Spoil

  • หลักการ "Memory bias" นั้นส่งผลต่อความจำของมนุษย์ โดยสามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายวิธี
  • วิธีการเหล่านี้ จะได้ผลอาจจะต้องใช้ "วินัย" สักหน่อย

ถ้าจะให้พูดถึง “ฤดูแห่งการสอบ” ก็ต้องตามมาด้วยกองหนังสือเป็นตั้ง การบ้านเป็นกอง และการติวสอบกันแบบจริงจังกันใช่มั้ยล่ะครับ แล้วเวลาที่ต้องอ่านหนังสือหลายๆ วิชาติดกันเนี่ย เคยเจอปัญหา “อ่านไม่รู้เรื่อง” กันบ้างรึเปล่า พี่มั่นใจว่าต้องมีน้องหลายคนแน่นอนที่เคยเจอประสบการณ์แบบนี้ เพราะสมัยเรียนพี่เองเจอมากับตัวเลยล่ะ อ่านหนังสือยันดึก แต่ตื่นมาสอบก็ยังจำไม่ค่อยจะได้อยู่ดี! มันน่าเสียใจไม่น้อยเลยเนอะ

เกริ่นตรงนี้ก่อนเลยว่า เคล็ดลับวิชาเซียนที่พี่เอามาแบ่งปันนี้ พี่อ้างอิงมาจากหลักของ ‘Memory bias’ เป็นวิธีการที่จะส่งผลต่อความจำของมนุษย์ผ่านการทำพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งมีผลการทดลองทางจิตวิทยารองรับ พี่เองก็ลองใช้วิธีพวกนี้แหละมากับตัวแล้ว บอกเลยว่าของมันดีแน่นอน เลยเอามาบอกต่อกัน

เข้าสาระสำคัญเลยดีกว่า เกริ่นมายาวแล้ว ที่พูดมาจะมีวิธีอะไรกันบ้าง ไปดูกันโลด!

อ่านมานานก็อย่าลืม “พัก”

วิธีนี้เนี่ยมันดูธรรมดามาก ใช่ แต่มันก็เป็นวิธีที่สำคัญมากเช่นกัน 

น้องลองนึกสภาพตัวเองอ่านหนังสือติดกัน 2 ชั่วโมงโดยไม่พักเลยสิครับ ว่ามันจะอึดอัดและล้าสายตาขนาดไหน 

ซึ่งคำว่า “พัก” ในที่นี้จะให้ดีก็ไม่อยากให้แค่ “จับโทรศัพท์” อย่างเดียวนะ พี่กำลังหมายถึงการออกไปจากบริเวณที่อ่านหนังสือไปเลย อย่างเช่น ออกกำลังกาย รดน้ำต้นไม้ หรือแม้แต่การงีบหลับสักหน่อย

แล้วจนกว่าเรารู้สึกว่าเราโอเคที่จะอ่านมันต่อแล้ว หรือตามเวลาที่ได้ตั้งไว้ ก็ค่อยกลับมาอ่านต่อ จะเห็นได้ว่า วิธีนี้ค่อนข้างใช้วินัยเยอะพอสมควร ไม่เช่นนั้นก็อาจจะกลายเป็นอ่านหนังสือ 10 นาที พัก 1 ชั่วโมง ก็เป็นได้ 

อย่าลืม “ให้รางวัลตัวเอง”

บางครั้งพอเราตั้งเป้าหมายอะไรสักอย่าง แต่พอทำสำเร็จก็ไม่ได้ให้ค่ากับมันเลย 

สุดท้ายก็จะกลายเป็นว่า “ทำไปก็ไม่ได้อะไรกลับมา” 

ลองให้ค่ากับทุกความพยายามของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการให้กำลังใจ การหาของอร่อยกิน  หรือออกไปใช้เงิน หลังจากที่เราพยายามอ่านหนังสือจนครบเวลาที่ตั้งไว้ดู เป็นดั่งการมอบ "รางวัล"  เพื่อให้ความพยายามของเราไม่สูญเปล่านั่นเอง

วิธีนี้เป็นวิธีที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลักความจำโดยตรง แต่เป็นวิธีที่ใช้เพื่อทำให้เรา "มีความสุขกับการเรียน" มากขึ้น เป็นการเล่นกับ "Reward system" ซึ่งเป็นระบบที่สมองจะหลั่งสารโดปามีนออกมา เมื่อเราได้รับรางวัล  จากการกระทำบางอย่าง หลักการก็คือ  "เราทำอะไร แล้วได้รางวัล เราก็จะอยากทำพฤติกรรมนั้นต่อไปเรื่อยๆ"

"แล้วเราได้รางวัลจากอะไรล่ะ ก็จากการอ่านหนังสือครบเวลานั่นเอง"

สร้างข้อมูลใหม่ จากหัวของเราเอง

เรื่องของการจดสรุป หรือเทคนิคการจำแบบท่อง หลายคนพี่เชื่อว่าเคยทำแน่ๆ แหละ เพื่อจะให้เนื้อหาจากหนังสือหลายสิบร้อยหน้า ย่อเหลือเท่าที่เราอ่านเข้าใจ นี่เป็นวิธีการที่ตามหลัก Memory bias ชื่อว่า “Generation effect” เพราะการสร้างข้อมูลใหม่ด้วยตัวเอง จะทำให้สมองเราจำได้ดีกว่า เช่น

เราอาจจะสร้างความเข้าใจขึ้นมาใหม่ในหัวก็ได้ เช่น เราจำเรื่องการละลายของวิตามินในร่างกายว่า “A D E K ละลายในไขมัน” ซึ่งอันนี้เราสร้างขึ้นมาเอง เราก็จะจำแบบนั้นไปเลย บางทีจำฝังหัวเลยแหละ ซึ่งจะจดใส่สมุดไว้ จดข้างชีท หรือแปะโพสอิทไว้ ก็ได้ทั้งนั้นเลย

จำลองข้อสอบ หรือ ทำข้อสอบเก่าดู

ใช่แล้วครับ การสร้างข้อสอบเวอร์ชั่น “เดาอาจารย์” นั้นเป็นวิธีสุดท้ายที่ได้ผลจริงๆ เพราะเราจะได้เห็นทั้งรูปแบบ รวมถึงวิธีการเอาเนื้อหาไปใช้ในข้อสอบ ทำให้เราเคยชิน เวลาไปสอบจะได้ไม่ตื่นเต้นด้วย และยังทำให้เราจำเนื้อหาต่างๆ ได้ดีขึ้นอีกต่างหาก หลังจากอ่านหนังสือมาได้ระยะหนึ่ง ก็ลองเอาเนื้อหาพวกนั้นมาเรียบเรียงเป็น “ข้อสอบฉบับทดลอง” ดู

ทาง Memory bias เขาจะเรียกว่า “Testing effect” ก็คือการทดลองสอบ จะทำให้ความจำเราคุ้นเคยกับเนื้อหา และการสอบก่อนไปทำในสถานที่จริงนั่นเอง

เป็นไงกันบ้างครับ กับวิธีการ “อ่านหนังสือยังไงให้จำได้ดีขึ้น” ง่ายๆ 4 วิธี ที่พี่เอามาเล่าให้ฟังในวันนี้ วิธีพวกนี้ทำได้ทุกที่ทุกเวลา รับประกันจากผู้ใช้จริงและหลักการทางวิทยาศาสตร์แน่นอน! น้องๆ คนไหนลองไปใช้ได้ผลยังไง กลับมาเล่าให้พี่ฟังด้วยนะ ..

 

อ้างอิงข้อมูลจากhttps://learningcenter.unc.edu/tips-and-tools/enhancing-your-memory/https://deekshalearning.com/blog/top-10-memory-improvement-tips-for-students-to-score-high/
พี่แทนนี่
พี่แทนนี่ - Columnist เด็กจบใหม่จากสาขาจิตวิทยา ที่ดันค้นพบว่าชอบเขียนและเล่าเรื่องราวให้คนอื่นฟัง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด