Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ใครอยากอ่านใจคนอื่นได้บ้าง

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

วิชาอ่านใจของพระพุทธเจ้า

โดยดังตฤณ

            เรื่องแปลกแต่จริง
คนเรามักอยากรู้ว่าคนอื่นคิดอะไร ทั้งที่ความคิดหรือกระทั่งความรู้สึกของตนเองยังอ่านไม่ออก หรือบางทีอ่านออกบอกถูกแต่ก็ไม่ยอมรับ คิดอย่างนี้โกหกว่าคิดอย่างนั้น รู้สึกอย่างนั้นแต่หลอกว่ารู้สึกอย่างโน้น

ตัวเองยังไม่รู้จัก แล้วจะไปรู้ใจใครอื่นได้? แต่นั่นแหละที่คนกว่าครึ่งโลกอยากทำได้ และมักออกแนวชอบเดาใจมากกว่ารู้ใจใครจริง

พุทธศาสนามีชื่อเสียงว่าเป็นยอดแห่งศาสตร์ทางจิต จึงมักถามกันทั่วไปว่าพระพุทธเจ้าเคยสอนวิธีอ่านใจคนไว้ไหม? อันนี้ต้องตอบตามจริงว่าสอน และสอนไว้ในหลักปฏิบัติอย่างใหญ่ชื่อ ‘มหาสติปัฏฐานสูตร’ ใจความสรุปโดยย่นย่อที่สุดคือ ‘ถ้าอ่านใจตัวเองออก ก็บอกได้ว่าใจคนอื่นเป็นอย่างไร’ เหตุผลคือใจเป็นธรรมชาติชนิดเดียวกัน ไม่ว่าจะภายในตนหรือภายนอกตน เมื่อรู้ข้างในนี้ได้ ก็ย่อมรู้ข้างนอกโน้นได้เช่นกัน

ธรรมชาติของใจนี้เป็นอย่างไร? ใจนี้มี ‘ความรู้สึก’ อย่างใดอย่างหนึ่งประกอบอยู่ด้วยตลอดเวลา ไม่สุขก็ทุกข์

 

‘ความรู้สึก’ เป็นเพียงคำกลางๆ แต่ ‘สุข’ กับ ‘ทุกข์’ นั้นเป็นแยกซ้ายแยกขวาของความรู้สึก กระแสสุขจะฉายสว่าง ส่วนกระแสทุกข์จะหดมืด ทุกคนสัมผัสได้ว่ายามสุขคล้ายตัวเองและใครๆเรืองแสงออกมา จะจัดจ้าหรือนวลอ่อนก็ขึ้นอยู่กับระดับความสุข แต่ยามทุกข์จะคล้ายตัวเองและใครๆกระจายรังสีมืดดำออกมา จะเข้มหนักหรือเบาบางก็ขึ้นอยู่กับระดับความทุกข์

สังเกตให้ดี จะเห็นความสุขมาพร้อมกับกายที่ผ่อนคลาย ความรู้สึกในอกจะเปิดเผยกว้างขวาง ส่วนความทุกข์มาพร้อมกับกายที่เครียดเกร็ง ความรู้สึกในอกจะกดแน่นคับแคบ หากคุณจับได้ว่าความรู้สึกในอกตอนเปิดเผยเป็นอย่างไร ตอนปิดแคบต่างไปแค่ไหน คุณมองใครๆบนถนนก็จะเริ่มสัมผัสได้ ว่าความรู้สึกที่กลางอกของแต่ละคนต่างกันไป บางคนเปิดกว้างสบาย บางคนปิดแคบอึดอัด

และหากสังเกตให้ละเอียดขึ้น คุณจะพบว่าความรู้สึกทางกายกับทางใจอาจคล้อยตามหรือขัดแย้งกัน เช่นบางคนนอนอยู่บนเตียงนุ่มในห้องแอร์ เหมือนกายพักสนิทแสนสบาย แต่ใจกลับวิ่งเต้นวุ่นวายหาความสงบเย็นมิได้ บางคนเสียอีก ที่เดินเท้าเปล่ากลางแดดเปรี้ยง เหงื่อกาฬไหลโทรม แต่ใจกลับเงียบเชียบเรียบเย็นเป็นสุขไป

เมื่อแยกถูกว่ากายกำลังเป็นสุขหรือเป็นทุกข์อย่างไร และใจกำลังเป็นสุขหรือเป็นทุกข์สอดคล้องหรือแตกต่างจากกาย คุณจะเห็นถนัดและแยกแยะถูก ว่ากายกำลังเชื่อมโยงกับสิ่งใด แล้วใจกำลังผูกพันกับเรื่องดีร้ายประมาณไหน

อย่างเช่นกายวางนิ่งอยู่บนฟูกนุ่ม ก็เกิดกระแสสบายทางกายในแบบผ่อนคลาย แต่ถ้าขณะนั้นใจกลับทะยานไปผูกโยงอยู่กับศัตรูคู่แค้น ก็เกิดกระแสความเร่าร้อนในแบบอาฆาตพยาบาท หากเป็นตัวคุณเองคุณย่อมรู้ว่ากำลังหมกมุ่นครุ่นคิดแค้นเคืองใคร แต่หากเป็นคนอื่น คุณอาจสัมผัสรู้เพียงไฟโทสะ ทว่าจะรู้หรือไม่รู้ว่าใครกำลังปรากฏในห้วงมโนทวารของเขา ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีสัมผัสละเอียดอ่อนเพียงใด ยิ่งใจคุณเย็นเป็นเมตตาประณีต ห่างไกลจากโทสะในตนเองเพียงใด ก็จะยิ่งสามารถเห็นรายละเอียดของโทสะในคนอื่นชัดเจนขึ้นเพียงนั้น

คุณจะพบว่าความรู้สึกสุขทุกข์เป็นสิ่งที่รู้ได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยฌานญาณลึกซึ้งอันใด และความรู้สึกสุขทุกข์ก็เป็นสิ่งที่บังเกิดกับกายใจอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นในบัดนี้ เมื่อถามว่าตัวเองกำลังเป็นทุกข์หรือเป็นสุข คุณอาจถามแยกได้สองทาง

ทางที่หนึ่ง ถามว่าความรู้สึกทางกายเป็นอย่างไร ทางเดียวที่จะทราบความรู้สึกทางกาย คือคุณต้องรู้เสียก่อนว่ากำลังอยู่ในอิริยาบถแบบไหน นั่งตรงหรือนั่งบิด ส่วนใดส่วนหนึ่งกำเกร็งหรือผ่อนคลายตลอดตัว เมื่อทราบอาการทางกาย คุณย่อมทราบความรู้สึกที่เกิดขึ้นรวมๆ ว่าสบายหรืออึดอัด แม้อากาศร้อนจนเหนียวตัวก็พลอยรู้ หรือแม้อากาศเย็นสบายผิวก็พลอยเห็น

ทางที่สอง ถามว่าความรู้สึกทางใจเป็นอย่างไร ทางเดียวที่จะทราบความรู้สึกทางใจ คือคุณต้องรู้เสียก่อนว่าใจกำลังผูกอยู่กับสิ่งใด เช่นในที่นี้ใจคุณต้องผูกอยู่กับตัวหนังสือในแต่ละบรรทัด บรรทัดไหนอ่านแล้วเข้าใจ อ่านแล้วรับได้ ก็สบายใจ บรรทัดไหนอ่านแล้วสงสัย อ่านแล้วต่อต้าน ก็ไม่สบายใจ

หากไม่แน่ใจว่ากำลังเผชิญกับความรู้สึกทางใจแบบไหนแน่ ก็ให้มองว่ากลางอกแน่นทึบหรือโปร่งเบา ตอนอกทึบแน่น ให้บอกตัวเองเลยว่ากำลังเป็นทุกข์ คิดอะไรไม่ค่อยออก มองอะไรไม่ค่อยเห็น แต่หากหัวอกปลอดโปร่ง ให้บอกตัวเองว่ากำลังเป็นสุข หูตาจะกว้างขวาง จะคิดอ่านอะไรก็ง่ายดายเป็นระเบียบ

จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณหมั่นสังเกตเข้ามาที่ความสุขความทุกข์ของตนเอง? คุณจะพบว่าความคิดฟุ้งซ่านลดระดับลง ความทะยานอยากออกไปนอกตัวจะอ่อนกำลังลง และที่สำคัญที่สุดคือคุณจะเห็นความจริง ว่าสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่ให้ดูแค่ครู่หนึ่ง เมื่อหมดเครื่องหล่อเลี้ยงแล้ว สุขและทุกข์นั้นๆก็จางตัวหายไปเป็นธรรมดา

สิ่งที่อาจทำให้คุณประหลาดใจคือเมื่อรู้จักหน้าตาของสุขทุกข์ชัดๆ กับทั้งเห็นว่าสุขทุกข์ไม่เที่ยง ใจคุณจะไม่ยึดติดสุข กับทั้งไม่อยากอมทุกข์เอาไว้ คล้ายกับใจแยกออกไปเป็นผู้ดู ไม่ใช่ผู้ยินดียินร้ายกับสุขทุกข์อีกต่อไป

และสิ่งที่คุณอาจคาดไม่ถึง คือเมื่อใจเท่าทันและไม่ผูกยึดกับสุขทุกข์ทั้งปวงแล้ว มีความวางใจเป็นกลางได้แล้ว ต่อไปเมื่อชำเลืองแลคนอื่น จะได้ด้วยสายตาตรง หรือด้วยหางตาก็ตาม คุณจะสามารถสัมผัสสำเหนียกถึงกระแสสุขทุกข์ทางกายทางใจของพวกเขาได้ กับทั้งเห็นว่าธรรมชาติสุขทุกข์ของผู้อื่นก็เหมือนสุขทุกข์ของคุณเอง นั่นคือต้องมีเหตุปัจจัยอะไรสักอย่างบันดาลให้เกิด แต่แล้วก็ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องเสื่อมสลายหายไปพร้อมกับตัวต้นเหตุนั่นเอง

ต่อให้คุณพบกับคนที่ดูเหมือนเปี่ยมสุขอย่างเหลือล้น สัมผัสที่ไวของคุณก็จะทราบว่าเขาไม่ได้สุขคงเส้นคงวาตลอดเวลา เพียงแค่คิดหรือตั้งใจเพ่งเล็งบางสิ่ง ความสุขทางใจก็ถูกบีบให้แคบลงได้มากแล้ว

และเมื่ออ่านความรู้สึกของตนเองและผู้อื่นออก คุณจะเห็นรายละเอียดมากขึ้นทุกที และพบว่าอะไรๆในชีวิตมนุษย์รวมอยู่ที่นั่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิด วิธีพูด หรือวิธีลงมือกระทำการใดๆ หากใจเล็งในทางดีก็สบาย หากใจเล็งในทางร้ายก็อึดอัด ง่ายๆแค่นี้เอง คุณจะถือสาหาความใครต่อใครน้อยลงเรื่อยๆ แล้วหันมาโทษต้นเหตุคือวิธีคิด วิธีพูด และวิธีทำของตนเอง ที่ก่อให้เกิดทุกข์ขึ้นอย่างสูญเปล่าโดยแท้

http://www.dungtrin.com/empty4/05.htm

แสดงความคิดเห็น

>

7 ความคิดเห็น