แจกสูตรฟิต 2 เดือนสุดท้าย! แบ่งเวลาอ่านหนังสือสำหรับเด็กอ่านไม่ทัน

         สวัสดีค่ะ นับจากวันนี้ก็จะเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือน ที่เราจะต้องเจอกับมหกรรมการสอบขนานใหญ่ ไม่ว่าจะ GAT PAT O-NET 9 วิชาสามัญ วิชาเฉพาะแพทย์ ลากยาวตั้งแต่เดือน ก.พ. - มี.ค. สำหรับน้องๆ ที่คิดว่าโค้งสุดท้ายนี้ เราคงอ่านไม่ทัน พี่เมก้าก็มีสูตรแบ่งเวลามาฝากค่ะ ตามไปอ่านเลย


 
เลิกเครียด ก่อนฟิตอ่าน
         มาคุยกันก่อน ส่วนใหญ่เวลาน้องๆ เหลือเวลาน้อยนิด เรามักจะเครียดจนปิดหนังสือ ทั้งที่ความจริงช่วงเวลาไฟลนก้นแบบนี้ ถ้าโยนความเครียดออกไปได้ มันจะเป็นอะไรที่ดีต่อตัวน้องๆ มากเลยค่ะ เพราะเวลาเครียด เจ้าฮอร์โมนคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนแห่งความเครียดจะไปขัดขวางการทำงานของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบความจำและการเรียนรู้ ทำให้ประสิทธิภาพในการอ่านหนังสือเตรียมสอบของเราแย่ลงตามไปด้วย ลองคิดดูง่ายๆ ในหัวเอาแต่เสพเรื่องเครียดๆ จะมีสมาธิอ่านหนังสือได้ยังไง 

2 เดือน ใครอึดกว่าได้เปรียบ
         ตามทฤษฎีการเสื่อมสลายหรือเลือนหาย Decay Theory ของ Thorndike เสนอไว้ว่าการลืมเกิดขึ้นจากการที่เราละเลย ไม่ทบทวนหรือนำสิ่งที่ควรจำไว้มาใช้บ่อยๆ เพราะความจำระยะสั้นจะค่อยๆ สลายตัวไปเองสมชื่อของมันคือระยะสั้น เคยมีการวิจัยมาแล้วว่า คนเรามักจะลืมสิ่งที่อ่านมากว่า 75% ภายใน 24 ชั่วโมง ดังนั้น หากช่วงเวลา 2 เดือนนี้ น้องๆ ตั้งใจอ่านหนังสืออย่างจริงจัง สิ่งนี้จะติดสมองเราเข้าไปในห้องสอบด้วยแน่นอน และตรงกันข้ามถ้าหากใครมาเทเอาตอนนี้ เนื้อหาที่เคยอ่านไปจะหายไปจากความจำทันที 

         สำหรับน้องๆ ที่คิดว่า 2 เดือนไม่ทัน พี่เมก้าบอกเลยว่าช่วงโค้งสุดท้ายนี่แหละ เป็นอะไรที่ได้เปรียบและชี้เป็นชี้ตายสุดๆ ว่าเราจะเป็นผู้อยู่รอดในสนามนี้ หรือจากไปพร้อมคราบน้ำตา เวลา 2 เดือน หลายคนอาจจะคิดว่าน้อยนะคะ แต่ความจริงพลิกชีวิตใครมานักต่อนักแล้ว โดยเฉพาะคนที่ไม่ถอดใจไปซะก่อน ดังนั้น อึดเข้าไว้ค่ะ

1 เดือนแรก แบ่งเวลาตะลุยเนื้อหา

Step 1 : คัดหนังสือตามวิชาที่ต้องอ่านสอบ


ขอบคุณภาพจาก Pixabay
 
         นาทีนี้จะมัวกังวลอยากอ่านให้ครบทุกเล่มไม่ได้ค่ะ แนะนำว่าให้น้องๆ ลิสต์รายชื่อวิชาที่ต้องสอบ แล้วคัดหนังสือออกมาเลยว่า วิชานี้ต้องอ่านเล่มไหน ควรเลือกหนังสือที่เนื้อหาครบ อ่านแล้วมั่นใจได้ว่าอธิบายละเอียด ไม่ใช่สรุปในสรุปอีกที 

ทริค คัดหนังสือ ใช้เวลาไม่เกิน 1 วัน


Step 2 : รู้จุดอ่อน ป้อนจุดแข็ง 
         ได้หนังสือมาแล้วให้เริ่มอ่านคร่าวๆ ก่อน เพื่อสำรวจว่าแต่ละวิชามีเนื้อหาที่เรายังไม่เข้าใจตรงไหน หรือเรื่องไหนที่เราเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ การรู้จุดอ่อน - จุดแข็ง จะเป็นสิ่งที่ดีต่อการวางแผนอ่านหนังสือของน้องๆ และแปรผันตรงกับวิชาที่น้ำหนักคะแนนค่อนข้างเยอะค่ะ ถ้าเช็กแล้วพบว่ามีจุดที่ยังเป็นช่องโหว่อยู่มาก จะได้รู้ว่าต้องเพิ่มเวลาอ่านในแต่ละวันเท่าไหร่ หรือถ้าวิชาไหนเป็นจุดแข็ง ก็จะได้เป็นสัญญาณที่ดีว่า เรายังมีเวลาอ่านเพื่อทำคะแนนให้ทะลุเป้าได้

ทริค ตามหาจุดอ่อน - จุดแข็ง ใช้เวลาไม่เกิน 5 วัน

Step 3 : ทำ To-Do-List คร่าวๆ
         รู้จุดอ่อน - จุดแข็ง มีหนังสืออยู่ในมือแล้ว ก็เอาทั้งหมดนี้มาทำ To-Do-List สำหรับอ่านหนังสือคร่าวๆ เลยค่ะ ว่าแต่ละวันจะอ่านวิชาอะไรบ้าง น้องๆ จะเริ่มประเมินตัวเองได้อยู่แล้วว่า “มีเวลาเก็บเนื้อหาทั้งหมดเหลืออยู่เท่าไหร่” โดยปกติเท่าที่พี่เมก้าเห็นรุ่นพี่มาแชร์เวลาอ่านหนังสือกันนะคะ ช่วง 2 - 3 เดือนก่อนสอบ วันธรรมดาที่ต้องไปโรงเรียน จะอ่านอยู่ประมาณ 4 - 5 ชั่วโมง ช่วงเวลาที่เหมาะสมคืออ่านจนถึง 5 ทุ่มแล้วนอน ก่อนจะตื่นขึ้นมาอ่านอีกทีช่วงตี 5 จัดระบบการอ่านและนอนเป็นเวลาสม่ำเสมอแบบนี้ทุกวัน จะช่วยให้ระบบความคิดความจำของสมองทำงานได้ดีค่ะ ส่วนเสาร์ - อาทิตย์ก็จัดสรรกันตามสบายเลย    


ขอบคุณภาพจาก Pixabay
 
         เรื่องตารางอ่านหนังสือใน To-Do-List พี่เมก้าแนะนำว่าถึงจะเป็นวิชาคำนวณ ก็ไม่ให้น้องทิ้งเนื้อหานะคะ ควรเก็บสูตรและวิธีนำไปใช้ให้แม่นก่อนไปลุยข้อสอบ ในแต่ละวันน้องๆ อาจจะอ่านวิชาเดียวไปเลย เช่น จันทร์อ่านไทย อังคารอ่านเลข หรือถ้ากลัวเบื่อก็อาจจะทำตารางสลับระหว่างวิชาสายอ่านกับสายคำนวณได้ โดยอาจจะมีทริคเล็กๆ ไว้อ่านตามช่วงเวลาที่หัวแล่นมาช่วย เช่น

         19.00 - 19.50 น. : อ่านไทย
         (พัก 10 นาที)
         20.00 - 20.50 น. : อ่านไทย (ต่อ)
         (พัก 10 นาที)
         21.00 - 21.50 น. : อ่านเลข
         (พัก 10 นาที)
         22.00 - 22.50 น. : อ่านเลข (ต่อ)
         (พัก 10 นาที)

         เทคนิคอ่าน 50 นาที เป็นวิธีที่หลายคนนิยมใช้ เพราะมีการวิจัยมาแล้วว่าช่วงเวลาที่สมองโฟกัสอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ดี โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 50 นาที ส่วนการพัก 10 นาที ก็เป็นไปเพื่อให้เราได้ผ่อนคลายสมองจะได้ไม่ล้าจนเกินไปด้วยค่ะ 

ทริค ทำ To-Do-List ใช้เวลาไม่เกิน 1 วัน

Step 4 : อ่านแบบมีเทคนิค
         น้องๆ อาจจะกังวลว่า เมื่อเราพยายามจำเนื้อหาใหม่ๆ มันจะทำให้เราลืมสิ่งที่เคยจำได้มาก่อน ยิ่งไปอัดเนื้อหาหลายวิชาติดๆ กันในช่วงไม่กี่เดือน อาจจะรวนจนความรู้ตีกันไปมาในสมองก็ได้ เรื่องนี้เคยถูกค้นพบโดยนักจิตวิทยาชาวเยอรมัน Bergström Bergström เรียกว่าทฤษฎีการรบกวนกันของความจำ Interference Theory ถ้าไม่อยากให้ความรู้เดิมหายไป ระหว่างที่เราเติมความรู้ใหม่เข้ามา ก็ต้องใช้ประสบการณ์เข้าช่วย 


ขอบคุณภาพจาก Pixabay
 
         ถ้าเป็นวิชาเดียวกันหรือมีความเกี่ยวข้องกัน ควรเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเนื้อหาระหว่างบทต่างๆ ให้ได้เพื่อให้ความรู้เกาะกลุ่ม เช่น วิชาคณิตศาสตร์ เรื่องตรรกศาสตร์ + ความน่าจะเป็น เป็นต้น หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้ประสบการณ์เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพความจำ โดยการทำ “short note จดสรุปด้วยมือ” เก็บไว้อ่านทวนเพื่อไม่ให้ลืม ทำไปพร้อมกันตอนอ่านนั่นแหละค่ะ มีการวิจัยมาแล้วว่าสมองจะได้รับการกระตุ้นและจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดีผ่านสัมผัสจากสิ่งที่เราเขียนลงกระดาษ 

ทริค อ่านแบบมีเทคนิค ใช้เวลาไม่เกิน 3 อาทิตย์

1 เดือนหลัง แบ่งเวลาตะลุยโจทย์
         เนื้อหาควรเก็บให้จบตั้งแต่ 1 เดือนแรก เพราะช่วง 1 เดือนหลัง เราจะมาตะลุยโจทย์กันค่ะ ถามว่าการทำข้อสอบเก่าสำคัญยังไง พี่เมก้าก็ลิสต์ออกมาให้ดูแล้วค่ะ  

         1. ตัววัดความรู้ ข้อสอบเก่าเป็นกระจกสะท้อนความจริงที่ว่า สิ่งที่เราคิดว่าเก็บเนื้อหาจบแล้ว มันจบจริงๆ รึเปล่า บางคนเจอโจทย์เข้าไปที เงิบเลยนะคะ เหมือนไม่เคยมีความรู้อยู่ในสมอง ถ้าใครเจอแบบนี้ ก็กลับไปอ่าน short note ที่ทำเก็บไว้เลย 
         2. ไกด์ไลน์โจทย์ ข้อสอบเก่าทำให้รู้ว่าโจทย์แต่ละสนามมักจะมาแนวไหน ชอบถามอะไร บางคนทำโจทย์บ่อยจนจับทางได้เลยว่าข้อนี้เอาข้อสอบเก่ามาถาม แค่เปลี่ยนตัวเลขใหม่
         3. ไม่ลนกับสนามจริง ถ้าทำข้อสอบเก่าพร้อมกับจับเวลาไปด้วย จะทำให้เราทำข้อสอบได้คล่องขึ้น คุมเวลา รวมถึงคุมสมาธิได้ดี   
         4. เติมกำลังใจ เวลาทำข้อสอบแล้วเห็นคะแนนออกมาดี มันจะชื่นใจและทำให้เรามีแรงฮึดไปสู้กับข้อสอบในสนามจริงได้ 

         ปกติเวลาตะลุยโจทย์ควรฝึกทำอย่างน้อยวันละ 3 ชุด จะคละวิชาหรือเลือกวิชาเดียวกันก็ได้ แล้วแต่ความอึดของเราเลย ถ้าทำโจทย์แล้วผิด อย่าอ่านแค่เฉลย แต่ควรเช็คว่าทำไมถึงผิด แล้วกลับไปทบทวนเนื้อหาอย่างละเอียดอีกครั้ง นี่คือไฮไลท์สำหรับการฝึกทำข้อสอบเก่าเลย ปล.ถ้าใครคิดว่าตัวเองยังเก็บเนื้อหาไม่ครบ อาจจะใช้วิธีทำโจทย์สลับกับทบทวนเนื้อหาก็ได้ค่ะ แบ่งเวลาอย่างละครึ่งๆ อ่าน 2 ชม. ทำโจทย์ 2 ชม. รุ่นพี่หลายคนไม่แนะนำให้อ่านอย่างเดียวโดยไม่ทำโจทย์นะคะน้องๆ   


 
         ต้องบอกว่า “ไม่มีคำว่าเพื่อนในสนามรบ” ถ้ามาหยุดอ่านหนังสือเอาช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้ ไม่มีใครหยุดเป็นเพื่อนเรานะคะ ต่างคนต่างก็ซุ่มฟิตให้เต็มที่ที่สุด แม้แต่เศษเวลาเล็กๆ น้อยๆ เช่น 10 นาที ตอนรอครูเข้าสอน หรือ 20 นาที ตอนนั่งรถกลับบ้าน เราก็อาจจะท่องศัพท์ภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นมาได้หลายคำ ดังนั้น ต้องใช้เวลาทุกนาทีให้คุ้มค่ะ

         สุดท้ายนี้พี่เมก้าก็ขอสวัสดีปีใหม่น้องๆ ทุกคนนะคะ คิดหวังสิ่งใดก็ขอให้สมปรารถนา อ่านอะไรก็เข้าหัว สอบติดในมหาวิทยาลัยที่รักค่ะ พี่ๆ ทีมแอดมิชชั่นมีเทคนิคเตรียมสอบมามอบเป็นของขวัญรับปีใหม่ให้น้องๆ อีก รออ่านได้เลย 
 
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด