Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ถ้าคิดจะเรียนหมอ เลือกศิริราชดีมั๊ย? ตอนที่ 6 : โรงเรียนแพทย์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

ไม่ต้องแปลกใจที่คนทั่วไปจะมีภาพจำว่า ศิริราชทั้งเก่า คร่ำครึ และอนุรักษ์นิยมสุดๆ เพราะศิริราชเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกและเก่าแก่ที่สุดในประเทศ มีประวัติศาสตร์ต่อเนื่องยาวนานนับร้อยปี อย่าว่าแต่คนภายนอกเลย แม้แต่คนศิริราชเองก็ยังรู้สึก

ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศตึกเก่าๆ อาจารย์ที่แม้จะเกษียณอายุไปนานแล้ว ก็ยังชอบมาช่วยสอน เดินไปมาอยู่ในโรงพยาบาล รวมทั้งมักมาร่วมงานประเพณีต่างๆ ในศิริราชอยู่เสมอ ถ้าเดินในศิริราชจะพบว่ามีอาคารหรือสิ่งก่อสร้างหลายอย่างที่มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ก็ศิริราชเคยเป็นที่ตั้งของวังหลังมาก่อน

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ศิริราชจะต้องคงความอนุรักษ์นิยมเสมอไป เพราะความจริงแล้วศิริราชมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ทั้งทางกายภาพ วัฒนธรรม และระบบการเรียนการสอน จะช้าบ้าง เร็วบ้าง เพียงแต่หลายคนอาจไม่รู้สึกเท่านั้นเอง 

“ถ้าคิดจะเรียนหมอ เลือกศิริราชดีมั๊ย?” ในตอนที่ 6 จึงอยากพาทุกคนไปดูการเปลี่ยนแปลงของศิริราช เพื่อให้เห็นว่า ที่นี่แม้จะเก่าแก่ แต่ก็พัฒนาไม่เคยหยุดนิ่ง

ศิริราช โรงพยาบาลแห่งการซ่อม-สร้าง

ถ้าใครเคยมาใช้บริการที่ศิริราช หรือเคยมาเรียนที่ศิริราช ลองสังเกตดูจะพบว่าในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา ศิริราชไม่เคยหยุดซ่อมหยุดสร้างเลย กลับมาทีไรต้องมีสร้างอะไรตลอดเวลา จนดูเหมือนว่าพอสร้างตึกล่าสุดเสร็จก็ถึงเวลาที่จะต้องทุบตึกแรกเพื่อสร้างกันใหม่พอดี

แต่การก่อสร้างอาคารใหม่ๆ ล้วนแต่ต้องการเพิ่มศักยภาพในการรักษาพยาบาล เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นทุกปี จัดสถานที่เพิ่มเติมเพื่อรองรับเทคโนโลยีการรักษา รวมทั้งเพิ่มอาคารเฉพาะเพื่อการวิจัย ก็เพราะศิริราชมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นคณะแพทย์ระดับ World class ก็ต้องพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

สำหรับนักศึกษาแพทย์เอง ก็มีการสร้างหอพัก สถานที่ออกกำลังกาย ปรับปรุงห้องสมุด มี internet และ WiFi ให้ใช้ฟรี นอกจากนี้ยังมีการจัดทำ “แผนผังแม่บทศิริราช 30 ปี” (Siriraj’s master plan) ที่มีการกำหนดบริเวณสำหรับนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านเป็นพื้นที่สีเขียว residential area ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นพื้นที่เป็น prime area บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ศิริราชหวงแหนนักหนา วาดภาพอนาคตแล้วน้องรุ่นหลังๆ คงมีความสุขมากกกก

เสียงเล็กๆ ที่พี่รับฟังเสมอ

ถ้าน้องเคยแวะมาที่ศิริราช เมื่อก่อนจะเห็นแต่อาคารเก่าๆ หรือถ้าสร้างใหม่ก็จะทาสีโทนเทาๆ ทึมๆ แต่จะมีอาคารหลังหนึ่งชื่อ “อาคารศรีสวรินทิรา” ที่โดดเด่นเห็นมาแต่ไกล เพราะเป็นตึกเดียวในศิริราชที่ถูกทาด้วยสีเขียว เหลือง ฟ้า ต่างจากตึกอื่นที่ปราศจากสีสัน

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ เพราะเมื่อศิริราชตั้งใจจะสร้างอาคารเรียนใหม่สำหรับนักศึกษาแพทย์ ตอนแรกอาคารก็ไม่ได้ออกแบบให้มีสีสันอะไร ผู้บริหารยุคนั้นเห็นว่านักศึกษาเรียนกันหนักมากแล้ว จึงอยากสร้างบรรยากาศแปลกใหม่ ให้รู้สึกสดใส ผ่อนคลาย จึงเชิญศิลปินแห่งชาติมาช่วยออกแบบเพิ่มสีภายนอก แต่พอสร้างเสร็จแล้ว เสียงของคนในศิริราชกลับแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งโอเค อีกฝ่ายบอกว่าไม่ชอบเลย ถึงขั้นต้องทำประชาพิจารณ์เลยทีเดียว

เชื่อหรือไม่ คำตอบของนักศึกษาสมัยนั้นประมาณครึ่งหนึ่ง บอกว่า ตึกของศิริราชต้องเป็นสีทึมๆ เทาๆ 

แม้เรื่องนี้ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่มุมหนึ่งก็สะท้อนว่า ภาพลักษณ์ของศิริราชเป็นเรื่องที่เปลี่ยนยากมาก เพราะทุกคนจะซึมซับเข้าไปทีละน้อยโดยไม่ทันรู้ตัว แต่ก็เป็นตัวอย่างของการรับฟังเสียงของคนศิริราชเพื่อการพัฒนา หลังจากนั้นอาคารใหม่ของศิริราชเริ่มคำนึงถึงรูปลักษณ์ภายนอกด้วยหรือที่เรียกว่า ภูมิสถาปัตย์

สิ่งหนึ่งที่โรงเรียนแพทย์แห่งนี้ให้ความสำคัญมาก คือ เสียงของนักศึกษา อาจารย์ รวมถึงบุคลากรทุกระดับ หลายๆ เรื่องถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนา แต่การปรับเปลี่ยน การพัฒนาอาจต้องอาศัยระยะเวลา เพราะต้องมีขั้นตอนเพื่อให้แน่ใจว่าจะส่งผลดีกับคนส่วนใหญ่ ขั้นตอนของการจัดหาสถานที่ งบประมาณ และส่วนที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย บางอย่างที่สามารถทำได้เลยก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น การขยายเวลาเปิด-ปิดหอสมุดศิริราช การจัด Co-working Space ภายในหอพัก เพื่อให้ทุกคนเข้ามาใช้งานได้

แต่โปรเจกต์ใหญ่บิ๊กบึ๊มที่ถูกวางไว้ในอนาคตคือการปรับปรุงอาคารเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และการทุบตึกหอสมุดเพื่อสร้างตึกใหม่สูง 12 ชั้นเพื่อให้เป็น Co-working Space สำหรับน้องอย่างแท้จริง ถามว่าความฝันนี้จะเสร็จเมื่อไหร่ พี่คงยังตอบน้องไม่ได้ในตอนนี้ แต่อย่างน้อยก็อยู่ในแผน เพื่อน้องจริงๆ 

นี่ไงล่ะ เสียงเล็กๆ ของน้องที่จะทำให้เกิดสิ่งใหญ่ๆ และเป็นเสียงที่พวกพี่ได้ยินเสมอ

เช่นเดียวกับเรื่องการปรับหลักสูตรเพื่อให้น้องที่จบจากศิริราชมีคุณภาพมากกว่าเดิม แต่น้องมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น ตามเสียงของนักศึกษาทั้งที่จบไปแล้วและกำลังเรียนอยู่

สำหรับการเรียนในปีที่ 1 ได้มีการปรับลดวิชาที่ไม่ค่อยได้ใช้ในการเรียนแพทย์ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วพัฒนาวิชาใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังดึงบางวิชา เช่น วิชารากฐานร่างกายมนุษย์ ลงมาเรียนตั้งแต่ปี 1 มีวิชาเลือกที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้ปี 3 ได้ขึ้นวอร์ด เพื่อให้ได้สัมผัสกับคนไข้จริงๆ เร็วขึ้น จากเดิมที่เน้นแต่เรื่องทฤษฎี จนน้องๆ ไม่มีโอกาสสัมผัสคนไข้ เลยไม่ค่อยรู้สึกถึงความเป็นหมอ

ยังไม่หมดนะน้อง หลักสูตรใหม่ของศิริราชยังเพิ่มวิชาใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ปัญหาสังคมไทยในปัจจุบัน เช่น วิชาผู้สูงอายุ วิชาโรคมะเร็ง ที่เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของคนไทย มีวิชาการวิจัยที่ตั้งเป้าสอนให้น้องมีส่วนร่วมในงานวิจัย หรือวิชา Health Systems Science ซึ่งเป็นศาสตร์การแพทย์ที่กำลังมาแรงของโลก เพราะนำความรู้เรื่องการคิดเชิงระบบและศาสตร์อื่นๆ เข้ามาผสมกับแนวคิดเรื่องการสาธารณสุข

การปรับหลักสูตรที่เล่ามานี้ นอกจากเป็นการรับฟังเสียงของผู้เรียนและศิษย์เก่าแล้ว ยังทำให้หลักสูตรของศิริราชทันสมัย เหมาะกับโลกยุคใหม่ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ที่สำคัญยังช่วยให้น้องรู้ตัวได้เร็วขึ้นว่า ตัวเองเหมาะจะเรียนแพทย์จริงๆ หรือเปล่าอีกด้วย เพราะน้องจะได้สัมผัสประสบการณ์ (บางส่วน) ของชั้นปรีคลินิกและชั้นคลินิกเร็วขึ้น

เฮ่อ....ที่ทำมาเนี่ยใช้เวลานะน้อง บางทีหลักสูตรแพทย์ศิริราชในอีก 10 ปีข้างหน้าอาจจะไม่เหมือนเดิมเลยก็ได้ น้องอยู่ในยุค 5G ส่วนพี่อาจยังหลงอยู่ในยุค 2G แต่ก็พยายามใช้สมาร์ทโฟนอยู่นะ มาเหอะมาช่วยกันเพื่อให้ศิริราชเข้าสู่ยุค 6G ไปด้วยกัน

ไม่เรียนสายวิทย์ก็เป็นแพทย์ได้

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือแต่ก่อนคนจะสมัครเข้าคณะแพทย์ได้ ต้องเรียนสายวิทย์ตอนเรียนมัธยมเท่านั้น แต่ตอนนี้ไม่จำเป็นแล้วนะ ขอให้น้องสายไหนก็ตามสอบผ่านเข้าคณะแพทย์ให้ได้ก่อนอายุ 35 ปี ก็สามารถเรียนหมอศิริราชได้ งงไหมล่ะ???  ก็เพราะศิริราชมีแนวคิดว่า ยังมีน้องอีกหลายคนที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ อย่างบางคนมารู้ตัวว่าอยากเป็นหมอทีหลัง แต่บังเอิญเลือกเรียนสายศิลป์ไปแล้ว เช่นเดียวกับบางคนที่เรียนแพทย์ แต่สุดท้ายเปลี่ยนสายไปทำอย่างอื่นก็มี

แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าน้องที่เรียนสายอื่นมา ไม่ว่าจะเป็นสายศิลป์หรือสายอาชีวะ อาจเสียเปรียบเด็กสายวิทย์ไปบ้าง เพราะเด็กสายวิทย์เรียนฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยามาก่อนตั้ง 3 ปี แต่พี่ก็เชื่อว่า ถ้าน้องมีความตั้งใจจริง และพยายามอย่างเต็มที่ โอกาสแห่งความสำเร็จนั้นย่อมมีอยู่เสมอ อนาคตศิริราชก็จะมีลูกศิษย์ที่เป็นทั้งหมอและศิลปิน หรือสถาปนิกที่สามารถออกแบบโรงพยาบาลสวยๆ ที่ให้บริการอย่างลงตัวไปพร้อมๆ กันก็ได้

สร้างหมอเพื่อโลก

หลังจากการสร้างหมอที่เก่งและดีมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ตอนนี้ศิริราชเริ่มตั้งเป้าหมายที่อยากจะสร้างหมอไทยเพื่อสร้างประโยชน์ในระดับนานาชาติ เพราะนอกจากจะช่วยดูแลคนไทยให้ดีแล้วยังส่งผลดีในวงกว้างสู่มวลมนุษยชาติด้วย

ฟังดูแล้วเหมือนจะยิ่งใหญ่เกินไปหรือเปล่า แต่อย่าลืมว่าคนเรามีความฝันได้ และก็อย่าหยุดที่จะฝัน เพราะถ้าไม่ฝัน สิ่งนั้นจะไม่มีวันเกิดขึ้น ศิริราชจึงพยายามยกระดับเรื่องคุณภาพของงานวิจัย มาตรฐานการเรียนการสอนของนักศึกษา และความก้าวหน้าทางการรักษาพยาบาลด้วย เช่น การส่งเสริมให้นักศึกษาแพทย์มีส่วนในการคิดและสร้างผลงานวิจัยตามความสนใจของตัวเอง ผ่านโครงการ Siriraj Medical Student Research Award จนได้รับการตีพิมพ์ผลงานวิจัยเผยแพร่ในวารสารการแพทย์ระดับนานาชาติ หรือได้รับทุนไปเรียนต่อในต่างประเทศเลยก็มี

นอกจากนี้ คณะยังมีทุนสำหรับนักศึกษาแพทย์ที่ต้องการไปหาประสบการณ์ในโรงเรียนแพทย์ชั้นนำต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางที่น้องชอบในอนาคต เรียกว่าคณะพร้อมสนับสนุนเต็มที่

ยังไม่หมดแค่นี้นะ หลักสูตรใหม่ของศิริราชยังจัดให้มีทั้งวิชาเลือกเสรี  และกลุ่มวิชา Student Selected Modules ซึ่งมีหน่วยกิตรวมถึง 20 หน่วยกิต และให้เวลาเรียนมากกว่าวิชาเลือกเสรีทั่วไปด้วย เพื่อตอบโจทย์คนยุคใหม่ที่มีความสนใจที่หลากหลาย และไม่ได้สนใจเฉพาะเรื่องแพทย์อย่างเดียว น้องจะได้เรียนเชิงลึกในเรื่องที่ตนเองสนใจ โดยจะมีสาขาวิชาอื่นๆ เช่น วิศวชีวการแพทย์ เทคโนโลยี AI หรือการบริหารจัดการ จะได้ช่วยเสริมให้แพทย์ศิริราชมีแนวคิด และมีความสามารถกว้างขวางหลากหลายมิติ 

อีกโครงการหนึ่งที่ศิริราชเริ่มนำร่องไปแล้วก็คือ ‘โครงการ 6 ยกกำลัง 1’ ที่ศิริราชร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และคณะอื่นๆ ทั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล และของมหาวิทยาลัยอื่น เพื่อสร้างรายวิชาและหลักสูตรระดับปริญญาโท เปิดโอกาสให้นักศึกษาแพทย์ศิริราชที่มีความสนใจหลากหลายได้เลือกเรียนศาสตร์อื่นๆ ร่วมไปด้วยในระหว่างเรียนแพทย์ เรียกว่าภายในระยะเวลา 6 ปีเท่าเดิม แต่เมื่อน้องเรียนจบแล้ว น้องจะได้รับทั้งปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตและปริญญาโทในสาขาที่น้องเรียนเพิ่มด้วย ไงละ ปังไหมศิริราช

ทั้งหมดนี้ที่เล่ามาเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการพัฒนาของศิริราชเท่านั้น ความจริงยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังคงพัฒนาต่อไป มีการขยายพื้นที่การเรียนรู้ เช่น ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ ที่จังหวัดสมุทรสาคร ต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งอนาคตน้องๆ ก็จะได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องผู้สูงอายุที่นี่เช่นกัน

จากที่เล่ามา 6 ตอน น้องคงเห็นภาพชีวิตของอาชีพหมอชัดเจนขึ้นบ้างแล้ว รู้ข้อดี ข้อเสียและการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งของศิริราช สำหรับตอนสุดท้ายของ “ถ้าคิดจะเรียนหมอ เลือกศิริราชดีมั๊ย?” เราจะมาสรุปประเด็นทั้งหมด รวมถึงวิธีตกผลึกตัวเองว่า จริงๆ แล้วน้องควรจะเลือกเรียนแพทย์ดีไหม แล้วถ้าจะเลือก เลือกเรียนที่ศิริราชดีหรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป


อ่าน ตอนที่  1 :    ความสมบุกสมบัน และโลกแห่งความเป็นจริงของคน (อยาก) เป็นหมอ 
อ่าน ตอนที่ 2  :  การเรียนแพทย์เปรียบเสมือนการลงทุน
อ่าน ตอนที่ 3 : ชีวิตหมอมีอะไรมากกว่าที่คิด
่าน ตอนที่ 4 :  ชีวิตนอกเสื้อกาวน์ของหมอ
อ่าน ตอนที่ 5 : ดีเอ็นเอแบบศิริราช

แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น

ผปค. 26 มี.ค. 64 เวลา 18:18 น. 1

ขอบคุณครับ บางเรื่องไม่ทราบมาก่อน บางเรื่องได้เห็นศิริราชประชาสัมพันธ์บ้างแล้ว ได้อ่านจากพี่หมอแล้วเข้าใจมากขึ้นครับ

1
Win 3 เม.ย. 64 เวลา 19:18 น. 2

อยากสอบโครงการที่รับคนจบปริญญาตรีแต่อายุเกิน35 อยากให้เปิดเสรีเรื่องอายุด้วยครับ ยังไงก็เสรีเรื่องจบสาขาไหนมาเรียนได้ก็เอาให้สุดเสรีเรื่องอายุไปด้วยเลยก็ดีนะครับ

1
สวัสดีลุง 21 เม.ย. 64 เวลา 13:42 น. 2-1

อยากเสรีอายุลุงต้องไปสอบ กสพท แข่งกับเด็กม.6จ้า ถ้าเข้าทาง กสพท ไม่จำกัดอายุจ้า

0