คุยกับพ่อแม่ทีไร ทำไมถึงทะเลาะกันตลอด

          น้องๆ น่าจะเคยเจอปัญหาแบบนี้กันอยู่แล้วแน่เลย คุยกับพ่อแม่ทีไร ต้องมีเรื่องให้เถียงกันตลอด พอเถียงหรือทะเลาะกันบ่อยๆ เข้า ต่างคนก็ต่างตัดปัญหาด้วยการไม่คุยกันเลยซะดีกว่า ต่างคนต่างอยู่ ไม่ต้องมาสนิทสนมกัน วันนี้พี่ซุปเลยอยากจะมาชวนน้องๆ พูดคุยถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมเราถึงทะเลาะกับพ่อแม่ตลอดเลย แล้วทำยังไงถึงจะคุยกับพ่อแม่ได้ทุกเรื่องบ้าง
 

ทำไมคุยกับพ่อแม่ทีไรต้องทะเลาะกันตลอด
 
          พัฒนาการของมนุษย์เหมือนถูกวางรูปแบบเอาไว้แล้วว่า วัยรุ่นทุกคนต้องเคยทะเลาะกับพ่อแม่สักครั้งในชีวิต การทะเลาะกันของเรา บางครั้งอาจจะไม่ได้ออกมาในรูปแบบของการเสียงดังใส่กัน แต่บางครั้งมันเกิดขึ้นในจิตใจค่ะ เป็นความรู้สึกขัดแย้งข้างในที่ว่า "ทำไมนะ? ทำไมคุณพ่อคุณแม่ถึงต้องคิดแบบนี้ แบบนั้น ทำไม?" 
          ด้วยช่องว่างระหว่างวัยของผู้ใหญ่และวัยรุ่น คุณพ่อคุณแม่หลายคนยังคงไม่เข้าใจว่า วัยรุ่นสมัยนี้เป็นอยู่อย่างไร มันต่างจากเมื่อก่อนแล้วนะ ทำให้เวลาคุยกับผู้ใหญ่ เลยมักจะเห็นต่างกับเราอย่างสิ้นเชิง
          คุณพ่อคุณแม่ผ่านชีวิตมามากกว่าเรา เป็นเหตุผลให้คุณพ่อคุณแม่มีผลลัพธ์ในเรื่องต่างๆ ไว้ในใจแล้ว ถ้าทำแบบนี้ มันต้องเป็นแบบนี้ แบบนั้น แต่พี่ซุปก็เข้าใจนะว่าชีวิตจริงมันมีผลลัพธ์ได้หลายทาง พ่อแม่อาจจะคิดว่ามันต้องออกมาเป็น A แต่น้องๆ อาจจะคิดว่ามันเป็น B พอผลลัพธ์ไม่ตรงกัน ความขัดแย้งก็เกิดขึ้น ด้วยความเป็นวัยรุ่น วัยอารมณ์แปรปรวน เราอาจจะเผลอใช้อารมณ์คุยกันมากกว่าปกติ ก็เลยยิ่งทำให้เกิดการทะเลาะกันตลอด ไม่ฟังกันสักที
 
แล้วจะเริ่มคุยกับพ่อแม่อย่างไรดี?

พี่ซุปมี 3 วิธีพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้น้องๆ ลองเอาไปใช้มาฝากกันค่ะ
 
1. เราต้องทำให้ตัวเราและพ่อแม่สนิทกันก่อน 
          สังเกตมั้ยว่า เราสนิทกับเพื่อนได้เพราะอะไร เป็นเพราะเราคุยทุกเรื่องกับเพื่อนรึเปล่า มีการปรับทุกข์กัน เข้าใจกันใช่มั้ย เหมือนกันเลยค่ะ ถ้าเราได้มีโอกาสคุยกับคุณพ่อคุณแม่แบบนี้บ้าง เราก็จะสนิทกับท่านได้มากขึ้น 
          พี่ซุปแนะนำว่า การพูดคุยเล่าเรื่องต่างๆ นั้น ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ ตอนมื้ออาหารเย็น ใช้ช่วงเวลานี้เล่าเรื่องตัวเองวันละนิดวันละหน่อย เช่น วันนี้ทำอะไรบ้าง ครูที่โรงเรียนพูดอะไร เพื่อนในกลุ่มคือใคร แนะนำให้พ่อแม่รู้จัก เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่า ตัวเองได้รับรู้เรื่องของลูกในทุกๆ วันมากขึ้น ท่านก็จะไม่รู้สึกถึงช่องว่างระหว่างกัน ทำให้เวลาเราคุยอะไรกันก็จะเข้าใจกันง่ายขึ้น 
          การเล่าเรื่องของตัวเองให้พ่อแม่ฟัง เป็นส่วนช่วยสำคัญที่ทำให้พ่อแม่เข้าใจและไว้ใจเรามากขึ้นด้วย
 
2. ถ้าจะคุยเรื่องจริงจัง เราต้องเลือกเวลาดีๆ และมีเหตุผล
 

          เมื่อถึงเวลาที่ต้องคุยเรื่องซีเรียสและจริงจัง ให้นึกถึงช่วงเวลาเป็นสำคัญค่ะ ควรที่จะเลือกช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ (หรือผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ) อารมณ์ดี และว่างจากงานแล้ว แน่นอนว่าเราก็คงไม่อยากให้ผู้ใหญ่ใช้อารมณ์ในการพูดคุยกับเราหรอกเนอะ 
 

          ส่วนสถานที่พูดคุยเองก็สำคัญ ห้ามเด็ดขาดนะคะ อย่าคุยกันหน้าทีวี หรือตอนที่มีคนอื่นๆ อยู่เต็มไปหมด เพราะสิ่งเหล่านี้จะดึงความสนใจของคุณพ่อคุณแม่ให้หายไปจากเราได้ ทำให้ท่านฟังเราได้ไม่เต็มที่ พอข้อมูลไม่ครบ ก็อาจจะเกิดความไม่เข้าใจกันได้อีกนั่นเอง
          และส่วนที่สำคัญที่สุดที่เราจะขาดไม่ได้ก็คือ "เหตุผล" เราจะต้องมีเหตุผลสนับสนุนเรื่องที่เราจะคุยเสมอ เช่น เราอยากไปเรียนต่อที่เกาหลี มันมีผลดีอย่างไร ดีกว่าเรียนที่ไทยตรงไหน ทั้งนี้เราเองก็จะต้องฟังเหตุผลของพ่อแม่เหมือนกันนะ พ่อแม่เห็นต่างกับเราอย่างไร ลองเปิดอกคุยกัน แล้วหาจุดที่ทั้ง 2 ฝ่ายโอเคร่วมกัน
 
3. คิดแผนสำรองไว้เสมอ
          เราจะต้องท่องไว้เสมอว่า ไม่มีอะไรในโลกได้ดั่งใจเราทุกอย่าง ถึงแม้ว่าเราจะมีเหตุผลแล้วก็ตาม การคุยกับพ่อแม่ก็เหมือนกันค่ะ อย่างน้อยเราต้องลองคิดเผื่อไว้บ้างว่า ถ้าพ่อแม่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุยกัน เราจะต้องทำยังไงดี เช่น การเรียนต่อที่เกาหลี พ่อแม่ไม่โอเคเลย งั้นเรียนเกาหลีที่ไทยก่อนดีมั้ย
          การคิดแผนสำรองแบบนี้ พี่ซุปมองว่าเป็นเรื่องดีนะ เพราะมันทำให้เรายอมรับความจริงได้มากขึ้น ถึงแม้จะเสียใจ แต่เราจะไม่จมกับมัน เพราะเรารู้แล้วว่าเราจะต้องทำอะไรต่อ
 
          สิ่งที่อยากจะฝากถึงผู้ปกครองก็คือ การที่ลูกเล่าชีวิตประจำวันให้ฟัง ถึงแม้จะฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่สำคัญอะไรเท่าไหร่ แต่เรื่องเหล่านั้นอาจจะเป็นเรื่องที่กระทบจิตใจน้องได้นะคะ ยิ่งเวลาที่น้องๆ มีปัญหา และพยายามเข้ามาปรึกษา อยากให้คุณพ่อคุณแม่รับฟังอย่างไม่มีอคติก่อน อย่าเพิ่งว่ากล่าวตักเตือนอะไร แต่ให้ตั้งใจฟังเขา และมาช่วยกันหาวิธีแก้ไขทีหลัง 
          ต้องอย่าลืมนะคะว่า ปัจจุบันนี้มีเหตุที่นักเรียนเป็นโรคซึมเศร้าจนถึงขั้นคิดสั้น เพราะการแกล้งกันที่โรงเรียนเยอะขึ้น ปัญหาจากเพื่อนที่เรามองว่ามันเป็นเรื่องเล็ก มันสามารถเป็นเรื่องใหญ่ของน้องได้นะคะ พวกเราควรที่จะรับฟังน้องๆ ตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่มันจะสายเกินไป อย่างน้อยก็สร้างพื้นฐานความเข้าใจให้น้องได้รู้สึกว่า น้องไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว แต่ยังมีครอบครัวของน้องๆ คอยสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้น้องเสมอ
          หลายคนที่คิดว่าปัญหาของเรากับที่บ้านมันใหญ่มากเลย แก้ไม่ได้หรอก พี่ซุปว่าเราลองค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ แก้กันไปเนอะ แน่นอนว่าเราทุกคนจะสามารถผ่านช่วงเวลาน่าปวดหัวของช่วงวัยรุ่นไปได้ค่ะ

 
พี่ซุป
พี่ซุป - Columnist จบจิตวิทยา ไม่ได้เป็นบ้า แค่ชอบพูดคนเดียว

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด