Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รีวิวการสอบเข้า แพทย์แบบหมดเปลือก (รอบ 1 + รอบ 3) #Dek64

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สวัสดีครับน้องๆ อันนี้พี่เป็น #Dek  64 ที่จะมาแนะนำการสอบเข้าแพทย์ (จากประสบการณ์ส่วนตัวและประสบการณ์ของคนรอบข้าง)  ก่อนอื่นเลยเพื่อไม่ให้เสียเวลาน้องๆ อันนี้จะเป็นลิสต์ที่พี่ได้ลองสอบ/ ลองยื่นนะครับ  (แต่จะพยายามรีวิวอันที่เราไม่ได้ไปสอบจากประสบการณ์ของเพื่อนเราหลายๆคนด้วย เช่น ศิริราช/MD02/โควต้าขอนแก่น แต่อาจจะไม่ลึกเท่าที่เราไปสอบเองนะครับ)

-  แพทย์จุฬา  รอบ 1 , (มีสิทธิ์สัมภาษณ์แต่ตกสัมภาษณ์ครับ T_T sad)
-   แพทย์รามาวิศวะ ,   (มีสิทธิ์สัมภาษณ์แต่ไม่ได้ไปสัมภาษณ์)
- แพทย์ศิริราช โครงการโอลิมปิค (พลาดตั้งแต่สิทธิ์สัมภาษณ์เลยครับ 555+ sad)
/// แพทย์จะสัมภาษณ์ได้ แค่มหาลัยเดียวนะครับ เพราะวันสัมภาษณ์ส่วนใหญ่จะตั้งใจให้ชนกัน (แต่บางที่อาจจะไม่เหมือนกับคนอื่น เช่น เชียงใหม่ ครับ)
- กสพท ( 78.xx คะแนนครับ)

ส่วนอันนี้จะเป็นลิสต์ของคะแนนพี่ที่ได้ไปสอบมานะครับ (คะแนนที่ใช้ส่วนใหญ่น่าจะใช้กับการสอบแพทย์ได้ แต่บางอันแบบ SAT กับ SAT subject ยังไม่เคยเห็นที่ไหนใช้นะครับ เวลาดูโครงการก็ดูดีๆด้วยว่าใช้อะไรบ้าง)

คะแนน กสพท.  :  208.xx 
GAT : ก็ยังไม่ออกครับ แต่น่าจะอยู่ประมาณ 280 ต้นๆ (เราอยู่เชื่อมโยงผิดทีมคะแนนเลยเป็นอย่างที่เห็น 555+) 
BMAT  September  2020 (Part 1 : 6.6 Part 2 : 6.5 Part 3: 2B รวม 15.1B)
IELTS   :  overall 7.5 (Reading: 9 Listening: 9 Writing: 6 Speaking: 6.5) 
Toefl ITP : 650 
คะแนน SAT  (1400)  : SAT verbal : 610  , SAT MATH : 790
คะแนน SAT Subject  :  Physics 800 Math 800, Chem 750

เกริ่นนิดนึง

        จริงๆคือแผนตอนแรกในการเรียนต่อของเราคือการไปยื่นวิศวะนะครับ แต่ว่าเรามาเปลี่ยนใจเข้าแพทย์กะทันหันตอนเหลือเวลาอีกประมาณ  7 เดือน  555+ (เผื่อน้องบางคนสงสัยว่าจะสอบ SAT/ SAT subject ไว้ทำไม)  ดังนั้นการเตรียมตัวของ จขกท ก็จะดูรีบๆด้วยครับ  และมันก็เป็นเหตุผลที่วันนี้เราอยากจะมาเขียนกระทู้แนะนำน้องๆหลายๆคนด้วย เพราะตอนเราเตรียมตัวมาแบบกะทันหันเราก็หา source การเตรียมตัวที่เหมาะกับเราไม่ค่อยได้เลยครับ (คือ จริงๆแล้วของแบบนี้มันมีเยอะอยู่ในกระทู้อ่ะแหละ แต่ว่าถ้าเราเขียนเพิ่มไปอีกน้องๆน่าจะได้มีตัวเลือกเพิ่มขึ้นใช่มั้ยล่ะ ว่าจะอ่านของใครที่เหมาะสำหรับตัวเอง ของเราที่ไปเจอมาคือ บางอันก็สั้นไป บางอันก็เขียนโดยพระเจ้าที่เทพเกินคน เราก็เลยอยากจะเปิดตัวเลือกให้น้องๆได้อ่านของเราที่ไม่ใช่คนเก่งขนาดนั้นแต่ได้ลองไปสอบมหาลัยที่แข่งขันสูงๆดูบ้างนะ เออ XD)

       แล้วสิ่งที่เราจะรีวิวก็จะมีประมาณ  การเลือกรอบการสอบที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง (สำคัญนะเฮ้ย!!) การเตรียมตัวในแต่ละรอบที่สอบเข้า(พวกหนังสือที่อ่านหรือ source ในการหาความรู้) การเตรียมพอร์ตและประเภทผลงานต่างๆ ที่ต้องยัดลงพอร์ตให้ดู รวมถึงแนวคำถามที่เราไปสัมภาษณ์ด้วย(จริงๆอันหลังสุดมันติดลิขสิทธิ์นะครับ จะพูดมากก็ไม่ได้ แต่คงบอกวิธีการเตรียมตัวได้อยู่)

       กระทู้นี้จริงๆก็วางแผนให้อ่านได้ตั้งแต่เด็กที่อยู่ ม .ต้น ยันคนที่กำลังไฟลนเลยครับ (แต่เด็ก ม.ต้น ที่รู้ตัวเองแล้วจะได้เปรียบกว่าครับ เพราะการเตรียมพอร์ตบางอย่างเช่น โครงงาน/ สอวน. หรือพอร์ตอื่นๆบางอัน จะใช้เวลานานมาก)
Ps. ถ้าเขียนไม่หมดเดี๋ยวมาต่อในคอมเม้นท์นะครับ เพราะเราเขียนเยอะเหลือเกินจนมันน่าจะเกิน 20,000 ตัวอักษรแล้ว 

คะแนนและการสอบที่ต้องใช้

    อันนี้จะเป็นคะแนนต่างๆที่ควรจะสอบเอาไว้ถ้าอยากเตรียมจะเป็นแพทย์นะครับ (อาจจะไม่ต้องใช้หมดก็ได้ ควรศึกษาแนวทางของโครงการที่ตัวเองสมัครดูนะครับหรือดูด้านล่างได้เลย -W- )

1. 9 วิชาสามัญ และ ความถนัดแพทย์ กสพท.
       
อันนี้จะเรียกได้ว่าเป็น Bread&Butter ของการสมัครแพทย์เลยก็ได้ครับ เพราะการเข้ามหาลัยผ่านระบบส่วนกลางรอบ 3 (รอบหลัก) จะต้องใช้คะแนนทั้ง 2 อย่างนี้ เป็นไปได้ควรจะเตรียมคะแนนนี้ไปให้ดี(ถึงแม้อยากจะเข้ามหาลัยใหญ่ๆต่างจังหวัด) เพราะจะเป็นการรองรับที่ดีเผื่อพลาดรอบ 1 หรือ รอบ 2 ครับ 

       การเตรียมตัวแต่ละวิชา
  
                    
     1. วิชาเลข
 วิชาเลขเราเป็นแฟนหนังสือของณัฐ อุดมพาณิชย์ครับ เราซื้อมาหลายเล่มเลย เช่น Crack, Syntax , Vaccine 
 หรือแม้กระทั่งเล่ม 25 พศ  ก็ซื้อ โดยรวมแล้ววิชาเลขไม่มีอะไรมากแค่ Spam โจทย์รัวๆจนกว่ามันจะเข้าสมองเราอ่ะครับ (หรือลองทำข้อสอบอื่นๆ เช่น โควต้า มข ด้วยก็ดีครับ (โควต้านะ ไม่ใช่สมรรถนะ มข)) ถ้าจะให้ดีควรจะทำข้อสอบเก่าให้เยอะๆแล้วควรจะวัดคะแนนครับ (แต่ สสวท ดันเปลี่ยนแนวปี 64 เลยทำให้เลขง่ายขึ้นครับ ระวังด้วย ลองอ่านดอกเบี้ยไปด้วยครับ เราไม่ได้เต็มโอเน็ตเพราะคำนวณดอกเบี้ยผิดนี่แหละ 555+)

2. วิชาชีวะ

เราอ่านเล่มปลาหมึกกับซื้อ Bio map ของพี่วิเวียน ondemand มาจำครับ แล้วว่างๆก็ทบทวนสไลด์ของอาจารย์ที่มี (เราคิดว่าถ้าไม่ใช่เด็กสายชีวะแข่งขันไม่ควรซื้อปลาหมึก  หรือหนังสือ campbell มาอ่านนะครับ(จริงๆต่อให้สายแข่งขันก็ไม่ควรอ่านcampbell นะ) น้ำเยอะพอสมควรเลย แนะนำเต่าทองไม่ก็ปูดีกว่า Ps. ถ้าสงสัยว่าผมพูดถึงหนังสืออะไรให้ลองเสิร์ชว่า หนังสือชีวะปลาหมึก หรือ หนังสือชีวะปูก็ได้ Ps.2 ส่วนตัวไม่แนะนำเล่มสิงโตของติวเตอร์พอยน์นะครับ) ส่วนโจทย์ลองทำ "อ่านขาดชีวะ" ครับ โจทย์ดีมากๆ แต่ส่วนใหญ่ก็กวนมากๆเช่นกัน (ทำไประวังหัวร้อนนะครับ) หรือลองโจทย์ ชีวะ 15 พ.ศ.ก็ดีครับ (จำถึกสุดๆ แต่ถ้าทำได้ก็คือ 9 วิชาจะ EZ เลย)

3. วิชาเคมี

เราอ่านหนังสือ คัมภีร์เคมี ของสำนักพิมพ์ พ.ศ. พัฒนาครับ ใช่ครับ เล่มที่หนาๆสีม่วงและฆ่าคนได้แหละ เล่มนี้จะถูกอ้างอิงเป็นเนื้อหาครับ(หรือที่แนะนำอีกเล่ม คือ หนังสือ อ.ราณี เคมีทั่วไป  ซึ่งตอนนี้ขาดตลาดมากๆด้วย 555) ส่วนเล่มโจทย์เราจะใช้  หนังสือ Hack โจทย์ 9 วิชา เคมีของ Gambatte และเล่ม เคมี 15 พ.ศ. แต่ส่วนตัวไม่แนะนำหนังสือ Ultra Chemistry ของ tutorpoint ครับ (เรามี KTIPS ที่ ondemand แถมมาตอนสั่งซื้อ Bio map ด้วย 555+ ใครยังไม่มีแนะนำลองขอยืมเพื่อนนะครับ ของดีมากๆ)
  
4. วิชาฟิสิกส์ 

  เล่มเนื้อหาเราอ่าน serway physics(มีแปลไทยนะเออ ลองไปหาซื้อดู) อย่างเดียวเลยครับ (ไม่เชียร์ young ครับ น้ำเยอะ 5555+ (แต่คนแปล young โหดมากๆนะครับ ก็ลองไปอ่านดูได้ๆ))  ส่วนโจทย์เราทำแค่เล่มอ่านขาดฟิสิกส์ (เล่มนี้โจทย์ผิดเยอะพอสมควรอยู่นะครับบางข้อโจทย์ผิดยันนิยามง่ายๆเลย เช่น นิยาม simple harmonic ที่ผิดและมีข้อนึงมี cos 90 = 1 อ่ะครับ, แต่โจทย์ส่วนใหญ่ก็ดีมากเช่นกันครับ แนะนำให้อ่านๆ) + ทำข้อสอบเก่าครับ(จริงๆลองสมัครเว็บบอร์ด mpec แล้วลงไปทำข้อสอบเข้า สอวน ค่าย 1 ศูนย์กรุงเทพด้วยก็ดีครับ จะง่ายกว่าข้อสอบสามัญนิดนึงแต่แนวเดียวกันเลยครับ (ก็คนออกน่าจะคนเดียวกันอ่ะ -.- )) แต่ถ้าใครยังอยากทำแนวข้อสอบวิชาสามัญฟิสิกส์เพิ่มอีกแนะนำหนังสือ David J.Morin Classical mechanics กับ A guide to physics problem  ครับ (สองเล่มหลังพูดเล่นเฉยๆนะครับ อย่าไปทำ มันยากมากๆ 555+)

Edit 1: หนังสือ serway เนื้อหาจะเริ่มเข้ามหาลัยแล้วนะครับ ใครยังพื้นฐานไม่แน่นลองหาหนังสืออื่นดูก็ได้ ผลลัพธ์น่าจะไม่ต่างกันมากสำหรับการใช้สอบระดับมัธยมปลาย
Edit  2:มีโจทย์อีกเล่มที่ดีมากๆครับแต่ลืมพูดไปในรอบแรก เป็นเล่มเขียวๆ เดี๋ยวใส่ลงใน อ้างอิงหนังสือให้นะครับ vvvvvv
หนังสือฟิสิกส์  กสพท : https://www.se-ed.com/product/แนวข้อสอบฟิสิกส์-9-วิชาสามัญ-กสพท.aspx?no=9786164552814

5. วิชาภาษาไทย

วิชานี้เราใช้หนังสือ เตรียมสอบ 9 วิชาสามัญ ของ อ.ขลุ่ย (อ. คนนี้แกจะดังเรื่อง GAT เชื่อมโยงครับ Farose academy แนะนำหนังสือ GAT อาจารย์แกเลย ดีมากๆ) วิชานี้ไม่มีอะไรมากครับ แค่ตอบสิ่งที่โจทย์ต้องการ แต่ต้องฝึกนิดหน่อยแค่นั้นเอง (สายศิลป์ควรทำ 10 ข้อแรกให้ถูกเยอะๆนะครับ ส่วนสายวิทย์ก็ไปเสี่ยงโชคเอา)

6. วิชาภาษาอังกฤษ

เราใช้หนังสือแนวข้อสอบ 9 วิชาสามัญ ที่มีสีเหมือนกล้วยจุ่มช็อคโกแล็ตของอาจารย์ ศุภวัฒน์ พุกเจริญ ครับ ดีมากๆ แนะนำว่าทำแต่ละชุดให้เกิน 84+ ก็น่าจะโอเคแล้วครับ เพราะมันยากพอสมควรเลย 555+

7. วิชาสังคมศึกษา

เป็นวิชาเจ้าปัญหาสุดแล้วครับ วิชานี้สิ่งเดียวที่เราทำได้คืออ่านหนังสือเท่าที่ทำได้ + ภาวนากับพระเจ้า ว่า สทศ.จะเมตตา (ไม่ได้พูดเกินจริงเลยนะครับ สทศ. ปี64 เหมือนจะฆ่าเด็กอ่ะครับ T_T) หนังสือที่เราแนะนำคือหนังสือสังคมศึกษาของพี่บอล  "สรุปสังคม ม ปลาย" และหนังสือ อาจารย์ชัย "Fight for university" ที่เรียนก็แนะนำ Davance / Kru pop ครับ 

8. วิชาความถนัดแพทย์

เราเรียนพิเศษกับ ondemand ครับ วิชานี้เราควรจะแก้ปัญหาการอ่านหนังสือของเราด้วยเงินจะเป็นการดีที่สุดครับ  (เพราะมีแนวข้อสอบเยอะมาก แถมคอร์สจริยธรรมยังดีมากๆครับ) และที่สำคัญคือเราต้องชำระจิตใจให้สะอาดและหมั่นเป็นคนดีช่วยเหลือผู้อื่นเยอะๆด้วยนะ คะแนนจะได้ดีขึ้น(เฮ้ย ไม่ได้พูดเล่นนะครับ ความถนัดแพทย์พาร์ทจริยธรรมถ้าอยากจะได้คะแนนสูงเนี่ยต้องเป็นคนดีจากก้นบึ้งของจิตใจเลยนะ จะทอแหลไม่ได้นะครับ ยากมากๆ)

การสอบ BMAT 

ส่ววนใหญ่จะใช้กับรอบพอร์ตครับ จริงๆถ้าไม่อยากเข้ารอบนี้ก็ไม่สอบก็ได้(แต่ถ้าพอมีเงินอยู่ก็สอบเหอะครับ 555+ )
รายละเอียดคะแนนจะมี 3 พาร์ทครับ
Section 1 - เชาว์และทักษะการใช้ภาษา (9 คะแนน)
Section 2 - วิทยาศาสตร์ทั่วไป (9 คะแนน)
Section 3 - essay(5 คะแนน กับ Quality of writing มี A B C D E, A = ดีสุด ส่วน E  = เลวร้าย)

ก่อนอื่นเลยนะครับ ต้องขอเตือนน้องๆหลายคนก่อนเลยนะ ว่าการสอบ BMAT ควรจะเตรียมล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 เทอมนะครับ (อย่าทำแบบ จขกท ที่เตรียมล่วงหน้า 2 อาทิตย์ก่อนสอบ 555+)  โดยเฉพาะ essay เนี่ย ถึงแม้หลายๆมหาลัยจะไม่ได้ใช้ แต่ถ้าจะเข้าจุฬา/มศว  อินเตอร์ ถ้ามี essay เยอะๆจะมีความได้เปรียบอยู่นะครับ เพราะมันเป็นพาร์ทที่ต้องใช้การฝึกสุดแล้ว คำแนะนำคือให้หาหนังสือเตรียม BMAT (เช่น เล่ม700 Question หรือ Mastering BMAT exam ก็ดีครับ) ส่วน essay ฝึกยากครับ ต้องเรียนพิเศษเพราะว่าจะได้หาคนดู essay เราได้ว่าควรจะได้คะแนนเท่าไหร่(แนะนำ ignite นะครับ ผมเองก็ไม่ได้เรียน แต่ได้ยินจากเพื่อนคนที่ได้ประมาณ 19 ว่ามันเรียนนี่แหละ เลยเอามาแนะนำ 555+) ส่วนพาร์ตที่เหลือจะฝึกกับข้อสอบเก่าก็ได้ครับ(หาได้ง่ายมากๆครับลองเสิร์ชดู จริงๆลองทำข้อสอบที่ใกล้เคียงกับแบบข้อสอบ TSA ก็ได้นะ หาง่ายเหมือนกัน)
Edit 2 : จริงๆ  Essay ให้อาจารย์อังกฤษตรวจด้วยก็จะช่วยได้มากเหมือนกันนะครับ อยากให้ลองดูๆ

Ps. ตอนสมัคร BMAT แนะนำว่าสมัครกับ Cap wise นะครับ เพราะ อีกที่นึงนอกจากจะแพงกว่าแล้ว กรรมการยังโคตรโหดเลยครับ (แบบเขียนเลยไป 5 วิ แล้วโดนกาหัวอ่ะครับ บรื๋ออออ, แต่ to be fair คืออีกสนามสอบจะหรูกว่า cap wise พอสมควรครับ 555+)

การสอบ IELTS (IELTS Academic เท่านั้นนะ อย่าสอบ IELTS General)

IELTS เป็นข้อสอบวัดระดับที่ versatile ที่สุดแล้วครับ (ยื่นที่ไหนก็ได้ ทั้ง U ต่างประเทศ แพทย์ หรือ ทำงานก็ได้)
แต่จะเป็นข้อสอบที่มีการวัดทักษะครบทั้ง 4 ทักษะเลยครับ ได้แก่ Listening Reading Writing และ Speaking ครับ โดยแต่ละพาร์ทจะคะแนนเต็ม 9 ครับ การหา Overall คือการเอาคะแนนทุกพาร์ทมารวมกันแล้วหาร 4 แล้วก็ปัดขึ้นปัดลง ก็จะได้สิ่งที่เรียกว่า Band ของเราครับ (ฺBand IELTS = overall อยากรู้ก็ลองเสิร์ช  IELTS Band Calculator ดูครับ) 

IELTS ตัวนี้มีข้อเสียคือมันแพงมากครับ การสอบกับ British council ราคามันจะประมาณ 7000 เลยทีเดียว ดังนั้นถ้าใครงบน้อยแนะนำ CU-TEP ครับ (ยื่นได้ คือๆ กันแหละครับ ถ้าจะสอบแพทย์)

 วิธีการเตรียมตัวแต่ละทักษะมีดังนี้ครับ

1. Listening  & Reading -> 2 ตัวนี้จะเป็นตัวเก็บคะแนนหลักครับ เป็นตัวที่ขึ้นอยู่กับกรรมเก่าของเรามากๆ แต่ก็สามารถฝึกได้เช่นกัน ลองหาแบบฝึก Listening กับ Reading ทั่วไปหรือของ ielts ก็สามารถฝึกได้ครับ

2. Speaking  & Writing ->  2 ตัวนี้ฝึกยากครับ แนะนำให้ลองฝึกหาหัวข้อ speech หรือ essay ตาม internet แล้วให้ครูภาษาอังกฤษที่เก่งที่สุดในโรงเรียนลองวิจารณ์พวก grammar และ coherency ของ essay ดูครับ สองตัวนี้จะเหมือน BMAT Section3/essay เลย ตรงที่ว่าคนฝึกเยอะจะได้เปรียบครับ หรืออีกวิธีนึงคือการแก้ปัญหาด้วยเงิน เช่น การไปเรียน ignite ครับ (เขาไม่ได้จ่ายสปอนเซอร์ผมนะครับอย่าเข้าใจผิด ถ้าให้แนะนำอีกที่ที่เพื่อนผมไปเรียน ก็ครูเจี๊ยบอ่ะครับ) วิธีนี้จะทำให้มีคนตรวจ essay  เราพร้อมกับซ่อมการพูดเราได้ดีขึ้นมากๆด้วยครับ (จริงๆถ้าเราไม่อยากฝึก 2 ทักษะหลังก็เลี่ยงไปสอบ CU-TEP / Toefl ก็ได้นะครับ ถ้าไม่ได้วางแผนเข้า U ต่างประเทศ)

การสอบ สอวน.

เอาหล่ะครับ อันนี้เป็นโครงการที่ไม่ต้องสอบก็ได้ แต่ก็เป็นอย่างนึงที่จะสามารถทำให้พอร์ตเราสวยขึ้นมากๆได้ครับถ้าเราจะยื่นรอบ 1 ถ้าใครยังไม่รู้จักโครงการนี้ โครงการนี้ก็คือโครงการโอลิมปิควิชาการครับ  โดยโครงการโอลิมปิควิชาการจะมีหลายวิชา เช่น เลข ฟิสิกส์ ชีวะ เคมี  ดาว ภูมิศาสตร์ คอม เป็นต้นครับ  โดยแต่ละวิชาอาจจะมีการคัดไม่เหมือนกัน แต่จะมีการคัดคร่าวๆประมาณนี้ครับ

- รอบที่ 1 ระดับศูนย์ย่อย เป็นรอบแรกสุดที่จะได้เข้าโครงการนี้ครับ โดยแต่ละมหาลัยที่เป็นเจ้าของศูนย์อาจจะมีศูนย์ย่อย 1-2 ศูนย์ เพื่อที่จะให้โอกาสเด็กเข้ามาเรียนประมาณ 15 วันครับ(รับเด็กมาศูนย์ย่อยละประมาณ 30- 40 คน ซึ่งต้องสอบเข้าแข่งกัน) รอบนี้เนื้อหาที่สอนก็จะต่างออกไปในแต่ละศูนย์ครับ แต่ทางที่ดีคือรีบเรียน ม.ปลายให้ได้ส่วนหนึ่งตอนอยู่ม.ต้น แล้วลองมาสมัครดู การเรียนจะได้ง่ายขึ้นครับ จุดประสงค์ของรอบนี้คือการคัดเด็กเพื่อที่จะไป รอบ 2 ครับ

- รอบ 2 ระดับศูนย์ใหญ่ รอบนี้จะเป็นรอบที่เด็กส่วนหนึ่งจากรอบ 1 จะโดนคัดออกครับ รอบนี้เนื้อหาที่เรียนในวิชานั้นๆก็จะมีความยากขึ้นด้วย จุดประสงค์ของรอบนี้คือการคัด คนที่เรียกว่า "ผู้แทนศูนย์" เพื่อที่จะไปแข่งชิงเหรียญระดับประเทศครับ โดนส่วนใหญ่ผู้แทนศูนย์จะถูกคัดไปศูนย์ละ 6 คน จากเด็ก 40 คนครับ (ยกเว้นบางศูนย์เช่นศูนย์ในกรุงเทพจะคัดไป 18 คน ครับ)  สำหรับใครที่มาถึงรอบนี้ได้ก็โอเคแล้วครับ ถือว่าเก่งมากแล้ว

- รอบที่ 3 ระดับประเทศ เป็นรอบชิงเหรียญครับ จุดประสงค์ของรอบนี้คือการนำเหรียญไปใส่พอร์ตและการเข้าค่าย สสวท ครับ (การมีเหรียญจะทำให้พอร์ตดูดีขึ้น + มีแพทย์บางรอบที่รับแค่ผู้แทนเท่านั้นด้วยครับ เช่น ม อุบล หรือ ม มหิดล ครับ) 

- รอบที่ 4 คือ ค่าย สสวท ซึ่งอาจจะแบ่งเป็น 1 รอบ หรือ 2 รอบ ก็แล้วแต่่วิชาครับ   รอบนี้มีจุดประสงค์คือการคัดผู้แทนประเทศไปปีละ 4 คนครับ (แต่บางวิชาเช่น ฟิสิกส์ อาจจะมีการคัดไปแข่งอื่นๆ ด้วย เช่น แข่ง APHO หรือ อาจจะได้มีโอกาสไปเที่ยวที่ CERN ด้วยนะครับ ว้าวๆ)  ซึ่งถ้าได้เป็น ผู้แทนประเทศเนี่ย อย่าว่าแต่หมอเลยครับ การหาทุนเรียนที่ U ดังๆ ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วย (เช่น NUS ที่สิงค์โปร์จะมีทุนสำหรับผู้แทนประเทศโดยเฉพาะครับ) *** แต่ใครที่มาถึงขั้นนี้ก็ระวังด้วยนะครับ เพราะถึงแม้ว่าแทบจะไม่มีโอกาสพลาดรอบพอร์ตเลย(โอกาสน้อยมากๆ แบบ 0.0001%) แต่ก็มีคนเคยพลาดนะครับ ดังนั้นอย่าลืมเตรียมรอบ 3 ด้วยนะครับ

การสอบ SAT/SAT Subject

อันนี้เป็น Bonus นะครับ เพราะไม่น่าจะได้ใช้สำหรับแพทย์เท่าไหร่ แต่การแนะนำจะสั้นมากๆ ครับ คือ ลองหา เว็บ Crack SAT ทำดูครับ (จริงๆพี่ไม่สนับสนุนของผิดลิขสิทธิ์นะครับ ดังนั้นน้องๆต้องทำผิดเองและอย่าบอกว่าพี่แนะนำนะครับ จุ๊บๆ) หรือไม่ก็ซื้อหนังสือมาทำเลยก็ได้ครับ  อ่อแล้วก็ท่องศัพท์เฉพาะไปสำหรับคนที่จะทำ SAT Subject Chemistry/Biology E/M ด้วยครับถ้าไม่ท่องคะแนนอาจจะแตกพ่ายแบบผมก็ได้นะครับ 555

Ps. ใครจะสอบแนะนำทำให้ได้ 800 เต็มสำหรับ SAT Subject นะครับ
Ps.2 จริงๆถ้าอยากได้ตัวช่วยก็ไปเรียน ignite ก็ได้นะครับ 5555+

รีวิวแนวทาง/โครงการในการสอบเข้าแพทย์ที่แนะนำให้น้องๆลองพิจารณา.>-< 

ในการสอบเข้าแพทย์จริงๆแล้วไม่จำเป็นต้อง rush ไปสอบรอบ 3 ก็ได้ครับ เพราะหากเราเปิดตัวเลือกของเราดูจริงๆแล้วก็จะพบว่ามันมีตัวเลือกที่อาจจะเหมาะสมสำหรับเรามากกว่า ไม่ว่าจะด้วยจังหวัดของมหาลัย/ ลักษณะของข้อสอบ หรือแม้กระทั่งสายการเรียนกับแพชชั่นของเราด้วยครับ แต่ละโครงการมีความต้องการที่ต่างกันออกไป ดังนั้นการเลือกโครงการที่เหมาะสมก็จะช่วยให้เรามีโอกาสสอบติดได้มากขึ้นครับ

Ps. ก่อนที่จะอ่านคำแนะนำของเรา อยากให้น้องๆทราบก่อนว่าพอร์ตของน้องอาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกับที่แนะนำทั้งหมดนะครับ  เพราะทุกโครงการมี outlier เป็นของตัวเอง ดังนั้นหากผลงานไม่ตรงก็อย่าเพิ่งเสียกำลังใจเน้อ (บางคนผลงานที่เกี่ยวข้องมีน้อยแต่ก็มีคุณค่านะครับ บางคนยื่น เกรด + คะแนนที่ตรงตามเกณฑ์ก็เข้าได้เลย แต่ถ้าใครฝืนยื่นทั้งๆที่ไม่ผ่านเกณฑ์พื้นฐานแล้วมางอแงอันนี้ก็ไม่ควรนะครับ owo)

1. โครงการ กสพท. (สอบรอบ 3 อ่ะแหละ)

     - อันนี้เป็นโครงการสำหรับใครที่อยากจะเข้ามหาลัยในตัวเมืองครับ เพราะว่าที่พี่สังเกตมาเป็นแพทเทิร์นเลยก็คือ มหาวิทยาลัยต่างจังหวัด เช่น ม.ขอนแก่น หรือ ม.เชียงใหม่  จะเน้นการรับด้วยโควต้าหรือพอร์ตมากกว่าครับ ดังนั้นหากน้องๆคนไหนที่อยากเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยต่างจังหวัด แนะนำให้น้องเน้นเตรียมตัวเข้าโครงการของทางมหาลัยนั้นๆเลยจะดีกว่าครับ (ทั้งนี้เพราะว่าอัตราส่วนการรับของทางนั้นจะมากกว่ามากๆ เช่น มหาลัยขอนแก่นรับรอบ 3 แค่ 20 คน  จาก เกือบ 300 คนอ่ะครับ T_T) แต่ถ้าน้องๆคนไหนอยากเข้ามหาลัยที่เน้นรับทางนี้เป็นหลัก เช่น มหิดล หรือ จุฬา รอบนี้จะเป็นรอบตัดสินชีวิตของน้องเลยนะครับ 555+ เพราะคนส่วนใหญ่จะมาสอบกันทั้งนั้น (Ratio 40,000 ต่อ 1300 อ่ะ) 

คะแนนที่ต้องใช้สำหรับรอบนี้ คือ 9 วิชาสามัญ และความถนัดแพทย์ครับ

2. โครงการ MD02 และ MDX


   -อันนี้โครงการรับเข้ารอบพอร์ตของมหาวิทยาลัยขอนแก่นครับ โครงการสองโครงการนี้จะมีข้อแตกต่างกันอยู่ที่ 
MD02 (รับ 76 คน) --> รับแค่เด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนที่อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครับ  (เช่นตัวเราเองที่บ้านอยู่กาฬสินธุ์แต่เรียนอยู่ภาคกลางก็ยื่นไม่ได้นะเออ -_- ดังนั้นใครอยู่ภาคอีสานแล้วอยากไปเรียนเตรียมอุดม,มหิดล หรือ กำเนิดวิทย์ แต่ยังอยากเข้าแพทย์ขอนแก่น ควรพิจารณา Home  field advantage ข้อนี้ด้วยนะครับ 555+)
MDX (รับ 44 คน)--> ใครยื่นก็ได้ครับ  (เด็กกรุงเทพเข้ามายื่นเยอะมากครับ 555+ รวมถึงเพื่อนเราที่มาจากขอนแก่นแล้วมาเรียนภาคกลางด้วย(เอ๊าาา...) )

ข้อดีของ 2 โครงการนี้คือ จะเป็นโครงการที่ช่วยให้คนหลายๆคนที่มีศักยภาพสามารถเรียนแพทย์ได้ง่ายขึ้นมากๆครับ  เป็นรอบที่เหมาะสำหรับเด็กกิจกรรมไปแลกเปลี่ยน ,เด็กสอวน. ต่างๆ หรือเด็กโครงงานก็ดีครับ เพราะคะแนนภาษาอังกฤษ และคะแนนพอร์ตวิชาการจะค่อนข้างสูงในรอบนี้ครับ (โดยเฉพาะคะแนนภาษาอังกฤษที่จะมีการแบ่งเกณฑ์คะแนนอย่างชัดเจนเป็น 3 ระดับ) แต่เกณฑ์นี่คัดคนออกเยอะพอสมควรเลยคือ เกณฑ์ BMAT ที่ต้องได้ part 1 + part 2 มากกว่าหรือเท่ากับ 9 คะแนนครับ (แนะนำว่าถ้ามีโอกาสควรสอบมากกว่า 1 รอบครับ)

คะแนนที่ต้องใช้ :

BMAT (part 1 + part 2 : ต้องได้มากกว่าหรือเท่ากับ 9 ครับ ส่วน essay ทำเท่าที่ทำได้พอครับเขาไม่เอามาคิด) // ราคาสอบ BMAT ประมาณ 6900 บาทนะครับ เตรียมเงินเอาไว้ด้วย 
IELTS (Overall 5.0 ขึ้นไป) หรือ TOELF ประเภทต่างๆ  หรือ CU-TEP (68 ขึ้นไป) // สำหรับน้องคนไหนที่ทุนน้อยแนะนำสอบ CU-TEP ก็ได้ครับเพราะราคาน่าจะถูกสุดแล้ว) 
อ่อ แล้วก็อย่าลืมทำเกรดให้มันดีๆนะครับ ทางทีดีอย่าให้ต่ำกว่า 3.3 เลย (เกณฑ์เขาบอก 3.00 ครับ แต่ถ้าไม่ทราบวิธีคำนวณเกรดก็แนะนำว่าอย่าทำให้ต่ำกว่านี้จะดีกว่าครับ)

3.รอบพอร์ตจุฬา
   ถึงแม้ว่ารอบนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นรอบที่เป็นรอบภาษาอังกฤษก็จริง แต่คะแนนทางวิชาการก็สำคัญมากๆนะครับ (พวกโอลิมปิค โครงงาน หรือสอบแข่งขัน มีอะไรยัดลงให้หมดครับ)  และรอบนี้มีเกณฑ์ที่สำคัญอยู่ 2 อย่างนอกจากพอร์ตที่จะเป็นตัวคิดคะแนนสำคัญครับ นั่นก็คือ IETLS(จริงๆมีพวก CU-TEP หรือ Toefl ด้วยครับ แต่เนื่องจากผมไม่ค่อยรู้จักคะแนนเหล่านี้เพราะส่วนใหญ่อยู่กับ IELTS มากกว่า เลยขออนุญาตเปรียบเทียบคะแนนเป็น IELTS ก่อนนะครับ) และ   BMAT

IELTS : รับ overall 7 ขึ้นไปครับ โหดสัสพอสมควรเลย (จริงๆฐานนิยมคนยื่นคือ 7.5 - 8 นะครับ)

ฺBMAT : ไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำครับ แต่มีเกณฑ์ที่ไม่ทางการที่ถูกสังเกตโดยรุ่นพี่ที่ผ่านมาหลายๆรุ่น มีดังนี้ครับ

1. Section 1 + Section 2 : ควรจะได้ 12 ปลายๆขึ้นไปถึงจะรอด (ถ้าต่ำกว่านี้แล้วไม่มีคะแนนจากพอร์ตหรือ IELTS มาช่วย โอกาสบินสูงมากครับ)
2. Section 3/essayต้องได้ Quality of writing : ฺ B ขึ้นไปครับ (ถ้าได้ต่ำกว่านี้โอกาสบินสูงมากๆครับ ระวังกันด้วย ,Edit 3: คนส่วนใหญ่ได้ B ขึ้นอยู่แล้วนะครับ ไม่ต้องกลัวส่วนนี้มาก 555 )
3. Section 3/essay ควรจะได้ 2-3 คะแนนอย่างต่ำครับ
หรือ ถ้าจะสรุปสั้นๆคือ part 1 + part 2 + part 3 ควรจะได้ 15ฺ B ถึงจะดีครับ แต่ตำนานเล่าว่าต่ำสุดประมาณ 13.7 ฺB นะครับ (ตัวผมเองก็อยู่สูงกว่าเกณฑ์นี้นิดเดียวเองครับ T_T)
รอบนี้จะรับคนไว้สัมภาษณ์ประมาณ 60 คนครับ แต่จะมาสัมภาษณ์จริงแค่ประมาณ 49 คน ดังนั้นอัตราการแข่งขันหลังสัมภาษณ์จะประมาณ 2:1 ครับ (แต่คนยื่นพอร์ต 300 คนนะ)
รอบพอร์ตนี้อาจจะเหมาะสำหรับคนที่ไปทำกิจกรรมมากกว่าเด็กสายแข่งขันทางด้านวิชาการครับ  (แต่ต้องเก่งทั้งคู่เลยนะ อาจจะแค่กิจกรรมเด่นกว่าเฉยๆ)

Ps. ได้ยินมาว่าคะแนนรอบพอร์ตจะไม่ถูกรวมกับรอบสัมภาษณ์นะครับ ดังนั้นถ้าเข้าสนามไปคือไม่มีใครได้เปรียบ 

4.รอบพอร์ตศิริราช(โอลิมปิควิชาการ)

รอบนี้ถ้าจะสรุปสั้นๆก็คือ ใครเป็นผู้แทนศูนย์แล้วเหรียญเงินขึ้นไป หรือ เคยเข้าค่าย สสวท. ก็สามารถมายื่นได้ครับ อัตราการแข่งขันคือ 175  : 25 คนครับ เราเองก็ยื่นรอบนี้เหมือนกันแต่ว่าเราไม่ผ่านครับ เพราะผลงานทางวิชาการน้อยไปหน่อย :P (แต่เรามีผลงานตามเกณฑ์นะครับ) รอบนี้จะมีความพิเศษอยู่ที่ว่าเราไม่ต้องใช้คะแนน BMAT / คะแนนภาษาอังกฤษเลยครับ แต่เราต้องเขียนสิ่งที่เรียกว่า Personal statement  มา ซึ่งสรุปสั้นๆเลยก็คือ เราต้องเขียนเรีียงความยังไงก็ได้เพื่อให้กรรมการเชื่อว่าเราอยากเป็นแพทย์จริงๆ + วางแผนอนาคตในสายอาชีพยังไง (แนะนำว่าไปเขียนแล้วไปให้ครูแนะแนวตรวจดู สัก 5-6 รอบก่อนส่งครับ)

สิ่งที่ต้องใช้ในรอบนี้
1. เป็นผู้แทนแล้วได้เหรียญเงิน หรือ เข้าค่าย สสวท.
2. พอร์ตที่มีผลงานวิชาการเยอะๆ
3. Personal statement หรูๆ (ซึ่งจะเขียนได้ดีคือเราต้องมีผลงานทางวิชาการเยอะๆครับ)
รอบนี้เหมาะสำหรับเด็ก สอวน. ระดับผู้แทนศูนย์ขึ้นไปครับ

5. รอบพอร์ต รามา-วิศวะ
โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการใหม่ที่กำลังมาแรงครับ (หลักสูตรแพทย์ 7 ปีที่รวมโท วิศวะชีวการแพทย์ไว้อ่ะครับ) เหมาะสำหรับใครก็ตามที่อยากเป็นแพทย์แต่ว่ามีแพชชั่นอะไรบางอย่าง (เช่น ชอบโครงงานที่ทำตอน ม.ปลายมาก แล้วเป็นโครงงานที่เกี่ยวกับวิศวกรรม หรือ เกี่ยวกับการแพทย์ แล้วมาต่อยอดอ่ะครับ) คะแนนที่จะใช้รอบนี้คือ BMAT กับ IELTS ครับ (แต่รอบนี้ไม่เอาไปคิดคะแนนนะ แค่ผ่านเกณฑ์ก็พอแล้ว)
โดยเกณฑ์มีดังนี้ครับ
BMAT : part 1 + part 2 + part 3  = อย่างต่ำ 12C
IELTS : Overall 6.5
รอบนี้จะเน้นพอร์ตกับ Personal Statement ครับ โดยลักษณะพอร์ตที่ดีควรจะมีเกี่ยวกับโครงงาน/งานวิจัยที่ไปออกทัวร์ล่าเหรียญรางวัล หรือ เคยไปนำเสนอมาก่อน  (IYPT หรือ YSC อะไรประมาณนี้ หรืออื่นๆก็ได้ครับ) แต่รอบนี้รับแค่ 20 คนนะครับดังนั้นใครที่อยากเข้าสาขาเฉพาะนี้ก็อาจจะต้องแข่งขันหน่อยนะครับ (จริงๆมันก็แข่งขันพอๆกับพอร์ตตัวหลักของแพทย์รามาแหละครับอย่าเครียดมาก 555+)

เอาล่ะครับ ตอนนี้ จขกท. เขียนเพลินมากๆเลย (ตอนนี้ประมาณ 18,500 ตัวอักษรแล้วครับ จาก 20,000 ตัวอักษร) เดี๋ยวจะเอาส่วน การทำพอร์ต & การสัมภาษณ์ นี้มาต่อในคอมเม้นต์อีกทีนะครับ และตอนนี้ก็ขอขอบคุณทุกคนที่อุตส่าห์อ่านจนจบกระทู้ part 1 ครับ  ก็ขอให้สิ่งที่ผมเขียนแนะนำไปจะมีประโยชน์มากๆ สำหรับคนที่อยากจะเข้าแพทย์ในอนาคตครับ ขอบคุณครับ
 

แสดงความคิดเห็น

>

5 ความคิดเห็น

สิริน 19 เม.ย. 64 เวลา 15:42 น. 1

รายละเอียดดีมาก ขอสอบถาม มีจำนวนผู้ยื่นportfolio และผ่านไปรอสัมกี่คน

แพทย์MD

แพทย+ บริหาร

แพทย+วิศว

อยากรู้อัตราการแข่งขันอ่ะ

2
Sin_A 19 เม.ย. 64 เวลา 17:00 น. 1-1

รอบสัม ส่วนใหญ่หลายมหาลัยจะการแข่งขัน 2:1 ครับ หมายความว่าคนทีไปสัมภาษณ์จะไม่ได้เข้าครึ่งหนึ่ง แต่สำหรับรอบก่อนสัมภาษณ์โครงการแบบ แพทย์วิศว/บริหาร น่าจะมีคนยื่นโครงการละประมาณ 150 คน ครับ ส่วน แพทย์ปกติน่าจะยื่น 200 กว่าคนครับ (ตัวเลขไม่แม่นมากครับ ขอโทษด้วย แต่จริงๆเรื่องนี้ไม่ต้องไปสนใจมากหรอกครับเพราะใครจะยื่นก็ได้ ลองสู้แล้วทำพอร์ตให้ดีที่สุดพอครับ >-<)

0
สิริน 19 เม.ย. 64 เวลา 20:42 น. 1-2

ขอบคุณสำหรับreviewนะเปน ปย สำหรับสอบรอบ1 มาก วนอ่านหลายเที่ยวเลย

0
พรพนพ 19 เม.ย. 64 เวลา 17:17 น. 2

อังกฤษ เล่มอ.ศุภวัฒน์ มันเป็นแนวข้อสอบเลย แต่เรายังอ่อนอยู่เลย ทำไม่ได้เลยจะแก้ไขอย่างไรดี

1
Sin_A 19 เม.ย. 64 เวลา 21:10 น. 2-1

สำหรับเล่มของอาจารย์ศุภวัฒน์นั้น จะมีเป็นเซ็ตหลายๆเล่มครับลองไปหาซื้อดู (เช่น Grammar vocab Error iden อะไรประมาณนี้มีจนฝึกครบทุกทักษะอ่ะ 555+) ถ้ายังเหลือเวลามากพอ วิธีที่เราใช้ในการฝึกภาษาอังกฤษ คือ เราใช้ภาษาอังกฤษทุกวันครับ (ดูอะไรส่วนใหญ่ก็ไร้สาระนั่นแหละ 5555 แต่เป็นภาษาอังกฤษ แต่วิธีนี้ก็ใช้เวลานานและอาจทำให้เราไม่แม่นพวกแกรมม่าขนาดนั้น) แต่ถ้ารีบจริงๆก็สามารถควบคู่ไปกับการเรียนพิเศษได้ (มีหลายที่ตามที่อยากเลือกเลยครับ เช่น enconcept , ov , อ สมศรี ถือว่าเป็นรสชาติอีกแบบของภาษาอังกฤษไปและกันครับ ซึ่งส่วนตัวเราไม่ได้เรียนเลยแหละ แต่เราก็สัมผัสได้จากเพื่อนที่เรียนว่ารูปแบบมันจะต่างกัน แต่ก็ตอบคำถามถูกเหมือนกัน แล้วก็คนที่เรียนพิเศษจะแม่นพวก grammar กับ writing มากกว่าด้วยครับ) การเรียนภาษาอังกฤษจริงๆแล้วไม่ควรเรียนให้มันเครียดครับ วิชานี้ถือว่าเรียนสนุกๆไปก็ได้ เจ้าของเม้นไม่ต้องเป็นกังวลมากครับ เรียนไปเรื่อยๆแบบไม่เครียดมันจะทำให้เราเก่งได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยครับ สู้ๆครับผม

-w-

0
Sin_A 24 เม.ย. 64 เวลา 12:38 น. 3

โอเคกลับมาแล้วครับ หลังจากหายหัวไปลุ้นคะแนน GAT PAT 4 วัน (แปลกใจมากที่คะแนน GAT,PAT 1 2 3 ฝืดทุกวิชาเลย (PAT 1 ฝืดเพราะมีการแจกคะแนน 12 แต้มครับเลยดูเหมือนเฟ้อมากแต่จริงๆไม่ใช่) ทั้งที่เราเก็งไว้ว่า GAT PAT จะเฟ้อทะลุเพดาน แต่จริงๆไม่ใช่แฮะ 555+ , จริงๆ 9 สามัญก็น่าจะไปทางเดียวกันนะเดี๋ยวรอดูก่อนๆ


เอาล่ะเข้าเรื่องเลยนะ ก่อนอื่นเราต้องขอเพิ่มเติมในส่วนที่ไม่ได้เขียนในโพสต์ด้านบนก่อน คือ

1. Portfolio แพทย์รามา-วิศวะ ใช้ Recommendation letter จากอาจารย์นะครับ สิ่งที่จะแนะนำก็คือ คนที่ควรขอ recommend ควรเป็นครูที่คิดว่ารู้จักเราดีที่สุด เช่น ครูประจำชั้น, ครูที่เคยทำโปรเจ็คด้วย, ครูที่สนิท หรือ ครูที่เคยเป็นที่ปรึกษาการแข่งขันก็ดีครับ ดังนั้นทำตัวดีๆก่อนยื่นล่ะหุๆๆ(จริงๆถ้าเราไม่ได้ทำตัวเลวร้าย อาจารย์เขาก็ไม่เขียนว่าเราหรอกครับ 555 ดังนั้นอยู่ในห้องเรียนหรือทำงานก็ตั้งใจทำ แค่นี้ก็พอแล้ว)


2. ว่าด้วยหัวข้อเรื่องโควต้า มข. คือ โควต้า มข. ส่วนใหญ่จะให้แค่เด็กในท้องที่สอบเท่านั้นนะครับ(ไม่เหมือนกับพอร์ตที่มี MDX ดังนั้นใครที่เรียนอยู่นอกภาคอีสานต้องทำใจครับ TwT) โดยโควต้าจะมี 3 ประเภท นั่นก็คือ โควต้าธรรมดา,CPIRD, และ Inclusive track ครับ


2.1 โควต้าธรรมดา กับ CPIRD


สองอันนี้จะคล้ายกันมากครับ ก็คือจะรับเด็กได้จากทั่วภาคอีสานเลย แต่ข้อแตกต่างคือ CPIRD จะบังคับใช้ทุนในจังหวัดที่เลือกในตอนสอบเข้า และตอนคลีนิคจะต้องไปเรียนในโรงพยาบาลที่เลือกเอาไว้ครับ (เช่น CPIRD โรงพยาบาลมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ คือต้องไปเรียนปี 4-6 ที่โรงพยาบาลมหาสารคามและใช้ทุน 3 ปีที่จังหวัดกาฬสินธุ์ครับ) ส่วน โควต้าธรรมดาคือจับฉลากใช้ทุนกับ กสพท เลย (ใช่ครับมันต่างกันแค่นี้แหละ 555+) แต่เวลาเลือกสิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนเสมอคือ โควต้าธรรมดาคะแนนสูงกว่า CPIRD เวลาเข้านะครับ และยิ่ง CPIRD จังหวัดใหญ่คะแนนจะยิ่งสูง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเลย คือ


คะแนนโควต้าธรรมดา ปี 63 -> ต่ำสุด 76.5

CPIRD ใช้ทุนขอนแก่น(จังหวัดใหญ่) ปี 63 -> ต่ำสุด 74.667

CPIRD ใช้ทุนกาฬสินธุ์(จังหวัดเล็ก) ปี 63 -> ต่ำสุด 70.667

CPIRD ใช้ทุนบึงกาฬ ปี 63(จังหวัดที่เล็กกว่า) -> ต่ำสุด 69.667


*ถ้าให้เปรียบเทียบกับปี 64 คือ ปี 64 โดยรวมแล้วเท่าที่ได้ยินมา คือ คณะแพทย์ฝืด 1 คะแนนครับ(เพื่อนผมได้ 70.65 แล้วติด CPIRD กาฬสินธุ์)

** คะแนนที่ใช้ในนี้คือ คะแนน สมรรถนะ มข นะครับ ลองไปเสิร์ชดู แต่เท่าที่ฟังรีวิวหลายๆคนมาคือบางวิชา เช่น เลข มันง่ายแล้วเฉือนกันสุดๆ ดังนั้นใครอยากสอบเตรียมตัวนะครับ

//หนังสือ


2.2 โครงการ Inclusive track


จริงๆแล้วโครงการนี้ก็คือ CPIRD ที่ลดการแข่งขันลงอีกนั่นแหละครับ ในโครงการนี้นอกจากจะมีเงื่อนไขที่จะต้องอยู่ในภาคอีสานแล้วเนี่ย ผู้กล้าที่จะสามารถสมัครได้จะต้องอยู่ในจังหวัดที่ได้รับเลือก 12 จังหวัด ณ อำเภอนอกตัวเมือง ไม่ต่ำกว่า 5 ปี อีกด้วย (ลองไปเสิร์ชดูครับ ส่วนใหญ่จะมีแต่จังหวัดเล็กๆ และใช่ครับ กาฬสินธุ์ก็เป็นหนึ่งในนั้น) ซึ่งการแข่งขันก็จะต่ำกว่า แต่ก็แลกกับการที่หลายๆคนที่สอบอาจจะเรียนในที่ๆมีการแข่งขันน้อยกว่า หรืออาจจะเข้าถึงสื่อการเรียนพิเศษไม่เท่ากับเพื่อนในเมืองด้วยนะครับ



โดยรวมแล้ว โครงการโควต้า มข ก็เป็นโครงการที่น่าสนใจและเป็นโครงการที่ จขกท เห็นว่า น่าจะช่วยเด็กอีสานได้มีโอกาสเข้าเรียนแพทย์ได้มากขึ้น (และอาจจะลดโอกาสของคนต่างภาคลง) ดังนั้นใครเรียนอยู่ภาคอีสาน ห้ามพลาดเด็ดขาดนะครับ !!! (ถ้าให้เปรียบเทียบ คือ รอบ 1 และ รอบ 3 ยากกว่ารอบ 2 มากๆๆๆ ครับ)


*หลายคนอาจจะมี myth นะครับว่า CPIRD กับ Inclusive ใช้ทุนนานกว่า ซึ่งมันไม่จริงนะ 555+ ใช้ทุน 3 ปีหมด (อันที่ใช้ทุนนานน่าจะ ODOD)


//การสัมภาษณ์จะอยู่ในความเห็นต่อไปครับ




0