สวัสดีค่ะน้อง ๆ เคยได้ยินวลีนี้ไหมคะ “ยิ่งโกหกบ่อยขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งโกหกเก่งขึ้นเท่านั้น” แล้วมันจะดีไหมเนี่ย? การจับโกหกไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยนะคะ หลายคนแนบเนียนมาก เนียนจนถึงขั้นโลกนี้ต้องการเครื่องจับเท็จเลยล่ะ อย่างไรก็ตามยังมีนักโกหกมือสมัครเล่นที่เผยไต๋ให้คนจับผิดได้ตลอด ๆ มาดูกันค่ะว่าพวกเขาออกอาการกันยังไง


 
                               บทความเรื่อง “การสื่อสารด้วยอวัจนภาษาในพฤติกรรมโกหก หลอกลวงของมนุษย์ โดย คุณสุธาสินี พ่วงพลับ” ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของอวัจนภาษาหรือการสื่อสารนอกเหนือถ้อยคำไว้ว่า “คนเราสามารถใช้อวัจนภาษาเพื่อปกปิดความจริงหรือเปิดเผยความจริง” ก็ได้ โดยพฤติกรรมหนึ่งที่ดำเนินควบคู่ไปกับชีวิตประจำวันของคนเราก็คือ “การแสดงพฤติกรรมโกหก” ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว โกหกในเชิงบวกหรือเชิงลบก็ตาม แต่สำหรับบทความนี้จะเน้นไปที่การศึกษาพฤติกรรมโกหกที่เกิดจากความตั้งใจและแสดงพิรุธให้เห็นอย่างชัดเจนค่ะ  

คนโกหกมักพูดช้าลง+คิดนาน
                               Depaulo และคณะ ได้ศึกษาข้อมูลคนโกหกเปรียบเทียบกับคนพูดความจริง แล้วสรุปพฤติกรรมคนโกหกไว้ว่า คนโกหกมักพูดตอบคำถามเพียงประโยคสั้น ๆ พูดช้าลง อธิบายน้อยลง และใช้เวลาคิดหาคำตอบนานขึ้นคล้ายต้องการปกปิดอะไรบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ 

คนโกหกชอบโมโหกลบเกลื่อน
                               คนโกหกมักจะแสดงบุคลิกภาพในทางลบมากขึ้น ดูเคร่งเครียด พูดจาก้าวร้าว ใช้คำรุนแรง เพราะพยายามป้องกันตนเอง บางครั้งที่เหมือนจะถูกจับได้ก็อาจเผลอใช้โทนเสียงสูง เสียงดัง ดวงตาเบิกกว้างกว่าปกติ และดูกระวนกระวายด้วย

ลักษณะนี้โกหกชัวร์! 
                                การโกหก หลอกลวง ไม่ได้มีอวัจนภาษาหรือการแสดงออกเฉพาะที่ชี้ชัดว่าต้องโกหกอยู่เท่านั้น เช่น “ยิ้มแบบนี้ เฟคอยู่แน่ ๆ” แต่คนโกหกจะใช้อวัจนภาษาหลาย ๆ แบบมารวมเข้าด้วยกันเพื่อทำให้คู่สนทนาเชื่อสิ่งที่กำลังแสดงค่ะ จากการศึกษาวิจัยและงานวิชาการต่าง ๆ พบอวัจนภาษาที่เกี่ยวกับการแสดงออกที่ส่อพิรุธถึงพฤติกรรมการโกหก ดังนี้ 


 
                               1. การแสดงออกทางใบหน้า คนโกหกมักจะถูกจับผิดได้จาก “ลักษณะสีหน้า” เช่น หน้าแดง หน้าซีด หน้าเปลี่ยนสี หรือการพยายามทำสีหน้าให้เคร่งขรึมดูน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามถ้าเปลี่ยนสีหน้ารวดเร็วในเสี้ยววิก็อาจทำให้จับพิรุธได้ยากเหมือนกัน “ลักษณะรอยยิ้ม” รอยยิ้มคนโกหกที่ยังไม่โป๊ะจะมีลักษณะที่ดูไม่เป็นธรรมชาติหรือที่เรียกว่า “ฝืนยิ้ม” แต่ถ้าถูกจับได้เมื่อไหร่จะเปลี่ยนเป็น “รอยยิ้มเย็นชา” ทันที “ลักษณะการเคลื่อนไหวของศีรษะ” เรามักจะพยักหน้าเมื่อตอบรับ หรือส่ายหน้าเมื่อตอบปฏิเสธ แต่ถ้าเมื่อใดที่การขยับศีรษะไม่สัมพันธ์กับการพูดหรือการกระทำ แปลว่าคนนั้นมีแนวโน้มว่าพูดโกหกค่ะ  
                               2. การแสดงออกทางตา คนโกหกมักจะ “กะพริบตาถี่ ๆ หลบสายตา หรือมองไปทางอื่น” เพื่อปิดบังความจริงหรือกลัวว่าจะถูกจับได้ค่ะ อย่างไรก็ตามการแสดงออกทางตาสามารถเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ บางครั้งคนโกหกที่ตั้งใจปั้นเรื่องก็สามารถจ้องตาเราได้แบบเนียน ๆ ดังนั้น ให้สังเกตไปที่ “ลูกตา” คนทั่วไปมักจะกลอกตาไปมาเวลาพูด แต่ “ลูกตาของคนโกหกจะนิ่งกว่าปกติ” เพราะกำลังเตรียมเรื่องโกหกอยู่
                               3. การแสดงท่าทาง คนปกติเวลาพูดจะประกอบท่าทางมือไม้อย่างลงตัว แต่คนโกหกมักจะ “เคลื่อนไหวแบบไม่สัมพันธ์กัน” เช่น ยักไหล่หรือชี้นิ้วไปที่สิ่งของแทนการพูด คนโกหกมัก “แตะสัมผัสส่วนต่าง ๆ ของร่างกายโดยไม่จำเป็น” เช่น ถูท้ายทอย เกาคาง เคาะนิ้ว อย่างไรก็ตามเขาอาจจะกำลังคิดเฉย ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการโกหกก็ได้ “คนโกหกมักขยับขาและเท้าขณะพูด”


 
                               4. การใช้ระยะห่าง “คนโกหกมักจะถอยห่าง” จากคู่สนทนามากกว่าเข้าใกล้ในระยะประชิด และชอบสร้างอาณาเขตเพื่อให้ห่าวจากผู้อื่น เช่น สามีที่ดื่มเหล้าเมามักโกหกภรรยาว่าไม่ได้ดื่ม ด้วยการพยายามแยกตัวมาเก็บตัวอยู่ในห้องเงียบ ๆ คนเดียว
                               5. การใช้น้ำเสียง คนโกหกชอบ “ขึ้นเสียงสูงหรือลงเสียงต่ำกว่าปกติ” ทางด้านระดับเสียงคนโกหกมัก “พูดเบาลง ช้าลง” เวลาเศร้าหรือเบื่อหน่าย “พูดดังขึ้น เร็วขึ้น” เวลาโกรธ กลัว หรือตื่นเต้น นอกจากนี้คนโกหกยัง “พูดตะกุกตะกัก พูดผิด พูดพึมพำ” เนื่องจากไม่ต้องการให้คนฟังจับใจความได้ชัดเจน บางกรณีอาจ “พูดมาก” เพราะต้องการหาเหตุผลหว่านล้อมให้คนฟังเชื่อถือ แต่อาจจะถูกจับได้ เพราะพูดไปเรื่อย จนดูไม่สมเหตุสมผล    
                               6. ปฏิกิริยาทางร่างกายที่ควบคุมไม่ได้ ยังมีอวัจนภาษาที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และไม่สามารถควบคุมได้ขณะโกหก เช่น การหายใจถี่รัวหรือติดขัด เหงื่อออก กลืนน้ำลายบ่อย ฯลฯ 

เหตุผลที่โกหกไม่สำเร็จ!
                               การโกหกจะทั้งคนที่เชี่ยวชาญและอ่อนหัดค่ะ สำหรับคนที่โกหกไปแล้วไม่สำเร็จ หลุดพิรุธเยอะมาก ก็เป็นเพราะเตรียมตัวมาไม่ดีและมีอุปสรรคทางอารมณ์นั่นเอง คนโกหกบางคนพยายามสร้างข้อมูลเท็จโดยโน้มน้าวใจให้คนเชื่อถือในอารมณ์นั้น ทั้งที่ความจริงไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นเลย เช่น เจ็บแค่ไหนก็ต้องฝืนยิ้มแกล้งทำว่าไม่เป็นไร T T

                               มีหลายแง่มุม หลายเหตุผล ที่คนเราเลือกที่จะ “โกหก” บางคนโกหกเพราะปกป้องตัวเอง บางคนก็ตั้งใจไปหลอกลวงเขาจริง ๆ นั่นแหละ การพยายามทำความเข้าใจและรู้ทันการโกหก อาจทำให้เรารู้จักกับคำว่า “จริงใจ” มากขึ้นก็ได้ค่ะ  

ขอบคุณข้อมูลจาก
สุธาสินี พ่วงพลับ. (2555). การสื่อสารด้วยอวัจนะภาษาในพฤติกรรมโกหก หลอกลวงของมนุษย์.
วารสารปัญญาภิวัฒน์, 4(1) 141 – 151 สืบค้นจาก
https://journal.pim.ac.th/uploads/content/2014/06/o_18qk1jccp1a0915jkn6etg05q1a.pdf
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด