Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รีวิวอาหารเม็ด Sakura สูตรปลากัด ใช้อนุบาลได้จริง

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สวัสดีครับ กระทู้นี้ผมจัดทำขึ้นมาด้วยความบังเอิญและเห็นว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์กับคนเพาะเลี้ยงอนุบาลลูกปลากัดไม่มากก็น้อย ในเรื่องของการใช้อาหารเม็ดซากุระปลากัดทดแทนอาหารสดในการอนุบาลลูกปลากัดว่ามันสามารถใช้ได้จริงไหม? ใช้แล้วลูกปลารอดไหม? ต่างๆเหล่านี้ผมได้ทดลองมาแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และเหตุที่ผมได้นำอาหารเม็ดมาใช้ในการอนุบาลลูกปลาก็มาจากความบังเอิญ


ปลากัดสายพันธุ์คราวเทลสีทองที่ผมนำมาเพาะพันธุ์ในครั้งนี้ (CT Gold)

บังเอิญที่ผมว่าก็คือ เหตุมันเกิดในช่วงก่อนวันหยุดยาวปีใหม่ที่ผ่านมา ผมมีนัดไปท่องเที่ยวเชียงใหม่กับเพื่อนๆ รวมทั้งแฟนผมด้วย และทริปท่องเที่ยวในครั้งนี้เกิดขึ้นค่อนข้างฉุกละหุกนิดหน่อย กล่าวคือ ช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเพื่อนผมชวนไปเที่ยวเชียงใหม่ตอนหยุดยาวสิ้นปี แต่ผมปธิเสธไปเพราะคิดว่าคนน่าจะพลุกพล่าน เอาไว้พ้นปีใหม่ค่อยพาแฟนและคนที่บ้านไปเที่ยวน่าจะสนุกรื่นรมณ์กว่าเดินเบียดกันเที่ยวช่วงปีใหม่เป็นไหนๆ แถมจังหวะนั้นเป็นช่วงที่ผมกำลังจะเพาะพันธุ์ปลากัดครอกใหม่อยู่พอดี พอลูกปลาออกมาก็ต้องดูแลอนุบาลพวกมันอย่างดี ตั้งใจจะขุนให้โตไวๆ จะได้ขายระดมทุนไปเที่ยวเสียหน่อย แต่-เพื่อนตัวแสบของผมมันหวังดี อยากให้ผมพักผ่อนมากกกกก มันให้แฟนมันโทรมาชวนแฟนผมก่อนวันที่จะออกเดินทางแค่ไม่กี่วัน -เราก็อุตส่าห์เก็บเรื่องนี้เอาไว้เงียบๆ แล้วก็เป็นไปตามคาด พอเรื่องเที่ยวเชียงใหม่ไปเข้าหูแฟนผมเข้า เธอก็พูดกับผมสั้นๆว่า “เค้าอยากไป” ตอนนั้นผมหัวร้อนเลยครับ ระดับพ่อบ้านใจกล้าอย่างผมตะคอกกลับไปเลยว่า

“ได้จ้า...(ทำเสียงสดใส)”

ตอนนั้นคิดแค่ว่าถ้าเราไปเที่ยวเชียงใหม่ลูกปลาอาจตาย แต่ถ้าไม่ไปเที่ยวเชียงใหม่ เราอาจตายแทนลูกปลา T^T  ทริปเจ้ากรรมนี้จึงเกิดขึ้นค่อนข้างจะแน่นอนยิ่งกว่ารายการเดินหน้าประเทศไทยที่ต้องมาฉายประจำทุกหกโมงเย็นเสียอีก แต่ปัญหาใหญ่ผมคือปลาที่เพาะมันเริ่มวางไข่แล้ว แถมเป็นพ่อแม่พันธุ์ตัวเด็ดเสียด้วย จะเททิ้งก็เสียดายเหลือเกิน แต่ภารกิจไปเที่ยวปีใหม่นั้นสำคัญจริงจริ๊งงง!!! ดังนั้นภารกิจอนุบาลลูกปลากัดจึงถูกส่งมอบไปยังญาติพี่น้องของผมเอง 555


ปลากัดทองเพศเมียที่ผมนำมาเพาะพันธุ์ในครั้งนี้ (CTPK Gold)

ก่อนจะลงรายละเอียดเรื่องการอนุบาลลูกปลาด้วยอาหารเม็ด ผมขออธิบายขั้นตอนการเพาะพันธุ์ปลากัดให้ได้ทราบกันก่อนนะครับ เพราะน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจเหมือนกัน แต่รูปที่นำมาลงนี้ บางส่วนเป็นรูปตัวอย่างที่ผมเคยถ่ายเก็บไว้นะครับ ไม่ใช่รูปจากการเพาะในครั้งนี้ทั้งหมด เพราะดันตรงกับช่วงที่ผมไม่อยู่บ้าน เลยไม่มีใครถ่ายให้
ผมเริ่มจากการเตรียมน้ำสะอาด (น้ำไม่มีคลอรีน) ใส่กะละมังขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 ซม. ใส่น้ำลึกประมาณ 3-4 นิ้ว เพื่อให้ลูกปลาสามารถว่ายขึ้นมาฮุบอากาศได้ แล้วใส่ใบหูกวางและต้นไม้น้ำเล็กๆ ลงไปเพื่อให้ลูกปลาสามารถหลบซ่อนตัวได้ จากนั้นก็ปล่อยปลาตัวผู้ลงไปในกะละมังและนำปลาตัวเมียใส่โหลใสหรือขวดพลาสติกเล็กๆก่อนนำไปวางไว้ในกะละมัง พยายามวางไว้ตรงกลางกะละมังเพื่อให้ปลาตัวผู้สามารถมองเห็นปลาตัวเมียได้รอบๆ และปล่อยให้มันจ้องกัน ที่ใครๆเคยบอกว่าปลากัดท้องเพราะจ้องกันอันนั้นผมไม่แน่ใจว่าเขาล้อเล่นหรือคิดแบบนั้นจริงๆ นะครับ แต่แท้จริงแล้ว เราแค่ต้องการทำให้ปลาทั้งคู่คุ้นเคยกัน เพราะเวลาปล่อยปลาผสมกันด้วยสัญชาตญาณบางครั้งมันจะกัดกันด้วย ดังนั้นถ้าเราไม่ปล่อยให้มันเห็นกันสักระยะ คือมาถึงแล้วจับโยนใส่กะละมังทั้งคู่ งานนี้มันคงได้กัดกันตายก่อนจะได้ลูกปลาให้เราเก็บเกี่ยวผลผลิต


พ่อปลาเริ่มก่อหวอด เป็นสัญญาณว่ามันพร้อมผสมพันธุ์แล้ว

ระยะเวลาในการทำความคุ้นเคยก็แล้วแต่ครับ อาจจะรอให้ตัวเมียสร้างไข่ขึ้นมาก่อนจนท้องเริ่มป่องส่วนตัวผู้ก็เริ่มก่อหวอดเป็นฟองอากาศบนผิวน้ำก่อนก็ได้ นั่นเป็นสัญญานว่าพวกมันพร้อมจะฟีตเจอริ่งกันแล้ว จากนั้นก็ปล่อยปลาตัวเมียลงกะละมังได้เลย

โดยมากเขาจะนิยมปล่อยปลาเข้าคู่ในช่วงเย็นๆ หรือหลังฝนตกใหม่ๆก็ยิ่งดี เพราะเป็นอุณหภูมิที่ปลาชอบก่อหวอดและวางไข่ที่สุด เมื่อปล่อยปลาลงกะละมังแล้วก็หาแผ่นกระดานหรือฟิวเจอร์บอร์ดปิดฝากะละมังไว้ด้วยเพื่อกันแดด ลม ฝน มาตีหวอดแตก ถ้าเป็นแบบนั้นงานเลี้ยงล่มแน่นอน แต่ยังไงก็วางแง้มๆไว้ให้อากาศถ่ายเทได้สักนิดนะครับ จากนั้นก็ปล่อยให้พวกมันมีความสุขกันสักคืนหรือสองคืน แล้วเราค่อยไปแง้มดูพวกมันอีกครั้งครับ


ผมเพาะในกะละมังพลาสติกและนำฟิวเจอร์บอร์ดมาวางปิดไว้เพื่อรักษาอุณหภูมิและความเป็นส่วนตัวของปลาทั้งคู่

ในการผสมพันธุ์นั้น ปลาตัวผู้จะเข้าไปรัดปลาตัวเมียเพื่อให้ปลาตัวเมียคลายไข่ออกมาจากท้อง เมื่อไข่ตกลงสู่พื้นบ่อหรือพื้นกะละมัง เจ้าปลาคู่รักก็จะช่วยกันอมไข่ไปบ้วนติดไว้ในหวอดที่ตัวผู้ก่อรอเอาไว้ การสังเกตว่าปลาวางไข่เรียบร้อยดีหรือไม่นั้น ให้แง้มฝากะละมังดูตรงหวอดปลา หากมีเม็ดไข่เล็กสีขาวขุ่นติดอยู่ก็แสดงว่าผลงานการฟีตเจอริ่งผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แต่ถ้ายังเป็นหวอดใสๆ ไม่มีเม็ดไข่ติดอยู่นั่นแสดงว่าพวกมันยังไม่ได้ผสมกันครับ วิธีสังเกตอีกอย่างคือการดูพฤติกรรมของปลาทั้งคู่ หากเห็นว่าปลาตัวผู้ว่ายวนเวียนอยู่รอบๆหวอด หรือว่ายนิ่งๆอยู่ใกล้หวอด ในขณะที่ปลาตัวเมียว่ายอยู่ห่างจากหวอด แสดงว่ามันผสมกันเรียบร้อย เพราะตัวผู้จะคอยดูแลไข่ ไม่ให้ปลาตัวเมียมากินไข่ของมันเอง อันนี้เป็นลักษณะทางธรรมชาติของปลากัดนะครับ คือตัวเมียจะกินไข่และกินลูกปลา ส่วนตัวผู้จะทำหน้าที่เลี้ยงลูกของมัน แต่ก็มีเหมือนกันนะ ในกรณีที่ตัวผู้กินไข่เสียเอง อันนี้ต้องสังเกตนิสัยของปลาเอาครับ


ไข่ที่ได้รับการผสมน้ำเชื้อจะเป็นเม็ดสีขุ่นๆอยู่ในหวอดที่ปลาตัวผู้ก่อไว้

เมื่อเราเห็นแล้วว่าการผสมผ่านไปด้วยดี เราต้องนำปลาตัวเมียออกทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้มันกินลูก อย่าลืมนำแม่ปลาไปพักนะครับ คือเลี้ยงในน้ำสะอาดใส่ใบหูกวางกับเกลือลงไปนิดนึงก็ได้ เพราะหลังการผสมพันธุ์พวกมันจะเหนื่อยมาก ถ้าอยากเก็บไว้ทำพันธุ์ต่อก็เอาไปดูแลให้ดีๆน่าจะดีกว่า ส่วนลูกปลานั้น เราต้องรอประมาณ 2-3 วันมันก็จะเริ่มฟักเป็นตัวให้เห็นซึ่งในระยะวันสองวันแรก ลูกปลาจะตัวเล็กมากๆ นะครับ ห้ามตักขึ้นมาโดยเด็ดขาดเพราะพวกมันยังอ่อนแอมากๆ หากน้ำกระเพื่อมมากๆ เข้า ลูกปลาอาจตายได้ หากมีพื้นที่จริงๆควรเพาะในบ่อปูนขนาด 80 ซม.จะดีมาก เพราะแทบไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำเลย


ลูกปลาเมื่อตอนมีอายุราว 1 สัปดาห์

ทีนี้มาเข้าเรื่องอาหารกันบ้างครับ
โดยปกติผมจะให้ไรแดงกับลูกปลากัดครับ แต่ด้วยขนาดตัวปลาที่เล็กมากๆ พวกมันไม่สามารถกินไรแดงทั้งตัวได้เหมือนกับปลาที่โตแล้ว ดังนั้นผมจะใช้วิธีการให้ไรแดงกับพ่อปลาก่อน คือระหว่างรอไข่ฟักตัว ผมจะให้อาหารพ่อปลาตามปกติเลยครับ คือใส่ไรแดงลงไปให้มันกิน เพราะไรแดงมันสามารถออกลูกออกหลานได้เหมือนกัน และลูกหลานของไรแดงนี่แหละครับที่จะกลายมาเป็นอาหารของลูกปลากัดอีกทอดหนึ่ง แค่นี้เราก็สามารถเพาะเลี้ยงอนุบาลลูกปลากัดได้แล้ว หลังจากผ่านไปสี่ห้าวันหรือ 1 สัปดาห์ เราจะสามารถแยกพ่อปลาออกมา และปล่อยให้เจ้าลูกปลาดำรงชีวิตตามปกติได้แล้ว เพราะพวกมันโตพอที่จะกินไรแดงตามปกติได้แล้ว นี่คือวิธีการเพาะและอนุบาลลูกปลากัดตามแบบฉบับทั่วไปที่ผมทำ


ลูกปลาเมื่อมีอายุราว 2 สัปดาห์

แต่ปัญหาตามที่กล่าวไว้ตอนต้นคือ ช่วงที่ต้องอนุบาลลูกปลาดันตรงกับช่วงที่ผมจะไม่อยู่บ้านหลายวัน ผมจึงต้องให้คนที่บ้านเป็นธุระจัดหาอาหารให้แทน ซึ่งตามปกติแล้ว ผมจะออกไปช้อนไรแดงจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่พอผมไม่อยู่ก็ไม่มีใครไปช้อนให้ ครั้นจะให้คนที่บ้านออกไปหาซื้อตามร้านปลาสวยงามก็ไกลเกิน แค่ฝากให้ที่บ้านเลี้ยงก็เกรงใจแล้ว จะให้ขับรถออกไปซื้อไรแดงก็ดูจะโหดร้ายเกินไป ผมเลยต้องลองหาวิธีอนุบาลลูกปลาแบบที่ง่าย และสะดวกสบายสำหรับคนในบ้านที่สุด

ผมเลือกใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปนี่ละครับ
ระหว่างที่แฟนผมกำลังเพลิดเพลินกับการจัดเตรียมเสื้อผ้าไว้ใส่เที่ยวปีใหม่ ผมก็กำลังหาข้อมูลอยู่เหมือนกันว่ามีใครเขาใช้อาหารเม็ดในการอนุบาลลูกปลากันบ้างหรือเปล่า แล้วผลที่ออกมาดีไหม และที่สำคัญเขาใช้อาหารเม็ดตัวไหนกันบ้าง ผลที่ออกมาก็คบะๆกันไปหลากหลายยี่ห้อ แต่ส่วนตัวผมชอบอาหารปลาของซากุระที่สุด เพราะเคยใช้เลี้ยงปลากัดมาบ้างเหมือนกัน ซึ่งให้ผลตอบรับที่น่าพอใจ ปลาสามารถกินได้ตามปกติเหมือนอาหารสด และเจริญเติบโตได้ดี สีสันก็สวยงามไม่มีปัญหาใดๆ แต่กับการใช้อนุบาลลูกปลานี่ ผมเองก็ยังไม่เคยเหมือนกัน เพราะถูกปลูกฝังมาตลอดว่า อนุบาลลูกปลา ต้องอาหารสดเท่านั้น!!!


จากที่เคยใช้แต่ไรแดง ตอนนี้เปลี่ยนมาเสริมด้วยอาหารเม็ดอยู่เหมือนกัน เพราะควบคุมความสะอาดของน้ำได้ดีกว่า

ผมพอรู้นะว่าจริงๆ แล้วพวกไข่แดงต้มสุกหรือเต้าหู้ไข่ก็สามารถบดแล้วให้ลูกปลากินได้ สารอาหารก็เจ๋งไม่แพ้ไรแดง แต่มันต้องแลกมาซึ่งปัญหาน้ำเน่าเสียง่าย และอาจแลกมาด้วยเสียงกร่นด่าของญาตที่หาว่าผมหางานเปลี่ยนถ่ายน้ำมาให้แกอีก นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผมถึงต้องใช้อาหารเม็ดในครั้งนี้ และซากุระเองก็มีชื่อเสียงในเรื่องของคุณภาพเม็ดอาหารที่ไม่แตกตัวง่าย ผลคือช่วยในการรักษาคุณภาพน้ำได้นานกว่าอาหารปลาแบรนด์อื่นๆ และแม้ว่าตอนแรกผมก็เสียวๆเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าผลที่ออกมาจะหมู่หรือจ่า แต่ในเมื่อมันเป็นทางออกที่ดีที่สุดผมก็ต้องลอง แน่นอนว่าผมไม่ได้คาดหวังให้มันออกมายอดเยี่ยมเหมือนการให้ไรแดงนะครับ ขอแค่ทำให้ลูกปลารอดมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก็พอ ทีนี้ไปดูกันครับว่าอาหารปลาซากุระสูตรปลากัดที่ผมใช้ หน้าตาเป็นยังไง และให้เวลาไหนยังไงบ้าง
และนี่ครับ Sakura สูตร ปลากัด ที่ผมใช้เลี้ยงลูกปลา
 

Sakura for Fighting Fish ซองนี้ ผลิตมาเพื่อปลากัดโดยเฉพาะ

1.บรรจุภัณฑ์และลักษณะเม็ดอาหาร
ชื่อซองอาหารเต็มๆ เขียนว่า Sakura for Fighting Fish สำหรับอาหารเม็ดสูตรนี้มีแค่ขนาด 20 กรัมเท่านั้น เป็นซองเล็กๆขนาดประมาณ iPhone Plus ที่เราถือๆกัน ตัวซองออกแบบมานี่โดนมาก เพราะมีซิปล็อคมาให้เลย ไม่ต้องกังวลเรื่องอากาศเข้าซองช่วยรักษาคุณภาพของตัวอาหารได้ดีเลย
ในส่วนของเม็ดอาหารเป็นเม็ดเล็กๆ สีน้ำตาลเข้ม ขนาดเม็ดอาหารประมาณครึ่งมิลลิเมตรครับ (0.5) คือเหมาะสำหรับทั้งปลากัดขนาดเล็กไปจนถึงขนาดโตเต็มวัย แต่ในกรณีนำมาใช้อนุบาลลูกปลานั้น ผมเห็นว่าเราควรจะนำมาบดก่อนให้ลูกปลากิน ซึ่งผมซื้อมาบดทิ้งไว้ให้ที่บ้านก่อนจะออกเดินทางไปเชียงใหม่ ซึ่งจริงๆแล้วจะให้ทั้งเม็ดๆแบบปกติเลยก็ได้นะครับ เพราะลูกปลาสามารถตอดได้ และเศษอาหารของซากุระก็ไม่ได้ทำให้น้ำเน่าเสียมากสักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเรื่องแพ็จเกจจิ้งและโปรดักส์ผมให้ 3 ผ่าน




โปรตีน 35 เปอร์เซ็นต์ มาพร้อมสรรพคุณเร่งสี เร่งโต
 
2.วัตถุดิบและสารอาหารที่ปลาได้รับ
อีกเหตุผลที่ผมเลือกใช้ซากุระก็เพราะวัตถุดิบที่มาจากเนื้อสัตว์จริงๆ ทั้งลูกน้ำอบแห้งและตับปลาหมึก ซึ่งวัตถุดิบทั้งสองชนิดจะทำให้เม็ดอาหารมีสีเข้ม และมีคุณสมบัติทำให้ปลามีสีสันที่สวยงาม ผมเคยใช้กับปลากัดโตเต็มวัยและให้ผลตามที่ลงเอาไว้จริงๆ แต่ในส่วนของลูกปลากัดนั้น ธรรมชาติของมันจะยังไม่ถอดสีในระยะแรก ต้องผ่านไปประมาณ 1 เดือนเสียก่อน ดังนั้นเรื่องสีสันผมจึงไม่แน่ใจว่าใช้ได้ผลตั้งแต่ยังเป็นลูกปลาหรือไม่ แต่ที่อน่ๆคือลูกปลาสามารถกินได้ไม่มีปัญหาครับ
นอกจากวัตถุดิบจากเนื้อสัตว์แล้ว ซากุระยังได้นำวิตามินต่างๆมาใช้ด้วย ที่อ่านเจอก็จะเป็นพวกวิตามิน C และ E โดยตัวิตามิน C จะช่วยลดการฉีกขาดของครีบเครื่องรวมทั้งช่วยสมานแผลบนตัวปลาได้เร็วขึ้น ด้านวิตามิน E จะมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้ทนต่อการติดเชื้อที่เหงือกและยังช่วยลดอาการเครียดของตัวปลาได้ด้วย ส่งผลให้ปลามีวงจรชีวิตที่ยาวนานขึ้น ปิดท้ายด้วยสาหร่ายสไปรูลิน่าที่นำไปเป็นส่วนผสมของอาหาร ซึ่งจะช่วยให้ปลามีสุขภาพดี มีสีสันสวยงาม และมีผิวที่สดใส


อุปกรณ์ที่ผมใช้สำหรับการบดอาหาร ไม่มีไรมาก แค่ทุบๆ แล้วก็ทุบ

เทคนิคการให้อาหารเม็ดซากุระกับลูกปลากัด
จริงๆข้อนี้ผมไม่อยากเรียกถึงขั้นว่าเป็นเทคนิคนะครับ เพราะมันเป็นแค่วิธีการให้ในแบบของผม ซึ่งไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามีท่านไหนมีวิธีที่ดีกว่านี้หรือเปล่า แต่เอาเป็นว่าผมให้แบบนี้แล้วลูกปลาอยู่รอดจนโตขึ้นมาได้ อัตราการตายก็น้อย ผมเลยขอเอาวิธีของผมมาแนะนำผู้อ่านนะครับ
หลายคนอาจมีคำถามว่าซองเล็กแค่ 20 กรัมจะเลี้ยงปลาได้กี่วันกันเชียว ตรงนี้บอกเลยว่านานมากกกกกกครับ ด้วยโครงสร้างปลากัดเป็นปลาขนาดเล็กอยู่แล้ว ดังนั้นมันจึงกินได้ไม่มาก ไม่ผลาญอาหารเม็ดในซองอย่างแน่นอน โดยปกติผมจะให้ปลากัดที่โตเต็มวัยวันละ 2 มื้อ คือเช้าและเย็น ส่วนปริมาณที่ให้ก็ประมาณมื้อละ 10-15 เม็ดต่อตัว ทีนี้พอนำมาใช้กับลูกปลา ผมจะบดให้เป็นผงเลยครับ สำหรับลูกปลาครอกที่ผมให้ซากุระจะมีอยู่ประมาณ 200 กว่าตัว อันนี้กะเอาคร่าวๆนะครับ นี้เป็นจำนวนที่ผมคาดคะเนหลังจากกลับมาจากเที่ยวปีใหม่ ซึ่งคงจะมีบางส่วนที่ตายลงไปบ้างแล้วก่อนหน้านี้ อันนี้เป็นเรื่องธรรมชาตินะครับ เพราะลูกปลาแต่ละตัวจะแข็งแรงไม่เท่ากัน บางตัวก็กินไว บางตัวก็กินช้า กินน้อย แล้วแต่เวรแต่กรรมจริงๆครับข้อนี้ กลับมาต่อกันเรื่องวิธีให้กันครับ ปริมาณที่ผมใช้สำหรับลูกปลาประมาณ 200 ตัวที่ว่า ผมจะใช้ช้อนชาตักซากุระที่บดแล้วประมาณครึ่งช้อนแล้วเทลงไปเลย ญาตผมก็ให้ตามที่ผมแนะนำ ให้แค่ช่วงเช้ามื้อเดียวครับ เพราะถึงแม้ซากุระจะวางใจได้ในเรื่องของการรักษาสภาพน้ำได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ยังไงลูกปลาก็ยังเป็นลูกปลา คือพวกมันยังไม่แข็งแรงและค่อนไปทางอ่อนแอด้วยซ้ำ ช่วงที่ผมไม่อยู่บ้านจึงเอาชัวร์ไว้ก่อน คือให้ในปริมาณที่บอกเอาไว้ ผลคืออัตราการรอดดีงามครับ เพราะปกติเวลาผมอนุบาลลูกปลาด้วยไรแดงสุดท้ายก็จะมีอัตราการรอดอยู่ราวๆนี้


เปรียบเทียบความต่างระหว่างอาหารแบบบดและไม่บด

ผมให้อาหารซากุระสูตรปลากัดแบบบดละเอียดจนปลามีอายุได้ราว 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็ไม่ได้บดให้แล้ว คือให้ทั้งเม็ดไปเลย เพราะลูกปลาสามารถกินได้แล้ว และมีการนำไรแดงมาสลับสับเปลี่ยนไปบ้าง ทั้งหมดนี้จึงสรุปความได้ว่าอาหารปลาซากุระสูตรปลากัดสามารถนำมาใช้อนุบาลลูกปลากัดได้จริงไม่อิงนิยายใดๆทั้งสิ้นครับ

สรุปข้อดีข้อด้อยของอาหารปลาซากุระสูตรปลากัด
ข้อดี
1.สะดวกต่อการใช้ ไม่ต้องไปงมกระชอนช้อนไรตามคูคลองให้เสียเวลา
2.สามารถช่วยลดภาระการเปลี่ยนถ่ายน้ำได้ดีจริงๆ
3.ราคาและปริมาณถือว่าคุ้มมาก
ข้อด้อย
1.แม้ลูกปลาจะกินได้ตามปกติ และอัตรารอดเป็นที่น่าพอใจ แต่ผมยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าสารอาหารที่ปลาได้รับจะเทียบเท่ากับการได้กินไรแดงหรือไม่
ผมคิดว่ามันเป็นอาหารที่เหมาะมากสำหรับผู้เลี้ยงที่อยากลองเพาะปลากัดแต่ไม่อยากยุ่งยากในการดูแลอนุบาลลูกปลา เพราะว่ากันตามตรงนั้น สิ่งที่ยากและสร้างความลำบากใจให้ผู้เพาะเลี้ยงส่วนใหญ่คือการอนุบาลลูกปลาให้รอด แต่ในความยากมันก็มีความสนุกและความสุขตรงที่เราได้เห็นลูกปลาที่เลี้ยงค่อยๆเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และได้เห็นว่าปลาตัวไหนสวยมากหรือสวยน้อย เป็นความสุขเล็กๆน้อยๆของคนเพาะปลากัดอย่างเราๆครับ


เอารูปบรรยากาศบนดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ที่ผมไปเยือนมาฝากครับ สวัสดีปีใหม่ย้อนหลังนะครับ
 

แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบ

เว็บไซต์ Dek-D.com ขอสงวนสิทธิ์ในการงด โพสต์ข้อความซื้อ/ขาย/แลกเปลี่ยน/โฆษณา สินค้าทุกชนิดในเว็บบอร์ด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ใช้งานท่านอื่น