​9 เทคนิคน่าสนใจ เขียนบทสนทนาให้สมจริง อ่านแล้วรู้สึกเป็นธรรมชาติ


9 เทคนิคน่าสนใจ
เขียนบทสนทนาให้สมจริง อ่านแล้วรู้สึกเป็นธรรมชาติ  

 
สำหรับคนที่เป็นนักเขียน น่าจะรู้ดีว่า... หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของนิยายคือ “บทสนทนา” เพราะเราคงไม่อาจดำเนินเรื่องราวด้วยการบรรยายเพียงอย่างเดียวได้ (บางคนอาจแย้งว่าทำได้ แต่แอดมินว่านิยายเรื่องนั้นคงจะเครียดมากๆ) ดังนั้น การสร้างบทสนทนาที่ดีจึงเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ... 
 
ถามว่าบทสนทนาที่ดีคืออะไร คำตอบก็ง่ายนิดเดียวคือ มันต้องสมจริง อ่านแล้วไม่ทำให้คนอ่านรู้สึกติดขัดหรือมองว่าแปลก พูดง่ายๆ ก็คือ มันควรเป็นบทสนทนาที่ “เข้าปาก” และชวนให้นึกถึงการพูดคุยในชีวิตประจำวัน และวันนี้ เราก็มีเทคนิคการสร้างบทสนทนาที่สมจริงมาฝากด้วย เชื่อว่าถ้าอ่านแล้ว น่าจะทำให้เราเขียนบทสนทนาได้ดีขึ้นค่ะ 
 

 
เทคนิค 1 ฟังคนคุยกันบ่อยๆ 
อันนี้ก็เหมือนที่เราบอกไปว่า บทสนทนาที่ดีควรเป็นบทสนทนาที่ชวนให้นึกถึงการพูดคุยในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น เมื่อเราอยากสร้างบทสนทนาที่ดี เราก็ต้องฟังคนคุยกันให้มากๆ สังเกตการแสดงออก สีหน้าสีตา น้ำเสียง และนำมาปรับใช้ในการบรรยาย ฟังแล้วหลายคนบอกว่า ไม่เห็นยาก แต่ถ้าให้พูดจริงๆ แล้ว การสังเกตคนเป็นเรื่องยากพอสมควร แนะนำว่า ถ้าอยากเป็นนักเขียนอย่าทำตัวเป็นคนพูดเยอะ ให้หัดเป็นผู้ฟังบ้างจะได้คอยเก็บรายละเอียดมาเขียนจะดีกว่า ที่สำคัญ นอกจากบทสนทนาที่เป็นคำพูดแล้ว ควรสังเกตการสื่อสารที่ไม่ได้ใช้คำพูดไปพร้อมๆ กัน เช่น การแสดงออกทางสีหน้า แววตา อันนี้จะส่งผลต่อการบรรยายได้ดีมากๆ 
 
เทคนิค 2 ไม่ควรเขียนให้สมจริง 100% 
เวลาคนเราคุยกัน มันจะมีจังหวะเว้นวรรค จังหวะอืม อ่า เออ ก็ แล้ว... หรือวลีที่ไม่จำเป็นอยู่มากพอสมควร เราไม่จำเป็นต้องเก็บเอาถ้อยคำพวกนี้มาใส่ในนิยายด้วย เพราะแทนที่จะดูสมจริง มันอาจทำให้นิยายของเราน่ารำคาญได้ อะไรที่รู้สึกว่าเป็นส่วนเกินหรือไม่จำเป็น ให้ตัดทิ้งไปได้เลย 
 
เทคนิค 3 อย่าให้ตัวละครพูดยาวจนเกินไป 
เราเข้าใจว่าบางทีคุณก็อยากใส่รายละเอียดต่างๆ ในปริมาณมากๆ และวิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือ ใส่ข้อมูลนี้ผ่านบทสนทนา แต่ถ้าหากตัวละครตัวไหนพูดมากจนกลายเป็น 8-9-10 บรรทัดล่ะก็ ตัวละครตัวนั้นจะกลายเป็นคนน่ารำคาญไปในทันที และเวลาคนอ่านอ่านอะไรยาวๆ ก็จะหงุดหงิด และไม่อยากอ่านต่อ แนะนำว่าให้ซอยข้อมูลแล้วแบ่งมาเขียนจะดีกว่า 
 
เทคนิค 4 คั่นจังหวะบทสนทนาด้วยการกระทำต่างๆ 
ยกตัวอย่างง่ายๆ เราอาจจะคั่นจังหวะด้วยการให้พนักงานยกอาหารมาเสิร์ฟ หรือไปเจอวิวอะไรสักอย่าง หรือมีคนเดินเข้ามา หรือตัวละครลุกเดินไปพร้อมกัน ตลอดจนขับรถไปที่ไหนสักแห่ง เป็นต้น ถ้าหากเขียนบทสนทนายืดยาวเกินไป อาจจะทำให้คนอ่านเกิดความเบื่อหน่าย และไม่อยากอ่านต่อ การเขียนบทสนทนาเป็นสิ่งจำเป็นก็จริง แต่ไม่ควรจะเขียนตลอดเวลา ต้องมีอะไรอย่างอื่นมาคั่นสลับบ้าง 
 
เทคนิค 5 ไม่จำเป็นต้องใส่คำบรรยายตามหลังบทสนทนาตลอดเวลา 
เวลาอ่านนิยายเราจะพบคำบรรยายหลังบทสนทนาเสมอ เช่น พอจบประโยคก็ใส่คำว่า... เขาพูด เธอพูด เขาว่า เธอว่า เขาพยักหน้า เธอพยักหน้า บางทีแค่ปล่อยเว้นว่างเอาไว้ ไม่จำเป็นต้องใส่อะไรเลยก็ได้ คนอ่านไม่งงหรอกนะ 
 
เทคนิค 6 อ่านออกเสียง  
ถ้ารู้สึกว่าไม่แน่ใจว่ามันจะเข้าปากไหม พูดออกมาแล้วแปร่งๆ ไหม ประดักประเดิดหรือเปล่า แนะนำให้ลองอ่านออกเสียงดังๆ นักเขียนควรลองจินตนาการว่าตัวเองเป็นตัวละครนั้นๆ แล้วพูดด้วยจังหวะที่คิดว่าตัวละครตัวนั้นจะพูด อ่านสลับกันไปเรื่อยๆ จะได้เห็นภาพเหตุการณ์จริง 
 
เทคนิค 7 เว้นวรรคให้เหมาะสม สร้างจังหวะการพูดคุยที่เหมาะสม 
อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ของนักเขียน ไม่ว่าจะหน้าใหม่หรือหน้าเก่า การเว้นวรรค สร้างจังหวะที่เหมาะกับบทสนทนาเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่เขียนให้ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งพูดไปเรื่อยๆ แล้วไม่มีจังหวะหยุด ไม่มีจังหวะพักบ้างเลย หรือเอาทุกอย่างมาพูดรวมกันไปหมด ไม่มีการแบ่งช่วงเวลาที่เหมาะสม ถ้าเขียนแบบนี้ รับรองคนอ่านรำคาญแน่นอน 
 
เทคนิค 8 ใช้คำกระชับได้ใจความ 
อันนี้ก็จะสัมพันธ์กับเรื่องความสมจริง เพราะในชีวิตจริง ไม่ค่อยมีใครพูดอะไรยาวๆ วกไปวนมา หรือถ้ามีคนแบบนั้น ก็จะเป็นคนที่น่าเบื่อ ไม่มีใครอยากฟังเขาพูด ควรสร้างตัวละครที่พูดจาชัดเจน กระชับ ได้ใจความ เพื่อให้คนอ่านเข้าใจบทสนทนาได้ทันที ไม่ต้องอ้อมค้อมมาก เมื่อไหร่ที่เขียนบทสนทนายาวๆ แนะนำให้ลองอ่านทวนหลายๆ รอบ พยายามให้เป็นธรรมชาติที่สุด ถ้าหากรู้สึกว่าเยอะเกินไป ก็ควรตัดแบ่งซอย ไม่ใช่ให้พูดทีเดียวหมด หรือลองสลับการจากบทสนทนาเป็นการบรรยายแทน
 
เทคนิค 9 เขียนไปเรื่อยๆ ได้ แต่ต้องหาจังหวะจบให้เจอด้วย 
ตราบใดที่รู้สึกว่าการสื่อสารฉากนั้นๆ ยังไม่จบ ก็สามารถเขียนให้ตัวละครสนทนากันไปได้เรื่อยๆ แต่ไม่ควรจะเยิ่นเย้อจนเกินไป ควรต้องหาจังหวะจบให้พบด้วย ไม่ใช่เขียนแล้วพูดกันไปเรื่อยๆ จนฟังน่ารำคาญ คนอ่านอาจจะรู้ว่าเยิ่นเย้อจัง ทำไมไม่จบสักที คำแนะนำคือ ในแต่ละบทสนทนาควรจะมีเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร เช่น บทสนทนานี้จะสื่อว่าตัวละครรักกัน หรือบทสนทนานี้จะสื่อว่าตัวละครได้รู้แล้วว่า... ตัวร้ายเป็นใคร เป็นต้น ถ้าหากสร้างเป้าหมายให้บทสนทนา ก็จะไม่น่าเบื่อหรือออกทะเลมากเกินไป 
 
ทีมงานนักเขียนเด็กดี  
  
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด

9 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
darkius Member 31 พ.ค. 62 08:01 น. 7

ข้อ3คงใช้กับนักเขียนที่ชื่อว่า FUNA ไม่ได้ รายนั้นนางเอกเราพล่ามยาวมาก จนคนอ่านยังเหนื่อยเลย =w=

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด