Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

รีวิวการทำพอร์ตเข้าคณะวิศวะ กับการสอบสัมภาษณ์

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สวัสดีค่า เราชื่อ หลิว เป็นเด็ก 64 เนอะ รุ่นของโควิด55555555555 เรายื่นพอร์ตไป 7 ที่ แต่ติดไป 4 ที่ค่า คือ มธ. บางมด สจล. แล้วก็จุฬาเนอะ มีมช.ที่เราติดรอบสัมแต่ไม่ได้เข้าไปสัมอีกที่นึงง

ขอบอกก่อนว่าตัวเราก็ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร ดังนั้นเรื่องราวทั้งหมดที่เรานำมาแชร์นี้เป็นเพียงประสบการณ์ส่วนตัวและข้อคิดเห็นของเราเพียงเท่านั้น หากใครอยากแนะนำเพิ่มเติมหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ก็สามารถคอมเมนต์ได้เลยนะคะ มันน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งสำหรับคนที่อ่านและตัวเราเลย

ป.ล. สำหรับเราการทำพอร์ตไม่ได้มีผิดหรือถูก ผลงานและเนื้อหาที่เราคัดใส่ลงไปต่างหากที่สำคัญ ดังนั้นอย่าสักแต่ทำตามในสิ่งที่เราพิมพ์ไปทุกอย่างนะคะ แต่ให้นำมันกลับไปประยุกต์และหาสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองในการทำพอร์ตกันเอาเอง พอร์ตของแต่ละคนก็จะมีตัวตนของตัวเองอยู่ในนั้นนั่นแหละค่ะ
(อ่านข้ามได้ก็ข้ามนะคะ เราชอบพิมพ์เพ้อเจ้อ55555555555)

ก่อนที่จะทำพอร์ต

ออกตัวก่อนว่าเราไม่เผื่อใจไปรอบ 3 เลย ดังนั้นเราแทบจะไม่เตรียมตัวในรอบ 3 ไว้เลยค่ะ เราเอาเวลาทั้งหมดไปใส่ใจในรูปแบบพอร์ต ข้อมูลมหาลัย ข้อมูลเกี่ยวกับคณะ ข้อมูลอาจารย์ในคณะ และรูปแบบพอร์ตที่เราเคยเห็นในกลุ่มพอร์ตในเฟซบุ๊กค่ะ

1. List มหาวิทยาลัยที่อยากเข้า
ลองค้นหามหาวิทยาลัยทั้งหมดในไทยที่มีคณะวิศวะ ในสาขาที่อยากเข้าเลยค่ะ การลิสต์เป็นลำดับว่าเราอยากเข้าที่ไหนบ้างจะทำให้ง่ายต่อการค้นหาข้อมูลต่อไปค่ะ ข้อมูลที่ต้องค้นหาจะลดน้อยลงไปเยอะเลย โดยส่วนตัวเราไม่ได้จัดอันดับมหาลัยที่เราอยากเข้านะคะ เพราะ สำหรับเราแค่ติดที่ไหนในนี้เราก็อยากเข้าหมดเลยค่ะ (ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะติดหลายที่ค่ะแง) แต่ถ้าใครอยากจัดอันดับก็จัดเลยค่า การจัดอันดับจะทำให้การทำพอร์ตหลักมีรูปแบบที่แน่ชัดขึ้นค่ะ มหาลัยแต่ละแห่งมีความชอบไม่เหมือนกัน (อันนี้เป็นความคิดเห็นของเรานะคะ) รูปแบบที่แน่ชัดนี่หมายถึง ภาษาการพิมพ์ ลักษณะภาพรวมของพอร์ต เกณฑ์ในการให้คะแนน เช่น จุฬาในปีนี้ไม่ได้มีให้ทำพอร์ตเป็นเล่ม แต่เป็นการนำเสนองานแบบ Infographic ไปเลย หรือของมจธ.บางมดที่มักจะชอบเน้นว่าได้อะไรจากการทำงานนั้น (อันนี้เป็นความคิดเห็นของเรานะคะ) เป็นต้น

2. ดูระเบียบมหาลัยปีก่อน ๆ -> สรุปข้อมูลรอบที่จะเข้า รูปแบบ
เช็คเวลารับสมัคร เช็คว่ามหาลัยนี้มีรอบ Active Recruitment หรือไม่ เพราะบางมหาลัยจะมีการเปิดรับก่อนรอบ 1 อีกค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรับตรงโดยคณะเลย จำนวนคนที่รับบางที่ก็ค่อนข้างเยอะ และถ้าพลาดรอบนี้ไปเราก็ยังจะสามารถส่งในรอบ 1 อีกรอบได้ด้วย นอกจากนี้อยากให้เช็คว่าเกณฑ์รูปแบบของพอร์ตปีเก่า ๆ เป็นยังไงด้วยค่ะ เช่น พอร์ตมธ.ปีนี้จะมีรูปแบบฟอร์มหน้าที่บังคับเลย ดังนั้นถ้าเราจะเข้ามธ.จะทำพอร์ตเผื่อไว้เยอะ ๆ ก็ไม่ได้ใส่ค่ะ หรือพอร์ตรอบเพชรพระจอมที่ไม่มีจำกัดหน้าเป็นต้นค่ะ เห็นได้ชัดเลยว่ามันจะมีรายละเอียดที่ต่างกัน หากนำข้อมูลทั้งหมดมาลิสต์เป็นตารางหรืออะไรให้เราสามารถเปิดกลับมาดูได้ง่าย ๆ ก็ดีนะคะ เวลาทำพอร์ตจะได้เช็คข้อมูลได้ง่าย ๆ ไม่ต้องเปิดไปมา

ป.ล. จริง ๆ ข้อนี้เหมาะสำหรับคนที่จะเตรียมพอร์ตก่อนที่เขาจะประกาศระเบียบแบบเรานะคะ ถ้าสมมติเพื่อน ๆ จะทำช่วงที่ประกาศระเบียบออกมาแล้วก็ทำตามระเบียบเลยค่ะ อย่ามาเสียเวลาตรงนี้555555555555555555

ช่วงทำพอร์ตกันเถอะ!!!

เรารู้สึกว่าโครงการที่เราเลือกสมัครจะส่งผลต่อทุกอย่างเลยค่ะ อย่างของเรา ส่วนมากเลือกส่งแต่โครงการที่เกี่ยวกับกิจกรรมเลยทำให้ติดมาได้ แต่ถ้าให้พอร์ตเราส่งสายวิชาการเราก็ไม่คิดว่าจะติดค่ะ เพราะงั้นเลือกโครงการที่จะสมัครให้ดี ๆ นะคะ

สิ่งที่พอร์ตต้องมีเลย (สำหรับเรานะคะ) คือ

1. เหตุผลที่เราอยากเรียนคณะนี้ (อันนี้ไม่รู้จะบอกยังไงเลยค่ะ เราพยายามเขียนแล้วให้หลาย ๆ คนรอบตัวอ่าน แบบถ้าเขียนแบบนี้เป็นเขาเขาจะรับไหมค่ะ ซึ่งมันก็ไม่ได้มีผลลัพธ์ตายตัวเลยสำหรับเรา5555555555)
- เราเขียนตามลำดับนี้นะคะ คือ จุดเริ่มต้นความชอบ สิ่งที่เราได้ทดลองทำ สิ่งที่เราอยากทำให้โลก สิ่งที่เรามองคณะนี้ สิ่งที่เรามองมหาลัยนี้
- เราแนะนำให้ลองหาตัวอย่างการเขียนหลาย ๆ เว็บค่ะ เพราะแต่ละเว็บจะมีเทคนิคการเขียนที่แตกต่างกันประมาณนึงเลย (ตัวอย่างคำค้นหาคือ statement of purpose structure)

2. หน้าข้อมูลส่วนตัว + ความสามารถพิเศษ (หน้านี้เราใส่คติประจำใจเป็นการตกแต่งค่ะ)
- ชื่อจริง ชื่อเล่น
- วันเดือนปีเกิด
- เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา
- ข้อมูลติดต่อของตัวเราเอง (ที่อยู่ อีเมล เบอร์โทรศัพท์)
- ชื่อพ่อ เบอร์ อาชีพ
- ชื่อแม่ เบอร์ อาชีพ

3. ข้อมูลการศึกษา (เราเอาหน้านี้ไปรวมกับหน้าข้อมูลส่วนตัวนะคะ ยกเว้นของมธ. ที่บังคับให้มีหน้านี้โดยตรงเลย)
- ชื่อที่เรียนและเกรดในแต่ละช่วงค่ะ (ประถม ม.ต้น ม.ปลาย – เช็คดี ๆ นะคะว่าเขาต้องการกี่เทอม)

4. กิจกรรมที่ทำ (เตรียมแยกหมวดออกเป็น รางวัลระดับนานาชาติ รางวัลระดับประเทศ ไม่มีรางวัลแต่เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคณะ กิจกรรมจิตอาสา)
- ถ้าใครมีกิจกรรมที่มีรางวัลเยอะจะสร้างหน้าตารางสรุปรางวัลขึ้นมาหน้านึงเลยก็ได้นะคะ เราเคยเห็นคนทำ แต่ของเรามันไม่ได้เยอะขนาดนั้น แหะ ๆ
- เราแยกให้งานที่เราคิดว่าค่อนข้างรางวัลใหญ่มีพื้นที่เยอะเป็นพิเศษ และรวมหน้าของกิจกรรมที่ทำแต่ไม่ได้มีรางวัลอะไรไม่เกิน 2 หน้าค่ะ
- อันนี้สำหรับจุฬาที่เดียวนะ คือ ปีของเราจุฬาให้ทำเป็น E-portfolio ซึ่งตอนส่งให้เขาจะให้อัปโหลดในเว็บ จากนั้นจึงส่งใบคิวอาร์โค้ดไปทางไปรษณีย์ต่อค่ะ ดังนั้นระเบียบงานจึงต่างไปจากทุกสถาบันเลย ซึ่งมีอันหนึ่งเป็นการให้เขียนสรุปว่ากิจกรรมที่เราทำมาทั้งหมดทำให้เราพัฒนาตัวเองยังไงบ้าง ตรงจุดนี้เราไม่ได้ใส่แค่กิจกรรมที่เกี่ยวกับคณะค่ะ เราใส่ตั้งแต่การไปค่ายของคณะอื่น ๆ เลย เพราะ เรามองว่ามันค่อนข้างส่งผลต่อแนวความคิดเราในการทำสิ่งต่าง ๆ ค่ะ ดังนั้นถ้าใครอยากจะใส่สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับคณะแบบเราก็ลองดูก็ได้นะคะ ถ้าอธิบายให้มันเข้ากันได้ เราว่ามันก็ส่งผลให้เรามีความหลากหลายดีค่ะ (งงไหมแง เราพิมพ์ก็งง ๆ ค่ะ55555555555)
- กิจกรรมแต่ละอันเราแนะนำให้แยกเขียน สิ่งที่ได้จากมัน สิ่งที่เราคิดว่าควรปรับปรุงแก้ไข รวมถึงประสบการณ์จากมันค่ะ ไม่ใช่ใส่ไปแค่ว่าอันนี้คืออะไรนะคะ คนอ่านเขาไม่รู้หรอกค่ะว่างานนี้มันส่งผลอะไรกับเรา เขาไม่ได้มาทำด้วย55555555555

5. เพิ่มเติม คือ ควรส่งพอร์ตก่อนวันสุดท้ายสักวันนะคะ บางเว็บมันจะล่มค่ะ บางคนถึงขั้นอัปโหลดไม่ได้จนหมดเวลาก็มี ดังนั้นเผื่อ ๆ เวลากันนิดนึงเนอะ เราไม่รู้หรอกว่าเราจะเป็นคนที่โชคดีคนนั้นไหม555555555

ช่วงสัมภาษณ์!!!

มันจะมีกลุ่มคำถามเบื้องต้นที่เราควรจะตอบให้ได้ กับคำถามเพิ่มเติม (ของแต่ละที่จะไม่เหมือนกันง่ะ)

คำถามเบื้องต้น (แนะนำให้เขียนคำตอบไว้เลยค่ะ เราคิดว่ามันจะเรียบเรียงได้สวยและครบถ้วนกว่าการแค่คิดคำตอบในใจประมาณนึง)

- แนะนำตัวเอง (อันนี้มีทั้ง 4 ที่ที่เราไปสัมภาษณ์เลยค่า)
- ทำไมอยากเข้ามหาลัยนี้ (อันนี้ถามไป 3 ที่เลยค่ะ ยกเว้นจุฬา)
- ทำไมอยากเรียนที่คณะนี้
- ทำไมอยากเรียนสาขานี้
- มีวิชาไหนในหลักสูตรที่ชอบไหม (อันนี้เป็นข้อมูลที่ควรหาเพิ่มเพื่อเปรียบเทียบของแต่ละมหาลัยให้อาจารย์ที่สัมภาษณ์ฟังค่ะ รวมถึงอาจจะแทรก ๆ ในคำตอบของแต่ละคำถามที่อาจารย์เพื่อแสดงถึงแพชชั่นในการเข้าค่ะ //ก็คือคิดไปเอง555555555)
- ทำไมถึงต้องเลือกคุณ
- ได้ส่งที่อื่นไปไหม (อันนี้เราตอบตามจริงเลยค่ะ แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าจริง ๆ ควรตอบยังไงกันแน่ เพราะ มีแต่คนรอบ ๆ ตัวเราบ่นที่เราตอบความจริงค่ะ555555)
- ถ้าจบไปอยากทำอะไร
- มีอะไรจะถามเพิ่มไหม (เราแนะนำให้ถามสักอย่างค่ะ เพื่อแสดงสปิริตล้วน ๆ เลย แต่บางคำถามก็ไม่ควรถามนะคะมันจะกลายเป็นว่าเราไม่ได้หาข้อมูลมาก่อนหรอ ดังนั้นพิจารณาด้วยตัวเองเลยจ่ะ5555555555)
คำถามเพิ่มเติม (ออกตัวก่อนเลยว่าบางอันเป็นข้อมูลที่เราได้มาจากเพื่อน ๆ ค่ะ เพราะ เรากับเพื่อนสมัครกันคนละโครงการด้วยในบางมหาลัย)
- ถ้าเป็นโครงการเรียนดี (?) ของบางมด จะมีการทดสอบเป็นรายวิชาแยกในการสัมภาษณ์เลยค่ะ แต่ในโครงการของเราที่เราสมัครไป (วมว.) จะถามเกี่ยวกับงานวิจัยที่ได้ทำมา ลองนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษให้ฟัง (เพราะตัวงานของเราเคลมไปว่าเคยนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษด้วยค่ะ) ให้เราเล่ากิจกรรมแต่ละอย่างให้ฟัง และมีการถามคำถามความรู้นิดหน่อยค่ะ แนะนำให้ตั้งสติให้ดีค่ะ มันเป็นคำถามเบื้องต้นเลยแต่เราตอบได้ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะเราดันมีสอบเลขของโรงเรียนต่อค่ะ55555555 (หัวมันไม่ว่างจริง ๆ ค่ะตอนนั้นแง)
- จุฬาปีนี้ เรารู้สึกว่าถามคำถามวัดไหวพริบล้วน ๆ เลยค่ะ คำถามของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันด้วยเท่าที่เราลองถามเพื่อน ๆ มา ซึ่งเท่าที่เราหาข้อมูลมา ไม่มีปีไหนที่จุฬาสัมภาษณ์เหมือนกันสักปีเลยค่ะ เหมือนเปลี่ยนธีมหลักไปเรื่อย ๆ อย่างเราก็โดนคำถามเกี่ยวกับการทำงานกลุ่ม ความสำคัญของการมีหัวหน้า

สิ่งที่เราอยากย้ำอีกรอบ คือ โครงการที่ส่งส่งผลต่อการติดของเรานะคะ พิจารณากันดี ๆๆๆๆๆๆๆ อีกทั้งบางมหาลัยไม่ได้ปิดรับตอนเที่ยงคืนค่ะ บางที่เขาปิดตอน 16.00 ก็มีค่ะ ดังนั้นเช็คนะคะ เราพลาดบ่อยมาก5555555555 นอกจากนั้นแล้วหลาย ๆ มหาลัยยังมีรอบแยกสำหรับคนที่เตรียมตัวเร็วด้วยค่ะ เช่น

- มหิดล วิศวะอินเตอร์ มีเปิดรอบรับตรงโดยคณะของแต่ละสาขาอินเตอร์ สามารถตามข่าวได้ที่เว็บไซต์วิศวะอินเตอร์ของมหิดลเลยค่ะ ซึ่งรอบนี้จะเป็นรอบก่อนรอบหนึ่งอีกนะคะ
- ม.เกษตร มีโครงการเรียนล่วงหน้าแล้วเอาเกรดที่เรียนไปยื่นค่ะ ลองศึกษาให้ดี ๆ เพราะเนื้อหาค่อนข้างยากเลยค่ะ
- ม.ศิลปากร มีรอบที่ยื่นเกียรติบัตรจากค่ายต่าง ๆ แล้วติดเลยค่ะ บวกกับมหาลัยนี้เปิดรับสมัครค่อนข้างเร็ว ดังนั้นตามข่าวให้ดี ๆ นะคะ
- มจธ.บางมด มีรอบก่อนรอบหนึ่ง และมีรอบของโครงการเพชรพระจอมค่ะ โดยบางสาขาจะจำกัดว่าต้องเคยไปค่ายมาก่อน
- SIIT อันนี้น่าจะเป็นที่รู้กันว่ามีการสอบชิงทุน ซึ่งมันมี 2 รอบเลยนะคะ เผื่อใครพลาดรอบแรกไปจะได้ไปลองอีกรอบได้ค่ะ
- มธ.วิศวะอินเตอร์ (ที่ไม่ใช่ SIIT) มีรอบทุนด้วยนะคะ เราสมัครไม่ทันค่ะ เลยแบบแปะ ๆ เตือนทุกคนตรงนี้แหะ5555555555555
- จุฬาปีของเราเป็นปีแรกที่รับรอบแรกเยอะขนาดนี้ค่ะ ดังนั้นปีอื่นที่อยากเข้า เราก็ไม่รู้เหมือนกันค่ะ เพราะเราก็งงเหมือนกันตอนประกาศ55555555555555

จบไปแล้วค่ะ ใครมีอะไรถามได้ถามเลยค่า ถ้าพิมพ์อะไรผิดพลาดไป หรือทำให้ใครไม่พอใจก็ขอโทษไว้ตรงนี้เลยค่ะ หากอยากแนะนำอะไรเพิ่มแนะนำได้เลยนะคะ สู้ ๆ กับความงง ๆ ของระบบไปด้วยกันนะคะ ตอนนั้นเราติดตามข้อมูลข่าวสารจนท้อเลยค่ะ เพราะดันยื่นหลายที่เกินไป5555555555555555

ขอบคุณทุกคนที่อ่านจนจบนะคะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย :-)

ปล. เพื่อนคนนี้ช่วยเราในการตรวจทานบทความนี้ ดังนั้นเราขอฝากไอจีเพื่อนหน่อยนะคะ เพื่อนเราลงรีวิวสำหรับคนที่อยากเข้าแพทย์รอบแรกด้วย ไปตามกันได้เลย ig: bmxstudygram

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น

TL. 19 มิ.ย. 64 เวลา 19:48 น. 1-1

ได้ค่า ทักมาที่ ig: tonnliew_ ได้เลยย

0