7 เทคนิคเขียนนิยายให้น่าสนใจแบบฮารูกิ มูราคามิ


7 เทคนิคเขียนนิยายให้น่าสนใจแบบฮารูกิ มูราคามิ    
 
ถ้าให้พูดชื่อนักเขียนญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก แอดมินเชื่อว่าต้องมีชื่อของ ฮารูกิ มูราคามิ ติดโผอย่างแน่นอน ตัวแอดมินเอง อ่านงานของมูราคามิไม่กี่เรื่อง แต่ก็สัมผัสได้ถึงจุดเด่นและเอกลักษณ์ในผลงานของเขา และพอจะเข้าใจว่า... เพราะอะไร คนอ่านถึงได้ติดงานเขียนของเขางอมแงม นิยายของมูราคามิ ได้ชื่อว่าเป็นงานแอ็บสแทร็ก หรืองานแบบนามธรรม ขายได้หลายล้านเล่มทั่วโลก ปัจจุบัน เขาอายุ 69 ปีแล้ว เจ้าตัวบอกว่าไม่ค่อยชินกับการเป็นคนดัง แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพใบหน้าของเขาเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ผลงานของมูราคามิเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อเขาอายุได้ 30 กลางๆ ในตอนนั้น รัสเซียกลายเป็นสหภาพโซเวียตและกำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลงพอดี เจ้าตัวบอกว่า “อาจเพราะช่วงนั้นเป็นยุคแห่งความสับสน และหนังสือของผมเป็นแนวนั้น คนก็เลยชอบอ่านกัน” 
 

 
แต่คงไม่ใช่เพราะความสับสนอย่างเดียวที่ทำให้นิยายของมูราคามิเป็นที่นิยม นักอ่านส่วนใหญ่หลงใหลในพล็อตอันแปลกแหวกแนว เต็มไปด้วยอารมณ์อันอ่อนไหวที่อาจจะทำให้โลกความเป็นจริงสั่นสะเทือน มูราคามิไม่เคยสรุปหรือชี้แจงเนื้อหาในนิยายของเขา แต่ก็เป็นที่รู้กันว่ามันเล่นกับจิตใต้สำนึกอันดำมืดของคน เขาเขียนเนื้อหาและปล่อยให้คนอ่านเป็นผู้วิเคราะห์ด้วยตัวเองว่าทำไมมันจึงเป็นแบบนั้น ทำไมมันจึงเป็นแบบนี้ “สำหรับผม มันเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึก ไม่ใช่ของผม แต่เป็นของคนอ่าน คนอ่านจะได้พบความลับที่เขากับผมมีร่วมกัน เป็นพื้นที่แห่งความลับของพวกเรา และคนอ่านแต่ละคนก็มีพื้นที่แห่งความลับที่แตกต่างกันไปตามแต่นิสัย การเลี้ยงดู และทัศนคติของเขา” เจ้าตัวยังเพิ่มเติมด้วยว่า “ผมไม่ใช่นักเล่าเรื่อง แต่ว่าเป็นนักสังเกตการณ์มากกว่า” มูราคามิยังบอกด้วยว่าเขาแทบไม่เคยฝัน อาจจะหนึ่งครั้งต่อเดือน คงเพราะเขาใช้เวลาฝันในตอนที่กำลังตื่นอยู่แล้ว พอหลับก็เลยไม่ฝัน มูราคามิยังชอบอ่านผลงานของตัวเองที่ถูกนำแปลเป็นภาษาอังกฤษ เขาบอกว่ามันเหมือนได้อ่านนิยายเรื่องใหม่เลยทีเดียว “นิยายเล่มหนาๆ บางเล่มใช้เวลาแปลนานถึง 2 ปี พอได้อ่านอีกทีผมก็ลืมไปหมดแล้วว่าเขียนอะไรลงไป พออ่านผมก็จะสงสัยว่าจะเกิดอะไรต่อนะ พอคนแปลถามว่า ผมแปลออกมาได้ดีไหม ผมมักจะตอบว่า ดีมาก ผมชอบมาก เพราะลืมเรื่องเก่าไปหมดแล้ว” 
 
อย่างไรก็ตาม แม้งานของมูราคามิจะเป็นที่นิยม แต่เขามักจะถูกกล่าวหาว่า “เป็นแกะดำของญี่ปุ่น” คงเพราะงานเขียนของเขาที่มีกลิ่นอายแบบอเมริกันค่อนข้างสูง แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขารู้สึกแย่แต่อย่างใด มูราคามิอธิบายว่า “คนที่เกิดหลังสงคราม ต่างก็ได้อิทธิพลจากวัฒนธรรมอเมริกันทั้งนั้น ผมฟังเพลงแจ๊ซและเพลงป๊อปของอเมริกัน ดูรายการอเมริกัน มันช่วยเปิดโลก ทำให้ผมมองเห็นอะไรใหม่ๆ แต่ผมคิดว่างานเขียนของผมมีสไตล์ของตัวเอง ไม่ใช่ทั้งสไตล์ญี่ปุ่นหรืออเมริกัน แต่เป็นสไตล์ของผม สไตล์ของมูราคามิ” เมื่อถูกถามเพิ่มเติมว่าแล้วงานเขียนของเขาเป็นแบบไหนกันแน่ มูราคามิตอบว่า “ชีวิตคนเราอาจจะเจอเรื่องแปลกๆ แต่ฝันร้ายย่อมจบลงเสมอ และสุดท้ายคุณจะหาแมวหลงทางเจอในตอนจบ โลกนี้อาจจะหดหู่ โหดร้าย แต่มันก็แฝงไปด้วยเวทมนตร์และเพชรที่แอบซ่อนอยู่ หน้าที่ของนักเขียนอย่างผมคือ สอดส่ายสายตาหามันให้พบ” 
 

 
เส้นทางการเป็นนักเขียนของมูราคามิ 
มูราคามิเคยให้สัมภาษณ์ว่าความคิดอยากเป็นนักเขียนของเขาเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน ขณะนั้น เขากำลังนั่งดูเบสบอล และคิดว่าน่าเบื่อจัง ทันใดนั้น เขาก็ตัดสินใจว่าจะเขียนนิยายสักเรื่อง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดมาก่อนเลย ช่วงเวลานั้น เป็นช่วงที่เขาย่างเข้า 30 ปี เขาไม่เคยเรียนเรื่องการเขียน ไม่รู้เรื่องการเขียน แต่เป็นนักอ่านมาตลอด และทุกวันนี้ เขาเชื่อเสมอว่า ด้วยวัตถุดิบที่ได้จากการอ่าน เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เขากลายเป็นนักเขียน 
 
ในช่วงเวลานั้น มูราคามิเป็นเจ้าของบาร์แห่งหนึ่งที่ชั้นใต้ดินในโตเกียว และเขายังมีแจ๊ซบาร์ในย่านใกล้ๆ กัน เมื่อปิดกิจการทิ้ง เขาก็เริ่มเขียนนิยายเรื่องแรกที่โต๊ะในครัว นิยายเรื่องนี้มีชื่อว่า Hear the Wind Sing ในเวลาต่อมามันได้รับรางวัล และส่งเขาสู่เส้นทางสายนักเขียน แต่เจ้าตัวบอกอย่างถ่อมตัวว่า เป็นเรื่องของโชคและจังหวะเวลามากกว่า เขาไม่ได้เก่งกาจอะไรขนาดนั้นหรอก 
 
ทำไมงานเขียนของมูราคามิถึงน่าสนใจ 
คำถามนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก ทำไมงานเขียนของเขาได้รับความนิยมและโด่งดังไปทั่วโลก มันมีอะไรในงานเขียนที่ล่อลวงให้คนอ่านเสพติด อยากอ่านแล้วอ่านอีก สิ่งสำคัญคงเป็นเพราะงานเขียนของมูราคามิกระตุ้นให้คนอ่านคิด ทำให้จิตใต้สำนึกของเราทำงาน และทำให้เราต้องการคำตอบ เรามาดูเหตุผล 7 เทคนิคที่ทำให้งานเขียนของมูราคามิโดดเด่นและเป็นที่นิยมกันดีกว่า   
 
งานเขียนของมูราคามิอาศัยความเชี่ยวชาญและความรู้ที่ชัดเจน : คงเพราะเป็นนักอ่านมาก่อน เขาจึงเข้าใจการเขียนได้ดี งานเขียนของมูราคามิแสดงจุดเด่นส่วนนี้อย่างชัดเจน ทำให้คนอ่านได้รู้ว่านักเขียนมีประสบการณ์การอ่านที่ดีมาก และมีการสังเกตรายละเอียดต่างๆ ได้ดี บรรยายได้ละเอียด เทคนิคที่มูราคามิใช้เสมอคือ เขาจะเขียนไอเดียและสิ่งที่สังเกตได้ออกมาให้หมด “ถ้าไม่ทำแบบนี้ ไอเดียของเราจะหายไป ถ้าอยากให้มันอยู่ ก็ต้องจดเอาไว้” เขาบอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติมากๆ ที่ไอเดียจะหาย เพราะมนุษย์ลืมเป็นปกติ เพราะฉะนั้น อย่ามั่นใจในความทรงจำของตัวเอง ให้จดออกมาให้หมด จากนั้นก็หารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนไอเดียของคุณ “ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนอักษรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยไหนถึงจะได้เป็นนักเขียน ทุกคนที่เชี่ยวชาญในสาขาของตัวเอง เป็นนักเขียนได้ทั้งนั้น” มูราคามิบอก    
 
งานเขียนของมูราคามิมีสไตล์เป็นตัวของตัวเอง ไม่เหมือนใคร : “ต้องหาทางใช้ภาษาในแบบของตัวเอง และทำให้มันกลายเป็นอาวุธ อธิบายทุกอย่างที่จะเขียนให้ชัดเจน เห็นภาพ ใช้คำพูดที่เหมาะกับงานเขียนของตัวเองมากที่สุด อะไรก็ได้ที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นตัวคุณเอง” เมื่อเริ่มเขียนหนังสือ มูราคามิบอกว่า ไม่ชอบตัวอักษรแบบญี่ปุ่น เลยลองเขียนเป็นภาษาอังกฤษ แต่เขาก็ไม่เชี่ยวชาญอีก ก็เลยเลือกใช้แต่คำง่ายๆ ที่ชอบแทน แล้วก็พบว่ามันเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมาก และนี่เองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาหาสไตล์และจังหวะของตัวเองพบ จนกลายมาเป็นลายเซ็นของเขาในทุกวันนี้ มูราคามิบอกว่า เขาไม่ต้องการใช้คำยากๆ หรือคำที่อ่านแล้วเข้าใจยาก แต่อยากใช้คำง่ายๆ ที่สื่อสารได้รวดเร็ว ซึ่งอันนี้เป็นเทคนิคที่ดีมาก การใช้คำง่ายๆ เหมือนเล่าเรื่องให้เพื่อนๆ ฟัง เหมือนกำลังชวนคุย เหมือนที่เราพูดคุยกับตัวเองในหัว จะทำให้นิยายของเราอ่านง่าย เข้าใจง่าย หากอยากแต่งเติมอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็มาใส่เพิ่มทีหลังได้ มูราคามิยังเพิ่มเติมว่า “เขียนให้ตัวเองอ่านก่อน อย่าคิดแต่จะเอาใจคนอื่น ต้องเอาใจตัวเองก่อน” เขาสรุป 
 
งานเขียนของมูราคามิอาศัยวินัยและการจัดลำดับช่วงเวลาชีวิต : มูราคามิได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนที่มีวินัยสูงมาก เขาเข้านอนแต่หัวค่ำ และตื่นนอนแต่เช้าตรู่ ช่วงเย็นเป็นช่วงเวลาที่เจ้าตัวจะอยู่แบบสงบๆ และจะตื่นเช้ามาชงกาแฟดื่ม จากนั้นก็ใช้เวลาเขียนหนังสือ 4-5 ชั่วโมง แล้วก็ออกไปวิ่ง มูราคามิบอกว่า อัตราการเขียนงานของเขาอยู่ที่ 10 หน้าต่อวัน หรือประมาณ 2.5 หน้าเวิร์ด (เขายังเขียนลงกระดาษอยู่) หรือก็คือประมาณ 1,200 คำ คำแนะนำก็คือ ถ้าอยากเป็นนักเขียน วินัยเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญมากถึงมากที่สุด ถ้าเป็นไปได้ควรเขียนให้ได้ 800-1200 คำ หรือ 1-2.5 หน้าเวิร์ดต่อวัน เชื่อว่านิยายของคุณจะจบภายในไม่เกิน 6 เดือน มูราคามินยังชอบออกกำลังกายด้วย เขาบอกว่าการเขียนทำให้ต้องใช้สมาธิเป็นเวลานาน สมองก็จะอ่อนล้า ดังนั้นการออกกำลังกายจะช่วยผ่อนคลายและทำให้เขามีเรี่ยวแรงในการเขียนต่อ มูราคามิบอกว่า... พลังกายก็สำคัญไม่แพ้พลังใจ ถ้าร่างกายแข็งแรง ก็จะมีจิตใจที่แข็งแกร่งพอจะสร้างผลงานดีๆ ได้ในทุกวัน 
 
งานเขียนของมูราคามิเป็นงานต้นแบบและมีความคิดสร้างสรรค์สูง : ถ้าใครอ่านงานของมูราคามิจะต้องสัมผัสได้ว่าทุกๆ บทจะเต็มไปด้วยความน่าสนใจและความแปลกใหม่ เขาเป็นนักเขียนที่มีความเป็นศิลปินสูง มีสไตล์ที่เป็นของตัวเอง ไม่เหมือนคนอื่น และเขาใช้เวลาขัดเกลามันให้ยิ่งโดดเด่นมีเสน่ห์ จากนั้นก็ยึดมันเอาไว้ มันทำให้งานเขียนของเขามีลายเซ็นที่ชัดเจน และทำให้คนอ่านจดจำ “การเป็นนักเขียนก็ไม่แตกต่างจากนักมายากล” มูราคามิสรุป นอกจากนี้ เขายังเชื่อว่า เราทุกคนควรมีความสุขกับงานเขียน ไม่ว่าจะเขียนเรื่องอะไร ต้องมีความสุขและต้องสนุกกับมัน ถ้าเขียนแล้วเบื่อ ควรเลิกเขียนแล้วเริ่มต้นเปิดเรื่องใหม่ 
 
งานเขียนของมูราคามิไม่เคยประสบปัญหาการเขียนไม่ออก : มูราคามิบอกว่าตัวเอง “โชคดี” ไม่เคยประสบปัญหาการตันหรือเขียนไม่ออก (แอดมินคิดว่าโชคดีมากจริงๆ ด้วย) ซึ่งเหตุผลหลักคือ เขาไม่เคยตั้งเดดไลน์ให้ตัวเอง เขาให้อิสระตัวเองในการเขียนอย่างไม่กดดัน แต่ก็เขียนอย่างสม่ำเสมอ มูราคามิบอกว่าการให้อิสระและให้ทางเลือกตัวเอง จะช่วยให้เราไม่เจอปัญหาการเขียนไม่ออก เขาบอกว่าจงเขียนเพราะอยากเขียน ไม่ใช่เขียนเพราะต้องเขียน แล้วจะไม่เจอปัญหาเขียนไม่ออกแน่นอน (ไม่จริงนะ มูราคามิ แง) “ก่อนจะเป็นนักเขียนหรือศิลปินที่ดีได้ คนคนนั้นต้องเป็นอิสระ สามารถทำในสิ่งที่ต้องการ และผมคือคนคนนั้น คนอิสระ”  
 
งานเขียนของมูราคามิโดดเด่นเรื่องสร้างตัวละคร : “หนึ่งในเสน่ห์ที่ผมรักมากในการเขียนนิยายก็คือ การได้เขียนถึงคนที่ผมอยากจะเป็น แต่ไม่เคยเป็น” มูราคามิพูดถึงเสน่ห์ของการสร้างตัวละครในนิยาย เขายังบอกเพิ่มเติมด้วยว่า ถ้าอยากสร้างตัวละครได้เก่ง คุณต้องรู้จักผู้คนจำนวนมาก และควรเป็นคนจากหลากหลายสาขาอาชีพ ที่สำคัญ คุณควรจะรู้จักพวกเขาแบบลึกซึ้ง มีความเข้าใจในตัวตนและนิสัย รวมไปถึงเข้าใจความรู้สึกนึกคิด เพื่อจะได้นำมาบรรยายในนิยายได้ เรื่องตลกของมูราคามิคือในนิยายเรื่องแรกๆ เขาไม่กล้าตั้งชื่อตัวละคร เพราะคิดว่ามันน่าอาย   
 
งานเขียนของมูราคามิทุกเรื่องผ่านการรีไรท์อย่างละเอียด : มูราคามิเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ละเอียดมากที่สุด เขาเคยบอกว่า หนึ่งในสิ่งที่ชอบมากที่สุดคือการรีไรท์ หลังจากเขียนดราฟท์แรกเสร็จแล้ว เขาจะพักสักระยะ ก่อนจะกลับมารีไรท์ และจะรีไรท์เรื่องละประมาณ 4-5 รอบ เพื่อตัดฉากที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง เกลาสำนวน และปรับเรื่องจังหวะการเขียนให้สม่ำเสมอ แนบเนียนมากขึ้น จากนั้นเขาก็จะทิ้งผลงานไว้อีกหนึ่งเดือน แล้วกลับมารีไรท์อีกครั้ง และส่งให้ภรรยาเป็นผู้อ่านคนแรก เจ้าตัวบอกว่า ความเห็นแรกสำคัญมากที่สุด จึงต้องใช้นักอ่านที่ไว้ใจที่สุด มูราคามิก็ไม่แตกต่างจากนักเขียนคนอื่นๆ เขาเกลียดการวิพากษ์วิจารณ์มาก แต่คำวิจารณ์ของภรรยามีประโยชน์และน่าสนใจเสมอ เขาจะนำมาคิดวิเคราะห์ เพื่อปรับผลงานให้ดีขึ้น จากนั้นก็ส่งต่อให้บรรณาธิการประจำตัว เพื่อพูดคุย อธิบาย และปรับแก้ไขอีกครั้ง มูราคามิบอกว่า เขาไม่เคยเบื่อการรีไรท์เลย หลายครั้งหลายหนที่เขาเจอเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องที่เขียนอยู่ เขาจะตัดออก และหลายครั้ง มันกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับนิยายเรื่องใหม่ของเขา 
 
งานเขียนของมูราคามิในแง่เรื่องสั้น : “เรื่องสั้นเป็นงานที่ต้องอาศัยความชัดเจนและแตกต่างจากนิยายอย่างมาก” มูราคามิเคยพูดเอาไว้ เขาบอกว่านานๆ เขียนเรื่องสั้นทีก็ถือเป็นแบบฝึกหัดที่ดี ทำให้ได้ใช้ความคิด มูราคามิมองว่าเรื่องสั้นเหมือนงานฝีมือ และทำให้เขาได้ฝึกเล่าเรื่อง และเขาไม่รังเกียจที่จะเขียนเรื่องสั้นเป็นระยะสลับกับเรื่องยาว ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญไม่ว่าจะเขียนเรื่องยาวหรือเรื่องสั้น เจ้าตัวบอกว่า ห้ามทิ้งลายเซ็นของตัวเองเป็นอันขาด!!
   
ทีมงานนักเขียนเด็กดี
 
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก 
https://en.wikipedia.org/wiki/Haruki_Murakami 
https://www.turnerstories.com/book-reviews/2019/1/29/haruki-murakamis-lessons-on-writing-and-leading-a-writers-life 
https://www.publishersweekly.com/pw/by-topic/industry-news/tip-sheet/article/63604-the-10-best-haruki-murakami-books.html 
https://www.theguardian.com/books/2018/oct/11/haruki-murakami-interview-killing-commendatore 
http://www.harukimurakami.com/
 
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

Artemis the hunter girl Member 24 พ.ค. 62 16:19 น. 1

แหม เราก็ไม่ฝันนะหยุดฝันตั้งแต่................9ขวบอะ ตอนนั้นเริ่มอ่านนิยายแล้วเก็บไปแต่งไปมโน แตกจากเรื่องเดียวเป็นหลายเรื่อง ปล. เจ้าจุด "...." ข้างบนเนี่ยคือเวลาคิด

0
กำลังโหลด

8 ความคิดเห็น

Artemis the hunter girl Member 24 พ.ค. 62 16:19 น. 1

แหม เราก็ไม่ฝันนะหยุดฝันตั้งแต่................9ขวบอะ ตอนนั้นเริ่มอ่านนิยายแล้วเก็บไปแต่งไปมโน แตกจากเรื่องเดียวเป็นหลายเรื่อง ปล. เจ้าจุด "...." ข้างบนเนี่ยคือเวลาคิด

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ปากกาว่างๆ หัวสมองก็ว่างตาม Member 28 พ.ค. 62 16:54 น. 6

หยุดเขียนไปนาน พอเจอบทความนี้ชักอยากจับปากกาเขียนขึ้นมาทันที

0
กำลังโหลด
ณ เรือนแก้ว (Philous) Member 28 พ.ค. 62 20:47 น. 7

มาถูกทางแล้ว “เขียนเพราะอยากเขียน” นี่ละมั้งที่ทำให้ไม่เคยตันกับเรื่องแรกเลย ขอบคุณบทความดีๆ เชื่อเลยว่าที่เขาพูดมาเป็นเรื่องจริง เพราะเมื่อมีวินัยแล้ว เขียนทุกวันเราสามารถปิดต้นฉบับจากทรีตเม้นต์ 70 ตอนได้ภายในเวลา 3 เดือน มันช่างน่าเหลือเชื่อจริงๆ :) ขอบคุณอีกครั้งค่ะ dek-d

0
กำลังโหลด
ScarletWhite Member 29 พ.ค. 62 11:59 น. 8
ไม่รู้ว่าเป็นที่บทความหรือเป็นที่คอม แต่เนื้อหาบางอันวรรณยุกต์ขาดหาย อ่านแล้วงงๆ ค่ะ
2
เราเบื่อเฟซมาก 29 พ.ค. 62 15:06 น. 8-1

ตรงไหนอะ แคปมาจอมาแจ้งทีมงานเขาสิ เขาจะได้ดูให้ว่าเป็นที่จอเราหรือเป็นที่เว็บ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด