แจกศัพท์-กระชับเนื้อหาเศรษฐศาสตร์! เข้าใจข่าวรอบโลกมากขึ้น แถมเจอบ่อยในข้อสอบ


 
            สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ วันนี้พี่ขอสปอยล์เลยว่าบทความนี้มีสาระความรู้ + คำศัพท์เกี่ยวกับ ‘เศรษฐศาสตร์’ แบบแน่นมากๆ แต่ไม่ว่าจะน้องๆ สายวิทย์ สายศิลป์ หรือแผนการเรียนไหนๆ ก็นำไปต่อยอดในห้องเรียนหรือใช้ในชีวิตประจำวันได้ ที่สำคัญคือได้ขยายคลังศัพท์ไว้เกาะติดสถานการณ์ทั้งในไทยและต่างประเทศด้วยค่ะ ว่าแล้วก็ตามพี่ปุณและ English Issue มาดูกันเลย! 
 
Photo credit: https://unsplash.com
 

กลไกตลาดสู่เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม
 

            สำหรับศัพท์เศรษฐกิจหมวดแรกที่เจอบ่อยทั้งในชีวิตประจำวันและในข้อสอบเลยค่ะ คำว่า “กลไกตลาด” = ภาวะของราคาสินค้าในตลาดที่เปลี่ยนแปลงขึ้นและลงตามแรงของอุปสงค์ (ความต้องการซื้อของผู้บริโภค) และอุปทาน (ความต้องการขายของผู้ผลิต) พูดง่ายๆ ว่าถ้าของชิ้นไหนคนอยากซื้อเยอะ ราคาก็จะสูงเพราะคนแย่งกัน แต่ถ้าชิ้นไหนคนไม่อยากได้ คนขายก็จะปรับลดราคาจนกว่าจะมีคนซื้อนั่นเอง 
 
            กลไกตลาดมักถูกดึงเข้ามาใช้ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ไม่มีใครสามารถเข้าไปกำหนดหรือควบคุมราคาสินค้าแต่เพียงผู้เดียวได้ ดังนั้น บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์อย่าง ‘อดัม สมิธ (Adam Smith)’ ก็เลยขอเปรียบกลไกตลาดเหมือนกับ ‘มือที่มองไม่เห็น (Invisible hand)’ ไม่รู้อะไรมาทำให้ราคาในตลาดเปลี่ยนไปกันแน่ ว่าแล้วก็มาดูกันดีกว่าว่าศัพท์หมวดนี้มีอะไรบ้าง
 
-        Market force = กลไกตลาด
-        Law of Demand = กฎของอุปสงค์
-        Law of Supply = กฎของอุปทาน
-        Equilibrium = ดุลยภาพ
-        Price = ราคาสินค้า
-        Volume = ปริมาณสินค้า
-        Socialism = ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
-        Communism = ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์
-        Mixed Economy = ระบบเศรษฐกิจแบบผสม
-        Laissez-Faire / Capitalism = ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยม
 
ตัวอย่างประโยค:
  • If governments cannot provide sufficient funding, market forces then come to play a role in urban communities.
หากรัฐบาลยังไม่สามารถจัดสรรเงินทุนให้เพียงพอได้ กลไกตลาดก็จะเข้ามามีบทบาทในสังคมเมือง
  • The mixed economy boomed, bringing unprecedented prosperity to the middle and working classes. 
การที่ระบบเศรษฐกิจแบบผสมรุ่งเรืองขึ้น ส่งผลให้คนชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานมีฐานะมั่งคั่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

            และระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างส่วนที่เป็นแบบทุนนิยมกับสังคมนิยม กล่าวคือภาคเอกชนก็ยังสามารถประกอบธุรกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างเสรี แม้จะมีหน่วยธุรกิจบางหน่วยที่รัฐเข้ามาแทรกแซงและเป็นเจ้าของอยู่บ้าง อย่างเช่น สถาบันการเงินของรัฐอย่างธนาคารออมสินหรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นต้น เรียกได้ว่าระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นทุนนิยม (Capitalism) เสียส่วนใหญ่เลยดีกว่าค่ะ
 
Photo credit: https://unsplash.com

เศรษฐกิจไทยไม่ขับเคลื่อน ค้าขายและลงทุนลุ้นตัวโก่ง!
 

            ย้อนไปเมื่อปลายปี 2562 มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปี 2563 นี้จะฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่แล้วโลกของเราก็ดันมาเผชิญวิกฤตสุขภาพรุนแรงอย่างโควิด-19 ซึ่งทำเอานักวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์หลายท่านถึงกับอ้าปากค้างไปเลยค่ะ! เพราะนอกจากเศรษฐกิจไทยต้องชะงักแล้ว ภาคการลงทุนก็ได้รับผลกระทบหนักสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ หรือในกองทุนรวม ก็ล้วนแต่มีสภาพคล่องลดลง จนคนไทยแห่ขายทรัพย์สินในมือแล้วมาถือเงินสดกันหมด
 
            ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะผลจากการส่งออกและการค้าที่ลดลง ก็พา GDP ไทยตกไปถึง -8.1% (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2563) ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูล GDP ไทยในรอบ 10 ปี ก็รู้เลยว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังตกต่ำถึงที่สุด!! ช็อกแล้วช็อกอีก พูดเรื่องนี้ไปน้ำตามันจะไหลเอาได้ TT ว่าแล้วก็พักเรื่องเครียดซักแป๊บแล้วแว๊บไปดูคำศัพท์ที่ต้องรู้กันดีกว่า

-        Gross Domestic Product (GDP) = ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
-        Gross National Product (GNP) = ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ
-        Investment = การลงทุน
-        Trade / Commerce = การค้า
-        Monopoly = การค้าแบบผูกขาด
-        Free Trade = การค้าแบบเสรี
-        Economic stagnation = การชะงักงันของเศรษฐกิจ
-        Inflation = ภาวะเงินเฟ้อ
-        Deflation = ภาวะเงินฝืด
-        Stock market / Stock exchange = ตลาดหุ้น
-        Bond / Debt securities = พันธบัตร, ตราสารหนี้
-        Mutual fund / Consolidated fund = กองทุนรวม

ตัวอย่างประโยค:
  • The coronavirus outbreak and a gasoline shortage cause Venezuela's inflation rate to accelerate. การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสและภาวะขาดแคลนน้ำมันทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเวเนซุเอลาพุ่งสูงขึ้น
  • Governments may also restrict free trade to limit exports of natural resources.
รัฐบาลอาจต้องระงับนโยบายการค้าเสรีเพื่อจำกัดการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ

            ช่วงนี้ใครจะลงทุนในหุ้นตัวไหนก็อย่าลืมเช็กข้อมูลกันให้ดี เพราะหุ้นในปีนี้มีแนวโน้มจะแดงเถือกกันไปเกือบทั้งกระดาน แต่ถ้าใครกระเป๋าหนักก็อย่าหยุดพักแล้วลองหันไปมองหุ้นกลุ่มสัญญาณโทรศัพท์หรือกลุ่มโรงไฟฟ้าก็อาจจะหาช่องทางทำเงินได้ไม่น้อยเลยทีเดียววว
 

Photo credit: https://unsplash.com
 

ภาษีคืออะไร ทำไมต้องจ่าย?

         มาต่อกันที่ศัพท์หมวด “ภาษี” ซึ่งเปรียบเสมือนภาระที่เราต้องจ่ายตามกฎหมายเพื่อสนับสนุนรัฐบาลและเป็นการช่วยพัฒนาประเทศชาติ โดยปกติแล้วเราก็สามารถแบ่งภาษีได้ออกเป็นหลายประเภท ตัวอย่างเช่น
 
-        Individual / Personal income tax = ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 
-        Corporate income tax = ภาษีเงินได้นิติบุคคล
-        House and land tax = ภาษาโรงเรือนและที่ดิน
-        Sales tax = ภาษีการค้า
-        Withholding tax / Tax withheld = ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
-        Excise tax = ภาษีสรรพสามิต (เช่น ไพ่ สุรา สถานบริการ รถยนต์ น้ำมัน&ผลิตภัณฑ์น้ำมัน)
-        Value Added Tax (VAT) = ภาษีมูลค่าเพิ่ม 
-        Estate / Legacy tax = ภาษีมรดก
-        Land development tax = ภาษีบำรุงท้องที่ 
-        Taxpayer = ผู้เสียภาษี

ตัวอย่างประโยค:
  • The general corporate income tax rate in Thailand is 30% for companies with a paid up share capital of more than 5 Million Thai Baht.
ในประเทศไทยบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนสูงกว่า 5 ล้านบาทจะต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 30%
  • The north's economy continued to be kept artificially afloat by the huge subvention from the taxpayers.
เศรษฐกิจทางตอนเหนือของประเทศยังสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยเงินช่วยเหลือจำนวนมากจากผู้เสียภาษี

            ช่วงที่ผ่านมาภาครัฐก็ออกมาตรการด้านภาษีมาช่วยเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชน อันที่น่าสนใจก็คงเป็น “การลดอัตราภาษีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา” ที่ช่วยลดภาระทั้งเจ้าของและลูกจ้างเลย และยังมี “มาตรการคืน VAT ให้ผู้ส่งออกเร็วกว่าปกติ” ด้วย เพื่อให้เหล่าผู้ส่งออกได้นำเงินไปต่อทุนได้
 

Photo credit: https://unsplash.com

พื้นฐานเศรษฐกิจไม่ดี มีแต่ปัญหา!
 

            ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องของทุกคนจริงๆ ค่ะ สาเหตุก็มาจากปัจจัยภายใน (เช่น การเมือง, การขาดแคลนเงินทุน) และปัจจัยภายนอก (เช่น เศรษฐกิจโลก, ปัญหาของประเทศคู่ค้าที่กระทบมาถึงเรา) ซึ่งหลายปีนี้ไทยก็เหมือนเจอมรสุม ทั้งปัญหาความยากจนเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาค่าครองชีพที่ทุกวันนี้สูงกว่าอังกฤษไปแล้ว TT หรืออย่าง “ปัญหาการว่างงาน” ที่มาแรง โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 นี้! พอของขายไม่ดี ธุรกิจขาดรายได้เจ้าของธุรกิจบางเจ้าก็ใช้วิธีลดคนงานหรือไล่คนออก เรียกว่าไล่ตามวิกฤตสุขภาพมาติดๆ เลยค่ะ
 
            มาดูกันว่าหมวดนี้มีศัพท์ไหนเห็นบ่อยๆ บ้าง?
 
-        Employment = การจ้างงาน
-        Unemployment = การว่างงาน
-        Jobless = ว่างงาน
-        Wages = ค่าจ้างค่าแรง
-        Severance pay = เงินทดแทนการถูกออกจากงาน
-        Lay off = เลิกจ้าง, ไล่ออก
-        Poverty = ความยากจน
-        Cost of living / Living expenses = ค่าครองชีพ
-        Economic disparity = ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
-        Economic crisis / Great depression = วิกฤตเศรษฐกิจ

ตัวอย่างประโยค:
  • The unemployment rate of Thai people in Bangkok and nearby provinces increased to 9.6 percent due to the impact of Covid-19 and the lockdown measures.
อัตราการว่างงานของคนไทยในกรุงเทพและปริมณฑลเพิ่มสูงขึ้นเป็น 9.6% โดยมีผลมาจากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์
  • The cost of living in the UK varies depending on what part of the country you live in.
อัตราค่าครองชีพของประเทศอังกฤษจะแตกต่างกันไปตามเมืองที่อาศัยอยู่

            ผ่านไปแค่ครึ่งปีก็มีอัตราว่างเงินเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ ขณะที่ความรุนแรงของโควิด-19 กำลังทำให้คนเสี่ยงตกงานรวมกว่า 8.4 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2563) เยอะจนงง! โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่ทำงานในภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรมนั่นแหละค่ะ ใครที่ยังไหวก็อย่างพึ่งท้อเพราะหลังจากปลดล็อกดาวน์นี้อะไรๆ ก็น่าจะดีขึ้น (//ภาวนา)
 
Photo credit: https://unsplash.com
 

เทคโนโลยีก้าวไกล ผลักดันให้การเงินการธนาคารก้าวหน้า

            ยิ่งนับวันเทคโนโลยีก็ยิ่งเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างมากเลยค่ะ ทั้งช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายและจัดการเรื่องเงินๆ ได้เป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเข้าสู่ ยุคสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) แบบนี้ ทำให้ทุกคนต้องเรียนรู้พร้อมปรับตัวความเจริญนี้ให้ทัน
 
            ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีปี 2020 นี้ หลายคนอาจได้ยินคำว่า “ฟินเทค” (Fintech) = การนำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงิน บอกเลยว่าเอาใจคนรุ่นใหม่มากกเพราะมันทำให้เราจัดการเงินผ่าน Banking Technology หรือแอปพลิเคชัน Mobile Banking ได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว โดยไม่ต้องเดินทางไปธนาคาร (แต่ถ้าช็อปเพลินอาจเกิดวิกฤตกระเป๋าฉีกได้ TT) ว่าแล้วก็ไปรู้จักศัพท์ที่เกี่ยวข้องกันเพื่อติดตามข่าวและจัดการการเงินกันของตัวเองกันค่ะ
 
-        Finances = การเงิน, การคลัง, แหล่งเงินทุน
-        Financial transaction = ธุรกรรมทางการเงิน
-        Financial data = ข้อมูลทางการเงิน
-        Internet banking = การธนาคารทางอินเตอร์เน็ต
-        Cashless society = สังคมไร้เงินสด
-        Payment = ค่าตอบแทน, การจ่ายเงิน, การชำระหนี้
-        Down payment = เงินมัดจำ
-        Income / Revenue = รายรับ
-        Expense / Overhead = ค่าใช้จ่าย
-        Bank account = บัญชีธนาคาร

ตัวอย่างประโยค:
  • Violent fluctuations have taken place for several years, according to the state of Italian finances.
ฐานะทางการเงินของอิตาลีทำให้เศรษฐกิจเกิดความผันผวนอย่างหนักมาหลายต่อหลายปี
  • The revenue of the republic is derived mainly from customs and excise.
รายได้หลักของรัฐบาลมาจากการเก็บภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิต
 
            นอกจาก Mobile Banking ในอนาคตเราอาจมี Social Banking” = การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปโซเชียลมีเดียทั่วไปด้วยนะคะ (ฟังก์ชันเหมือนแอปฯ WeChat ของจีน) ถ้าถามว่าเทรนด์นี้ดียังไง? บอกได้เลยว่าจะสะดวกขึ้นไปอีก ต่อไปถ้าจะขายของออนไลน์, โอน, ถอน หรือจัดการกับเงินยังไงก็แค่เข้าแอปฯ ที่ใช้ประจำได้แบบไม่ต้องง้อธนาคารเลย
 

Photo credit: https://unsplash.com

            เห็นสถานการณ์เศรษฐกิจไทยตอนนี้ ก็อดนึกถึงเพลงอาการน่าเป็นห่วงของพี่ก๊อท จักรพันธ์ไม่ได้เลยค่ะ55555 น่าเป็นห่วง หนักหน่วงขึ้นทุกวัน ปวดหัวกันสุดๆ แต่น้องๆ ก็อย่าเพิ่งท้อไปนะคะ เพราะนักวิเคราะห์หลายฝ่ายเขาก็ได้ออกมาคาดการณ์ว่าหลังโควิดสภาพเศรษฐกิจอาจฟื้นตัวดีขึ้นได้ไม่มากก็น้อย ตราบใดที่ยังมีความหวัง    เราก็ต้องสู้กันต่อไปค่ะ!
 
Sources:
https://dictionary.cambridge.org
https://tradingeconomics.com/venezuela/inflation
https://www.samuiforsale.com
https://sentence.yourdictionary.com
พี่ปุณ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด