AE(เออี) อาชีพในฝันของเด็กยุคใหม่ แล้วรู้ไหมว่า หน้าที่จริงๆ ของ AE คืออะไร?


      "อยากเป็นเออี" ดูเหมือนว่าอาชีพที่เรียกกันว่า AE เป็นหนึ่งในอาชีพในฝันที่วัยรุ่นสมัยนี้สนใจ แต่อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจกันว่า งาน AE ทำอะไรกันแน่? นึกออกแต่ภาพผู้หญิงบุคลิกดี แต่งตัวดี ใส่รองเท้าส้นสูง ทาปากแดง แล้วออกไปพบลูกค้าเพื่อขายงาน

        แล้วจริงๆ หน้าที่ของ AE คืออะไรกันแน่?



ความหมายของตำแหน่ง AE

       AE ย่อมาจาก Account Executive

       โดย Account ในที่นี้หมายถึงตัว "ลูกค้า" ไม่ได้หมายถึง "การบัญชี"
       ส่วน Executive หมายถึง "การบริหาร"

       ดังนั้น Account Executive จึงหมายถึงคนที่ทำหน้าที่ดูแล จัดการ และบริหารลูกค้านั่นเอง


หน้าที่ของ AE ทำอะไรบ้าง?
   
       นึกภาพบริษัทหนึ่งๆ ที่รับทำ "โฆษณา" ในบริษัทจึงมีทั้งทีมถ่ายทำ ทีมตัดต่อ ทีมกราฟิก ทีมครีเอทีฟ ที่ช่วยกันสร้างโฆษณาหนึ่งจนเสร็จสมบูรณ์ แต่การติดต่อสื่อสารระหว่างทีมทั้งหมดและลูกค้านั้น จะมี AE เป็นตัวกลางคอยประสานงานค่ะ (จะให้ทีมตัดต่อไปนั่งเล่าการตัดต่อให้ลูกค้าฟังทั้งหมด มันก็ไม่ใช่อะเนาะ)
     
       เมื่อลูกค้าติดต่อเข้ามาทางบริษัท .... AE จะเป็นคนแรกที่เริ่มเปิดบทสนทนากับลูกค้าว่าลูกค้ามีความต้องการอะไร เช่น ลูกค้าเป็นบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายน้ำผลไม้ ต้องการทำโฆษณาสั้นๆ 30 วินาทีเจาะกลุ่มวัยผู้สูงอายุ ดังนั้น AE จะเข้าไปพบกับลูกค้าเพื่อรับโจทย์อย่างละเอียด ซึ่งในบางครั้ง AE อาจจะชวนตัวแทนของทีมที่เกี่ยวข้องไปด้วย เช่น ชวนครีเอทีฟให้ไปนั่งรับฟังโจทย์ด้วยกันค่ะ

   
       เมื่อได้รับโจทย์แล้ว AE จะนำโจทย์หรือสารที่ได้รับจากลูกค้ามาบอกต่อยังทีมที่เกี่ยวข้อง และวางไทม์ไลน์เลยว่า จะต้องทำอะไรบ้าง ใครเป็นคนจัดการ จะส่งงานกลับมาได้เมื่อไหร่ เพื่อที่ AE จะได้นำงานนั้นไปเสนอให้ลูกค้าดู หากลูกค้าคอมเมนต์อะไรมาหรือต้องการอะไรเพิ่มเติม ก็ AE อีกนั่นแหละค่ะที่ต้องนำสารกลับมาบอกต่อคนในทีมที่เกี่ยวข้อง


เราคือตัวกลางที่แท้จริง
     
       จะเห็นได้ว่า AE เป็นตัวกลางในการประสานงาน ที่ต้องรับทั้งสารจากลูกค้าและสารจากคนในทีม ดังนั้นทักษะการติดต่อสื่อสารจึงเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ ถ้ารับสารมั่วๆ ตีความผิดล่ะก็ งานมีสิทธิ์พังได้เลยค่ะ ในขณะเดียวกัน บางที AE เจอลูกค้าคอมเมนต์(หรือด่านั่นแหละ)แรงมากกกก AE ก็จะต้องแปลงสารดังกล่าวให้อ่อนโยนลงก่อนมาบอกต่อยังคนในทีมค่ะ หรือบางทีคนในทีมก็หงุดหงิดลูกค้าที่อาจจะเรื่องมาก ทำงานเท่าไรก็ไม่ถูกใจซะที แน่นอนว่า AE ก็ต้องรับฟังคนในทีมเหมือนกันค่ะ  5555 ซึ่งถือเป็นความกดดันอย่างหนึ่งเพราะเหมือนเป็นตัวกลางที่ต้องปะทะกับทั้ง 2 ฝ่ายตลอดเวลาเลยล่ะ



ได้ค่าคอมมิชชั่นหรือเปล่านะ?

      หลายคนสงสัยว่า แล้วได้ค่าคอมมิชชั่นมั้ย? ค่าคอมมิชชั่นคือเงินค่านายหน้าจากการที่ขายสินค้าหรือบริการให้แก่ลูกค้าได้ ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีเงื่อนไขไม่เหมือนกันค่ะ บางที่ก็ไม่ได้มีค่าคอมมิชชั่นให้ AE เพราะ AE ไม่ได้เป็นคนติดต่อไปหาลูกค้าใหม่ๆ ก่อนเอง แต่เป็นลูกค้าใหม่ๆ ต่างหากที่มักติดต่อเข้ามาก่อน หรือ บางโปรเจกต์เป็นงานใหญ่มาก ต้องใช้ AE จำนวน 3-4 คน ไม่ได้มีแค่ AE คนเดียว จึงเป็นเรื่องยากที่จะแบ่งค่าคอมมิชชั่นกัน
     
       แต่กับบางบริษัทที่เน้นให้ AE เป็นคนหาลูกค้าใหม่ๆ ด้วย (คล้ายๆ เซลส์) ก็จะมีค่าคอมมิชชั่นให้ค่ะ


คุณสมบัติอะไรที่เหมาะกับงาน AE
 
       1. มีทักษะการติดต่อสื่อสารที่ดี - เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ค่ะ เพราะในการทำงานอาจมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและเฉพาะทาง เช่น ลูกค้าต้องการหนังโฆษณาพร้อมโพสต์ลงเฟซบุ๊ก อยากให้คนมีคนดูอย่างน้อย 5 ล้านวิว ซึ่ง AE ต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจได้ว่า 5 ล้านวิวที่่ว่าจะมาจากไหน ต้องใช้เงินซื้อโฆษณานี้อย่างน้อยเท่าไร และทำไมต้องใช้เงินเท่านี้? ซึ่งบางทีก็มีศัพท์เทคนิคเยอะพอสมควร และลูกค้าเราอาจเป็นคนอายุ 50 ปีที่ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องดิจิตัล นี่แหละค่ะคือความยากที่ต้องจัดการให้ได้
     
       ทักษะการสื่อสารที่ว่าไม่ใช่แค่ฟังและพูด แต่ยังรวมไปถึงการเขียนด้วยค่ะ เพราะเรามักส่งงานกันทางอีเมลมากกว่าจะไปเจอหน้าลูกค้าทุกสัปดาห์ ดังนั้นการอธิบายให้ชัดเจนผ่านการเขียน เป็นสิ่งสำคัญมากๆ

   
       2. รับความกดดันได้ทุกทาง มี EQ ที่ดี

ลูกค้า บอกกับ AE  : ผมขอให้งานนี้เสร็จภายในวันที่ 30 นี้ ไปบอกทีมในบริษัทของคุณด้วย
คนในทีม บอกกับ AE  : จะบ้าเหรอไง ใครจะไปทำทัน กลับไปบอกลูกค้าด้วยว่าให้เลื่อนไป
     
       พอจะเห็นภาพใช่มั้ยคะว่า เป็นเรื่องที่ลำบากใจสุดๆ 5555 แต่ถ้าใครคิดว่าพร้อมจะรับแรงกดดันตรงนี้ ถือว่ามีทัศนคติที่ดีมากและเหมาะจะเป็น AE สุดๆ ค่ะ เราจะต้องไม่ระเบิดอารมณ์ใส่ทั้งลูกค้าและคนในบริษัทของเรานะคะ ต้องหาวิธีจัดการและรับมือกับทั้งสองฝ่ายให้ได้

        3. พร้อมเรียนรู้อะไรใหม่ๆ พร้อมที่จะทำความเข้าใจธุรกิจของบริษัทเราและบริษัทลูกค้า - บางทีเราอาจเข้าไปเป็น AE ของบริษัทด้านเคมีภัณฑ์ และเราอาจไม่ค่อยมีความรู้เรื่องพวกนี้มาก่อน แน่นอนว่าเจอโจทย์ยากค่ะ เพราะหากเราไม่รู้ว่าบริษัทเราทำอะไรขายอะไร เราจะไม่สามารถไปอธิบายหรือขายของแก่ลูกค้าได้เลย ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องเข้าใจบริษัทของลูกค้าด้วยว่าเค้าทำอะไร จะได้แนะนำหรือเสนอสิ่งที่เหมาะสมให้แก่ลูกค้าได้อย่างพอดีค่ะ



อยากเป็น AE ต้องเรียนจบอะไร?

       ถ้าตรงสายสุดๆ ก็เห็นจะเป็นสายบริหาร การตลาด หรือโฆษณาค่ะ แต่จริงๆ แล้วจบอะไรก็เป็น AE ได้! อักษรฯ รัฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ได้หมดเลย


สรุปแล้ว AE ต่างกับเซลส์ยังไง?

       อ่านมาถึงตรงนี้ น้องๆ คงพอจะเห็นภาพกันแล้วว่า AE มีขั้นตอนการทำงานยังไง แน่นอนว่าต่างจากเซลส์ค่ะ ยกตัวอย่าง เซลส์ขายรถ มีหน้าที่พูดคุยกับลูกค้า ถามความต้องการว่าลูกค้าต้องการรถแบบไหน จากนั้นก็นำเสนอรถมือสองที่เหมาะสมกับลูกค้า ลูกค้าจ่ายเงินซื้อ เป็นอันจบ ปิดทุกอย่างได้ในเซลส์คนเดียวและอาจใช้ระยะเวลาไม่กี่วัน ไม่ต้องมีอัปเดตประชุมอะไรที่ซับซ้อน ไม่ต้องเป็นตัวกลางประสานงานให้ใครเหมือนกับ AE ค่ะ


เงินเดือนล่ะ ได้เท่าไร?
 
       โดยทั่วไป หากเป็น AE จบใหม่ เงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 18,000-25,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ หากเน้นใช้ภาษาอังกฤษด้วย อาจได้มากถึง 30,000 บาทต่อเดือน

        พอเริ่มเก็บประสบการณ์ สามารถขยับขึ้นเป็น Senior Account Executive เงินเดือนส่วนมากอยู่ที่ 35,000+ จากนั้นโตไปเป็น Account Manager เงินเดือนอยู่ที่ 50,000+ และตำแหน่งสูงสุดของงานสายนี้คือ Account Director ที่มักได้รับเงิน 70,000+ ต่อเดือนจนไปถึงเกือบ 200,000 บาทแล้วแต่ประเภทธุรกิจค่ะ (บางบริษัทอาจแบ่งตำแหน่งย่อยหรือละเอียดกว่านี้)



       ถ้าใครอ่านแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย เหมาะกับฉันเลย! ก็ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ เพราะแทบทุกบริษัทต่างต้องการ AE เพื่อมาดูแลลูกค้า เปิดรับสมัครกันรัวๆ หางานไม่ยากแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม มีหลายคนที่เข้ามาลองทำงาน AE แล้วพบว่าไม่แฮปปี้ เพราะทนแรงปะทะจากลูกค้า(และคนในทีม)ไม่ไหวและโบกมือบ๊ายบายไปหลายคน 
 
        นอกจากนี้ งาน AE ของแต่ละธุรกิจนั้นมีหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป บางธุรกิจ AE ไม่ต้องออกไปหาลูกค้าใหม่ เน้นดูแลลูกค้าเก่าที่มีอยู่แล้ว แต่กับบางธุรกิจ AE ต้องหาลูกค้าใหม่รัวๆ ดังนั้นต้องศึกษาแต่ละธุรกิจให้ดีก่อนตกลงปลงใจค่ะ
สายสืบเด็กดี

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

Felinonajang Member 23 พ.ค. 61 22:05 น. 1

ถ้าในสายไอีก็เปรียบเทียบกับ BA (Business Analyst)

รับ requirement จากลูกค้ามาแปลงสารให้เป็นทีมเข้าใจ

รับข้อมูลจากทีมไปแปลงสารให้ลูกค้าเข้าใจ

เป็นคนกลางโคตรเหนื่อยเลยยย

0
กำลังโหลด
สาวเซ็กซี่ 27 พ.ค. 62 16:33 น. 2

เราเป็นกราฟิก ทำงานในบริษัทเล็กๆ โชคดีที่ไม่มี AE ไม่มีลูกค้า เพราะได้ยินมาว่าทำงานกับ AE กับ ลูกค้า เหนื่อย

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด