ไขความลับ #ปรมาจารย์ลัทธิมาร จุดสีแดงบนหน้าผากนักแสดงในซีรีส์หมายถึงอะไร?

        สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนค่ะ ช่วงนี้กระแสซีรีส์จีนกำลังมาแรง น้องๆ คนไหนที่ได้ดูเรื่อง “ปรมาจารย์ลัทธิมาร” อาจจะสังเกตเห็นว่ามีตระกูลอยู่ตระกูลหนึ่งในเรื่องที่มักจะแต้มชาดแดงไว้ที่หน้าผาก ทุกคนเคยสงสัยกันไหมคะว่าแต้มเพื่ออะไร? การแต้มชาดไว้ที่หน้าผากนี้มีที่มาอย่างไร? แล้วแตกต่างกับการวาดรูปดอกไม้ไว้ที่หน้าผากของผู้หญิงในยุคราชวงศ์ถังยังไง? วันนี้พี่ภัทรจะมาอธิบายให้ฟังค่ะ ถ้าพร้อมแล้วตามมาดูกันเลยยย

 

photo credit: We TV
 

ความเชื่อเกี่ยวกับสีแดงของจีน
 

        ตั้งแต่สมัยโบราณชาวจีนก็มักใช้สีแดงในงานรื่นเริง เช่นงานแต่งงาน เพราะคำว่า “แดง” ในภาษาจีน 红 (hong) พ้องเสียงกับคำภาษาจีนอื่นๆ ที่มีความหมายในเชิงบวกคือคำว่า "ดีมาก" (宏 hong ) และ "ไพศาล" (洪 hong)  ยิ่งไปกว่านั้นสีแดงยังสื่อถึง ดวงอาทิตย์ ไฟ ความสูงส่ง และความสุข ชาวจีนจึงถือว่าสีแดงเป็นสีแห่งความรุ่งเรืองและสดใสที่สุดในสีทั้งหมด ที่สำคัญคือ ชาวจีนเชื่อว่าวิญญาณร้ายมักกลัวแสงสว่างหรือความสดใส หินสีแดงและชาดก็ได้รับอิทธิพลเกี่ยวกับความเชื่อนี้มาด้วยเหมือนกันค่ะ
 

Photo by 
Humphrey Muleba on Unsplash

 

การแต้มชาดที่หน้าผากของจีน
 

        ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่าการแต้มหน้าผากของจีนก็มีหลายวัตถุประสงค์นะ หลายๆ คนอาจจะคุ้นเคยกับการวาดหน้าผากเป็นรูปดอกไม้ของสาวชาวจีน  อย่างฟ่านปิงปิงในซีรีส์เรื่อง “บูเช็คเทียน” แต่การแต้มหน้าผากในซีรีส์เรื่อง “ปรมาจารย์ลัทธิมาร” ถึงจะใช้  “จูซา” หรือ "ชาด" วาดที่หน้าผากเหมือนกัน แต่วัตถุประสงค์ก็ต่างกันนะ!
 

เทรนส์แฟชั่นกับดอกไม้บนหน้าผาก
 

        มาเริ่มกันที่การแต้มหน้าผากในแบบที่เราเห็นกันบ่อยๆ ก่อนเลย นั่นก็คือการวาดดอกไม้บนหน้าผาก ที่มีชื่อเรียกว่า "จินเตี่ยน" วัตถุประสงค์เพื่อความงามล้วนๆ ถือเป็นแฟชั่นของสตรีในยุคราชวงศ์ถังเลยนะ! แล้วการวาดดอกไม้บนหน้าผากมันมีที่มายังไง? 
 
        แฟชั่นการแต่งหน้าแบบนี้ว่ากันว่ามีต้นแบบมาจากเจ้าหญิงองค์หนึ่งในยุคราชวงศ์เหนือใต้ ชื่อว่าองค์หญิง Shouyang พระองค์ได้ไปนอนหลับอยู่ใต้ต้นเหมยทำให้กลีบดอกไม้ลอยมาติดอยู่ที่หน้าผาก แต่แทนที่จะดูตลกแต่กลับทำให้องค์หญิงดูสวยขึ้นซะงั้น!? หลังจากนั้นเหล่านางในเลยเริ่มเลียนแบบโดยใช้ ชาด หรือ สีต่างๆ มาวาดรูปดอกไม้ลงบนหน้าผาก และกลายเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมในยุคราชวงศ์ถังนั่นเองค่ะ
 
photo credit: jaynestars
 

ป้องกันภูติผี
 

        ตามความเชื่อของคนจีนโบราณหนึ่งในวันที่อันตรายที่สุดคือ วันที่ 5 ของเดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งเป็นวันแรกของฤดูร้อน คนจีนเชื่อว่า สัตว์ แมลง รวมถึงโรคที่เป็นอันตรายจะแพร่ระบาดได้ง่าย และวิญญาณชั่วร้ายจะออกมา ในวันนี้ชาวจีนจะดื่มเหล้าชนิดหนึ่งที่เชื่อว่าช่วยป้องกันวิญญาณร้าย ขับพิษ และฆ่าสัตว์อันตรายได้ 
 
        เนื่องจากเหล้าแรงไปสำหรับเด็ก ชาวจีนจึงนำชาดมาผสมในเหล้าแล้วนำมาเขียนเป็นคำว่า 王 (wang)  บนหน้าผากของเด็ก ทำให้ดูคล้ายกับลายบนหน้าผากของเสือ เพราะนอกจากสีแดงจากชาดจะทำให้วิญญาณร้ายกลัวแล้ว คนจีนยังเชื่อว่าเสือเป็นสัตว์ที่ดุร้ายจนแม้แต่วิญญาณร้ายก็ยังกลัวด้วยเหมือนกันค่ะ เรียกได้ว่าผสมสองอย่างให้ผลคูณสองได้เลย!
 

 

เปิดดวงตาแห่งการเรียนรู้
 

        นอกจากชาวจีนโบราณจะนำชาดมาแต้มหน้าผากเพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์และวิญญาณร้ายแล้ว พวกเขายังเชื่อกันว่าช่วยเปิดดวงตาแห่งการเรียนรู้ด้วยนะคะ เรียกว่า 朱砂开智 (Zhusha kaizhi) โดยอาจารย์จะแต้มจุดสีแดงบนหน้าผากของลูกศิษย์ สื่อถึงการให้นักเรียนมี “สายตาที่แจ่มชัด เรียนรู้ได้ดี”
 


 
photo credit: We TV
 
        "ตระกูลจิน...แต้มชาดไว้ที่หน้าผากเพื่อแสดงถึง ปัญญารู้แจ้ง ปณิธานแรงกล้า ส่องแสงชาดเรืองรองแก่วงศ์ตระกูล" 
(ปรมาจารย์ลัทธิมาร, โม่เซียงถงซิ่ว, หน้า 64)

เกร็ดความรู้  อินเดียก็มีการแต้มจุดที่แดงที่หน้าผากเหมือนกันนะ!
 
        ชาวอินเดียมีความเชื่อว่าเป็นการเปิดดวงตาดวงที่สามของพระศิวะ ซึ่งตำนานเล่าว่าตาดวงที่สามของพระศิวะคือดวงตาแห่งองค์ความรู้นิรันดร์ค่ะ ในจุดนี้ความเชื่อของทั้งจีนและอินเดียค่อนข้างคล้ายกันเลยค่ะ><

 
        ไม่น่าเชื่อว่าการแต้มจุดสีแดงที่หน้าผาก ทั้งๆ ที่หน้าตาคล้ายกัน แต่จะมีหลายวัตถุประสงค์ขนาดนี้นะคะ ก็ถือว่าเป็นจุดสังเกตเล็กๆ น้อยๆ จากซีรีส์ที่นอกจากดูเพื่อความสนุกแล้ว เราเองก็ได้รู้ถึงวัฒนธรรมจีนมากขึ้นอีกด้วยนะคะ ^-^//


 
source:
พี่ภัทร

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด