'น๊อต' เด็กที่ไปแลกเปลี่ยนถึงนอร์เวย์ แต่ดันได้ฝึกเก็บเห็ดด้วยซะงั้น!

          สวัสดีค่าชาว Dek-D เวลาน้องๆ คิดอยากไปแลกเปลี่ยน อาจจะนึกถึงอเมริกา จีน หรือญี่ปุ่น เป็นประเทศแรกๆ ใช่มั้ยคะ? แต่วันนี้พี่ไอซ์จะมาเล่าประสบการณ์ของหนุ่มที่ตัดสินใจเลือกเส้นทางที่แตกต่าง ด้วยการไปแลกเปลี่ยนที่ “นอร์เวย์” กับโครงการ AFS พี่บอกเลยว่าไม่ธรรมดา! สิ่งที่ได้กลับมา คุ้มค่าไม่แพ้ประเทศอื่นๆ เลยค่ะ ถ้าพร้อมแล้ว...ตามพี่มาเลยยยย


แนะนำตัว


     “สวัสดีครับ ชื่อ ‘น๊อต’ ณัฐสิทธิ์ สุขแสงเปล่ง เรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคอินเตอร์ เคยไปแลกเปลี่ยนที่นอร์เวย์กับโครงการ AFS รุ่นที่ 53 เรียนชั้น VG2 (เทียบเท่า ม.5) ที่โรงเรียน Asker Videregående skole เมือง Asker ครับ”  


เรียนเบาๆ แต่ภาษาไม่ค่อยเบา



     “เด็กที่นี่เรียนแค่ 2-3 วิชาต่อวันครับ (มีความสุขมาก 55555) ถ้าเกิดวันไหนไม่ได้เรียนแค่ครึ่งวัน อย่างมากก็จะเลิกไม่เกินบ่าย 3 ครึ่ง และทุกบ่ายวันอังคาร จะมีช่วงที่เรียกว่า ‘Student Café’ ให้เด็กเข้าห้องสมุดหรือทำการบ้านด้วยครับ ^^”

     “นอกจากนี้โรงเรียนใช้แล็ปท็อปทำทุกอย่าง ทั้งบอกตารางเรียน สั่งการบ้าน ขนาดสอบยังสอบผ่านแล็ปท็อปเลยครับ”

     “ถ้าเป็นเรื่องการปรับตัว จริงๆ ภาษานอร์วิเจียนอาจจะยากสำหรับคนไทยนิดนึงเพราะภาษาเรากับเขามาจากคนละรากกัน และยากที่การออกเสียงด้วย เลยเป็นเหตุผลที่ผมเรียนภาษาใหม่ได้ช้ากว่าเพื่อนต่างชาติคนอื่นๆ ที่ภาษาใกล้เคียงกัน อย่างเบลเยียมหรือเยอรมัน แต่เพื่อนๆ ก็เป็นแรงผลักดันให้ผมพยายามมากขึ้นกว่าเดิม ถ้าอยากให้เขายอมรับก็ต้องพูดภาษาเขาให้ได้ ถ้าใช้ภาษาอังกฤษ เขาอาจมองว่าเราไม่ยอมรับสิ่งใหม่ๆ หรือวัฒนธรรมของเขา ผมใช้เวลา 3 เดือนก็สื่อสารกับเพื่อนๆ ได้คล่องครับ ^^”


‘Revyen’ ละครโรงเรียนที่นักเรียนลุยเองทุกสเต็ป



     “ตอนไปแลกเปลี่ยน มีกิจกรรมในโรงเรียนที่ผมชอบมากๆ เรียกว่า ‘Revyen’ ซึ่งก็คือละครโรงเรียนที่นักเรียนจัดการทุกอย่างเองหมดเลย ตั้งแต่ดูแลแสงสี ดนตรี เสื้อผ้า และเป็นนักแสดง ตอนปีที่ผมไปจะเป็นละครเสียดสีศาสนาคริสต์ ผมได้อยู่ฝ่ายกล้องและทัศนศิลป์ มีหน้าที่ถ่ายภาพนิ่งกับวิดีโอครับ ผมว่ามันสนุกและเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ เพราะเราได้รู้จักเพื่อนใหม่ และสนิทกับเพื่อนๆ มากขึ้นด้วยครับ”


ปลดล็อกสกิลอ่านแผนที่และเก็บเห็ด


     “ตอนอยู่นอร์เวย์ ผมได้ลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำที่ไทยมาก่อนเลยครับ นั่นคือการอ่านแผนที่และเก็บเห็ด (ใช่ครับ...เก็บเห็ด!) เล่าเรื่องแผนที่ก่อนดีกว่า คือที่โรงเรียนผมมีกิจกรรม ‘Orienteering dag’ ที่ส่งเสริมให้นักเรียนหัดอ่านแผนที่ให้เป็น เพราะภูมิประเทศส่วนใหญ่ของเขาเป็นภูเขา เลยมีโอกาสพลัดหลงได้ง่ายครับ ทีนี้พอถึงเวลาเขาจะแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มแล้วปล่อยเข้าป่าพร้อมแผนที่ แต่ไม่ใช่ให้เดินไปเรื่อยๆ นะครับ 5555 เขาจะมีฐานกิจกรรมตามทางให้ทุกคนเล่นด้วย ผมก็เพิ่งรู้ว่าการอ่านแผนที่มันสนุกมาก (ทุกวันนี้มีแต่คนใช้ GPS ไม่ค่อยมีใครอ่านแผนที่กันแล้ว)”

     “ส่วนเรื่องเก็บเห็ด ต้องเล่าว่าปกติคนนอร์เวย์จะชอบพาครอบครัวไปเดินและเก็บของป่ากันอยู่แล้วครับ หลายคนอาจสงสัยว่าเก็บของป่าผิดกฎหมายรึเปล่า? ไม่ได้ผิดนะครับ เพราะเขาเก็บเบอร์รี่กับเห็ดกัน แล้วช่วงที่ผมไป มันตรงกับเดือน ส.ค. ที่เป็นเหมือนฤดูเก็บเห็ดพอดี ผมก็ไปกับโฮสต์ แล้วได้ลงมือเก็บเห็ดครั้งแรกในชีวิต เวลาเข้าป่าเขาจะเอาตะกร้ากับหนังสือเข้าไปด้วย เพราะในหนังสือมีบอกว่าเห็ดรูปร่างแบบไหนกินได้บ้าง เขาก็จะเก็บแล้วไปทำอาหารกิน”


เล่าเรื่องโฮสต์

กับเหตุการณ์ช็อกๆ ที่มี “กวาง” เป็นเหตุ!



     “ครอบครัวโฮสต์มี 4 คนครับ มีโฮสต์มัม โฮสต์แด๊ด โฮสต์พี่สาว และโฮสต์น้องชาย เป็นครอบครัวฐานะปานกลาง บ้านอยู่ชนบทหน่อยๆ แต่ไม่ได้ไกลจากตัวเมืองมาก”

     “ตอนไปถึงสัปดาห์แรก โฮสต์ก็พาไปหลายที่ พวกร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงเรียน ฯลฯ เหมือนพยายามให้เราคุ้นชินกับเมืองครับ เพราะเมืองที่ผมอยู่ไม่ได้ใหญ่มาก ไปไหนมาไหนเองง่ายๆ การทัวร์เมืองครั้งนั้นทำให้ผมรู้นิสัยโฮสต์อย่างนึงคือเขาไม่ชอบซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ต แต่เลือกจะซื้อของในร้านค้าเล็กๆ หรือตลาดมากกว่า เวลาอยากได้เนื้อสัตว์ เขาก็เข้าร้านขายเนื้อสัตว์โดยเฉพาะ เขาบอกเหตุผลว่าอยากสนับสนุนร้านค้าเล็กๆ แบบนี้ครับ ถือเป็นมุมมองที่แปลกใหม่สำหรับผมเลย”

     “แล้วมันมีเหตุการณ์นึงครับ จำแม่นเลย วันนั้นผมไปเล่นสกีกับโฮสต์แฟมิลี่ ซึ่งพอขากลับต้องผ่านป่า พอขับไปสักพักทุกคนก็ได้ยินเสียง ‘ครืดดดดดด’ จากด้านซ้ายของรถ โฮสต์แด๊ดเลยเปิดไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น ผมก็ตามลงไปด้วย ปรากฏว่ามีรอยเลือดที่ล้อซ้ายของรถ และเห็นกวางเดินผ่านไปแว่บๆ ตอนนั้นคือผมช็อกมาก เพราะไม่เคยเห็นกวางใกล้ขนาดนี้มาก่อน แล้วกลัวด้วยว่ามันจะเป็นอะไรมากมั้ย? แต่กวางก็หนีไปแล้ว จะพาไปรักษาก็ไม่ได้ โฮสต์แด๊ดเลยโทรแจ้งตำรวจ เรื่องก็จบไปแบบงงๆ ครับ” 


เมนูประจำที่กินวนไปทุกวันทุกสัปดาห์



     “ส่วนตัวผมคิดว่าอาหารที่นั่นไม่ค่อยอร่อยเท่าไหร่ รสชาติค่อนข้างจืด ไม่ได้จัดจ้านเหมือนบ้านเรา แต่ราคาจัดจ้านมากกกก ผมนี่นับครั้งออกไปกินข้าวนอกบ้านได้เลย พวกขนมกับโยเกิร์ต 50 บาท อาหารทั่วไป 250 บาท กินทีจนเลยครับ จะหวังพึ่งโรงอาหารโรงเรียนก็ไม่ได้ เพราะแพงและไม่อร่อยพอๆ กัน (เผลอๆ แย่กว่าด้วยซ้ำ)”

     “วิธีแก้ของผมคือแพ็กอาหารไปกินเองที่โรงเรียนเลยครับ แต่สิ่งที่ทำได้ก็มีแค่ขนมปังใส่แตงกวา ชีส และทูน่าสเปรด กินแบบนี้วนไปทุกวันทุกสัปดาห์ ถ้าวันไหนโชคดีหน่อย โฮสต์มัมก็จะทำอาหารให้ แต่โชคดีแบบนี้มีไม่บ่อยเท่าไหร่หรอกครับ 5555”


เมื่อการแลกเปลี่ยนมีส่วนให้ติดคณะอินเตอร์ในฝัน!


     “ผมว่าประสบการณ์นี้มีส่วนทำให้เราพัฒนาจนสอบติดอักษรจุฬาฯ อินเตอร์ แม้จะจบจากโรงเรียนไทยครับ เพราะผมได้รู้ว่านอกห้องเรียนยังมีอะไรอีกเยอะรอให้เราออกไปเรียนรู้ แต่ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ถ้าตัวเราเป็นคนเริ่ม เริ่มอยากเรียนรู้ ขวนขวาย และลงมือทำ”

     “นอกจากนี้การแลกเปลี่ยนยังทำให้เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ ได้เปิดโลกในหลายมุมมองมากขึ้น เข้าใจว่าสิ่งแวดล้อมที่ต่างก็ส่งผลต่อความคิดหรือมุมมองของบุคคล ซึ่งนั่นทำให้คนแต่ละประเทศแตกต่างกันครับ ดังนั้นเราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย ไม่ใช่มองแค่ในมุมตัวเอง ผมว่าสิ่งนี้สอดคล้องกับสิ่งที่อักษรศาสตร์มองหาอยู่ครับ” 


ทิ้งท้ายสั้นๆ ถึงคนที่อยากไปเรียนนอร์เวย์


     “สำหรับน้องๆ ที่อยากมาแลกเปลี่ยนที่นอร์เวย์ อย่างแรกพี่อยากให้เปิดใจและพร้อมปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ เพราะสังคมวัฒนธรรมของเขาค่อนข้างต่างจากบ้านเราพอสมควรครับ เราต้องกล้าทำความรู้จักกับคนที่นั่น กล้าเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ และหากเราพยายามมากพอ การเรียนรู้ภาษาใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป พี่พร้อมตอบคำถามและให้คำปรึกษากับน้องๆ ที่สนใจครับ ^^”

          ถึงจะไม่ใช่ประเทศที่ฮอตฮิตสำหรับการไปแลกเปลี่ยน แต่ประสบการณ์ที่ได้กลับมาก็ไม่ธรรมดาเลยใช่มั้ยล่ะคะ นอกจากสกิลอ่านแผนที่และเก็บเห็ด ยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ต่างจากเราเยอะมาก ถ้าใครอยากเก็บประสบการณ์ผ่านการแลกเปลี่ยนแบบนี้ สามารถศึกษารายละเอียดของโครงการ AFS ได้ที่นี่เลยนะคะ 
พี่ไอซ์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น