Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

[How to] เลือกซื้อสีน้ำอย่างไรให้เหมาะกับเรา

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

สวัสดีค่าาาาาา


ไม่ได้เจอกันนานเลยเนอะ (ก็แหงล่ะ ไม่ได้ตั้งเป็นเดือนได้ = =)
จะมีใครจำเราได้บ้างไหมน้ออ (จำได้ก็บ้าแล้ว 5555555)

พอๆ นี่ก็พาออกทะเลตลอดเลยเนี่ย...
เอาล่ะมาเข้าเรื่องกันดีกว่า
.
.
.
.
.
สวัสดีค่ะ วันนี้ก็จะมาแนะนำในการเลือกซื้อสีน้ำกัน โดนสีน้ำที่ว่านี้หลักๆก็จะเป็นเกรดศิลปินซะส่วนใหญ่ แต่ก็จะมีเกรดอื่นๆบ้างปนๆกันไป ซึ่งในวันนี้จะมาเจาะลึกกันว่าสีน้ำแต่ละหลอดนั้นจะเหมือนกันหรือไม่ แล้วถ้าเราซื้อมาใช้จะเหมาะกับตัวเองหรือไม่ ก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยเหลือไม่มากก็น้อย(หรือไม่ช่วยอะไรเลย) แล้วถ้าซื้อเราควรจะซื้อประมาณไหนดี มาดูกันดีกว่าค่ะ เฮ้!!!


*หมายเหตุ: ตัวบทความนี้เนื้อหาเยอะกว่าภาพนะคะ อาจจะน่าเบื่อหน่อยนึง*

1.เกรดของสีน้ำ

แน่นอนว่าสีน้ำที่เลือกซื้อนั้น มีหลากหลายเกรดให้เลือกใช้ตั้งแต่เกรดนักเรียนจนไปถึงเกรดศิลปิน โดยวันนี้ จขกท. จะมาแบ่งแบบคร่าวๆเป็นสามเกรด แล้วเกรดไหนจะมียี่ห้อไหนบ้าง มาดูกันเถอะ


เกรดนักเรียน : สีเกรดนี้เป็นที่แน่นอนว่าหาง่ายมากกกกก(มากถึงมากที่สุด) โดยสีเกรดนี้ไม่มีใครไม่เคยเห็นยี่ห้อพวกนี้แน่นอน หลักๆที่เห็นก็คือยี่ห้อ Reeves, Pentel และ Sakura ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบกล่องแล้วจัดเป็นเซ็ทสีหลักๆเช่น 12, 18 หรือ 24 สีก็ตาม ราคาไม่แรงมากเหมาะกับผู้ที่เริ่มต้นวาดสีน้ำ

เกรด Studio : สีเกรดนี้จะมีราคาสูงขึ้นมาจากเกรดนักเรียน มีเฉดสีให้เลือกมากกว่าเกรดนักเรียน ตัวอย่างยี่ห้อหลักๆที่รู้จักกันดีก็คือยี่ห้อ Winsor & Newton Cotman, Vangogh หรือ Silpakorn ซึ่งสีเกรดนี้ส่วนใหญ่จะเริ่มขายเป็นแบบแยกหลอดมากกว่า แต่ก็อาจจะมีเป็นแบบเซ็ทกล่องสีเป็นสีพื้นฐานอยู่บ้าง และอาจจะมีแบบสีก้อนหรือแบบสีตลับนั่นเอง ถ้าใครไม่อยากเริ่มที่เกรดนักเรียนก็สามารถมาที่เกรดนี้ได้เลยค่ะ


เกรดศิลปิน (Artist) : สีเกรดนี้ราคาจะรุนแรงมากกว่าสีสองเกรดก่อนหน้านั้นอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันเราจะสามารถเห็นได้ตามนักวาดตามเพจต่างๆ โดยสีที่เห็นจะมีความสดใสกว่ามาก ยี่ห้อที่เห็นกันบ่อยๆก็จะมี Senelier, Winsor & Newton Artists, Daniel Smith, Holbein, Kusakabe, Schmincke และอีกมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งสีเกรดนี้มีเฉดสีให้เลือกเยอะมากถึงมากที่สุด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบขายแยกหลอดให้เลือกซื้อได้ตามใจชอบ และจะมีคุณสมบัติพิเศษอีกมากมายนับไม่ถ้วนจริงๆ ซึ่งบางทีอาจจะมีแบบเซ็ทสีก้อนหรือ Pan set ขายด้วยเช่นกัน เหมาะสำหรับผู้ที่เก่งแล้วหรือมีงบเยอะพอก็จัดไปเลยค่ะ
 


[อันนี้เป็นสีน้ำของ จขกท.เอง มีทั้งสีเกรด Studio และเกรดศิลปินปนๆกันไป]


 

2.รูปแบบของสีน้ำ

แน่นอนว่าถ้าจะเลือกซื้อสีน้ำมักจะมีปัญหาที่ว่า เราควรจะเลือกซื้อแบบแยกหลอดหรือแบบ Pan set ดี เอาล่ะ มาดูตัวอย่างคร่าวๆดีกว่าว่าเราจะซื้อแบบไหนกันดี

แบบก้อนหรือแบบ Pan set : สีน้ำที่มาอยู่ในรูปแบบก้อนหรือแบบ Pan set ส่วนใหญ่จะถูกจัดให้อยู่ในรูปแบบเซ็ทสีพื้นฐานแล้ว ซึ่งจะมีตั้งแต่ 12, 18, 24, 45 และ 48 สี(แล้วแต่ว่ายี่ห้อไหนจะจัดไว้) ซึ่งมันดีตรงที่ว่าเราไม่ต้องคิดเยอะว่าจะซื้อสีอะไร สามารถพกพาไปข้างนอกได้สะดวกดี แต่มันก็เสียตรงที่ว่าบางสีอาจจะไม่ได้ใช้งานแล้วต้องหาซื้อแพนเปล่ามาบีบสีที่จะใช้จริงๆใส่แทนอีก(แลดูวุ่นวายนิด)



แบบหลอดแล้วบีบลงจานสี : แน่นอนว่าสีน้ำแบบหลอดจะมีเฉดสีให้เลือกเยอะแยะมากกว่า ซึ่งเราก็สามารถเลือกซื้อสีที่อยากใช้ได้ตามใจชอบ เมื่อซื้อมาแล้วก็บีบลงในจานสีได้เลย หมดเมื่อไหร่ก็สามารถเติมสีได้อีก นับได้ว่าเป็นข้อดีอย่างนึงแต่ได้อย่างก็เสียอย่าง เพราะมันจะมีปัญหาตอนที่พกออกไปนอกบ้าน (มันคงไม่มีใครบ้าพกทั้งหลอดสีและจานสีตลอดไปหรอก ใช่ไหมละ) ซึ่งเหมาะสำหรับนั่งทำงานในบ้านแบบจริงๆจังซะมากกว่า แต่ถ้าใครสะดวกที่พออกไปนอกบ้านก็ไม่ว่ากันเนอะ


3.Pigment

Pigment คืออะไร เคยได้ยินคำๆนี้กันบ่อยๆละสิมาดูกันดีกว่าว่ามันคืออะไร Pigment หรือเม็ดสีหรือผงสี เป็นส่วนสำคัญมากถึงมากที่สุดอย่างหนึ่งที่จะทำให้สีน้ำของคุณมีสีสันสดใสหรือจืดชืด ผสมกันแล้วได้สีใหม่สวยๆหรือเกิดสีเน่าๆนี้แทน

ซึ่ง Pigment ของแต่ละสีจะมีรหัสแตกต่างกันไป โดยสีน้ำทุกเกรดได้ใช้ Pigment เหมือนกันหมด โดนสีในเกรดศิลปินส่วนใหญ่จะประกอบด้วย Pigment ผสมกับตัวที่ทำให้ละลายในน้ำได้ (อธิบายไม่ถูกแฮะ ถ้าบอกก็ประมาณว่าน้ำมันในสีนั่นแหละ) ยกเว้นบางสีที่เกรดศิลปินอาจจะทำมาจากแร่ธาตุราคาแพง พอในเกรดพวก Studio หรือเกรดนักเรียน อาจจะเป็นเม็ดสีสังเคราะห์แทนแล้วใส่ส่วนประกอบตัวอื่นๆเข้าไปแทน โดยในท้ายชื่อของสีจะมีคำว่า Hue ห้อยติดไว้อยู่ด้วย

[ตัวอย่างของสีทั้งสามเกรดตั้งแต่เกรดนักเรียน(Reeves) เกรด Studio(W&N Cotman) และเกรดศิลปิน(Sennelier)]

จึงทำให้สังเกตได้ว่าทำไมเวลาใช้สีเกรดนักเรียนกับเกรดศิลปินถึงมีความต่างกัน ทำไมเกรดนักเรียนถึงไม่สดเท่าเกรดศิลปิน ทำไมใช้สีเกรดนักเรียนใช้ทีแทบจะควักแล้วปาดออกมาจากหลอด หรือไม่ก็ผสมน้ำแล้วจางไปดื้อๆซะอย่างนั้นต่างกับสีเกรดศิลปินที่ใช้นิดเดียวสีก็สดอู้ฟู่ และก็แน่นอนค่ะ หลอดสีเกรดศิลปินทั้งหลายมักจะมีรหัส Pigment บอกอยู่ ยิ่งสีไหนมี Pigment แสดงตัวเดียว แสดงได้ว่าสีนั้นเวลาผสมๆกับสีอื่นๆจะไม่เน่าอย่างแน่นอนค่ะ
 

4.ค่าความทนแสง (Lightfastness)

เคยสังเกตบ้างไหมว่าทำไมเราใช้สีน้ำปกติพอเก็บไว้นานๆแล้วรูปซีดจาง แล้วเคยสังเกตบ้างไหมว่าทำไมเวลาเราเห็นรูปสีน้ำของศิลปินดังที่เก็บไว้หลายสิบปีสีถึงยังสดใสไม่ซีดจาง นั่นแหละค่ะค่าพวกนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในเกรด Studio เป็นต้นไปซึ่งเป็นตัวการสำคัญมากๆถึงมากที่สุด เพราะค่านี้จะแสดงให้เห็นว่าสีนี้จะทนแสงได้กี่ปีๆ ในบางยี่ห้อสามารถทนแสงได้เกือบ 100 ปี... จะนานไปไหน 5555555 โดยค่านี้จะมีเขียนบนหลอดสีเหมือนกันหมด

แต่ช้าก่อนค่ะ แต่ละยี่ห้อนั้นจะบอกค่าความทนแสงไม่เหมือนกัน บางยี่ห้ออาจจะบอกว่าทนแสงมากหรือน้อย หรือบางยี่ห้อก็จะจำแนกอย่างละเอียด ซึ่ง จขกท. ได้เขียนการจำแนกค่านี้ของทั้งสียี่ห้อ คือ Sennelier, Winsor & Newton (Cotman กับ Artists) และยี่ห้อ Holbein

 

5.ค่าความโปร่งแสงหรือโปร่งใส (Transparent)

เคยคิดบ้างไหมว่าทำไมเวลาใช้สีน้ำเกรดศิลปินบางสีทำไมถึงมีความขุ่นแต่ทำไมบางสีถึงใส ไม่ก็บางสีมันจะขุ่นก็ไม่ใช่ จะใสก็ไม่เชิง ค่าความโปร่งแสงก็เช่นกันเป็นตัวกำหนดอย่างหนึ่งที่ทำให้สีน้ำๆระบายออกมาแล้วว่าสีนี้จะมีความทึบหรือสีนี้จะมีความใส โดยจะมีแยกได้ประมาณนี้ค่ะ คือ โปร่งใส (Transparent), กึ่งโปรงใส (Semi-Transparent), ทึบแสง (Opaque) และ กึ่งทึบแสง (Semi-Opaque) โดยจะปรากฏเป็นสัญลักษณ์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสนั่นเอง (สามารย้อนไปดูได้ที่ค่าทนแสงได้ค่ะ มีเขียนไว้เหมือนกัน)

[ตัวอย่างของ W&N Artists สี Opera Rose เห็นรูปสี่เหลี่ยมนั่นไหม มีขีดทับแต่โปร่งทั้งสองด้าน แสดงให้เห็นว่าสีนี้มีความกึ่งโปร่งแสงหรือ Semi-Transparent นั่นเอง]

[ตัวอย่างของ Sennelier แสดงให้เห็นว่าทั้งสองสีมีความต่างกัน หลอดซ้ายจะเป็นแบบสี่เหลี่ยมสีดำทึบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทึบแสงหรือ Opaque ส่วนหลอดขวาเป็นสี่เหลี่ยมโปร่งไม่มีขีดทับ แสดงให้เห็นว่าเป็นแบบโปร่งแสงหรือ Transparent]

6. Granulating

Granulating คืออะไร?? แหงละ มันมีคุณสมบัตินี้ด้วยหรือ ตอบจากใจจริงมันมีคุณสมบัตินี้จริงๆค่ะ Granulating เป็นคุณสมบัติของการตกตะกอนของสี เมื่อลงสีไปบนกระดาษแล้วจะมีเหมือนกับการตกตะกอนให้เป็นลวดลายแปลกใหม่บนกระดาษ แต่มันจะเป็นข้อเสียตรงที่ว่าบางคนไม่ชอบให้มีลวดลายการตกตะกอนบนผลงานซะด้วยสิ ซึ่งค่านี้ไม่มีบอกบนหลอดสี คุณจะต้องไปดูบนชาร์ตสีก่อนซื้อให้แน่นอนเลย โดยถ้าสีไหนมีตัวอักษรกำกับเป็นตัว G ให้คิดไว้เลยว่าสีนี้เป้นสีที่มีการ Granulating อย่างแน่นอน

[เห็นความต่างนั่นไหม ข้างบนสี Rose Madder Hue จะเนียนเรียบเสมอกัน แต่สี Rose Madder Genuine ที่ทำมาจากรากต้น Madder แท้ๆจะมีความตกตะกอนให้เห็นอยู่ (Genuine แปลว่า แท้จริง)]
 

7.Staining

เคยมีเหตุการณ์ที่อยากจะแก้ผลงานบ้างไหม พอเอาพู่กันจุ่มน้ำแล้วไประบายตรงส่วนที่จะแก้ พอเอาทิชชู่ซับสีทำไมสีแทบไม่ถูกซับออกแถมยังติดทนบนงานอีกต่างหาก(สุดท้ายก็แก้งานไม่ได้อีก เอวัง T-T) นี่แหละค่ะสีที่มีคุณสมบัติของ Staining ซึ่งมันจะเหมือนการย้อมให้ติดทนบนกระดาษไปเลย แน่นอนว่าค่านี้ไม่มีบอกบนหลอดสีเช่นกัน โดยจะบอกในชาร์ตสีของบางยี่ห้อ บางยี่ห้อไม่มีบอกก็ต้องเสี่ยงดวงเอาเองละกันนะคะ... (อันนี้ลืมทำตัวอย่างให้ดู จขกท.ต้องขออภัยด้วยนะ -0- )

 

8.เริ่มใช้สีน้ำแล้วจะใช้สีไหนดี??

แน่นอนว่าการจะซื้อสีน้ำสิ่งแรกที่คิดก็คือจะซื้อเป็นแบบแม่สีแล้วเอามาผสมเอง แต่ว่าจะซื้อสีไหนดีล่ะ โดยในส่วนของ จขกท. ที่ใช้เป็นแบบแม่สีหลักๆก็มีดังนี้ (ในที่นี้จะใช้ของ Sennelier ค่ะ)

โทนแดง : Aliz Crimson Lake (แดงโทนเย็น) กับ Sennelier Red (แดงโทนร้อน)

โทนเหลือง : Cadmium Lemon Yellow (เหลืองโทนเย็น) และ Sennelier Yellow Light (เหลืองโทนร้อน)

โทนน้ำเงิน : French Ultramarine Blue (น้ำเงินโทนเย็น) และ Prussian Blue (น้ำเงินโทนร้อน)

และอาจจะมีโทนสีเพิ่มเติมเช่นสีเขียวกับสีน้ำตาลที่แนะนำ เช่น

โทนเขียว : Sap Green (เป็นสีเขียวที่เหมาะกับวาดใบไม้ แต่ จขกท. ไม่มีสีนี้ -.-) และสี Phthalo Green Deep (เขียวออกโทนน้ำเงิน)

โทนสีธรรมชาติ(น้ำตาล) : แนะนำสุดๆเลยคือสี Burnt Sienna ซึ่งถ้าผสมกับสี Ultramarine จะสามารถระบายลงเป็นเงาแทนได้

*การซื้อสีน้ำนั้นไม่ควรซื้อสีขาวกับสีดำเด็ดขาด เพราะว่าในงานสีน้ำนั้นไม่นิยมผสมสีด้วยขาวหรือดำเพราะจะทำให้สีเพี้ยนไปได้ง่าย*

ในความเป็นจริงแล้วยังสามารถใช้แม่สีอื่นๆสร้างเป็นวงจรสีได้ เช่นใช้สีเหลือง (Lemon Yellow) สีชมพูอมม่วง (Opera Rose หรือ Helios Purple) สีฟ้า (Cerulean Blue หรือ Turquoise Green) ซึ่งสามารถสร้างสีใหม่ๆสีสวยๆได้อีกมากมาย(ไว้วันหลังค่อยมาอธิบายแล้วกันเนอะ 5555555555)
 

9.ทรัพยากรที่เรียกว่าเงินในกระเป๋า

มาถึงอย่างสุดท้ายแล้ว ข้อนี้ไม่อธิบายอะไรมาก ซึ่งสีน้ำมันก็เหมือนเป็นของฟุ่มเฟือยอย่างหนึ่ง ถ้าอยากหัดสีน้ำจริงๆแนะนำให้เลือกซื้อสีพื้นฐานและสีที่เราคิดว่าจำเป็นที่สุดและได้ใช้บ่อยที่สุด ส่วนสีแปลกๆเอาไว้ซื้อใช้ทีหลังจะดีกว่า แล้วอีกอย่างที่สำคัญคือเลือกซื้อยี่ห้อให้พอเหมาะพอดีกับกำลังเงินตัวเอง อย่าซื้อจนเกินกำลังจนต้องเดือนร้อนขอพ่อแม่อีกซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดีอย่างมาก(ยกเว้นแต่ว่าพ่อแม่ช่วยสนับสนุน อันนี้ก็ว่าไปอย่าง) 

 

อาห์... ในที่สุดก็เขียนจนจบซะที หวังว่าคงจะมีประโยชน์นะคะ

 

อ้อ!!ตอนนี้เราทำเพจกับรุ่นน้อง ชื่อเพจ Art – Music – Performance (เดิมก็ชื่อเพจ Th.MusiiDraw แต่ว่าน้องเขาจำไม่ได้เลยอยากให้เปลี่ยนใหม่) ในเพจส่วนใหญ่มีแต่รูปวาดนิดๆหน่อยๆค่ะ ส่วนดนตรีตอนนี้มีแพลนจะ Cover เพลงก็รอๆดูกันไปนะคะ(Cover ในที่นี้ไม่ใช่แค่การร้องเพลงนะคะ แต่เป็นการเล่นดนตรีแบบดูโอประมาณนี้) สามารถไปแสดงความคิดเห็นถามตอบแลกเปลี่ยนในนั้นก็ได้นะคะ ส่วนใหญ่จะเข้าบ่อยกว่าเว็บ Dek-D ถถถถถถถถถ

ส่วนถ้าใครคิดว่าในยังดูรูปในเพจไม่สะใจ สามารถไปดูได้ที่ IG : wien_t_tadking ค่ะ ใช้อยู่แอคเคาท์เดียว ลงรูปวาดเยอะแน่นอนค่ะ

 

สำหรับวันนี้ก็จบไปอีกหนึ่งบทความดีๆ(หรือเปล่า) นะคะ ก็ยังไงถ้ามีข้อผิดพลาดตรงไหนก็ขออภัยด้วยนะคะ

 

สวัสดีค่ะ บายยยยยย ;D

กระทู้ก่อนหน้านี้ =====>>>> [Review] ดินสอสีไม้ยี่ห้อ Derwent รุ่น Drawing + How to เล็กๆน้อย



*ขอเพิ่มรูปลาตอนท้ายที่วาดไว้เมื่อวานนะคะ พอดีรีบไปหน่อยลืมใส่เฉยเลย*

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น