Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

[ซีรีส์ภาษาฮังการี 101] ตอนที่ 1 มารู้จักภาษาฮังการีกัน! Ismerjük meg a magyart! ~

ตั้งกระทู้ใหม่
Szia! สวัสดีเพื่อน ๆ ทุกคนที่สนใจในภาษาฮังการี อยากมาเที่ยวประเทศฮังการี หรือ สนใจในภาษาศาสตร์ (My fellow language enthusiasts) ทุกคนครับ หลาย ๆ คนอาจจะเคยรู้จักประเทศฮังการีกันมาบ้างจากโฆษณาท่องเที่ยว ภาพยนตร์ หรือ ซีรีส์ ที่ชอบมาถ่ายทำในกรุงบูดาเปสต์ สารคดีที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำดานูบ หรือ ข้อมูลเกี่ยวกับสงครามและจักรวรรดิต่าง ๆ (จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี) หรือ บางคนอาจจะรู้จักประเทศนี้เพราะว่าสนใจสมัครทุน Stipendium Hungaricum หรือว่าทุนแลกเปลี่ยนของ YFU / AFS

ทะเลสาบบอลอโตน (Balaton-tó) ของฮังการี
 
วันนี้ผมจะมาแนะนำภาษานี้กัน แต่ก่อนอื่น ก่อนที่เราจะดำดิ่งลงไปในภาษาอันแสนเป็นปริศนานี้ เราต้องรู้จักดินแดนที่ใช้ภาษานี้ “ฮังการี” และผู้คนที่ใช้ภาษานี้ “ชาวฮังการี” กันครับ เพราะเมื่อก่อน ผมเองก็ได้ยินชื่อประเทศนี้เป็นครั้งแรก (และก็ไม่คิดว่า จะต้องได้มาอยู่ที่นี่ยาวนานแบบนี้ครับ)

มณฑลของฮังการีและประเทศเพื่อนบ้าน
 
ประเทศฮังการีตั้งอยู่ในกลางทวีปยุโรป มีแม่น้ำดานูบ และ แม่น้ำทิสซอ ไหลผ่านใจกลางที่ราบของประเทศ ที่เรียกว่า “แอ่งคาร์เพเทีย (Kárpád medence / Carpathian basin)” ล้อมรอบด้วยเทือกเขาคาร์เพเทีย และ เทือกเขาแอลป์ มีประเทศออสเตรีย สโลวาเกีย โรมาเนีย เซอร์เบีย โครเอเชีย และ สโลวีเนียล้อมรอบครับ ง่าย ๆ คืออยู่ระหว่างยุโรปตะวันตก (อิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส) และยุโรปตะวันออก (รัสเซีย ยูเครน โรมาเนีย เบลารุส) ประเทศฮังการีก็เลยได้ฉายาว่า “หัวใจแห่งยุโรป (Európa szíve/The heart of Europe)” เมืองหลวงของประเทศนี้ชื่อว่า “บูดาเปสต์ (Budapest)” ครับ ซึ่งเพื่อน ๆ ของผมหลายคนที่ไม่เคยรู้จักฮังการีมาก่อน หลายคนรู้จักบูดาเปสต์กันครับ

กรุงบูดาเปสต์ จากภูเขาบูดา

แม้ว่าฮังการีจะอยู่ในยุโรป แต่ชาวฮังการี ก็ไม่นับว่าเป็นชาวสลาฟ หรือ ชาวเยอรมัน หรือ ชาวละติน แบบประเทศอื่น ๆ ในยุโรปครับ แถมภาษาฮังการี ยังไม่ได้มีที่มาจากยุโรปด้วยซ้ำ

อย่างแรก เราต้องเข้าใจก่อนว่า ภาษาฮังการี เป็นภาษาที่มีต้นกำเนิดมาจากทวีปเอเชียครับ Nani? ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นหล่ะ มันอยู่กลางยุโรปเลยหนิ

เรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปเมื่อพันห้าร้อยปีก่อน มีชนเผ่าขี่ม้าชนเผ่าหนึ่ง ซึ่งเรียกตัวเองว่า ชาวม็อดยอร์ หรือที่โรมันเรียกว่า ฮัน (Hun) ได้บุกทัพมายังดินแดนของโรมัน นำโดย อัลติล่า (Atilla the Hun) ได้ทำการบุกกรุงโรมในราว ค.ศ. 430 จากนั้นก็ได้ถอยทัพไปยังทางตะวันออกของเทือกเขาคาร์เพเทีย และต่อมาลูกหลานของเค้า ที่ชื่อว่า อาร์พาด (Árpád) ก็ได้เดินทางกลับมายังแอ่งคาร์เพเทียในช่วง ค.ศ.900-1000 และก่อตั้งดินแดนใหม่ขึ้น มีชื่อว่า ม็อดยอร์โอร์สาก (Magyarország/ดินแดนของชาวม็อดยอร์) หรือที่ชาวโรมันเรียกว่า ฮุงกาเรีย (Hungaria/ดินแดนของชาวฮัน)

ภาพวาดการพิชิตแอ่งคาร์เพเทียของเผ่าม็อดยอร์

ซึ่งม็อดยอร์ (Magyar) คือชื่อที่เผ่าฮันสายที่มาพิชิตดินแดนนี้ใช้เรียกตัวเองครับ เป็นคำที่ชาวฮังการียังใช้เรียกตัวเองอยู่แม้ผ่านมาแล้วหนึ่งพันปี และภาษาฮังการีก็ยังมีชื่อเรียกในภาษาของเค้าเองว่า Magyarul ครับ

ตำนานได้กล่าวไว้ว่า มีกวางสีทองตัวหนึ่ง  ได้วิ่งหนีการไล่ล่าของเผ่าฮันมา จนมาถึงเลเวเดีย และตามมาด้วยแอ่งคาร์เพเทีย อันเป็นที่หมายสุดท้ายของชาวฮัน ที่ที่ชาวฮัน (AKA ฮังกาเรียน) ได้เรียกว่าแผ่นดินแม่ ในเวลาต่อมา และกวางตัวนั้น จึงถูกเรียกว่า “กวางแห่งปาฏิหาริย์ (Csodaszarvas)”


กวางแห่งปาฎิหารย์ (โชเดาะซอร์ว็อช)

จากการขุดค้นทางโบราณคดี DNA และ การสืบด้วยความสัมพันธ์ของภาษา (Linguistic connection) ทำให้ปริศนาของภาษาฮังการีที่เป็นปริศนามาหลายร้อยหลายพันปีคลี่คลายออก และค้นพบญาติที่ห่างออกไปในไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นเผ่าที่เรียกตัวเองว่า มานซี (Mansi) และเผ่าคานตี (Khanty)

ญาติของพวกฮังการีอีกหนึ่งส่วนนั้น อพยพเข้ามาในยุโรปจากเทือกเขายูราล แต่แทนที่จะมาทางใต้ พวกนี้อพยพขึ้นไปทางเหนือ ในดินแดนที่เป็นหน้าหนาวตลอดการ ห้อมล้อมไปด้วยแสงเหนือ และป่าสนไทก้าสุดลูกหูลูกตา ดินแดนนั้น เรียกว่า “ซุโอมิ และ เอสติ” หรือที่เรารู้จักกันในนาม “ฟินแลนด์ และ เอสโตเนีย” นั่นเอง

ฟินแลนด์

จากการที่ภาษาพวกนี้นั้นมีที่มาจากเทือกเขายูราลในไซบีเรีย และมีลักษณะพิเศษที่แบ่งแยกเป็นตระกูลภาษาของตัวเอง นักภาษาศาสตร์จึงเรียกตระกูลภาษานี้ว่า ตระกูลภาษายูราลิก (Uralic language family)

ภาษาในตระกูลภาษายูราลิก ฮังการีคือภาษาที่อยู่ใต้สุดของตระกูลภาษานี้

ภาษาพวกนี้แปลกยังไง ภาษาพวกนี้มีลักษณะแปลกกว่าภาษาอื่น ๆ ตรงที่ว่า ภาษาพวกนี้นั้น มีการต่อท้ายคำเพื่อแบ่งว่าคำ ๆ นี้มีหน้าที่ไหนในประโยค (Grammatical case) แทนที่จะเป็นการเรียงประธาน-กริยา-กรรม แบบภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอิตาลี หรือ ภาษาโปรตุเกส ภาษานี้ต่อเสียงท้ายคำเพื่อบ่งบอกหน้าที่ของคำในประโยคเกือบทุก ๆ อย่างเลย เหมือนกับที่เราแปะสติกเกอร์ไว้ที่ผลไม้ในตลาดเพื่อบอกว่าผลไม้อันนี้คืออะไร ราคากี่บาท ภาษาพวกนี้ก็แปะไว้ท้ายคำ เพื่อบอกว่าอันนี้เป็นคำนาม อันนี้เป็นเอกพจน์ เป็นพหูพจน์ เป็นกรรม
แต่ว่า แม้แต่สถานที่ การยกตัวอย่าง การบอกเวลา ก็ต้องเติมท้ายคำข้างหลังด้วย เพื่อบ่งบอกสถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้น และสถานที่ที่เป็นจุดหมายปลายทาง

บ้านสไตล์ฮังการีดั้งเดิม
 
ยกตัวอย่างภาษาฮังการี และ ภาษาฟินแลนด์ คำว่าบ้าน
 
ภาษาไทย Magyar (Hun) : ฮ้าซ Suomi (Finn) : ตาโล
บ้าน (ประธาน) Ház Talo
บ้าน (หลายบ้าน) Házak Talot
บ้าน (กรรม)
เช่น บ้านโทนทุบ
Házat Taloa
ของบ้าน
เช่น สนามหญ้าของบ้านหลังนี้
Háza Talon
เข้าไปในบ้าน Házba Taloksi
อยู่ในบ้าน Házban Talossa
ออกมาจากในบ้าน Házból Talosta
 
และจากการที่เรามีเสียงแปะไว้ท้ายคำนี้ ทำให้ภาษาฮังการีจะวางอะไรตรงไหนไว้ในประโยคก็ได้ ตราบเท่าที่มีเสียงแปะไว้ข้างหลัง       เช่นประโยคว่าฉันซื้อบ้าน (บ้านคือสิ่งที่ถูกซื้อ)
 
ฮังการี - Vettem egy házat ฮ้าซ แปลว่า บ้าน ส่วน -at คือแสดงว่าคำนี้เป็นกรรม
ฟินน์ - Ostin talon ตาโล แปลว่าบ้าน ส่วน -n คือแสดงว่าคำนี้เป็นกรรม

ภาษาญี่ปุ่น ก็มีฟังก์ชั่นแบบนี้เหมือนกัน:
ญี่ปุ่น - Ie-wo kaima-a (家を買いました) อิเอะ แปลว่าบ้าน ส่วน -wo ติดเข้าไปด้านหลังเพื่อแสดงว่าบ้านเป็นกรรมในประโยค บ้านคือสิ่งที่ถูกซื้อ สิ่งที่ต่างก็คือ ภาษาญี่ปุ่นไม่สามารถสลับคำกริยาไปข้างหน้าได้เหมือนสองภาษาข้างบน (มีการสันนิษฐานว่าภาษาญี่ปุ่นอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับภาษายูราลิก แต่อาจจะแยกออกมาเมื่อนานมาแล้ว เรียกว่า ทฤษฎี Ural-Altaic languages)
เราซูมเข้าไปในตระกูลภาษายูราลิก  เข้าไปภาษาฮังการีเหมือนเดิมกันดีกว่า จากที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น ประโยคของภาษาฮังการีสามารถสลับไว้ตรงไหนก็ได้ในประโยคครับ ยกตัวอย่างประโยคว่า อีฟชอบดอกไม้ (มาจากในวิกิพีเดียครับ) ทุกประโยคมีความหมายเหมือนกันคือ อีฟ (เอวอ) ชอบดอกไม้ แต่ว่ามีความแตกต่างกันในการโฟกัสความสำคัญในประโยค (ซึ่งไม่ได้สำคัญมากในระดับการพูดทั่วไป)
 
- Éva szereti a virágokat.
- Szereti Éva a virágokat.
- Éva szereti a virágokat.
- Éva a virágokat szereti.
- A virágokat Éva szereti.
- A virágokat szereti Éva.
 
สองลักษณะนี้ การสลับคำไปมาในประโยคได้ และ การแปะเสียงไว้ท้ายคำเพื่อบอกประโยค คือลักษณะที่สำคัญที่สุดสองอย่างของภาษาฮังการีเลย

แล้วภาษาฮังการี มีใครบ้างบนโลกใบนี้ที่พูดบ้าง?

ภาษาฮังการีมีคนใช้เป็นภาษาแม่ประมาณ 13 ล้านคนบนโลก ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศฮังการี และประเทศอื่น ๆ ในแอ่งคาร์เพเทีย โดยเฉพาะในสโลวาเกียตอนใต้ พื้นที่ทรานซิลเวเนีย (Székely) ของโรมาเนีย (ใช่ รวมไปถึงส่วนที่มีปราสาทแดร็กคิวล่าด้วย) เซอร์เบียตอนเหนือในเขตปกครองตัวเองวอยโวดินา (Vojvodina) และ ยูเครนในแถบมณฑลซาคาร์พาทสก้า (Zakarpatska Oblast) และจังหวัดมูรสก้าของสโลวีเนีย (Murska) และภูเขาแอลป์ตะวันออกในออสเตรียครับ

การกระจายตัวของผู้ใช้ภาษาฮังการีเป็นภาษาแม่

เนื่องจากประเทศออสเตรีย-ฮังการีได้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ประเทศฮังการีเสียพื้นที่ดินแดนไป 72% โดนตัดส่วนที่เป็นทะเลออกด้วย และทำให้ประชากรครึ่งหนึ่งติดอยู่ในดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน (สนธิสัญญาทริอาน็อง : Treaty of Trianon) และเมืองบางเมืองของต่างประเทศก็ยังพูดภาษาฮังการีกันอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น คลูช-นาโปกา หรือ โคโลจวาร์ (Cluj-Napoca/Kolozsvár) ในโรมาเนีย และ โคมารโน่ หรือ โคมาโรม ในสโลวาเกีย (Komárno/Komárom)

ก่อนและหลังทริอาน็อง
เมืองโคโลจวาร์ ในประเทศโรมาเนีย

ภาษาฮังการีถือเป็นหนึ่งในภาษาราชการของสหภาพยุโรป เพราะว่าฮังการีเป็นหนึ่งในประเทศสหภาพยุโรปครับ ทำให้ช่วงหลัง ๆ มานี้ ภาษาฮังการี และ ภาษาฟินแลนด์จึงเป็นที่สนใจมากขึ้นเนื่องจากการเข้าร่วมสหภาพยุโรปครับ

การเต้นแบบฮังการีพื้นเมือง (Néptánc)

ตอนต่อไป เราจะมาดูกันว่า อักษร ABC ของฮังการีนั้น เค้าออกเสียงว่ายังไง แล้วเราเวลาเราไปเที่ยวฮังการี เราจะทักทาย ขอบคุณ หรือว่าถามราคาของได้ยังไงกันบ้างในตอนที่สองครับ วันนี้ก็ขอจบตอนแรกไว้ตรงนี้ครับ Thanks  for reading! Remélem érdekes volt.ส์

แสดงความคิดเห็น

>