออกมาก บางบทออกน้อย จึงยากและลึกกว่า PAT2
        PAT2 : ออกเฉพาะบทเจ้าประจำเหมือนกับเคมีเลย ถ้าอ่านมาถูกจุด คว้าคะแนนไปกินได้ง่ายๆ
        O-NET : ปรับเนื้อหายากขึ้นทุกปี แต่ไม่ยากเท่า PAT2 และ 9 วิชาฯ อ่านให้ละเอียดได้เปรียบ 


6. อย่าลืมอ่านบทเจ้าประจำ
        รู้ธรรมชาติของข้อสอบแต่ละสนามไปแล้ว น้องๆ ก็คงรู้ว่าบางสนามมีการออกสอบแบบเน้นบทเจ้าประจำอยู่ นั่นหมายความว่าถ้าอ่านข้อมูลไปแน่นๆ เจ้านี่จะเป็นตัวทำคะแนนให้น้องๆ ได้ แต่พี่เมก้าไม่ได้หมายความว่าให้ทิ้งบทที่เหลือนะคะ อ่านเหมือนกันเพียงแต่จับตามองบทที่ออกสอบบ่อยไว้ก็ดีค่ะ

เคมี       
        ปริมาณสารสัมพันธ์ / กรด-เบส / โครงสร้างอะตอมและตารางธาตุ / พันธะเคมี / สมดุลเคมี / ไฟฟ้าเคมี / เคมีอินทรีย์ / สมบัติธาตุ / ของแข็ง ของเหลว แก๊ส / อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี / สารชีวโมเลกุล 


ฟิสิกส์
       ไฟฟ้าสถิตย์ / สมบัติสาร / ทฤษฎีจลน์ / แสง / การเคลื่อนที่วงกลม / กฎของนิวตัน / นิวเคลียร์ / การเคลื่อนที่แนวเส้นตรง / เสียง / งานและพลังงาน / ปฏิกิริยาฟิวชัน         
ชีววิทยา
       พันธุศาสตร์ / ระบบนิเวศ / เซลล์ / การสังเคราะห์ด้วยแสง / ประชากร / วิวัฒนาการ / กลไกร่างกายมนุษย์ / การรักษาดุลยภาพในร่างกาย

โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ
       โครงสร้างโลก / การแปรสัณฐานของแผ่นธรณี / แผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด / ธรณีประวัติ / กำเนิดเอกภพ / ดาวฤกษ์ / ระบบสุริยะ / เทคโนโลยีอวกาศ

7. ฝึกตั้งคำถาม
        เวลาอ่านหนังสือ น้องๆ อย่าอ่านอย่างเดียวนะคะ ให้ลองคิดตาม ตั้งข้อสงสัยไปด้วยว่า "ทำไมถึงเป็นแบบนี้ เอ๊ะ! บทนี้คุ้นๆ เหมือนเชื่อมกับบทนั้น" จะทำให้เห็นภาพรวมของเนื้อหา และทำให้รู้ด้วยว่าเรื่องไหนที่ตั้งคำถามแล้วตอบไม่ได้แปลว่ายังอ่านไม่แม่นพอ ต้องรีบไปเก็บเนื้อหาเพิ่ม 

8. อ่านแล้วห้ามเทโจทย์
        เก็บเนื้อหามาจนครบแล้ว สิ่งที่น้องๆ ห้ามลืมเด็ดขาดก็คือการทำโจทย์ค่ะ บางสนามข้อสอบชอบเล่นโจทย์ซับซ้อน มีตัวเลขที่หาคำตอบยากๆ ติดค่าตัวแปรอะไรแบบนี้ ถ้าน้องๆ ฝึกทำโจทย์หลายชั้น ก็จะยิ่งคุ้นกับรูปแบบโจทย์มากขึ้น เวลาทำก็ฝึกจับเวลาไปด้วยนะคะ จะได้เหมือนอยู่ในสนามจริง
 
        อีกสิ่งที่น้องๆ ไม่ควรพลาดคือทำโจทย์แล้วกลับมาจดสรุปไว้ค่ะว่า "โจทย์ข้อนี้มาจากบทไหน เรื่องไหน ตอนคำนวณใช้สูตรอะไร มีวิธีแก้ยังไง" เผื่อมีจุดผิดพลาด มีข้อสงสัยจะได้กลับไปอ่านเนื้อหาได้ถูกที่ เชื่อว่าเปิดอ่านสูตร ฝึกทำโจทย์บ่อยๆ จากที่ทำแล้วติดๆ ขัดๆ อีกไม่นานก็คล่องขึ้นเอง

        เป็นไงบ้างคะน้องๆ อ่านวิทย์แบบนี้ ไม่ยากไปใช่รึเปล่า? น้องคนไหนมีเทคนิคอื่นๆ อยากจะแบ่งปันเพื่อนๆ ก็ชวนมาแชร์กันเยอะๆ นะคะ ช่วยๆ กันจะได้สอบติดยกเว็บค่ะ     
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

rileyren Member 9 ก.ย. 60 21:18 น. 1

อ๋า...คิดถึงยามเยาว์วัย (ตอนนี้ก็ยังเยาว์อยู่น้า)


ก็ใช้เทคนิคอะไรประมาณนี้ล่ะค่ะ ช่วยยืนยัน มันได้ผลจริง ๆ น้า


โดยเฉพาะเรื่องสรุป เรื่องสูตร เรื่องวาดรูป เป็นสิ่งที่ควรทำตั้งแต่เริ่ม ๆ เรียนเลยนะ (มันกำลังสด ถ้าไม่รีบ สักพักจะลืม นานเข้าขี้เกียจ ไว้ใกล้สอบเลยละกัน 555+)


จากนั้น สิ่งที่ต้องเน้นบ่อย ๆ เรื่อย ๆ คือฝึกทำโจทย์ โดยเฉพาะฟิสิกส์ ฟิสิกส์นี่ เป็นอะไรที่ ต้องจำได้+ความเข้าใจ (คือ ที่มีคนบอก ดีแต่ท่องจำ ทำไมไม่ใช้ความเข้าใจ อยากบอกว่า ก่อนจะเข้าใจ ก็ต้องอาศัยจำรายละเอียดเหมือนกันนะ เข้าใจแล้ว ก็ต้องจำอยู่ดี ว่าเข้าใจยังไง) แล้วนำไปใช้ให้เป็น จะเรียบเรียงความคิดตรงนี้ได้ อาศัยการฝึกทำโจทย์จริง ๆ ค่ะ ชีวะ วาดเป็นรูป ใช้สีด้วย ช่วยได้น้า


ส่วนตัวรู้สึกว่า เคมีง่ายสุด ถ้าเข้าใจหลักการ ก็เข้าใจเลย มโนว่าเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุเวลาเรียน จะได้อารมณ์มาก 555+


สำหรับใครมีสอบหรือใกล้สอบ สู้ ๆ นะคะ เย้ ๆ

0
กำลังโหลด
O-o DerBraun o-O Member 20 ก.ย. 60 09:20 น. 2

ววิธีนี้ดีมากครับ ขอแชร์ครับ รุ่นน้องเรียนสายวิทย์ ผมก็เรียนสายวิทย์ ตัวช่วยดีๆเลยเนี่ย

0
กำลังโหลด

7 ความคิดเห็น

rileyren Member 9 ก.ย. 60 21:18 น. 1

อ๋า...คิดถึงยามเยาว์วัย (ตอนนี้ก็ยังเยาว์อยู่น้า)


ก็ใช้เทคนิคอะไรประมาณนี้ล่ะค่ะ ช่วยยืนยัน มันได้ผลจริง ๆ น้า


โดยเฉพาะเรื่องสรุป เรื่องสูตร เรื่องวาดรูป เป็นสิ่งที่ควรทำตั้งแต่เริ่ม ๆ เรียนเลยนะ (มันกำลังสด ถ้าไม่รีบ สักพักจะลืม นานเข้าขี้เกียจ ไว้ใกล้สอบเลยละกัน 555+)


จากนั้น สิ่งที่ต้องเน้นบ่อย ๆ เรื่อย ๆ คือฝึกทำโจทย์ โดยเฉพาะฟิสิกส์ ฟิสิกส์นี่ เป็นอะไรที่ ต้องจำได้+ความเข้าใจ (คือ ที่มีคนบอก ดีแต่ท่องจำ ทำไมไม่ใช้ความเข้าใจ อยากบอกว่า ก่อนจะเข้าใจ ก็ต้องอาศัยจำรายละเอียดเหมือนกันนะ เข้าใจแล้ว ก็ต้องจำอยู่ดี ว่าเข้าใจยังไง) แล้วนำไปใช้ให้เป็น จะเรียบเรียงความคิดตรงนี้ได้ อาศัยการฝึกทำโจทย์จริง ๆ ค่ะ ชีวะ วาดเป็นรูป ใช้สีด้วย ช่วยได้น้า


ส่วนตัวรู้สึกว่า เคมีง่ายสุด ถ้าเข้าใจหลักการ ก็เข้าใจเลย มโนว่าเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุเวลาเรียน จะได้อารมณ์มาก 555+


สำหรับใครมีสอบหรือใกล้สอบ สู้ ๆ นะคะ เย้ ๆ

0
กำลังโหลด
O-o DerBraun o-O Member 20 ก.ย. 60 09:20 น. 2

ววิธีนี้ดีมากครับ ขอแชร์ครับ รุ่นน้องเรียนสายวิทย์ ผมก็เรียนสายวิทย์ ตัวช่วยดีๆเลยเนี่ย

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด