Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ถ้าคิดจะเรียนหมอ เลือกศิริราชดีมั๊ย? ตอนที่ 5 : ดีเอ็นเอแบบศิริราช

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

หากพูดถึงคณะแพทย์ที่เด็กไทยอยากเข้าเรียนเป็นอันดับต้นๆ เชื่อว่า ศิริราชน่าจะเป็นคณะแพทย์หนึ่งที่หลายคนคิดถึง เพราะที่นี่คือโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของเมืองไทย ที่ผลิตบุคลากรออกมารับใช้ประเทศชาติจำนวนมากนับร้อยปีแล้ว 

หลักสูตรการเรียนก็ได้ชื่อว่าเข้มข้น ได้มาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ที่สำคัญอีกอย่างคือ โรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศหรือของอาเซียนเลยทีเดียว มีคนไข้มารับการรักษาจำนวนมากนับล้านๆ คนต่อปี มีคนไข้ถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งมักเป็นคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคยากๆ ซับซ้อน จึงนับเป็นโอกาสดีที่แพทย์ที่เรียนที่ศิริราชจะได้เรียนรู้โรคที่ยากและหลากหลาย เสริมสร้างความรู้ความมั่นใจเวลาที่น้องจบออกไปเป็นแพทย์เต็มตัว โดยเฉพาะยามที่ต้องไปใช้ทุนในพื้นที่ห่างไกล

แต่ความจริง ศิริราชยังมีเรื่องราวน่าสนใจมากกว่านั้น “ถ้าคิดจะเรียนหมอ เลือกศิริราชดีมั๊ย?” ในตอนที่ 5 พี่จึงอยากพาน้องๆ ทุกคนมารู้จักศิริราชในมุมที่ลึกขึ้น ทั้งการเรียน วัฒนธรรม ระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง และอื่นๆ อีกมากมายที่หล่อหลอมรวมกันจนกลายเป็นดีเอ็นเอศิริราช

ความเข้มข้นที่จำเป็น

เป้าหมายการผลิตแพทย์ของศิริราช คือต้องการแพทย์ที่เก่งและดี เก่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดีด้วย ในทางกลับกัน ดีอย่างเดียวแต่ไม่เก่งเลยก็ไม่มีประโยชน์

นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเรียนแพทย์ที่ศิริราชจึงได้ชื่อว่าเรียนหนักมากๆ การเรียนหนักนี่ไม่ใช่แค่จำนวนหน่วยกิตที่น้องๆ ต้องเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวิธีการเรียนที่เน้นการฝึกให้คิด และเสริมประสบการณ์จากการเจอคนไข้จริงๆ จะได้ประยุกต์ใช้ความรู้ได้ เมื่อต้องออกไปอยู่ในสถานการณ์จริง ที่อาจขาดแคลนทั้งเครื่องมือ บุคลากร และงบประมา

อ่านแค่นี้พี่ก็รู้ว่าน้องเริ่มเครียดแล้วล่ะ แต่อย่าเพิ่งกังวลเกินไป ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาศิริราชได้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนไปมากมาย โดยมุ่งเน้นให้น้องมีคุณภาพเหมือนรุ่นพี่ แต่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากขึ้น ลองมาดูกันว่าการเปลี่ยนแปลงที่ว่ามีอะไรบ้าง เริ่มจากกระบวนการเรียนที่เรียกว่า การเรียนแบบมีส่วนร่วม หรือ Active Learning

จากเดิมที่นักเรียนมีหน้าที่ฟังอาจารย์พูดอย่างเดียว แต่ตอนนี้น้องทุกคนต้องมีส่วนร่วม ในการคิด วิเคราะห์ ร่วมพูดคุย ร่วมถกปัญหา รวมทั้งต้องหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อช่วยกันเรียนรู้ เช่น ถ้าคนไข้เดินเข้ามาหาเราด้วยอาการอะไรสักอย่าง น้องจะวิเคราะห์อาการป่วยของคนไข้อย่างไร และควรใช้วิธีรักษาแบบไหน คำตอบอาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่กระบวนการคิดต่างหากที่สำคัญ และเมื่อเรียนเสร็จแล้วอาจมีการบ้าน ที่ต้องไปค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอีกที การเรียนแบบนี้ ต้องการชักนำให้ผู้เรียนดึงความรู้ที่มีอยู่ออกมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด รวมทั้งยังเป็นการฝึกนิสัยการเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีของการเป็นแพทย์ 

ความโดดเด่นที่สำคัญของการเรียนที่ศิริราชอีกอย่างคือ ที่ศิริราชน้องไม่ต้องแข่งกันเรียน แต่ทุกคนจะช่วยกันเรียน เพราะใช้วิธีการตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์ ไม่ใช่อิงกลุ่ม หมายความว่าถ้าใครทำคะแนนได้ถึงเกณฑ์เท่านี้ก็จะได้เกรดนั้นไปเลย โดยมีฝ่ายวิชาการประจำรุ่น คอยทำหน้าที่ช่วยเพื่อนๆ ในรุ่นให้สอบผ่านไปด้วยกัน ด้วยวิธีการต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการขอสไลด์จากอาจารย์ ช่วยกันจดเลกเชอร์ ช่วยกันทำสรุปต่างๆ เพราะฉะนั้นคู่แข่งคนเดียวที่น้องต้องรับมือให้ได้ก็คือ “ตัวของน้องเอง”

การเรียนแบบนี้ช่วยลดความตึงเครียดและความกดดันในการเรียนได้อย่างมากมาย ท้ายที่สุดส่งผลให้ศิริราชมีบัณฑิตใหม่ได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 สูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ติดต่อกันมาหลายปี จนคณบดีต้องออกมาอธิบายกับสื่อทุกปีว่า ศิริราชไม่ได้ปล่อยเกรด แต่เป็นเพราะระบบการตัดเกรดที่เน้นการผ่านเกณฑ์มากกว่าการแข่งขันกันเอง

นอกจากการเรียนตามตำราแล้ว ศิริราชยังพยายามสอนให้นักศึกษาเข้าใจความเป็นมนุษย์ของทั้งคนไข้และของตัวเอง ซึ่งการปลูกฝังนี้ไม่ใช่เพียงแค่การพูด การสอนประโยคเดิมซ้ำๆ แต่มาจากการที่อาจารย์และรุ่นพี่ทำให้ดูเป็นตัวอย่างอยู่เสมอๆ ด้วย

ตอนที่ขึ้นวอร์ดใหม่ๆ น้องอาจดูเหมือนไม่มีบทบาทหรือหน้าที่รับผิดชอบสำคัญอะไร งานหลักๆ คือ การดูและทำตามที่อาจารย์และรุ่นพี่ทำให้ดู เช่น การปรับน้ำเกลือ การซักประวัติคนไข้ หรือการเจาะเลือด การได้เห็นหรือสัมผัสบ่อยๆ ก็จะทำให้น้องซึมซับวิธีการและเทคนิคการรักษาต่างๆ จนกลายเป็นพื้นฐานสำคัญเมื่อน้องต้องลงมือรักษาคนไข้ด้วยตัวเอง

อีกหลักการที่นักเรียนแพทย์ศิริราชทุกรุ่นจะได้ยินอยู่เสมอก็คือ ชีวิตคนไข้สำคัญที่สุด

เพราะฉะนั้น อย่าแปลกใจว่า อาจารย์หลายท่านจะยอมทิ้งงานที่อยู่ตรงหน้าเพื่อวิ่งไปดูแลคนไข้ก่อน ทำให้อาจมาสอนน้องช้าไปบ้าง หรือต้องวานแพทย์ประจำบ้านให้สอนแทนบ้าง แล้วค่อยมาสอนเพิ่มเติมทีหลัง เพื่อให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดีพร้อมๆ กันในทุกๆ หน้าที่ที่รับผิดชอบ ที่เล่ามาจนถึงตรงนี้จึงเป็นเหตุผลที่เวลามีการสำรวจความเห็นของแพทย์ที่ทำงานร่วมกับแพทย์จบใหม่จากศิริราช มักจะได้รับคำชื่นชมในความสามารถทั้งทางวิชาการ ความมีคุณธรรมและความอดทนต่องานได้เป็นอย่างดี

ของดีก็ต้องยึดไว้

ไม่ว่าจะเป็นในอดีตอันไกลโพ้น หรือในโลกปัจจุบันยุคโซเชียล การเรียนหมอที่ศิริราชจะยังคงมีการกล่าวขวัญถึงว่าเรียนหนัก เคร่งครัด เต็มไปด้วยกฎระเบียบแบบอนุรักษ์นิยม

แต่ทุกวันนี้ โลกเรามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาแพทย์ศิริราชเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลงเจนเนอเรชันที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อาจารย์รุ่นใหม่ก็มีแนวคิดใหม่ๆ เข้ามาและมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้นเช่นกัน แนวคิดแบบที่ว่า อาจารย์จะทำอะไรหรือพูดอะไรต้องถูกเสมอจึงค่อยๆ ลดลงไปมาก

ปัจจุบันอาจารย์แพทย์ศิริราช รวมทั้งอาจารย์ใหม่ทุกคนจะต้องผ่านหลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษา เพื่อเรียนรู้การเป็นอาจารย์ที่ดี มีการเพิ่มพูนทักษะในทุกๆ ด้าน ทั้งเทคนิคการสอนที่มีประสิทธิภาพ เทคนิคการสื่อสาร ความสามารถในการบริหารจัดการห้องเรียน รวมทั้งทักษะการเปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมกับการเรียนการสอนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ยังต้องเรียนวิธีการออกข้อสอบที่ถูกวิธี และประเมินความยากง่ายของข้อสอบ ทำให้ข้อสอบมีมาตรฐาน มีการควบคุมความยากง่าย มีสัดส่วนระหว่างคำถามที่น้องควรจะรู้ คำถามที่อาจจะรู้ และคำถามยากๆ สำหรับน้องที่เก่งๆ ดังนั้นการสอบแต่ละครั้งขอให้น้องตอบข้อที่ควรจะรู้ให้ได้ แค่นี้ก็ผ่านแล้ว นี่เป็นเหตุผลที่เวลาสอบน้องไม่ต้องเครียดมาก ถ้าตอบข้อยากๆ ได้ก็เอาเกรด A ไปเลย 

อีกข้อที่สำคัญคืออาจารย์ต้องพร้อมสำหรับการถูกประเมินโดยนักศึกษาเพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการสอนให้ดียิ่งขึ้น พี่จะขอยกตัวอย่างบรรยากาศอึมครึมตอนเรียน มีอาจารย์บางท่านสอนหนังสือแล้วทำให้นักเรียนหลับไปครึ่งค่อนห้อง ถ้าเป็นเมื่อก่อน อาจารย์ก็มักจะโทษนักศึกษาว่าไม่ตั้งใจเรียน แต่สมัยนี้ อาจารย์อาจจะต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่า เทคนิคการสอนต้องปรับปรุงอย่างไรจึงจะสามารถดึงความสนใจของนักศึกษาไว้ได้ อีกอย่างน้องสามารถประเมินอาจารย์เพื่อเป็นกระจกสะท้อนได้เลย

แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะมีการปรับเปลี่ยน บางเรื่องที่แม้จะปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน แต่มีความจำเป็นกับวิชาชีพ ศิริราชจึงยังคงยึดถือไว้อย่างเดิม เช่น เรื่องการแต่งกาย แน่นอนหลายคนอาจมองว่า การแต่งกายไม่เกี่ยวกับความสามารถในการดูแลคนไข้ แต่ศิริราชยังถือระเบียบให้นักศึกษาแพทย์ แพทย์ และบุคลากรต้องแต่งตัวให้เรียบร้อยเหมาะสมในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่หรือเวลาเรียน พี่พูดกว้างๆ ว่า เหมาะสม เพราะการแต่งกายของบุคลากรทางการแพทย์เป็นด่านแรกที่จะสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างความไว้วางใจจากคนไข้

ปัจจุบันศิริราชอนุญาตให้แพทย์ประจำบ้าน อาจารย์ผู้หญิง พยาบาลและบุคลากรผู้หญิงใส่กางเกงที่เหมาะสมมาทำงานได้แล้วนะเพื่อความคล่องตัว เห็นไหมว่าเราพัฒนาไปอีกขั้นแล้ว

พี่น้องศิริราช

อีกเสน่ห์หนึ่งที่โดดเด่นมากของศิริราช คือความเป็นพี่เป็นน้องที่แข็งแรงมาก ซึ่งระบบพี่น้องนี้ไม่ได้หมายถึงการเข้าห้องเชียร์ แต่หมายถึงวัฒนธรรมการดูแลกันแบบพี่น้องของชาวศิริราช

ช่วงปี 1 น้องๆ จะไปเรียนที่ศาลายา เป็นการเรียนร่วมกับเพื่อนต่างคณะ แต่ถึงจะอยู่ห่างไกลจากรุ่นพี่ชั้นปีอื่นๆ  แต่ก็ยังมีพี่รหัสคอยแวะเวียนไปดูแล แนะนำการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย บางทีก็พาไปเลี้ยง เวลามีชีท (เดี๋ยวนี้คงเป็นไฟล์ pdf หรือลิงก์ YouTube) หรือเอกสารการเรียนที่น่าสนใจ ช็อตโน้ต สูตรท่องจำที่เคยจดไว้ ก็จะส่งต่อให้น้องรหัส ใช้เป็นตัวช่วยในการเรียน

พอเรียนจบปีแรก น้องทุกคนก็จะข้ามฟากมาเรียนต่อที่โรงพยาบาลศิริราช 

สมัยก่อนนักเรียนเตรียมแพทย์จะเรียนกันที่คณะวิทยาศาสตร์ที่จุฬาฯ (ซึ่งต่อมาย้ายมาเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ตรงพญาไท) พอจะขึ้นชั้นคลินิกก็ต้องย้ายมาเรียนที่ศิริราช ซึ่งศิริราชตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เวลาจะมาเรียนต้องนั่งเรือข้ามฟากจากฝั่งพระนครมายังฝั่งศิริราช จึงมีประเพณี “รับน้องข้ามฟาก” เป็นงานต้อนรับน้องใหม่คือน้องปี 2 ที่เรียกว่า ‘เฟรชชี’ เข้ามาสู่รั้วศิริราช

รับน้องข้ามฟาก เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2475 จำง่ายๆ ก็คือปีที่ประเทศเราเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นเลย สมัยก่อนใช้เรือพาย แต่สมัยนี้ใช้เรือยนต์ โดยน้องๆ จะได้นั่งเรือข้ามฟากจากฝั่งท่าพระจันทร์ แล้วมาขึ้นที่ท่าศิริราช ซึ่งเปิดใช้งานแค่ปีละไม่กี่ครั้ง ที่ท่าน้ำศิริราชจะมีคณบดี อาจารย์และรุ่นพี่ทั้งรุ่นปัจจุบัน หรือรุ่นที่จบไปแล้ว 40-50 ปีมายืนต้อนรับ ช่วยกันดึงมือน้องๆ ขึ้นฝั่ง จะบอกว่าคงไม่บ่อยนักที่น้องจะได้มีโอกาสพบเจออาจารย์รุ่นเดอะในตำนานมากมายขนาดนี้ เป็นเสมือนสัญญาว่าจะคอยดูแลกันตลอดไป ดังสโลแกนที่ว่า “เมื่อก้าวขึ้นท่า...เจ้ากับข้าพี่น้องกัน”

หลังจากนั้นจะมีพิธีทำความเคารพพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้เป็น “บิดาแห่งวงการแพทย์ไทย” ซึ่งมีความขลังและเป็นภาพที่สวยงามมาก

ตอนน้องมาเรียนปี 2 ที่ศิริราชตอนแรกๆ จะใส่ชุดนักศึกษาเหมือนนักศึกษามหิดลทั่วๆ ไป แต่เมื่อผ่านงานรับน้องข้ามฟากมาแล้วจะได้รับเนกไทหรือโบว์ไทสีเขียวศิริราช เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงว่า น้องคือนักศึกษาแพทย์ศิริราช เวลาน้องปี 2 เดินไปไหนก็จะได้รับการต้อนรับ ได้รับความเอ็นดูเป็นพิเศษ แต่พอขึ้นปี 3 ก็จะไม่ต้องผูกเนกไท หรือโบว์ไทแล้ว จนน้องขึ้นปี 4 ถึงจะได้รับหัวเข็มขัดที่เขียนว่า “ศิริราช” พร้อมกับใส่เสื้อกาวน์ยาวสีขาวดูเท่ห์ดี พี่จะบอกว่า หัวเข็มขัดศิริราชนี่ขลังมาก อาจารย์บางท่านยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงประเพณีที่สืบทอดกันมาเท่านั้น ความแน่นแฟ้นของพี่น้องศิริราชจะเกิดขึ้นมากที่สุดช่วงขึ้นวอร์ด เพราะงานในวอร์ดเป็นงานที่หนักมาก พี่ที่โตกว่าจึงมีหน้าที่หลักในการเป็นพี่เลี้ยงดูแลน้อง

ที่สำคัญ วิธีการถ่ายทอดวิชาความรู้ของศิริราชนอกจากจะมีการสอนกันโดยตรงแล้วยังมีการถ่ายทอดส่งต่อกันเป็นทอดๆ เช่น จากอาจารย์ไปยังแพทย์ประจำบ้าน จากแพทย์ประจำบ้านไปยังพี่ปี 6 แล้วก็ลงไปสู่ปี 4-5 ต่อไปเรื่อยๆ รุ่นพี่รุ่นน้องศิริราชจึงใกล้ชิดกันโดยปริยาย

อีกเอกลักษณ์เฉพาะของหมอที่จบจากศิริราชและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน คือการโค้งเมื่อเดินผ่านกัน และการใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า “พี่” แม้อาจารย์จะอาวุโสมากแล้วก็ตาม และเรียกน้องว่า “น้อง” เสมอ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราไปฟังการบรรยายแล้วอาจารย์เรียกตัวเองว่า “พี่” ก็จะรู้ได้ทันทีว่านี่แหละ “อาจารย์ศิริราช”

นอกจากนี้ยังมีการโค้งเวลาเดินผ่านกัน การโค้งตามแบบของศิริราชนี่มีความเฉพาะตัวมาก โค้งไม่มากเหมือนทหาร และไม่น้อยเกินไปจนเหมือนพยักหน้า น้องศิริราชจะค่อยๆ รู้เองว่าโค้งแบบนี้ละศิริราชเค้าโค้งกัน การโค้งศิริราชส่วนใหญ่ใช้เป็นการทักทายเวลาเดินผ่านกันซะมากกว่า อาจจะแฝงการให้ความเคารพระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้องอยู่บ้าง แต่การโค้งนี้เป็นการแสดงความเป็นศิริราชอย่างหนึ่งที่ง่ายที่สุด เพราะเวลาเราไปอยู่ในสถานที่นอกโรงพยาบาล อยู่ในโรงพยาบาลอื่น หรือแม้แต่ในศิริราชเอง ถ้าเดินผ่านกันแล้วมีการโค้งแสดงว่าเราเจอศิริราชด้วยกันแล้ว จะรู้สึกได้ถึงความเป็นพี่น้องกันขึ้นมาทันที จะบอกว่าถ้าเดินผ่านกันแล้วน้องโค้งทักทาย พี่ก็จะยิ้ม รู้สึกปลื้ม ปิติ ดีใจมากมาย

แต่น้องไม่ต้องกังวลไป เพราะถ้าเดินผ่านกันแล้วไม่มีการโค้งกันก็ไม่เป็นไร เพราะบางทีน้องอาจจะมองไม่เห็น หรืออาจเพราะน้องจบจากสถาบันอื่นก็เป็นได้ 

ทั้งหมดนี้คือความผูกพันที่เหนียวแน่น แม้ว่าจะจบไปนานแค่ไหนก็ตาม เหมือนเรื่องเล่าที่ว่า เวลาน้องศิริราชไปตกระกำลำบากอยู่ต่างจังหวัด สิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้เสมอก็คือ การไปให้ถึงโรงพยาบาลที่มีรุ่นพี่ศิริราชทำงานอยู่ รับรองว่าจะน้องจะพ้นทุกข์ พ้นโศกและจะได้รับการดูแลจากรุ่นพี่อย่างดีเลยทีเดียว

และนี่คือดีเอ็นเอที่ฝังแน่นของชาวศิริราช ซึ่งยังคงยืนหยัดเป็นแถวหน้าของโรงเรียนแพทย์ของประเทศไทยมาถึงทุกวันนี้ เรื่องราวของศิริราชยังไม่จบแค่นี้ ในตอนต่อไปของ “ถ้าคิดจะเรียนหมอ เลือกศิริราชดีมั๊ย?” พี่จะพาน้องทุกคนไปสัมผัสถึงการเปลี่ยนแปลงของศิริราช คณะแพทย์เก่าแก่ที่ถึงแม้จะมีอายุมากกว่าร้อยปี แต่กลับไม่เคยหยุดนิ่ง มีการพัฒนาตลอดเวลาและไม่ยอมล้าสมัยเลย

อ่าน ตอนที่  1 :    ความสมบุกสมบัน และโลกแห่งความเป็นจริงของคน (อยาก) เป็นหมอ 
อ่าน ตอนที่ 2  :  การเรียนแพทย์เปรียบเสมือนการลงทุน
อ่าน ตอนที่ 3 : ชีวิตหมอมีอะไรมากกว่าที่คิด
่าน ตอนที่ 4 :  ชีวิตนอกเสื้อกาวน์ของหมอ

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น