​เก็บตก! 10 เรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ ที่ถูกลืมในสงครามเปอร์เซีย VS กรีซ


เก็บตก! 10 เรื่องเล่าที่ถูกลืมในสงครามเปอร์เซีย VS กรีซ     
 
ถ้าพูดถึงเรื่องสงครามเปอร์เซียกับกรีซ เชื่อว่าคนที่รู้ประวัติศาสตร์จะต้องนึกถึงชาวสปาร์ต้า และภาพยนตร์สร้างชื่อของเจอราร์ด บัทเลอร์ อย่าง 300 ด้วยฉากการฆ่าสุดโหดเหี้ยมและเนื้อหาที่บอกเล่าความเป็นสปาร์ตันได้อย่างละเอียดลออและน่าสนใจ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง และทำให้คนหันมาสนใจประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นมากขึ้น และช่วงเวลาที่แอดมินพูดถึงก็คือช่วงที่เปอร์เซียรุ่งเรืองอย่างสูงสุด กองทัพกว่า 2.5 ล้านคน มุ่งหน้าสู่กรีซ และต้องผ่านผืนแผ่นดินแห่งนักรบอย่างสปาร์ต้า หลังจากนี้เนื้อหาก็เหมือนที่เราได้ชมกันในภาพยนตร์ เมื่อทหารสปาร์ตัน 300 นายพร้อมด้วยกษัตริย์เลโอไนดัส สู้รบสุดพลังจนตัวตาย และแม้ว่า... สงครามนี้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในประวัติศาสตร์ แต่ความแข็งแกร่ง ความมุ่งมั่นและหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ของชนชาตินักรบอย่างสปาร์ตัน ก็ทำให้มันกลายเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ใครๆ ก็กล่าวขวัญถึง 
 
ในบทความนี้ เราก็มาเก็บตกบรรยากาศในช่วงเวลานั้นไปพร้อมๆ กันดีกว่าค่ะ 
 
 
ความจริงแล้ว สปาร์ต้าขอโทษเปอร์เซียเรื่องฆ่าทูต 
หนึ่งในฉากที่ถูกจดจำมากที่สุดในภาพยนตร์ก็คือ ฉากที่กษัตริย์เลโอไนดัสถีบทูตเปอร์เซียตกลงไปในบ่อน้ำ เราขอเท้าความว่าในประวัติศาสตร์... ที่มาของฉากนี้เกิดจากการกระทำของบิดาของเซอร์ซีส ที่ชอบส่งทูตไปตามดินแดนในความปกครองของกรีซ เพื่อร้องขอบรรณาการให้กับเปอร์เซีย ไม่ใช่แค่ชาวสปาร์ตันที่ปฏิเสธ แต่ยังมีชาวเอเธนส์ด้วย ต่อมาเมื่อเซอร์ซีสขึ้นปกครอง ทรงไม่ส่งทูตไปยังเอเธนส์และสปาร์ต้าอีกแล้ว ตรงกันข้าม ชาวสปาร์ตันต่างหากเป็นคนมาขอโทษเซอร์ซีสด้วยตัวเอง เพราะหลังจากทำร้ายทูต ชาวสปาร์ตันก็เชื่อว่าพวกเขาถูกสาป และเทพเจ้าไม่อวยพร เพื่อให้คำสาปนี้จบลง ชาวสปาร์ตันเลือกที่จะส่งบรรณาการมนุษย์ไปหาเซอร์ซีสสองคน เพื่อขอโทษและให้เซอร์ซีสให้อภัย ซึ่งเซอร์ซีสก็เลือกที่จะไว้ชีวิตทั้งคู่ ด้วยเหตุผลที่ว่า “ความตายของคนสองคนไม่เพียงพอจะไถ่โทษที่สปาร์ต้าได้ทำกับเปอร์เซีย”   
 
ชาวกรีกเป็นคนส่งสัญญาณให้เซอร์ซีสทำสงครามด้วย 
ใจจริงแล้ว เซอร์ซีสไม่ได้สนใจกรีซแต่อย่างใด เนื่องจากทรงเสียบิดาไปในสงครามที่นี่ พระองค์จึงมองข้ามกรีซเรื่อยมา ทว่าสุดท้ายแล้ว คนกรีกบางกลุ่มได้โน้มน้าวใจให้พระองค์เปลี่ยนพระทัย ซึ่งเรื่องนี้จะว่าไปก็เหมือนการทรยศหักหลัง คนกรีกบางพวกมองว่าเปอร์เซียรุ่งโรจน์ และมีใจฝักใฝ่กับเซอร์ซีส จึงหาทางส่งสารถึงพระองค์ให้มาปกครองพวกเขาแทนผู้ปกครองเดิม เรียกว่ามีไส้ศึกก็ไม่ผิดนัก มีชาวกรีกจำนวนมาก ส่งข่าวไปถึงเซอร์ซีสว่า... พร้อมจะช่วยเหลือถ้าหากมีสงครามเกิดขึ้น และนั่นเองเป็นที่มาให้พระองค์ตัดสินใจเริ่มสงคราม 
 
เซอร์ซีสให้คนโบยตีแม่น้ำข้อหาไม่จงรักภักดี 
หลังจากหลงเชื่อในคำเชิญชวนของชาวกรีก เซอร์ซีสก็มุ่งหน้าเพื่อไปยึดดินแดนแห่งนี้ ระหว่างทาง พระองค์ต้องผ่านแม่น้ำที่เรียกว่า แม่น้ำเฮลสปอนต์ (Hellespont River) วิธีที่จะข้ามไปก็คือสร้างสะพานลอยน้ำ น่าเสียดายที่ไม่ได้ผล เมื่อสร้างสะพานเสร็จ พายุก็พัดโหมกระหน่ำและสะพานก็พังทลาย เซอร์ซีสพิโรธอย่างหนัก ก็เลยออกคำสั่งให้ทหารเอาแส้ไปโบยตีแม่น้ำ 300 หน แถมยังตะโกนว่า “แม่น้ำอะไรทั้งขุ่นทั้งเค็ม” นอกจากเหตุการณ์โบยตีแม่น้ำสุดประหลาดแล้ว เซอร์ซีสได้ทำเรื่องประหลาดกว่านั้น นั่นคือหลังจากสั่งการแล้ว พระองค์ทรงรู้สึกผิดที่แสดงออกแบบนั้น หลังจากสร้างสะพานเสร็จ พระองค์ก็เลยขอโทษแม่น้ำ จุดธูปขอขมาและยังโยนไหทองคำลงไปด้วย...
 
เซอร์ซีสฟันร่างลูกชายคนสนิทเพราะคิดเลี่ยงสงคราม   
ก่อนจะข้ามสะพาน ไพธิอุส หนึ่งในคนสนิทของเซอร์ซีสเข้ามาหาพระองค์ และอ้างว่ามีนิมิตว่า... เปอร์เซียจะแพ้สงคราม ก็เลยอยากขอร้องให้ส่งลูกชายของเขากลับบ้าน เซอร์ซีสได้ฟังก็โมโหมาก หลังไพธิอุสกลับไป พระองค์ออกคำสั่งให้ทหารจับตัวลูกชายของไพธิอุสมา และหั่นร่างออกเป็นสองซีก จากนั้นก็แยกร่างนั้นออก โยนแยกจากกันฝั่งซ้ายขวา แล้วให้ทหารเดินทัพผ่านตรงกลาง  
 
เซอร์ซีสทลายภูเขาและขุดคลองเพื่อไปรบ 
เนื่องจากบิดาของเซอร์ซีสถูกลมพายุพัดพาไประหว่างทำสงครามกับกรีซ พระองค์จึงไม่อยากให้ทุกอย่างซ้ำรอยเดิม ก็เลยออกคำสั่งให้ทหารขุดภูเขาและสร้างคลองขนาดใหญ่ยาวกว่า 2 กิโลเมตร เพื่อจะได้เดินทางได้โดยไม่ถูกลมพายุทำร้าย คนงานต้องใช้เวลานานถึง 3 ปีกว่าจะสร้างคลองนี้เสร็จ ชาวกรีกค่อนข้างแปลกใจกับวิธีการของเซอร์ซีสถึงกับเขียนไว้ว่า จริงๆ แล้ว แล่นเรือมาจะง่ายกว่ามาก แต่พวกเขาก็พอจะเดาได้ว่าเซอร์ซีสคงต้องการความปลอดภัยบนแผ่นดิน พระองค์คงไม่ไว้ใจลมพายุนั่นเอง 
 

 
ก่อนออกรบ ชาวสปาร์ตันจะจัดแต่งทรงผมให้สวยงาม 
เซอร์ซีสได้ส่งสปายไปสังเกตการณ์กองทัพของพวกสปาร์ตันก่อนออกรบ และแปลกใจที่ได้เห็นพวกเขาเต้นรำ หวีผมให้สวยงาม แทนที่จะเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าสงคราม เรื่องนี้ นักรบสปาร์ตันได้เปิดเผยภายหลังว่า ก่อนออกรบ ชาวสปาร์ตันจะดูแลทรงผมอย่างดี ส่วนหนึ่งก็เพื่อศักดิ์ศรี แต่อีกเหตุผลหนึ่งคือ พวกเขาสามารถใช้เส้นผมเป็นอาวุธได้ด้วย เซอร์ซีสแปลกใจกับภาพที่ได้เห็นมาก และไม่เข้าใจการกระทำนี้แม้แต่น้อย 
 
กองทัพเปอร์เซียเคร่งเรื่องความเชื่อต่างๆ มาก (จนอาจจะเกินไป)   
ระหว่างที่กองทัพของเปอร์เซียเดินทางไปเรื่อยๆ พวกเขาพบเหตุการณ์ที่กลายมาเป็นความเชื่ออันส่งผลกับการออกรบเยอะมาก แม้แต่การพบเห็นกระต่ายคลอดลูก ก็หมายความได้ว่า พวกเขาต้องไว้ชีวิตชาวกรีก หรือการที่ถูกสิงโตเข้าจู่โจมก็เป็นลางร้ายกับพวกเขา ความเชื่อนี้ส่งผลต่อสงครามและทำให้ทุกอย่างยืดเยื้อ ชาวกรีกถึงกับเขียนข้อความไว้ว่า แทนที่จะคิดมาก เซอร์ซีสควรมุ่งมั่นและเดินหน้าได้แล้ว 
 
เซอร์ซีสไม่เคารพศพของเลโอไนดัส
หลังจากสงครามจบลง ไม่เพียงแต่ชาวสปาร์ตัน 300 คนที่ต้องเสียชีวิต นักรบเปอร์เซียยิงธนูใส่ทุกคนที่เห็น ทำลายกำแพงที่เทอร์โมโพเล และฆ่าชาวสปาร์ตันทุกคนที่ผ่านเข้ามาในสายตา ตัวเลโอไนดัสถูกธนูเสียชีวิต ทหารสปาร์ตันคนอื่นๆ พยายามปกป้องร่างกายของพระองค์และหาทางนำไปเก็บรักษาในพื้นที่ปลอดภัย เพื่อเกียรติและศักดิ์ศรี แต่เซอร์ซีสไม่ยินยอม สั่งให้ตัดศีรษะของเลโอไนดัสออกจากร่าง ส่วนล่างถูกตรึงกางเขนเอาไว้ หลายคนเชื่อกันว่า เพราะการกระทำอันไม่เหมาะสมนี้ ส่งผลให้เปอร์เซียแพ้สงคราม 
 
ชาวกรีกเกือบพ่ายสงครามเพราะแม่ทัพมัวแต่หลงเด็กหนุ่ม  
เลโอไนดัสไม่ใช่ฮีโร่ในสงครามนี้ก็จริง แต่สุดท้าย ชาวกรีกก็เอาชนะสงครามได้อยู่นั่นเอง ซึ่งผู้เป็นกุญแจสำคัญในเหตุการณ์นี้มีชื่อว่า เธมิสโตคลีส เขาเป็นแม่ทัพคนสำคัญที่หลอกล่อให้เซอร์ซีสส่งเรือออกมาในคลองแคบๆ และโต้ตอบอย่างดุดัน นี่คือจุดเปลี่ยนของสงคราม และทำให้ชาวกรีกได้ชัยชนะ ซึ่งในตอนแรกสงครามนี้เกือบล้มเหลวเพราะเธมิสโตคลีสนั้น ไม่ได้ใส่ใจการออกรบเท่าที่ควร เพราะมัวแต่ลุ่มหลงเด็กหนุ่มหน้าสวยนามว่า สเตซิลัส (Stesilaus) คู่แข่งของเธมิสโตคลีสมีชื่อว่า อริสทีดีส (Aristides) โชคดีที่เธมิสโตคลีสเอาชนะสงครามความรักนี้ได้สำเร็จ ก็เลยมีแรงใจไปสร้างเรือสำหรับรบกับชาวเปอร์เซีย นักประวัติศาสตร์หลายๆ คนเชื่อว่าถ้าเธมิสโตคลีสไม่ได้ใจของเด็กหนุ่มคนนี้ เปอร์เซียอาจเป็นฝ่ายได้ชัยเหนือกรีกก็ได้
 
สุดท้ายเธมิสโตคลีสก็แปรพักตร์ไปเข้ากับเปอร์เซีย
สงครามจบลง กรีกได้ชัยชนะ เธมิสโตคลีสช่วยกรีซได้สำเร็จ ทว่าหลังจากนั้นเขาก็แปรพักตร์ หลังสงคราม เขาไปช่วยชาวเอเธนส์สู้รบกับชาวปาร์ตัน ชาวสปาร์ตันได้แกล้งปล่อยข่าวว่าเธมิสโตคลีสวางแผนทรยศเอเธนส์ สุดท้ายแล้วชาวเอเธนส์ก็หลงเชื่อและเทเธมิสโตคลีส ด้วยความเจ็บใจที่ถูกเข้าใจผิด เธมิสโตคลีสประชดด้วยการตัดสินใจแปรพักตร์ไปเข้าพวกกับชาวเปอร์เซีย และเดินทางไปหาลูกชายของเซอร์ซีส ปิดฉากการเป็นแม่ทัพใหญ่อันน่าภาคภูมิของกรีซด้วยประการนี้  
               
ทีมงานนักเขียนเด็กดี
 
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก 
https://en.wikipedia.org/wiki/Greco-Persian_Wars
http://listverse.com/2017/03/09/10-forgotten-tales-from-persias-invasion-of-greece/ 
https://en.wikipedia.org/wiki/First_Persian_invasion_of_Greece  
https://quizlet.com/120975311/persian-empire-vs-greece-compare-contrast-flash-cards/ 
https://prezi.com/ew3dt8r3vm8g/the-rivalry-of-persia-vs-greece/ 
https://en.wikipedia.org/wiki/Xerxes_I 
 
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น